ตอนสี่ ห้องประชุมรัฐมนตรี

ครั้นเท๎ราปทีทำการเสกสมรสเสร็จ เจ้าปาณฑวภราดาก็อยู่เป็นสุขในอารักขาของขัตติยราชเจ้าปัญจาล ความปกปักรักษาเช่นนี้เป็นที่ต้องประสงค์ของเธอทั้งห้ายิ่งนัก เธอจะปลอมองค์เที่ยวไปเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เพราะทุรโยธน์ได้เห็นและจำเธอได้ตระหนัก และทราบว่าเธอทั้งห้าภราดายังมีชีวิตอยู่ เจ้าทุรโยชน์คงจะตกหฤทัยไม่น้อยที่มาได้เห็นปาณฑวภราดายังครองชีวิตอยู่ในเมืองมนุษย์ และคงตะลึงหฤทัยมากที่สุดที่มาเห็นอรชุนมีชัยได้เจ้าหญิงปัญจาลผู้สง่างามเป็นบาทบริจาริกา โทษจริตริษยาของเธอหาแดนที่สุดมิได้ ที่มาได้เห็นพระญาติของเธอซึ่งเธอใช้ปัญญาอุบายหมายคลอกเสียด้วยอัคนีมาผูกสัมพันธ์สันถวไมตรีกับทรุบทผู้อมิตรของเธอมาแต่ไหนแต่ไร

ได้มีการประชุมใหญ่ ธฤตราษฎร์ประทับเหนือราชบัลลังก์ ราชบริพารยืนแวดล้อม สะพรั่งดังดาวล้อมเดือน เงียบเสียงอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วพระราชาจึงยืนขึ้น มีพระราชดำรัสว่า:-

“ดูกรมนตรีที่ปรึกษาทั้งมวลผู้ควรไว้วางใจในราชกิจการแผ่นดิน ท่านเป็นหลักศิลาของบ้านเมือง อาณาจักรของข้าพเจ้าที่จะตั้งอยู่ได้ก็เพราะอาศัยพวกท่าน ความเจริญรุ่งเรืองและสุขของนิกรราษฎรที่จะดำรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยท่านทั้งหลาย ความสัตย์ซื่อต่อแผ่นดินของท่านนั้นไม่มีแววรังเกียจ และความจงรักภักดีของท่านต่อข้าพเจ้าเล่าก็ไม่มีราคีเท่ายองใย ไม่มีส่วนระคนเข้ามาปนเจือเนื้อธาตุคือความจงรักภักดีของท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเรียกท่านมาประชุมครั้งนี้ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายช่วยกันขบปัญหาข้อหนึ่ง ซึ่งแต่ลำพังพิจารณญาณของข้าพเจ้าผู้เดียวไม่สามารถขบได้ ขอปรีชาญาณของท่านจงช่วยข้าพเจ้า และจงแสดงความจงรักภักดี และบำเพ็ญเฉพาะต่อแผ่นดินและตัวข้าพเจ้าอีกสักครั้งหนึ่ง ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าเจ้าปาณฑวภราดาได้ผูกสัมพันธ์สันถวไมตรีกับราชาทรุบทผู้ข้าศึกของข้าพเจ้า ไมตรีอันเต็มไปด้วยเหตุสำคัญยิ่งนัก จักทำอย่างไรดี ท่านทั้งหลาย เพื่อยังอมิตรผู้คิดร้ายออกจากมารดาแห่งภยันตรายของเราเสียได้”

ทุรโยธน์พลันยืนขึ้นแก้ปัญหา “ความคิดของข้าพระเจ้าคือ ติดสินบนพวกเสนาบดีของทรุบทเข้าไปและทำความแตกร้าวสามัคคีขึ้นในหมู่เขาทั้งหลาย นี่เป็นอุบายข้อหนึ่ง ข้าพระเจ้ามีอุบายในใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะให้ผลดีกว่าข้อก่อน และอุบายข้อนี้คือ จงหาโทษอย่างร้ายบ้ายนางเท๎ราปทีให้นางพูดไม่ออก แก้ตัวไม่ไหว อันนี้จะทำให้เจ้าปาณฑวภราดาฉุนโกรธและทิ้งนางเสีย และมิตรภาพระหว่างเขาห้าภราดากับปัญจาลราชก็จะขาดจากกันไปเอง ต่อนั้นการที่จะทำต่อไปก็คือ วางยาพิษเบื่อภีมยักษ์ใหญ่ให้ตายเสีย แล้วก็เป็นอันสิ้นขลุกขลักลำบากใจของเรา”

