ตอนหนึ่ง ความริษยาแห่งญาติ

ในยุคต้นแห่งประชาวตารของโลก ในอินเดียภาคเหนือ มีกษัตริยราชทรงพระนามว่าศานตนุ, เป็นหน่อเนื้อเชื้อสายพระเจ้าภรต ผู้โอรสของท้าวทุษยันต์กับนางศกุนตลา บรมกษัตริย์ซึ่งลือนามยิ่งกว่าศานตนุ กษัตริย์องค์นี้ทรงรักษาราชประเพณีแห่งวงศ์ของท้าวเธอไว้ด้วยดี เอาพระหฤทัยสอดส่องดูทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนด้วยการุณยจิตยิ่งนัก นาครนิกรก็รักท้าวเธอเสมอด้วยดวงใจของเขา สหายของผู้เป็นเจ้าบูชาท้าวดุจเทพดาในสวรรค์ ราชศัตรูของท้าวพรั่นพระเดชบารมีดุจกลัวพญาผีก็ปานกัน พระจรรยาวัตรเป็นไปอย่างพลเมืองดี มิได้มีการถือพระองค์ ถือเอายุติธรรม ความเป็นคนตรง เป็นปทัสถาน พระราชสำนักของท้าวบริสุทธิ์จากสรรพมลทิน สิ้นเสียงครหานินทา พระราชอาณาเล่าก็แข็งแรงรุ่งเรือง.

ความสงบ นิราสภัย และความนิราสหฤทัยพรั่นเป็นอาการสำคัญของความดำรงอยู่ได้แห่งชาติ และพาณิชยกรรม การซื้อการขาย ซึ่งเป็นลานใหญ่ให้อาการเคลื่อนที่มีการหมุนเวียนไปและเดินแห่งธนสมบัติของชาติ พระผู้ครองราชย์เอาหฤทัยสอดส่องทุกเวลา ทรงถือเอาเป็นทินจรรยา สมบูรณ์เลื่อมใสในศาสนกิจ สมบูรณ์ความยินยอมอนุมัติในเรื่องใช้ความคิดและทัศนะตามมติของคณะต่าง ๆ หรือของบุคคล ความพ้นเด็ดขาดอนุญาตเต็มที่ในพิธีหรือระเบียบของการสมาคมและขนบธรรมเนียม สิ่งเหล่านี้แลเป็นสามัญมรดกของนิกรชาติทั่วพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่ และเนาในสุขนี้ มิได้มีใครรู้จักเสียเลยว่า การปกครองผิดคลองธรรม ทารุณกรรมของอธรรมิกราชและอยุติธรรมนั้นหน้าตามันอย่างไร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความจงรักภักดีและรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้เจ้านายผู้ควรแก่ตำแหน่งประมุขมาดำรงราชย์.

เมื่อได้ครองพระชนม์อยู่จนแก่หง่อมงอมชราแล้ว พระเจ้าศานตนุก็ทิวงคต. วิจิตรวิรัยผู้มกุฎกุมารรัชทายาทได้ขึ้นครองราชย์สืบมา ขัตติยราชนี้มีโอรสสององค์ ทรงนามว่า ธฤตราษฎร์และปาณฑุ เมื่อท้าวเธอมาทิวงคตเสียแต่ในวัยที่ยังไม่ควรดังนี้ ปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้สืบราชย์ต่อไปนั้นก็เกิดเป็นเรื่องขบกันยากใหญ่ เพราะเหตุว่าธฤตราษฎร์โอรสองค์ใหญ่บอดแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นปาณฑุผู้อนุภารดาของเธอก็ได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์.

