ตอนห้า อินทรปรัสถรัฐ, ราชอาณาจักรใหม่

ในไม่ช้าเจ้าปาณฑวภราดาก็ย้ายไปขาณฑวปรัสถ์กรุงใหม่, ลงมือก่อสร้างรกรากอาณาจักรขึ้น เริ่มการหักร้างถางพง; ขุดคูนา ไขน้ำเข้าท้องทุ่งที่เป็นทะเลทราย; แปลงป่าเป็นนาเป็นไร่ไปทุกหนทุกแห่ง สร้างมณเฑียรสำหรับกษัตริย์ใหม่ มณเฑียรอันงามพร้อม ผู้ที่ได้มาเห็นความงามของพระราชวังใหม่นี้แล้วย่อมอดชมไม่ได้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา สูงเด่นข่มแม่น้ำนั้น ตระการตาราวกับว่าเทพดามานิรมิตไว้ อุทยานรอบมหาสถานนั้นเล่าก็งามไม่น้อย เต็มไปด้วยต้นผลไม้นานาพรรณ ไม้ดอกและลดาวัลย์งามน่าทัศนา มีธาราทางน้ำใหญ่น้อยซอยผ่านและเวียนวกไปรอบอุทยานนั้น ซึ่งซอยมาจากแม่น้ำใหญ่, น้ำไหลเข้าออกได้, ฝูงกวางเขางาม ๆ เที่ยวกินหญ้าอยู่ในตฤณุทยานอันเขียวไสว; ฝูงมยุราหงอนใหญ่เยื้องกรายไขว่ตามที่แจ้งระหว่างพุ่มไม้ บ้างก็จับเจ่าอยู่บนกิ่งพฤกษ์ไม่สูงจากดินเท่าไร; ภายในร่มพฤกษ์นั้นมีน้ำพุพ่นฝอยพราวแพรว, โกกิลาร้องเจื้อยแจ้วเจ่าในพุ่มไม้ใบหนา. เครื่องอาศัยทุกอย่างซึ่งวิทยาพึงให้แก่ธรรมชาติ, โฉมหน้าความงามแห่งธรรมชาติซึ่งวิทยาพึงนิยมหรือทำให้เกิดขึ้นได้, ได้มีอยู่พร้อม ณ ที่นั้น เพื่อผูกพันปราสาทรูปของเราไว้และทำหทัยของเราให้รมย์รื่นแช่มชื่นบาน ครั้นสร้างมหาสถานเสร็จ เจ้าปัณฑุภราดาก็เสด็จขึ้นวังใหม่ตามพิธีโบราณ, และได้ทรงขนานนามมณเฑียรใหม่นั้นว่า ‘อินทรปรัสถ์,’ ทั้งนี้เพราะงามปานรมยสถานในตรัยตรึงศ์

ต่อนั้นนิกรนาครราษฎร์ได้อัญเชิญยุธิษฐิรขึ้นครองราชัย ณ กรุงอินทรปรัสถ์ ในร่มโพธิสมภารของท้าวเธอ ประเทศได้มั่งคั่งสมบูรณ์พูนเจริญขึ้น ผองพสกนิกรก็อยู่เย็นเป็นสุข ท้าวเธอแผ่ราชอำนาจออกไปทีละน้อยเรื่อยไปจนอินทรปรัสถ์รัฐใหญ่กว่าเดิมที ไม่แต่มีดินแดนมากถ่ายเดียว, ยังกอปรด้วยกำลังรี้พลอเนกอำนาจทางรัฐประศาสน์ด้วย. ครั้นยุธิษฐิรเห็นว่าท้าวเธอจัดการปกครองบ้านเมืองมั่นคงดีแล้ว, ท้าวเธอใคร่จะทำ “พิธีราชสูยะยัชน์การบูชาแห่งมหาราช,” เพื่อเป็นเครื่องหมายแผ่อำนาจของท้าวเธอผู้มหาราชาไปในหมู่เจ้าเล็กเมืองน้อยซึ่งอยู่ใกล้เคียงรัฐสิมา ท้าวเธอจึงใช้อนุภราดาทั้งสี่กรายไปเหยียบแคว้นประเทศราชใกล้เคียงเหล่านั้น เพื่อประกาศความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของท้าวเธอเหนือพวกเจ้าประเทศราชน้อย ๆ เหล่านั้น. เจ้าประเทศราชใกล้เคียงซึ่งอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นก็ได้รับเชิญมาประชุมในพิธีราชสุยะยัชน์, ฝ่ายผู้ที่ขืนขัดแข็งข้อต่อสู้ก็ถูกประหารประลัยไป, ดินแดนก็เลยถูกงบขึ้นอยู่ในราชอาณาอินทรปรัสถ์.

