- คำนำ
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๗
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๒ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๖๐
เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๗
วัน ๓ ๖ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชวรานุกูลราชปลัดทูลฉลอง๑ กระทรวงมหาดไทย นำขุนไผทไทยพิทักษ์ ซึ่งกลับมาจากราชการมณฑลลาวกาวเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท มีพระราชดำรัสไต่ถามตามสมควร แล้วดำรัสถามกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา๒ ว่าการประชุมเจ้าท่าตกลงกันฤๅยัง กรมหมื่นพิทยลาภกราบบังคมทูลว่าอีกสักห้าหกวันเห็นจะตกลงได้
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๔ ๗ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลาเช้าโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี๓ เสด็จทรงจุดเทียนนมัสการ พระสงฆ์ได้รับพระราชทานฉัน ๆ แล้วถวายผ้าจำพรรษา มีผ้าฃาวของหลวง ๕ พับ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ได้ถวายกับปิยภัณฑ์เป็นมูลค่าแห่งการปฏิสังฃรณ์ เช่นทุกปีมา
เวลาบ่ายมีการเจริญพระพุทธมนต์ที่วัดราชบพิธ๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระสฤษดิ์พจนกร นำบอกฃ้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิศณุโลกย์ ขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๖ ฉบับ
ความต้องกันว่า ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า พระอรรคราชเทวี๕ แลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช๖
แล้วพระนรินทราชเสนี กระทรวงกระลาโหม นำหลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ผู้บังคับการ ๑ ว่าที่นายร้อยตรีนายมิก ๑ กองทหารมณฑลพระพิศณุโลกย์ ๒ นายว่าที่นายร้อยเอกขุนพิศาลยุทธกิจ ยกรบัตรกอง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี หม่อมหลวงชิต เกียกกายกอง ๑ ว่าที่นายร้อยโท นายนาค ประจำกอง ๑ ว่าที่นายร้อยโท หม่อมราชวงษ์แดง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายศิริ ๑ กองทหารมณฑลนครราชสีห์มา ๕ นาย นายร้อยเอกขุนแผลงสรสาตร ปลัดกอง ๑ นายร้อยโท นายจิดเล็กบังคับกอง ๑ ว่าที่นายร้อยโทนายแดงประจำกอง ๑ ว่าที่นายร้อยโท นายกลิ่น ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายเหลือง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายพิน ๑ กองทหารมณฑลลาวกาว ๖ นาย
ว่าที่นายพันตรีฃุนพิศลยุทธการ ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายหรุ่นเกียกกายกอง ๑ ว่าที่นายร้อยเอก นายจงบังคับกอง ๑ นายร้อยโทนายหลำ ๑ ว่าที่นายร้อยโท นายสั้น ๑ นายร้อยโทนายฉุน ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายถึก ๑ นายร้อยโท นายกล่ำ ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายหรัง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายเป้า ๑ ร้อยตรี นายเสม ๑ ว่าที่นายร้อยตรี หม่อมราชวงษ์กระจ่าง ๑ กองทหารมณฑลเมืองลาวพวน ๑๒ นาย
ว่าที่นายร้อยตรี นายเกิด ยกรบัตรกอง ๑ ว่าที่นายร้อยโท นายแดง บังคับกอง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายผาดประจำกอง ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายช้อย ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายชมคำ ๑ ว่าที่นายร้อยตรี นายหร่าย ๑ กองทหารมณฑลลาวเฉียง ๖ นาย รวมทั้ง ๕ มณฑล ๓๑ นาย ฃอพระราชทานกราบถวายบังคมลา ออกไปประจำรักษาราชการตามมณฑล
ดำรัสว่าไม่ทรงทราบว่าใครเป็นใคร ให้เดินเฃ้ามาเฝ้าทีละคน แล้วสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช๗ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการออกมาทรงจัดให้เดินถวายตัวออกช่องเก้าอี้หว่างกลางขุนนาง เลี้ยวข้างเก้าอี้ข้างขวามือที่กระทรวงกระลาโหมเฝ้า สมเด็จกรมพระกราบทูลฉลองรายชื่อ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควร
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๕ ๘ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลาเช้าโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จไปทรงจุดเทียนนมัสการ พระสงฆ์ได้รับพระราชทานฉันแล้ว ถวายผ้าจำพรรษาในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ ได้ถวายกับปิยภันเปนมูลค่าแห่งสงฆิกเสนาสน์เช่นทุกปีมา
วัน ๖ ๙ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาจ่าแสนบดีกระทรวงมหาดไทย๘ นำพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม๙ ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี ๑ หลวงอุดมภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ๑ กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง พระราชทานผ้าพรรณนุ่งห่มตามสมควร
แล้วฃุนอักษรสมบัติเสมียนตรา กระทรวงว่าการต่างประเทศ นำนายฉาก๑๐มหาดเล็กเวรสิทธิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปเล่าเรียนวิชาทำการบาญชี ณ ประเทศยุโรป กลับเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท
มีพระราชดำรัสถามนายฉากว่า ออกไปเรียนเมืองไหน นายฉากกราบบังคมทูลว่าเมืองอังกฤษ
แล้วดำรัสถามกรมหมื่นนเรศรว่า๑๑ ความเรื่องฆ่ากันตายที่ไม่มีโจท ทำไมยังค้างอยู่สองเรื่อง กรมหมื่นนเรศร์กราบบังคมทูลว่าไม่มี จึงดำรัสต่อไปว่าในบาญชีมหาดเล็กเฃามี กรมหมื่นนเรศร์กราบบังคมทูลยืนอยู่ว่าไม่มี แล้วดำรัสถามหม่อมเจ้าฃาวว่า ทำไมจึ่งขาดศาลไม่ใคร่มา มหาดเล็กไปตรวจพบแต่พระยาธรรมสรวิชกับเสมียนสองสามคน หม่อมเจ้าฃาวกราบบังคมทูลว่ามาเสมอ แล้วดำรัสต่อไปว่าบาญชีมหาดเล็กเฃาว่าไม่มาถ้าอย่างนั้นต้องวิวาทกันเอากับมหาดเล็ก
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๑๐ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระสฤษดิ์พจนกร๑๒ กระทรวงมหาดไทย นำศุภอักษรเมืองนครเชียงใหม่ ๑ บอกพระศักดาพิเดชกรฤทธิ ฃ้าหลวงใหญ่เมืองพระตะบอง ๑ รวม ๒ ฉบับ ขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ในศุภอักษรว่ามีตราส่งแฃกกรมการเมืองปหัง ไปไว้เมืองนครเชียงใหม่ ได้รับไว้แล้วแลได้จัดที่พักให้อยู่ตามสมควร
บอกพระศักดาพิเดชกรฤทธิว่า มีตราออกไปให้จัดการซ่อมแซมบ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถวายเปนหลวง พระศักดาได้ไปวัดที่แลจัดการซ่อมแซมรักษาต่อไปตามท้องตราแล้ว
จึ่งดำรัสถามกรมหมื่นดำรง๑๓ว่า อ้ายพวกแฃกขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่เปนการเรียบร้อยดีฤๅอย่างไร กรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลว่า หลวงคเชนทรามาตย ที่นำพวกแฃกขึ้นไปก็ยังลงมาไม่ถึง ศุภอักษรนี้ก็มาตามทางไปรสนีย์
แล้วดำรัสถามพระยาเพชพิไชยว่า เปิดศาลฤๅยัง พระยาเพชพิไชยกราบบังคมทูลว่า จะเปิดเวลาพรุ่งนี้
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๑ ๑๑ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง ดำรัสกับกรมหมื่นพิทยลาภว่าไฟฟ้าที่จุดอยู่ในพระบรมมหาราชวังมันใช้ไม่ได้ แดง ๆ เหมือนบูชาเทวดา กรมหมื่นพิทยลาภกราบบังคมทูลว่า เวลานี้ต่อสายมากไฟฟ้าจึงเดินไม่เต็มที่ แลอินเชอเนียคนนี้ชำนาญแต่ไฟฟ้าเท่านั้น การอินเชอเนียหาชำนาญไม่ ได้คิดไว้ว่าจะให้พระยามหาโยธาจัดส่งเข้ามาใหม่ จึงดำรัสต่อไปว่า การอินเชอเนียเครื่องจักรไฟฟ้าก็เหมือนกับเครื่องจักรเรือไฟเหมือนกัน หาเอาในนี้ก็ได้ไม่ต้องสั่งออกไปนอก
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้นายจิตรมหาดเล็กเวรสิทธิ์ บุตรพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม) เป็นหลวงรำไพพงษ์บริพัฒ มีตำแหน่งราชการในกรมรถไฟขึ้นกระทรวงโยธาธิการ ถือศักดินา ๖๐๐ ให้ขุนรถนาประดับ๑๔ เป็นหลวงรถนารังสรรค์ จางวางกรมช่างประดับกระจก ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ให้หมื่นสะสับลายแก้ว๑๕ เป็นหลวงรจนาประดับ เจ้ากรมช่างประดับกระจกซ้าย ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ให้เลื่อนขุนวิจิตรแว่นฟ้า เปนหลวงวิจิตรแว่นฟ้า เจ้ากรมช่างประดับกระจกขวา ถือศักดิ์นา ๔๐๐ ให้เลื่อนหมื่นจำนงไพจิตร เปนขุนจำนงไพจิตร ปลัดกรมช่างประดับกระจกขวาถือศักดิ์นา ๓๐๐
