คำอธิบายศัพท์

เรียงตามลำดับอักษร

กตัญญุตา ม. ความรู้คุณท่าน, คู่กับ กตเวทิตา ความแสดงคุณท่าน หรือจะใช้รวมว่า กตัญญูกตเวทิตา ก็ได้.

กตัญญู ม. ผู้รู้คุณท่าน ผู้คิดถึงคุณท่าน. คู่กับ กตเวที ใน ม. ผู้แสดงคุณท่าน, ผู้ตอบแทนคุณท่าน. มักใช้ควบกันว่า กตัญญูกตเวที.

กนิษฐ์ ส. “ผู้น้อย” คือ น้อง, กนิษฐา ส. น้องหญิง.

กน, ก่น ตั้งหน้า. กนแต่ ตั้งหน้าเเต่ แต่คำ “ก่น” มีอีกความหนึ่งตรงกับ “โก่น” ว่าตัด ทึ้งถอน เช่นก่นต้นไม้.

กบฎ ม. ส. การคดโกง, การคิดคดทรยศ.

กมล ม. ส. ใจ, ดอกบัว, ต้นบัว.

๑. กรณี ๒. กรณีย์ ๑. ศัพท์นี้ใน ม. อยู่ท้ายศัพท์รูปสตรีลึงค์ แปลว่ากระทำ เช่น จักขุกรณี กระทำดวงตา (ปัญญา) เป็นต้น แต่เรานิยมใช้ทางกฎหมายว่า เค้ามูล, ต้นเหตุ สาเหตุ ๒. ม. ส. กิจที่ควรทำ, หน้าที่.

กรรณ ส. หู. มักจะหมายถึงเพียงใบหูแต่ไทยเราใช้อย่างเดียวกับ โสต เช่น “ทราบถึงพระกรรณ”

กรรณาภรณ์. ส. (กรรณ + อาภรณ์) เครื่องประดับหู, ตุ้มหู, ต่างหู

กรอง ร่อนหรือเกรอะเอาของหยาบออก เช่นกรองยากรองน้ำ, ร้อย เช่นกรองดอกไม้

กรีฑา, กรีธา ดู กีฬา.

กรุณา, การุณย์ ม. ส. ความสงสาร, ไขความว่า ความปรารถนาให้สัตว์พ้นทุกข์. แต่ การุณย์ ม. เป็นการุญญ์, ใช้การุญก็ได้

กฤษฎีกา กฎหมาย ศัพท์นี้เข้าใจกันว่ามาจาก “กติกา” ซึ่งแปลว่า ข้อนัดหมาย.

กล ส. อุบาย เครื่องล่อลวง; เช่น, เหมือน. (อ่าน ว่ากะละ หรือกน ก็ได้).

กลี ส. แต้มหนึ่ง (ลูกเอี่ยว) ของลูกบาศก์ ซึ่งเป็นแต้มต่ำที่จะต้องแพ้เขา, นิยมว่าเป็นแต้มผีที่จะทำความฉิบหายมาสู่คน, ในเรื่องพระนลก็กล่าวว่า ผีกลีเข้าสิง ทำให้หลงการพะนันฉิบหายต่าง ๆ

กวี ม. ส. นักปราชญ์ทางประพันธ์. หมายความว่านักปราชญ์ทั่วไปก็มี.

กษัตริย์, กษัตร ส. พวกตระกูลนักรบ ดูวรรณด้วย เรามักหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดิน และมักใช้ กษัตริย์ เป็นพื้น เว้นแต่สนธิกับคำที่ตั้งต้นด้วยสระจึงใช้ ‘กษัตร’ เช่น กษัตราธิราช, กษัตราธิบดี ฯลฯ

ก่อง, กุก่อง สุกใส, รุ่งเรือง.

กอประ ใช้อย่างเดียวกับ ประกอบ หรือ กอบ.

กะตุด, ตะกรุด เครื่องราง, คือแผ่นทองแดง เงิน หรือทองคำ ฯลฯ ที่ลงเลขยันตร์แล้วม้วนเป็นหลอด ร้อยด้วยสวมคอและข้อมือ เรียก กะตุด หรือ ตะกรุด ได้ทั้งคู่. ที่ทำเป็นเครื่องประดับก็มี มักใช้ทองคำ, ใช้ร้อยด้ายสลับกับลูกประหล่ำและพิศมร.

กักขฬะ ม. หยาบช้า.

กั้ง กั้น.

กังวล ห่วงไย. ศัพท์นี้เป็นภาษาไทยจะแยกเป็น ๓ พยางค์ว่า กัง-วะ-ละ ไม่ได้, ผิดระเบียบ.

กัณฐ ม. ส. คอ. ราชาศัพท์ ใช้ พระกัณฐ์ หรือ พระสอ. พระอิศวร มีพระสอดำ เพราะเสวยน้ำพิษ เมื่อคราวทำน้ำอมฤต จึงมีชื่อว่า นิลกัณฐ์ (มีคอดำ).

กัณฑ์ ม. ส่วนของเรื่อง, เช่น เรื่องมหาชาติ แบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ เรานิยมใช้ว่า พระเทศน์จบหนึ่งเรียกกัณฑ์หนึ่ง

กัปป์ ม. กัลป์ ส. การกำหนดเวลาอันนาน, หมายความว่าโลกเรานี้ถูกไฟ, น้ำ, ลม, ทำลายหมดครั้งหนึ่ง เรียกว่ากัลป์หนึ่ง ใช้ กัปป ก็ได้.

กัมปนาท ม. กัมป หวั่นไหว, นาท บันลือ รวมความว่า บันลือและหวั่นไหว, บันลือ สะเทื้อนสะท้าน.

กัมมัฏฐาน ม. ที่ตั้งแห่งกรรม เป็นชื่อแห่งวิธีบำเพ็ญภาวนาในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ สมถกัมมัฏฐาม ทำจิตต์ให้แน่แน่วเป็นสมาธิ, วิปัสสนากัมมัฏฐานบำเพ็ญเพียรให้เกิดปัญญาตรัสรู้ มรรคผล.

กัลยา, กัลยาณี ส. นางงาม ศัพท์กัลยาออกจาก ส. กลฺย, ม. กลฺล แปลว่า ควร, เหมาะ งาม, กัลยาณี ออกจาก ม.ส. กัลยาณ ว่างาม.

กาพย์ (ส. กาวย) คำกวี แต่เราใช้เป็นคำประพันธ์ที่แต่งปนไปกับฉันท์ คือ กาพย์, ยานี, ฉะบัง, สรางคนาง.

กาม, กามะ ม. ความรัก, ความใคร่, ความยินดีในอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิสัยแห่งผู้ครองเรือน.

กามเทพ ส. เจ้าแห่งความรัก นิยมว่าเป็นเทวดามีศรเป็นอาวุธ ลูกศรนั้นเป็นดอกไม้ แผลงถูกใครก็ลุ่มหลงไปในกามคุณ

การณ์ ม. ส. เหตุ ใช้ควบกันว่า เหตุการณ์ ก็ได้

การุณย์ ดูกรุณา

กาละเทศะ ส. เวลาและสถานที่ ผู้ประพฤติให้ถูกตามเวลาและสถานที่ เช่นในเวลาเขาเศร้าโศกกันก็ดี หรือไปในสถานที่เขาเศร้าโศกกันก็ดี ย่อมประพฤติให้สมควร ไม่แสดงการรื่นเริงให้ผิดนิยมเขา ดังนี้เรียกว่า ผู้รู้จักกาละเทศะ.

กาสร ม. ส. ควาย

กาหล ม. ส. แปลได้หลายอย่าง ที่นิยมใช้ในภาษาไทยท่านใช้ว่า แตรงอน ตรงกับที่แปลว่าเขาควายสำหรับเป่า; เสียง สำเนียง เช่น ก้องกาหล คือก้องสำเนียง.

กำจร ดู ขจร.

กำจาย คือ กระจาย ซึ่งแผลงมาจาก ขจาย.

กำเดา แผลงจาก ข. เขตา ว่า ร้อน

กำนัล นางพนักงานในวัง; ของคำนับ เรียกของกำนัล.

กำไร ดู ไกร.

กำหนัด เกิดความยินดีในกามคุณ

กำแหง แฟลงจาก แข็ง ว่ามีกำลัง, แข็งแรง, ใช้ คำแหง ก็ได้

กิจ (ม. กิจฺจ ส. กฤตฺย) การงาน, ถ้าใช้คำเดียวหรืออยู่ท้ายสมาส ตัด จ ออกเป็น กิจ เช่น หัตถกิจ แต่อยู่หน้าคำสมาสไม่ควรตัด จ ออก เช่น กิจจการี (ผู้ทำกิจ) กิจจกสัมพันธ์ การเกี่ยวข้องทางการ

กิจจสัมพันธ์ ดู ในกิจ.

กิตติ, เกียรติ (ม. กิตติ, ส. กีรฺติ) ความเล่าลือ, ความสรรเสริญยกย่องต่างๆ, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์ ยศ และคุณ ซึ่งหมายความว่า ยศ และ เป็นเกียรติ.

กิเลส ดู เกลส.

๑. กีฬา, ๒. กรีฑา, ๓. กรีธา ๑. ม. ๒. ส. การเล่นออกกำลัง, เช่น เล่นฟุตบอล ล่าเนื้อ ซ้อมรบ (ยุทธกีฬา) ฯลฯ ๓. เรานิยมใช้ว่ายกกองทัพ เช่นกรีธาทัพ.

กุญชร ม. ส. ช้าง.

กุฎุมพี, กระฎุมพี ม. คหบดี, คนผู้มีอันจะกิน.

กุมุท ม. ส. บัว, ดอกบัว.

กุลบุตร ส. ลูกชายตระกูล หมายความว่าชายผู้ดี. คู่กับกุลธิดา ลูกสาวตระกูล, คือหญิงผู้ดี.

กุลวงศ์ ส. กุล ญาติที่อยู่ร่วมกันคณะหนึ่ง ๆ ไทยมักใช้ว่า ตระกูล และมีความหมายกว้างออกไปอีก เช่นใช้ว่าตระกูลกษัตริย์ , ตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ ก็ได้ เราตั้งใช้อีกคำหนึ่ง คือ สกุล มีความหมายฉะเพาะตามพระราชบัญญัตินามสกุล, วงศ์ เชื้อสาย คำนี้ ความหมายกว้างมาก คือ วงศ์เดียวกันจะแยกเป็นสกุลก็ได้ ตัวอย่าง พระบรมจักรีวงศ์ แยกออกไปเป็นสกุลต่าง ๆ เช่น มาลากุล ณ อยุธยา, เทวกุล ณอยุธยา ฯลฯ.

กุศล ส. (ม. กุสล) ธรรมแห่งผู้ฉลาด คือบุณย์, ความดี.

เก็จ ประดับ (แก้ว), ฝังเพชรพลอย. แก้วเก็จ-ประดับด้วยแก้ว มักใช้กับเพ็ชรพลอยเท่านั้น

เกณฑ์ ม. การกำหนดไว้, จำนวนที่คำนวณได้แล้วตั้งไว้เป็นเครื่องกำหนด เช่นเกณฑ์บวก, เกณฑ์ลบ, เกณฑ์ฝน, ตรงกับสถิติซึ่งใช้อยู่บัดนี้ ไทยเราใช้เป็นบังคับให้ทำตามกำหนดของบ้านเมืองที่กะไว้, เอาความว่ารัฐบาล ขอแรงหรือเรี่ยไร. และนิยมใช้ตลอดมาจนผู้ใหญ่ขอแรงหรือเรี่ยไรผู้น้อยก็เรียกว่าเกณฑ์. มีข้อแปลกอยู่ก็คือ เกณฑ์ต้องทำตามกะไว้ ถ้าเกณฑ์สิ่งของก็ต้องให้ตามที่กะ, แต่ขอแรงหรือเรี่ยไรไม่มีกะ

เกริก เซ็งแซ่, ถูกต้อง, ถ้ามีคำ เอิก ที่แปลว่าอึกทึกอื้ออึง นำหน้าเป็น เอิกเกริก ต้องอ่าน ‘เอิกกะเหรก’

เกรียง มาก. มักใช้ควบกับ ไกร (ยิ่ง) ว่า เกรียงไกร.

เกลศ คือ กิเลส ในมคธ. เครื่องเศร้าหมองจิตต์ ที่เป็นประธาน คือ ความโลภ ความโกรธ ความเขลา.

เกศ ส. ผม เรามักใช้ว่าเกศา เช่น เกศากันต์ (ตัดจุกหม่อมเจ้า.

เกษตร ส. (ม. เขตฺต) นา, ที่ดิน, ดินแดน, ใช้ เขตต์ ก็ได้

เกษม ส. (ม. เขม) ความปราศจากอันตราย.

เกาะถลาง คือเกาะภูเก็ต.

โกสล ม. ชื่อแว่นแคว้นครั้งพุทธกาล อยู่ในอินเดียภาคเหนือ.

ไกรกำไร ๒. แผลงมาจาก ๑. แปลว่า ยิ่ง แต่ ๒. แปลว่าผลที่ได้ยิ่งขึ้นไปจากทุนก็ได้.

ไกลาส ส. ชื่อภูเขาที่พระอิศวรประทับอยู่. กล่าวว่าขาวดังเงินยวง โบราณจึงเรียกว่า ผาเผือก ดูเรื่องพระศิวปฏิมาในหนังสือนี้

ไกวัล, ไกวล (ม. เกวล) สิ้นเชิง, ทั้งหมด.

ข.

ขจร ส. ผู้ไปในอากาศ หมายความหลายอย่าง แต่เราใช้ว่าฟุ้งไป. แผลงเป็น กำจร ก็ได้

ขนบ ธรรมเนียม, แบบแผน.

ขนาน แผลงจาก ขาน ใช้ต่างกันอยู่บ้าง เช่น ขนานนาม (เรียกหรือบอกชื่อ) แต่ ขนาน นาม หมายความว่าตั้งชื่อให้ก็ได้ ฯลฯ.

ขมา (อ่านขะมา) ม. (ส. กุษมา) การอดกลั้น, การอดโทษให้ ขมาโทษ อดโทษให้ ขอขมา คือ ขอให้อดโทษให้ คำสามัญมักว่า ขอษมา, คงตัดมาจาก ส. กษมา นั่นเอง.

ขมีขมัน โดยเร็ว, โดยด่วน.

ขยม, ๒ อัญขยม ๑. ข. ข้า, ตัวข้า; ใช้ว่า ขยุมก็มี, และแปลว่าบ่าว, ทาสก็ได้. ๒. ข. ข้าพเจ้า.

ขรม (อ่านเป็นอักษรนำว่าขะหรม) ดังเรื่อยไป ครื้นเครงอยู่เสมอ เช่น ด่าขรม คือ ด่าเอ็ตอยู่เสมอ, นกเขาขันขรม คือ ขันอยู่เสมอ.

ขวย อาย, กะดาก.

ขวัญ ความอย่างเดียวกับ มิ่ง, สิริ, ศรี, ใช้ควบว่า มิ่งขวัญ ก็มี (ดูศรีด้วย), มักใช้นำหน้าคำอื่น เช่น มิ่งเมือง ขวัญเมือง สิริเมือง ศรีเมือง ขวัญ อยู่ท้ายคำมีบ้าง, นาขวัญ ของขวัญ.

ขอน ดู ค่อน

ข้อย ข้าพเจ้า.

ขัณฑสีมา ม. เขตต์แดนบ้านเมือง คือ เขตต์แดนประเทศหนึ่งๆ.

ขันธ์ ม. (ส. สกนฺธ) กอง, ร่างกาย ในพระศาสนา ท่านหมายความว่า กองแห่งรูปกับนาม แบ่งเป็น ๕ คือ รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก), สัญญา (ความจำ), สังขาร (ความคิด), วิญญาณ (ความรู้แจ้ง) ร่างกายเราก็ต้องพร้อมทั้ง ๕ นี้ เมื่อขันธ์นี้แยกออกจากกันเราก็ตาย มักใช้ว่า ดับขันธ์, ใช้อย่าง ส. ว่า สกนธ์

ขาดคอช้าง ถูกศัตราวุธตายบนคอช้าง เมื่อเวลาขี่ช้างรบกัน

ขาน เรียก ร้องบอก, รองรับ, เปล่งเสียง. พูด เช่น ขานชื่อ (เรียกชื่อ) ขานยาม (ร้องบอกยาม) ระฆังขาน คือระฆังตีบอกทุ่มโมง ไม่เรียกไม่ขาน (ไม่เรียกก็ไม่ร้องรับ) ขานนาค (การเปล่งเสียงขอบวชของผู้มาขอบวชซึ่งเรียกว่า นาค)

ขาม คร้าม, กล้ว.

ข้าศึก ดู ศึก.

เข็ญ ความลำบาก

เขตต์ ดู เกษตร.

เขม ดู เกษม.

ค.

คงคาธร ส. ผู้ทรงแม่น้ำคงคาไว้ คือพระอิศวร. ตามเรื่องว่าเดิมแม่น้ำคงคาอยู่บนสวรรค์ เมื่อไหลลงมาเมืองมนุษย์. พระอิศวรเอาพระเศียรรับไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมโลก

คดี, คติ ม. ส. เรื่อง, ความ เช่น คดีในศาล, ทาง เช่น คดีโลก, คดีธรรม. แต่คติ มักใช้ฉะเพาะทาง เช่น ทุคคติ (ทางชั่ว) สุคติ (ทางดี).

ครรภ ส. (ม. คพฺภ) ห้อง, ท้อง, เด็กที่อยู่ในท้อง, มดลูก ครรภรักษา วิธีรักษาครรภ์ คือการหมอตำแย.

ครหา ม. ความติเตียน, ติเตียน.

๑. ครัว, ๒. ครอบครัว ๑. ความเดิมก็หมายถึงห้องหรือเรือนที่ใช้ทำกับเข้า, แต่ที่ใช้อย่างเดียวกับ ครอบครัว ก็มี, ครัว ผู้ที่หุงต้มกินอยู่ร่วมกันชุดหนึ่ง ๆ เรียกว่าครัวหนึ่ง หรือครอบครัวหนึ่ง มักนิยมเอาสามีภรรยาและบุตร.

๑. ครา, ๒. คลา ๑. ครั้ง, คราว. ๒. เคลื่อน, ไป, มัก ใช้ควบกับ ไคล ดู ไคล.

คร้าน ขี้เกี้ยจ, ระอา, เบื่อหน่าย.

ครุ่น กลุ้มใจ, ขุ่นเคือง, คับแค้น ครุ่นใจ คับแค้นใจ

คลางแคลง แคลงใจ, สงสัย.

คล่าว ไหล, หลั่ง, ผิดกับ เคร่า ว่าคอย ฯลฯ

๑. คหะ, ๒. เคหะ ๓. คฤหะ ๑. ๒. ม. ๓. ส. เรือน หรือ ตึกที่สำหรับอยู่, คหัฏฐ์ ม. คฤหัสถ์ ส. ผู้ครองเรือนอย่างเดียวกับ ฆราวาส.

คหัฏฐ์, คฤหัสถ์ ดู คหะ.

ค่อน มากกว่าครึ่ง, เกือบเต็มจำนวน, ผิดกับ ข้อน (ตี) เช่น ข้อนอก.

คันธ. คนธ์ ม. กลิ่น ถ้าใช้ คันธ์ หรือ คนธ์ ลอย ๆ หมายความว่า ของหอม เช่น คันธวิเลปนะ คือ ชะโลมทาของหอม คันธรส ม. รส คือ ของหอม.

คัมภีร์, คามภีร์ ม. ลึก, ลึกซึ้ง. เราใช้ว่าหนังสือที่นับถือ หรือที่เป็นตำรา เช่น คัมภีร์แพทย์ พระธรรมเจ็ดคัมภีร์. คามภีร์ เรานเผลงใช้จาก คัมภีร์.

คัล, คำนัล ข. เฝ้า (อย่างเฝ้าเจ้านาย).

คาถา ม. คำที่ประพันธ์เป็นฉันท์. และเป็นชื่อเสียงสำหรับนับจำนวนฉันท์ด้วย คือ ๔ บาท เป็นคาถาหนึ่ง.

คาบ คราว, ครั้ง. เช่น เจ็ดคาบ คือ เจ็ดครั้ง.

คาบชุด, คาบศิลา ชื่อปืนโบราณ ปืนคาบชุด คือปืนที่ใช้ชุดจุดดินหู (ดินชะนวน) ให้ลั่น, ปืนคาบศิลา คือปืนที่มีนกคาบหินเหล็กไฟ เมื่อเหนี่ยวไก (เรียกตีนผี) เข้านกก็สับลง เกิดประกายไฟติดดินหูทำให้ปืนลั่น

คารวะ ม. (ออกจากครุ) ความเป็นผู้หนัก ใช้อย่างเดียวกับ เคารพ ดู เคารพ.

คำรน, คำราม ทำเสียงขู่อยู่ในคอยาว ๆ เช่น เสือ, แมว, สุนัข คำราม, ใช้สำหรับฟ้าก็ได้ เอาความว่าฟ้าร้องกระหึม, คำรนวารี ก็คือเสียงคำรนแห่งน้ำ ซึ่งไหลตั้งซู่ ๆ อยู่เสมอ.

คำแหง ดู กำแหง

คุณ, คูณ-คุณ ม. ส. ความดี, ชั้น, ถ้าหมายว่าชั้นหรือนับเป็นชั้น ๆ เราแผลงใช้ว่า คูณ เช่น ทวีคูณ (สองชั้น) ตรีคูณ (๓ ชั้น) จตุรคูณ (๔ ชั้น) จากคำนี้เราแผลงเป็นคำนูณ, คำนวณ หมายความว่า คิดตามวิธีเลข.

คุณากร ม. (คุณ+อากร) บ่อเกิดแห่งความดี.

คูหา ม. ส. ถ้ำ ห้องตึกแถวที่เป็นห้อง ๆ คล้ายถ้ำเรียกคูหา.

เค้า ข้อเดิม, เหตุ, รากเง่า. แบบ. ไม่เข้าเค้า คือ ไม่เข้าเเบบ.

เคารพ ส. การแสดงการอ่อนน้อมนับถือ ศัพท์นี้มาจาก คุรุ พฤทธิ เป็น เคารพ (อย่าง กุรุ เป็น เการพ ปุรุ เป็น เปารพ) หมายความว่า นับถืออย่างครูนั่นเอง ม. มักใช้ คารวะ เรามักใช้ แต่ไม่ใคร่แผลงเป็น คารพ.

แค้น ขัด, ฝืด, คับ เช่น แร้นแค้น - ขัดสน, แค้นคอ ฝืดคอ, แค้นใจ, ขัดใจ, คับใจ

แคลน ขัดสน, บกพร่อง, ฝืดเคือง.

แคล้ว เคลื่อนที่ไป, เช่น คลาดแคล้ว คลาดไป, พ้นไป แคล้วภัย คือพ้นภัย.

โคดม ม. เป็นชื่อสกุล (โคตร) ของพระพุทธเจ้า เขาจึงเรียก พระพุทธเจ้า ว่าพระโคดมบ้าง, พระสมณะโคดมบ้าง

โคต้น โคทรง คำ “ต้น” ใช้ประกอบท้ายคำราชาศัพท์ หมายความคล้ายคำ ทรง, เช่นช้างต้น ม้าต้น เรือต้น ฯลฯ.

ใคร่ อยาก, ต้องการ รัก.

ไคล, คระไล, ครรไล ไป. ใช้ควบกับ คลา ว่า คลาไคล หรือ ไคลคลา ก็ว่าไปเหมือนกัน.

ฆร ม. เรือน

ฆราวาส ม. (ฆร+อาวาส) ผู้ครองเรือน คือชาวบ้าน ความเดียวกับ คฤหัสถ์, สองคำนี้ใช้คู่กับ บรรพชิต คือ นักบวช ฆราวาสธรรม ธรรมสำหรับผู้ครองเรือนอธิบายพิสดารในเรื่องสามัคคีบรรยายแล้ว

ง.

งำ ปิด, ครอบ, ปกครอง

จตุรัส ม. สี่เหลี่ยม มักหมายเอาด้านมุม เท่ากันเช่นสี่เหลี่ยมจตุรัส คือสี่เหลี่ยมมีด้านมุมเท่ากัน

จตุราบาย ม. (จตุร+อบาย) อบาย คือที่ปราศจากความสุขมี ๔ คือ นรก, เปรต อสุรกาย, ดิรัจฉาน.

จน, จำนน ไร้, ขัดสน, ไม่มีทางไป, ไม่มีทางสู้ แพ้.

จร ม. ไป, เที่ยว, ประพฤติ แต่ไทยใช้ว่า ไป, เที่ยวเป็นพื้น และใช้นำหน้าคำไทยได้ด้วย เช่น จรลี (ตัดจากจรลีลา) จรล่ำ (ไปช้า) จรบน ไปข้างบน คือ บินไป, ฟุ้งไป ฯลฯ

จรรจา, จำนรรจ์, จำนรรจา, เจรจา (ส. จรจา) การพูด, การกล่าว, การขอร้อง เรามักใช้ว่า พูด.

จรรยา, จริยา, จริต, จรณ ม. ส. ออกจากธาตุ จร ว่าประพฤติ, ว่าเที่ยวไป. จรรยา ส. จริยา ม. ข้อควรประพฤติ ได้แก่ข้อปฏิบัติต่าง ๆ จริต ม. ส. กรรมที่คนประพฤติด้วย กาย จาวา ใจ ถ้าดี เรียก สุจริต ถ้าชั่ว เรียก ทุจริต. ใช้ว่า ความประพฤติตามปกติก็ได้ ความคล้ายกับปวัตติ์ เช่นพุทธจริต หมายความถึงกิจการที่พระพุทธเจ้าทรงทำมา ราคจริต หมายถึงความประพฤติปกติหนักไปข้างราคะ คนเสียจริตหรือจริตวิกล เราหมายความว่าเป็นบ้า จรณ ฝ่ายบาลี ใช้คล้าย จริยา แต่ท่านจำกัดใช้ เช่นพุทธคุณว่า วิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา(ความรู้) และ จรณะ (ความประพฤติหรือข้อประพฤติ) ท่านแจกไว้มี ๑๕ อย่าง มี ศีล เป็นต้น. ฝ่าย ส, ว่าเท้าก็ได้ ซึ่งตามรูปศัพท์ว่า “เครื่องพาเที่ยว”

จรัล ข. เดิรไป, เที่ยวไป มักใช้ควบกับ จร ว่า จรจรัล แปลงอย่างเดียวกัน.

จรัส, จรูญ จำรัส, จำรูญ รุ่งเรือง. (จ. แผลงเป็น จำ)

จรุง, จรูง คือ จุง หรือ จูง ชักชวน, ยั่วยวน.

จลาจล ม. หวั่นไหวไปมา, เราใช้ วุ่นวาย, ปั่นป่วน ก็ได้.

จอง, จำนอง- จอง ผูก (เช่น จองเวร) หมายไว้เป็นของตน (เช่นจองที่ดิน); คล้องกัน, รับกัน (เช่น ถ้อยคำของกัน คือ รับกัน). แผลงใช้เป็น จำนอง ก็ได้ แต่จองที่ดินไม่เคยใช้ จำนอง, คำ จำนอง ในกฎหมายจำกัดใช้ ว่า การจำนำ ประเภทที่ไม่มอบทรัพย์ไว้แก่เจ้าเงิน เรียกว่า จำนองทรัพย์, จองพจน์ประพันธ์ คือ แต่งคำประพันธ์ จองประพันธ์ ก็อย่างเดียวกัน

จอด แวะเข้าหยุดตามฝั่ง (สำหรับเรือ); รัก. จอดคุณ คือ รักคุณ

จักรวรรติ, -พรรติ ส. ‘ผู้ยังจักรให้เป็นไป’ เป็นชื่อพระราชาผู้มีอำนาจใหญ่ ปราบพระราชาอื่นอยู่ในอำนาจหมด, ตามตำนานว่ามีแก้ว ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, นางแก้ว, ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว, แก้วมณี, และจักรแก้ว, คำ จักรวรรติ (อ่านว่า จัก-กระหวัด ถ้านำหน้าคำสมาส เช่น จักรวรรติราช มักอ่าน จักกระวัดติราด)

จักรวาล ดู ในไตรโลก.

