- คำนำ
- แจ้งความพิมพ์ครั้งที่ ๒
- กลอนดอกสร้อย ‘รำพึงในป่าช้า’
- กลอนสุภาพ ‘ความรัก’
- กลอนสุภาพ ‘มนุษย์เรา มีดีที่ตรงไหน ?’
- กลอนสุภาพ อธิบาย ‘สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ’
- กลอนสุภาพ อธิบาย ‘อุฏฺาตา วินฺทเต ธนํ’
- กลอนสุภาพ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’
- กลอนสุภาพ ‘หญิงไทย’
- ลิลิตดั้น มาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย
- ลิลิตดั้น สดุดีบ้านบางระจัน
- ลิลิตสุภาพ สดุดีพระราชบัญญัติประถมศึกษา
- โคลงดั้นวิวิธมาลี อธิบาย ‘อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ’
- คำกาพย์ เรื่องพระศิวประติมา
- คำฉันท์ สามัคคีบรรยาย
- คำฉันท์ ยอเกียรติชาวนครราชสีมา
- คำฉันท์ เทวธรรมบรรยาย
- คำอธิบายศัพท์
ฉันท์ เทวธรรมบรรยาย
จุณณิยบท คาถาเทวธรรม
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา | สกฺกธมฺมสมาหิตา |
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก | เทวธมฺมาติ วุจฺจเร. |
สัททุลลวิกกีฬิต ๑๙
ตูข้าขออภิวาทพระพุทธะพระประทาน | |
ธรรมเพื่อประสพศาน- | ติบท |
ตูข้าขออภิวาทพระธรรมะพระสุคต | |
สอนสัตว์ขจัดหมด | อธรรม์ |
ตูข้าขออภิวาทพระสงฆ์สุปฏิบันน์ | |
สืบพุทธศาสน์อัน | รุจี |
ตูข้าขออภิวาทชนกและชนนี | |
ครูกอบพระคุณศรี | วิศิษฏ์ |
ตูข้าขออภิวาทพระบาทวรนริศร์ | |
จอมราษฎร์สยามิศ | รศรี |
ทรงปกเกล้านรไทยอุทัยสุขทวี | |
พูนเพิ่มพิพัฒน์ปรี- | ดิผล |
ด้วยเดชแห่งอภิวาทประสาทนกมล | |
พุทธาธิคุณดล | สวัสดิ์ |
จงปลดเปลื้องอุปสรรคและสรรพ์ภยพิบัติ | |
ในการนิพนธ์อรรถ | ประพันธ์ |
เพื่อบูชาวรคุณพระบาทบรมธรร- | |
มิกฉัฏฐรามอัน | อุฬาร์ |
บำรุงราษฎรกอประด้วยพระกรุณา- | |
คุณทั้งพระเมตตา- | ธิธรรม์ |
สบคาบคล้ายศุภวารสมภวณพรรษ์ | |
สิบหก๑ฉนำถวัล- | ยราชย์ |
เพื่อเป็นมงคลฤกษ์วราศิรประกาศ | |
เกื้อเกียรติโอภาส | พระองค์ |
----------------------------
ฉะบัง ๑๖
ข้าขอไขธรรม์บรรจง | บรรยายอรรถองค์ |
พระทรงพระภาคหากสอน | |
ถึงข้อมารยาทราษฎร | ผู้ทวยนาคร |
ควรผ่อนผันประพฤติตาม | |
เพื่อให้ทวยราษฎรชาติสยาม | ลุธรรม์อันงาม |
ได้นามว่า ‘อารยชน’ | |
ขอเชิญ ‘เทวธรรม’ ล้ำผล | เป็นพจน์พิมล |
ทศพลชินศรีชี้ไข | |
เพื่อหมู่มนุษย์เวไนย | มีธรรมอำไพ |
แผกไปจากดิรัจฉาน | |