ทุรโยธน์นั่งลงแล้ว ‘กรรณ’ ลุกขึ้นพูด:- “ฝ่าพระบาทต้องให้อภัยแก่ข้าพระเจ้าในข้อที่ไม่มีความเห็นเหมือนกันกับเจ้าทุรโยธน์ที่รักของเรา ข้าพระเจ้าเห็นมียาแก้อยู่แต่ขนานเดียวคือ อาศัยกำลังทหารอันแข็งแรงของเรา ขอให้ส่งกำลังทหารไปทำการราญราชาทรุบทเสียโดยพลัน และข้าพระเจ้าเชื่อว่ากองทัพของเขาซึ่งมีกำลังน้อย จะต้านทานกำลังทหารของเราไม่ได้ ที่จะยกกำลังไปทำแก่เขาทั้งนี้ต้องทำโดยเร็วพลัน ไม่ทันให้กฤษณ ราชาคุชราต มีโอกาสยกกำลังมาช่วยค้ำเขาไว้”

ต่อนั้นท้าวธฤตราษฎร์ตรัสถามภีษ๎มผู้เฒ่าว่าปรีชาญาณของเขาจะเห็นอย่างไร ภีษ๎มพูด “เบื้องว่าท่านขอความเห็นของข้าพระเจ้า ก็จำต้องกล่าวความจริงสิ่งแสลงใจหลายคำ ข้าพระเจ้าเชื่อว่าตามสิทธิแห่งสมภพชาติ ยุธิษฐิรเป็นทายาทตามกฎหมาย ควรได้ราชสมบัติ ถ้าท่านไม่เต็มใจสละราชสมบัติทั้งมวลไซร้ ท่านควรยกดินแดนให้เขากึ่งหนึ่ง ยุติธรรมและความจริงต้องการให้ท่านประติบัติการเรื่องนี้ ถ้าท่านกันเอาส่วนที่เขาควรได้ตามกฎหมายเสียไซร้ ข้าพระเจ้าพยากรณ์ไว้ในเวลานี้ว่า ความฉิบหายล่มจมแห่งอาณาจักรของท่านจะมาถึงในไม่ช้า ความโลภเกินไปจะนำความฉิบหายมาให้วงศ์วานและบ้านเมือง ความเคยชินของมนุษย์วิสัยที่ได้บันทึกลงไว้นั้นย่อมสนับสนุนความจริง ข่าวที่โอรสของท่านคิดประทุษร้ายจะคลอกพี่น้องของตนเสียทั้งเป็นนั้น ระบือฟุ้งออกไปนอกราชอาณาจักรของท่าน และลิ้นของราษฎรทุกคนภายนอกและภายในราชอาณาจักรกล่าวปรักปรำเอาว่าทุรโยธน์เป็นผู้คิดทำร้ายญาติ”

‘กรรณ’ ยืนขึ้นเป็นครั้งที่สองเพื่อบรรยายพจนโวหารของภีษ๎ม เขาพูด “ใจของภีษ๎มกอปรด้วยฉันทาคติ, ตาของภีษ๎มมืดต่อยุติธรรม; พิจารณญาณของภีษ๎มเห็นบิดเชือนไปในทางที่ผิด ภีษ๎มมีโรคาพาธในใจอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งบดบังและยังทัศนะของเขาให้ผันแปรไป. เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาต้องตอบปัญหาให้ใกล้ชิดด้วยใจเย็น ไม่หวั่นไหวด้วยเครื่องกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้อยคำของที่ปรึกษาผู้เลินเล่อพูดออกไปโดยไร้พิจารณญาณ ไม่หว่านล้อมให้รอบข้าง ย่อมนำความพินาศกรรมมาให้บ้านเมือง”