จักรี, จักริน, ส. (ม. จกฺกี) ผู้มีจักร คือพระนารายณ์ เป็นนามพระบรมราชวงศ์ปรัตยุตบัน แห่งพระมหากษัตริย์ของเรา เรียกสามัญว่า พระบรมราชวงศ์จักรี หรือ จักรีบรมราชวงศ์ ใช้ในคำประพันธ์ว่า จักรีพงศ์ หรือ จักรีวงศ์ ก็ได้ (ที่ถูกต้องเป็น จักรีพงศ์, -วงศ์ แต่ อิ เรามัก ทีฆะ เป็นอี เช่นกลิ=กลี กวิ=กวี, มณิ=มณี, ปติ=บดี

จักรีพงศ์, -วงศ์ ดูใน จักรี.

จันทร์ ส. ดวงเดือน, ไสยศาตร์นับว่าเป็นเทวดา (ดูอาทิตย์ด้วย); ชื่อวันที่สองของสัปดาห์

จาบัลย์ ส. ความหวั่นไหว. ไทยใช้ว่าร้องไห้ด้วยอาการสะทกสะท้าน โยกโคลงร่างกายซวนเซไปมา, เกี่ยวกับการร้องไห้คร่ำครวญ. ไม่เกี่ยวกับการสะทกสะท้านทางอื่น เช่นกลัวเสือ กลัวช้าง ฯลฯ.

จารีตร ส. สิ่งที่เคยทำมาแล้ว. ประวัตติ์, ความประพฤติที่นิยมใช้กันมา.

จารึก, จาร ช. เขียน, พ้องกัน ม. ส. จารึก (จาริก) เที่ยวไป, เที่ยวเล่น, และ จาร ม. ผู้เที่ยว, ผู้สอดแนม เช่น จารบุรุษ.

จำ กักขัง, สวมเครื่องกรรมกรณ์ เช่น จำขื่อ, จำคา ฯลฯ จำเป็น ต้องเป็น, บันดาลให้เป็น; จำ เข็ญ จำเป็นต้องลำบาก; จำใจ ต้องฝืนใจ.

จำเลย ดู เฉลย.

จินต, จินดา, จินตนะ. เจตนา, จิตต์ เป็นธาตุเดียวกันว่าคิด แต่ใช้ต่างกัน คือ จินต, จินดา ม. คิด หรือ ความคิด. จินตนะ ม. ความคิด เจตนา ม. ความตั้งใจ ความจงใจ จิตต์ ม. สิ่งที่คิด คือ ดวงใจ ต่างกับ จิต (สั่งสม) จิตร (งาม, รูปภาพ เช่น จิตรกรรม)

จินตนาการ ม. (จินตน+อาการ) อาการที่คิด

จิร, เจียร, จำเนียร ม. ส. จิร. ไทย แผลงใช้เป็น เจียร จำเนียร นาน. ถ้าเข้าสมาส กับคำ ม. ส. มักใช้ จิร เช่น จิรฐิติการ ฯลฯ ถ้าใช้กับคำที่ชินเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ใช้เข้าได้ทั้ง ๓ เช่น จิรกาล (ม. แท้) เจียรกาล (กลาย) จำเนียรกาล (กลายอีกต่อหนึ่ง).

จีวร ดู บริกขาร

จุณณียบท ม. คำบาลีที่อยู่เบื้องต้นเทศนา คือ เมื่อพระแสดงธรรมว่า นโม จบแล้ว ก็ยกคำบาลีมาแสดงตามควรต่อไปจึงแสดงธรรม. คำบาลีที่ยกขึ้นแสดงต่อ นโม นี้แหละ เรียก จุณณียบท.

จุติ ม. การเคลื่อน คือการตายไป เรานิยมใช้สำหรับเทวดาโดยมาก ที่จริงใช้ทั่วไปถึงมนุษย์ ดิรัจฉานด้วยก็ได้ ศัพท์นี้คู่กับ ปฏิสนธิ์ การสืบต่อ (เบญจขันธ์) หมายความว่าการมาบังเกิด.

จุมพล จอมพล, พระเจ้าแผ่นดิน.

เจดีย์ (ม. เจติย) ที่สักการบูชา จะเป็นสถูป, ศาลเจ้า, ต้นไม้ หรืออะไร ๆ ก็ได้. แต่ไทยเราหมายเอาสถูปที่มียอดแหลมเรียวขึ้นไป เรียก พระเจดีย์ ต่างกับพระปรางค์ ซึ่งมียอดปุ้ม ๆ และมีเหล็กทำเป็นรูปช่อฝักเพกาอยู่ข้างบน.

เจริญ, จำเริญ มาก, ทำให้มาก ฯลฯ.

เจรียง, จำเรียง ร้องเพลง, ขับลำ, กล่อมขับ.

เจิด เชิด; งาม ใช้อย่างเดียวกับเฉิด, บรรเจิด ก็ได้.

โจษ, โจษจน, โจษจัน, -โจษ เราพูดกันเซ็งแซ่, โจษจน, โจษจัน เสียงเซ็งแซ่, เสียงลือกันแซ่ไป.

ไจ้ไจ้ บ่อย ๆ เนือง ๆ, เสมอ.

ฉ.

ฉนำ ข. ปี

ฉม เครื่องหอม.

ฉลอง ทำบุญปรารภสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ฉลองตรา, ฉลองพระ ฯลฯ ดู สนอง ด้วย.

ฉวี (ม. ฉวิ) ผิวเนื้อ.

ฉ้อ ดู ช่อ.

ฉัฏฐมนรินทร์ พระราชาที่หก ฉัฏฐะ หรือ ฉัฏฐมะ ที่หก นรอินทร์=นรินทร์ (จอมคน คือพระราชา)

ฉัฏฐราม ม. พระรามที่ ๖ ดู ฉัฏฐมนรินทร์ ด้วย.

ฉัตร ส. (ม. ฉตต) ร่ม, แต่เราหมายเอาร่มเป็นชั้น ๆ อย่างที่กั้นอยู่บนพระพุทธรูป.

ฉัตรนคร ผู้เป็นร่มกางกั้นเมืองให้ร่มเย็น. หรือเป็นผู้ทรงเศวตฉัตรเชิดชูพระนคร เอาความว่าพระเจ้าแผ่นดิน

๑. ฉัน, ๒. ฉันท์ ๑. ข้าพเจ้า; พระสงฆ์ว่ากิน; ฉายแสง รุ่งเรือง เช่น แสงฉัน = แสงรุ่งเรือง; ดุจ. เหมือน เช่น ฉันมิตร (เหมือนมิตร) ๒. ความพอใจ; ชื่อคำประพันธ์ชะนิดหนึ่ง ที่กำหนดด้วยครุลหุ บางแห่งหมายความว่าคำประพันธ์เท่านั้นก็มี เช่น ฉันทลักษณะ.

ฉายา ม. เงา (ไทยเราตัดใช้แต่ ฉาย ก็มี เช่น พระฉาย) ใช้เป็นชื่อภิกษุที่อุปัชฌาย์ให้เมื่อบวช เรียกว่า นามฉายา คือนามในใบฉายา (ใบวัดเงาคอใบบอกเวลาบวช ซึ่งมีชื่อครูบาอาจารย์และสถานที่บวชอยู่ด้วย, โบราณนาฬิกาไม่มี ต้องวัดเงาดูเวลา); และชาวบ้านใช้เป็นชื่อที่ผู้อื่นตั้งให้โดยสังเกตตามลักษณะและอาการของคนนั้น ๆ เช่น นายจุมือเหล็ก (ต่อยแข็ง) นายจันทร์หนวดเขี้ยว (หนวดโง้งดังเขี้ยว); คำ มือเหล็ก หนวดเขี้ยว เรียกว่า ฉายา.

ฉิน ติเตียน.

เฉก เช่น, เหมือน.

เฉลย กล่าวแก้, และแผลงออกเป็น จำเลย หมายความว่าผู้กล่าวแก้, คู่กันกับ โจทก์ ผู้ฟ้อง.

เฉลิม เพิ่มเติม, ส่งเสริม.

เฉิด งาม แผลงเป็นบรรเจิดก็มี.

ชฎา ม. ส. ผมที่กระหมวดมุ่นขึ้นสูงอย่างผมเกรี่ยงหรือพะม่า พวกฤๅษีก็ไว้ผมชะนิดนี้ จึงเรียกว่า ชฏิล คือ ผู้มีผมชฎา, แต่ชฎาที่เราเข้าใจบัดนี้ เป็นมงกุฎยอดแหลม อย่างชฎาละคร.

ชดเชย เพิ่มเติมของที่บกพร่องในยามกันดาร เช่นหน้าแล้งขาดน้ำ มีฝนตกลงมาบ้าง, ย่อมกล่าวว่าได้น้ำฝนชดเชยลงมา ฯลฯ.

ชนก ม. ผู้ให้เกิด, พ่อ. ชนกคุณ คุณของพ่อ. ถ้าไม่มีคำชนนีอยู่ด้วย หมายความว่า คุณพ่อแม่.

ชนนี ม. ผู้เป็นที่เกิด, แม่.

ชนบท ม. แคว้น, ประเทศ.

ชนม์ ส. อายุ.

ชนมพรรษา, ชันษา คำเดียวกัน คำหลังไทยเรียกตัดจากคำหน้า แปลว่าขวบอายุ, ปีอายุ คือ อายุนับเป็นปี ๆ.

ช.

ชเนตตี ม. ผู้ยังบุตรให้เกิด คือ มารดา.

ชมชัว คือชมนั้นเอง

ชมพูทวีป ม. แคว้นอินเดียในบัดนี้.

ชรา ม. ส. ความแก่.

ชลาลัย ม. (ชล - อาลัย) ที่อยู่คือน้ำ ได้แก่แม่น้ำ, ทะเล, มหาสมุทร.

ชลาศัย ส. (ชล-อาศัย) ที่พักคือน้ำ. ความเหมือนกับ ชลาลัย ดู ชลาลัย. ที่ยักใช้เช่นนี้เพราะเกี่ยวด้วยการประพันธ์.

๑. ช่อ, ๒. ฉ้อ- ๑. คือ ช่อดอกไม้, ๒. คือ ฉ้อโกง.

ชัชวลิต, ชัชวาล ส. รุ่งเรือง.

ชัย ม. ความชะนะ ตรงข้ามกับ ปราชัย ความแพ้. (ต่างกับ ไชย (ม. เชยฺย) ว่าเจริญกว่า ศัพท์เดียวกับ เชฎฺฐ ว่าเจริญที่สุด)

ช้าช่อน งดงาม.

ชาดก ม. ผู้เกิดแล้ว หมายถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วในชาติก่อน ๆ เช่นเรื่องพระเวสสันดรเป็นต้น เรื่องหนึ่งก็เรียก ชาดกหนึ่ง.

ชาติ ม. ส. ความเกิด, กำเนิด แต่เรานิยมใช้อีกทางหนึ่ง ว่ากำเนิดของอนพวกหนึ่ง ๆ เช่นชาติไทย ชาติจีน ฯลฯ.

ชำร่วย แผลงมาจากช่วยแต่ใช้ผิดกัน คือ ช่วย หมายความว่า เข้าไปเกื้อกูล หรืออุดหนุนผู้อื่นด้วยกำลังหรือสิ่งของ; แต่ ชำร่วย คือ ให้ของตอบแทนผู้มาช่วย.

ชิงชัย แย่งความชะนะกัน คือรบกัน.

๑. ชิน, ๒. ชินวร, ๓. ชินศรี ๑. (อ่านชินะ) ม. ผู้ชะนะหมายเอาชะนะมาร, เป็นพระนามพระพุทธเจ้า ๒. ผู้ชะนะประเสริฐ. ๓. ผู้ชะนะ มีสิริ ชินบุตร ชิโนรส ลูกพระพุทธเจ้า คือพระสงฆ์ ชินวงศ์ เชื้อพระพุทธเจ้า มักหมายเอาพระพุทธเจ้า เพราะท่านสืบวงศ์มาจากพระพุทธเจ้าก่อน ๆ ที่หมายถึงพระโพธิสัตว์ ก็มี

ชินญาณ ม. ปัญญาหยั่งรู้ของพระชินะ ดู ชิน ด้วย.

ชีพ ม. ความเป็นอยู่ เหมือนกับชีวิต.

ชีวาตม์ คือ ชีว+อาตม์ แปลว่า ชีวิตแห่งตน, เป็นศัพท์ไทยประกอบขึ้นใช้. ชีว นี้ใช้เลยไปเป็นชีวา ก็มี บางแห่งใช้ ชีวี ซึ่งผิด เพราะ ชีวี ชีวิน แปลว่าผู้มีชีวิต คือสัตว์.

ชื้อ ร่ม, เย็น.

เชตวัน ม. ‘สวนเจ้าเชต’ ชื่ออารามในครั้งพุทธกาล เศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิกะสร้างถวายพระพุทธเจ้า อยู่ใกล้เมืองสาวัตถี. วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ก็ตั้งเทียบชื่อนี้.

เชลง แต่ง, ประพันธ์.

๑. เชาวน์ ๒. ชวนะ- ๑. แผลงจาก ๒. ม. ส. ความแล่นแห่งปัญญา, ความมีพริบไหวดี, ความรวดเร็วแห่งความคิด.

ซ.

ซ้อง กล่าวประสานกัน ร้องเซ็งแซ่

ซาก รูปร่างของคน สัตว์ พืชที่ตายแล้ว. ดู ศพ ด้วย.

ซินแส จ. หมอ แต่หมายความถึงหมอหลายทาง อย่างหมอของเรา ผู้รักษาโรค ก็เรียก ซินแส, ผู้สอน ก็เรียกซินแส คือหมอสอนหนังสือ, ซึ่งคล้ายกับหมอสอนศาสนาของฝรั่ง, ถึงไทยก็มีหลายทาง เช่นหมอความ หมอยา หมอลำ (หมอขับร้อง), หมอผี, หมอดู ฯลฯ.

ฌ.

ฌาน ม. การเพ่ง เป็นวิธีทำจิตต์ให้แน่วแน่ แห่งผู้บำเพ็ญพรต เช่น ฤๅษี และ พระสงฆ์ มีเป็น ๔ หรือ ๕ ชั้น ละเอียดขึ้นไปเป็นลำดับตามชั้นเรียก ประถม-, ทุติย-, ตติย-, จตุตถ–, หรือปัญจมฌาน. การนั่งบำเพ็ญฌาน คำสามัญเรียก เข้าฌาน. กล่าวว่าผู้สำเร็จฌานแล้ว ตายไปเกิดเป็นพรหม สูงต่ำตามลำดับชั้นฌาน.

ฐ.

ฐาน, สถาน (ฐาน ม. สถาน ส.) ๒ ศัพท์นี้ของเขาแปลอย่างเดียวกันว่า ที่, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, บ้าน, เมือง, ส่วน อย่าง, ลักษณะ, อาการ แต่ไทยเรานิยมใช้เป็นทาง ๆ ดังนี้ คือ ฐาน (ถาน) แท่นที่รอง เช่น ฐานพระพุทธรูป, ฐานพระเจดีย์; ที่ตั้ง เช่นฐานทัพ, ตำแหน่ง เช่น ฐานันดร (ฐาน+อันตระ=ลำดับ ตำแหน่ง), ฐานะ หลักแหล่ง, ลักษณะอาการ เช่น “ฐานะเขาสู้ฐานะเราไม่ได้” ที่ใช้ฐานก็มี เช่น หลักฐาน ภูมิฐาน. สถานที่ เช่น “สถานนั้น สถานนี้;” ส่วน, อย่าง เช่น “โรคเกิดได้หลายสถาน” ถ้าประกอบกับคำ ม.ส. เป็นสมาสใช้ตามความเดิมได้ เลือกใช้ตามควร เช่น เคหัฏฐาน (ละใช้เคหฐาน) คฤหัสถาน ปูชนียัฏฐาน (ละใช้ บูชนียฐาน) หรือบูชนียสถาน ฯลฯ

ฐานันดร ม. ตำแหน่งธศและบรรดาศักดิ์ ดู ฐานด้วย

ฐานานุรูป คือ ฐาน+อนรูป ดู ฐาน ดู อนฺรูป.

ฐิต ดู สถิต.

ด.

ดงดึก ดงลึก, ป่าสูง.

ดนตรี ส. เครื่องสาย อย่างเครื่องมะโหรี.

ดนัย ม.ส. ลูกชาย, ดนยา (อ่านดะนะยา) ลูกหญิง.

ดนุ, ดนู ดู ตนุ.

๑. ดรุณ ๒. ดรุณี- ๑. ม.ส. เด็ก, หนุ่ม. ๒. ม.ส. เด็กหญิง, นางสาว.

ดล ม. ส. พื้น เช่น ภูวดล (พื้นดิน) ช. ถึง เช่น ดลพิบัติ (ถึงพิบัติ), ไทยใช้ว่า บันดาล เช่น ดลพิทักษ์ (บันดาลให้รักษา).

ดวง ช. ดอก แต่เราหมายถึงของที่มีรูปเป็นดอกๆ เป็นวงกลมๆ เช่นรอยด่างเป็นดวง (คือเป็นรูปกลม ๆ) และใช้เป็นลักษณนามเรียกของมีรูปกลม ๆ เช่น ตรา, แก้ว, จิตต์, ปัญญา, ดาว, ไฟ เช่น รอยด่าง ๒ ดวง ตรา ๒ ดวง ฯลฯ

ดาด, ดาษ:- ดาด ลาดข้างบน, ขึ้นแผ่ข้างบน เช่นดาดเพดาน. ดาษ ตื่นไป, เกลื่อนกลาดไป, ติดกันไปเป็นพืดไป, เช่น ฝีดาษ.

ดาย เปล่า, ไร้ผล; ตัดให้เตียน, ถาง. ดายหญ้า ตัดหญ้าให้เตียน.

ดาล, บันดาล เกิด, เผอิญให้เกิด, ให้เกิดด้วยอานุภาพ.

ด้าว แผ่นดิน, ดินแดน.

ดาวดึงส์ (ม. ตาวตึงฺส) เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ นับแต่ล่างขึ้นไป อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ พระอินทร์เป็นผู้ปกครอง.

ดำกล ดู ถกล.

ดำเกิง ดู ถะเกิง.

ดำรู ดู ตรู.

ดิถี, ดฤดี (ม.ส. ติถิ) ค่ำ เช่น ขึ้นค่ำหนึ่ง, แรมค่ำหนึ่ง ใช้ฉะเพาะนับวันอย่างจันทรคติ. วันอย่างสุริยคติใช้ว่า ทิน เช่นประถมทิน (วันที่ ๑) ทุติยทิน (วันที่ ๒). วันของสัปดาห์ ใช้ว่า วาร เช่น รวิวาร (วันอาทิตย์), จันทรวาร (วันจันทร์), ทิน กับ วาร ใช้ทั่วไปว่า วัน ก็ได้ แต่ต้องใช้ฉะเพาะว่าค่ำ ไทยแผลงใช้ว่า ตฤถี ก็มี.

ดิรัจฉาน ม. ผู้ไปโดยขวาง ได้แก่ สัตว์ทั้งสิ้นนอกจากมนุษย์ เพราะสัตว์เหล่านี้เอาลำตัวขนานกับพื้นดิน, แต่มนุษย์เมื่อเดิรเอาลำตัวตั้งได้ฉากกับพื้นดิน. จึงว่าไปโดยขวางกับมนุษย์ ไทยแผลงใช้ว่า เดรัจฉาน เดียรัจฉาน ก็ได้

๑. ดุริย, ๒. ดุริยางค์ ๑. ม. เครื่องดนตรี ๒. คือ ดุริย+องค์ แปลงอย่างเดียวกัน องค์ เป็น สกรรถ ดู สกรรถ.

แดนไตร ดูใน ไตรโลก

๑.ดุษฎี, ๒. ดุษณี - ๑. ส. (ม. ตุฏฺฐี) ความยินดี ๒. ส. (ม. ตุณฺหึ) นิ่ง. ใช้ ‘ภาพ’ ประกอบท้ายก็ได้ คือ ดุษฎีภาพ (ความยินดี) ดุษณีภาพ (ความนิ่ง)

ต.

ตนุ, ตนู, (ม. ส. ตนุ) ตัว. ตน. ใช้ ดนุ, ดนู ก็ได้.

ตรม. ตรอม ชอกช้ำใจ. ใช้ติดกันว่า ตรมตรอม ก็ได้.

ตรวจน้ำ- ตรวจ มาจาก จรวจ ข. เท สาด, พุ่งไป. เราใช้เป็น ตรวจ, กรวจ ก็มี, จรวจ หรือ กรวด ดอกไม้ไฟก็คำเดียวกัน ตรวจน้ำ ก็คือ เทน้ำเป็นวิธีให้ของที่หยิบยกให้ไม่ได้ เช่น พระเวสสันดรให้ทานช้าง เอาน้ำเทลงในมือพราหมณ์ผู้รับ หรือเราให้ส่วนบุญแก่ผี ญาติพี่น้อง โดยเอาน้ำหยดลง แล้วอุททิศให้เป็นต้น

ตระกอง, กอด, กอดรัด

ตระการ ต่าง ๆ หลาก ๆ มักใช้สำหรับสิ่งของที่เห็นด้วยตา.

ตระกูล ดู กุลวงศ์.

ตระหนัก แน่นอน.

ตรา คือดวงตราที่ใช้เป็นเครื่องหมายแทนลายมือ; ผูก, ผูกใจ, จำใจ, ตั้ง. ตราพระราชบัญญัติคือตั้งพระราชบัญญัติ.

ตราบ ฟาก, ข้าง. เช่นสองตราบมรรคา; ตลอด, กะทั่ง, จนถึง, เช่น ตราบนิรันดร.

ตริ, ตรี, ไตร, ตรัย- ตริ, ตรี, ไตร, ส. สาม, ตรี กับ ไตร เราใช้มาก แต่มักประกอบหน้าคำ ม.ส. ด้วยกัน เช่น ตริโลก, ตรีโลก, ไตรโลก คำ ตรี เราใช้ว่าที่สามก็มี เช่นชั้นตรี. ตรัย ส. หมวดสาม มักใช้ประกอบท้ายศัพท์ ม. ส. ด้วยกัน, เช่น รัตนตรัย หมวด ๓ แห่งแก้ว, ใช้คำเดียวโดด ๆ ไม่ได้.

ตรี, ตรีศูล ส. หลาวสามง่าม, เป็นศัสตราประจำพระอิศวร. ตรี ตัดจาก ตรีศูล

ตรีเนตร ส. ผู้มีสามตา คือพระอิศวร, เราใช้ว่าพระอินทร์ก็มี

ตรึง เสียบ, ปัก, มัด, ผูกไว้ให้ติดแน่นอยู่.

ตรุษ นักขัตตฤกษ์สิ้นปี. เดิมในราชการเรียกว่าพิธีสมพจฉรฉิน (พิธีสิ้นปี) บัดนี้ทำควบกับสงกรานต์ จึงเรียกรวมว่า พิธีตรุษะสงกรานต์ มีในวันที่ ๒๘ มีนาคมถึงที่ ๒ เมษายน ศกต่อไป.

๑. ตรู ๒. ดำรู งาม, ๒. แผลงจาก. ๑.

ตัณหา ม. ตฤษณา ส. ดำฤษณา (เราแผลงใช้) ความทะยานอยากมี ๓ คือ ๑. กามตัณหา (อยากในกามคุณ) ๒. ภวตัณหา (อยากเป็นนั่นเป็นนี่) ๓. วิภวตัณหา (ไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่).

ตัวทะยาน คือความทะเยอทะยาน หรือความเห่อ ที่สิงอยู่ในใจคน.

ตัวหยิ่ง คือความหยิ่งที่อยู่ในใจคน. ทำให้คิดดูถูกผู้อื่น.

ตาณฑพ (ตานดพฺ) ส. เป็นชื่อการจับระบำของเทวดา, ตามเรื่องว่าพระอิศวรทรงโปรดนัก เมื่อจับระบำตาณฑพ พระนนทการมีหน้าที่ตีตะโพน.

ตำนาน เรื่องเดิมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นตำนานพระแก้วมรกต; สวดมนตร์บทหนึ่งๆ ก็เรียกตำนาน เช่น เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน หมายความว่าสวดมนตร์ ๗ บท ๑๒ บท (แต่ใช้เรียกอยู่ ๒ ผูกเท่านั้น ไม่ทั่วไปถึงผูกอื่น ๆ).

ติณ ม. ตฤณ ส. หญ้า

เต้า ไป. คำนี้ เขมรเขียน เทา เขาอ่าน ‘เต็อว’ เราใช้ เทา ตามเขมรก็มี.

โตเสนตี ม. ผู้ยังลูกให้ยินดี คือ มารดา. ต้นศัพท์ คือ ตุส ม. ตุษ ส. พวกเดียวกับ ดุษฎี

ไตรตรา ตรวจตรา, พิจารณา.

ไตรทวาร ส. ทางทั้ง ๓ คือ ทางกายหมายความว่า ทำด้วยกาย, ทางปากหมายความว่าพูด, ทางใจหมายความว่าคิด.

ไตรรัตน์ ส. แก้วทั้ง ๓ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ไตรลักษณ์ ส. ลักษณะ (ของเบ็ญจขันธ์) สามอย่าง คือ ๑. อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ๒. ทุกฺขํ เป็นทุกข์, ๓. อนตฺตา ไม่มีตัวตน คือ เน่าเปื่อยสาบศูนย์ไป. ย่อมเป็นอย่างนี้ทุกรูปทุกนาม.

ไตรโลก ส. โลกสาม ตามพุทธศาสนาว่า ๑. มนุษยโลก ได้แก่พื้นโลกที่เราอยู่นี้ ๒. เทวโลก ได้ แก่สวรรค์ ที่เทวดาอยู่มี ๖ ชั้น ๓. พรหมโลก ได้แก่สวรรค์ชั้นเหนือเทวโลกขึ้นไป เป็นที่อยู่แห่งพรหมมี ๒๐ ชั้น (พรหมมีรูป ๑๖ ชั้น, พรหมไม่มีรูป คือมีแต่วิญญาณ ๔ ชั้น) แต่ทางไสยศาสตร์ประสงค์เอา โลกสวรรค์ โลกมนุษย์และโลกบาดาล. โลกสามนี้รวมเรียกว่า จักรวาล หรือ โลกธาตุ ซึ่งไทยใช้ว่า ไตรภพ, แดนไตร, สกลโลก. ใช้ ตริโลก ตรีโลก ก็ได้. ดู ตริ ตรี ด้วย.

ไตรสรณะ ม. ที่พึ่งสาม คือพระพุทธ์ พระธรรม และพระสงฆ์ ไตรสรณคมน์ ม. การถึงที่พึ่งสาม คือ กล่าวปฏิญญาณขอถือพระรัตนตรัยเป็นที่นับถือ.

ใต้หล้า โลกเบื้องต่ำ คือโลกมนุษย์เรานี้ คู่กับ สรวง (เบื้องบน) คือสวรรค์

ถ.

ถกล ข. นิรมิต, สร้าง ตบแต่ง, อันตบแต่งเรียบร้อยแล้ว หมายความว่า งาม. แผลงเป็น ดำกล ก็ได้.

ถวัลย์ ข. ครอง (หมายเอาครองราชย์).

ถวิล คิด.

ถ่อง ถูกถ้วน, จะแจ้ง, สุกใส.

ถะเกิง ช. รุ่งเรือง, สูงศักดิ์, แผลงเป็น ดำเกิง ก็ได้.

ถั่ง หลั่งไหล

๑. ถัน ๒. ถัญ, ๑. (ม. ถน) นม. ๑. (ม. ถญฺญ) น้ำนม.

ถาวร ม. (ส. สฺถาวร) ตั้งมั่น, ยั่งยืน, ใช้สถาวร, สถาพรก็ได้

ถิร ดู เสถียร.

