- คำนำ
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๗
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๒ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๖๐
เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๘
วัน ๓ ๑ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จออกที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทมุกข์ตวันออก กับด้วยสมเด็จพระอรรคราชเทวี พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประวิทวัฒโนดม แทนเสนาบดีกระทรวงวัง กับหลวงมนตรีนิกรโกษา กระทรวงต่างประเทศ นำพระนิเทศพานิช กงซุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลสมเด็จพระอรรคราชเทวี มีพระราชดำรัสไต่ถามด้วยตามสมควร จนเวลาย่ำค่ำเศษ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประวิทวัฒโนดม กับหลวงนิกรโกษา ก็นำพระนิเทศพานิชออกจากที่เฝ้า แล้วเสด็จมาทรงรถพระที่นั่ง กับสมเด็จพระอรรคราชเทวีไปตามถนนท้องสนามไชย ประทับตึกแถวปากคลองตลาด เวลาทุ่มเศษเสด็จกลับ
เวลาทุ่มเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำบอกพระยาสุรินทฦๅไชย ข้าหลวงเทษาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลเมืองราชบุรี ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่าได้รับหนังสือพระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ เมืองเพชรบุรี ว่าได้รับเข้าเปลือกจากฉางหลวง ๓๐ เกวียร ๑๕ ถัง ได้จำหน่ายจ่ายให้ราษฎรที่เมืองเพชรบุรีแล้ว.
แล้วพระยาราชวรานุกูล นำพระยาคธาธรธรณิน๑ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตบอง กราบถวายบังคมลากลับออกไปรักษาราชการบ้านเมือง มีพระบรมราโชวาท มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควร
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้นายโต
วัน ๔ ๒ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลายามเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชวรานุกูล นำพระพรหมสุรินทร เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวร กราบถวายบังคมลาไปเปนฃ้าหลวงรักษาว่าราชการเมืองชลบุรี เมืองพนัศนิคม } แล้วนำหลวงอนุรักภูเบศ๒ กราบถวายบังคมลาไปรับราชการมณฑลกรุงเก่า แล้วนำนายราชาภักดิ์ ไปรับราชการตำแหน่งที่ ๒ ผู้ช่วยราชการเมืองสิงคบุรี แล้วนำพระประสิทธิสมบัติปลัดเมืองพนมศก ๑ หลวงประชากรบริรักษ์ ปลัดเมืองอินทบุรี ๑ รวม ๒ นายกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องยศ โต๊ะเงินคนโทเงินกาไหล่ทอง แก่ปลัดเมืองพนมศก โต๊ะเงินคนโทเงิน แก่ปลัดเมืองอินทบุรี
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร
วัน ๖ ๔ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
ไม่เสด็จออก ไม่มีราชการอไร
วัน ๔ ๙ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
วันนี้ เจ้าพนักงานจัดการ ที่ตำแหน่งรัฐมนตรี คือเชิญพระแสงต่างๆมาทอดที่ สำหรับจะได้แทงลงในพระพิพัฒสัตยา แล้วมีโหรพราหมตามเคย เหมือนอย่างตั้งรัฐมนตรีมาแต่ก่อนแล้วครั้งนี้โปรดเกล้า ฯ จะให้กรมหมื่นประจักรศิลปาคม๓ เปนรัฐมนตรีด้วย แต่วันนี้หาได้เสด็จออกไม่ การตั้งรัฐมนตรีงานก็หยุดไป