ราชสูยะพิธีครั้งนี้เป็นผลสำเร็จอย่างใหญ่ทางรัฐประศาสโนบาย, ทำให้ยุธิษฐิรตั้งมั่นอยู่ในราชสมบัติได้, แผ่ราชอำนาจของท้าวเธอไปในหมู่เจ้าสามนตราชน้อยใหญ่หลายองค์นักหนา; เป็นสื่อนำท้าวเธอให้มีอิสระไมตรีกับมหาราชาของอินเดียภาคเหนือหลายองค์: และช่วยส่งชื่อระบือเดชานุภาพเกียรติประวัติของท้าวเธอทั่วไปทุกประเทศ.

เสร็จการพิธีใหญ่แล้วมิช้ามินาน ทุรโยธน์พร้อมด้วยยศบริวารและศกุนิผู้บิตุลแห่งคณะเจ้าเการวภราดา, เสด็จไปเที่ยวเมืองอินทรปรัสถ์, ทั้งนี้ด้วยน้ำหฤทัยเต็มไปด้วยริษยามากกว่าแสดงความยินดี. สรรพสิ่งเธอได้ทัศนา, สรรพสิ่งที่เธอได้สดับ, สรรพสิ่งที่เธอตรัสท้าวถึง, มีแต่จะช่วยรุมรึงเร่งเร้าความริษยาอาฆาตของเธอให้จัดขึ้น ภาคพื้นภูมิประเทศอินทรปรัสถ์, หน้าตาของประชาชนพลเมืองอันอิ่มด้วยสุขสำราญบานกมล, ความรุ่งเรืองชัชวาลทั่วพระราชฐานอันล้วนแล้วไปด้วยของมีราคาน่าดู, และสิ่งที่เฟื่องฟูยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายก็คือพระราชวัง, เหลือที่เลือดของทุรโยธน์จะประทะประทัง การมาแห่งแขกริษยาจิตได้เป็นเดือดเป็นแค้นนี่กระไร แต่ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน ท้าวเธอทรงพระดำเนินเที่ยวทั่วมหาสถานที่นั้น ในที่แห่งหนึ่ง บังเอิญพระเศียรเกล้าเง้เข้าที่ผนังเงาอันขัดขึ้นมันราวกับกระจกโครมใหญ่ ในเมื่อพยายามจะลอดไปทางนั้น สำคัญว่าเป็นช่องว่าง; อีกแห่งหนึ่ง, ขณะเมื่อเดินออกจะไปยังอีกห้องหนึ่ง, น้ำพุจากเพดานพ่นสุคันธรสเป็นหยาดฝนรดราดเครื่องทรงเบียกชุ่ม; อีกแห่งหนึ่ง, ทุรโยธน์เปลื้องเครื่องทรงเพื่อจะลงสรง แต่ที่นั้นกลับเป็นทางเดิน ซึ่งสำคัญหฤทัยว่าเป็นอ่างแก้วโดยฝีมือช่างทำลวงไว้, ความจริงหาเป็นความตั้งใจร้ายฝ่ายเจ้าปาณฑวภราดาที่จะวางข่ายเล่นงานท้าวเธอ, หรือทำให้ท้าวเธออับอายขายหน้ามิได้; แต่ทุรโยธน์มีดวงหฤทัยเป็นพาล ลงเอาว่าเหตุการณ์หยุมหยิมเหล่านี้เนื่องจากเจตนาจะให้ท้าวเธอขายหน้า เพราะประสบเหตุเมื่อท้าวเธอแสดงความเซ่อซ่าทีไร ก็ถูกเจ้าปาณฑวภราดาหัวเราะทีนั้นโดยกลั้นไว้ไม่ได้, แย้มระริกเธอฉันญาติที่เสนหา มิใช่จะฮาป่าเอาท้าวเธออย่างไพร่. ทุรโยธน์นึกขัดหฤทัยที่ได้รับความอับอายดังนี้ก็ผูกแค้นทันที ออกจากอินทรปรัสถ์โดยฉับพลัน, ครั้นมาถึงเมืองก็เล่าเรื่องปริวิตกให้ศกุนิผู้มาตุลฟังว่าดังนี้

