กลอนสุภาพ อธิบาย “สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ”

“ความสันโดษ (คือความยินดี ในของแห่งตนที่มีอยู่) เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ขอเผยพุทธภาษิตลขิตไข ขยายความตามควรสำนวนไทย แต่อาศัยเค้าความตามบาลี คำ “สันโดษ” ฟังดูออกรู้สึก ไม่ลุ่มลึกเทียมทัดอรรถวิถี ซึ่งนับเป็นทรัพย์สิ่งยิ่งมณี จึงขอชี้แจงความตามวิจารณ์ หมายความว่าทรัพย์สินสิ้นทั้งหมด เกียรติยศศักดิ์สุขทุกสถาน ได้เท่าไรไม่เฟ้อทะเยอทะยาน จิตต์เบิกบานพอใจตามได้มา นี่แหละนักปราชญ่นับว่าทรัพย์เลิศ ประกอบเกิดคุณหลายณภายหน้า เหล่าลูกเสือควรจำเป็นตำรา ถือเป็นวัตรอัตราอย่าคลาคลาย จงคิดดูผู้ใดไร้สันโดษ มีตั้งโกฏิล้านนับทรัพย์ทั้งหลาย ก็ไร้ผลผาสุกสนุกสบาย เหมือนดินทรายไม่นับว่าทรัพย์จริง เพราะเหตุไรจึงเป็นได้เช่นนี้ เพราะเหตุมี “โลภ” กล้าเข้ามาสิง เกาะดวงจิตต์ติดแน่นแม้นกับปลิง มุ่งแต่สิ่งของเขาเฝ้าพะวง ทรัพย์แห่งตนจืดจางอย่างกะเบื้อง เหลือบชำเลืองทรัพย์ท่านง่านประสงค์ ถึงจะเลวก็เป็นเลิศเจิดบรรจง จิตต์จำนงน้อมใจใฝ่นิยม ลาภยิ่งไหลใจยิ่งโลภเฝ้าโอบเอื้อม โลภไม่เสื่อมสร่างหายสักปลายผม ซ้ำพาตัวริษยามาระดม เมื่อไม่สมจิตต์มาดอาฆาตคุม เกิดตีรันฟันแทงยื้อแย่งทรัพย์ เพราะโลภจับจูงส่งไปลงหลุม ที่เลินเล่อโลภล้อมเข้าห้อมรุม เพราะไม่คุม “สันโดษ” เป็นโทษเดิม ชี้ให้เห็นเช่นเราเข้าสมัคร เป็นพนักงานกรมปรารมภ์เริ่ม ยี่สิบบาทนึกท้อใคร่ต่อเติม เพราะจิตต์เหิมเห็นเพื่อนไม่เหมือนเรา เขาสี่สิบห้าสิบไกลลิบลับ อยากขยับย่างเยี่ยมขึ้นเทียมเขา หมดยินดี “ยี่สิบ” ไปหยิบเอา เงินเดือนเขามารำพึงคะนึงตรอง กะสับกะส่ายสนใจอยากได้บ้าง ถ้าขัดค้างแค้นใจฤทัยหมอง นี่คือโลภหลงเพ้อละเมอปอง มุ่งเอาของเขามาเป็นอารมณ์ เงินยี่สิบส่วนได้ไม่ให้สุช กลับให้ทุกข์ถ่วงหนักยิ่งหมักหมม เกิดริษยาตาร้อนนอนระทม ถึงได้สมก็ไม่ยืดพลันจืดจาง โลภต่อไปให้ทวีไม่มีหยุด ไม่เต็มดุจดังกะบุงและยุ้งฉาง ลงท้ายถึงซึ่งทุกข์คุกตะราง จึงจะวางโลภนึกรู้สึกตน วิสัยจิตต์บิดเบี่ยงเอียงข้างบาป ต้องบำราบอบรมบ่มกุศล เสียแต่ยังย่อมเยาว์เบากมล ถ้าแก่ตนตกลึกฝึกไม่คลาย อุตส่าห์เถิดชาวเราเยาว์อายุ คงจะลุเลศผลดังตนหมาย เพราะสันโดษนี้ท่านได้บรรยาย เป็นคุณแก่หญิงชายทุกคนไป “ไม่ว่าใครใจกายสบายแล้ว เหมือนได้แก้วกอบค่าจะหาไหน ยิ่งกว่าทรัพย์นับแสนในแดนไตร ซึ่งไม่ให้สุขสมอารมณ์ปอง ความสันโดษนี้และช่วยอำนวยสุข แก่ชนทุกข์เทศถิ่นสิ้นทั้งผอง ทั้งยากไร้ไพร่ผู้ดีมีเงินทอง จึงเป็นของควรนับ “ทรัพย์อุตดม” ไม่ว่าทรัพย์สิ่งสนเครื่องกินใช้ ถ้าแม้นไม่ยินดีถึงมีถม ก็สิ้นสุขสร่างจิตต์ที่ชิดชม จึงไม่สมจะเป็นทรัพย์เพราะอับคุณ เรากินเข้ากับปูเค็มช่างเอมโอช ด้วยสันโดษมีประดับสนับสนุน ก็สำราญการกินตามสินทุน แม้ว่าวุ่นหวังดูเขาผู้ดี คำนึงหมูเป็ดไก่ใส่สำรับ จิตต์ก็กลับกลายเบื่อเหมือนเหยื่อผี ถึงกระยาหารท้าวเจ้าบุรี ไม่ยินดีโอชาก็คลาไคล บางคนมีเมียงามอร่ามพักตร์ น่าจะรักแต่ไปพอใจหมาย ปองแต่ลูกเมียเขาเฝ้าตะกาย เลยแหนงหน่ายเมียตนทนระกำ อย่าตั้งจิตต์คิดจ้องแต่ของเขา โลภจะเข้ามาหาพาถลำ ทรัพย์สิ่งใดได้มาอุตส่าห์งำ คิดกระทำให้เป็นคุณหนุนสราญ เขาใช้แพรแลงามอย่าตามเขา จะทำเราร้อนข้างทางเข้าสาร เรามีผ้าพอใจไม่ทะยาน ก็สำราญราวกันกับชั้นแพร มีเท่าใดยินดีเพียงมีนั้น ที่เกินชั้นวาสนาอย่าแยแส จิตต์มนุษย์ชังรักนี้มักแปร ข่มใจแก้เกี่ยงห้ามอย่าตามใจ ให้เคยชินยินดีแต่ที่ชอบ ตามระบอบดังแจ้งแถลงไข จักได้รับสำราญบานฤทัย ตามวิสัยโลกีย์ทวี เอย.

----------------------------

“มาตฤวตฺ ปรทาเรษุ ปรทฺรวฺเยษุ โลษฺฏฺรวต
อาตฺมวตฺ สรฺวภูเตษุ ยะปศฺยติ ส ปณฺฑิตฺฯ”

“ผู้ใดเห็นภริยาของผู้อื่น เสมอมารดาตน, เห็นทรัพย์ของผู้อื่นเสมอก้อนดิน และเห็นสัตว์ทั้งหลายเสมอด้วยตน, ผู้นั้นคือบัณฑิต.”

(หิโตประเทศ)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