กล่าวคือมรรยาทชาติอารย์ | ถือทั่วถิ่นฐาน |
ไม่ผ่านพ้นไปได้เลย | |
ตามข้อคาถาเฉลย | สงฆ์สวดแผ่เผย |
ผู้เคยกับพระจะเห็น | |
เวลาพระสวดมนตร์เย็น | ลงท้ายไม่เว้น |
ท่านเป็นต้องสวด ‘เทวธรรม’ | |
คือว่าคาถาที่นำ | มาจดประจำ |
เป็นคำคุณจุณณีย์ชี้ไข | |
ท่านหวังให้ฟังร่ำไป | เพื่อน้อมน้ำใจ |
เป็นไปตามพุทธพจี | |
แต่กลายเป็นกิจพิธี | น้อยนักจักมี |
ผู้ที่ฝักใฝ่ในความ | |
ขอแปลแต่เค้าเอาตาม | พากย์พจน์สยาม |
เห็นงามอย่างไรไขขาน | |
คาถาว่าสั้นบรรหาร | มีสามประการ |
ควรมานมนัสคัดจำ | |
”หนึ่ง-ให้ขวยเกรงบาปกรรม | หนึ่ง-ให้เพียรบำ- |
เพ็ญธรรมที่ชอบใส่ตน | |
หนึ่ง-ให้รำงับอกุศล | ซึ่งกลั้วกมล |
ให้พ้นสันดานผ่านไป | |
อันว่าบุทคลผู้ใด | ประพฤติดังไข |
นับได้ว่ามี ‘เทวธรรม’” | |
แผกชนกลดิรัจฉานอัน | ป่าเถื่อนเลื่อนชั้น |
สู่สัญชาติอารย์ปานสรวง | |
เราพุทธสาวกปวง | ควรตั้งฝังดวง |
จิตต์หน่วงน้อมนบอบรม | |
เพื่อสมเกียรติชาติศาสน์สม- | ที่ได้อุตดม- |
ราชสมบูรณ์ลักษณ์อุฬาร | |
ต่อนี้ข้าขอต่อสาร | สาธกนิทาน |
อาจารย์ท่านปลูกผูกพัน | |
เพื่อหวังฝั่งธรรมสำคัญ | ซึ่งนิยมกัน |
ในชั้นโบราณท่านสอน | |
แต่ขอย่อสั้นบั่นรอน | เลือกคัดตัดตอน |
ผันผ่อนพอเข้าเค้าความ |
อินทรวิเชียร ๑๑
ปางพุทธบพิตร | พระสถิต ณ อาราม |
เรียก ‘เชตวัน’ นาม | พระวิหารณเขตต์ ‘สา |
วัตถี’ นครใหญ่ | ณ สมัยบุราณมา |
เขตต์ราชอาณา | ชนบทโกสล |
มีท่านกุฎุมพี | สุขศรีพิพัฒน์ผล |
ภรรยามลายชน- | ม ระทดสลดใจ |
จึงบรรพชาน้อม | มนะพร้อมประพฤติใน |
ศรีศาสนาไท | วระทศพลญาณ |
เธอมีอเนกภัณ- | ฑ อนันต์บริกขาร |
นุ่งห่มมิซ้ำนาน | ณ ทิวาและราตรี |
ทรายถึงพระสัมพุท- | ธพิสุทธชินศรี |
ตรัสเรียกกุฎุมพี | นวภิกษุทรงสอน |
เพื่อให้ละอวดโอ่ | และละโลภขาดรอน |
ฝ่ายภิกษุเคืองค้อน | พระสุคตและหมดอาย |
เปลื้องผ้ามิคลุมอง- | ค สะบงแหละติดกาย |
ในที่ประชุมหมาย | จะประชดพระศาสดา |
ทรงตรัสประโลมใจ | อุปไมยนิทานสา- |
ธกเรื่องอดีตชา | ดกเทียบแถลงธรรม์ |
“โอ้ ! ภิกษุผู้หมาย | ‘หิริ’ อาย ณ บาปสรรพ์ |
‘โอตตัปปะ’ หวาดหวั่น | มนะเกรง ณ บาปผอง |
ไป่ควรจะดาลโกรธ | ทุรโทษมิตรึกตรอง |
ทิ้งธรรมะเคยครอง | และประพฤติทุราจาร |
ท่านหา ‘หิโรตตัป- | ปะ จะนับประมาณนาน |
สิบสองฉนำกาล | ณ อดีตชาติมา |
บัดนี้ประพฤติพรต | ณ สุคตศาสนา |
ควรกอประจรรยา | มุนินาถประศาสน์สาร |