“ศกุนิ, ข้าพระเจ้ารู้สึกพิษมันแปลบปลาบเข้าหัวใจ เจ้าปัณฑวภราดาผู้หยาบคายได้เตรียมการไว้เล่นงานข้าพระเจ้าด้วยอุบายอันแยบคายนักหนา ต่อหน้าเทพดาเถิดคุณลุง, ความหมายมุ่งของเขาเพ่งแต่จะหมิ่นประมาทข้าพระเจ้าถ่ายเดียว. ความหมิ่นประมาทอันขื่นขมกว่าแก่นไม้ที่ขมจัด ! ตั้งใจหมิ่นประมาทกันแท้ๆ! เพราะฉะนั้นพวกมันจึงเดินตามข้าพระเจ้าราวกับฝูงหมาล้อมหลังล้อมหน้า เพื่อเห็นสิ่งที่พอใจของมัน, คือตั้งตาดูข้าพระเจ้าล้มคว่ำคะมำหงาย และไอ้เรื่องหกล้มเล่า, มันออกจะร้ายเท่ากับตกที่สูงเหมือนกันนะท่านหนา, เล่นเอาแข้งขาข้าพระเจ้าถลอกปอกเปิกไปหลายแห่ง! พระหฤทัยของพระชนกข้าพระเจ้าเล่าก็ชักเนือยลง ด้วยห่วงใยและชราภาพมาเบียดเบียน, และในบัดนี้ท้าวเธอไม่สามารถแก้ปัญหาที่ยุ่งยากได้, ท้าวเธอก็ได้แต่ฟังเสียงที่ปรึกษา-ที่ปรึกษาซึ่งน่าจะไว้วางใจได้เท่ากับอสรพิษที่มีเขี้ยวมีงาครบ. ไอ้เหล่าร้ายขายเจ้ามันทูลแนะนำให้ท้าวเธอแบ่งราชอาณาจักรของข้าพระเจ้าแก่เจ้าปาณฑวภราดากึ่งหนึ่ง, ซึ่งเขาไม่มีสิทธิที่จะได้เลย, พระชนกของข้าพระเจ้าผู้เบาความคิดจะถูกเนรเทศจากนิเวศน์มหาสถานสักวันหนึ่ง, ต่อจะทรงรู้สึกว่าได้เลี้ยงอสรพิษไว้ครอกหนึ่งสิ มันจะไม่ทันการ, ข้าพระเจ้ากล่าวทั้งนี้เพราะความจำเป็นแท้. ท่านก็เห็นอยู่แก่ตาของท่านแล้วว่า เหล่าอาธัมเสนาบดีของเราได้โกยธนทรัพย์ในท้องพระคลังเทประดังไปให้สำนักปาณฑพเท่าไร. ข้าพระเจ้ามิใช่ลูกผู้หญิง จะได้มาร้องหงิงๆ สำอิงสำออยเพราะใจไม่ป้ำ: ข้าพระเจ้าจะรบจนลมหายใจทอดที่สุด! ข้าพระเจ้าอยากจะฆ่าไอ้เหล่าร้ายนั้นเสียก่อน, แล้วจะตายก็ตามทีเถิด. ข้าพระเจ้าต้องสารภาพว่ากองทัพบกของเราแข็งแรงเท่าที่เป็นอยู่ในบัดนี้, ยังอ่อนกำลังมากนักหนา, ไม่เพียงพอสำหรับการยุทธ์กลางแปลงกับข้าศึก, เพราะเชื่อแน่ว่ามันมีกำลังกล้าแข็งอุดหนุนหลายราย. ความงามและสง่าผ่าเผยของเขาเท่ากับต้ออันระคายเคืองในตา: ข้าพระเจ้าอยากจะตายเสียดีกว่าครองชีวิตอยู่ด้วยความอัปยศ, แม้ข้าพระเจ้าจะมีอายุเท่ากับกาก์ก็ตามทีเถิด.”