วัน ๕ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
ไม่เสด็จออก ไม่มีราชการอไร
วัน ๖ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
ไม่เสด็จออก ไม่มีราชการอไร
วัน ๗ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเสด็จออกขุนนาง ราชการในกรมหาดไทยกระลาโหมหามีไม่ จึงดำรัสถามพระยาเพชรพิไชยกรรมการว่า ชำระความไปได้ถึงไหน พระยาเพชรพิไชยกราบบังคมทูลว่า เดิมความส่งมาเก่า ๑๓ เรื่อง ชำระไปแล้ว ๗๐ เรื่อง คงค้างอยู่อีก ๑๓ เรื่อง แล้วดำรัสถามพระยาวรเดชศักดาวุธว่า ความศาลเจ้าเปนอย่างไร พระยาวรเดชกราบบังคมทูลว่า ในเดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคมนี้ มีความ ๑๙ เรื่องได้ชำระไปแล้ว ๑๖ เรื่องยังคงค้างอยู่ ๓ เรื่อง แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ว่า ศาลกรรมการนาเดิมมีอยู่ ๔ พล ยังคงอยู่ ๒ พลเท่านั้น ขอให้กรมหมื่นสมมตหาใครเข้ามาเติมอีก แล้วดำรัสถามว่าพระยาพิเรนทร๔ มาฦๅเปล่า พระยาอภัยรณฤทธิ๕กราบบังคมทูลว่าไม่มา แล้วดำรัสถามพระยาเทเวศร์ว่า ความชั้นพระยาพิเรนทร์เปนกรรมการ ยังค้างอยู่อีกกี่เรื่องทำไมจึงชำระยังไม่แล้ว พระยาเทเวศร์กราบบังคมทูลว่าเปนที่ไม่ได้ชำระ แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นสมมตว่า ให้มีหนังสือส่งไปเสียกรรมการว่าให้ชำระความตามกำหนด ถ้าชำระไม่แล้วตามกำหนดจะปรับโทษ ซึ่งจะมาฃอเลื่อนวันอีกนั้นเปนไม่ได้
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๑ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง ราชการมหาดไทยกระลาโหมหามีไม่ จึงดำรัสถามพระยาพิเรนทร์ว่า ความในกรรมการเจ้าทำไมจึงชำระไม่ค่อยแล้ว พระยาพิเรนทร์กราบบังคมทูลว่า เดิมมีความ ๙๓ เรื่องส่งมาตามพระราชกำหนด ครั้นต่อมาก็ได้ชำระไปแล้วยังคงอยู่อีก ๕ เรื่องบ้าง ๖ เรื่องบ้าง ครั้นภายหลังส่งเพิ่มเติมมาอีกว่าเปนความหลงลืม ในพระราชกำหนดปี ๑๐๙ ข้าพระพุทธเจ้าก็รับไว้พิจารณา ครั้นภายหลังส่งมานอกปี ๑๐๙ ข้าพระพุทธเข้าก็ไม่ยอมรับไว้ จึงดำรัสว่าถูกแล้วถ้าพ้นปี ๑๐๙ มาแล้วเราไม่ต้องรับ แล้วพระยาพิเรนทร์กราบบังคมทูลต่อไปว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็มาชำระเสมอมิได้ขาด ถ้าความไม่ส่งเพิ่มเติมมาอีกก็คงจะชำระให้แล้ว ตามกระแสพระบรมราชโองการ แล้วดำรัสถามพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากิติยากร๖ว่า นักเรียนที่จะออกไปตามเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้๗ อยากจะได้สักสามสี่คนเอาตั้งแต่อายุ ๑๙ ลงมา ๑๖ ขึ้นไป แต่อยากจะได้บุตรผู้มีตระกูลสักหน่อยได้จัดไว้บ้างแล้วหรือยัง พระองค์เจ้ากิติยากรกราบบัคมทูลว่า ได้จัดไว้แล้วสามคน จึงดำรัสถามต่อไปว่าเปนบุตรใคร พระองค์เจ้ากิติยากรกราบบังคมทูลว่าชื่อนายอิน แล้วดำรัสต่อไปว่าลูกพระยาเทเวศร์ให้เอามาเลือกเสียก็ได้ ถ้าได้ออกไปแล้วสำหรับเรียนกฎหมายแลบาญชีต่างๆ แล้วให้กำหนดปีเสียให้รู้ว่าสี่ปีจะให้กลับ