เถลิง ข. ขึ้น, ขี่.

เถือก เป็นทิวแถวไป, ดาษไป.

เถื่อน ป่า.

ท.

ทนต์ ม. ส. ฟัน งา (แห่งช้าง), โททนต์ คือ งาทั้งสอง

ทรงภพ ผู้ทรงปกครองโลก คือ พระเจ้าแผ่นดิน.

ทรงฤทธิ์ ผู้มีฤทธิ์ ใช้เป็นสรรพนามสำหรับผู้เป็นใหญ่ก็ได้ เช่น ‘ทรงฤทธิ์คิดอาย’ ก็คือพระองค์คิดอายนั่นเอง.

ทราม ว. ต่ำช้า, เลว, อ่อน. ศัพท์นี้มีนัยคล้าย พาล ซึ่งแปลว่าอ่อน ถ้าอ่อนความคิดหมายถึง คนพาล ถ้าอ่อนวัยหมายถึงเด็กหนุ่ม สาว เช่น นงพาล คือ นางสาว. ทราม ก็ออกจะคล้ายกัน มีเพี้ยนอยู่บ้าง เช่น คนพาลความไปข้างคนเกเร คนทรามความไปข้างเลว, แต่ใช้ได้ว่าอ่อนอย่างเดียวกัน เช่น ทรามวัยอ่อนอายุ ทรามชม=อ่อนน่าชม ทรามสวาท=อ่อนน่าสวาท, ทรามสงวน=อ่อนน่าสงวน.

ทรามสวาท ดู ทราม

ทวย หมู่ ทวยหาญ หมู่กล้า คือนักรบ.

ทวาทศ ส. สิบสอง ทวาทศพรรษ คือ ๑๒ ปี.

ทวี, โท (ม. ทวิ, ทู) สอง แต่เรานิยมใช้ผิดกัน ทวี มักใช้อย่างเดียวกับทวีคูณ คือสองเท่า ที่หมายความเพียงว่ามากมากขึ้นเป็นลำดับก็มี เช่น พูดว่า ‘ลาภทวีขึ้น’ โท ใช้เป็นสังขยาว่า สอง ก็มี เช่น โทโท้ เจ้าสององค์ ใช้นับเรียงชั้นก็มี เช่น ชั้นโท ก็คือชั้นสอง.

ทศพล ม. กำลังสิบ หมายเอากำลังพระญาณของพระพุทธเจ้า ๑๐ อย่าง ไทยใช้เรียกพระพุทธเจ้าก็ได้ ว่าพระทศพล.

ทะนุ, ทำนุ คือ ทะนุ แผลงเป็น ทำนุ ว่า อุดหนุน, ตบแต่งให้ดีขึ้น

ทัด เทียบ, เทียบกัน; ใส่ไว้เหนือหู อย่างทัดดอกไม้

ทานาทิธรรม ส. ธรรมมีทานเป็นต้น คือธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สูงขึ้นไปเป็นลำดับ เบื้องต้นแสดง ผลทาน, ต่อไป ผลศีล, สวรรค์, โทษแห่งกามคุณ ในที่สุดแสดงผลแห่งการออกบวช ธรรมเทศนาชะนิดนี้เรียกเป็นสามัญ ว่า อนุบุพพิกถา (กล่าวเป็นลำดับ), ทานาทิธรรม ก็ประสงค์เอา อนุบุพพิกถา นั้นเอง.

ทารุณ ม. ส. หยาบช้า, ชั่วร้าย

ท่าว ฟุบลง, ใช้รวมกันว่า ท่าวล้ม ก็ได้.

ทำเนา ยกไว้, ยับยั้ง, ยับยั้งได้ เช่น พอทำเนา คือ พอยับยั้งได้.

ทีฆัมพร, ที่- ม. (ทีฆ+อมฺพร) ท้องฟ้ายาว คือ ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่, พ้องเสียงกับ ทิคัมพร ส. (ทิศ+อมพร) ผู้มีทิศเป็นผ้า, ผู้นุ่งทิศ คือชีเปลือย.

๑. ทิฏฐิ ๒. ทฤษฎี ๑. ม. ความเห็น รวมทั้งเห็นด้วยตาและใจ, ถ้ากล่าวเพียง ทิฏฐิ ลอย ๆ มักหมายเอาว่า มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดคลองธรรม. ๒. ส. ความเห็น เหมือนทิฏฐิ แต่เรามักใช้เอียงมาทางเห็นด้วยตา เช่น ทอดทฤษฎี คือ ทอดสายตา หมายเอาแลเห็น.

ทิน ม.ส. วัน ดู ดูดิถีด้วย.

ทิพย์, เทพ, เทวะ มาจาก ม. ส. ทิว (สวรรค์) เช่น ทิวงคต ไปสวรรค์ (ตาย) ทิวาลัย ที่อยู่คือสวรรค์, ถ้าจะให้เป็นชาวสวรรค์ต้องพฤทธิ์ คำต้น คือ ทิ เป็น เท (หรือ ส. เป็น ไท) สำเร็จเป็น เทว เทพ ที่เราใช้ว่า เทพเจ้า เทวดา เทวัน เทพบุตร เทพธิดา. (ไม่มี ย ท้าย) อย่างเดียวกับนคร (เมือง), ชนบท (แคว้น), มคธ (ชื่อแคว้น) เมื่อจะให้เป็นชาวถิ่นนั้น ๆ ต้องพฤทธิ์คำต้นเป็น นาคร (ชาวเมือง), ชานบท (ชาวแคว้น) มาคธ (ชาวมคธ) ฯลฯ ทิพย์ (มี ย. ท้าย) หมายความว่าของสวรรค์ มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น เช่น ทิพยจักษุ ทิพยโสต.

ทิพยาสน์ ส. (ทิพฺย+อาสน) ที่นั่งทิพย์

ทิวา, ทิพา ม. เวลากลางวัน. ทิพา เราแผลงใช้.

ทิวกาล ม. เวลากลางวัน, ทิวา (กลางวัน) กาล (เวลา) คู่กับ ราตรีกาล (เวลากลางคืน) ดูในรัชนีด้วย.

ทิศ ส. ทาง คือ แบ่งพื้นโลกออกเป็นบางใหญ่ สี่ทางเรียกว่าทิศ, นิยมว่าผินหน้าไปทางตะวันออก. ทิศบูรพา (ทางข้างหน้า คือตะวันออก), ทิศทักษิณ (ทางขวาคือใต้), ทิศปัศจิม (ทางหลัง คือตะวันตก) ทิศอุตดร (ทางซ้าย คือเหนือ); แล้วแบ่งเป็นทิศน้อยอีก ๔ คือ: - อีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้), อาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้), พายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ).

๑. ทุกข์ ๒. โทมนัสส์ ๑. ม. ความลำบากกาย ๒. ม. ความลำบากใจ. (สำหรับใช้คู่กัน) แต่ถ้ามี ‘ทุกข์’ คำเดียว หมายความว่า ความลำบากทั้งกายและใจ, คู่กันกับ ‘สุข’ คือ ความสบายทั้งกายและใจ ถ้า ‘สุข’ มีคู่กับ ‘โสมนัสส์’ (ความสบายใจ) อยู่ด้วย, สุข หมายความฉะเพาะสบายกายอย่างเดียวกัน.

ทุจจริต (ทุสฺ+จริต๗ ม.ส. การประพฤติชั่ว, ตรงกันข้ามกับสุจริต (สุจริต) ม.ส. การประพฤติดี.

ทุรโทษ ส. (ทุสฺ+โทษ) โทษชั่ว

ทุรพล ส. (ม. ทุพฺพล) มีกำลังชั่ว คือ ไร้กำลัง

ทุราจาร ส. (ทุสฺ+อาจาร) มรรยาทชั่ว.

ทุเรศ ลำบาก.

เทพกษัตรี ส. ‘กษัตริย์เทวดา’ เป็นนามคุณท้าวเมียเจ้าเมืองถลาง เมื่อพะม่ายกทัพมาล้อมเมืองถลางนั้น สามีตายแล้วแต่ช่วยกันกับน้องสาว (ซึ่งภายหลังเป็นคุณท้าวศรีสุนทร) ป้องกันเมืองถลางไว้ได้

เทพนารี ส. ‘หญิงแห่งเทวดา’ เป็นคำยกย่องเรียกนางกษัตริย์.

เทวธรรม ส. ม. ‘ธรรมของเทวดา’ เป็นชื่อธรรมกถาดังปรากฏในเรื่องเทวธรรมบรรยายข้างต้นนี้

เทวษ ศัพท์นี้ออกจากธาตุ ม. ทิส ส. ทวิษุ ว่าเกลียด, ชัง, ใน ม. มีใช้ว่า ทิส (ส. ทวิษ) ผู้ชังกัน, คือผู้เป็นข้าศึกกัน. และ ธมฺมเทสฺสี (ผู้ชังธรรม), เทวษ ใน ส. ใช้แทนศัพท์โทส ม. แปลว่าความร้ายกาจ; แต่เราใช้ว่าความทุกข์ยากหรือจะว่าความร้ายกาจ ก็ได้.

เทวสภา ม. ที่ประชุมหรือโรงประชุมของเทวดา ดู ทิพย์.

เทวัน ดู ทิพย์.

เทวินทร์, เทพินทร์, เทเพนทร์, ส. จอมเทวดา คือ พระอินทร์, พระอิศวร, หรือ เทวดาผู้เป็นใหญ่.

เทวี ม.ส. นางพญา นางกษัตริย์

เทเวศ (ม.+ส. เทว+อีส) เทวดาผู้เป็นใหญ่

เทศ ส. ประเทศ, บ้านเมือง. ไทยเราใช้ว่าต่างประเทศหรือเมืองนอกก็มี เช่น ม้าเทศ, มันเทศ ฯลฯ

เทศน์ เทศนา ส. การแสดงธรรม, การสั่งสอน.

เทิด อยู่สูง, ยกขึ้นสูง, เชิดอยู่. เทิดฟ้า เชิดอยู่บนฟ้า.

โทรม ชำรุด ทำลายไป; ระดมกันทำร้าย เช่น โทรมสาดอาวุธ คือ ระดมกันพุ่งอาวุธเข้าไป, โทรมหญิง คือ ระดมกันทำชำเราหญิง.

ไท, ไท้ ใช้เหมือนกัน, แปลว่าเป็นใหญ่. ใช้เรียกท่านผู้เป็นใหญ่ เช่น พระราชา, พระราชินี, พระพุทธเจ้า และเทวดาผู้เป็นใหญ่.

ไทย ชื่อชาตเรา, แปลว่า เป็นอิสสระ คือไม่เป็นหนี้เป็นข้าใครตรงข้ามกับคำ ทาส คือขี้ข้า.

ธ.

เป็นคำย่อมา จาก เธอ, แต่ใช้ผิดกันอยู่บ้าง คือ ธ ใช้ฉะเพาะผู้เป็นใหญ่ เช่นเทวดาผู้เป็นใหญ่, พระพุทธเจ้า พระราชา, เจ้านายชั้นสูง. แต่เธอใช้ยกย่องผู้น้อยก็ได้ เช่นกล่าวว่า “ภิกษุนั้นเธอเคร่งมาก” หรือครูพูดกับนักเรียนว่า ‘เธอ’ เป็นต้น.

ธน ม. ส. ทรัพย์. เรามักนิยมว่าเงินตรา

ธรรม ส. มีความแปลมากขอตัดแปลฉะเพาะที่เรานิยมใช้ทั่วไป คือ ความถูกต้อง, ข้อปฏิบัติที่ นักปราชญ์นิยมกันว่าถูกต้อง, คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา

ธรรมจักร ส. ‘ธรรมดังจักร’ เป็นชื่อพระสูตร ที่พระพุทธเจ้าเทศนาครั้งแรก เรียกให้เต็มว่า “ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร” (พระสูตร) ว่าด้วยการยังธรรมดังจักรให้เป็นไป, พระสูตรนี้เมื่อทรงเทศนาแล้วมีข่าวลือทั่วไป ไม่มีใครคัดค้านได้เลย.

ธรรมดา ส. ความเป็นตามปกติ, คือเคยเป็นมาอย่างไร ก็เป็นไปตามเคย

ธรรมทศพิธ ส. ธรรมสิบอย่างเป็นวัตรของพระมหากษัตริย์เรียกสามัญว่า ทศพิธราชธรรม คือ ทาน (ให้ทาน), ศีล (รักษาศีล), ปริจจาค (สละทรัพย์ทำบุญ), อาชฺว (ประพฤติตรง), มทฺว (ประพฤติอ่อนโยน), ตปะ (บำเพ็ญตบะ เช่นถืออุโบสถ), อโกธ (ไม่โกรธง่าย), อวิหึสา (ไม่เบียดเบียฬ), ขนฺติ (อดทน), อวิโรธน (ไม่ประพฤติผิดแบบแผน)

ธรรมิศวร์, ธรรเมศวร์ ส. ผู้เป็นใหญ่ในธรรม, ผู้เป็นใหญ่โดยธรรม เป็นคำยกย่องพระเจ้าแผ่นดิน; เรียกพระพุทธเจ้า.

ธรรโมวาท ส. (ธรรม+โอวาท) คำกล่าวสอนอันเป็นธรรม.

ธราดล ม. พื้นแผ่นดิน

ธัญญชาติ ม. เข้าเปลือก, ชาติเป็นสกรรถ ดู สกรรถ.

๑. ธาตรี, ๒. ธาษตรี ๑. ส, นางนม, โลก, เราใช้ว่า โลก เป็นพื้น ๒. แผลงจากธาตรี แต่ใช้ว่าโลกอย่างเดียว.

ธาตุปน, ธาตุแท้ เป็นคำใช้ในตำรา แยกธาตุ. ธาตุปน คือของที่มีธาตุหลายอย่างประสมกันตามส่วนแล้วแปรเป็นของอย่างอื่น เช่น น้ำมีธาตุ ๒ อย่าง คือ ออกซิเจ็น กับ ไฮโดรเจน ประสมกันเรียกว่า ธาตุปน, ธาตุแท้ คือของที่มีแต่ธาตุเดียว เช่น ทองคำ เงิน ฯลฯ

ธาร, ธารา ม.ส. ทางน้ำ, ท่อน้ำ, กระแสน้ำ, ไทยใช้น้ำก็ได้ ศัพท์เดิมเป็น ธารา เราตัดใช้ว่า ธาร ก็ได้.

น.

นคร, นาคร ดูใน ทิพย์.

นครราม ม. ส. เมืองพระราม คือ เมืองอยุธยา

นง นาง, มักใช้ควบกับคำอื่น เช่น นงเยาว์ (นางรุ่น) นงคราญ (นางงาม) ฯลฯ.

นงคราญ ดู นง.

นงพาล นางอ่อน เอาความว่าหญิงก็ได้ ดู นงด้วย.

นนทิการ ส. เทวดาผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลเทวสถานของพระอิศวร. เมื่อพระอิศวรเสด็จไปไหน พระนนทการจำแลงเป็นโคอุสุภราชให้ขี่ไป เพราะฉะนั้นศัพท์ นนท, นนทิ. จึงแปลว่า โคก็ได้.

นพรัตน์, เนาวรัตน์, ม. ส. แก้ว ๙ อย่าง คือ เพ็ชร ทับทิม มรกต บุษยราคำ โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์.

นภา ม.ส. ท้องฟ้า.

นยน, นยนา นัยน์ตา, นยนะ ม.ส. ตา (ที่เราใช้ดูสีและรูป) นยนา ส. ลูกตา เราก็ใช้ว่าตาได้ นัยน์ตา เป็นศัพท์ที่เราควบกันอย่าง คชสาร (ช้างช้าง) เอาความว่าตาเท่านั้น

นฐ, นรี, นารี -นร ม.ส. คน. ถ้าใช้ควบกับ นรี หรือ นารี หมายฉะเพาะอนผู้ชาย นรี นารี คนผู้หญิง นรชน ‘ชน’ ก็ว่า คน เอาความว่าคนนั่นเอง.

นรกผล ม. ผลคือตกนรก.

นรชาติ ม. คน. ชาติเป็นสกรรถ ดู สกรรถ.

นริศร์, นเรศร์, นเรศวร ส. (นร+อิศวร) ผู้เป็นใหญ่กว่าคน คือ พระราชา. ดู อิศวร ด้วย

นวภิกษุ ส. ภิกษุบวชใหม่.

นาคร ดูในทิพย์.

นาฏ ม. ศัพท์เดิมว่าฟ้อนรำ, เรานิยมใช้ว่า หญิง.

นานา ม.ส. ต่าง ๆ ศัพท์นี้ใช้นาๆไม่ได้ เพราะใน ม.ส. ไม่มีเครื่องหมายยมก (ๆ) จะใช้นำหน้าคำ ม.ส. ด้วยกัน เช่น นานาประการ นานาจิตต์ ฯลฯ ก็ได้. ไม่ควรใช้นำหน้าคำไทยว่า นานาปาก นานาใจ ฯลฯ แต่จะใช้ว่า ปากนานา, ใจนานา เป็นวิธีไทย เช่นนี้ไม่ผิด.

นาม, นามกร ม. ชื่อ.

นายก ม.ส. ผู้หัวหน้า ผู้เป็นใหญ่. ถ้ามี ปริ นำหน้าต้องเขียน ปริณายก (เปลี่ยน น เป็น ณ ตามวิธีสนธิ ส.) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ทั่วไป คือ ใหญ่กว่านายก.

นารายณ์ ดู ศิวะ.

นาศ ความฉิบหาย, โดยมากมักใช้ พินาศ.

นาสา, นาสิกา, ม.ส. จมูก. แต่ นาสิกา เรามักใช้ว่านาสิก.

นำพา เอาใจใส่.

นิกร, นิกาย ม. หมู่, นิกาย ยังใช้พิเศษออกไปอีกคือ เรียกนักบวชศาสนาเดียวกัน ที่แยกออก เป็นคณหนึ่ง ๆ เรียกว่านิกายหนึ่ง ๆ เช่นในพระพุทธศาสนา แยกเป็น จีนนิกาย, อานัมนิกาย, มหานิกาย, ธรรมยุตติกนิกาย ฯลฯ.

นิจ ม. นิตย์ ส. เสมอ, เที่ยง แน่นอน นิจ ใช้ลด จ. ถ้าเข้าสมาส กับ ม. ด้วยกันต้องใช้ จ สองตัว เช่น นิจจกาล (ทุกเวลา) นิจจภัตต์ (เข้าประจำ)

นิติ, นีติ, เนติ. (ม.ส. นีติ) แบบแผน, ใช้ว่ากฎหมายก็ได้ เช่น นิติศาสตร ว่าตำรากฎหมาย

นิทรรศน์ ส. ‘เครื่องนำออกแสดง’ คือตัวอย่าง แบบแผน, อุทาหรณ์. ใช้ นิทัศน์ ก็มี.

นิทาน ม. เหตุ เค้าเรื่องเดิม. เราหมายถึงเรื่องที่เล่ากันเล่นด้วย.

๑. นิพนธ์ -พันธ์ ๒. ประพนธ์ -พันธ์ ส. ผูก, แต่งหนังสือ ๑. แต่งหนังสือทั่วไป ๒. มักนิยมฉะเพาะแต่งคำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

๑. นิพพาน, ๒. นฤพาน- ๑. ม. (ส. นีรวาณ) รวมความไม่มีตัณหา, ความดับตัณหา, มี ๒ อย่าง เอาความง่ายๆ ว่า การสำเร็จพระอรหัตตผลอย่างหนึ่ง, ความตายแห่งสำเร็จอรหัตตผลอย่างหนึ่ง อย่างท้ายนี้เราใช้เป็นกริยาก็ได้ หมายความว่าพระอรหันต์ตาย, ใช้ว่าปรินิพพาน ก็มี ๒. เราแผลงใช้ แต่ไม่ใช้เป็นกริยา.

นิมนต์ ดู อาราธนา.

นิยม ม. ความกำหนด, แต่เรามักใช้ว่า กำหนดตาม ๆ กัน, พากันพอใจ.

๑. นิรมิต ๒. นิรมาณ. (ส. นีรฺมิต) บันดาลขึ้น, สร้างขึ้น ๒. (ส. นีรมาณ) การบันดาลขึ้น การสร้างขึ้น ผิดกับ นิมิตต์, (ซึ่งมักใช้ว่านิมิตร) แปลว่าเครื่องหมาย, เหตุ).

นิรันตร, นิรันดร ม. (ส. นิส++อนฺตร) ไม่มีระหว่างคั่น, เสมอ เป็นนิตย์.

นิราส การไม่มีที่ประจำ, การพรากไป.

นิเวศน์, นิวาส ส. ที่อยู่, ที่ ที่บ้าน, วัง.

นิสสัย ม. ความประพฤติที่ชินอยู่ในจิตต์ใจ; ความพึ่งพัก.

นุช ม.ส. อนุช ‘ผู้เกิดตาม’ คือน้อง. ตามนิยมในภาษาไทยมักใช้ นุช เป็นคำเรียกหญิง หรือผู้คู่รักเป็นพื้น น้องชายกลับเรียก อนุชา ซึ่งควรเป็นน้องสาว คำ อนุ อภิ อธิ ขึ้นต้น ในคำประพันธ์บางแห่ง ทิ้งตัว อ ข้างหน้าเสีย เช่น อนุช ใช้ นุช (และใช้จนชิน); อนุสนธิ ใช้ นุสนธิ์ อธิบดี ใช้ ธิบดี อภิปราย ใช้ ภิปราย (กล่าว อธิบาย).

เนตร ส. (ม. เนตฺต) นัยน์ตา

เนา ข. อยู่

บ.

บง มอง, ดู.

บงสุ์ (ม. ปังสุ) ฝุ่น, ละออง. บาทบงสุ์ ละอองพระบาท.

บดี (ม.ส. ปติ) ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผัว, ม้ให้ประกอบหลังศัพท์อื่น เช่น คณบดี (เจ้าหมู่), อธิบดี (ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง).

บทจร ม. เดิรไปด้วยเท้า, พลบทจร พลเดินเท้า, ทหารราบ.

บทมาลย์ ม. ดอกไม้ คือ พระบาท หมายเอาเท้าผู้สูงศักดิ์อย่างที่ใช้สามัญว่า พระบาท, หรือ ฝ่าพระบาท นั่นเอง.

บพิตร ส. ‘ผู้มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ใช้เรียกผู้เป็นใหญ่; พระใช้เรียกผู้มีบรรดาศักดิ์สูง เรียกพระราชาว่า มหาบพิตร หรือ บพิตร พระราชสมภาร, เรียกเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ว่า บพิตร.

บร, ปร. ม.ส. อื่น, เช่นบรเทศ, ปรเทศ (อ่านบอระเทศ. ปะระเทศ) ว่า เมืองอื่น, ต่างประเทศ, ข้าศึก. เช่น มิภักดิ์บร คือ ไม่ภักดีข้าศึก.

บรม ม.ส. อย่างยิ่ง อย่างสูง ใช้นำหน้าศัพท์สมาสซึ่งเป็น ม.ส. ด้วยกัน เช่นบรมครู (ครูอย่างสูง) ไม่ใช้นำหน้าคำไทย เช่นจะใช้ว่า บรมเข้า, บรมแกง ฯลฯ ไม่ได้

บรรเจิด ดูเจิด.

บรรณาการ ม. ของที่จัดส่งไปให้กัน. ของที่พระราชาประเทศหนึ่งส่งไปถวายพระราชาอีกประเทศหนึ่ง เรียกเครื่องราชบรรณาการ.

บรรดา ดูประดา.

๑. บรรพชา ๒. บรรพชิต ๑. (ม. ปพฺพชชา) การบวชใช้คู่กับ อุปสมบท. บรรพชา คือบวชเป็นสามเณร อุปสมบท บวชเป็นภิกษุ. ถ้ามีคำเดียวใช้ว่าบวชทั่วไป. ๒. (ม. ปพฺพชิต) นักบวช.

บรรยาย แผลงจาก ม. ปริยาย แปลว่า ข้อความที่ชี้แจงพิสดาร แต่บรรยาย เรามักใช้ว่า อธิบายพิสดาร คือ เล่าเรื่องให้ฟังโดยพิสดารอย่างเล่าประวัติเช่นบรรยายโวหาร, ใช้สามัญว่า อธิบาย ก็ได้.

บรรลัย ดูประลัย.

บรรเลง (ออกจาก เปล่ง) ร้องเพลง, ขับ, ประโคม.

บรรโลม, ประโลม เล้าโลม, ทำให้ใจยินดี.

บริกขาร ม. เครื่องใช้ของภิกษุที่จำเป็นต้องมี ๘ อย่าง คือ สะบง (ผ้านุ่ง), จีวร (ผ้าห่ม), สังฆาฏิ (ผ้าคลุมหนาว), รัตคต (เครื่องคาดเอว), บาตร, มีด, กล่องเข็ม (มีเข็มด้ายพร้อม), ผ้ากรองน้ำ.

บริจจาค, ม. บริตยาค ส. การสละ, มักหมายถึงการสละทรัพย์ทำบุญ.

บริวาร ม.ส. คนแวดล้อม คือคนติดหน้าตามหลัง หรือ คนรับใช้สอย.

บริษัท ส. ผู้ประชุมกัน. ถ้าเป็นพุทธบริษัท (บริษัทของพระพุทธเจ้า) มี ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสกา

๑.บริหาร ๒. บรรหาร ม.ส. ศัพท์เดียวกัน ๒. แผลงจาก ๑ แปล (๑) กล่าวแก้, อธิบาย, (เรามักใช้บรรหาร). (๒) บำรุงรักษา, ปกครอง (เรามักใช้บริหาร)

บวร ม.ส. ประเสริฐ วิธีใช้อย่างเดียวกับ บรม ดู บรม.

บังคม ข. ไหว้ มักใช้ไหว้เจ้านาย.

บัญญัติ ม. แต่งตั้ง, ข้อที่แต่งตั้งขึ้น.

บัณฑิต ม.ส. ผู้มีปัญญา. นักปราชญ์

บัณฑูร ข. คำสั่ง คำพูด ใช้สำหรับผู้สูงศักดิ์.

บันทึก จดใจความย่อ ๆ, จดข้อสำคัญไว้.

บัวบาท คือ เท้าที่มีดอกบัวรองอย่างเท้าพระพุทธเจ้า หมายความถึงเท้าผู้มีบุญเช่นพระราชา, มักใช้ต่าง ๆ กันเช่น บาทบงกช, บงกชบทศรี ฯลฯ.

บาดาล ส. เป็นชื่อที่อยู่ของพญานาคและสัตว์นรก (ยมโลก) ซึ่งอยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไป ดูไตรโลกด้วย

บาทบงสุ์ ดู บงสุ์.

บาทพระคาถา บาทแห่งคาถา, ดูคาถา.

บาทเรณู ม.ส. ละอองพระบาท.

บารมี ม. คุณอย่างยอด ได้แก่ บุญกุศล กล่าวว่าพระพุทธเจ้าต้องสร้าง บารมี อย่างน้อยถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัลป์ จึงได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า); เรานิยมใช้ว่า บุญวาสนา (ของท่านผู้เป็นใหญ่เช่น พระราชาด้วย)

บาลเมือง ผู้ปกครองเมือง, บาล เลี้ยง, รักษา, ปกครอง, อนุบาล ตามเลี้ยงดู, อภิบาล เลี้ยง, ปกครอง.

บาลี ม. ภาษาที่ร้อยกรองคัมภีร์พระพุทธศาสนาแห่งพวกเราซึ่งเรียกว่าพวกทักษิณนิกาย (ภาษาบาลีเรานิยมกันว่าเป็นภาษามคธ เพราะเนื่องมาจากนั้น); คำเดิมในพระพุทธศาสนาเรียก บาลี, คำแก้บาลีเรียก อัฎฐกถา, แก้อัฏฐกถา เรียก ฎีกา.

บ่าว ขี้ข้า, คนใช้; ชายหนุ่ม เช่น เจ้าบ่าว.