ครั้นขึ้นเสวยราชย์ได้ไม่นานเท่าไร: ปาณฑุทรงดำริจะไปอยู่ป่าและครองชีวิตด้วยความวิเวก ท้าวเธอมิได้แย้มพรายให้ผู้ใดผู้หนึ่งรู้ เกรงว่าราชบริพารทั้งหลายจะไม่เห็นด้วย แต่ทรงรำพึงอยู่มิรู้แล้ว ในที่สุดพระหฤทัยรู้สึกเบื่อหน่ายเสียงกังสดาลดนตรีซึ่งย่อมแวดล้อมบัลลังก์ขัตติยราชอยู่ทุกเวลา ท้าวเธอก็อพยพไปอยู่ป่า พระมเหสีที่รักไปด้วย ล่วงกาลนานมา พระราชาก็ทิวงคตอยู่ในตำหนักไพรหรืออาศรม มีโอรสห้าองค์ ทรงนามว่า ยุธิษฐิร ลือนามว่าเป็นผู้หนักในสัจจะและศรัทธาเลื่อมใส ภีม ผู้ทรงกำลังมหึมาผิดมนุษย์สามัญ คนพรั่นทั่วไป อรชุน ลือนามทางฝีมือรบหรือใช้อาวุธเครื่องประหาร นกุลและสหเทพ สององค์ผู้น้องนุชและรองสุดท้องคู่นี้เป็นฝาแฝด.

เมื่อข่าวทิวงคตของท้าวปาณฑุแพร่ไปถึงพระนคร ราษฎรสิ้นทั้งเมืองได้สวมเครื่องทุกข์ให้ท้าวเธอตามประเพณีแสดงเศร้าให้ผู้ตาย พากันร้องไห้ราวกับว่าเขาได้เสียญาติที่รักไปคนหนึ่ง พระญาติพระวงศ์พร้อมด้วยราชบริพารได้พากันไป อัญเชิญพระนางผู้วิธวา และเจ้าปาณฑุกุมารทั้งห้ากลับเข้ากรุงหัสตินาปุร สำนักอยู่ในพระราชวังของท้าวธฤตราษฎร์ (กษัตริย์บอด) และโอรสทั้งห้าของพระนางนั้นเล่า ท้าวธฤตราษฎร์ผู้ปิตุลาก็ได้อุปถัมภ์ ให้ความรู้ศิลปศาสตร์ต่าง ๆ พร้อมกันกับโอรสของท้าวเธอ.

เมื่อเจ้าชายทั้งห้าภราดาเจริญวัยใหญ่ขึ้น: ร่างอันสูงระหง อกผึ่ง ไหล่ผาย อวัยวะแขนขามือเท้าได้ส่วนสัดกันพอดี ยุรยาตรงาม และกิริยามรรยาทมีสง่า ทำให้ชาวประชามีหวังดีในเธอทั้งห้า คุณสมบัติความเป็นที่มีนิยมชมชื่นของอเนกนิกรชาติในพระชนกนาถของเธอทั้งห้าได้สืบต่อลงมาถึงเธอทั้งห้าเต็มที่ แต่คุณสมบัติความเป็นที่นิยมชมชื่นอันนี้ทำให้ทุรโยธน์โอรสท้าวธฤตราษฎร์ ผู้ภราดาเรียงพี่เรียงน้องของเธอ และโอรสของท้าวธฤตราษฎร์นอกนั้นพากันริษยาเธอทั้งห้าอย่างยิ่ง.

เจ้าปาณฑุภราดาทั้งห้าได้ศึกษาเพลงอาวุธต่าง ๆ และได้มีส่วนในการฝึกหัดหรือซ้อมเพลงอาวุธทำนองรบด้วยความเพลินและพอใจยิ่งนัก ครูผู้ฝึกหัดเจ้าเหล่านี้เป็นพราหมณ์มีสกุล มีนามว่า โท๎รณอาจารย์ เป็นปราชญ์ผู้เลื่อมใส มีใจสูงประเสริฐ มีหน้าที่สำหรับสั่งสอนวิชาทหารแก่เจ้านายทุก ๆ องค์ในพระราชสำนักนั้น เจ้าชายเหล่านั้นได้รับบทเรียนทุกเวลาในราชเสฏฐาวิชา ว่าด้วยการใช้ธนูหน้าไม้ การใช้รถศึก การฟันดาบ หรือต่อสู้กันด้วยดาบ การใช้แหลนหลาว หอกซัด มวยปล้ำ และการฝึกหัดอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชวัตรหรือการฝึกหักสำหรับหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ในยุคนั้น.

