- คำนำ
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๗
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๘๘ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๒ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๘
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๙
- เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๖๐
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๖๐
เดือน ๓ จุลศักราช ๑๒๕๙
วัน ๗ ๑ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๒ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๒ ๓ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๔ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำพระเมืองใจผู้รักษาราชการเมืองเถิน เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท มีพระราชดำรัสตามสมควรแล้ว พระยาราชเสนา อ่านบอกพระยาศักดาพิเดชวรฤทธิ์๑ ข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลเขมรกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ
ฉบับ ๑ ว่าได้รับพระราชโทรเลขดำเนินกระแสพระราชเสาวนีว่า พระยานุภาพไตรภพ (อิ่ม) ถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้า ให้มอบราชการเมืองนครเสียมราฐให้พระยาผจญจบประจามิตรว่ากล่าวต่อไปนั้น พระยาศักดาพิเดชวรฤทธิ์ได้ประชุมข้าหลวงแลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย } กับบุตรพระยานุภาพไตรภพที่เปนราชการ แลอ่านพระราชโทรเลขให้ทราบกันทั่วแล้ว มีความยินดีเต็มใจด้วยกันทุกๆ คน พระยาศักดาพิเดชวรฤทธิ์ ได้มีคำชี้แจงไปยัง พระยาผจญจบประจามิตร ให้ปฏิบัติรักษาราชการบ้านเมือง ให้ดำเนินไปตามกระแสพระราชเสาวนี ซึ่งโปรดเกล้าฯ ออกไปแล้วทุกประการ
ฉบับที่ ๒ ว่าได้รับรายงานหลวงสุเทพนุรักษ์ ข้าหลวงรองรักษาราชการเมืองนครเสียมราฐฉบับ ๑ ส่งสำเนาจดหมายแลคำประกาศ ฃองพระยาผจญจบประจามิตร ผู้รักษาราชการเมืองนครเสียมราฐว่า ห้ามมิให้ขุนพัฒนัดติดบ่อนเบี้ยโปแลการพนัน ณ ที่บ้านเรือนกรมการแลราษฎรนอกจากโรงบ่อน แลพระยาศักดาพิเดชวรฤทธิ์ ได้มีตอบที่ชอบด้วยราชการ ไปยังหลวงสุเทพนุรักษ์ด้วยแล้ว
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องอิศริยาภรณ์แก่ข้าราชการ ๓ นาย พระยาวรเดชศักดาวุธ (เจ๊ก)๒ ดาราทุติยจุลจอมเกล้า ๑ พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เหรียญดุษดีมาลา เขมราชการแผ่นดิน ๑ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ (หรุ่น) ปลัดเมืองพระตะบอง มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์ ๑
แล้วพระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการในกรุง ๘ หัวเมือง ๒ ให้จ่าจิตรนุกูล (เจริญ) เปนหลวงศรีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดิ์นา ๑๕๐๐
ให้ขุนไชยอาญา (จุ๊) เปนหลวงนครไภพิเฉท มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดิ์นา ๑๕๐๐
ให้หม่อมราชวงษ์ (ชม) เปนหลวงธนกิจรักษา มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดิ์นา ๖๐๐
ให้นายสอนปลัดกรมอัยการ เปนหลวงอภิบาลประเพณี มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ฃุนชนานุกูล (วัง) เปนขุนจินดาภิรมย์ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดิ์นา ๑๕๐๐
ให้นายพร้อมว่าที่เสมียนตรา เปนขุนพจนานุพิจารณา มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดินา ๔๐๐
ให้นายสินว่าที่เจ้ากรมกองมหันตโทษ เป็นหลวงครุทัณฑการี มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรม ถือศักดิ์นา ๘๐๐ ให้เจ้าน้อยบัววงษ์ เปนเจ้าราชภาติกวงษ์เมืองนครเชียงใหม่ ให้ขุนลิขิตบรรณรักษ์ (ไช) เปนหลวงมงคลรัตนราชมนตรีศรีสมุห เจ้ากรมสรรพากรใน ถือศักดินา ๒๔๐๐ ให้พระสมุทสาครานุรักษ์ (ถม) เป็นพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ถือศักดิ์นา ๓๐๐๐
แล้วพระยาราชวรานุกูล นำข้าราชการกราบถวายบังคมลา คือ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ๑ เจ้าบุรีรัตน ๑ เมืองน่าน ๒ เจ้าบุญวาทยวงษ์มานิต เจ้านครลำปาง ๑ เจ้าอินทิยงยศโชติ เจ้านครลำพูน ๑ เจ้าอุปราช ๑ เจ้าราชภาติกวงษ์ ๑ เมืองนครเชียงใหม่ ๒ พระยาพิริยวิไชย เจ้าเมืองแพร่ ๑ พระเทพสงครามปลัด ๑ พระเสนาราชภักดียกรบัตร ๑ เมืองจันทบุรี ๒ หลวงชำนาญบุรี เมืองแคลง ๑ แล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทแลพระราชทานพร แก่ผู้ซึ่งกราบถวายบังคมลาพอสมควร
แล้วพระราชทานพานทองคำกลมใหญ่มีเครื่องในพร้อม ๑ กระโถนทองคำเล็ก ๑ คนโททองคำ ๑ ประคำทองคำสาย ๑ โต๊ะเงินคาว ๑ หวาน ๑ แก่เจ้าบุญวาทยวงษ์มานิต เจ้านครลำปาง กับเจ้าอินทิยงยศโชติ เจ้านครลำพูน แต่พานทองคำเหลี่ยมใหญ่มีเครื่องในพร้อม พระราชทานเจ้าอุปราช เมืองนครเชียงใหม่ นอกนั้นเหมือนกัน เวลาเกือบย่ำค่ำเสด็จขึ้น
วัน ๓ ๔ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๕ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก แลไม่มีการ
วัน ๔ ๕ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๖ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย อ่านบอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ฃ้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวพวนฉบับ ๑ บอกพระยาอุตรกิจพิจารณ์ แทนฃ้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลพิศณุโลกย์ฉบับ ๑ กราบบังคมทูลพระกรุณา
ในบอกพระเจ้าน้องยา กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมว่า พระวิชโยดมกมุทเฃตร ผู้ว่าราชการเมืองกมุทธาไสรยมีบอกมาว่า ได้พร้อมด้วยขุนสรชาติโยธีข้าหลวง สร้างถนนขึ้นสาย ๑ ที่เมืองกมุทธาไสรย โดยยาว ๕๓ เส้น กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ฃอพระราชทานถวายในการเฉลิมพระชนม์พรรษาในศก ๑๑๖ นี้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ให้เรียกว่า “ถนนราชพลี”