บำนาญ, บำเหน็จ-บำนาญ ค่าเหน็ดเหนื่อย, เงินที่ให้แก่ผู้ทำการเหน็ดเหนื่อยมา, เมื่อทุพลภาพก็ให้เงินนี้เลี้ยงชีพเรียก เบี้ยบำนาญ บำเหน็จ ค่าฝีมือ เช่นช่างทำของงดงามก็ให้ บำเหน็จ คือให้ค่าฝีมือ หมายถึงรางวัลโดยมาก, แต่ในวิธีทำทองรูปพรรณหมายถึงค่าแรง.

บำบวง บูชา, ทำสักการะเส้นสรวง.

บำเพ็ญ ทำให้เต็ม, อบรมให้มีขึ้น (แผลงมาจากเพ็ญ).

บิตุ ม. (ส. ปีตฤ) เราใช้ บิตุ บิดา, บิดร. แปลว่า พ่อ

บีฑา, เบียฬ คือ บีฑา ส. การเบียดเบียฬ ปีฬา ม. แต่แผลงใช้ว่า เบียฬ แปลว่า เบียดเบียฬอย่างเดียวกัน

บุญ, บุณย์ (ม. ปุญฺญ, ส. ปุณฺย) ความดี, การกุศล.

บุปผชาติ ม. ดอกไม้, ชาติ เป็นสกรรถ ดูสถรรถ. เรามักใช้ เลยไปเป็น บุปผา ส. บุษบ ก็ใช้เลยไปเป็นเป็น บุษบา เหมือนกัน.

บุพพาจารย์ (อ่าน บุบ-พาจารย์) ส. อาจารย์เบื้องต้น หมายความว่าพ่อแม่.

บุรณะ, ปูรณะ ม.ส. การทำให้เต็ม, เราใช้ว่า ทำให้เต็ม ใช้เป็นสามัญว่า บุรณะ และหมายความซ่อมแซม, ตบแต่งให้ดีขึ้น.

บุรพกรรม ส. กรรมที่ได้กระทำมาแต่ปางก่อน.

บุเรศ ส. เมือง (คือ บุร+อีศ) อีศ เป็นสกรรถ ดู สกรรถ.

บุหลัน ช. ดวงเดือน.

บูชิต ม. ใช้อย่างเดียวกับบูชา, แต่บูชาใช้เป็นนามก็ได้ บูชิต มักใช้เป็นกริยาอย่างเดียว.

เบญจพิธ ม. ห้าอย่าง (ดู พิธ ด้วย) เบ็ญจ มาจาก ปัญจ ห้า เบญจพิธองคประดิษฐ์ ว่าตั้งลงซึ่งอวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ๑ มือ ๒ เข่า ๒ เป็นวิธีไหวอย่างเคารพ คือ นั่งคุกเข่าก้มศีรษะลงกราบให้หน้าผาก เข่า และมือจดพื้น เรียกว่าไหว้ โดยเบ็ญจางคประดิษฐ.

ป.

ปชาบดี ม. ประชาบดี ส. แปลว่า เจ้าหมู่สัตว์ คือ พระพรหม, และแปลได้อีกมาก ใน ม. แปลว่า ภรรยา ก็ได้. ท่านโม้ปชาบดีปลัด เอาความว่าท่านโม้ผู้ภรรยาปลัดเมือง.

ปฏิการ ดูในอุปการ.

ปฏิพัทธ์ ม. เนื่องฉะเพาะ เอาความว่า ผูกใจรักใคร่ มักใช้ในการชู้สาว.

ปฏิภาน ม. ประติภาน ส. ความรุ่งเรือง ความคล่องแคล่วทางปัญญา ความไหวพริบฉับไวในการโต้ตอบ

ปฏิมา, ปฏิมากร, ม. ประติมา ส. รูปเปรียบ คือ รูปหุ่นที่ทำแทนของจริง เช่นพระพุทธรูป, เทวรูป.

ปฏิสนธิ์ ดู จุติ.

ปฐพี (ม. ปฐวี) แผ่นดิน ใช้ ปถวี, หรือ ปถพี ก็ได้.

ปฐม ดู ประถม.

ปทุม ม. (ส. ปทม) บัวหลวง คือ บัวมีฝัก, คู่กับ อุตบล ส. อุปบล ม. บัวสายคือบัวมีโตนด. และไม่ควรใช้ว่า ประทุม.

ปรนิมมิตวสวัตดี ม. ชื่อสวรรค์ชั้นที่หก เป็นชั้นสูงสุด ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ก็มีชื่อเช่นนี้เหมือนกัน เป็นพญามารคอยขัดขวางพระพุทธเจ้าไม่ให้ตรัสรู้

ปรมาณู ม. (ปรม+อณู) อณุ ของเล็ก, อย่างละอองที่ปลิวอยู่ตามอากาศ ปรมาณู แปลว่า เล็กที่สุด หมายถึงของที่เล็กละเอียดจนเห็นด้วยตาไม่ได้.

ปรโลก ม. (คือ ปร+โลก) โลกอื่น คือชาติหน้า, ใช้ ปรภพ ก็ได้คู่กับ อิธโลก โลกนี้ คือชาตินี้, คำ ปร หรือ บร (อื่น) มักใช้นำหน้าคำ ม.ส. มาก เช่น ปรเทศ บรเทศ ปรวิษัย ประเทศอื่น ต่างประเทศ. ปรปักษ์ ฝ่ายอื่น ข้าศึก. ใช้คำเดียวว่า บร ก็ได้ แปลว่าข้าศึก.

ประจญ ประจัญ, ผจญ (ข. ผจัญ) สู้รบ.

ประจักษ์ (ม. ปจฺจกข; ส. ปรตฺยกฺษ คือ ประติ+อกฺษ) เห็นฉะเพาะ คือ จะแจ้ง, ชัดเจน.

ประจาค, บริจจาค (ม. ปริจจาค) ความสละ, สละ.

ประเจียด ผ้าเช็ดหน้าสี่เหลี่ยม บัดนี้ใช้ว่าผ้าเช็ดหน้าที่ลงยันตร์เรียกกันว่าผ้าประเจียด.

ประชา ส. หมู่สัตว์, ชาวเมือง.

ประณม, ประณาม ส. การนอบน้อม, การไหว้ แต่คำ “ประณม” เราใช้ว่า จบหัตถ์ คือ เอาฝ่ามือประกบกันอย่างเมื่อเวลาไหว้ เรียกประณมมือ.

ประดา, บรรดา ล้วน, ทั้งหมด. แต่ ประดา ใช้ต่างออกไปว่า ทน เช่นประดาน้ำ (ทนน้ำ), เต็มประดา (เต็มทน).

ประดาษ ต่ำต้อย, เดือดร้อน

ประดิษฐ ส. ตั้ง, สร้าง, ทำ เราใช้ว่า ทำให้วิจิตรพิสดารขึ้น ทำโดยละเอียดละออ.

ประดิษฐาน ส. ตั้งไว้

ประติยุทธ์ ส. รบโต้ตอบ.

ประถม ส. ที่แรก, ใช้นับบูรณสังขยา คือ ส. ประถม ม. ปฐม (ที่แรก), ส. ทวิตียะ ม. ทุติย (ที่สอง) ส. ตฤตียะ ม. ตติยะ (ที่สาม), ฯลฯ. ประถมวัย อายุ รุ่นแรก คือ รุ่นเด็ก, ตั้งแต่ ๒๐ ปีลงมา.

ประทิ่น เครื่องหอม, ของหอม ประทิ่นฉม ฉมก็ว่า เครื่องหอม. เป็นศัพท์ใช้ควบกันอย่าง เสื่อสาด ความก็ว่าของหอมเท่านั้น.

ประนัง ประดัง, ระดมกัน.

ประพฤติ, ประพฤตติการณ์ ประพฤติ (ส ปฺรวฤตฺติ; ม. ปวตฺติ) ความเป็นไป (ดูปวัตติ์ด้วย) เราใช้ว่า ความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจ, เอาความว่า ปฏิบัติ, ทำ, แต่ ประพฤตติการณ์ ใช้ว่า ข่าวคราว.

ประพันธ์ ส. ผูก, แต่ง, หมายถึงเเต่ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน คำประพันธ์ ก็คือ คำที่เป็นโคลงฉันท์กาพย์กลอน.

๑. ประภาษ, ๒. ประพาส ๑. กล่าว, พูด, ๒. เที่ยวพักแรม, เราใช้ว่าเที่ยวก็ได้ แต่ใช้สำหรับเจ้านายเป็นพื้น โดยปกติใช้ว่าเสด็จประพาสที่นั่นที่นี้.

ประมวญ รวบรวม, รวบรวมให้เป็นหมวดหมู่.

ประมุข ส. (ม. ปมุข) หัวหน้า.

ประมูล เพิ่มขึ้น ทวีขึ้น.

ประลัย ส. ทำลาย, แผลงใช้ว่า บรรลัย ก็ได้.

ประโลม ดู บรรโลม.

ประวิง หน่วงให้ช้า.

ประเวศน์ ส. การเข้าไป เข้าไป.

ประศรัย, ปรัศรัย, ปราศรัย (ส. ปรฺศฺรย) ความยินดี, เราใช้ว่ากล่าวถ้อยคำปฏิสันถาร ใช้สามัญว่า ปราศรัย แต่ ประศรัย และ ปรัศรัย เห็นแต่โบราณใช้.

ประศาสน์ ส. การสั่งสอน, การว่ากล่าว, การบัญชา, การปกครอง ใช้เป็นกริยาก็ได้.

ประสาท, ประสาทน์ ส. ความเลื่อมใส, ความโปรดปราน ประสาท ไทยเราใช้ว่า โปรดหมอบให้ก็ได้.

ประสาธน์ ม. เครื่องประดับ

ประสิทธิ์ ม. ความสำเร็จทั่ว, เราใช้ว่า ให้สำเร็จ. ยกให้เป็นสิทธิ์

ประสูติ ส. คลอด, ออกลูก.

ปราการ ส. (ม. ปาการ) กำแพง.

ปราชญ์ ส. (ม. ปัญญ) ผู้มีปัญญา.

ปราชัย (อ่านปะราไช) ดู ชัย.

ปราณ ส. (ม. ปาณ) สัตว์มีชีวิต; ลมหายใจ, ชีวิต, เจ้าปราณ คือ เจ้าชีวิต.

ปราโมทย์ (ม. ปาโมชฺช; ส. ประ+มุทฺย) ความบันเทิงใจ.

ปรารมภ์ ส. ตั้งต้น, เริ่มแรก.

ปริณายก ดู นายก.

ปรีชา เป็นศัพท์เลือนมาจาก ปรชฺญา ในสันสกฤต คือ ปัญญา นั่นเอง.

ปวัตติ์ ม. ความเป็นไป, เหตุการณ์ที่เป็นไป, เราใช้ว่า ความเป็นไปในเวลาก่อน ๆ. (คล้ายกับพงศาวดาร, แต่พงศาวดารใช้ฉะเพาะวงศ์กษัตริย์ของเรา) เราใช้ ประวัติ ก็ได้. คำนี้ ส. เป็นประวฤตฺติ คือที่เราใช้ ประพฤติ ซึ่งแปลว่าความเป็นไปเหมือนกัน. แต่เรานิยมใช้ต่างกัน ดูประพฤติ. ปวัตติกาล เวลาที่เกี่ยวกับปวัตติ์.

ปศุสัตว์ ส. สัตว์เลี้ยง เช่น ช้าง, ม้า, วัว, ควาย, เป็ดไก่ ฯลฯ ที่เราเลี้ยง ตรงกันข้ามกับสัตว์ป่า.

ปหาน ม. (ส. ประหาญ) การละทิ้ง ดู สมุจเฉท.

ปักษี ส. สัตว์มีปีก คือ นก บางแห่งใช้ปักษา ว่านก ที่จริงผิด ปักษา แปลว่า ปีก, ช้าง, ฝ่าย.

ปัญจวัคคีย์ ม. มีพวกห้า เป็นชื่อภิกษุห้ารูป ที่ฟังเทศนาธรรมจักรก่อนใคร แล้วสำเร็จมรรคผลก่อนสาวกอื่น.

ปัญญา ม. (ส. ปราชญา) ความรู้ทั่ว, ความรอบรู้.

ปัญหา, ปริศนา. (ม. ปัญหา; ส. ปฺรศนา) คำถาม, ข้อที่สงสัย. คำปริศนาก็แผลงจาก ส. ปรัศนา นั่นเอง.

ปิลิยักษ์ ม. ชื่อราชาในเรื่องสุวรรณสามชาดก เป็นผู้แอบยิงสุวรรณสาม เมื่อเดิรไปตักน้ำ แต่สุวรรณสามไม่โกรธ กลับเทศนาให้ฟัง.

ปีติ, ปรีดี ส. ความอิ่มใจ จะใช้ว่าปรีดีหรือปีติก็อย่างเดียวกัน ถ้าเชื่อมกับคำมี อะ อา อยู่ต้นเป็น ปรีดาลัย, ปรีดารมณ์ ปรีดาภิรม (อย่างหัตถาจารย์-ครูช้าง) ก็พอไปได้ แต่ถ้าใช้ว่า ปรีดา-ลอยๆ ก็ขัดเช่นเดียว เทศา ซึ่งทั้ง ภิบาล เสีย.

ปุถุชน ม. ‘ชนหนา’ คือ ผู้ยังหนาด้วยกิเลส. ตรงกันข้ามกับพระอริยเจ้า.

เปร เซ, เอียง, แปรไป.

เปรม ส. (ม. เปม) ความรัก ความพึงใจ.

แปร ย้าย, เปลี่ยน เช่น แปรสถาน, กลับไปทางอื่น เช่น แปรพักตร์ คือกลับหน้าไปทางอื่น เอาความว่ากบฏก็ได้; กลายเป็นอื่น ทำให้กลายเป็นอื่น เช่น แปรธาตุ แปรเพศ (กลายเพศ)

โปดก ม. ลูก, ได้ทั้งลูกคนลูกสัตว์ ใน ส. มี โบต แต่แปลได้เพียงลูกสัตว์, ลูกช้าง, และเรือ คล้ายอังกฤษ (Boat)

โปเสนตีม. ผู้เลี้ยงลูก ประสงค์เอามารดา

ผ.

ผจญ ดู ประจญ

ผล ม.ส. สิ่งที่เกิดจากเหตุ สิ่งที่เกิดจากการกระทำ; คุณ, ประโยชน์; ลูกไม้; ธรรมที่พระอริยเจ้าได้บรรลุ มักเรียกว่า อริยผล คู่กับ มรรค (ดู มรรคด้วย) ซึ่งเรียกรวมกันว่า มรรคผล มีอย่างละ ๔ คู่ คือ โสดาปัตติมรรค, โสดาปัตติผล เป็นคู่ต้น; สกทาคามิมรรค, -ผล, คู่ที่ ๒; อนาคามิมรรค, -ผล คู่ที่ ๓; อรหัตตมรรค, -ผล คู่ที่สุด. ผู้สำเร็จมรรคผลนี้ เรียกว่าพระอริยะ, ผู้สำเร็จอรหัตตผลแล้วนับว่าเป็นผู้ถึงที่สุดทางศึกษาในพุทธศาสนา ย่อมเข้าสู่นิพพาน (ดูนิพพานด้วย), ไม่เวียนตายเวียนเกิดต่อไป.

ผลู (ผลู) ข. หนทาง.

ผอง, ปวง ว. ทั้งหมด, ทั้งสิ้น. ใช้ประกอบได้ทั้งหน้าและหลังศัพท์อื่นทั้ง ๒ อำ เช่นผองชน, ปวงชน, หรือ ชนผอง, ชนปวง.

๑. ผ้าย ๒. ผาย ๓. พ่าย- ๑. ไป. ๒. ไป เช่นผายผัน (กลับไป); เปิด เผย เช่น ผายพจน์ (เปิดถ้อย คือพูด) ๓. แพ้

ผาสุก ม. ความสำราญ.

ผิ, ผิว, ผิว่า ถ้า, แม้, ถ้าว่า, แม้ว่า, คำ ผิว ละมาจาก ผิว่า ต้องอ่าน ‘ผิวะ’ แต่คำ ‘วะ’ ให้เร็วและเบา, อย่างเดียวกับ แม้ว ต้องอ่าน แม้วะ ฉะนั้น.

เผด็จ ข. ตัด, เช่นป้อมเผด็จดัสกร คือป้อมตัดข้าศึก.

เผดียง ดู อาราธนา

เผย เปิด เผยพจน์ เปิดคำ คือพูด, แสดง.

เผ่า เชื้อสาย เหล่ากอ.

เผือ ข้าพเจ้า, ฉัน.

ไผท ข. แผ่นดิน ไผทโกรม ใต้หล้า คือโลกมนุษย์.

ฝ.

ใฝ่ เอาใจใส่, สนใจ.

ฝ่า ขืน, ต่อสู้, บุกบัน.

พ.

พงศ์ ดู กุลวงศ์ พจนารถ ส. (พจน+อรรถ) ความแห่งถ้อยคำ.

พจี, พาท, พจน ดู วจี.

พธู, วธู, ม.ส. หญิง, หญิงสาว.

พน, พนัส (ม. วน; ส. วน, วนสฺ) ป่า, ป่าที่ตกแต่ง (Park) ใช้ วนะ, วัน, วนัส ก็ได้.

พยาธิ ม. ความเจ็บไข้.

พยุห, พยู่ห์ (ม. พยุห; ส. วฺยุห์) กระบวนศึก, กองทัพ. มักใช้นำหน้าศัพท์ เช่น พยุหแสนยากร กระบวนแห่งหมู่ทหาร พยุหยาตรา การเดิรกระบวนทัพ พยุหบาตร กระบวนพลเดิรเท้า.

พรต ส. คำเดียวกับ วัตร แปลว่า กิจที่นักบวชประพฤติ ถ้าเป็นข้อปฏิบัติทั่วไปเรามักใช้ว่า วัตร

พรรค, พรรค์ ส. หมู่, ตอน, พวก, พรรคสรวง พวกสวรรค์ คือเทวดา.

พรรณ ดู วัณ, วรรณ.

พรรษ (ส. วรฺษ ม. วสฺส) ปี ฝน, ใช้ วรรษ, วรรษา พรรษา ก็ได้.

พรหม, พรหมัน, พรหมา, พรหมาน ส. (ม. พรหม, - มา) พระพรหมในคัมภีร์พุทธศาสนา ว่าเป็นเทวดาชั้นสูง เราเขียนรูปเหมือนเทวดาแต่มี ๔ หน้า ไม่ปรากฏเพศชายหญิงไม่เสพเมถุน เพราะฉะนั้นการบวชเว้นเมถุนท่านเรียกว่า ‘พรหมจรรย์’ (ประพฤติดังพรหม) ชั้นพรหมไม่มีรูป (เรียก อรูปพรหม) มี ๔ ชั้น อยู่สูงสุด; แล้วลงมาถึงพรหมมีรูป (เรียก โสฬสมหาพรหม) มี ๑๖ ชั้น ต่อลงมาจึงถึงเทวโลก) ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยกามคุณ (เรียกว่าฉกามาวจร), แล้วจึงถึงชั้นมนุษย์; ใต้มนุษย์ก็คือชั้นบาดาล ได้แก่พิภพพญานาค และนรกทั้ง ๘ ขุม ทั้งหมดนี้รวมเรียก ไตรโลก หรือ จักรวาล ดู ไตรโลก. แต่พรหมในคัมภีร์พราหมณ์ชั้นหลังกล่าวมีมเหสีด้วยชื่อนางสรัสวดี และเป็นผู้สร้างโลก เขาถือว่าเป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๒ ใน ๓ องค์ คือพระอิศวร, พระนารายณ์ พระพรหม.

พรหมจรรย์ ส. การประพฤติดังพรหม ในพุทธศาสนาว่า การบวชเว้นจากเมถุน พรหมจารี ผู้บวชเว้นเมถุน. แต่พรหมจารีตามนิยมสามัญหมายความว่าหญิงบริสุทธิ์จากเมถุน.

พรหมวิหาร ม. ‘ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม’ คือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา. พ่อ แม่ มีธรรมเช่นนี้แก่บุตร ท่านจึงเรียก พ่อแม่ว่า “พรหม

พรหมสร ม. ‘เสียงพรหม’ ตามอธิบายว่าพรหม มีเสียงเพราะ มักชมคนเสียงดี ว่ามีเสียงดังพรหม คือ พรหมสร พระพุทธเจ้าก็เล่าว่าท่านมีสุระเสียงเหมือนพรหม.

พราง ไม่แสดงความจริง, ลวงให้เข้าใจผิด, ทำลวงไว้, หลุมพราง คือหลุมที่เต่าทำลวงไว้ ธรรมดาเต่าเมื่อขุดหลุมไข่ ย่อมทำหลุมพรางไว้หลายหลุม แล้วจึงขุดหลุมไข่จริง ๆ ในที่เหมาะ เราจึงนำเอาคำ ‘หลุมพราง’ มาใช้ในที่อื่น ๆ ทำหลุมพรางไว้ ก็หมายความว่าทำกลลวงไว้ ยิงพรางพะม่า ยิงลวงพะม่าให้เข้าใจผิด.

พราหมณ์ ม. ‘ผู้เชื้อพรหม’ ได้แต่ตระกูลในชมพูทวีปตระกูล ๑ นับว่าเป็นตระกูลสูงที่สุด ดู วัณ วรรณ.

๑. พฤกษ์ ๒. พฤกษชาติ ส. (ม. รุกข) ต้นไม้. ใช้รุกขก็มาก ๒ มักเอาศัพท์ ชาติ มาเป็น สกรรถ (ดู สกรรถ) เป็นพฤกษชาติ, รุกขชาติ. และมักใช้เลยไปเป็นพฤกษารุกขา ก็มี.

พฤกษฉาย ส. เงาไม้ ร่มไม้, ที่ถูกควรเป็น-ฉายา. แต่ศัพท์นี้เราใช้ลด อา เป็นฉายก็ได้ เช่น พระฉาย.

พฤฑฒิ ดู วุฑฒิ.

พฤษภ ส. (ม. อุสภ) วัว

พล, พลขันธ์- พล ม. ส. (ใช้ว่าพละก็ได้) กำลัง, หมายถึงกำลังทั้ง ๔ คือ กำลังกาย, กำลังทรัพย์, กำลังปัญญา, และกำลังยศศักดิ์; เพราะฉะนั้นพล จึงหมายถึงผู้คนก็ได้ เช่น พลเมือง, พลทหาร ฯลฯ และคำ พลขันธ์ ก็คือกองทหารนั้นเอง

พลากร ม. (พล+อากร) บ่อเกิดแห่งกำลัง คือพวกพล, กองทหาร.

พลี [อ่าน พ๎ลี] เจียดออก เช่นพลีชีพถวายกษัตริย์; เจียดเอามา เช่น พลีรากไม้มาทำยา ถ้าอ่าน ‘พะลี’ แปลว่า เครื่องบูชา, ส่วย เช่น ศึกษาพลี.

พลีกรรม [พะลีกำ] ส. การบวงสรวง, การบูชา.

พสก ม. ผู้อยู่, ชาวเมือง.

พสุธา, พสุนธรา ม.ส. แผ่นดิน, ใช้ กับ ดล (พื้น) เป็น พสุธาดล, พสุนธราดล ว่า พื้นแผ่นดิน ก็ได้.

พ้อ ต่อว่า, พูดถากถาง, พูดติเตียน.

พักตร์ (ม. วตฺต; ส. วกฺตร) หน้า, ปาก. แต่เรานิยมใช้ว่าหน้าอย่างเดียว.

พันลอก ผลิ, เผล็ด.

พัสดุ, วัตถุ (ส. วสฺตุ; ม. วตฺถุ) สิ่งของ. เรานิยมใช้ต่างกัน คือ พัสดุ มักใช้ว่าสิ่งของ แต่ วัตถุ ตาม ม. ใช้ได้หลายอย่าง คือ:- ๑. ที่ทาง, สวน เช่น วัตถุเทวดา (เทวดาเจ้าที่) ๒. เรื่อง เช่นวัตถุนิทาน (เรื่องต้นเหตุ). ๓. ใช้ว่าสิ่งของก็ได้.

พัสตร์ ส. (ม. วตฺถ) ผ้า

พากย์ ดู วากย์.

พ่าง เพียง, เท่า. พ่าง, พาง, เพียง, ปาง (เช่น ปางตาย) ความเดียวกัน, ที่ใช้รวมกันก็มี เช่น เพียงพางจะบรรลัย เป็นต้น.

พาหนะ, พ่าห์ พาหะ ศัพท์เดิมคือ ม.ส. วาห, วาหน แปลว่า เครื่องพาไป. ได้แก่สัตว์ เช่น ช้าง ม้า โค ฯลฯ เรียก สัตวพาหนะ และยาน เช่น รถ เรือ ฯลฯ เรียก ยานพาหนะ ในคำประพันธ์ ใช้ พาหน (-หน) ก็ได้ แต่คำ พ่าห์ มักใช้ประกอบท้ายศัพท์ ม.ส. ด้วยกัน เช่น ครุฑพ่าห์ กบี่พ่าห์ ฯลฯ ใช้ วาห, วาหน ตามเดิมก็ได้.

พิฆาต, ฆาต ม. ฆ่า, ตี. ฆาตกรรม คือการฆ่ากัน.

พิจารณ์ พิจารณา ดู วิจารณ์

พิจิตร, ไพจิตร ดู วิจิตร.

พิณ (ส.ม. วีณ) เครื่องดนตรีมีสายใช้ดีด, พิณพาทย์ เครื่องดนตรีของไทยมีฆ้องวง, ระนาด ฯลฯ ซึ่งบัดนี้ท่านใช้ ปี่พาทย์.

พิทักษ์ รักษา. ดูแล, ป้องกัน. แต่ไม่ใช่อย่างหมอรักษาไข้ เรียกว่า เยียวยา, ตรงกับ ส. ว่า จิกิตสา.

พิธ (ม.ส. วิธ) อย่าง, ชะนิด. มักใช้ประกอบท้ายศัพท์สังขยา หรือศัพท์บางศัพท์ ซึ่งเป็นศัพท์ ม. หรือ ส. ด้วยกัน เช่น ทุวิธ (สองอย่าง), ติวิธ ตรีพิธ, ไตรพิธ (สามอย่าง), จตุวิธ จตุพพิธ จตุรพิ (สี่อย่าง) ปัญจวิธ, เบญจพิธ (ห้าอย่าง) ฉัพพิธ (หกอย่าง), สัตตวิธ สัปดพิธ (เจ็ดอย่าง), อัษฐิพิธ (แปดอย่าง) นววิธ (เก้าอย่าง), ทศพิธ (สิบอย่าง) วิวิธ, พิพิธ, นานาพิธ (ชะนิดต่างๆ) อเนกพิธ (หลายอย่าง). จะใช้ วิธ หรือ พิธ ก็ได้.

พิธี ดู วิธี.

พินาศ ดู วินาศ.

พิบุล, ไพบูลย์ ดู วิบูล.

พิพิธ ดูใน พิธ.

พิมล ดู วิมล.

พิมาน วิมาน ม.ส. ที่อยู่แห่งเทวดา คำนี้มักใช้สาหรับเทวดาเป็นพื้น. ใช้เป็นชื่อพระที่นั่งก็มีบ้าง.

พิลาส, วิลาส ม.ส. งดงาม.

พิศ, พินิศ ดู, เพ่งดู, ต่างกับ พินิจ วินิจ ซึ่งแปลว่า พิจารณา ตรวจตรา, ตัดสินข้อความ ตัดมาจาก ม. วินิจฺฉย ส. วินิศฺจย. ในความว่าดู ต้องใช้ พินิศ จะแผลงเป็น วินิศ ไม่ได้; ถึงในความว่าพิจารณา, ฯลฯ ก็ใช้แต่ วินิจ พินิจ, ไม่ใช้ พินิศ วินิศ เลย.

พิศมร เครื่องรางหรือเครื่องประดับทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนร้อยด้ายสลับกับลูกประหล่ำ และกะตุต มักทำด้วยทองคำหรือเงินมักเรียกคู่กันว่ากะตุดพิศมร ดู กะตุด.