โท๎รณอาจารย์ได้กระทำความตกลงไว้กับภีษ๎มโอรสท้าวศานตนุกับนางคงคา พระเจ้าอาของท้าวธฤตราษฎร์) ว่า เมื่อเจ้าชายเหล่านี้ได้รับการฝึกหัดในวิชายุทธ์ช่ำชองคล่องแคล่วแล้ว เจ้าชายเหล่านี้จะได้ช่วยท้าวเธอทำศึกกับทรุบท ขัตติยราชเจ้าปัญจาลผู้ราชศัตรูของท้าวเธอ.

มิช้ามินาน โท๎รณาจารย์ก็รักใคร่ปรานีเจ้าปาณฑพทั้งห้าผู้ศิษย์มาก มีเจ้าอรชุนเป็นต้น ซึ่งขึ้นหน้าภราดาร่วมอุทรและภราดาเรียงพี่เรียงน้องของเธอทุก ๆ องค์ในวิทยาของนักรบ มีสติปัญญาดีกว่า และเป็นเจ้าที่หนักในหิริโอตตัปปะ และว่าง่ายสอนง่ายกว่าเจ้าพี่น้องทุกๆ องค์ การุณยจิตที่ท่านโท๎รณาจารย์แสดงออกมานอกหน้าดังนี้ ทำให้ทุรโยธน์ทวีความริษยาปาณฑุภราดาทั้งห้าผู้มีฝีมือรบดีกว่าเธอทุกองค์ และริษยาความยอดเยี่ยม (มีฝีมือไม่มีใครเทียม) ของอรชุนมากที่สุด.

ครั้นเจ้าชายเหล่านี้เรียนวิชาทหารจบบริบูรณ์แล้ว ได้มีการประกวดฝีมือกันในหมู่เจ้าชายผู้นักรบหนุ่ม ๆ ผู้ดูเป็นจำนวนมากที่มาประชุมในการนี้ได้ตบมือแสดงความยินดีเสียงสนั่นหวั่นไหว แต่ในไม่ช้าการประกวดฝีมือกันนั้นท่าไม่ดี ท่วงทีผู้ต่อสู้กันต่างบันดาลโทสะกล้าขึ้นทั้งสองฝ่าย กลายเป็นไม่ใช่เล่นหยอกๆหรือเพื่อความรื่นเริง ทุรโยธน์ผู้ลำพองได้จับคู่สู้กันกับภีมผู้กำลังหาญ คู่ประติปักษ์ทั้งสองได้/*เข้าปล้ำต่อสู้กันอย่างเต็มฝีมือ ทั้งสองฝ่ายบันดาลโทสะแก่กล้าขึ้นทุกที ถึงกับต่างฝ่ายต่างกระหายโลหิตอีกฝ่ายหนึ่ง ครานั้นมีผู้เข้าไปห้ามเจ้าสองภราดาโดยบัญชาของพระราชาและบัญชาของโท๎รณาจารย์ ตอนบ่ายวันนั้น นักรบแปลกหน้ามาคนหนึ่ง มีสกุลอย่างไรไม่มีผู้ใดรู้จัก มีนามว่ากรรณ เข้ามาในที่ประลองฝีมือ จับคู่และต่อสู้กับอรชุน เจ้าปาณฑพผู้แกว่นกล้ายิ่ง แสดงให้ผู้ดูทั้งหลายเห็นว่าเขาเป็นผู้คู่ควรแก่อรชุน ทุรโยธน์เห็นฝีมือเขาแล้วก็พอพระหฤทัย ให้หาตัวไปเฝ้าที่วังของเธอ ประทานบำเหน็จเป็นอันมากและชุบเลี้ยงไว้.