ควรครอง ‘หิโรตตัป- | ปะ’ ระงับทุราจาร |
เพื่อสมเกษมศานติ์ | ดุจมุ่งณเดิมที” |
ฝ่ายภิกษุฟังฟัง | มนคลั่งก็คืนดี |
ขวยใจก็หยิบจี- | วรครองเสงี่ยมตน |
จึงภิกษุทั้งนั้น | อภิวันท์พระทศพล |
ทูลเพื่อแสดงสน- | ธิปวัตติ์อดีตกาล |
สุรางคนาง ๒๘
พระพุทธ์นายก | |
เทศนาชาดก | สาธกนิทาน |
โพธิสัตว์อัน | สืบขันธ์สันดาน |
ในครรภ์นงคราญ | มารดาเทวี |
ผู้แก้วกัลยา | |
จอมราษฎร์ราชา | พาราณสี |
นาม ‘มหิสสาส’ | ราชบุตรหัวปี |
พระน้องนามมี | ศรี ‘จันทกุมาร’ |
มิช้าชนนี | |
ดับชีพรีบหนี | สามีภูบาล |
ทรงตั้งมหิษี | แทนที่นงคราญ |
เกิดพระกุมาร | โปรดปรานหนักหนา |
ทรงนามขนาน | |
สุริยกุมาร | ปานเนตรราชา |
พระประทานพร | ก่อนนึกตรึกตรา |
จึงพระมารดา | ขอราไชศวรรย์” |
ให้โอรสนาง | |
เหลือตรัสขัดขวาง | หมดทางบิดผัน |
จำสละรัชช์ | ตามตรัสทรงธรรม์ |
ส่งสองบุตรนั้น | ดั้นเต้าเนาไพร |
ทรงสั่งโอรส | |
เมื่อพ่อสวรรคต | หมดพรพ่อไซรื |
เจ้าจงกลับหลัง | มายังกรุงไกร |
ครอบครองเวียงชัย | สืบไอศวรรย์ |
ฝ่ายสองโอรส | |
ลาองค์ทรงยศ | บทจรตามกัน |
มาพบพระน้อง | ร่ำร้องใฝ่ฝัน |
ขอจรจรัล | ผันเต้าตามไป |
เหลือห้ามปรามน้อง | |
ครวญคร่ำร่ำร้อง | จำต้องตามใจ |
ยอมให้ผายผัน | พากันครรไล |
จากปราสาทชัย | หมายไปอรัญ |
เดิรตัดลัดทุ่ง | |
ล่วงฐานย่านกรุง | ต่างมุ่งผายผัน |
เข้าในไพรกว้าง | แรมค้างในวัน |
ลุสระมหันต์ | ชวนกันพักกาย |
ใต้ร่มรุกขชาติ | |
มีเทินเนินลาด | เป็นอาสน์สบาย |
จึงโพธิสัตว์ | ตรัสแก่น้องชาย |
สุริยะเพื่อผาย | ผันสู่สระศรี |
“แน่ ! น้องสุริยะ | |
จงจู่สู่สระ | ชำระอินทรีย์ |
ครั้นเสร็จเด็ดใบ | บัวใส่วารี |
มาฝากสองพี่ | ขมันขมีหน่อยรา” |
สุริยกุมาร | |
ได้ฟังสั่งสาร | ลยลานรรีบมา |
เดิรด้นจนปะ | เห็นสระโศภา |
มีบัวนานา | วารีเย็นใส |
ผลัดผ้าคลาลง | |
ชำระสระสรง | ทรงดื่มปลื้มใจ |
เที่ยวหักฝักบัว | มามั่วสุมไว้ |
ครั้นเสร็จเด็ดใบ | บัวใคร่ใส่ชล |
สระนี้มียักษ์ | |
เสื้อน้ำสำนัก | รักษาวังวน |
ได้พรเวสสวัณ | กินบรรดาคน |
ผู้ลงสรงชล | มืดมน “เทวธรรม์” |
ครั้นสบพบพาน | |
สุริยกุมาร | สรงสนานอยู่นั้น |
เสแสร้งแปลงตน | เป็นคนฉับพลัน |
กล่าวถาม ‘เทวธรรม์’ | นั้นคือสิ่งไร ? |
สุริยกุมาร | |
ไร้ตริวิจารณ์ | ขานตอบทันใด |
ว่า ‘เทวธรรม์’ | คือจันทร์สูรย์ไซร้ |