พิศวาส ดู วิสสาสะ.

พิศาล, ไพศาล ดู วิศาล.

พิศิษฎ์ ดู วิศิษฏ์.

พิเศษ ดู วิเศษ.

พิสดาร ดู วิตถาร.

พิสัณห์ ม. ละเอียดอย่างวิเศษ.

พิสุทธิ์, วิสุทธิ์ อย่างเดียวกัน ดูใน สิทธิ.

พีระ ดู วีระ

พืช (ม.ส. วีช) สิ่งที่มีชีวิตนอกจากสัตว์ คือต้นไม้ผักหญ้าที่งอกตามพื้นดิน พืชพรรณ ชะนิดพืช.

พุทธ ม. “ผู้ตรัสรู้แล้ว คือที่ใช้เป็นสามัญว่าพระพุทธเจ้า. ใช้ว่า สัมพุทธ (ผู้ตรัสรู้เอง) ก็ได้ ซึ่งเรามักใช้เรียกว่าพระสัมพุทธเจ้า.

พุทธภาษิต ม.ส คำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้.

พุทธาทิคุณ (ม. พุทธ-+-อาทิ+คุณ) คุณแห่งที่นับถือ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ดู อาทิ ด้วย

พุทธานุภาพ ม. (พุทธ+อานุภาว) อานุภาพ (อำนาจ, เดช) ของพระพุทธเจ้า.

ภูมิ, พากภูมิ อิ่มยศ, อิ่มความดี, ภูมิใจ อิ่มใจด้วยได้รับผลดี.

เพ็ญ ข. เต็ม วันเพ็ญ คือวันพระจันทร์เต็มได้แก่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ

เพรง ก่อน, กาลก่อน.

แพร้ว งามแพรวพราย รุ่งเรือง.

แพสย์ ส. (ม. เวสฺส) พ่อค้า. เรียกคนตระกูลหนึ่งในชมพูทวีป ดู วัณ วรรณ ด้วย

โพธิ, โพธิญาณ โพธิ ม. ปัญญาเครื่องตรัสรู้ (หมายเอาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) เอาความว่า ความเป็นพระพุทธเจ้า. โพธิญาณ ม. ความรู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า หมายความอย่างเดียวกับ สัมโพธิ , สม–; 5 สัมโพธิญาณ สม-; สํ แปลว่า เอง หรือ พร้อม ความหมายก็อย่างเดียวกัน.

โพธิสัตว์ ส. (ม. โพธิสัตต์) ผู้ข้องด้วยโพธิญาณ หมายเอาผู้ที่จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า เช่นพระเวสสันดร, พระชนกพระสิทธารถ (เมื่อยังไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ฯลฯ)

ไพรสณฑ์, -สัณฑ์, -สาณฑ์ ไพร ข. ป่า สัณฑ์ ม. แนวรวมกันว่า แนวป่า สณฑ์, สาณฑ์ มาจาก สัณฑ์

ไพรี, เวร- เวร ม.ส. การผลัดเปลี่ยนกัน เช่น อยู่เวร, การผลัดกันทำร้าย การแก้เผ็ดกัน. เช่น ผูกเวร ไพรี (ม. เวรี. ส. ไวรี) ผู้มีเวรต่อกัน. คือศัตรู

ฟ.

ฟ่อง ลอย.

ฟูมฟาย, เฟือฟาย- ฟูมฟาย สุรุ่ยสุร่าย. เฟือ ฟาย มากจนเหลือใช้.

เฟื่องคุณ คุณฟุ้งไป. เฟื่อง ว่า ฟู ก็ได้ เช่น เศลษม์เฟื่อง; ว่าเครือดอกไม้ หรือ เครือดน สำหรับห้อยประดับสิ่งต่าง ๆ ก็ได้ เช่น เฟื่องประดับพระบรมโกศ ฯลฯ.

ภ.

ภควดี เป็นสตรีลึงค์ของศัพท์ ภควันต์, ภควัต, ดูที่นั่น ใช้เรียกพระอุมา ชายาพระอิศวร หรือพระลักษมี ชายาพระนารายณ์ และนางกษัตริย์ที่นับถือ.

ภควันต์ ภควัต, ภควา, ภควาน ม.ส. ผู้มีพระภาคย์ (โชค) ใช้เรียกผู้ควรเคารพ เช่น พระพุทธเจ้า เทวดาที่นับถือ.

ภพ, ภว ม.ส. โลก, ที่สัตว์เกิด ภพนี้ คือ ชาตินี้ ภพหน้า คือ ชาติหน้า.

ภพตรัย ส. ประชุม ๓ แห่งภพ, อย่างเดียวกับ ไตรโลก ดูที่นั่น.

ภักดิ์, ภักดี ส. เต็มใจสมัครด้วยความสุจริต สมัครเป็นข้าโดยความรัก.

ภักษ ส. ของกิน, ภักษาหาร ส. อาหารของกิน

ภัค, ภาค- ภัค ม.ส. โชค, ความดี เช่น ภควันต์ คือพระผู้มีโชค อัปภาค ไร้โชค. แต่ภาค ว่าส่วนก็ได้ เช่น ภูมิภาค คือส่วนแผ่นดิน.

ภัณฑ์ ม. (ส. ภาณฺฑ) สิ่งของเครื่องใช้.

ภัย ม.ส. สิ่งที่น่ากลัว.

ภาพ, ภาวะ ม.ส. ใช้ประกอบท้ายศัพท์ แปลว่า ความ, ความเป็น เช่น มรณภาพ (ความตาย), ภิกษุภาพ หรือ ภิกษุภาวะ (ความเป็นภิกษุ) แต่ ภาพ ไทยใช้ว่ารูปที่เขียน ใช้ว่ารูปภาพก็ได้; รูปของสถานที่, หรือสิ่งของซึ่งเห็นด้วยตาที่อังกฤษเรียกวิวก็ได้; อนึ่ง คำ ‘ภาพ’ นี้ใช้เป็นสกรรถก็ได้ เช่น สตรีภาพ หมายถึงสตรีเท่านั้น ภาพไม่ต้องแปล เป็นสกรรถ ดู สกรรถ

ภาร, ธุระ ๒ ศัพท์นี้ เป็น ม.ส. แปลว่า การงานหนักอย่างเดียวกัน ถ้าใช้รวมกันว่า ภารธุระ แปลว่า ธุระหนัก

ภาวะ ดู ภาพ

ภาษิต ส. คำที่กล่าวแล้ว แต่เราหมายความถึงคำที่เป็นข้อสอนคดีโลกคดีธรรมอย่างเดียวกับ สุภาษิต (คำที่กล่าวดี) เหมือนกัน

ภิกขุ ม. ภิกษุ ส. ผู้ขอ. ในพระพุทธศาสนา ใช้เรียกผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเรียกว่า สงฆ์.

ภิปราย ดู นุช.

๑. ภิยโย ๒. ภิญโญ. ๒. แผลงจาก ๑. แปลว่า โดยยิ่ง.

ภิรม คืออภิรม, ว่ายินดียิ่ง.

ภุชงค์ ‘มีตัวเหมือนแขน หรือไปด้วยขนด’ คือ งู.

ภู. ภูผา.- ภู ม.ส. แผ่นดิน เช่น ภูบดี. ไทยว่าเขา เช่น ภูแล่นช้าง; ผา ว่า เขา ก็ได้ เช่น ผา เผือก (เขาไกลาส) ว่า หินก็ได้ เช่น ชะง่อนผา. ภูผา ถ้าจะแปลให้ตรงต้องว่าเขาเป็นหินล้วน. เพราะ เขา ไม่เป็นหินทั้งหมด บางแห่งทำการเพาะปลูกได้.

ภูบดี, ภูบาล, ภูบดินทร์ ภูธร ฯลฯ ม.ส. ศัพท์เดิม ‘ภู’ แผ่นดิน (หรือ ‘ภูว’ ไทยใช้แผลง) แล้วเอาศัพท์ ป (เลี้ยง ปกครอง), บดี (เจ้า) ธร (ทรงไว้), นาถ (เป็นที่พึ่ง), อินทร์ (จอม), อีศ อีศวร (เป็นใหญ่) , ประกอบท้ายเป็น ภูปะ, -เบศร์, -เบศวร์, -เบนทร์, -บดี, -ธร, (คำนี้ว่าภูเขา ก็ได้) -นาถ, -วนาถ, - วินทร,-เวศวร์ ฯลฯ (ประสมแปลเอาเอง) ซึ่งหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งนั้น ภูวเรศวร์ คือ ภู+วร+อิศวร ความอย่างเดียวกัน ศัพท์ ภูมิ ที่ใช้ประกอบกับศัพท์ข้างบนนี้ได้ ที่ใช้มาก คือ ภูมินทร์ ภูมีศวร (ภูเมนทร -เมศวร ผิด อิ-อี เป็น เอ ไม่ได้) ในคำประพันธ์เห็นใช้ ภูมี ก็ได้ เช่น พระภูมี คงละมาจาก ภูมีศวร ซึ่งหมายความว่าพระเจ้าแผ่นดิน

ภูมิ ม. แผ่นดิน, พน, ชั้น ภูมิอารย์ คือ ชั้นอารย์ ดู อารย์

ภูวนาถ ดู ภูบดี

ภูษิต, ภูษา ศัพท์นี้ตาม ส. แปลว่าประดับ, แต่เราใช้ว่า ผ้า, ผ้านุ่ง ใช้ในราชาศัพท์ว่าพระภูษิต พระภูษา

โภชน์ ม. ของกิน, เข้า.

ม.

มกุฎ มงกุฎ (ม.ส. มกุฎ) เครื่องสวมพระเศียรพระราชาของไทยมียอดมหลมอย่างชฎาละคร แต่ของประเทศอื่นมีรูปต่างออกไป.

มงคล ม. เครื่องให้เกิดความเจริญ เราใช้เรียกด้ายที่ทำเป็นบ่วงสำหรับสวมศีรษะ ซึ่งเสกด้วยพุทธมนตร์ หรือเวทมนตร์อื่น ๆ เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ

มณฑล ม. จังหวัดกลม, ดวงกลม (เช่นจันทรมณทล). ตามการปกครองของสยามเรา รวมจังหวัดเข้าเป็นมณฑลหนึ่ง มีสมุหเทศาภิบาลเป็นประธาน.

มณี ม.ส. แก้ว.

มน, มนัส, มานัส ใจ, มน ม. มักอ่าน มะนะ ที่อ่าน มน มีน้อย. มนส ส. อ่าน มะนะสะ ก็ได้ และ มานัส ม.ส. ก็อ่าน มานะสะได้.

มนท์, มันท ม. โง่, เขลา.

มนเทียร (ม.ส. มนฺทิร) เรือนหลวง, วัง ใช้มนทีร ก็ได้.

มโนรม ม. ความรื่นรมใจ, ว. เป็นที่ยินดีเเห่งใจ

มรรค, มารค, มรรคา มรคา (ม. มคฺค; ส. มารค) หนทาง, ช่องทาง, ทางปฏิบัติ. เรานิยมใช้ต่างกันคือ - มารค ใช้ว่าทางไปมา, ทางบกว่า สถลมารค, ทางน้ำว่า ชลมารค, และ มรรคา, มรคา ใช้ เหมือนมรรค และใช้ว่าทางปฏิบัติ ซึ่งเปรียบกับทางไปมาก็มี. มรรค มักใช้ว่า ทางปฏิบัติ เช่น อริยมรรค มรรคผล; ช่องในร่างกาย เช่น ทวารหนัก เรียก เว็จจมรรค, ทวารเบา เรียก ปัสสาวมรรค. ใช้ ว่าทางไปมาก็มีบ้าง

มรรยาท, มารยาท (ม. มริยาทา; ส. มรฺยาทา) ส่วนจำกัด, ขอบฝั่ง, ข้อกำหนดความประพฤติ. เราใช้ในความข้อท้ายอย่างเดียว และ มารยาท ใช้แพร่หลายกว่า มรรยาท.

มฤดก ส. (ม. มตก) ผู้ตาย ไทยใช้ว่า ทรัพย์ของผู้ตายด้วย.

มลังเมลือง งดงาม, รุ่งเรือง.

มลาย ทำลาย, แตก.

มลาว คือ ลาวนั่นเอง อย่างล้าง=มล้าง ฯลฯ

มวล (เนื่องมาจากมูล=ราก เหง้า เค้า, ต้นเดิม), หมดทั้งรากเหง้า หมายความว่าทั้งหมด. ใช้ประกอบได้ทั้งหน้าและหลังศัพท์อื่น เช่น มวลมิตร มิตรมวล ฯลฯ.

มหันต์, มหา, มหึมา ม. ใหญ่. แต่ มหา มักใช้นำหน้าศัพย์อื่น เช่น มหาราช, มหามุนี ฯลฯ

มหิษี มเหสี- มหิษี ส. พระชายาเอกของพระเจ้าแผ่นดิน มเหสี ม. แปลได้ ๒ อย่าง คือ ๑. อย่าง มหิษี ๒. (ม. มหา+อิสี=มเหสี ; ส. มหา+ฤษี=มหรฺษี) ฤษีใหญ่ เราใช้ว่าพระพุทธเจ้า.

มเหศวร, มเหศวร์, ส. (มหา+อีศวร) พระอิศวรผู้เป็นใหญ่.

มโหฬาร, มเหาฬาร ม, (มหา+อุฬาร) ยิ่งใหญ่.

มัจจุ ม. มฤตยู ส. ความตาย, ตามตำนานสมมุติว่าเป็นเทวดา จึงเรียกว่า มัจจุราช, มฤตยูราช มีหน้าที่คอยตัดชีวิตสัตว์. ได้แก่พญายม นั้นเอง.

มัจฉะ ม. (ส. มตฺสย) ปลา แต่นิยมใช้ มัจฉา มัตสยา (ที่สะกดมัศยา ผิด)

มาด. มาตร- มาด มุ่งหมาย, ตั้งใจเจาะจง มักใช้ควบกัน เช่น มุ่งมาด, หมายมาด. มาตร สัก, ประมาณ เช่น มาตรว่า ฯลฯ

มาตุ ม. (ส. มาตฤ) เราใช้มาตุ, มาดา, มารดา มาดร, มารดร แปลว่า แม่ทั้งนั้น. แต่มาตุ อ่าน ‘มาด’ ก็ได้ ในคำประพันธ์.

มาน ข. มี (แต่เขมรอ่าน เมียน) เราใช้ ร. สะกดก็มี เช่น มารศรี (มีสิริ) มารพระบัณฑูร (มีคำสั่ง)

ม่าน พะม่า; ผ้าเครื่องกั้น.

มานะ ม.ส. ความถือตัว, ความทะนงตัว, ไทยใช้ว่า ตั้งหน้า, บากบั่น, มุ่งให้สำเร็จด้วยความทะนงตัวก็ได้ เช่น “จงมานะเล่าเรียน”

มาร ผู้ฆ่าบุณย์ จัดเป็น ๕ เรียก เบญจมาร คือ ขันธมาร ร่างกายที่ลวงเราให้หลง. กิเลสมาร ความเศร้าหมองใจ คือ โลภ โทส โมห, ที่ยอมใจเรา มัจจุมาร ความตาย อภิสังขารมาร คือกรรม เทวบุตรมาร มารที่เป็นเทวดา อยู่สวรรค์ชั้นที่ ๕ เรียก นิมมานรดี ชั้นที่ ๖ เรียก ปรนิมมิตวสวัตดี พญามารข้างท้ายนี้ ได้ขี่ช้างคิริเมขล์ ยกพลมาปล้นบัลลังก์พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ

มารศรี ดู มาน.

มาลา มาลี มาลย์ มาลัย ศัพท์เดิม ม.ส. มาลา ระเบียบ, ระเบียบดอกไม้ที่แต่งเป็นช่อเป็นพวงเป็นต้น ระเบียบอื่นๆ ก็ใช้เช่น บทมาลา=ระเบียบแห่งบท นอกจากนี้ มาลา ไทยใช้หมายความว่าช่อหรือพวงดอกไม้ ใช้ว่าดอกไม้ทั่วไปก็ได้ และใช้ในราชาศัพย์ ว่าหมวก เรียกพระมาลา แต่ มาลัย หมายเอาดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวงเรียกพวงมาลัย ผิดกับพวงมาลา ซึ่งหมายถึงดอกไม้ใบไม้ที่ทำเป็นวง ใช้เป็นเครื่องสักการศพ (เรียกตามอังกฤษว่าพวงหรีด).

มาศ ช. ทองคำ

มิ่ง ดู ขวัญ

มิตร, เมตตา, ไมตรี มาจากต้นศัพท์เดียวกันว่ารัก มิตร ส. (ม. มิตฺต) ผู้รักกัน คือเพื่อน. เมตตา ม. ความรัก อธิบายว่า ความอยากให้เขาได้สุข. ไมตรี ส. มีความรัก แต่เราใช้ว่าความรัก ไมตร อีกคำหนึ่ง เราใช้ เมตร ความอย่างไมตรี เช่น ‘เมตรมุ่งคุ้งวายวาง’ มิตรสัมพันธ์ การผูกมิตร การคบเพื่อน.

มี่, มะมี่ ดัง เอ็ด อึกทึก.

มุข ม.ส. ปาก หน้า เรานิยมใช้ว่า หน้า โดยมาก.

มุทิตา ม. ความบันเทิงจิตต์ตาม, คือ เมื่อเห็นท่านได้ความสุขก็บันเทิงจิตต์ตาม.

มุนินทร์ ดูในมุนี

มุนิศวราจารย์ ส. (มุนี+ อีศวร+อาจารย์) (อาจารย์เป็นใหญ่ว่านักปราชญ์ หมายเอาพระพุทธเจ้า.

มุนี (ม.ส. มุนี) นักปราชญ์ มุนินทร์ จอมนักปราชญ์, และ มุนีนาถ ที่พึ่งของนักปราชญ์, สองศัพท์นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า.

มุนีนาถ ดูในมุนี.

เมิล ข. มอง, ดู.

เมียงม่าย- เมียง คือ มองมา แอบเข้ามา; ม่าย ตรงข้ามกับ เมียง คือ เมินไป ถอยห่างออกไป, ร้างไป. เมียงม่าย คือมอง ๆ เมิน ๆ, ประเดี๋ยวแอบเข้ามา ประเดี๋ยวถอยห่างออกไป. (แม่ม่าย ก็คือ แม่ร้าง).

แมน เทวดา.

โมทนา ม. การแสดงความยินดี, อย่างเดียวกับอนุโมทนา คือ เห็นท่านทำบุญหรือความดีใด ๆ ก็ออกปากแสดงความปีติยินดีด้วย.

โมหันธ์ (ม. โมหt อนฺธ) โง่เขลาอย่างตาบอด.

โมฬี, เมาฬี. ม. มวยผม.

ย.

ยง, ยรรยง, ยะยรรยง งาม องอาจ, สง่าผ่าเผย.

ยม ม.ส. คือ พญายม หรือยมราช. กล่าวว่าเป็นเทวดา เจ้าเมืองนรก คนถึงตายแล้ว พระยายมต้องเอาชีวิตไปทุกรูปทุกนาม ไม่ลำเอียงเลย, จึงเรียกกันว่า พระธรรมราช เอาความว่าผู้เที่ยงธรรม ศึกยม คือ ศึกพญายมนี้ ได้แก่ความตายซึ่งไม่มีใครสู้ได้เลย

ยล ดู เห็น, มอง.

ยศ ส. ความเป็นใหญ่. ดูศักดิ์ด้วย.

ยอ ชื่อเครื่องดักปลา; ชื่อต้นไม้; ยก เช่น ยอกร, ยอหัตถ์; พูดยกย่อง เช่น เยินยอ, คลื่นยอ คือ คลื่นยกเรือ หรือหนุนเรือ.

ยั้ง หยุด, อยู่ ยั้งเผ้า อยู่เหนือผม.

ยาตร, ยาตรา (ส. ยาตฺรา เราตัดใช้ ยาตราก็ได้) การเดิร การดำเนิร.

ยาน ม. เครื่องบรรทุกสิ่งของไปหรือพาคนไป เช่น รถ, เรือ ฯลฯ.

ยุค ม.ส. คู่ (อย่างยุคล), คราว; ในกัปป์ ๑ แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ กลียุค ทวาปรยุค ไตรดายุค กฤดายุค (เรียกชื่อตามแต้มลูกบาศก์ คือ กลิแต้ม ๑, ทวาประ ๒, ไตรดา ๓, กฤดา ๔). เวลานี้เขานิยมว่าอยู่ใน กลียุค ถือว่าเป็นยุคร้าย. ยุคใช้สามัญว่า สมัย, คราว, ครั้ง ก็ได้

ยุคล ม.ส. คู่. ยุคลถัน นมทั้งคู่. ยุคลบาท เท้าทั้งคู่ บาทยุคล คู่แห่งเท้า.

ยุทธ์, ยุทธนา - ยุทธ์ ม.ส. สู้รบ. ยุทธนา (แผลงจากยุทธ) การรบ. ถ้าเป็นคนใช้: โยธ ผู้รบ ทหาร. ดู โยธาด้วย.

ยุทธหัตถี ม. เราประกอบใช้ในภาษาไทยว่ารบช้างคือการชนช้าง.

ยุบล เรื่องราว, ข้อความ ถ้อยคำ

เยาว์ มาจาก ยุว (เราใช้ ยุพ ก็ได้) ส. ยุวนฺ (เราใช้ ยุพาน ก็ได้) ว่ารุ่น คือ หนุ่ม หรือ สาว, กำหนดอายุแต่ ๑๖ ถึง ๓๐ ปี เพศชายใช้ว่า ยุวา, ยุพา, ยุพาน. เพศหญิงใช้ว่า ยุวดี, ยุพดี, ยูนี แต่ ยุพา เราใช้เป็นหญิงก็มี. ถ้านำหน้าคำสมาสต้องใช้ ยุว, ยุพ, เยาว. เช่น ยุวราช, ยุพราช, เยาวราช ฯลฯ.

เยาวมาลย์ ‘ดอกไม้รุ่น,’ เป็นคำชมเชยผู้หญิงว่าเหมือนดอกไม้พึ่งบาน, หรือใช้ว่าหญิงก็ได้. ดูเยาว์ และ มาลา.

เยื้อน แย้มโอษฐ์, เอาความว่า กล่าว เยื้อนยุบล กล่าวถ้อยคำ.

แยบ อุบาย, กลวิธี.

โยค ม. ‘ประกอบ’ มักอยู่ท้ายศัพท์ เช่น ยศโยค ประกอบด้วยยศ.

โยธา, โยธี- โยธา ม.ส. ศัพท์นี้ออกจาก ม.ส. โยธ (พลรบ, ทหาร) แต่เราใช้เป็น โยธา (พระยาราชโยธา), โยธี หรือ โยธิน ผู้มีพลรบ คือนายทหาร หรือทหารก็ใช้.

ร.

รจนา, รจิต. ม.ส. แต่ง, มักใช้แต่งหนังสือ.

รณ ส. การรบ รณรงค์ สนามรบ, บางแห่งไทยเราตัดใช้เพียง ณรงค์ ก็มี.

รพิพงศ์ ดู สุริยวงศ์.

รม, รมย์, รมเยศ. ม.ส. รื่นเริง, ยินดี รม กับ รมย์ ใช้เหมือนกัน รมเยศ ก็คือ ‘รมย+อีศ,’ ‘อศ’ เป็นสกรรถ; ดู สกรรถ.

รวิ, รพิ, รพี. (ม.ส. รวิ) พระอาทิตย์ แผลงเป็น รำไพ ก็ได้.

รโหฐาน ม. ที่สงัด, คือที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม.

ระบิล เรื่องราว, แบบแผน.

ระลุง, ระลวง เป็นทุกข์, เศร้าใจ ระลวง แผลงจาก ระลุง.

รัง สร้าง, มักใช้ว่า รังสฤษฏิ์, รังสรรค์ ที่จริง สฤษฏิ์ สรรค์ ก็แปลว่าสร้างเหมือนกัน รวมความก็ว่าสร้างเท่านั้น.

รัชช์ ม. ราชย์ ส. ความเป็นพระราชา, คือการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เอาความว่าราชสมบัติก็ได้ (ใช้ รัช ก็ได้).

รัชชกาล ม. เวลาแห่งความเป็นพระราชาของกษัตริย์องค์หนึ่ง ๆ เรียกว่ารัชชกาลหนึ่ง ๆ (ใช้รัชกาลก็ได้) เรียกสามัญว่านแผ่นดินหนึ่ง ๆ.

รัชนี (ม.ส. รชนี) กลางคืน. รัชนีกร ผู้ทำกลางคืน คือ พระจันทร์. อย่างเดียวกับ นิสา กลางคืน นิสากร ‘ผู้ทำกลางคืน’ พระจันทร์ คู่กับ ทิน (วัน) ทิวา (กลางวัน) ทินกร ทิวากร ‘ผู้ทำวัน’ พระอาทิตย์.

รัฎฐ์, รัฐ, ราษฎร์ (ม. รัฏฐ; ส. ราษฎร) แว่นแคว้น, ประเทศ, แต่ราษฎร์ หมายความว่าแว่นแคว้นก็ได้, ชาวแว่นแคว้นก็ได้ ถ้าเขียน ราษฎร (ราดสะดอน) หมายถึงชาวแว่นแคว้นอย่างเดียว รัฏฐบาล ผู้ปกครองบ้านเมือง สยามรัฐ, สยามราษฎร์, แคว้นสยาม, ชาวสยาม.

รัตน ส. (ม. รตน) แก้ว. รัตนตรัย ส. หมวด ๓ แห่งแก้ว คือ พระพุทธเจ้า, พระธรรม, พระสงฆ์

รัศมี ส. รังสี ม. แสง, แสงปรากฏเป็นสีต่าง ๆ.

รากษส ส. ยักษ์พวกหนึ่ง ผีเสื้อน้ำที่เฝ้าสระก็เป็นรากษสเหมือนกัน ดู เสื้อน้ำด้วย.

ราค, ราคะ, ราคา, - ราค, ราคะ ม. ความกำหนัด, ราคา เป็นชื่อธิดาพญามาร. เนื้อความก็ออกจาก ราคะ นั้นเอง พญามารนี้ชื่อ ปรนิมมิตวสวัตดี (ดูที่นั่น) มีธิดา ๓ คน คือ นางตัณหา (ความทะยานอยาก), นางราคา และ นางอรดี (ความริษยา).

ราคี ม. ผู้มีราคะ คือความกำหนัด, ซึ่งเป็นมลทินของสมณะ เราจึงนำมาใช้เป็นสามัญว่า มลทิน, ความมัวหมอง.

ราชบัญญัติ ม. ‘แบบแผนที่แต่งตั้งขึ้นเป็นของหลวง’ เอาความว่าข้อบังคับหลวง. เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย.

ราไชศวรรย์ ส. (ราช+ไอศวรรย์) ราชสมบัติ.

ราตรี ส. กลางคืน

๑.ราน ๒. ราญ ๓. รำบาญ- ๑. ตัด, ๒. รบ. ๓. แผลงจาก ๒. แปลว่ารบเหมือนกัน.

ราม, รามาธิบดี, รามินทร์, ราเมศร์ ฯลฯ ส. ศัพท์เดิมว่า ‘ราม’ ว่า น่ายินดี, งาม ฯลฯ ออกจาก ‘รม’ (ยินดี), ไทยใช้เป็นมงคลนาม คือ เอาชื่อพระรามในรามเกียรติเป็นนิมิตต์ เพราะเขานับถือว่าพระรามแบ่งภาคมาจากนารายณ์ เรียกว่ารามาวตาร ใช้เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน, แต่มีสร้อยประกอบ เช่น อธิบดี, อินทร, อิศวร เป็น รามาธิบดี, -มินทร, -เมนทร์ , -มิศวร์ -เมศวร, มักใช้ในคำประพันธ์โดยมาก.