โท๎รณาจารย์ห้าม ‘กรรณ’ ว่า “หยุดเสียเถิดน่ะ กรรณเอย หยุดกระดิกลิ้นอันโอ่อวดของท่านเสียเถิดน่ะ, ท่านจะไม่ยั้งหยุดจนกว่าวงศ์กษัตริย์ของเรานี้จะมีอันเป็นทรุดโทรมฉิบหายไปหรือ? หนักมือเทียว ท่านจ๋า! หนักมือแท้ พ่อเจ้าประคุณ”

วิทุรยืนขึ้นกล่าวค้าน ทุรโยธน์เป็นเสียงเดียวกันกับผู้พูดคนที่สุดว่า “หน้าที่ของข้าพเจ้าบังคับข้าพเจ้า ให้กล่าว ออกมาตามความจริงใจ ผลที่สุดมันจะอย่างไรก็ตามทีว่า ถ้าปล่อยให้เหตุเป็นไปเช่นนี้เพื่อผลร้ายไซร้ พระนามาภิไธยแห่งวงศ์กษัตริย์ของเรานี้จะสูญสิ้นไป. เพราะฉะนั้นความตั้งใจของข้าพเจ้าก็คือ จะให้จัดการสมานความแตกร้าวสามัคคีระหว่างญาติด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งชอบด้วยยุติธรรม”

การโต้เถียงกันเป็นอันยุติแต่เท่านี้, และท้าวธฤตราษฎร์ก็ประกาศเป็นคำขาดออกมาว่า ให้ไปรับเจ้าปาณฑวผู้ต้องเนรเทศกลับคืนมาสู่บ้านเมือง และให้คืนดินแดนแคว้นหัสตินาปุร ส่วนที่เธอควรได้แก่เธอผู้ภารดาทั้งห้า เนื่องด้วยเหตุนี้ท้าวเธอจึงให้ทูตจำทูลสาสน์ไปกรุงปัญจาล เพื่อรับยุธิษฐิรกับภราดากลับกรุง เมื่อทูตานทูตเหล่านี้ไปถึงกรุงปัญจาล ได้พบเจ้าปาณฑวภราดาในที่ออกขุนนาง กำลังสนทนาร่าเริงอยู่กับราชาทรุบท.

ราชาทรุบทตรัสพระสุรเสียงกระสันเศร้าว่า: “ยุธิษฐิร ไม่มีเรื่องไรในพงศาวดารของโลกที่จะเสมอเหมือนเรื่องของเธอเลย น่าสมเพชนี่กระไร ที่พระญาติของเธอกลับกลายเป็นราชศัตรูคู่จองเวรกันอย่างร้ายแรง”

ยุธิษฐิรกล่าว “ทุด ไอ้เรื่องลาภและอำนาจข้าพระเจ้าสาปน้ำหน้า! มันทำให้พี่น้องหมองใจกัน ลูกกับพ่อหมองใจกัน! ทรัพย์สมบัติ ลุอำนาจ และสตรี ของสามสิ่งนี้แลเป็นมารผจญมนุษย์เราป่นปี้ไปตามกัน”

พระราชาทรุบทมีสีพระปรางก่ำด้วยโลหิต ตรัสออกมาโดยพลันว่า “ข้าพเจ้าขอให้คำสัตย์ปฏิญญา ข้าพเจ้าขอประกาศในที่นี้ว่า ถ้าท่านไม่ได้ส่วนแบ่งบ้านเมืองโดยดีไซร้ ข้าพเจ้าจะต้องช่วยให้ได้ด้วยคมอาวุธ”

ขณะนั้นเข้าพนักงานนำทูตานุทตเข้าไปเฝ้า ทูตเหล่านั้นคลานเข้าไปกราบลงตรงหน้าพระที่นั่ง กราบทูลว่า;- “ขัตติยาธิบดีผู้เจ้านายของพวกข้าพระเจ้า บัญชาใช้ให้พวกข้าพระเจ้านำข่าวมงคลมากราบทูลพระองค์ให้ทรงทราบ พระราชามีพระกมลหรรษายิ่งนักที่มาได้เห็นความเกี่ยวดองระหว่างสองราชสำนักปัญฑุและปัญจาล แต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ใคร่จะเชยชมพระหลานขวัญ และพระราชินีเล่าก็ใคร่จะยลพักตร์ยุพดีศรีสะใภ้หลวง ปวงนิกรประชาชนเตรียมพร้อมแล้วที่จะคอยต้อนรับเธอ”