การประลอฝีมือครั้งนี้เร่งเร้าทุรโยธน์ให้ริษยาเจ้าปาณฑุห้าภราดามากขึ้น และการต้อนรับเลี้ยงดูกรรณผู้ต่ำชาติไว้เท่ากับขนเอาฟืนมาทุ่มเข้าในกองไฟ หรือเพิ่มเติมสิ่งอาหารให้แก่ไฟก็ปานกัน.

ห้าภราดาผู้กำพร้าบิดา ได้รับความเดือดร้อนใจทุกวัน เธอทั้งห้าสู้ทนความสบประมาททุกประการ และได้รับความดูถูกไม่ผิดอะไรกันกับหมาหรือแมว ทั้งในพระราชฐานและในที่ประชุมชน มีถนนหนทางเป็นต้น ธฤตราษฎร์ทรงทราบอาการมุ่งร้ายหมายขวัญของทุรโยธน์ และด้วยปรีชาญาณสอดส่องของผู้ชำนาญในรัฐประศาสโนบาย ท้าวเธอได้ย้ายสถานนัดดาทั้งห้าไปยังวารณาวัต; ถึงกระนั้นทุรโยธน์ผู้กอปรด้วยประทุษจิตมิได้ปล่อยให้ห้าภราดาอยู่เป็นสุข เธอให้ช่างสร้างวังงามใหญ่ด้วยขี้ผึ้ง ยางสน และสิ่งวัตถุอย่างอื่นที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างไว เอาปูนฉาบไล้ด้วยดี ให้แลเห็นดุจอิฐและศิลา และวังที่ให้สร้างขึ้นนี้โดยเจตนาจะผลาญห้าภราดาเสียด้วยอัคนี แต่ผู้หวังดีต่อเธอทั้งห้าคือวิทุร (โอรสแท่งกุรุ) ผู้ปรีชาสามารถได้บอกให้เธอรู้ตัวทันท่วงที ครั้นสร้างมณเฑียรเสร็จ ทุรโยธน์ก็เชิญเจ้าห้าภารดาให้ไปประทับในวังใหม่นั้น อ้างเหตุว่าในพระมหาราชวังที่ทางไม่พอกันอยู่.

เวลาร้ายมาถึงในราตรีกาลเดือนมืดวันหนึ่ง หมอกตกปกคลุมแลไม่เห็นอะไร ชาวกรุงกำลังนอนหลับสนิทสิ้นทุกท้องถิ่น มิได้ยินเสียงฝีเท้าคนก้าวเดินตามข้างถนนใหญ่ ทันใดนั้น วังใหญ่ที่สร้างขึ้นก็เกิดไฟโพลงรุ่งโรจน์จ้า และในไม่ช้ามหาสถานนั้นก็โซมเป็นเถ้าไป เจ้าปาณฑุห้าภราดาได้ทรงทราบรหัสกรรมเรื่องนี้ล่วงหน้าหลายเวลาแล้ว จึงปลาสนาการคลาดแคล้วอัคนิภัยไป โดยทางใต้ดิน ลอดตาทุรโยธน์ผู้ใจขลาดไปได้ ขณะนั้นทุรโยธน์คงจะนึกกระหยิ่มยิ้มละไมว่าเธอได้ทำลายคู่เวรเสียได้สมประสงค์ ทำนองเดียวกันกับพาลราชอีกองค์หนึ่งในโบราณสมัย เธอได้ทรงขลุ่ยผิวเพลิดเพลินหฤทัย ขณะไฟกำลังเริงแรงแสงจ้าไหม้มหาสถานเสียงโผงผางอยู่นั้น.