ราศี ส. กอง เช่น กุศลราศี (กองกุศล), บุญญราศี (กองบุญ); ชื่อมาตราวัดมุม คือวงกลมมี ๑๒ ราศี, ราศี ๑ มี ๓๐ องศา, จักรราศี คือวงกลมแห่งท้องฟ้า, ซึ่งมี ๑๒ ราศี คือ ราศีเมษ ราศีพฤษภ ฯลฯ

ริปู (ม.ส. ริปุ) ข้าศึก.

ริษยา (ม. อิสฺสา; ส. อีรษฺยา) ความไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี และมักเรียกเพี้ยนไปเป็น อิจฉา (ความปรารถนา) ที่ถูกต้องเป็น อิสสา.

รุขข์, รุกขชาติ ดู พฤกษ์.

รุจิร, รุจี, รูจี, ม.ส. รุ่งเรือง, งดงาม. รุจิเรข ม. ลวดลายงาม.

รุทร ส. ‘ร้ายแรง’ เป็นนามพระอิศวร. ใช้ว่า ร้ายแรง ก็ได้

๑. เรี่ยราย ๒. เรี่ยไร ๑. เรี่ยราด, เกลื่อนกลาด. ๒. ชักชวนให้ออกทรัพย์ทำบุญตามศรัทธา โบราณใช้ว่า ไรทรัพย์ก็มี คือเรี่ยไรทรัพย์นั้นเอง

เรื้อง, เรือง คำเดียวกัน ว่ารุ่งเรือง แต่ เรื้อง มักใช้ในลิลิต.

โรคาพาธ ม. คือ โรค (ความเจ็บไข้ต่าง ๆ) +อาพาธ (ความถูกเบียดเบียฬร่างกายต่าง ๆ), ๒ ศัพท์นี้ความอย่างเดียว แต่มักใช้ควบกัน.

โรงคัล โรงสำหรับเข้าเฝ้า, ท้องพระโรง.

โรจน์ ม.ส. ความรุ่งเรือง.

ไร้ ขาด, ไม่มี, มักประกอบหน้าศัพท์อื่น เช่น ไร้ญาติ ไร้ทรัพย์.

ฤด เราแผลงใช้จาก ม.ส. รติ แปลว่า ความยินดี.

ฤทธิ์ ส. (ม. อิทฺธิ) ความสำเร็จ อานุภาพที่ทำอะไรๆ สำเร็จ บางทีใช้รวมกันทั้ง ม.ส. ว่า อิทธิฤทธิ ความอย่างเดียวกัน.

ฤษี, ฤๅษี (ส. ฤษี: ม. อิสี) นักบวชพวกหนึ่ง เราเรียกเป็นสามัญว่า ฤๅษี เกล้าผมเป็นชฎา และนุ่งห่มหนังเสือ.

ล.

ละคึก รีบเร่ง.

ละบอง ระเบียบแบบแผน.

ลาดตระเวน ออกตรวจตรา และหาสะเบียงอาหาร.

ลาน, ลาญ -ลาน สนามที่ราบเรียบ; เลอะเลือน, แลดูพร่าไป, สะทกสะท้าน, งกงัน เช่นลนลาน, กลัวจนลาน, ลาญ แตก.

ลาภ ส. ม. ทรัพย์สมบัติที่ได้มา

ลายลักษณ์ -ลักษณ ส. เครื่องหมาย, คือสิ่งซึ่งทำให้เราสังเกตได้, ลายลักษณ ก็คือ เครื่องหมายเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ตัวหนังสือ, ตรา และแกงได.

ลำเค็ญ ลำบาก.

ลำนำ คำประพันธ์, ประสงค์เอากาพย์ เช่น กาพย์ยานี ฉะบัง สุรางคนางค์.

ลำยอง ใบระกา; งาม.

ลิขิต ม. ‘สิ่งที่เขียนไว้’ คือหนังสือ; จดหมายพระสงฆ์.

ลิ้นโอหัง ลิ้นจองหอง คือ มักพูดอวดดี, พูดจองหอง.

ลี้ หลบหนี, ซ่อนเร้น, ผิดกับ รี้ (พวกพล).

เล่ห์ กล, อุบาย, เหมือน, เช่น ดุจ.

โลกีย์ ม. เป็นไปในโลก. มีในโลก, ตามธรรมดาโลก

โลภ, โลภะ ม. ความอยากได้ของแห่งผู้อื่น.

โลม แสดงกริยาปลอบโยน, กล่าววาจาปลอบโยน, โลมโสต กล่าวปลอบโยนให้สำราญหู.

ว.

วงศ์ ดู กุลวงศ์.

วจี, วาจา, วจนะ ม.ส. ถ้อยคำ, คำพูด. แปลง ว เป็น พ ก็ได้. แต่ วาจา ไม่เคยมีแปลง.

วนะ, วัน, วนัส ดู พน.

วนิดา (ม.ส. วนิตา) หญิง ใช้พนิดาก็ได้.

วย, วัย ม.ส. ความเสื่อมไป, อายุ, คำนี้ไม่เคยใช้แผลง ว เป็น - พ, มีบ้างก็เข้าสนธิมาจากภาษาเดิม คือ อุทยัพพยะ (อุทย+วย) ว่าความตั้งขึ้นและเสื่อมไป.

วร, พร, พระ- ๓ นี่เป็นศัพท์เดียวกัน มาจาก ม.ส. วร แปลว่าประเสริฐ, ได้แก่ วร หรือ พระ ที่เราใช้นำหน้านามต่าง ๆ เช่น วรธรรม วรวงศ์; พระธรรม พระวงศ์ คำ วร มักนำหน้าฉะเพาะคำ ม.ส. ด้วยกัน. ที่อยู่หลังสมาสก็มีบ้างแต่น้อย เช่น ชินวร. แต่ พระ ใช้นำหน้าอย่างเดียว นำหน้าคำไทยก็ได้ เช่น พระที่ พระนม ฯลฯ ถ้าเป็นนามแปลว่า ของประเสริฐ ของที่ให้เลือกเอา ซึ่งเราใช้ว่า พร เช่นให้พร. แปลว่า การเลือก, ผู้เลือกก็ได้ แต่มักใช้ประกอบหลังคำสมาส เช่น สวยมพร, สยมพร การเลือก (คู่) เอนอง, สยังวรา หญิงผู้เลือกเอาเอง (อย่างนางรจนา). แต่ ‘พระ’ คำเดียวโดด ๆ เราใช้ว่า ภิกษุ หรือนักบวชลัทธิอื่น ๆ.

วรรษ, วรรษา ดู พรรษ

วราศิร ส. (วร+ อาศิร จาก อาศิส) คำอวยพรอันประเสริฐ ดูอาศิรด้วย

วอก ลิง, ปีวอกคือ ปีลิง. คือกำหนดตามดาวนักษัตร, รูปลิง.

วังวน (ม.ส. วน=น้ำ) ห้วงน้ำ, ที่พักในน้ำ. คือที่น้ำลึก ซึ่งไม่ใช่ทางน้ำ ย่อมเป็นที่อาศัยแห่ง ปลาใหญ่หรือจระเข้.

วัฒน (ม. วฑฺฒน; ส. วรธน) ความเจริญ.

วัณ, วรรณ- วัณ ม. แผล, ฝี. อย่างที่เราใช้ว่า วัณโรคภายใน (ฝีในท้อง) วรรณ ส. สี. ชะนิด, เพศ. ในชมพูทวีปโบราณแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณ. คือ พราหมณ์ (ผู้สอนพระเวท) กษัตริย์ (นักรบ), แพศย์ (พ่อค้าคหบดี), ศูทร (ไพร่), วรรณทั้ง ๔ นี้เราใช้ว่า ตระกูล ก็ได้ ใช้ พรรณ ก็ได้

วัตร ดู พรต.

วากย์ ม. ถ้อยคำ, ภาษา, แผลงใช้ว่า พากย์ ก็ได้.

วาณิช, วณิช, วาณิชย์, วณิชย์ ดู พาณิช.

วาท ม.ส. ถ้อยคำ, วาที แปลว่าผู้มีถ้อยคำ, ผู้พูด (เป็นคน) แต่เรามักใช้เลือนมาเป็นถ้อยคำก็มี

วาร ม.ส. วัน, ดู ดิถี ด้วย.

วาสนา ม. บุญกุศลที่ได้อบรมมา.

วาหนะ, วาหะ ดู พาหนะ.

วิกาล ม. ผิดเวลา แต่ วิการ พิการ ว่าผิดปกติ, เสีย, ชำรุด.

วิจารณ์, วิจารณา ม. ความตรวจตรา ตรวจตราโดยหาหลักฐาน.

วิจิตร ส. งาม, ใช้ว่า พิจิตร, ไพจิตร ก็ได้.

วิญญาณ ม. ความรู้แจ้ง คือจิตต์ใจ ไทยเราหมายถึงดวงชีวิต คือเรียกตามลัทธิศาสนาอื่นๆ ซึ่งนิยมว่า เมื่อคนตาย วิญญาณออกจากร่างกายไปเกิดที่อื่น หมดดวงวิญญาณ ก็หมายความว่าร่างกายนั้นไม่มีวิญญาณครองแล้ว คือตาย.

วิตก (ม. วิตกฺก; ส. วิตรฺก) ความคิดไปต่าง ๆ

วิตถาร ม. (ส. พิสดาร) กว้างขวาง ใช้ว่า พิสดาร ก็ได้ แต่มักใช้ในทางเรื่องความต่าง ๆ ตรงข้ามกับคำ สังเขป แปลว่า ย่อ.

วิถี ม. ทาง.

วิทยา ส. (ม. วิชฺชา) ความรู้, ใช้วิชชาก็ได้.

วิธี, วิธาน ม.ส. ทางดำเนิรการ, เช่นวิธีทำเลข. แบบ เช่นอักขรวิธี (แบบแผนอักษร), สนธิวิธาน (แบบสนธิ), ถ้าแผลงเป็น พิธี เราใช้ฉะเพาะแบบแผนที่ทำตามลัทธิ เช่นพระราชพิธีต่าง ๆ จะใช้ว่าวิธีไม่ได้

วินาศ ส. ความฉิบหาย, ใช้ พินาศ หรือ นาศ ก็ได้.

วินิจ ดู พิศ.

วิบาก ม. ผลที่เกิดจากเหตุ (ไม่ใช่ผลไม้) เรามักใช้เอียงไปทางผลบาป คือ ความทุกข์ต่าง ๆ เช่นพูดว่า ยามวิบาก หมายความว่ายามทุกข์ ที่จริงใช้ทางผลบุญก็ได้ เช่น กุศลวิบาก.

วิบุล ม.ส. เต็ม, ใช้ พิบุล, พิบูล ก็ได้ ถ้าใช้ เป็นนาม ม. ว่า เวปุลฺย, ส. ว่า ไวปุลฺย ซึ่งไทยใช้ว่า ไพบูลย์ แปลว่า ความเต็ม หรือว่า มีความเต็มก็ได้.

วิภาค ม.ส. การจำแนก, จำแนก

วิมล ม.ส. ปราศจากมลทิน, ผ่องใส. ใช้พิมล ก็ได้.

วิมาน ๑ พิมาน.

วิลาส, พิลาส ม.ส. งดงาม.

วิไล, วิลัย-วิไล งาม. วิลัย ม.ส. ย่อยไป, ทำลายไป.

วิศาล ส. กว้างขวาง. ใช้ พิศาล ไพศาล ก็ได้.

วิศิษฎ์ ส. (ม. วิสิฏฺฐ) วิเศษที่สุด, ใช้ พิศิษฏ์ ก็ได้.

วิเศษ ส. - ต่างออกไป, ดียิ่งขึ้น. ใช้ พิเศษ ก็ได้ แต่ไทยมักนิยมใช้ พิเศษ ในความต้น, วิเศษในความท้ายที่จริงเป็นศัพท์เดียวกัน

วิสสาสะ ม. ความคุ้นเคยกัน. ตรงกับ ส. วิศวาส ที่เราใช้ว่า พิศวาส ซึ่งใน ส. แปลว่าความซื่อตรงต่อกัน แต่เรานิยมใช้ว่าความรักกันอย่างสนิทสนมในทางชู้สาว

วิสัย ม. (ส. วิษัย) อำนาจที่อาจเป็นไปได้, เขตต์แดน ใช้ว่า พิสัย, วิสัย, พิษัย ก็ได้.

วิหาร ม.ส. ที่อยู่, วัด, มักใช้ฉะเพาะพระสงฆ์ หรือ พระพุทธเจ้า, และใช้เรียกอีกทำคล้ายโบสถ์ สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย.

วีระ ม. ผู้เพียร, ผู้กล้า, นักรบ ใช้ พีระ ก็ได้.

วุฑฒิ, พุฑฒิ ม. ความเจริญ. เราแผลงใช้เป็นพฤฑฒิ ก็ได้.

เวท ม.ส. คัมภีร์ไสยศาสตร์ มี ๔ คัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท, อัตถัพพเวท เรียกสามัญว่า พระเวท.

เวทางค์ ม.ส. (เวท+องค์) ส่วนพระเวท ดู เวทด้วย

เวไนย ม. ผู้ควรแนะนำสั่งสอน. ผู้ควรปกครอง, หมายถึงหมู่สัตว์ที่มีอุปนิสสัยอันพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ มักเรียกโดยสามัญว่าพุทธเวไนย. ศัพท์นี้ธาตุเดียวกับ วินัย (ข้อสั่งสอน ข้อปกครอง) วินิต พินิต (ม.ส. วีนิต) สั่งสอน, ปกครอง.

เวร, เวรี, ดู ไพรี.

เวสสวัณ ม. นามท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองทิศเหนือ เป็นนายยักษ์ เรียกท้าวกุเวร หรือ กุเพร ก็ได้.

เวียง กำแพง, วัง เมือง.

ศ.

ศพ ส. (ม. ฉว) ร่างกายของคนตาย, แต่ของสัตว์มักใช้ว่า ซากสัตว์, ที่จริง ซาก ก็คือ ศพ ชาวใต้ใช้ เผาศพ ว่า เผาซาก.

ศร ส. ปืน ได้แก่อาวุธที่ใช้ยิง, โบราณ ศร หรือ ธนู เรียกว่า ปืนยา เพราะลูกศรใช้อาบยาพิษ และปืนที่ใช้บัดนี้เขาเรียก ปืนไฟ.

ศรัทธา ส. (ม. สทฺธา) ความเชื่อในทางพระศาสนา.

ศรัทธาธาร ส. ผู้ทรงไว้ซึ่งศรัทธา ผู้มีศรัทธา.

ศรี ส. (ม. สิริ) ความสง่า, มิ่งขวัญ, บุญ, ไทยใช้ทั้ง ศรี และ สิริ แต่ใช้ ศรี มากกว่า ใน ส. ใช้ประกอบหน้าคำสมาส เช่น ศรีอยุธยา ศรีวิฆเนศ ฯลฯ ที่ใช้เป็นนามโดด ๆ ก็มี. ไทยเรานำมาใช้ประสมกับคำไทยก็ได้ เช่น ศรีเมือง ใช้โดด ๆ ก็ได้ เช่น เจริญศรี ในคำประพันธ์มักใช้ในคำนำ ขึ้นต้นร่ายว่า ศรีสิทธิ์ ...ศรีสวัสดิ์...ฯลฯ. แต่ สิริ แปล ว่ารวมก็ได้.

ศรีร (ใช้ ศริร ก็ได้เพื่อรักษาฉันท์) ส. ร่างกาย.

ศรีสุนทร ส. ‘งามสง่า’ เป็นนามคุณท้าว น้องเมียเจ้านมืองถลาง ผู้ช่วยพี่สาวคุมพลออกรบป้องกันพะม่าข้าศึกรักษาเมืองไว้ได้.

ศฤงคาร ส. ความกำหนัด, ความรัก, ความสมบูรณ์ด้วยกามารมณ์. เรานิยมใช้ว่าสมบัติ.

ศศิ, ศศี ส. ‘มีรูปกะต่าย’ คือดวงเดือน, วันจันทร์.

ศักดิ์ ส. อำนาจ, ที่อื่นแปลว่าหอกก็ได้ เช่น ‘โมกขศักดิ์’ ว่าหอกปล่อยพ้น คือหอกพุ่งทิ้งเลย ไทยใช้ว่า ตำแหน่งมีราชทินนนาม เป็น ขุน หลวง ฯลฯ ซึ่งใช้เต็มว่า บรรดาศักดิ์ คู่กับ ยศ (ความเป็นใหญ่) ซึ่งเราใช้เรียกตำแหน่งฐานันตร เช่น อำมาตย์ เสวก ฯลฯ. ศักดิ์สิทธิ์ ความสำเร็จแห่งอำนาจ เราใช้ว่าขลังหรือ ให้ผลจริงจัง.

ศัตรู ส. ข้าศึก.

ศัสตรา, ศาสตร์, ศาสตรา ส. เหล็กมีคม เช่น มีด หอก ฯลฯ คำถูก คือ ศัสตรา แต่เรานำมาใช้เป็น ศาสตรา, ศาสตร์ ก็มี ซึ่งไปพ้องกับ ศาสตร์ แปลว่า ตำรา ต้องสังเกตความ, แต่ ศาสตร์ (ตำรา) ไม่ใช้เป็นศาสตราเลย นอกจากสนธิกับคำอื่น เช่น ศาสตราคม ศาสตราจารย์ ฯลฯ

ศากย์ ส. (ม. สกฺย) ตระกูลกษัตริย์ศักยะเชื่อวงศ์พระพุทธเจ้า ศากยมุนี ส. นักปราชญ์เชื้อศักยะ คือพระพุทธเจ้า

ศานต์ ดูใน สันต์.

ศานติ ดูใน สันต์.

ศานติบท ดูใน สันต์.

ศาป ส. การแข่งด้วยวาจาสิทธิ์ (คือพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น) ให้ได้รับโทษต่าง ๆ เป็นวิธีทำโทษของผู้มีฤทธิ์มีบุญ ศาปสรรค คือศาปสร้าง เอาความว่าศาปแล้ว บันดาลให้เป็นไปต่าง ๆ.

ศาสดา ส. (ม. สตฺถา) ครู, ครูเจ้าลัทธิ, เรามักเรียกพระพุทธเจ้าว่า พระศาสดา.

ศาสน์, ศาสนา ส. คำสั่งสอน แต่เรานิยมถึงข้อสั่งสอนตามลัทธิที่นับถือ ซึ่งเรียกสามัญว่า ศาสนา.

ศิลป ส. การฝีมือ ได้แก่การช่างต่าง ๆ ใช้ว่าหัตถกรรม, -กิจ, -การ ก็ได้, ศิลปี ส. ผู้มีการฝีมือ คือนายช่าง.

ศิลา, ไศล- ศิลา ส. หิน พฤทธิเป็น ไศล (ซึ่งควรอ่าน ไส - ละ) ม. เป็น เสล ทำด้วยหิน, ล้วนหิน. แต่เรามักอ่าน ‘ไส๎ล’ ที่อ่านไส-ละก็มีบ้างในคำประพันธ์

ศิวะ ส. พระอิศวร เป็นพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์องค์ ๑ ใน ๓ องค์ คือ พระพรหม, พระอิศวร, และพระนารายณ์.

ศีลาจาร ส. ศีล คือข้อบัญญัติ เช่น ศีลห้า, อาจาร คือ มารยาท ความประพฤติ.

ศีวิไลซ์ อ. ความเจริญ, ตรงกับที่เราใช้ว่า อารยธรรม.

ศึก, เศิก สงคราม, กองทัพ. ข้าศึก ผู้สู้รบ, ศัตรู.

ศึกษา ส. การเล่าเรียน ตรงกับ ม. สิกข ซึ่งเรามักนิยมใช้ว่าข้อบัญญัติ เช่น สิกขาบท ฯลฯ.

ศุภ ดู ในโศภน.

ศุภมัสดุ ส. เป็นประโยค ส. คือ ‘ศุภํ+อสฺตุ’ ม. ว่า ‘สุภมตฺถุ=สุภํ อตฺถุ’ แปลอย่างเดียวกันว่า ความดีจงมี, มักใส่ไว้หน้าหรือที่สุดเรื่องความให้รู้ว่าขึ้นต้น หรือจบ.

ศูทร ส. (ม. สุทฺท.) พ่อครัว; เรียกคนตระกูลหนึ่งในชมพูทวีป ดู วัณ, วรรณ.

ศูนย์ ส. (ม. สุญฺญ) ว่างเปล่า, ไม่มี, หมดสิ้น. ม. เป็น สุญญ ไม่ตรงเสียงพูด จึงควรใช้ ‘ศูนย์’ ตาม ส. ให้ตรงเสียงพูด.

ศูลี, ศูลิน ‘ผู้ทรงหลาว’ คือ - พระอิศวร, ไทยมักใช้ พระศุลี.

๑. เศรษฐ, ๒. เศรษฐี- ๑. ส. ประเสริฐสุด, ของประเสริฐสุด, ทรัพย์. ๒. ผู้มีทรัพย์ ในครั้งพุทธกาลกล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นเศรษฐีต้องพระราชาตั้ง คือ ผู้ใดมีทรัพย์สมควรเป็นเศรษฐี พระราชาก็พระราชทานฉัตรเป็นเกียรติยศ.

โศก, เศร้า - โศก ความเหือดแห้งใจด้วยทุกข์. เศร้า ความผากเผือดร่างกายด้วยทุกข์. โศกาลับ (โศก+อาลัย) ความโศกและความห่วงใย.

โศภน, โศภา, โศภิต ดู โสภน.

โศรตร ส. โสต ม. หู.

ไศล, ไศละ ดูศิลา.

ส.

สกนธ์ ดูขันธ์.

สกรรถ ส. ‘ความของมันเอง’ หมายความถึงศัพท์พวกหนึ่ง ซึ่งใช้พ่วงศัพท์ต่าง ๆ แต่ไม่กำหนดใจความ เช่น ปิตุรงค์ (ปิตุร+องค์) องค์บิดา, ที่จริงก็ประสงค์ความว่า ‘บิดา’ เท่านั้น. ศัพท์ว่า องค์ นั้น ไม่ต้องการคำแปล ต้องการให้คล้องจองกับคำอื่น องค์ ที่นี้ เรียกว่าศัพท์ ‘สกรรถ’ คือ มีใจความเท่าศัพท์เดิมของเขา. เรามักนำมาใช้ในการแต่งคำประพันธ์. ที่ใช้มาก คือ -

อีศ- ‘เป็นใหญ่’ เช่น บิตุเรศ บุเรศ ธานิศ ฯลฯ ใช้สามัญทั่วไป (บุราณเรียก ศ. เข้าลิลิต)

อิศวร, อิศร (ลด ว) = ‘เป็นใหญ่’ เช่น นเรศวร, นเรศร ฯลฯ ใช้ในใจความที่เป็นใหญ่จริง ๆ.

อินทร์= ‘เป็นจอม’ เช่น ราชินทร์ ราเชนทร์ ฯลฯ ใช้อย่างเดียวกับอิศวร.

ชาติ= ‘ชะนิด’ ‘กำเนิด’ เช่น มนุษยชาติ พฤกษชาติ ฯลฯ.

อาลัย=‘ที่อยู่’ เช่น ชลาลัย, นภาลัย, วนาลัย ฯลฯ.

อันต= ‘ที่สุด’ เช่น สุตตันต์ (พระสูตร) คคนานต์ (ฟ้า) วนานต์ (บ้า) ฯลฯ

ธาตุ= ‘ธาตุ’ เช่น ปถวีธาตุ อาโปธาตุ ฯลฯ ใช้ในที่ของนั้นเป็นธาตุได้.

ธรรม=เช่น กุศลธรรม, บาปธรรม ฯลฯ.

กรรม เช่น กุศลกรรม บาปกรรม ฯลฯ

ศัพท์สกรรถ เหล่านี้ต้องเลือกใช้ให้ถูกระเบียบด้วย จะใช้ ให้สับสนกันไม่ได้ และยังมีศัพท์อื่นอีกมาก

สกล, สากลย์- สกล ม.ส. ทั้งหมด ทั้งสิ้น. สกลโลก โลกทั้งหมด ทั่วโลก สากลย์ ความทั่วไป, โลกสากลย์ ความทั่วไปแห่งโลก

สกลบท ม. บททั้งสิ้น คือถ้อยคำทั้งสิ้น.

สงกรานต์ ส. ‘ก้าวไปพร้อม’ หมายความว่าพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่. เป็นนักขัตฤกษ์ขึ้นปีใหม่ ทางราชการทำพิธีรวมกันกับตรุษ (ดู ตรุษ) แต่ธรรมเนียมเดิมทำในวันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ (คำนวณตามโหรไทย) ตกอยู่ในวันที่ ๑๒ - ๑๓ เมษายน

สงเคราะห์, สมเคราะห์ ส. (ม. สงฺคห) ความอุดหนุน ความประคองน้ำใจ การรวบรวม. ไทยใช้เป็นกริยาก็ได้ ถ้าหมายความว่าอุดหนุนเรามักใช้ สมเคราะห์.

สงฆ์ ม. ‘หมู่’ ในวินยักำหนดภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเรียกว่าสงฆ์ ตามที่เรานิยมกันว่า สงฆ์ คือภิกษุในพระพุทธศาสนา จัดเป็น ๒ อย่าง คือ อริยสงฆ์ คือผู้ ได้สำเร็จมรรคผล และสมมุติสงฆ์ คือภิกษุสงฆ์เราทุกวันนี้

สดุดี ส. (ม. ถุติ) ความชมเชย, สรรเสริญ

สตนาคนหุต ม. ‘หมื่นแห่งช้างร้อยหนึ่ง’ ซึ่งตั้งตามคำ ล้านช้าง (แต่ท่านพิสูจนว่าเป็น ลานช้าง คือทุ่งช้าง คู่กับ ลานนาไทย คือทุ่งปลุกเข้าของไทย) เรียกเต็มว่า กรุงศรีสตนาคนหุต เรียกตามสามัญว่าเมืองเวียงจันทน์.

สตรีภาพ ส. ความเป็นหญิง เอาความว่าหญิง, ภาพ เป็นสกรรถ ดู สกรรถ.

สถาวร, สถาพร. ดู ถาวร.

สถิต ส. (ม. ฐิต) ตั้งอยู่, ดำรงอยู่

สนทนา, สั่งสนทนา ม. การพูดจากัน. คำหลังออกจาก ม. ‘สํสนฺทนา’

สนอง ตอบ, ตอบแทน เช่น สนองคุณ ตอบแทนคุณ สนองถ้อย ตอบถ้อย คำนี้แผลงเป็น สำนอง แปลว่าการตอบแทน เช่นยืมของเขามาทำเสียต้องรับ สำนอง คือต้องตอบแทนให้เขา ได้แก่รับใช้เขา, ผิดกับคำ ฉลอง แทน, หรือแทนที่ แทนตัว อย่าง ฉลองพระหัตถ์ (แทนมือ) คือ ช้อนซ่อม, ฉลองพระบาท (แทนเท้า) คือเกือก, ปลัดทูลฉลอง คือปลัดทูลเทน (เสนาบดี).

สนาน ส. การอาบน้ำ เราว่าชำระก็มี.

สนิท, เสน่ห์, เสน่หา, ออกจาก ส. สนิท มีความต่างๆ ฉะเพาะเราใช้ว่าแนบชิดกัน. ติดกัน (อย่างยางเหนียว) สำเร็จรูป - ม. สิเนหะ ส. เสนหะ เสฺนหะ แปลว่าความเยื่อใย คือความรัก. ถ้าใช้เป็นกริยาเปลี่ยนรูปเป็น ม. สินิทฺธ ส สฺนิคฺธ ซึ่งแปลว่าแนบชิดกันมีเยื่อใยติดกัน. ในบาลีฝ่ายไทยเราเป็น สินิทฺท เราจึงใช้ สินิท (ลด ท.), และใช้สามัญว่าสนิท (ตามวิธี ส. และลด ท.). ศัพท์ที่มีลักษณะเช่นนี้ คือ ม. สิเนห, ส. เสฺนห; ม. สิโลก, ส. โศลก; ม. กิริยา ส. กริยา; ม. กิเลส, ส. เกฺลศ ม. กิโลมก, ส. โกฺลมัน (พังผืด).