ยักษ์นั่งฟังไข | เห็นไม่ถูกตรง |
อิ่มใจได้อา- | |
หารอันโอชา | โลดคว้าพระองค์ |
“ดูก่อนมนุษย์ | บริสุทธิ์เชื้อวงศ์ |
แต่ใจไม่ยง | คงอันธพาล |
เราไซร้ได้พร | |
ใครหมดบทจร | พักผ่อนในย่าน |
สระศรีนี้จัก | เป็นภักษาหาร |
เว้นเหล่าเผ่าอารย์ | เชี่ยวชาญ ‘เทวธรรม์’ |
เสียดายกายไย | |
คนปานท่านไซร้ | ไร้ผลทั้งนั้น |
ให้เราเข้าปาก | ผลมากอนันต์” |
พลางคร่าห์พาผัน | สู่ครรภ์คูหา |
อินทรวงศ์ ๑๒
ฝ่ายโพธิสัตว์คอย | มนะพลอยระอิดระอา |
ห่วงน้องพระปองหา | หฤทัยพะวักพะวน |
สงสัยจะไผล้เผล | จรเตร่ระเหระหน |
เที่ยวหาสระเวียนวน | บมิพบตลบตะแลง |
ให้น้องกุมารจันทร์ | จรผันเสาะสืบแสวง |
ด้วยในพระทัยแคลง | ภยน้องจะพ้องจะพาน |
ฝ่ายว่ากุมารจันทร์ | จรดั้นละลนละลาน |
ไม่ช้าก็ถึงย่าน | สระก็ค้นทุรนทุราย |
ลงดื่มอุทกล้าง | มุขสร่างกระวนกระวาย |
ถูกยักษ์ถามทาย | ณพระ ‘เทวธรรม์’ กะเธอ |
ตอบ “เทวธรรมนี้ | ทิศสี่แหละถูกละเกลอ” |
ยักษ์ออกอุทาน เฮอ ! | และสลดระทดระทวย |
“ใจท่านมิสมกาย | และมิหมายจะเขินจะขวย |
อยู่ไปก็ไม่อวย | คุณแก่ประชานิกาย |
สิ้นชนม์สกนธ์เน่า | คุณเปล่ากระจัดกระจาย |
มอบร่างกะเราตาย | ขณะนี้สิมีกุศล |
พลางจับพระจันทร์จู่ | จรสู่ณครรภะตน |
ขังร่วมพระน้องกล | ปศุสัตว์จะกัดจะกิน |
บ้างโพธิสัตว์ตั้ง | มนะหวังจะรู้ระบิล |
คอยคอยละห้อยจิน- | ตนะแคลงระแวงพระทัย |
จึงต้อมเสด็จมา | ลุสระน่าฉงนกระไร |
เห็นรอยพระน้องไป | ณ สระนี้มิเห็นพระกาย |
ทราบด้วยพระปัญญา | อนุชาลุอันตราย |
ยั้งองค์มิทรงผาย | จรสู่สระสรงสนาน |
รากษสสะกดใจ | เพราะจะให้ประเวศน์ณย่าน |
คอยท่าก็ช้านาน | บมิเห็น ธ ล่วงถลำ |
แปลงเป็นมนุษย์ไคล | จรใกล้และกล่าวแนะนำ |
“ท่านยากและตรากตรำ | ณ พนัสระหกระเหิน |
โน่นแน่สระบัวใหญ่ | จรไปสนานสิเชิญ |
ดื่มน้ำและว่ายเพลิน | มนะชมปทุมอนนต์” |
ฝ่ายโพธิสัตว์ทราบ | บมิอายเพราะแจ้งณกล |
รู้ว่ามิใช่คน | ก็ประภาษขมีขมัน |
“ท่านหรือนะคือยัก- | ษ พิทักษ์ ณ ถิ่นอรัญ |
จับกุมพระน้องอัน | จรมาจะทำอะไร ?” |
ยักษ์รับพระวาจา | บมิกล้าเถลไถล |
แล้วเลยเฉลยไข | กรณีย์มิปิดมิบัง |
ทราบเรื่องก็บรรหาร | “ผิวท่านประสงค์จะฟัง |
ซึ่ง ‘เทวธรรม’ ตั้ง | สติเถิดจะขานจะไข” |
ยักษ์ฟังก็ปลื้มปรี- | ดิฤดีและเชิญคระไล |
อาบดื่มอุทกใน | สระระงับกระวนกระวาย |
เสร็จเชิญประทับอา | สนะผา ณ พฤกษฉาย |