ในบอกพระยาอุตรกิจพิจารณ์ว่า แต่ก่อนได้มีบอกไปว่า ให้พระมหาดไทยผู้รักษาราชการเมืองพิไชย จัดตั้งพลตระเวนรักษาทางในระหว่างเมืองพิไชยไปทางเมืองแพร่แลทางเมืองน้ำปาตนั้น บัดนี้ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมให้พระมหาดไทย จัดตั้งโรงพักพลตระเวนที่เมืองพิไชยแห่งหนึ่ง ให้มีพลตระเวน ๘ คนนายหนึ่งรวม ๙ คน ที่เมืองอุตรดิฐ พลตระเวน ๒๔ คนนายหกรวม ๓๐ คน ที่เมืองน้ำปาต ๑๒ คนนายสองรวม ๑๔ คน แล้วต้องผลัดเปลี่ยนกันตรวจตราไปทุกสเตชัน แต่โรงพักที่เมืองอุตรดิฐแลเมืองพิไชยกับทางเมืองแพร่นั้น ได้สั่งให้ทำแผนที่มาดูก่อน ถ้าเห็นสมควรแล้วจะได้ส่งให้ปลูกสร้างขึ้นทีหลัง ส่วนโรงพักที่ยังไม่ได้ปลูกสร้างนั้น ให้พลตระเวนอาไศรยทำเนียบหรือศาลาวัดไปพลางก่อน
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าแต่พระยาอมรินทรฦๅไชย (เทียม)๓ ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ๑ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ แต่หลวงหิรัญไพรัช (เริก) กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ๑ ว่าที่นายร้อยโท ฃุนสรการฤทธิรณ (นิล) กรมยุทธนาธิการ ๑ ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ พระโยธานุประดิษฐ (นิโวะ) ผู้ช่วยราชการเมืองยิหริ่ง ๑ แล้วพระราชทานสัญญาบัตร ๑ ให้หลวงปฏิภาคย์พจนกร เปนพระโกชาอิศฮาค มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดิ์นา ๘๐๐ ๒ ให้นิติมูน เปนหลวงบุรานุมัติการ ผู้ช่วยราชการเมืองยิหริ่ง ๓ ให้นายน้อยมหาวัน เปนเจ้าราชภาติกวงษ์เมืองนครลำพูน ๔ ให้นายน้อยคำจัก เปนพระยาวังขวา เมืองนครลำพูน ๕ ให้นายน้อยวงษ์ เปนพระยาไชยสงคราม เมืองนครลำปาง ๖ ให้นายน้อยยอดฟ้า เปนราชบุตรเมืองแพร่ ๗ ให้นายน้อยลังกา เปนพระเมืองไชย เมืองแพร่ ๘ ให้อุปฮาด เปนพระวรฤทธิฦๅไชย เจ้าเมืองกุมภวาปี ถือศักดิ์นา ๑๖๐๐ ๙ ให้ท้าวทัศ เปนหลวงมัญจาสนานุกิจ ยกรบัตรเมืองมัญจาคีรี ถือศักดิ์นา ๔๐๐ ๑๐ ให้ท้าวสุวรรณ เปนพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณา ๑๑ ให้ท้าวขัติยะ เปนหลวงสกลนครานุการ ผู้ช่วยราชการเมืองสกลนคร ๑๒ ให้หลวงผดุงจีนภักดี เปนหลวงอาณัติจีนประชา กรมการพิเศษ เมืองฉเชิงเทรา ถือศักดิ์นา ๔๐๐ ๑๓ ให้ฃุนวิจารณ์ภักดี เปนหลวงอาณาจีนนิกาย กรมการพิเศษเมืองฉเชิงเทรา ถือศักดิ์นา ๔๐๐
แล้วพระยาราชวรานุกูล นำข้าราชการกราบถวายบังคมลา คือ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ๔ ฃ้าหลวงเทศาภิบาล ๑ พระยาอมรินทรฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ๑ พระยาสุรินทรฦๅไชย๕ ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี ๑ รวมมณฑลราชบุรี ๓ พระยาราชพงษานุรักษ์ ข้าหลวงเทษาภิบาล ๑ หลวงหิรัญไพรัชฃ้าหลวงคลัง ๑ พระยาสุรบดินทร์สุรินทรฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองไชยนาท ๑ พระยาสุจริตรักษา ผู้ว่าราชการเมืองตาก ๑ พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี ๑ พระพิทักษ์อุไทยเขตร ผู้รักษาราชการเมืองสรรคบุรี ๑ พระอินทแสนแสงปลัด ผู้รักษาราชการเมืองกำแพงเพชร์ ๑ พระพลสงคราม ผู้รักษาราชการเมืองพยุหคีรี ๑ รวมมณฑลนครสวรรค์ ๘ พระยารณไชยชาญยุทธ๖ จางวางเมืองสุโขทัย ๑ พระยาศรีธรรมศุกราช ผู้ว่าราชการเมืองศุโขไทย ๑ พระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร ๑ รวมมณฑลพิศณุโลก ๓ พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมืองตราด ๑ พระยาศรีสมุทโภค ผู้ว่าราชการเมืองระยอง ๑ พระพิไชยชลธี ผู้ว่าราชการเมืองประจันตคีรีเขตร ๑ รวมมณฑลจันทบุรี ๓ เจ้าราชภาติกวงษ์ ๑ พระยาวังขวา ๑ เมืองนครลำพูน ๒ พระยาไชยสงคราม เมืองนครลำปาง ๑ ราชบุตร ๑ เมืองไชย ๑ เมืองแพร่ ๒ พระยาจันตประเทศธานี ผู้ว่าราชการ ๑ หลวงสกลนครนุการ ผู้ช่วยราชการ ๑ เมืองสกลนคร ๒ พระวรฤทธิฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี ๑ พระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณา ๑ หลวงมัญจาสนานุกิจ เมืองมัญจาคีรี ๑
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพานทองคำเหลี่ยมใหญ่มีเครื่องในพร้อม ๑ กระโถน ๑ คนโททองคำ ๑ แก่พระยาสุรบดินทร์สุรินทรฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองไชยนาท แล้วพระราชทานพระบรมราโชวาท แลพระราชทานพรแก่ผู้ซึ่งกราบถวายบังคมลาทุกท่านทุกนายพอสมควร เวลาค่ำเสด็จขึ้น
วัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๗ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนา อ่านบอกพระยาสุขุมนัยวินิจ ฃ้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ๒ ฉบับ พระเสถียรฐาปนกิจ กระทรวงโยธาธิการ อ่านบอกพระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงรักษาราชการมณฑลลาวเฉียง ๑ รวม ๓ ฉบับกราบบังคมทูลพระกรุณา ในบอกพระยาสุมชุนนัยวินิจฉบับ ๑ ว่าได้รับใบบอกพระยาพิทักษเทพธานี ฃ้าหลวงยุติธรรมว่า ที่เมืองสงขลา ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ร,ศ, ๑๑๖ ถึงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ฝนตกทั้งกลางวันกลางคืน } อากาศมืดมัวไม่มีแดด น้ำท่วมโรงอิฐโรงกระเบื้อง } ของรัฐบาลที่ยังไม่ได้เผาเสียเปนอันมาก ในบ้านพระยาวิเชียรคีรี น้ำท่วมตึกที่ไว้สิ่งของๆจมทั้งเปนอันตรายเสียมาก กับบ้านเรือนราษฎรชายทเลน้ำท่วมตลอดทั่วถึงกันพระยาพิทักษเทพธานี ยังให้กรมการแลอำเภอทำบาญชีเรือนกับสิ่งของๆ ราษฎรที่จมน้ำเสียหายนั้นอยู่ แล้วจะบอกมาครั้งหลัง
ฉบับ ๒ ว่าได้รับใบบอกพระยาพิทักษ์เทพธานี ฃ้าหลวงยุติธรรมว่าพระยามุจลินท์สารพิธาน จางวางเมืองหนองจิกป่วยเปนไข้จับ รับประทานอาหารไมได้ ๘ เวลาได้หาหมอชเลยศักดิ์รักษาอาการหาคลายไม่ ครั้นวันที่ ๒๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๖ พระยามุจลินท์สารพิธานถึงอนิจกรรม
แล้วพระเสถียรฐาปนกิจ อ่านบอกพระยาทรงสุรเดชว่า ได้รับใบบอกเจ้าราชบุตร ผู้ว่าราชการแทนเจ้าอุปราชเมืองนครลำปางว่า เจ้าราชบุตรพร้อมกับเจ้าพนักงานโทรเลข ได้ตรวจนับรับสายลวดแลอินซุเลเตอร์ ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้นำมาส่งนั้นตามท้องตราแล้ว จะได้กำหนดให้ลงมือปักเสาพาดสายโทรเลข ตั้งแต่เมืองนครลำปาง ถึงประตูผาแดนเมืองแพร่ ในธันวาคม ร,ศ, ๑๑๖ นี้เป็นต้นไป
แล้วโปรด ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ แก่หลวงนรภารพิทักษ์ (รอด) กระทรวงมหาดไทยแล้วพระราชทานสัญญาบัตร ๑ ให้นายจ่ารง เปนพระสมุทสาครานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทสาคร ถือศักดินา ๓๐๐๐ ๒ ให้นายเจิม เปนหลวงภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมือระยอง ถือศักดิ์นา ๕๐๐ ๓ ให้ขุนอินทรเสนาสัศดี เปนหลวงเสนาราชภักดี ยกรบัตรเมืองระยอง ถือศักดิ์นา ๕๐๐