สบ ทั่ว ทุก (เช่น สบสมัย) ร่วม (เช่นสงฆ์สบสังวาส คือ สงฆ์ร่วมสังวาสกัน หมายถึงสงฆ์นิกายเดียวกัน ที่ร่วมสังฆกรรมกันได้).

สบง ดู บริกขาร.

สภา ม.ส. ที่ประชุม, โรงประชุม

สภาพ, สวภาพ (ม. สภาว; ส. สฺวภาว) ความเป็นเอง, ความปกติแห่งตน, ความเป็นธรรมดา.

สมญา ศัพท์นี้มาจาก สัญญา (สํ+ญา) ซึ่งแปลว่า ชื่อ, ความนัดหมาย, ความจำ. เมื่อแผลงเป็น สมญา แล้วใช้แปลว่าชื่ออย่างเดียว.

สมบูรณ์ ส. ความเต็มพร้อม.

สมภาร ม. การพอกพูน, หมายถึงพอกพูนบารมี คือ การสร้างบารมี เช่น กุศลสมภาร, เราใช้หมายถึงผู้สร้างบารมีก็มี เช่นบพิตรพระราชสมภาร; ว่าส่วนต่างๆ ก็ได้ เช่นทัพพสัมภาระ, เราใช้เรียกพระเจ้าอาวาสว่า สมภาร ด้วย.

สมมุติ ม. การพร้อมกัน นับเอา - จัดเอา คือประชุมกันตั้งแต่งขึ้น. ศัพท์นี้ บาลีใช้เป็นนามว่า สมมติ เป็นกริยาว่า สัมมต แต่เราแผลงใช้ว่า สมมุติ ที่ใช้ตามเดิมก็มี เช่น ‘สมมตอมรพันธุ์.’

สมร (ส. สมร) ‘การตายร่วม’ คือการรบกัน, การสงคราม สมรภูมิ ว่าสนามรบ. (ส. สมร) ความรัก, ไทยใช้ว่าที่รัก, เมีย, หญิง.

สมรรถ, สามรรถย์, สามารถ, -สมรรถ (ส. สมรฺถ; ม. สมตถ) แข็งแรง, มีกำลัง (ทั้งปัญญาและกาย). สามรรถย์ ส. ความแข็งแรง ความมีกำลัง

สามารถ เราแผลงจาก สมรรถ.

สมฤดี, สมประดี, สมปฤๅดี. ทั้ง ๓ นี้ออกจาก ม. สติ ส. สฺมฤต แปลว่า ความระลึกรู้, ความรู้สึกตน. อ่านให้ถูกว่า 'สฺมฺรึ-ดี’ แต่เรานิยมอ่านกัน ‘สม-รึ-ดี’ ‘สม–ประดี’ ‘สม-ปะ-รือ-ดี.’

สมัคร, สามัคคี.- สมัคร ส. ผู้พร้อมเพรียง, ผู้เต็มใจเข้าร่วม ใช้เป็นกริยาก็ได้. สามัคคี ออกจาก สมัคร แต่ใช้ตาม ม. แปลว่าความพร้อมเพรียง.

สมัย ม.ส. เวลา, คราว; วิธี, ลัทธิ, แบบ เช่นอักษรสมัย (แบบตัวหนังสือ)

สมาคม ม. ‘การมาร่วมกัน’ คืออาการคบหากัน, การประชุมกัน ใช้เป็นกริยาว่า คบหา, ประชุม

สมาจาร ม. มรรยาทอันดี.

สมาน (อ่านสะมานะ) ม.ส. เสมอกัน. มักใช้ประกอบหน้าศัพท์สมาสเช่น สมานฉันท์ มีความพอใจเสมอกัน สามานย์ ส. สามัญ ม. ออกจากคำนี้แปลว่าความเสมอกัน ความทั่วไป (ดู สาธารณด้วย) พ้องกับ สมาน (อ่านสะหมาน) ติดต่อกัน, เชื่อมกัน สมานมิตร คือผูกมิตร.

สมานาตฺมภาวะ ส. (สมาน+อาตฺม+ภาวะ) ความเดียวกับ สมานัตตตา (สมาน+อตฺต+-ตา) ซึ่งมีความแปลไว้แล้ว ในที่นี้ยักใช้ให้เข้าคณฉันท์.

สมุจเฉท ม. ตัดขาด สมุจเฉทปหาน ละอย่างตัดขาด หมายความว่าละได้เด็ดขาด อย่างพระอริยเจ้า คือ ปุถุชนเราอาจจะละกิเลสได้ชั่วคราว, กิเลสอาจเกิดอีกได้ แต่พระอริยเจ้าละได้ขาด ไม่เกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทปหาน.

สโมสร, สโมสรณสโมสร ประชุม และใช้เป็นสถานที่ก็ได้ อาการนามก็ได้ เช่น ที่สโมสร การสโมสร, สโมสรณ์ ว่าการประชุมใช้ในคำประพันธ์เพื่อต้องการพยางค์มาก

สยมภู, สวยมภู ม.ส. พระผู้เกิดเองเป็นเอง ใช้เรียกพระพรหม, พระอิศวร ใช้เรียกพระพุทธเจ้าก็ได้ หมายความว่า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นเอง ไม่มีครูสอน ไทยแผลงใช้เติม ว. ข้างท้ายก็มี อย่างเดียวกับ ภู เป็น ภูว เช่น สยมภูวนาถ, สยมภูวญาณ.

สยามิศร์, สยามินทร์ ส. ผู้เป็นใหญ่ในสยาม คือ พระเจ้าแผ่นดินสยาม ดู อิศวร. และ อินทร์ ด้วย

สร, สระ, ม. เสียง; บ่อ; แต่เรานิยมใช้ต่างกัน คือเสียงเช่นเสียงร้อง เรามักใช้ว่าสร (สอน) เช่นพรหมสร (เสียง พรหม); เสียงในอักขรวิธีใช้ว่าสระ (อ่าน สะหระ); บ่อ ใช้ว่าสระ (แต่อ่าน สะ).

สรร สรรค์. - สรร เลือก แต่ สรรค์ ส. สร้าง.

สรรพ, สารพัน, สารพัตร, ส. (ม. สพฺพ.) ทั้งปวง ครบ, ล้วน ศัพท์นี้ ส. สรฺว เรานำมาใช้เป็น สารพัน. และตัดเหลือแต่ ‘สาร’ - ก็มี เช่น ‘สารทุกข์สุกดิบ’ (สรฺวทุกข์) ‘สารทิศ’ (สรฺวทิศ) และ ‘สารพัตร’ ก็ออกจาก สรฺวตฺร (ในที่ทั้งปวง, ทุกแห่ง) ถึงคำที่ใช้ว่าสารวัตร (นายตรวจ) ก็น่าจะออกจากคำนี้ คือ หมายความว่าเข้าตรวจได้ทุกแห่ง.

สรรเพ็ชญ์ ส. สัพพัญญู ม. ผู้รู้ทั้งหมด เอาความว่าพระพุทธเจ้า.

สรวง เมืองสวรรค์, เบื้องบน สรวงสวรรค์ คือ เบื้องบนสวรรค์.

สรวม ช. ขอ, ผิดกับ สวม คล้อง, กอด.

สรรเสริญ, สระเสริญ พูดยกย่องสรรเสริญ แผลงจากสระเสริญ.

สราญ สบาย แผลงเป็น สำราญ ก็ได้.

สรุป (ม. สรูป) การรวบรวม, เราใช้เป็นกริยาว่า รวบรวมก็ได้.

สฤษฏิ์ ส. การสร้าง ใช้เป็นกริยาก็ได้ ดู รัง ด้วย.

สลา (อ่านสะหลา) ข. หมาก.

สลาย แตก. ลาญสลาย ลาญ ก็ว่า แตก เป็นคำซ้ำกัน เอาความว่าแตกเท่านั้น อย่างเดียวกับ คชสาร ฯลฯ.

๑. สวรรคต ๒. สวรรค์คต. ส. ไปสู่สวรรค์ คือตาย, แต่ใช้สำหรับพระราชาของเราตามราชาศัพท์. วิธีเขียนทั้ง ๒ ศัพท์นี้ถูกทั้งคู่ คือ ๑ คำ ส. มีอย่างนี้ ในหนังสือโบราณมักใช้ชุกชุม. ๒. บัดนี้ เราใช้เช่นนี้เพื่อให้เห็นง่าย คือ สวรรค+คต ว่าไปสู่สวรรค์.

สวัสดิ์ ส. (ม. โสตฺถิ, สุวตฺถิ) ความสะดวกสบาย.

สวาท ส. กินดี คือ อร่อย, มีโอชา, หวาน, เรามักใช้ว่ารักดูดดื่ม.

สักกายทิฏฐิ ม. ความเห็นว่าร่างกายเป็นของตน, ซึ่งที่จริงเป็นของธรรมดาโลกไม่มีใครเป็นเจ้าของ.

สักการ ม. ‘กระทำดี’ เอาความว่า แสดงการเคารพนับถือบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน.

สักขี ม. สากษี ส. ‘ผู้เห็นร่วม’ คือ พะยาน.

สังเกต ม. ความกำหนดหมาย, ความหาหลักฐานเพื่อจดจำ.

สังขาร ม. แปลตามศัพท์ว่า ผู้ปรุง, ผู้แต่ง, หรือ สิ่งที่ปรุง, สิ่งที่แต่ง อย่างเดียวกับ สังกร (สังกรประโยค) และสังขรณ์ (ปฏิสังขรณ์) หมายความเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. ร่างกาย (สิ่งที่ปรุง); ๒. กรรม (ผู้ปรุง) เช่นอภิสังขารมาร; ๓. ความคิด (ผู้ปรุง) เช่นสังขารขันธ์.

สังเขป ดู วิตถาร.

สังคหะ ม. ความประคองน้ำใจกัน (ดู สงเคราะห์), เป็นชื่อธรรมหมวดหนึ่งมี ๔ คือ ให้ทาน ๑ กล่าววาจาดี ๑ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ๑ ไม่ถือเนื้อตัว ๑ เรียกเต็มว่า ‘สังคหวัตถุ’ (วัตถุเครื่องประคองน้ำใจ)

สังคหวัตถุ ดู สังคหะ.

สังโยชน์ ม. ‘เครื่องร้อยรัด’ มี ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น (ดูสักกายทิฏฐิ) พระอริยะย่อมละสังโยชน์นี้ได้เป็นลำดับไป จนถึงพระอรหันต์ ท่านละได้หมดทั้ง ๑๐.

๑.สังวาส ๒. สมพาส. ทั้ง ๒ นี้แปลอย่างเดียวกันว่า ‘การอยู่ร่วม’ ๒. แผลงจาก ๑. ในพระพุทธศาสนา หมายความว่าร่วมทำกิจสงฆ์ด้วยกัน ใช้ว่าสงฆ์สบสังวาส หรือร่วมสังวาส. แต่นิยมในไทยเราว่า เสพเมถุนธรรม.

สัจ, สัตย. (ม. สจฺจ; ส. สตฺย) ความจริง, สัจ ใช้คำเดียว ลด จ. ได้ แต่จะแยกเป็นลหุคู่ว่า สะจะ ไม่ได้. สัตย์ก็เหมือนกัน จะแยกเป็นสะตะยะ ก็ไม่ควร.. สัจ เมื่อนำหน้าสมาสลด จ. ไม่ได้ เช่น สัจจธรรม สัจจวาที สิจจาธิฏฐาน ฯลฯ

สัจจธรรม ม.ส. ธรรมคือความจริง ได้แก่ อริยสัจจ์ (ของจริงแห่งพระอริยเจ้า) มี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย (ตัณหา), นิโรธ (นิพพาน), มรรค (ทางปฏิบัติ)

สัญชาติ ม. ความคิดร่วมกัน, ชาติเดียวกัน, เช่นสัญชาติไทย คือเกิดเป็นไทยด้วยกัน

สัญญา ดูสมญา.

สัตตรัตน์ ม. แก้วเจ็ดประการ เป็นสมบติของจักรพรรดิราช ดูจักรพรรดิ.

สัตตวัตร ข้อปฏิบัติ ๗ ข้อ, ตำนานว่า พระอินทร์เคยประพฤติมาในชาติก่อน, จึงอำนวยผลให้เป็นพระอินทร์. คือ ๑. ปฏิบัติพ่อแม่, ๒. เคาพผู้ใหญ่ในตระกูล, ๓. กล่าววาจาอ่อนหวาน ๔. ไม่ส่อเสียด ๕. ไม่ตระหนี่ ๖. มีสัตย์ ๗. ข่มความโกรธ. สัตตวัตรนี้ ท่านนับว่าเป็นธรรมของพ่อเรือน แม่เรือน.

สัตบุรุษ ส. (ม. สปฺปุริส) บุรุษผู้ที่ระงับบาป เรามักใช้ว่า สัปปุรุษ และมักหมายเอาอุบาสกอุบาสิกา ที่เข้าวัดฟังธรรมเสมอ.

สัทธรรม ส. ธรรมแห่งสัตบุรุษ คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง.

สันดาน ม. การสืบต่อกำเนิด เช่นชาตินี้ทำไม่ดี การสืบต่อกำเนิดไปก็ไม่ดี ซึ่งเรียกว่าสันดานชั่ว. ดัดสันดาน ก็คือดัดให้สันดานที่จะมีต่อไปนั้นดีขึ้น ตามรูปศัพท์ สันดาน กับ สันตติ แปลอย่างเดียวกัน แต่ สันตติ เราใช้ว่าการรับช่วงมาจากกษัตริย์องค์ก่อน เรียกว่าสืบสันตติวงศ์

สันโดษ ส. ความยินดีฉะเพาะในของของตน ไม่โลภในของของผู้อื่น

สันต์, สันติ - สันต์ ม. (ส. ศานฺต) สงบ สันติ ม. (ส. ศานฺติ) ความสงบ, นิพพาน สันติบท ม. (ส. ศานติบท) ทางแห่งความสงบ, ทางนิพพาน.

สันตุฏฐี ม. ดูสันโดษ.

สันนิบาต ม. การประชุม ชื่อโรคเกิดจากดี เสมหะ และลมประชุมกัน ใช้ว่าประชุมก็ได้

สัประยุทธ์ ส. รบร่วมกัน เอาความว่ารบกัน.

สัมผัสส์ (ม. สมฺผสฺส) การถูกต้อง คือการรู้สึกด้วยกายประสาท; ของต้องสัมผัสส์ คือของที่จะต้องรู้สึกด้วยการลูบคลำหรือถูกต้องด้วยกาย บาลีเรียก ‘โผฏฐพพะ’; การคล้องจองกัน (สำหรับคำ ระพันธ์) ใช้เป็น กริยา. ว่าถูกต้อง, คล้องกัน, รับกันก็ได้.

สัมพุทธ์ ดูพุทธ์.

สัมโพธิ, สม- สัมโพธิญาณ, สม – ดู โพธิ.

สัมมาจารี ม. ผู้ประพฤติชอบ.

สัมมาน ม. ความนับถือ.

สาธก ม. ผู้ทำให้สำเร็จ เราใช้เป็นกริยาว่า ทำให้สำเร็จ, ยกตัวอย่าง.

สาธร, สาทร - สาธร มาจากสาธุ ม.ส. ว่าดี. สาทร มาจาก ม. ส+อาทร ว่าประกอบด้วยความเอื้อเฟื้อ.

สาธารณ์ ม.ส. ทั่วไป เราใช้อย่างเดียวกับสามานย์ก็ได้. ทั้ง ๒ คำนี้เราใช้ประกอบท้ายคำชั่วช้า, หยาบช้า, หมายความว่าเลวทราม, เนื่องมาจาก ‘สาธารณสตรี’ สตรี (สำหรับ) ทั่วไป คือหญิงงามเมือง

สาธุกรรม ส. กรรมที่ดี, กิจการที่ดี.

สาม, สยาม, เสียม. เมืองไทย ชาวไทย. แต่ สยาม หมายความถึงแดนที่เราอยู่นี้ แม้ชาติต่างๆ ที่อยู่ในเขตต์นี้ก็เรียกชาวสยามเหมือนกัน

สามัญ ม. สามานย์ ส. ทั่วไป แต่สามานย์ใช้แปลมากออกไปอย่างสาธารณ์ ดูที่นั่น.

สามิภักดิ์, สวามิ- ส, สมัครเข้าไปเองด้วยความรักใคร่ (แต่ สามิ ม.)

สาร ม.ส. แก่น, เรานำมาใช้ในความต่าง ๆ คือ หนังสือ เช่น สารตรา และหมายความไปถึงถ้อยคำก็มี; ช้าง เช่นคชสาร เข้าสาร, โดยสาร ก็ใช้เขียนอย่างนี้

สาโลหิต ม. ผู้ร่วมสายเลือด ญาติ.

สาวก ม. (ส. ศฺราวก เราใช้ ศราพก) ผู้ฟัง คือ ศิษย์, พุทธสาวก คือ ศิษย์พระพุทธเจ้า.

สาวัตถี ม. (ส. ศฺราวัสติ) ชื่อเมืองหลวงของแคว้นโกสล ในครั้งพุทธกาล อยู่ในอินเดียภาคเหนือ

ส่ำ หมู่, พวก.

สิง, สึง, สำนึง - สิง แผลงเป็น สึง และ สึง แผลงเป็น สำนึง แปลว่าอยู่, ‘ผีสิง’ คือผีเข้าแฝง

อยู่. ที่เรียกว่าผู้เข้า.

สิทธารถ ส. (ม. สิทธตฺถ) พระนามพระพุทธเจ้าเมื่อยังไม่ทรงผนวช.

สิทธิ ม.ส. ความสำเร็จ คู่กับคำ สิทธ เป็น ว. ว่าสำเร็จแล้ว. อย่างเดียวกับ สุทธิ (ความหมดจด) บริสุทธิ (ความหมดจดรอบ), วิสุทธิ (ความหมดจดพิเศษ) พุทธิ (ความรู้) ซึ่งใช้เป็น ว. ว่า สุทธ (หมดจด) บริสุทธ (หมดจดรอบ), วิสุทธ (หมดจดวิเศษ) พุทธ (รู้แล้วหรือผู้รู้ แล้วใช้เป็นนามพระพุทธเจ้า) ตามปกติ เรามักใช้แต่คำนาม คือคำที่มี ‘ธิ’ อยู่ท้าย, ส่วนคำที่เป็น ว. คือ คำที่มี ธ อยู่ท้าย มักใช้แต่นำหน้าคำสมาสเช่น สิทธาจารย์ สุทธาวาส ฯลฯ

สิริศรี.

สุ, สร ม.ส. เป็นอุปสรรค แปลว่า ดี, งาม, ง่าย ใช้ประกอบหน้าศัพท์ ม.ส. ด้วยกัน เช่น สุ-จริต (ประพฤติดี) ฯลฯ, เราใช้แผลง สุ เป็น สร ก็ได้ เช่น ‘สรเลข’ (เขียนดี) ‘สรลักษณ์’ ลักษณะดี ฯลฯ.

สุข, โสมนัสสส์ ดู ทุกข์.

สุขาภิบาล ม.ส. การบำรุงความสุข, วิธีปฏิบัติให้ร่างกายผาสุก.

สุขุม, สุขุมาล ม. ละเอียด.

สุคต ม. พระผู้ไปดี เป็นพระนามพระพุทธเจ้า เพราะท่านเสด็จไปไหนก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ แก่ที่นั้น ๆ.

สุคนธ์ ม. ของมีกลิ่นดี, เครื่องหอม, สุคนธ์ธาร ท่อน้ำหอม, ใช้ว่าน้ำหอมก็มี.

สุจริต ดู ทุจจริต.

สุต, สุตา, สุดา - สุต ม. ลูกชาย; ฟังแล้ว, สุตา, สุดา ลูกสาว

สุทธญาณ ม. มีญาณอันหมดจด, มีปัญญาผ่องใส.

สุนทร ม. ดี, งาม. ใน ม.ส. ใช้นำหน้านาม เป็นคำสมาส เช่น ‘สุนทรพจน์’ คำดี. ที่เรานำมาใช้กับคำไทยก็มีแต่ไม่อ่าน ‘สุนทะระ-’ อ่านเป็น ‘สุนฺทอนฺ’ เช่นสุนทรถ้อย ในคำประพันธ์การันต์ตัวท้ายเสียก็มี คือ ให้อ่าน ‘สุน’ เช่น ‘ประเสริฐสุนทร์.’

สุปฏิปันน์ ม. ผู้ปฏิบัติดี. ทำนองเดียวกับศัพท์ว่า สุปฏิบัติติ (ความปฏิบติดี).

สุภาพ ม. ความดี, มักใช้ว่า มีความดี เรียบร้อย. ใช้เป็นชื่อโคลงและร่ายเรียก โคลงสุภาพ ร่ายสุภาพ ซึ่งมีข้อบังคับต่างกับโคลงดั้น, ร่ายดั้น เรียกคำในบาทโคลงว่า คำสุภาพ คือ คำที่ไม่มีบังคับ เอก โท; กลอนสุภาพ คือกลอนตลาด เช่น กลอนในเรื่องพระอภัยเป็นต้น เราใช้แผลงว่า สุวภาพ ก็มี.

สุภาษิต ส. คำที่กล่าวดี, ประสงค์เอาคำหรือเรื่องที่เป็นคติสอนใจคน.

สุมรรยาท ส. มรรยาทดี, ความประพฤติดี

สุร, อสุร - สุร ม.ส. ‘ผู้กล้า’ คือเทวดา. ตรงข้ามกับ อสุร ‘ผู้ไม่กล้า’ คือยักษ์ที่เราเรียกอสูร. คำสุร ถ้าประกอบหน้าศัพท์ เช่น ‘ฐาน’ (ที่), ราษฎร (แคว้น), ภพ (ที่เกิด), โลก, ด้าว (แดนดิน), เขตต์ (แดน), เป็น สุรฐาน, สุรราษฎร์ ฯลฯ รวมความว่าเมืองสวรรค์.

สุรเชษฐ์ ส. ผู้เจริญกว่าเทวดา คือ พระพรหม.

สุรภิ ม.ส. เครื่องหอม ของหอม.

สุรางค์ (ส. สุร+องฺค) เอาความว่าเทวดา, องค์ เป็นสภรรถ ดูสกรรถ.

สุริย, สุริยน, สูรย (ม. สุริย; ส. สูรฺย) พระอาทิตย์ ดวงตะวัน ไทยใช้ว่า สุริยน ก็ได้ ดูอาทิตย์ด้วย.

สุริยวงศ์, สูรยวงศ์ ม.ส. วงศ์พระอาทิตย์ ตามตำนานในชมพูทวีปว่าวงศ์นี้เนื่องมาจากพระอาทิตย์. กษัตริย์องค์หลานแรกผู้หลานพระสุริยเรียกตาม ส.ว่า อิกฺษวากุ ต้นวงศ์พระรามในเรื่องรามเกียรติ์. ตาม ม. เรียกว่าโอกกาก กล่าวว่าเป็นต้นวงศ์พระพุทธเจ้าเหมือนกัน เรายกย่องกษัตริย์ของเราว่าเป็นสุริยวงศ์ เพราะทรงพระนามว่า รามาธิบดี อย่างเรื่องรามเกียรติ์, ในคำประพันธ์มีใช้ต่าง ๆ เช่น สุริยวงศ์, สูรยวงศ์ รวิวงศ์ รพิวงศ์ อาทิตยวงศ์ อาทิจจวงศ์ (‘วงศ์’ แผลงใช้ ‘พงศ์’ ก็ได้) เป็นต้น

สุริโยทัย ม. การตั้งขึ้นแห่งอาทิตย์, อาทิตย์ขึ้น เป็น นามพระมเหสี พระเจ้าจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา, ผู้แต่งพระองค์เป็นอุปราชออกสู้ศึกหงสาวดี ด้วยพระสามี ข้าศึกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง.

สุวัณณสาม ม. ชื่อพระโพธิสัตว์ในเรื่องทศชาติชาดก ดู ปิลิยักษ์ ด้วย.

สุหทา ม. ‘ผู้มีใจดี’ ประสงค์เอามารดา.

สุหร่าย ฝักบัวสำหรับโปรยน้ำหอม.

สุหฤทยพิบุล ม.-ส. ‘(สุ (ดี) + หฤทย (ใจ) + พิบูล (เต็ม) เต็มไปด้วยใจดี

สูรยกานต์ ส. ‘งามดังอาทิตย์’ ชื่อแก้ววิเศษชะนิดหนึ่ง คู่กับแก้ว จันทรกานต์ (งามดังจันทร) เรานิยมใช้คำหน้ามากกว่า และใช้ประกอบคำอื่นก็มี เช่นรถสูรยกานต์ หอกสูรยกานต์ เอาความว่า รถ, หอก ประดับด้วยแก้วนั้น หรือศักดิ์สิทธิ์เสมอด้วยแก้วนั้น.

เสถียร (ม. ถิร) มั่นคง เราแผลงใช้จาก ถิร.

เสน่ง ข. เขา (แห่งสัตว์เช่นวัว ควาย).

๑. เสนา ๒. เสนาบดี ๑. ม. กองทัพ, ทหาร ๒. ม. เจ้าแห่งกองทัพหรือทหาร ตามธรรมเนียมในครั้งพุทธกาล ตำแหน่งนี้รองอุปราชเป็นขุนพลของพระราชา. แต่ของเราบัดนี้เป็นตำแหน่งเจ้ากระทรวงทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน.

เสริด หนี.

เสพ (ม.ส. เสว) คบหาเช่น เสพคนพาล ฯลฯ; บริโภคเช่น เสพปัจจัย รับใช้ (ตรงกับ อ. Serve) เสวก. เสวี ผู้รับใช้ ผู้คบหา. ‘เสวก’ เป็นตำแหน่งข้าราชการในราชสำนัก คือรองเสวก, เสวก มหาเสวก.

เสวก, เสวี, ดู ในเสพ.

เสามนัส (ม. โสมนสฺส; ส. เสาเมนส, เสามนสฺย) ออกจาก สุ-มนสฺ ความมีใจดี คือความสุขใจ, ที่ใช้กันมาก คือ ใช้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ คือ โสมนัส หรือ โสมนัสย์.

๑. เสื้อน้ำ, ๒. เสื้อเมือง ๑. ยักษ์ผู้รักษาถิ่นน้ำซึ่งโดยมากมักเป็นสระ, คำสามัญมักเรียก ผีเสื้อน้ำ (ผี โบราณแปลว่าอมนุษย์ คือยักษ์และเทวดาเช่น ‘ผีบุญ’ คือนายบุญเทวดานั่นเอง). บาลีใช้ว่า ทารกฺขส คือรากษสผู้รักษาน้ำ. ๒. เทวดาผู้รักษาเมืองเราเรียกพระเสื้อเมือง.

แสน คือ ๑๐ หมื่น. หมายความว่ามากก็ได้ เช่น แสนโศก=โศกมาก ฯลฯ.

แสร้ง แกล้งทำ, ประดิษฐ์ทำ

โสดาปัตติผล ดู ผล.

โสต ม. อวัยวะเครื่องฟังเสียง คือ หู.

โสภณ, โสภา, โสภิต, ม. - (ส. โศภน, โศภา โศภิต):- โสภณ, โสภา ความงาม; โสภิต เป็นคำวิเศษณ์ว่า งดงาม, แต่ไทยเราใช้เป็นกลางว่างามทั้ง ๓ ศัพท์ และจะใช้ตาม ม. หรือ ส. ก็ได้.

ห.

หทย, หทัย, หฤทัย (ม. หทย, ส. หฤทย) หัวใจ, เราใช้ว่าใจก็ได้ ราชาศัพท์ว่า พระหฤทัย พูดละว่า พระทัย ก็ได้.

หนวดเขี้ยว ‘ผู้มีหนวดโง้งอย่างเขี้ยว’ เป็นฉายาของนายจันทร์บ้านบางระจัน.

หรรษ, หรรษา. ส. ความรื่นเริง รื่นเริง.