จึงโพธิสัตว์ผาย | พจนารถ ณ ‘เทวธรรม์’ |
เป็นบาทพระคาถา | ดุจจ่า ณ ต้นประพันธ์ |
ยักษ์ฟังเกษมสันต์ | ณ พระธรรมเทศนา. |
ภุชงคประชาต ๑๒
กมลกอประชื่นบาน | ฤดีซ่านประกาศสา- |
ธุการศัพท์มินับครา | แถลงซ้ำมิหนำใจ |
“กระแส ‘เทวธรรม’ นี้ | ขยมมีกมลใฝ่ |
ทวาทศพรรษ์ได้ | ประจักษ์ฟัง ณ ครั้งนี้ |
มนุษย์เอ๋ยไฉนขาด | สุมรรยาทประเสริฐศรี |
ผิไร้ ‘เทวธรรม’ มี | สกนธ์เป็นมนุษย์ไย |
กนิษฐ์ท่านมิรู้ ‘เท | ธรรม’ เล่หสัตว์ไพร |
ก็สมกับจะจับไป | กระทำเป็นสะเบียงเรา |
ขยมปรีดิเลื่อมใส | จะคืนให้กนิษฐ์เจ้า |
จะชอบใครก็เลือกเอา | เถอะคนหนึ่งจะยอมปล่อย” |
บรมโพธิสัตว์ต้อง | ประสงค์น้องกนิษฐ์น้อย |
และยักษ์ได้สดับถ้อ | ประภาษเพ้ยเฉลยไข |
แน่ะ ! ท่านปราชญ์ฉลาดเล่ห์ | แถลง ‘เทวธรรม’ ไพ |
เราะแต่ปากมิอยากใฝ่ | ประพฤติ ‘เทวธรรม’ เลย |
มนุษย์ควรจะถือา- | ยุแก่กว่าสิท่านเอ๋ย ! |
กนิษฐ์รองสิเฉยเมย | มิช่วย, ช่วยกนิษฐ์น้อย |
พระองค์โพธิสัตว์ตรัส | เฉลยอรรถสนองถ้อย |
กะยักษ์ผู้ประสงค์คอย | สดับข้อระแวงใจ. |
วสันตดิลก ๑๔
“ตูนี้มิมีกมลเปร | สละ ‘เทวธรรม’ ไป |
แม้นทราบปวัตต์ประถมไซร้ | ก็จะทราบระแสธรรม์” |
เราร่วมพระราชชนนี | มหิษีพระราชัน |
กับน้องพระนามกรจัน- | ทกุมาระภักดี |
สิ้นบุญพระแม่ก็พระชนก | ธก็ยกพระเทวี |
อื่นเป็นพระราชมหิษี | ธประสูติพระน้องชาย |
คือน้องกุมารสุริยะองค์ | บิตุรงค์ประสงค์หมาย |
มอบรัชชะตามพรธผาย | พจนารถกะมารดา |
ให้เราและน้องจรปเวศน์ | วนเขตต์สถิตป่า |
ฝ่ายน้องกุมารสุริยะอา- | ลยเราและเฝ้าตาม |
เราแสนจะหนักอุระระลวง | มนะห่วงพยายาม |
ป้องกันประชานิกรหยาม | ครหามิคลาคลาย |
ทั้งเพื่อพิทักษ์พระประสงค์ | บิตุรงค์ธจงหมาย |
ชีพเราและจันทร์ผิวมลาย | ก็มิสู้จะเป็นไร |
แม้นเราจะคืนนครเรา | และจะเล่าแถลงไข |
“ยักษ์กินกุมารสุริยะ” ใคร | น๋ะจะเชื่อณวาจา |
“เชิญจงวิจารณคดี | ดุจชี้เฉลยมา |
เรานี้และมีกมลสา- | ธุประพฤติณสัทธรรม” |
ฝ่ายยักษ์สดับพระพจนารถ | ก็ประสาทณถ้อยคำ |
จรสู่ชลาลัยและนำ | พระกุมาระสององค์ |
มาคืนถวายฉะเพาะพระพักตร์ | บริรักษ์พระบาทบงสุ์ |
เชิญเนาณมณฑลสระปลง | มนะกอประอารี |
องค์โพธิสัตว์และพระกนิษฐ์ | ก็สถิตสวัสดี |
สอนยักษ์ณเบญจวรศี- | ลประพฤตินิรันดร์กาล |
ตราบเท่าพระราชบิตุรง- | คธทรงมลายปราณ |
จึงกลับประเวศน์นครผ่าน | สิริราชมไหศวรรย์ |