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๒ ๑๒ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลาบ่ายโมงเศษ ทรงรถพระที่นั่งเสด็จไปประทับที่สุนันทาไลย๑๖ ทอดพระเนตรทั่วแล้ว เสด็จทรงรถพระที่นั่งไปตามถนนพาหุรัด กลับมาประทับรถพระที่นั่งที่น่ายุทธนาธิการ๑๗ แล้วเสด็จทรงรถแตรมเว๑๘ ไปจนถึงถนนตกเวลายามเศษ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
วัน ๓ ๑๓ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หม่อมราชวงษ์ประยูร บุตรหม่อมเจ้าเฃม ในเจ้าฟ้าอิศราพงษ์๑๙ เปนหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ราชนิกูล ถือศักดิ์นา ๘๐๐
เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๔ ๑๔ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระสฤษพจนกรณ์ กระทรวงมหาดไทย นำบอกพระวิจิตรวรศาสน์๒๐ ผู้แทนฃ้าหลวงหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตก ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ความว่าได้ปฤกษาแลชี้แจงกับพระยาวิเชียรคีรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตามข้อบังคับที่จะตั้งด่านอำเภอเสร็จแล้ว
จึงดำรัสถามกรมหมื่นดำรงว่า พระวิจิตรออกไปเปนการเรียบร้อยดีฤๅอย่างไร กรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลว่าเป็นการเรียบร้อยดี แล้วกรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลต่อไปว่า พระวิจิตรบอกเข้ามาว่าที่เมืองสงขลาผู้ที่จะตัดสินความไม่มี กรรมการตัดสินกันที่เมืองสงขลา ก็ไม่ถูกในกฎหมายคดีความอไร แต่พระวิจิตรไม่สู้จะเข้าใจในกระบวนความก็ยังรู้ว่าไม่ถูก อยากจะขอรับพระราชทานผู้พิพากษาออกไปสักคนหนึ่ง เวลายามเศษเสด็จขึ้น
วัน ๕ ๑๕ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
ไม่เสด็จออก ไม่มีราชการอไร
วัน ๖ ๑ฯ ๔ ค่ำ ปีมแมสัปตศก ๑๒๕๗
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๘ศก ๑๑๔
วันนี้เจ้าพนักงานจัดการสมโภชศิริราชสมบัตร ส่วนทางพระราชอุทิศ พระราชกุศลถวายในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์ ๗๓ รูป เท่าจำนวนพระชนมพรรษา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสนำเปนประธาน พระสงฆ์ ๗๓ รูป มีกำหนดแบ่งเปนสองส่วนๆหนึ่ง ๒๘ รูป เท่ากับพระชนม์พรรษาเมื่อเสด็จดำรงอยู่ในศิริราชสมบัติ อีกส่วนหนึ่ง ๔๕ รูป เท่ากับพระชนม์พรรษา เมื่อยังไม่ได้เถลิงถวัลราชสมบัติปราบดาภิเศก รวมทั้งสองส่วนเปน ๗๓ รูป
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออก ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๗๓ รูปนั้นสดัปกรณ์ ทรงประเคนพัดรองแก่พระสงฆ์ ๒๘ รูป แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงประเคนต่อไป พระสงฆ์รับไตรแล้วออกมาครองกลับเข้าไปนั่งตามลำดับ แต่พระสงฆ์ ๒๘ รูปนั้นไตรแพร พัดตราสำหรับรัชกาลที่ ๑ ปักด้วยดิ้นแลไหมต่างสี ส่วนที่พระสงฆ์ ๔๕ รูปนั้น ไตรผ้าพัดพื้นแพรตามธรรมดา แล้วเสด็จทรงจุดเทียนเครื่องนมัศการ พระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์
แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้เจ้าราชสัมพันธ์เปนเจ้าอุปราชเมืองนครลำปาง ให้พระยาอุตรการโกศล เปนเจ้าราชภาติกวงษ์ เมืองนครลำปาง ให้นายน้อยบุญฤทธิ เป็นเจ้าสุริยวงษ์ เมืองนครลำปาง ให้พระยาอุปราช เปนพระยาประเทศราชอุตรทิศ เจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครลำปาง โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์แก่เจ้าอุปราชเมืองนครลำปางพร้อมกับสัญญาบัตร
แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญที่รฤกในการสมโภชศิริราชสมบัติ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์๒๑ แด่พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ
เวลา ๕ ทุ่มเศษ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พระสงฆ์ถวายอติเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับในพระฉาก พอเวลา ๗ ทุ่มเศษ เสด็จสู่ที่สรงมูรธาภิเศก ที่น่าพระที่นั่งราชฤดี ในการจันทรุปราคา ครั้นเสร็จสรงทรงเครื่องแล้ว เสด็จเฃ้ามาประทับในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ๒๒ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์๒๓ ขุนทิพยไพรพยนต์ ตามที่คำนวนจันทรถูก แล้วพระราชทานโหรพราหมณ์
แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูรนารถ พระราชทานมหาดเล็ก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช แลพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล๒๔ พระราชทานฃ้าราชการที่มาประจำซองสืบต่อไป
เวลา ๘ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
-
1. พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ↩
-
2. กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนเป็นกรมขุน ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ต้นราชสกุล โสณกุล ↩
-
3. พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา ทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ↩
-
4. เป็นการพระราชกุศลถวายผ้าจำนำพรรษาในพระอารามหลวง ๔ พระอาราม คือวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามในรัชกาลที่ ๒ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ วัดราชโอรส เป็นพระอารามในรัชกาลที่ ๓ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ วัดราชประดิษฐฯ เป็นพระอารามในรัชกาลที่ ๔ วันพี ๒๐ กุมภาพันธ์ วัดราชบพิธ เป็นพระอารามในรัชกาลที่ ๕ ↩
-
5. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เวลาเสด็จประพาสยุโรป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ถึงรัชกาลที่ ๖ เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็นสมเดจพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ↩
-
6. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ↩
-
7. ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต้นราชสกุล ภาณุพันธุ์ ↩
-
8. พระยาจ่าแสนบดี (เดช) ↩
-
9. พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน) ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ↩
-
10. นายฉาก บุตรพระยาอนุชิตชาญไชย (พึ่ง สุวรรณทัต) ↩
-
11. กรมหมื่นนเรศร ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อน เป็นกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ต้นราชสกุล กฤดากร ↩
-
12. พระสฤษดิพจนกร (เส็ง วิรยศิริ) ภายหลังเป็นพระยาศรีสหเทพ และ พระยามหาอำมาตยาธิบดี ↩
-
13. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ภายหลังทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ฯ ต้นราชสกุล ดิศกุล ↩
-
14. ในราชกิจจานุเบกษาว่าให้ขุนรจนาประดับเปนหลวงรจนารังสรรค์ ↩
-
15. ในราชกิจจานุเบกษาว่าให้หมื่นสลับลายแก้ว ↩
-
16. เข้าใจว่าจะเป็นโรงเรียนสุนันทาลัย ที่ปากคลองตลาด ↩
-
17. กระทรวงกลาโหม ปัจจุบันนี้ ↩
-
18. รถแตรมเว คือรถราง ↩
-
19. เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวร ฯ ใน รัชกาลที่ ๓ ต้นราชสกุล อิศรศักดิ์ ↩
-
20. พระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช ↩
-
21. คือเหรียญจักรพรรดิมาลา ↩
-
22. ในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นสมเด็จ ฯ กรมพระยา ต้นราชสกุล เทวกุล ↩
-
23. ในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนเป็นกรมพระฯ ต้นราชสกุล สวัสดิกุล ↩
-
24. พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ต่อมาทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นมิหศรราชหฤทัย ต้นราชสกุล ไชยันต์ ↩