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๒ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนานำบอก พระเสนีณรงค์ฤทธิรายามุดาเมืองไทรบุรี ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่าเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม เซอชามิศเชลเกาวนาสิงคโปร์ ออกจากเมืองปีนังโดยเรือย๊อต ชื่อ ซิแปล มาแวะที่เกาะลังกา ดูภูเขาคายังปุนติง แล้วเลยมาเยี่ยมเจ้าพระยาไทรบุรี พระเสนีณรงค์ฤทธิ์รายามุดาได้พร้อมด้วยศรีตวันกรมการจัดการรับรอง เซอชามิตแชลโดยสมควร ครั้นรุ่งขึ้นเซอชามิศแชล ได้มาพบเจ้าพระยาไทรบุรี ถามถึงอาการป่วยตามธรรมเนียมแล้วก็ลาไป
แล้วพระยาราชเสนา นำหลวงหิรัญไพรัตน กราบถวายบังคมลา ไปรับราชการมณฑลนครสวรรค์ หลวงโกษากรวิจารณ์ กราบถวายบังคมลาไปรับราชการมณฑลนครราชสีหมา หลวงอุปนิตศิศสารบรรณ์ กราบถวายบังคมลาไปรับราชการมณฑลลาวกาว ให้หลวงรัตนสมบัติ กราบถวายบังคมลา ไปรับราชการมณฑลเขมร
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๓ ๑๕ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
ไม่เสด็จออกขุนนาง ไม่มีราชการอะไร
วัน ๔ ๑ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง ราชการในมหาดไทยกระลาโหมหามีไม่ จึงดำรัสถามกรมหมื่นนเรศร์ว่า วันนี้มีประชุมรัฐมนตรีฤๅ กรมหมื่นนเรศร์กราบบังคมฑูลว่ามีประชุม จึงดำรัสถามว่ามีประชุมเรื่องอะไรกัน กรมหมื่นนเรศร์กราบบังคมทูลว่าประชุมเรื่องศาลเมืองนครเชียงใหม่ แล้วดำรัสต่อไปว่าความศาลพระราชอาญาที่จะไม่ต้องจองจำยังค้างอยู่เมื่อไรจะได้ประชุม กรมหมื่นนเรศร์กราบบังคมทูลว่าประชุมเมื่อไรก็ได้ แลเปนการแล้วได้เร็วเพราะเอาลักษณโจร ๑๖ ข้อมาตรวจดู จึงดำรัสต่อไปว่าฉันเห็นจะช้าเหลือเกิน แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นสมมต๘ว่า ควรจะเอาหนังสือมาอายัตสภานายกไว้ที่เดียว เพราะฉันอยากได้แล้วเร็ว
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้ขุนชิตสรการ เปนหลวงสุริยามาตย์ ปลัดกรมมหาดไทยฝ่ายหลำพัง ถือศักดินา ๖๐๐
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๕ ๒ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนานำบอก พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรี ผู้ว่าการแทนข้าหลวงเทษาภิบาลมณฑล สำเร็จราชการมณฑลเมืองเพชรบุรี ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่าได้รับหนังสือหลวงอร่ามเรืองฤทธิ ยกรบัตรผู้รักษาเมืองสมุทสงคราม ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ร,ศ, ๑๑๕ ว่านายพริ้งลอบแทงเอานายชั้นตาย ได้ตัวนายพริ้งมาถามให้การสารภาพรับเปนสัตย์ จึ่งส่งตัวนายพริ้งมาปฤกษาโทษตามกฎหมาย
แล้วดำรัสถามพระยามหาโยธาว่า หายหน้าไปเจ้าป่วยเปนอไร พระยามหาโยธากราบบังคมทูลว่าป่วยเปนไข้
แล้วดำรัสถามพระยาสฤษพจนกรว่า กรมหมื่นดำรงมาถึงไหนจะกลับเมื่อไร๙ ได้ตีโทรเลขมาฤๅปล่าว พระยาสฤษพจนกรกราบบังคมทูลว่า เวลาพรุ่งนี้จะเสด็จลงรถไฟที่ปากเพรียว
แล้วเสด็จขึ้น
วัน ๖ ๓ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนานำบอกพระยาสุขุมนัยวินิตร๑๐ ข้าหลวงเทษาภิบาลมณฑล สำเร็จราชการมณฑลเมืองนครสีหธรรมราช ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่าฃอเก็บภาษีเรือจ้างไว้เปนผลประโยชน์ไว้สำหรับการบำรุงบ้านเมือง จึงมีพระราชดำรัสว่า เปนการยอมยกให้ตามบอกนี้