ตั้งน้องพระจันทร ณ มหา | อุปราชฐานันดร์ |
ตั้งน้องกุมารสุริยะอัน | จรตามณที่เป็น |
เสนาบดีอดุลศักดิ์ | ทะนุยักษเพื่อนเข็ญ |
ให้บรรลุเกียรติคุณเพ็ญ | ยศลาภอเนกนอง |
ทรงกอบพระราชกรุณา | ณประชานิกรผอง |
ให้น้อมมนัสนิยมปอง | ปฏิบัติ ณ สัทธรรม. |
----------------------------
ฉะบัง ๑๖
เมื่อพระพุทธองค์ทรงสำ- | แดงอรรถตรัสนำ |
บุรพกรรมก่อนเก่าเล่าไข | |
“อันยักษ์กักขฬะยังใฝ่ | เสาะธรรมอำไพ |
และใคร่ถือธรรมอำพาน | |
ไฉนมนุษย์บุทคล | ซ้ำผนวชตน |
ปานกลท่านไซร้ไร้อาย | |
เปลื้องปลดจีวรล่อนกาย | จิตต์โกรธโหดร้าย |
จักหมายมุ่งผลกลใด | |
อันผู้เสาะธรรมอำไพ | ควรอบรมใจ |
ห่างไกลทุจริตมิจฉา | |
อันการเปลือยปลดงดผ้า | ไว้ผมชฎา |
หรือว่าคลุกเกลือกเปือกตม | |
งดกินนอนดินหมักหมม | กายด้วยโสมม |
ยืนงมกระเหย่งเพ่งธรรม์ | |
ล้วนกิจผิดพรหมจรรย์ | ไม่ยังสัตวสรรพ์ |
ให้บรรลุผลกลหมาย | |
จบตรัสสัทธรรม์บรรยาย | ภิกษุทั้งหลาย |
ต่างถวายศัพท์สาธุการ | |
ย่อเรื่อง ‘เทวธรรม’ ตำนาน | เพื่อเป็นสะพาน |
ทราบสารซึ้งในใจความ | |
เชิญปราชญ์ตริตรึกนึกตาม | ซึ่งอรรถอันงาม |
ทั้งสามข้อเทวธรรม | |
จักเห็นเป็นธรรม์อันจำ- | เป็นจักต้องบำ- |
เพ็ญสำหรับราษฎร์ชาติอารย์. |
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา
ข้อต้นฝึกฝนสันดาน | ให้ขวยเกรงการ |
ทางพาลทุจริตผิดผัน | |
ยั้งใจประพฤติยึดธรรม์ | ตั้งอยู่ในมรร- |
ยาทอันสุภาพอำไพ | |
อันว่าความคิดจิตต์ใจ | ส่ำสัตว์ใดใด |
ตรงไปตามจิตต์คิดหมาย | |
อยากกินก็กินสิ้นอาย | อยากสมพาสผาย |
ผันกรายกรีดเข้าเคล้าคลึง | |
ยามโกรธโลดตามความขึ้ง | ไป่คิดคำนึง |
นึกถึงผิดพ้องคลองธรรม์ | |
นี้เป็นธรรมดาสามัญ | แห่งสัตว์ทุกพรรณ์ |
ไม่ฝันใฝ่ธรรมอำพน | |
มนุษย์สันดานปานกล | กล่าวนี้พึงยล |
ไม่พ้นภูมิดิรัจฉาน | |
ดังยักษ์ไขในนิทาน | ข้างต้นย่นขาน |
ช่วยการเห็นคุณหนุนนำ | |
ใน “หิโรตตัปปะ” ธรรม | ควรถือประจำ |
ชาติส่ำมนุษย์แน่นอน. |
----------------------------
อินทรวิเชียร ๑๑
สุกฺกธมฺมสมาหิตา
ข้อสอง, แสวงกิจ | สุจริตนิรันดร |
เพื่อให้นิกรนร | ประลุสุขเกษมศานติ์ |
คือใฝ่ณกิจกอบ | คุณชอบนิรันดร์กาล |
ทางโลกและธรรมมาน | มนะใฝ่พิพัฒน์ผล |
อันสัตว์ดิรัจฉาน | บมิมานกมลชวน |
ขวายเพิ่มพิพัฒน์ตน | แหละขยับเจริญเชาวน์ |
รังนกกระจายสร้าง | ขณะปางอดีตเอา |