แล้วพระยาราชวรานุกูล นำข้าราชการกราบถวายบังคมลาคือ พระยารัตนเสริฐ ข้าหลวงมณฑลชุมพร ๑ พระยาศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ๑ หลวงพินิจอักษร ฃ้าหลวงคลัง ๑ พระโยธานุประดิฐ ๑ หลวงบุรานุมัติการ ๑ เมืองยิหริ่ง ๒ รวมมณฑลนครศรีธรรมราช ๔ พระชลสินธุสงคราม ๑ หลวงบุรีรัฐภิบาล ๑ พระยาวิเศษสงครามผู้ว่าราชการเมืองปลิต ๑ รวมมณฑลไทรบุรี ๓ หลวงเสนาราชยกรบัตร ๑ หลวงภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ ๑ เมืองระยอง ๒ หลวงอาณัติจีนประชา ๑ หลวงอาณาจีนนิกาย ๑ เมืองฉเชิงเทรา ๒ แล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทแลพระราชทานพร แก่ผู้ซึ่งกราบถวายบังคมลาพอสมควร
เวลาย่ำค่ำเสด็จขึ้น
วัน ๖ ๗ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๘ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
โปรดเกล้า ฯ ไห้เจ้าพนักงานจัดการแต่งพระที่นั่งมูลสถานบรมอาศน์ ในการเลี้ยงใหญ่ฃองหลวง ได้ออกหมายเชิญพระบรมวงษานุวงษ์ แลราชทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศกับทั้งภรรยา แลฃ้าทูลลอองธุลีพระบาทบางพระองค์บางท่าน รวม ๓๖ ท่านมาประชุมกันรับพระราชทานอาหาร เวลาทุ่มครึ่งท่านผู้ที่ได้รับเชิญแต่งพระองค์แลแต่งตัวสรวมเสื้ออิวนิงเดรส เข้ามาพร้อมกันที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ตวันออก
ครั้นเวลา ๑ ทุ่ม ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จทางพระทวารพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ตวันออกแล้ว มีพระราชดำรัสด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลฃ้าทูลลอองธุลีพระบาทราชทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ บางพระองค์บางท่านพอสมควรแล้ว ทรงนำท่านผู้ได้รับเชิญเข้าทางพระทวารด้านตวันออกแห่งพระที่นั่งนั้นแล้ว ประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยท่านผู้ที่รับเชิญ ครั้งเสวยแล้วทรงพระดำเนินไปประทับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุบัติเสวยพระสุธารศ แลมีพระราชดำรัสด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการแลผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ บรรดาที่ประชุมอยู่นั้น จนเวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๘ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒๙ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๑ ๙ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๓๐ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๒ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๓๑ มกราคม รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาเกือบย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทางพระทวารกลางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันไดอัฒจันท์ ไปทางชาลาทิศตวันออก มีพระราชดำรัสด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการบางพระองค์บางท่านที่คอยเฝ้าอยู่นั้นแล้วทรงพระดำเนินมาทางชาลาน่ากระทรวงวังด้านตวันตก เลี้ยวมาทางชาลาน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เวลาจวนทุ่มเสด็จขึ้น
วันนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงมหาดไทย ส่งสัญญาบัตรแลเหรียญดุษดีมาลา ไปพระราชทานข้าทูลลอองธุลีพระบาท ที่อยู่ ณ หัวเมือง
คือ ๑ ให้นายอัดมหาดเล็กเวรฤทธิ์ บุตรเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ เปนหลวงอมรศักดิประสิทธิ์ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ๒ ให้ขุนสุภาภาร (แพ) เปนหลวงธรเณนทร์ เจ้ากรมตำรวจภูบาลขวา ถือศักดิ์นา ๘๐๐ ๓ ให้นายแพมหาดเล็ก เปนหลวงแผ้วพลภักดี มีตำแหน่งราชการ ในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ๔ ให้ฃุนจงสรสิทธิมณฑลลาวเฉียง เปนขุนพิศณุแสน ปลัดกรมตำรวจภูธรขวา ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ๕ ให้พระพิไชยนครบวรพุฒิ์ เปนพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ ถือศักดิ์นา ๓๐๐๐ ให้นายมีนายแพทย์ เปนขุนสิทธิแพทย์ มีตำแหน่งราชการในกรมหมอ ถือศักดิ์นา ๔๐๐
แลเหรียญดุษดีมาลาเงิน พระราชทานพระยาวิชิตภักดี (ฃำ) ผู้ว่าราชการเมืองไชยา
วัน ๓ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จออกทางพระทวารกลางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันไดอัฒจันท์ทางตวันออก ประทับรถพระที่นั่งพร้อมด้วยตำรวจทหารแห่นำตามเสด็จ พระราชดำเนินออกประตูพิมานไชยศรีวิเศษไชยศรี ไปหยุดรถพระที่นั่งน่าพลับพลาท้องสนามหลวงแล้ว ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ซึ่งพระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ แลพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ พร้อมด้วยกรรมการแลสมาชิก ได้จัดตั้งแต่งพลับพลาแลบริเวณท้องสนามหลวงทำเปนบ้านเมือง คือ ค่ายพระราม เมืองลงกา เมืองขีดฃิน กรุงศรีอยุธยา ประดับด้วยป่าไม้ต้นไม้ใหญ่เล็กแลดูเขาเหมือนของจริง แลจุดโคมไฟฟ้าโคมยี่ปุ่นปักธงเทียวต่างๆ แสงสว่างไสวทั่วไปทั้งบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อตั้งแต่งไว้เปนที่จะเล่นโขนกลางแปลง ในการสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้น๗ เวลาเกือบทุ่ม เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง
วัน ๔ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เปนวันกำหนดมีการเล่นโขนกลางแปลง ณ ท้องสนามหลวงนั้น เจ้าของงานได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ แลเชิญพระบรมวงษานุวงษ์ ราชทูตกงซุลผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนทั้งบุตรภรรยา กับทั้งท่านผู้ดีหญิงชายชาวสยามแลชาวต่างประเทศ มาประชุมเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท
เวลา ๒ ทุ่มครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จออกทางพระทวารกลางพระนั่งจักรกรีมหาปราสาท ประทับรถที่นั่ง พร้อมด้วยกระบวนแห่นำตามเสด็จ พระราชดำเนินออกประตูวิเศษไชยศรี ไปประทับพลับพลาท้องสนามหลวง ทรงพระดำเนินขึ้นประทับบนพระราชบังลังก์ พิณพาทย์ทำเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว พวกฃ้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระองค์ ซึ่งมาพร้อมกันอยู่ที่ท้องสนามหลวงด้านเหนือนั้น ถือเทียนเดินกระบวนแห่รูปช้างไอยราพตทำด้วยเงินมีบุษบกทองคำตั้งเหนือหลังช้างไอยราพตนั้น ในบุษบกมีพระเกี้ยวยอดลงยาประดับเพชรเปนที่สำหรับบันจุคำถวายไชยมงคล กระบวนแห่ที่เดินเปนอย่างสี่สาย
ครั้นคำถวายไชยมงคลมาถึงน่าพระที่นั่งหยุดกระบวนแห่แล้ว เชิญคำถวายไชยมงคลมาที่น่าพลับพา เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต อ่านคำถวายไชยมงคล ในนามของข้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระองค์ทั่วไป (คำถวายไชยมงคลนี้ได้ลงราชกิจจาเล่ม ๑๔ น่า ๗๗๑) แล้ว เมื่ออ่านกราบบังคมทูลแล้ว กระบวนแห่ซึ่งยืนแถวอยู่น่าพระที่นั่งได้ถวายคำนับ ส่วนทหารแลตำรวจถวายวันทิยาหัดถ์แล้วโห่ ๓ ลา พิณพาทย์ทำเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว มีพระราชดำรัสตอบ (พระราชดำรัสตอบนี้ได้ลงในราชกิจจาเล่ม ๑๔ น่า ๗๗๒ แล้ว) เมื่อจบแล้ว ข้าทูลลอองธุลีพระบาทซึ่งพร้อมกันอยู่น่าพระที่นั่ง ทำวันทิยาหัดถ์แลถวายคำนับ ได้พร้อมกันโห่อีก ๓ ลาเหมือนครั้งก่อน พิณพาทย์ทำเพลงสาธุการแล้วเดินกระบวนแห่ต่อไปท้ายพลับพลาทิศตวันออกแล้ว ได้มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทตามตำแหน่ง โขนได้เล่นถวายทอดพระเนตร (ตั้งแต่พระรามเสร็จศึกแล้วกลับเข้ากรุงศรีอยุทธยา) ทอดพระเนตรจนเวลา ๒ ยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับโต๊ะเสวย (ซึ่งเจ้าของงานได้จัดไว้ ณ ห้องหลังพลับพลานั้น) พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลราชฑูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศและข้าทูลลอองธุลีพระบาท เมื่อเสวยถึงของหวาน เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต กราบบังคมทูลถวายไชยมงคลแล้ว พร้อมกันโห่ ๓ ลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบขอบใจตามสมควร เมื่อเสวยแล้วประทับพระราชบัลลังก์ ทอดพระเนตรโขนต่อไป (โขนเล่นเปนการสมโภชพระราม) ทอดพระเนตรอยู่จนเวลา ๘ ทุ่มครึ่ง เสด็จกลับสู่พระบรมมหาราชวัง
วัน ๕ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๖ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารกลาง พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันใดอัฒจันท์ทางตวันออก ประทับเก้าอี้ดาดผ้าใบ ซึ่งเจ้าพนักงานตั้งแต่งไว้แต่เดิมที่สนามหญ้านั้นแล้ว พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย นำ ฃุนสุภมาตรา (ทิม) กรมการเมืองชลบุรี เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลจัดได้ไม้ไผ่ ๔ ต้น แกะเปนพระพุทธรูปแลพระเจดีย์กับไม้ทานพระกร แกะเป็นรูปต่างๆ ทูลเกล้า ฯ ถวาย มีพระราชดำรัสด้วยพอสมควร แล้วทอดพระเนตรม้าขาวที่เมืองออสเตรียถวายเมื่อเสด็จไปประพาศประเทศยุโรปนั้น ว่าเปนม้าสำหรับขี่อย่างดีในเมืองออสเตรีย แลมีฝรั่งหมอม้าในเมืองนั้นคุมกำกับมาด้วยคนหนึ่ง พระยาเทเวศร์วงษวิวัฒได้นำม้าที่กล่าวมานี้ถวายทอดพระเนตร กับนำฝรั่งหมอม้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงิน ๓ ชั่งกับสายนาฬิกาพก เปนบำเหน็ดรางวัลแก่ฝรั่งหมอม้านั้นแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงขี่ม้านั้นลองดูที่สนามหญ้าแล้ว ทรงพระราชดำเนินไปสนามหญ้าตวันตก ทอดพระเนตรม้าอะหรับ ๒ ม้า ซึ่งเปนม้าเก่าได้นำมาถวายทอดพระเนตรด้วย โปรดเกล้า ฯ ให้กรมม้าขี่ลองดูทั้ง ๒ ม้า และมีพระราชดำรัสด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการบางพระองค์บางท่าน ซึ่งได้มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้นพอสมควร เวลาย่ำค่ำเศษเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๑๕ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๑ ๑ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
วันนี้เวลาค่ำเปนวันเปิดให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทกับราษฎรดูโขนกลางแปลง เวลาบ่าย ๕ โมง ๓๕ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระทวารกลาง พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ประทับรถพระที่นั่งพร้อมด้วยราชองค์รักษ์ตำรวจทหารแห่นำตามเสด็จ พระราชดำเนินออกประตูวิเศษไชยศรีไปประทับพลับพลาท้องสนามหลวง (เสด็จประพาศเปนการไปรเวตทอดพระเนตรโขนกลางแปลง) แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านายกับข้าทูลลอองธุลีพระบาท ซึ่งมีบรรดาศักดิ์มาดูโขนบนพลับพลา ส่วนราษฎรให้ดูที่น่าพลับพลาแลที่อื่น ๆ ในบริเวณท้องสนามหลวงนั้น เวลาย่ำค่ำแล้ว ๑๕ นาที เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระดำเนินขึ้นประทับ ณ หอที่ประชุมเสนาบดีปฤกษาราชการแผ่นดิน
วัน ๒ ๒ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย อ่านบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ
ฉบับ ๑ บอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษศิริพัฒน์๘ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่า ว่าในการสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ได้พร้อมด้วยข้าหลวงแลกรมการ ได้จัดการตกแต่งสถานที่ว่าการมณฑลแลที่ว่าการเมือง ประดับประดาด้วยใบไม้ดอกไม้แลธงเที่ยวแลโคมไฟโคมยิปุ่น ได้เชิญพระบรมรูปแลพระรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ประดิษฐานที่อันสมควร วันที่ ๓๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๖ เวลาบ่ายได้อาราธนาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ มกราคม ร,ศ, ๑๑๖ พระสงฆ์ฉันแล้วถวายเครื่องไทยธรรมพอสมควร วันที่ ๒ มกราคม ได้ประชุมข้าหลวงแลกรมการนายทหารนายพลตระเวนพร้อมกันถวายคำนับพระบรมรูปพระรูปแลอ่านถวายไชยมงคลแลเวียนเทียนสมโภช เวลาค่ำได้จุดประทีปตามโคมแลมีการเล่นต่างๆ เปนการรื่นเริงทั่วไป
ฉบับ ๒ บอกพระยากำแหงสงคราม แทนฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีหมา ความต้องกันกับฉบับที่ ๑ แปลกแต่วันที่ ๒ มกราคม ร,ศ, ๑๑๖ เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ทหาารปืนใหญ่ยิงสลุตเวลาละ ๒๑ นัด ความนอกนั้นต้องกัน