ศกุนินั่งฟังเรื่องเหลวไหลนี้ด้วยความกระหาย, มิได้พูดว่ากระไรแต่สักคำ จนทุรโยธน์ตรัสขาดคำลง. เขาเป็นข้าราชการหัวประจบผู้หนึ่งซึ่งคล้อยตามเจ้า, และเจนต่อการนั่งนิ่งฟังรับสั่งต่างๆ ได้อย่างดีๆ, รอบรู้วิธีประติบัติไม่ขัดอารมณ์เจ้า. ครั้นเห็นทุรโยธน์ขุ่นเคืองพระญาตินักหนา, เป็นเวลาอันเหมาะที่จะส่งเสริมได้เต็มที่, เขาก็คายพิษทวีความอาฆาตของเจ้าให้เร่าร้อนขึ้นกว่าเก่า:-

“ฝ่าพระบาทตรัสชอบแล้ว, มันยากที่จะหักอำนาจเจ้าปาณฑวภราดา, ด้วยเจ้าประเทศราชใหญ่น้อยเป็นอันมากนับถือเขา. แต่ในเวลาอันเดียวกันที่ฝ่าพระบาทตรัสว่าตายเสียดีกว่าครองชีวิตอยู่ในความอัปยศนั้น เป็นพระราชดำรัสที่ผิดแท้พระเจ้าข้า. ความอัปยศนั้นเท่ากับอากาศธาตุก็ว่าได้; มิฉะนั้นก็เท่ากับบาดแผลอันหนึ่งซึ่งอาจรักษาให้หายได้ในไม่ช้า: ความคิดอันหนึ่งได้มากระทบดวงจิตข้าพระเจ้า จะขอทูลให้ทรงทราบก่อนมันจะหายวาบไปจากดวงกมลของข้าพระเจ้า เห็นด้วยเกล้าว่าเป็นอุบายอันหนึ่ง จะได้การเป็นแน่. ยุธิษฐิรชอบเล่นสกา, ใครๆ ก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้ว, และฝ่าพระบาทก็ทรงทราบแล้วว่า ข้าพระเจ้าชำนาญในการเล่นสกาเพียงไร. เจ้าปัณฑุยังอ่อนหัดมาก, ข้าพระเจ้าพอจะเอาชัยชนะได้ด้วยอุบายของข้าพระเจ้าตั้งพันท่า. ข้าพระเจ้าจะเล่นด้วยลูกสกาหยอดตะกั่ว, ยวนยั่วให้เธอขันพนันเดิมพันหนัก ๆ มือลงไป, แต่พอเขาได้ครึ่งโหล ข้าพระเจ้ารบประทันว่าจะยังความภาคภูมิของเธอให้ด้อยลงจงได้. จะเล่นเธอให้ล่อนแก่นเทียวพระเจ้าข้า, จะเอาให้ถือกระลาขอทาน ครั้นเธอตกอยู่ในฐานเป็นยาจกเจริญ ราชมณเฑียรเป็นที่เพลิดเพลินราวกับหมดอันจะครองอันจะใช้, ข้าพระเจ้าจะมัดเธอให้หนักมือลงไปยิ่งกว่านั้นด้วยคำมั่นสัญญาว่า ผู้แพ้ต้องจากถิ่นสถานบ้านเมืองไปอยู่ป่าเป็นเวลาสิบสองปี เราอาจผลาญข้าศึกของเราเสียได้ด้วยแยบยลกลใน, มิใช่ด้วยการรบเปิดเผย.”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