กรรมน่าขนพองสยองกล้าซึ่งทุรโยธน์ได้ทำด้วยประทุษจิตครั้งนี้ แสดงให้ประชาราษฎร์ทั่วไปทราบได้ตระหนักว่า เธอคิดคลอกเจ้าปาณฑุองค์ใหญ่ (คือยุธิษฐิร) เพื่อเอาราชสมบัติเป็นสิทธิ์แก่เธอผู้เดียว ทุรโยธน์ได้งำความคิดประทุษร้ายครั้งนี้ไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน แต่นั่นแหละ โบราณท่านว่าความลับย่อมรั่วออกได้ แม้ลี้อยู่ในทรวงของขัตติยราช “สิ้นระบือของข่าว” ในชั้นตันก็เพียงแต่กระซิบกระซาบกัน ครั้นแล้วก็ลั่นออกมาดังๆ อย่างสามัญสนทนา และภายในไม่กี่เวลาก็อุโฆษซัดกันให้ลั่นไปทุกบ้านช่องท้องถิ่น สิ้นกลัวเกรงเจ้านาย คืนที่เกิดเหตุร้ายนั้น ตามที่ได้กล่าวแล้วน่าเกลียดนักหนา ครั้นล่วงกาลนานมาก็เป็นเรื่องซู่ซ่าราวกับเม็ดฝนห่าใหญ่ แต่เจ้าชายหนุ่มห้าภราดาพร้อมด้วยชนนีของเธอได้กรำฝนทนฟ้าไปอย่างน่าสมเพชนี่กระไร มีแต่ความคิดทรหดอดทนเท่านั้นเป็นอันสำหรับป้องกันฝนฟ้า บางเวลาแม่ลูกก็นั่งพักผ่อนกายข้างมารดา แล้วก็ออกเดินซัดเซพเนจรต่อไป เขา (แม่ลูก) ข้ามแม่น้ำคงคา พยายามว่ายข้ามไปจนถึงฝั่งตรงข้าม น้ำพัดพาลอยไปไกลกว่าจะถึงฝั่ง รอดตายในน้ำมาได้ แต่ก็ยังหาที่สำนักอาศัยไม่ได้ พากันเดินทางผ่านภูมิประเทศที่กันดารไปจนมารดามีคออันแห้งผาก อยากน้ำเป็นกำลัง ก็ทอดกายลงเหนือพื้นปฐพี ภีมเที่ยวไปหาน้ำแต่ไม่มีภาชนะที่จะตัก เธอจึงเปลื้องผ้าโพกชุบน้ำโชกแล้วนำเอาน้ำด้วยผ้านั้นมา บีบน้ำลงปากมารดาผู้กระหาย ช่วยชีวิตมารดาไว้ได้ทันท่วงที แต่น้ำในผ้าโพกนั้นมันไม่พอจะกลั้วคอของภราดาอีกสี่คนผู้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาด้วยกัน ความอยากอาหารเล่าก็ไม่น้อยกว่าความกระหายน้ำ และแม่ลูกก็ไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปในวันนั้น ได้พักหลับนอนอยู่ใต้ร่มพฤกษ์ใหญ่ใบหนา.

แต่กายและใจของภีมมิได้พักผ่อนหลับนอน เธอบ่นพึมพำว่า: “ใครจะเลี่ยงหนีลิขิตชี้ขาดของสวรรค์ได้ ? โอ้ อกเอ๋ยกรรม, กรรมที่ภารดาของข้าพเจ้ากรากกรำอยู่ จิตใจข้าพเจ้าเป็นเดือดเป็นแค้นนี่กระไร ! เคราะห์กรรมยังจะมีมาถึงเราอีกมากมายเทียวหรือ ? ยุธิษฐิรผู้ควรได้ราชสมบัติมานอนอยู่กลางดินกลางทราย หาเครื่องปูลาดมิได้ฝ่าย ทุรโยธน์ผู้ชิงราชสมบัติสินั่งนอน เหนือยี่ภู่ปลาดสะอาดพร้อม แวดล้อมด้วยสรรพรูปเครื่องแสดงสง่าและอานุภาพ! เชษฐภราดาของข้าพเจ้าเป็นคนใจอ่อน ไม่ใคร่จะถือโทษโกรธใคร มักยกอภัยให้โดยง่าย หาไม่ละก็ ทุรโยธน์เอย ป่านนี้วิญญาณของเธอจะเร่ร่อนไปทางไหน ?”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