เทียบกันกะรังเนา | ขณะนี้มิผิดผัน |
ความประพฤติสัตว์ | ปฏิบัติ ณ กัปป์กัลป |
อย่างใดก็อย่างนั้น | บมิมีทวีผล |
ฝ่ายว่ามนุษย์เรา | มนะเฝ้าประพฤติตน |
ดำเนิรเจริญพ้น | คติสัตว์ดิรัจฉาน |
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก
ข้อสามประคองตั้ง | สติยั้ง ณ ทางพาล |
คอยหักปหานราน | บมิให้ประจำตน |
ส่ำสัตว์ดิรัจฉาน | บมิมานมนัสยล |
สังเกต ณ เหตุผล | ดุจหมู่มนุษย์เรา |
ฉันใดจะรู้ใฝ่ | มนะใคร่จะบรรเทา |
บาปได้, เพราะไร้เข้า | วนะนึกคะนึงการณ์ |
จึง ‘เทวธรรม’ นี้ | บมิมี ณ สันดาน |
แห่งสัตว์ดิรัจฉาน | ดุจพรรณนามา. |
เทวธมฺมา ติ วุจฺจเร
สามนี้มนุษย์ใด | มนะใฝ่แสวงหา |
บำเพ็ญ ณ อาตมา | ปฏิบัตติครบครัน |
ปราชญ์ชมนิยมนับ | นรสัปบุรุษอัน |
มี ‘เทวธรรม’ ชั้น | นรอารย์ณโลกแล |
นี้ข้อประสงค์บัณ- | ฑิตสรรวิธีแผ่- |
เผยกรรมมนุษย์แท้ | กะมนุษย์ผะดุงฐาน |
ไม่ให้ประพฤติทาง | คติอย่างดิรัจฉาน |
เพื่อให้ประพฤติอาร- | ย นิยมประจำตน. |
มานวก ๘
ควรนรผอง | ปองวรธรรม |
ปลื้มมนะบำ | เพ็ญ ณ กุศล |
สมนิติของ | ผองนรชน |
เพิ่มวรผล | เพื่อนรผอง |
เราปฏิสนธิ์ | ดลนรชาติ |
ควรทะนุอาตม์ | มุ่งมนะปอง |
ในคติธรรม | ส่ำนรครอง |
สมคติคลอง | ผองนรอารย์ |
เราคณะไทย | ได้วรลาภ |
ปลื้มมนะอาบ | ปรีดิสราญ |
มีวรราช | ปราชญ์วรญาณ |
ทรงคุณสาร | สอนคติสรรพ์ |
เปรียบพระชนก | ปกศิรเกล้า |
นำนรเต้า | สู่คติธรรม์ |
เทียมปรเทศ | เขตตมหันต์ |
คุณพระอนันต์ | แก่นรไทย |
ทรงอุปถัมภ์ | นำชินศาสน์ |
บรรลุวิลาส | วุฑฒิวิไล |
ทรงคุณธรรม | ล้ำภพตรัย |
ควรนรไทย | ใฝ่ปฏิการ |
คือปฏิบัติ | ดัดมนะตน |
ตามพระยุบล | ทรงบริหาร |
ตั้งมนะภักดิ์ | รักบทมาลย์ |
ยอมสละปราณ | เป็นพลีกรรม. |
สัทธรา ๒๑
จองพจน์ใน ‘เทวธรรม’ นำ | พระชินพจนบำ- |
บวงพระคุณธรรม พระจอมปราณ | |
นับว่าสิ้นเสร็จกระแสสาร | ประดุจสุรภิมาลย์ |
กรองมิชำนาญ มิน่าดู | |
แต่ยังคงคันธรสชู | มนะ คณะ นร, ตรุ |
ธรรมบรมครู ประภาษไข | |
ด้วยผลแห่งจิตต์ประสาทใน | พระคุณรตนตรัย |
ขอพระจอมไทย เกษมศานติ์ | |
ขอทวยไทยทั่วทวีอารย์ | ลุบรมสุขมาน |
‘เทวธรรม’ ปาน ภะเทพเทอญ. |
----------------------------
-
๑. แต่งเพื่อพิมพ์ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีที่ ๑๖ แห่งรัชชกาลที่หก แต่เผอิญพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน. ↩