ฉบับ ๓ บอกพระยาคธาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตบองความเหมือนกันกับบอกฉบับที่ ๑
แล้วพระยาราชเสนานำ เจ้าวรวงษวุฒิยุติธรรมสถิตย์ ราชกิจมนตรี ตำแหน่งที่ปฤกษาราชการเมืองนครลำปาง เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลจัดได้ต้นไม้ทอง ๑ ต้น สูง ๓ ศอก ๕ ชั้น มีช่อ ๒๕๐ ช่อ ยออ ๑ ยออ ทองคำหนัก ๔๗ บาท ๓ สลึง ต้นไม้เงิน ๑ ต้น สูง ๓ ศอก ๕ ชั้น มีช่อ ๓๐๐ ช่อ ยอด ๑ ยอด เงิน ๑๐๐ บาทกับมีดฝักด้ำทองคำ ๑ เล่ม ทองหนัก ๓ บาท ๒ สลึง มีดแฝดฝักด้ามทองคำ ๑ เล่ม ทองหนัก ๔ บาท งา ๒ กิ่งหนัก ๒๐ ชั่ง หมอนสามเหลี่ยม ๒, เบาะกลม ๒, ขอพระราชทานถวายในการสมโภช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, จึงมีพระราชปฏิสัณฐานด้วยโดยสมควร แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรแก่ฃ้าราชการในกรุงแลหัวเมือง ๑ ให้เลื่อนหลวงบริหารหิรัญราช เปนพระบริหาญหิรัญราช มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดิ์นา ๘๐๐, ๒ ให้เลื่อนหลวงเสนาภักดี เปนพระเสนาภักดี มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดิ์นา ๘๐๐, ๓ ให้เจ้าหยุยเปนเจ้าราชดไนย เมืองนครจำปาศักดิ์ ๔ ให้พระภักดีเสน่หา เปนพระวิเศษมนตรี ยกรบัตรเมืองนครเสียมราฐ ถือศักดินา ๑๐๐๐, ๕ ให้พระยาพิพิธภักดีสมบัติ เป็นพระอภัยพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครเสียมราฐ ถือศักดิ์นา ๘๐๐, ๖ ให้พระเสนานุชิต เปนพระภักดีเสนหา ผู้ช่วยราชการเมืองนครเสียมราฐ ถือศักดิ์นา ๘๐๐
แล้วพระยาราชวรานุกูลปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย นำพระยาศักดาพิเดชวรฤทธิฃ้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลเขมร ๑ พระยาผจญจบประจามิตร ผู้รักษาราชการ ๑ พระวิเศษมนตรี ยกรบัตร ๑ พระอภัยพิทักษ์ผู้ช่วยราชการ ๑ พระภักดีเสน่หาผู้ช่วยราชการ รวมเมืองนครเสียมราฐ ๔ พระยาณรงคเรืองฤทธิ์ปลัด ๑ หลวงวิชิตภักดีผู้ช่วยราชการ ๑ รวมเมืองพระตะบอง ๒ พระยาพนมพินิต ฃ้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ๑ พระยาเพชรภิบาลนฤเบศร์ ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ๑ พระยารัษฎานุประดิฐ ผู้ว่าราชการเมืองตรัง ๑ พระยาประสิทธิสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี ๑ พระพิไชยชะนะสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองศรีสวัสดิ ๑ พระศรีสุวรรณคิรี ผู้ว่าราชการเมืองสังขละบุรี ๑ พระเมืองใจ ผู้รักษาราชการเมืองเถิน ๑ หลวงภักดีนุรักษ์ ผู้ช่วยฃ้าหลวงมณฑลชุมพร ๑ กราบถวายบังคมลาไปรักษาราชการบ้านเมือง กับหลวงจักรานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุงกราบถวายบังคมลาไปรับราชการในตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลชุมพร
แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานพานทองคำเหลี่ยมใหญ่มีเครื่องพร้อม ๑ กระโถน คนโท ทองคำ ประคำทองสาย ๑ แก่พระยาสุขุมนัยวินิต ฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช
เวลาย่ำค่ำเสด็จขึ้น
วัน ๓ ๓ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรคำนึงถึงพระชนม์พรรษาที่ได้ทรงพระเจริญมาโดยลำดับ จนถึงวันที่ ๘ วันนี้ นับพระชนม์พรรษาเสมอเท่ากับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานจัดการบำเพ็ญพระราชกุศล ที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท แลได้พระราชทานพระราชทรัพ ๓๑๑๑๘ บาท (สามหมื่นพันร้อยสิบแปดบาท) ให้กระทรวงโยธาธิการ สร้างสพานเหล็กขนาดใหญ่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นที่ถนนทางรถไฟ แลพระราชทานนามว่า “สพานนภวงษ์” เพื่อเปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์นั้น เจ้าพนักงานได้นิมนต์พระสงฆ์ ๓๕ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเปนประธาน มาพร้อมกันที่มุขกระสันพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ตวันออก ครั้นเวลาย่ำค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ตวันออก มีพระราชดำรัสด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พอสมควรแล้ว ทรงนำพระสงฆ์ ๓๕ รูปนั้นดูสิ่งของต่างๆ ที่มุขกระสันองคตวันออก แล้วทรงนำเข้าทางพระทวารด้านตวันตก ไปพระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย แลพระที่นั่งสมมติเทวราชอุบัติแล้ว ผ่านมาท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ไปที่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาศน์ ดูสิ่งของต่างๆทั่วแล้ว เสด็จออกทางพระทวารองค์ตวันออก ประทับพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์ตวันออกนั้น ทรงประเคนน้ำชากาแฟหมากพลูแก่พระสงฆ์นั้นแล้ว พระสงฆ์ออกมานั่งที่มุขกระสันองค์ตวันออกโดยลำดับพร้อมกันแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิพยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทรงอ่านรายงานการก่อสร้างสพาน กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระราชกุศล เพื่อทรงอนุโมทนา แล้วทรงประเคนคนโทแก้วมีลายอย่างประณีต ซึ่งทรงจัดซื้อมาแต่ประเทศยุโรปนั้น แด่พระสงฆ์ทั่วทุกรูปแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส กล่าวคำถวายไชยมงคล เพื่อเจริญพระศิริสวัสดิ์ พระสงฆ์สวดอนุโมทนายัสมิงปะเทเส แลยาเทวะตา แลถวายอติเรกถวายพระพรลา เวลายามเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น
วัน ๔ ๔ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทยอ่านบอกกราบทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ
ฉบับ ๑ บอกว่าที่นายร้อยโทรื่น แทนฃ้าหลวงรักษาราชการบริเวณเพชรบูรณว่า แต่ก่อนฃ้าหลวงแลผู้รักษาเมืองกรมการ ได้จัดสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมาทูลเกล้า ฯ ถวายทุกปี ในจำนวนศก ๑๑๖ นี้ ว่าที่นายร้อยโทรื่นแลกรมการจัดได้ขอนดอก ๒ ท่อน ท่อน ๑ ยาวสองศอกคืบใหญ่ ๒ กำกึ่งเท่ากัน กับแหน่ง ๑๐๐ ชลอม เนียม ๑๐๐ ชลอม เสื่อหวาย ๑๕ ลวด ขี้ผึ้งหนัก ๒๐ ชั่ง ฃอพระราชทานทูลเกล้า ฯ