แล้วดำรัสถามกรมหมื่นวิวิชวรรณปรีชาว่า ความในกรรมการของเธอเปนยังไรบ้าง กรมหมื่นวิวิชวรรณปรีชากราบบังคมทูลว่าน้อยลงแล้ว
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๔ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง ราชการในมหาดไทยกลาโหมหามีไม่ พระยาราชเสนา นำพระศิริอัยสวรรค์ ๑ หลวงจันทรามาตย์ ๑ หลวงดำรงค์เทพยาคุณ ๑ ซึ่งตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กลับลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระยาราชเสนานำ พระพินิตสารา ๑ หลวงรังสฤษศุขการ ๑ หลวงราชมาณู ๑ พระยากำแหงสงคราม ๑ ผู้สำเร็จราชการ ๑ พระยาสุริยเดชปลัด ๑ นายอั้นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ๑ รวม ๖ นายกลับลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงดำรัสถามพระยานครราชสีหมาว่า ดูแก่เถ้าไปมากไม่ได้ลงมาบางกอกกี่ปีแล้ว พระยานครราชสีหมากราบบังคมทูลว่า ไม่ได้ลงมา ๑๕ ปีแล้ว
แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นดำรงราชานุภาพว่า อยากจะคุยเล่นกับพระยานครราชสีหมาสักวัน
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๑ ๕ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
วันนี้ เปนวันจะได้ถวายผ้าจำพรรษา วัดอรุณราชวราราม เวลาเช้าโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน๑๑ เสด็จไปถวายอาหารบิณฑบาตแลถวายผ้าจำพรรษา เวลาค่ำไม่เสด็จออกขุนนาง
วัน ๒ ๖ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
วันนี้ จะได้ถวายผ้าจำพรรษาวัดราชโอรสาราม เวลาเช้าโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสพสุดา๑๒ เสด็จไปถวายอาหารบิณฑบาต แลถวายผ้าจำพรรษา
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง ราชการมหาดไทยกระลาโหมหามีไม่ จึงดำรัสถามกรมหลวงพิชิตปรีชากรว่า ไปพระบาทปีนี้สนุกหรืออย่างไร กรมหลวงพิชิตกราบบังคมทูลว่า สนุกมีสัปรุษมาก จึ่งดำรัสถามว่าไปพักที่ไหน กรมหลวงพิชิตกราบบังคมทูลว่าไปพักที่ทิมแถวในวัง กรมหลวงพิชิตกราบบังคมทูลต่อไปว่า ท่านเจ้ามา๑๓จัดการอย่างใหม่ เล่าก็ไม่ให้ขายสาตราอาวุธก็ไม่ให้ถือ สาตราอาวุธใครเอาไปก็เก็บรวบรวมไว้ทั้งสิ้น แล้วดำรัสถามพระยานครราชสีหมาว่าความที่เมืองโคราชมีสักกี่ร้อยเรื่อง แลคนโทษมีสักเท่าใด พระยานครราชสีหมากราบบังคมทูลว่ามี ๓๐๐ เรื่อง คนโทษมีอยู่ ๘๐๐ คน แล้วกรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลต่อไปว่ามี ๔๐๐ คน แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้นายลับเปนขุนลิปิกรณ์โกศล มีตำแหน่งราชการในกระทรวงท่า ถือศักดิ์นา ๔๐๐
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๓ ๗ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
วันนี้ เจ้าพนักงานจัดการถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิฐ เวลาเช้าโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี๑๔ เสด็จถวายอาหารบิณฑบาต แลถวายผ้าจำพรรษา