หลั่น ลำดับ เรียงเป็นลำดับกันไป เรียงได้จังหวะกัน.

หล้า โลก คือ แผ่นดินที่เราอยู่นี้.

หลาก ต่าง ๆ มากอย่าง. แปลก เช่นหลากใจ (แปลกใจ).

หลืบ หินที่เหลื่อมกันเป็นชั้น ๆ เข้าไปในภูเขามักเรียกหลืบผา.

หัตถ์ ม. หัสต์ ส. มือ.

หางยาม ส่วนท้ายของไถที่คนถือ ส่วนข้างหน้าที่ผูกเชือกเทียมกับวัว ควาย เรียกคันชัก.

หาว ท้องฟ้า, อากาศ, แสดงอาการอ้าปากผายลมออกเช่นเมื่อเวลาง่วงนอน.

หาส ม. ความรื่นเริง.

๑. หิริ ๒. หิโรตตัปปะ - ๑. ม. ความอายแก่บาป คือ ขวยใจในการทำบาป คู่กับ โอตตัปปะ ม. ความกลัวบาป. มักเรียกรวมกันเข้าสนธิว่า ๒. หิโรตตัปปะ คือ ความอายและกลัวบาป.

เหย้า เรือน.

โหด, เหี้ยม - โหด ชั่ว เหี้ยม ร้ายกาจ, โหดเหี้ยม ทั้งชั่วทั้งร้ายกาจ, แต่เหี้ยมแปลว่า เหตุ ก็ได้ เช่นเหี้ยมนี้ คือ เหตุนี้

โหล่ ช้ากว่าเพื่อน, ห่างกว่าเพื่อน ล้าหลัง, มาทีหลัง.

อ.

อกตัญญู ม. ผู้ไม่กตัญญู ดู กตัญญู.

องค์ ม.ส. ส่วน เช่น ‘สตางค์’ (สต+องค์=ส่วนร้อย); อวัยวะ คือส่วนของร่างกาย (ดูเบ็ญจพิธ); ใช้เป็นลักษณนามของเจ้านายและเทวดา เช่นเรียกว่า เจ้าองค์นั้น เทวดาองค์นี้; ใช้เป็นศัพท์ สกรรถ ในคำประพันธ์ เช่น บิตุรงค์ ดู สกรรถ.

องคประดิษฐ์ ดูเบ็ญจพิธ.

อคุณ ม. สิ่งที่ไม่เป็นคุณ คือโทษ.

อดิเทว, อดิเทพ. ม. ผู้ล่วงเสียซึ่งเทวดา คือเป็นใหญ่กว่าเทวดา ได้แก่พระอินทร์ ฯลฯ ใช้ยกย่องกษัตริย์หรือพระพุทธเจ้าก็ได้ เช่นกล่าวว่า ‘เทวาติเทวํ นรทฺมฺมสารถึ.’

อดิศร ส. (อติ+อิศวร) ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง หมายเอาพระเจ้าแผ่นดิน ดู อิศวรด้วย.

อดีต ดู อนาคต.

อดุล, อดุลย์, ส. ๒ ศัพท์ที่ใช้เหมือนกันแปลว่า ไม่มีที่เปรียบ.

อธรรม, อาธรรม ส. ความไม่เป็นธรรม ความชั่ว คนไม่เป็นธรรม, คนชั่ว ใช้อธรรม หรือแผลงเป็นอาธรรมก็ได้.

อธึก, อธิก ม. ยิ่ง, อธึก ใช้ศัพท์เดียวโดด ๆ ได้ แต่ อธิก มักใช้ประกอบท้ายศัพท์มคธด้วยกันเช่น ‘ปัญญาธิก’ ‘สัทธาธิก’ ‘วิริยาธิก’ (ยิ่งด้วยปัญญา. - ศรัทธา, - ความเพียร).

อนงค์ ส. ผู้ ไม่มีตัว คือ ความรัก. พระกามเทพ แต่ไทยใช้ว่าผู้หญิงเป็นพื้น.

๑. อนธการ ๒. อันธพาล อนธ, อันธ ม. ผู้ตาบอด (ทั้ง ๒ ข้าง) คู่กับ กาณ คือ ตาบอดข้างเดียว ๑. ม. เป็นการดังบอด คือ มืดมิดไม่เห็นหน ๒. ม. คนพาล ผู้บอด, คือคนพาลผู้โง่เขลาเหมือนคนตาบอด.

อนนต์, อนันต์ ม.ส. (อน+อนฺต์) ไม่มีที่สุด คือมากเหลือเกิน.

อนาคต ม. การยังไม่มา คือภายหน้า. กาลท่านจัดเป็น ๓. ยังอีก ๒ คือ ปัจจุบัน ปรัตยุตบัน ‘กาลเกิดขึ้นฉะเพาะ’ คือขณะนั้น อดีต กาลล่วงแล้ว คือเวลาก่อน.

อนาถ ม. ไม่มีที่พึ่ง คือยากไร้ เข็ญใจ; แต่ไทยใช้ในความว่า สลด, ระทด ก็ได้ เช่น อนาถใจ. มักใช้ควบกับ เอน็ด ซึ่งเป็นคำอุทานสร้อยบท ว่า น่าเอน็ดอนาถ หมายความว่าน่าสลดระทดใจ.

อนามัย ม.ส. ความไม่มีโรค, ความผาสุก ความเบนไปของร่างกาย.

อนิฏฐ์ ดู อิฏฐ์.

อนุ นามเจ้าเวียงจันทน์ เรียกเต็มเจ้าอนุวงศ์ แต่เรียกกันสามัญว่า ‘เจ้าอนุ’

อนุชา ดู นุช.

อนุรูป ม. ‘ตามรูป’ ควร. ฐานานุรูป ควรแก่ฐานะ.

อนุศาสน์ ส. การตามสอน, การพร่ำสอน, พร่ำสอน.

อนุสนธิ์ ม. การสืบต่อกัน ถ้อยคำที่ติดต่อกัน.

อนุสสาวรีย์ ที่ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกของคนที่นับถือ เพื่อให้ปรากฏอยู่นาน.

อเนก ม.ส. (อน+เอก) ใช่หนึ่งคือมาก.

อพยพ แผลงมาจาก อวัยวะ ดู องค์. แต่ไทยใช้อีกอย่างหนึ่งว่า ยกครอบครัวไปอยู่อื่น, ยกไปก็ว่า อพยพไป ยกมาก็ว่า อพยพมา.

อภัย ม. ความไม่กลัว ความไม่มีภัย ใช้ในทางขอโทษหรือขออนุญาต เช่นกล่าวว่า ขออภัย ก็คือ ขออย่าให้มีภัย ใช้แทนคำว่า ขอโทษ ก็ได้.

อภิรมย์ ม. ยินดียิ่ง.

อภิวันท์, อภิวาท ม. ไหว้. เป็นกริยา อภิวันทน์, อภิวาทน์ ม. การไหว้เป็นคำนาม แต่เราใช้เป็นกริยาได้ แล้วแต่เหมาะ.

อมร ม.ส. ผู้ไม่ตาย คือเทวดา. กล่าวว่าได้กินน้ำอมฤต (น้ำไม่ตาย), คู่กับศัพท์ว่า มรรตยะ (ม. มจฺจ) ผู้ต้องตาย เราใช้ว่า มรรตัย ก็มี พวกนี้ไม่ได้กินน้ำอมฤตจึงต้องตาย ได้แก่มนุษย์และสัตว์ที่ไม่ใช่ทิพย์.

อร, อ่อน ผู้หญิง, นางงาม, งาม สองศัพท์นี้เขียนต่างกัน แต่ความคล้ายคลึงกัน และท่านนิยม ใช้เป็นคนละทาง เช่น อรทัย (อุทัย=ตั้งขึ้น คือ หญิงรุ่น) อรชร (อุชุ=ตรง, เอาความว่างาม) กับ อ่อนไท้ (หญิงผู้เป็นใหญ่) อ่อนซอน (งดงาม, ใช้ตามเสียงลาว ถ้าเสียงไทยก็คือ อรชร นั่นเอง).

อรทัย ดู อุทัย และ อร.

อรรถ ส. อัตถ์ ม. ประโยชน์ เนื้อความ เช่น อรรถจรรยา ส. อัตถจริยา ม. ความประพฤติประโยชน์คือทำประโยชน์.

อรรถวิถี ส. ทางแห่งเนื้อความ.

๑. อรหันต์ ๒. อรหัตต์ ๑. ม. ‘ผู้ควร (เคารพ)’ ผู้หักกิเลส, ได้แก่นักบวช ผู้ถึงภูมิธรรมชั้นสูงสุด. ในพระพุทธศาสนาได้แก่พระอริยบุคคลชั้นยอด ๒. ความเป็นพระอรหันต์, ธรรมที่พระอรหันต์ตรัสรู้.

อรัญ, อรญ ป่า, อรัญญิก ม. อยู่ใกล้ป่า, มีตามป่า, ชเวป่า.

อรินทร์ ส. (อริ+อินฺทร) จอมข้าศึก, ผู้เป็นใหญ่ฝ่ายข้าศึก

อวตาร ม.ส. ‘การข้ามลง’ เอาความว่าการแบ่งภาคลงมาบังเกิดในมนุษย์แห่งพระนารายณ์. ตามไสยศาสตร์เขานับพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารปางที่ ๙. เพื่อประโยชน์อะไรดูในเรื่องศิวประติมาข้างต้น.

อวิจี, อเวจี ม. ชื่อนรกขุมลึกที่สุด คนทำบาปหนักเช่น ฆ่าพ่อแม่, ฆ่าพระอรหันต์เป็นต้น ต้อง ตกนรกขุมนี้ เรามักเรียกกันว่าอเวจี.

อวิชชา ม. ‘ความไม่รู้จริง’ ความโง่เขลาไม่รู้ตามความเป็นจริง

อหังการ, อหังการ์ ม. ‘การถือว่าเรา’ คือการจองหอง การเย่อหยิ่ง.

อคร้าว อิ่มผล, ปีติยินดีในผล.

อักขู, อักโข เพี้ยนมาจาก ม. อักโขภินี เป็นชื่อสังขยา จำนวนมาก เราหมายความว่ามาก.

อักษรศาสตร์ ส. ตำราเกี่ยวกับวิชชาหนังสือ.

อัคคี ม. อัคนี ส. ไฟ. นิยมว่าเป็นเทวดา เรียกพระอัคนี หรือพระเพลิง. อาคเนย์ ก็ออกจาก อัคนี แปลว่า ทิศของพระเพลิง คือพระเพลิงรักษาทิศนี้ (ตะวันออกเฉียงใต้) ถ้าจะอ่านให้ถูกแบบต้องว่า ‘อาคฺ–เน.’

อัคร, อรรค (ส. อคฺร; ม. อคฺค) เลิศ, ยอด, มักใช้นำหน้าคำสมาส, อัครราช พระราชาเลิศ, อรรค เราแผลงเอาเอง ที่ถูก คือ อัคร. อัคเรศ อักเรศวร์ เป็นใหญ่เลิศ.

อัจฉริย ม. อัศจรรย์ ส. ‘กรรมควรปรบมือ’ คือ สิ่งที่น่าพิศวง, สิ่งประหลาด. อัจฉริยมนุษย์ ม. มนุษย์อัศจรรย์ หมายความว่ามีความดีแปลกกว่าคนสามัญ อัจฉริยราช ม. พระราชาที่น่าอัศจรรย์ คือท่านทรงความแปลกกว่าพระราชาสามัญ.

อัญขยม ข. อัญ ข้า, ขยม, ขยุม ข้า, บ่าว, อัญขยม ข้าพเจ้า ใช้ ขยม อำเดียวก็ได้. แต่ อัญ คำเดียวยังไม่เคยเห็นที่ใช้.

อัตรา กำหนด, เกณฑ์, จำกัด.

อัธยาศัย ส. อัชฌาศัย ม. แปลเอาความว่าใจคอ.

อับปาง แตก, ทำลาย, จม (ใช้สำหรับเรือเดิรทะเล).

อากร ม.ส. บ่อเกิด, หมู่, มักใช้ประกอบท้ายศัพท์ ม.ส. ด้วยกันเช่น ทิชากร=หมู่นก ฯลฯ

อาฆาต ม. ความคุมแค้น ความแค้นใจใคร่จะทำร้าย.

อางขนาง อาย, กะตาก.

อาจิณ ม. เสมอ เนือง ๆ.

อาชีพ, อาชีวะ ม. การเลี้ยงชีวิต การทำมาหากิน. มิจฉาชีวะ, มิจฉาชีพ ม. การหากินผิด เช่นรับของโจร, ทำเงินปลอม ฯลฯ สัมมาชีวะ, สัมมาชีพ ม. การหาเลี้ยงชีพชอบ คือ ไม่ผิดทางศาสนาและกฎหมาย.

อาดูร (ม.ส. อาตุร) ความเดือดร้อน.

อาตม, อาตมา ส. (ม. อตฺตา) ตน. พระสงฆ์ใช้เรียกตัวของท่านว่า อาตมภาพ เพื่อพูดกับผู้มีบรรดาศักดิ์

อาทร ม. ความเอื้อเฟื้อ, เอื้อเฟื้อ.

อาทิ ม. ต้น ใช้ประกอบท้ายศัพท์ แปลว่า เป็นต้น เช่น พุทธาทิ มีพระพุทธ์เป็นต้น, เมตตาทิ มีเมตตาเป็นต้น ฯลฯ.

อาทิตย์ ส. ‘เชื้อพระอทีติ’ พระอทิติเป็นชายาพระกัศยป ซึ่งไสยศาสตร์ว่าเป็นบิดาแห่งเทวดา มนุษย์ สัตว์ทั้งปวง พระอทิติมีลูกเป็นเทวดา รวมเรียกว่า อาทิตย์ (ตามชื่อมารดา) เช่น พระอินทร์ พระสูรยะ (สุริย) ฯลฯ นับเป็นอาทิตย์ทั้งนั้น เรียกว่า อินทราทิตย์ สูรยาทิตย์. แต่ไทยหมายเอาพระสูรย (สุริย) ว่าพระอาทิตย์เป็นพื้น.

อาภรณ์ ม.ส. เครื่องประดับ เครื่องตกเเต่ง.

อาภา ม.ส. รัศมี, ความรุ่งเรือง.

อารมณ์ ม. ‘เครื่องยึดหน่วง’ หมายความถึงสิ่งที่ประสาทรู้สึก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสส์ (เช่นเย็นร้อนอ่อนเเข็ง) กับสิ่งที่ใจหน่วงนำมาคิด ซึ่งเรียกว่า ธรรมารมณ์. ไทยมักหมายความถึง ธรรมารมณ์ เป็นพื้น, เช่นพูดว่า ‘อย่าเอามาคิดเป็นอารมณ์เลย’ ที่หมายความไปถึงจิตต์ใจ หรือใจคอก็มี เช่นพูดว่า ‘วันนี้อารมณ์ไม่ดี’

๑. อารย์ ๒. อารยธรรม ๓. อารยชน:- ๑. ส. ‘เผ่าชาวอริยกะ’ หมายความว่าพวกเจริญแล้ว ตรงกับคำว่า ศิวิไลซ์ ของฝรั่ง. ๒. ส. ‘ธรรมของชาวอารยะ’ คือประเพณีที่เจริญแล้ว. ๓. ส. ชนผู้เจริญแล้ว

อาราธนา ส. การรับใช้ การทำให้ยินดี, การเคารพนับถือ. แต่เรามักใช้ ว่าเชื้อเชิญ และใช้ฉะเพาะพระสงฆ์เท่านั้น อย่างดียวกับ นิมนต์ ม., เผดียง ข., ซึ่งแปลอย่างเดียวกัน.

อาลัย ม. ความห่วงใย ที่อยู่ ในความหลัง ใช้เป็น สกรรถ ด้วย ดู สกรรถ.

อาวาส ม. ที่อยู่ เรานิยมใช้ว่าวัด

อาศิร, อาเศียร ส. (อาศิสฺ แผลง ส เป็น ร ตามวิธีสนธิ) คำอวยพร อาเศียร เราแผลงใช้ มักมี ‘วาท’ หรือ ‘พาท’ อยู่ท้าย เป็น อาศิรวาท หรือ -พาท ว่า กล่าวคำอวยพร. ว่าเขี้ยวก็ได้ เช่น อาศิรพิษ=สัตว์มีพิษในเขี้ยวคือง ูที่เราใช้เลือนมาว่า อศรพิษ.

อาสน ม. ที่นั่ง เสนาสน ที่นั่งนอน.

อำนรรฆ, อนรรฆ (ส. อนรฺฆ, ม. อนคฺฆ) หาค่ามิได้, เหลือจะนับราคา, อรรฆ ส. อัคฆ ม. ราคา.

อำพน งาม งามด้วยมีดาษดื่น.

อำไพ งาม, สวย.

๑. อิฏฐ ๒. อนิฏฐ ๑. ม. อันปรารถนา, อันต้องการ ๒. ม. (อน+อิฏฺฐฺ) อันไม่ปรารถนา อันไม่ต้องการ

อินท์ ม. อินทร์ ส. ผู้เป็นจอม, ผู้เป็นใหญ่ มักใช้ประกอบท้ายศัพท์อย่างเดียวกับ อิศวร เช่น นรินท์ นรินทร์ นเรนทร์ (จอมคนคือพระราชา), ถ้าใช้ลอย ๆ อินทร์ หมายถึงพระอินทร์ เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ที่ถูกควรอ่าน ‘อิน-ท๎ระ’ เช่นอินทรวิเชียร แต่ในคำประพันธ์ยอมให้อ่าน ‘อินทะระ’ หรือ ‘อินฺ ทอนฺ’ ได้. ใช้เป็นศัพท์ สกรรถก็ได้ ดู สถรรถ.

อินทรีย์ ม. สิ่งที่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ เช่น ตา, หู ฯลฯ นับว่าเป็นอินทรีย์ เพราะมีหน้าที่ดู ฟัง ฯลฯ ยังหมายความกว้างขวางกว่านี้มาก. แต่ไทยเราหมายถึงร่างกายโดยมาก

อิศวร, อิสสระ, อีศอิศวร (ส. อีศฺวร; ม. อิสฺสร) ผู้เป็นใหญ่ เราใช้เรียกพระศิวะเป็นสามัญว่า พระอิศวร หรือ พระมเหศวร, และใช้ประกอบท้ายศัพท์ด้วย. โดยมากมักทิ้งตัว ว, เสีย คงเป็น อิศร เช่น นริศร สยามิศร์ สยาเมศร์ ที่คง ว ไว้ก็มี มักจะให้อ่าน ‘ศวร (สวน)’ ด้วย เช่น นเรศวร มเหศวร. อิสสระ มักใช้ในความว่า ผู้เป็นใหญ่แก่ตัว, ความเป็นไทยแก่ตัว. อีศ มักใช้ประกอบท้ายศัพท์เป็นพื้น เช่น บิตุเรศ, นคเรศ และใช้เป็น สกรรถ ด้วย ดู สกรรถ.

อุต, อุตดร, อุตดม, อุดม มาจาก ส. อุตฺ ขึ้น, บน, สูง เติม ดร (ตร) แปลว่าสูงกว่า, และว่าเบื้องซ้ายด้วย เติม ดม (ตม) แปลว่า สูงที่สุด. อุตดม ไทยมักใช้อุดมด้วย

อุตบล, อุปบล ดู ปทุม.

อุตส่าห์ ส. อุสส่าห์ ม. ความหมั่น, ความพากเพียร.

อุทก ม.ส. น้ำ อุทกภัย ม. ภัยเเต่น้ำ คือน้ำท่วม.

อุทโฆษ ส. กึกก้องขึ้น ใช้อย่างมคธ ว่า อุคโฆส ก็ได้ สมุทโฆษ ก็คือ สํ+อุตฺ+โฆษ=กึกก้องขึ้นพร้อมกัน ควรอ่าน ‘สะมุดฺ โคด.’

อุทยาน ส. สวนที่สร้างไว้ชมเล่น, เรามักใช้ฉะเพาะสวนหลวง.

อุทัย ม. การตั้งขึ้น, การเกิดขึ้น. เราใช้เป็นกริยาว่าตั้งขึ้น, เกิดขึ้น. ก็ได้ และแผลงเป็นอรทัย ใช้ว่านางรุ่นสาว.

อุทาหรณ์ ม.ส. ตัวอย่าง.

อุทิศ ฉะเพาะให้, เจาะจง. ที่ถูกควรเป็น ‘อุททิศ’ (คือ อุตฺ+ทิศ=อุททิศ) แปลว่านเสดงขึ้น.

อุบาทว์ ดู อุปัทวันตราย.

อุบาสก, อุบาสิกา ม. ผู้นั่งใกล้ เอาความว่านั่งใกล้พระรัตนตรัย ได้แก่ผู้เข้าวัดฟังเทศน์ถือศีล. ผู้ชายเรียก อุบาสก ผู้หญิงเรียก อุบาสิกา คำตลาดเรียกเพี้ยนไปว่า ประสก สีกา.

อุเบกขา ม. ความเพิกเฉย, ความทำจิตต์เป็นกลางไม่ยินดียินร้าย. ทางพุทธศาสนาเมื่อตนหรือผู้อื่นได้รับทุกข์ก็ไม่ควรคิดเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งเป็นความเศร้าหมองจิตต์ ควรตั้งอุเบกขา คิดเสียว่าเป็นไปตามสภาพ. แต่เมื่อเห็นผู้อื่นได้สุข ให้บันเทิงจิตต์ตามเรียกว่ามี มุทิตา.

๑. อุปกรณ์ ๒. อุปการ. ๑. เครื่องอุดหนุน, เครื่องมือ. ๒. การเกื้อกูล การทำบุญคุณ คู่กับปฏิการ ซึ่งแปลว่า การทำตอบแทน.

อุปถัมภ์, อุปัตถัมภ์ ม. การอุดหนุน, ใช้เป็นกริยาก็ได้ อุปถัมภก, อุปัตถัมภก, ผู้อุดหนุน.

อุปบัติ (อ่าน อุบ - บัด) ม. ความบังเกิดขึ้น, ใช้เป็นกริยาก็ได้ ที่ใช้เป็นสามัญมักลด ป. ออกเสีย เป็น อุบัติ.

อุปมา, อุปไมย - อุปมา ม. ข้อเปรียบ อุปไมย ม. เรื่องที่ควรตั้งข้อเปรียบ, ตัวอย่าง ‘เรือแล่น เหมือนลมพัด’ ‘เรือแล่น’ เป็นอุปไมย. ‘ลมพัด’ เป็นอุปมา อุปมา. เราใช้เป็นกริยาว่าเปรียบเทียบก็ได้. เช่นท่านอุปมา คือท่านเปรียบเทียบ.

อุปราช. ม. (อุป (ใกล้)+ราช) ผู้ใกล้หรือรองพระราชา เมืองเราโบราณ คือ วังหน้า, บัดนี้เป็นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการประจำภาคเป็นใหญ่กว่าสมุหเทศาภิบาล ซึ่งอยู่ในภาคของตน.

๑๑. อุปัฏฐาก ๒. อุปัฏฐาน, ๑. ม. ผู้บำรุง ๒. ม. การบำรุง

อุปัทวันตราย ม. คือ อุปัทวะ (ใช้ โดด ๆ มักใช้อุบาทว์) ความจัญไร อันตราย เครื่องขัดขวาง ไทยหมายถึงความประสพภัยด้วย.

อุปาธยาย ส. อุปัชฌาย์ ม. พระผู้ให้อุปสมบทภิกษุ, ธรรมเนียมภิกษุย่อมนับถืออุปัชฌาย์อย่างพ่อแม่, ไทยเราถึงสึกออกมาแล้ว ก็ยังนับถืออยู่อย่างเดียวกัน.

อุมงค์, อุโมงค์ (ม. อุมฺมงฺค) ทางใต้ดิน; ทางที่ขุดทะลุภูเขาไป เช่นอุโมงค์ทางรถไฟ.

อุมา ม.ส. นามพระชายาพระอิศวร ท่านเป็นธิดาพระหิมพาน หรือหิมวัต (ภูเขา). จึงมีนามเกี่ยวด้วยเขาตามบิดาว่า พระทุรคา (ไปยาก คือ ภูเขา), พระบารพตี (เชื้อบรรพต คือภูเขา) และมีชื่ออื่น ๆ อีกมาก.

อุฬาร, โอฬาร ม. ยิ่งใหญ่, เราใช้แผลงเป็น เอาฬาร หรือ เอาฑาร ก็ได้.

อู่ เปล, ที่ช่อมเรือใหญ่, ที่ซึ่งอุดมด้วยของต่าง ๆ เช่น อู่ทอง (ที่อุดมด้วยทอง) อู่บุญ ที่อุดมด้วยบุญ คือเป็นบ่อเกิดบุญ.

เอก ม.ส. หนึ่ง เรามักนิยมใช้ว่า เป็นหนึ่ง เป็นเลิศ เอกองค์ ก็คือพระองค์เป็นเลิศ. ใช้นับลำดับชั้น เช่นชั้นเอก (ชั้นยอด), ชั้น โท (ชั้นที่ ๒), ชั้นตรี (ชั้นที่ ๓), ชั้นจัตวา (ชั้นที่ ๔)

เอม หวาน, อร่อย, ปลาบปลื้ม เอมใจ ปลาบปลื้มใจ, เอมโอช มีรสอร่อย.

เอาภาร เอาธุระ, เอาใจใส่.

เอาฬาร, เอาฑาร ดู อุฬาร.

เอื้อน พูด, บอก, แย้ม (โอษฐ์) เอื้อน, เอิ้น, อื้น ใช้อย่างเดียวกัน.

โอกาส ม. (ส. อวกาศ) ช่องทาง, เวลาหรือที่เพื่อทำการใด ๆ ใช้ว่า ที่ทางก็ได้ เช่น อัพโภกาส (อภิ+โอกาส) ที่แจ้งยิ่ง.

โองการ ส. (โอม+การ) อักขระ ‘โอม’ คือตัว ‘โอม’ เป็นอักษรย่อมาจาก อ. อุ. ม. เรียกเร็วเข้าจึงเป็น ‘โอม’ สนธิกับ ‘การ’ เป็น ‘โองการ’ อ. เป็นนามพระนารายณ์ อุ. เป็นนามพระอิศวร, ม. เป็นนามพระพรหม, พราหมณ์นับถือว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ จะว่ามนตร์ใด ๆ มักขึ้น ‘โอม’ ก่อน. โองการ เรานิยมใช้ว่าคำสั่งผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ เช่น ราชโองการ คือคำสั่งเจ้าแผ่นดิน. เทพโองการ คำสั่งเทวดาผู้เป็นใหญ่ พุทธโองการ คำสั่งพระพุทธเจ้า

โอช, โอชา ม. รสอาหาร, ความเอร็ดอร่อย.

โอตตัปปะ , ดู หิริ.

โอภาส ม. แสงสว่างลง แสงสว่างที่ฉายลงพื้นโลก, คำ ภาส ภาษ พาส ควรสังเกตดังนี้:- ภาสแสงสว่าง, รัศมีเช่น ภาสกร ผู้ทำแสงสว่าง คือพระอาทิตย์. ประภาส อาภาส แสงสว่างทั่ว. ภาษ กล่าว, พูด เช่น ภาษา ภาษิต คำพูด, ประภาษ กล่าว, พูด, โอภาษ กล่าวเลียบเคียง, อาภาษ คำเบื้องต้น. คำนำ พาส มาจาก วาส ว่า เช่น ประพาส เที่ยวอยู่, เรม, แต่ พาสนา คือ วาสนา บุญที่อบรมมา.

อวย อำนวย ศัพท์เดิม คือ โอย ข. ให้ แล้วไทยนำมาใช้เป็น อวย และ แผลงใช้เป็น อำนวย ด้วย.

โอรสทศพล ม.ส. ลูกพระทศพล (ดู ทศพล) คือ พระสงฆ์

โอวาท ม. คำกล่าวสอน.

โอษฐ์ ส. (ม. โอฏฐ์) ริมฝีปาก, แต่ไทยใช้ว่า ปากโดยมาก.

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