ราชาทรุบทมิได้พอพระหฤทัยในเรื่องที่เจ้าห้าภราดาจะพากันกลับไปกรุงหิสตินาปุร, ครั้นท้าวเธอจะทักท้วงห้ามปรามเล่าก็ดูเป็นการไม่บังควร ในที่สุดท้าวเธอก็อนุญาตให้ตามคำขอร้องของห้าพี่น้อง และเจ้าปันฑุภราดา พร้อมด้วยชนนีและเจ้าหญิงเท๎ราปทีก็ออกเดินทางไปกรุงหัสตินาปุร มีทหารและราชบริพารแวดล้อมเป็นขบวนแห่ มีแตรสังข์ดุริยศัพท์ขับขานจังหวะเพลงเดินไปตามมารคา.

เมื่อบริษัทถึงกรุงหัสตินาปุร, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรุงนั้นออกมาคอยต้อนรับอยู่ที่ประตูพระนคร ประชาราษฎรทั้งมวลชวนกันมาต้อนรับเจ้านายที่รักของเขาด้วยความยินดี และแต่พอเสียงปืนคำนับลั่นสัญญาก็ยังความเข้าใจของพลเมืองเกิดทันทีว่า เจ้าเหล่านั้นเข้ามาในเขตพระนคร; ความร่าเริงของราษฎรเอาไว้ไม่อยู่ ฝูงชายหญิงและเด็กเล็กเกรียวกรูไหลหลามมาด้วย ความใคร่จะเห็นราชปัณฑุบุตรทั้งห้า ถนนหนทางปักราชวัตรฉัตรธงแลไสว มีประตูชัยประดับประดาด้วยเครื่องแสดงความต้อนรับยินดี แต่พอเจ้าปัณฑุภราดาย่างเข้าท้องพระโรงชัย ธฤตราษฎร์ผู้เป็นใหญ่ก็เสด็จลงจากราชบัลลังก์ ตรงเข้าสวมกอดพระหลานรักทุก ๆ องค์ตามลำดับ และเจ้าปัณฑุภราดาทั้งห้าก็กรานกราบลงแทบฝ่ายุคลบาทรับพรของท้าวเธอ

พระราชีนีและนารีผู้สูงศักดิ์ในราชสำนักก็เช่นเดียวกัน พากันวิ่งไปต้อนรับเท๎ราปที เท๎ราปทีตรงเข้าไปกราบลงแทบฝ่ายุคลบาทของพระนางเชิงเคารพ กิริยามารยาทและรูปโฉมของนางสบพระหฤทัยพระญาติหญิงยิ่งนัก พระประยูรวงศ์ทุกองค์ก็รักและชมเชยนางอย่างปลื้มใจ.

การสมานระหว่างญาติพี่น้องที่ได้เหินห่างกันไปได้กลับเชื่อมสนิทเหมือนแต่ก่อนด้วยประการดังนี้ และมธุรสกถาของพระเจ้าธฤตราษฎร์ได้เชื่อมความแตกสามัคคีระหว่างเขาให้สนิทกันเข้าบ้าง, แม้ไม่สนิทสนมเหมือนแต่ก่อนก็ทำเนา พลางปราศรัยยุธิษฐิร ท้าวเธอตรัส:- “ความอริระหว่างหลานและอาเวลานี้เป็นอันไม่มีแล้ว ต่อไปข้างหน้า ขอให้ไมตรีพึงมีต่อราชสำนักกุรุและปัณฑุ ซึ่งเป็นญาติเรียงพี่เรียงน้องกัน อายอมแบ่งแผ่นดินให้หลานกึ่งหนึ่ง และหลานจะตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่ขานฑวปรัสถ์หรือที่อื่นก็ได้, และจงปกครองแว่นแคว้นแดนดินของหลาน ให้เป็นสุขสำราญภิญโญยิงเถิด”

เนื่องด้วยเหตุนี้ ราชอาณาจักรหัสตินาปุรจึงแยกออกเป็นสองภาค, ทุรโยธน์เอามณฑลต่าง ๆ ภาคตะวันออก ซึ่งอุดมผลไว้เป็นสิทธิของตน ยุธิษฐิรได้ตะวันตกซึ่งเป็นที่มรุกันดารอรัณยประเทศ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