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำบอกหม่อมเจ้าวัฒนาว่าการแทนฃ้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการลาวพวน มีโทรเลขลงมาฉบับ ๑ ว่าวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๑๕ เวลากลางคืนเกิดเพลิงไหม้ที่เมืองหนองคาย จำนวนบ้านเรือนราษฎรที่ถูกเพลิงไหม้ประมาณ ๒๐๐ หลังเศษกับวัด ๓ วัด แลบ้านพระยาวุฒาธิคุณจางวาง พระยาประทุมเทวาธิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหนองคาย แล้วดำรัสถามกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมว่า ทำไมถึงเกิดไหม้ได้ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกราบบังคมทูลว่า เพราะบ้านเรือนแถวนั้นเปนแฝกทั้งนั้นจึงเกิดเปนเชื้อเพลิงได้ง่าย แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นดำรงว่า ฃ้าราชการที่ถูกเพลิงไหม้เคยมีของพระราชทานอย่างไร กรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลว่าเคยมีของพระราชทาน แล้วดำรัสต่อไปว่าให้จัดของส่งไปพระราชทาน แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้จ่ายวดเปนนายจ่ายวดยศถิตย์ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ให้นายสุจินดา เปนนายจ่ายวดมหาดเล็กเวรสิทธิ ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ให้นายกวดหุ้มแพรมหาดเล็กเวรฤทธิ เปนหมื่นจงภักดีองค์ขวา มีตำแหน่งราชการในกระทรวงวัง ถือศักดิ์นา ๑๐๐๐ หม่อมหลวงวรา บุตรพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ มหาดเล็กเวรฤทธิ เปนนายกวดหุ้มแพรต้นเชือกเวรฤทธิ ถือศักดิ์นา ๕๐๐
แล้วดำรัสด้วยพระยาสฤษพจนกรว่า ให้พาพระยาโคราชเข้าไปเฝ้าฃ้างใน
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๔ ๘ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
วันนี้ จะได้ถวายผ้าจำพรรษาวัดราชบพิธ เวลา ๔ โมงเศษโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี เสด็จถวายอาหารบิณฑบาต แลถวายผ้าจำพรรษา วันนี้เปนวันพระไม่เสด็จออกขุนนาง
วัน ๕ ๙ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนานำบอก พระยาสุขุมมนัยวินิต ข้าหลวงเทษาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ฃออนุญาตนักโทษทำกระเบื้องแลอิฐขายสำหรับจ่ายเปนเงินเลี้ยงคนโทษ แลเหลือขออนุญาตไว้จัดการบ้านเมือง
จึงดำรัสตรัสกรมหมื่นดำรงราชานุภาพว่า เฃาคิดการถูกให้อนุญาตไปเถิด
จึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้มิศเตอร์ เอ บรร ฟอร์ เปนหลวงนิเทศกลกิจ๑๕ มีตำแหน่งราชการในกรมทหารเรือ ถือศักดิ์นา ๘๐๐ แล้วพระเสถียรฐาปณกิจ นำหลวงไปรสนีย์พรานุรักษ์๑๖ ซึ่งไปตรวจโรงไปรสนีย์ฝ่ายเหนือกลับมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงดำรัสถามหลวงไปรสนีย์ว่า ไปเจ็บป่วยที่ไหน หลวงไปรสนีย์กราบบังคมทูลว่า ไปป่วยที่นครเมืองน่าน แล้วดำรัสถามต่อไปว่า ถึงกับความตายกันบ้างฤๅปล่าว หลวงไปรสนีย์กราบบังคมทูลว่า ไม่ถึงกับความตาย