ฉบับ ๒ บอกพระยาเพชรกำแหงสงคราม แทนข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลชุมพรว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ร,ศก ๑๑๖ ได้พร้อมด้วยกรมการตกแต่งที่ว่าการมณฑลด้วยใบไม้ดอกไม้ แลเชิญพระบรมรูปพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ ขึ้นประดิษฐานที่อันสมควร เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำจุดประทีปโคมไฟ ณ ที่ว่าการมณฑลแลที่บ้านเรือนกรมการราษฎร แลพระอารามทั่วไป มีการเล่นต่างๆ เปนการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน วันที่ ๒ มกราคม ร,ศก ๑๑๖ เวลาเที่ยงได้ประชุมกรมการเจ้าภาษีนายอากรพ่อค้าพร้อมกัน ได้อ่านคำถวายไชยมงคลแล้วเวียนเทียนสมโภช พระบรมรูปแลพระรูป เวลาค่ำมีการเลี้ยงกรมการเจ้าภาษีนายอากรพ่อค้าเปนการรื่นเริงทั่วกัน, เวลาเกือบย่ำค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น
วัน ๕ ๕ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๖ ๖ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนาอ่านบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ
ฉบับ ๑ บอกเจ้าพระยาฤทธิสงความ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลไทรบุรีว่า ได้มีคำสั่งกำหนดการสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ ไปยังผู้รักษาเมือง ปลิศ, สตูน, ให้พร้อมด้วยศรีตวันกรมการทำบุญแลจุดประทีปโคมไฟมีการเล่นต่างๆ ตามที่ได้กำหนดวัน ครั้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ร,ศก ๑๑๖ แลวันที่ ๑-๒ มกราคม ร,ศก ๑๑๖ เจ้าพระยาฤทธิสงครามพร้อมด้วยพระยาสุรพลพิพิธ แลมารดาเจ้าพระยาฤทธิสงคราม ศรีตวันกรมการ ได้ชักธงขึ้นเสาแลยิงสลุต ๒๑ นัด ตีกลองประโคมดนตรีมีการทำบุญให้ทาน เวลาค่ำได้จุดประทีปโคมไฟทั่วไป, ทั้งบ้านศรีตวันกรมการแลราษฎร มีการเล่นต่างๆ ทั้ง ๓ วัน ๓ คืน แลที่อำเภอ กุเลม, กอจำมุกดา, ที่เกรียนเมืองปลิศ เมืองสตูน ก็ได้มีการเหมือนกัน
ฉบับ ๒ บอกเจ้าสุริยวงษ์ ผู้รักษาราชการเมืองนครเชียงใหม่ว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม แลวันที่ ๑-๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๒ ได้พร้อมด้วยฃ้าหลวง แลเจ้านาย, พระยา, ท้าวแสน จัดการตกแต่งที่คุ้มพระเจ้านครเชียงใหม่ ได้มีการสวดพระพุทธมนต์แลถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ตามสมควร แลได้พร้อมกันถวายไชยมงคลแลยิงสลูต ๒๑ นัดแล้ว เวียนเทียนสมโภชพระบรมรูปพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ เวลาค่ำจุดประทีปโคมไฟ แลมีการเล่นต่างๆเปนการรื่นเริงทั่วไป
เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น
วัน ๗ ๗ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์ดนตรี กองทหารบกซึ่งยืนแถวอยู่ที่น่าออฟฟิศทหารล้อมพระบรมมหาราชวัง ทำเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว พระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองกระทวงมหาดไทย นำเจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ ๑ เจ้าราชภาคินัย ๑ เจ้าราชดไนย ๑ เจ้าอุย ๑ เจ้าเบ็ง ๑ เจ้าจุ้ย ๑ เจ้าทองคำ ๑ เจ้าสายสมร ๑ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลได้จัดต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการจำนวนศก ๑๑๖ เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายด้วย ต้นไม้ทองหนึ่งต้นสูงสามศอก ๕ ชั้น มีดอก ๘๐ ดอก ยอด ๑ ยอด ทองคำหนัก ๑๒ บาท ต้นไม้เงินหนึ่งต้นมีดอกแลยอดสูงต่ำเท่าต้นไม้ทอง เงินหนัก ๓๐ บาท เครื่องราชบรรณาการ งาช้าง ๒ กิ่ง หนัก ๕๐ ชั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันฐานด้วยพอสมควรแล้วเสด็จขึ้น
วัน ๑ ๘ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๒ ๙ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระทวารกลาง พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันไดอัฒจันท์ทางตวันออก ประทับที่สนามหญ้า ทอดพระเนตรเก้าอี้นั่งแลเก้าอี้นอน มีเบาะแพรสีต่างๆ เปนผีมือพวกช่างกองมหันตะโทษทำ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธินำมาฃอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย แล้วทรงพระดำเนินขึ้น ณ หอที่ประชุมเสนาบดีปฤกษาราชการแผ่นดิน
วัน ๓ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาราชเสนากระทรวงมหาดไทย อ่านบอกพระยาพิทักษ์เทพธานี ข้าหลวงยุติธรรม แทนฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช กราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ
ฉบับ ๑ ว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ร,ศก ๑๑๖ พระยาพิทักษ์เทพธานี พร้อมด้วยพระยาวิเชียรคีรี๑๐ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ได้จัดการตั้งแต่งที่ว่าการมณฑล แลที่ว่าการเมืองโดยสอาดเรียบร้อย ได้เชิญพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นประดิษฐานอันสมควร เวลาบ่ายอาราธนาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ มกราคม ร,ศก ๑๑๖ มีการสมโภชถวายไชยมงคล แลฃ้าหลวงผู้ช่วยราชการได้จัดสิ่งของเลี้ยงคนสูงอายุเสมอ ๗๐ ถึง ๗๘ ปี รวม ๖๓ คน กับได้แจกเงินด้วยคนละ ๖๗ อัฐ มีการเล่นในการสมโภช ๓ คืน ๓ วัน แลได้จุดประทีปโคมไฟทั่วไป
ฉบับ ๒ ว่าในการสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ตลับ ภรรยาพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล พร้อมด้วยภรรยาข้าหลวงผู้ช่วย แลผู้ว่าราชการกรมการรวม ๒๕ คน ได้ทำกรอบสลักลายเปนรูปเมืองสงขลา สำหรับบรรจุคำถวายไชยมงคล โดยความชื่นชมยินดีพร้อมกัน ฃอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระยาราชเสนานำ พระรังสรรค์สรกิจ ข้าหลวงรักษาราชการบริเวณนางรอง ๑ พระฤทธิพลไชย ฃ้าหลวงผู้ช่วยราชการ มณฑลนครราชสีห์มา ๑ พระภักดีอนุชิต ผู้ช่วยราชการ เมืองนครราชสีห์มา ๑ กราบถวายบังคมลาไปรับราชการตามตำแหน่ง
แล้วทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ แก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จขึ้นฯ