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๖ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลายามเศษเสด็จออกขุนนาง พระเสถียนถาปนกิจกระทรวงโยธาธิการ นำบอกพระยาทรงสุรเดช๑๗ ข้าหลวงรักษาราชการมณฑลลาวเฉียง ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่ามีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ขึ้นไป ให้พระยาทรงสุรเดชจัคออฟฟิศโทรเลขที่เมืองแพร่ เจ้าพนักงานโทรเลข จะได้ทำจากเมืองอุตรดิฐถึงเมืองแพร่ ได้ทำโทรเลขพาดสายแล้วในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร,ศ, ๑๑๕ กระทรวงโยธาธิการ ให้จัดเจ้าพนักงานโทรเลขขึ้นไปประจำอยู่ที่เมืองแพร่
แล้วดำรัสถามพระยาศักดาว่าเจ้าจะไปเมื่อไร พระยาศักดากราบบังคมว่าจะไปเดือนมีนาคมนี้
แล้วดำรัสด้วยกรมหมื่นดำรงราชานุภาพว่า เมืองเอกควรจะให้ถือศักดิ์นา ๑๐๐๐๐ เมืองโทควรจะไห้ถือศักดิ์นา ๕๐๐๐ เมืองตรีควรจะให้ถือศักดิ์นา ๓๐๐๐
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำบอกพระยารัตนเสรฐี ข้าหลวงเทษาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลชุมพร ขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๓ ฉบับ ว่าด้วยมีหนังสือไปยังข้าหลวงแลผู้ว่าราชการเมือง ให้บังคับกำนันอำเภอทำบาญชีสัมโนครัวไพร่บ้านพลเมืองแลเครื่องสาตราอาวุธ แลสัตวพาหนกับเรือใหญ่น้อยซึ่งมีในเขตแขวงบ้านเมืองให้สิ้นเชิง ถ้าผู้ใดมีปืนแต่ไม่เปนที่หลักถานก็ให้ส่งมาไว้กับฃ้าหลวง
ฉบับ ๒ ว่าราษฎรห้ามที่ป่าไว้ให้รกร้างไม่เปนที่สวนที่นา จะต้องตัดสินเอาตามพระราชบัญญัติ
ฉบับ ๓ ว่าไม้ยางในแขวงเมืองหลังสวน ราษฎรเจาะทำน้ำมัน ๓๖๕๐ ต้น ที่ยังไม่ได้เจาะทำน้ำมัน ๑๖๒๕๐ ต้น รวมเปนหมื่นเก้าพันเก้าร้อยต้น
จึ่งได้มีหนังสือห้ามราษฎรมิให้ราษฎรโค่นไม้ยางให้เสียประโยชน์แก่แผ่นดินต่อไป จึ่งดำรัสด้วยกรมหมื่นดำรงราชานุภาพว่า เขาคิดนี้ดีควรจะส่งขึ้นไปทางเหนือด้วย กรมหมื่นดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูลว่า ได้มีตราสั่งขึ้นไปเสร็จแล้ว
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้นายร้อยโทชิต เปนฃุนรอนกลางสมุท มีตำแหน่งราชการในกรมทหารเรือ ถือศักดิ์นา ๕๐๐
ให้นายร้อยเอก นายชื่น เปนหลวงอาษาศัลการ มีตำแหน่งราชการในกรมทหารเรือ ถือศักดิ์นา ๘๐๐ ให้พระยาพรหมจักร เปนขุนเรืองกลางสมร มีตำแหน่งราชการในกรมทหารเรือ ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ให้โต๊ะสาทมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ฃ้าหลวงเดิมเปนขุนสาครวิไสย มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือศักดิ์นา ๓๐๐ ให้จีนฮกกาว ผู้รับตำแหน่งที่พระภิรมย์โภคา เปนพระภิรมย์โภคา อำเภอฝ่ายจีนเมืองนครราชสีหมา ถือศักดิ์นา ๘๐๐
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ชื่อทิพยาภรณ์ แก่หลวงอาษาศัลการ ๑ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อจิตราภรณ์ แก่ขุนเริงกลางสมุท ๑ พระราชทานพร้อมกับสัญญาบัตร
เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๑ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ๑๒๕๘
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๙ศก ๑๑๕
เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จออกขุนนาง พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำบอกหลวงสรรพ์สารกิจฃ้าหลวงผู้ว่าราชการบริเวนนางรอง ขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑ ว่าวันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๕ มีอ้ายผู้ร้าย ๔ คนขี่ช้างสีดอสูงสี่ศอกมาหนึ่งช้าง กำนันอำเภอแลผู้ใหญ่บ้านไล่จับตัวอ้ายผู้ร้ายหาได้ไม่ อ้ายผู้ร้ายทิ้งช้างให้แล้วก็หนีไป อ้ายผู้ร้ายรูปพรรณ์เปนลาวบ้างเปนตองซูบ้าง
จึ่งดำรัสถามกรมหมื่นดำรงว่า หลวงรังสรรพ์สารกิจนี้หลวงอไรกรมการหรือมิไชย กรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลว่า หลวงสัญญาบัตรที่กรมหลวงพิชิตคิดชื่อถวายที่เกาะสีชัง แล้วดำรัสถามกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาว่า จะเปิดทางรถไฟเมื่อไรแน่ กรมหมื่นพิทยลาภกราบบังคมทูลว่า กำหนดในวันที่ ๒๖ มีนาคม จึงดำรัสถามต่อไปว่ากำหนดทางรถไฟไปถึงไหน กรมหมื่นดำรงกราบบังคมทูลว่า ทำไปถึงหินลับ เปนการลำบากที่หินลับเท่านั้น๑๘
-
1. พระยาคทาธรธรณิน (ชุ่ม อภัยวงศ์) ภายหลังเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ↩
-
2. หลวงอนุรักษ์ภูเบศร (พร เตชะคุปต์) ภายหลังเป็นพระยาโบราณราชธานินทร์ ↩
-
3. ภายหลังเลื่อนเป็นกรมหลวงฯ ต้นราชสกุล ทองใหญ่ ↩
-
4. พระยาพิเรนทรเทพ (เจริญ เศวตนันทน์) ↩
-
5. พระยาอภัยรณฤทธิ (เวก) ↩
-
6. ภายหลังเลื่อนเป็นกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ต้นราชสกุล กิติยากร ↩
-
7. เตรียมเสด็จพระราชดำเนินประเทศยุโรปใน ร.ศ. ๑๑๖ ↩
-
8. ภายหลังเลื่อนเป็นกรมพระสมมตอมรพันธ์ ต้นราชสกุล สวัสดิกุล ↩
-
9. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ↩
-
10. พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยายมราช ↩
-
11. พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ↩
-
12. ได้ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดาในปีนี้ ↩
-
13. ท่านเจ้ามาคือพระมงคลทิพยมุนี (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้ว่าการรักษาพระพุทธบาท ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ สถาปนาเป็นพระพุฒาจารย์ ↩
-
14. พระองค์เจ้าโสมาวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาได้ทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ↩
-
15. A. Balfour รับราชการระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๔๔ ↩
-
16. หลวงไปรสนีย์ธุรานุรักษ์ (เหม) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นพระยานิพัทธสุริยวงศ์ เป็นบุตรเจ้าพระยาสุริวงษ์ไวยวัฒน์ ↩
-
17. พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ↩
-
18. ในเวลานั้นสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ ฯ ไปนครราชสีมา ทางรถไฟช่วงแรกจากกรุงเทพถึงอยุธยาสำเร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดทางรถไฟตอนนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงประกอบพิธีตรึงหมุดที่รางทองรางเงินให้ติดกับหมอนไม้มริดคาดเงินมีอักษรจารึกเป็นฤกษ์ ↩