วัน ๔ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระทวารกลาง พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันไดยอัฒจันท์ทางตวันออก ประทับรถพระที่นั่ง (พร้อมด้วยตำรวจทหารแห่นำตาม) เสด็จพระราชดำเนินออกประตูวิเศษไชยศรี ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัษกร แลถนนท้องสนามไชยน่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แลน่าวัดพระเชตุพน เสด็จประพาศไปรเวต ทอดพระเนตรตึกแถวแลถนนตำบลปากคลองตลาดแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทางถนนรอบพระนครทิศตวันออก ครั้นถึงประตูสำราญราษฎร์แล้วเลี้ยวรถพระที่นั่งมาทางถนนบำรุงเมืองฃ้ามสพานช้างโรงสีมาตามถนนเลี้ยวน่าพระที่นั่งไชยชุมพลแลป้อมเผด็จดัษกร เข้าในพระบรมมหาราชวัง เวลา ๑ ทุ่มเศษ
วันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงมหาดไทยส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน แก่ข้าราชการหัวเมือง ๑๑ นาย
๑ ให้พระวังขวา เปนบุรีรัตน เมืองแพร่
๒ ให้ราชบุตร เปนราชวงษ์ เมืองแพร่
๓ ให้เจ้าราชบุตร เปนเจ้าบุรีรัตน นครเมืองน่าน
๔ ให้นายน้อยดวงทิพ เปนพระยาวังซ้าย เมืองนครลำพูน
๕ ให้นายน้อยเมืองชื่น เปนเจ้าราชภาคินัย เมืองนครเชียงใหม่
๖ ให้นายน้อยคำตัน เปนเจ้าสุริยวงษ์ เมืองนครเชียงใหม่
๗ ให้เจ้าราชภาคินัย เปนเจ้าราชบุตร เมืองนครเชียงใหม่
๘ ให้เจ้าราชภาติกวงษ์ เปนเจ้าบุรีรัตน เมืองนครเชียงใหม่
๙ ให้เจ้าสุริยวงษ์ เปนเจ้าราชวงษ์ เมืองนครเชียงใหม่
๑๐ ให้นายน้อยเมืองไทย เปนเจ้าราชภาคินัย เมืองนครลำพูน
๑๑ ให้นายน้อยพรหมเทศ เปนเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ เมืองนครลำพูน
วัน ๕ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่า พร้อมด้วยฃ้าหลวงแลฃ้าราชการเมืองในมณฑลนั้น ได้จัดการสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ที่พระราชวังจันทเกษม แลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลเชิญพระบรมวงษานุวงษ์ กับฃ้าทูลลอองธุลีพระบาทไปประชุมเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย
ครั้นแวลาบ่าย ๔ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศอย่างจอมพลทหารบก ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาจักรกรีบรมราชวงษ์ เสด็จออกทางพระทวารกลาง ณ พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินลงบันไดอัฒจันท์ทางตวันออก ประทับรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนแห่นำตามเสด็จ ไปออกประตูสำราญราษไปประทับที่สะเตชั่นรถไฟตำบลสะพานยศเส พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทกับเจ้าพนักงานกรมรถไฟ ได้มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ที่นั้นพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสด้วยท่านที่มาเฝ้าอยู่ที่นั้นบางท่าน แล้วเสด็จประทับรถไฟ ซึ่งเจ้าพนักงานจัดไว้เปนที่ประทับนั้น พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทที่ได้รับเชิญ ก็ตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นรถไฟพร้อมกัน รถไฟพระที่นั่งใช้จักรออกจากสะเตชั่นเวลาเช้า ๔ โมง ๑๕ นาที ตามทางเสด็จพระราชดำเนินที่สะเตชั่นบางแห่งมีหมู่บ้านราษฎรมาก กีมีกรมการผู้ใหญ่บ้านแลราษฎรพลเมืองมาคอยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลพร้อมกันโห่ถวายไชยมงคลเปนการรื่นเริงตลอดไปทุกระยะ แลวัดที่ใกล้เคียงทางรถไฟที่พระราชดำเนินนั้น พระสงฆ์ได้มาคอยสวดถวายไชยมงคล เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงตำบลเชียงราก พระยาอินทรวิชิตจางวางเมืองอ่างทอง, แลพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า๑๑ พร้อมด้วยกรมการอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีดอกไม้ธูปเทียนมาคอยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แล้วพระยาอินทรวิชิต แลพระยาไชยวิชิตขึ้นรถไฟตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวน เวลาเที่ยง ๑๕ นาที รถไฟพระที่นั่งถึงสะเตชั่นรถไฟกรุงเก่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษศิริพัฒน์ พร้อมด้วยข้าหลวงแลผู้ว่าราชการเมืองกรมการหัวเมืองในมณฑลกรุงเก่านั้นมาคอยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงจากรถไฟพระที่นั่ง มีพระราชดำรัสด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษศิริพัฒน์ แลฃ้าหลวงผู้ว่าราชการเมืองพอสมควรแล้ว เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งกลไฟ โสภณภควดี ราษฎรพลเมืองซึ่งได้มาลอยเรือเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ได้มีการเล่นในเรือแลพร้อมกันโห่ถวายไชยมงคล เรือพระที่นั่งใช้จักรเดินออกจากท่าสะเตชั่น เรือราษฎรเหล่านั้นก็ได้ตามแวดล้อมเรือพระที่นั่งเปนกระบวนไป ราษฎรพลเมืองที่อยู่บนฝั่งตามทางเสด็จพระราชดำเนินไปนั้น ได้พร้อมกันโห่ถวายไชยมงคลตลอดทาง
เวลาเที่ยง ๓๐ นาที เรือพระที่นั่งถึงท่าพระราชวังจันทเกษม กองทหารปืนใหญ่ได้ยิงบนถวายคำนับ ๒๑ นัด แลชักธงมหาราชขึ้นที่เสาธงน่าพระที่นั่งพระราชวังจันทเกษม แล้วพระราชดำเนินขึ้นประทับบนพระที่นั่งนั้น มีพระราชดำรัสด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้เสด็จไปในการนี้ด้วยนั้นพอสมควรแล้ว ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว ทรงชักสายเชือกยกพระมหาเสวตรฉัตร แลทรงเปิดคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระสงฆ์ ๑๐ รูปสวดไชยปริต กรมกองแก้วจินดาได้ยิงปืนมหาฤกษ, มหาไชย, มหาจักร, มหาปราบยุค, เจ้าพนักงานแตรสังข์พิณพาทย์ ก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน กองทหารทำเพลงแตรสรรเสริญพระบารมีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นข้างใน เชื้อ, ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ พร้อมด้วยบุตรภรรยาฃ้าหลวงแลผู้ว่าราชการเมืองกรมการในมณฑลกรุงเก่าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเรียงตัวแล้ว เสด็จออกประทับพระราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร เจ้าพนักงานประโคมแตรฝรั่งมโหรทึก กองทหารเป่าแตรสรรเสริญพระบารมี ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่าได้ทรงอ่านคำถวายไชยมงคล ในนามของข้าหลวงแลผู้ว่าราชการเมืองกรมการในมณฑลนั้น (ดังที่ลงในราชกิจจาเล่ม ๑๔ น่า ๓๙๐) กราบบังคมทูลจบแล้ว ผู้ที่มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในที่นั้นได้พร้อมกันโห่ถวายไชยมงคล ๓ ลา พระสงฆ์สวดไชยปริตถวายไชยมงคล แตรวงทำเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ (ดังที่ได้ลงในราชกิจจาเล่ม ๑๔ น่า ๗๙๔) แล้วพิณพาทย์ทำเพลงสาธุการ
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ แก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ฃ้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่า ๑ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร (พร) ฃ้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า ๑ หลวงแพ่งกรมการกรุงเก่า ๑
แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร แก่ข้าราชการในกรุงแลหัวเมือง
๑ ให้พระภักดีราช เปนพระยามนูเนติบัญหาร ถือศักดิ์นา ๓๐๐๐
๒ ให้ฃุนชำนาญคดี เปนหลวงนรนิติบัญชาการ ถือศักดิ์นา ๖๐๐
๓ ให้หมื่นพิพิธอักษร เปนหลวงนรเนติบัญชากิจ ถือศักดิ์นา ๖๐๐ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงยุติธรรมทั้ง ๓ นาย
๔ ให้นายร้อยโทอ่ำ เปนหลวงราชภพบริหาร เจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปอิน ถือศักดิ์นา ๖๐๐
๕ ให้นายราชาภักดิ์ เปนพระพิทักษ์ฤทธิรงค์ ปลัดเมืองสิงคบุรี ถือศักดิ์นา ๖๐๐
๖ ให้หลวงวิจารณ์ เปนหลวงบริหารนครเฃตร ตำแหน่งนายอำเภอกรุงเก่า ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๗ ให้หลวงศรีบุรินทร์ เปนหลวงประชาภิบาล ตำแหน่งนายอำเภอกรุงเก่า ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๘ ให้หลวงศรีดำรงราษฎร์ เปนหลวงนิกรกิจบัญชา ตำแหน่งนายอำเภอ เมืองลพบุรี ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๙ ให้หลวงภักดีกิจวิจารณ์ เปนหลวงระงับทุกข์ราษฎร ตำแหน่งนายอำเภอเมืองอ่างทอง ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๑๐ ให้หลวงบุรินทรพิทักษ์ เปนหลวงพรหมปราสาทศิลป์ ตำแหน่งนายอำเภอเมืองสิงหบุรี ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๑๑ ให้นายอวบ เปนหลวงพัฒนกิจวิจารณ์ ตำแหน่งผู้ตรวจการกองเทศาภิบามณฑลกรุงเก่า ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๑๒ ให้นายร้อยเอกวาศ เปนหลวงมณฑลหิรัญรักษ์ ตำแหน่งรองฃ้าหลวงคลัง กองฃ้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ถือศักดิ์นา ๔๐๐
๑๓ ให้นายฟัก เปนหลวงศรีบุรานุกิจ ผู้ช่วยราชการเมืองสิงหบุรี ถือศักดิ์นา ๕๐๐
๑๔ ให้ขุนอินทร์อนันต์ เปนหลวงสำแดงฤทธา ผู้ช่วยราชการเมืองสระบุรี ถือศักดิ์นา ๕๐๐
๑๕ ให้หมื่นจ่าคชภักดี เปนหลวงพิชิตพิทักษ์ ตำแหน่งนายอำเภอเมืองสระบุรี ถือศักดิ์นา ๔๐๐
แล้วเสด็จทอดพระเนตรสิ่งของต่างๆ ซึ่งได้ตกแต่งไว้ที่พระที่นั่งนั้นทั่วแล้ว เสด็จออกทอดพระเนตรกระบวนแห่ของโบราณครั้งกรุงทวาราวดี ซึ่งมีรูปภาพเขียนยังปรากฏอยู่ที่วัดยมแฃวงกรุงเก่า๑๒ ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ จัดแต่งมาถวายทอดพระเนตร แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่เรือพระที่นั่งกลไฟ เมื่อเคลื่อนเรือพระที่นั่งกลไฟออกจากท่า กองทหารปืนใหญ่ได้ยิงสลูตส่งเสด็จอีก ๒๑ นัด แลลดธงมหาราชจากเสาธงน่าพระที่นั่งนั้นแล้ว เรือพระที่นั่งใช้จักรต่อมาเทียบท่าที่พักข้าหลวงเทศาภิบาล เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับบนตำหนัก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ส่วนข้าทูลลอองธุลีพระบาทก็ได้รับพระราชทานอาหารพร้อมกัน แลเมื่อประทับโต๊ะเสวย มีแตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมีต่างๆ ด้วย เสวยถึงของหวาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ได้กราบบังคมทูลถวายไชยมงคล แลขอให้ท่านผู้ที่นั่งโต๊ะดื่มถวายไชยมงคลพร้อมกัน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ ท่านผู้ที่นั่งโต๊ะได้ดื่มถวายไชยมงคลพร้อมกัน แตรวงทำเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบขอบพระไทยแลพระราชทานพร แก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ แลโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ที่นั่งโต๊ะดื่มให้พร แก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ผู้ที่นั่งโต๊ะได้ดื่มพร้อมกัน ครั้นแสวยเสร็จแล้วประทับพระราชดำรัสอยู่กับพระบรมวงษ์เธอ จนเวลา ๓ โมง ๕๕นาที เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับเรือพระที่นั่งไปเทียบท่าสเตชั่นรถไฟกรุงเก่าแล้ว พระราชดำเนินขึ้นประทับรถไฟ เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๐ นาที รถไฟพระที่นั่งใช้จักรออกสะเตชั่น กลับมาถึงสะเตชั่นรถไฟกรุงเทพ ฯ เวลาย่ำค่ำ ๕ นาที เสด็จประทับรถพระที่นั่งกลับสู่พระบรมมหาราชวัง
วัน ๖ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
วัน ๗ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ปีรกานพศก ๑๒๕๙
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๓๐ศก ๑๑๖
ไม่เสด็จออก
-
1. พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น อัมรานนท์) ↩
-
2. พระยาวรเดชศักดาวุธ (เจ๊ก จารุจินดา) ภายหลังเป็นพระยาเทพอรชุน ↩
-
3. พระยาอมรินทรฦๅไชย (เทียม บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ↩
-
4. เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ↩
-
5. พระยาสุรินทรฦๅไชย (บัว) อยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๐๑ ↩
-
6. พระยารณไชยชาญยุทธ (ครุฑ หงสนันทน์) ภายหลังได้ขอพระบรมราชานุญาตออกบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๔๕ ↩
-
7. การสมโภชเนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งจัดทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาแรมเดือน ↩
-
8. ในรัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนเป็นกรมขุน ฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ต้นราชสกุล วัฒนวงศ์ ↩
-
9. พระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุล นพวงษ์ ↩
-
10. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ↩
-
11. พระยาไชยวิชิต (นาก ณ ป้อมเพ็ชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา ตรงกับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เวนคืนตำแหน่งในปีเดียวกันนี้ ↩
-
12. วัดยมอยู่เหนือสถานีรถไฟอยุธยา ที่ผนังอุโบสถเดิมมีภาพเขียนขบวนพยุหยาตราพระกฐินบก พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) ได้ให้ช่างจำลองภาพไว้ในสมุดไทยขนาดใหญ่ ↩