คำฉันท์ สามัคคีบรรยาย

“สพฺเพสํ สํฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา”

“ความพร้อมเพรียงของชนทั้งสิ้นผู้เป็นหมู่กัน ยังความเจริญให้สำเร็จ”

อินทรวิเชียร ๑๑

บรรดามนุษย์เรา ผิจะเอามนัสปลง
ปล่อยจิตต์บจำนง ธุระแห่งสหายผอง
ต่างคนจะต่างอยู่ สละหมู่มิปรองดอง
ไหนเลยจะสบคลอง คุณสุขเกษมศานติ์
พวกโน้นจะย่ำยี คณะนี้จะรังควาน
กำลังจะแหลกลาญ นฤสุขจะขุกเข็ญ
เหตุนี้วิสัยผอง นรต้องสถิตเป็น
หมู่กองและต้องเพ็ญ มนะพร้อมประนอมกัน
อาศัยสมานมิตร ทะนุกิจจสัมพันธ์
รวมแรงและรวมฉัน- ทะขยับขยายการ
มากผู้ก็มากพัฒ- นสวัสดิโอฬาร
สบสรรพการงาน ลุประสิทธิ์ประสงค์พลัน
ไพรีจะบีฑา ก็ระอามิพัวพัน
ยิ่งรักสมัครกัน ก็จะยิ่งพิพัฒน์นาน
เหตุนี้และปวงปราชญ์ นรชาติอดุลญาณ
เอื้อพวกและเอาภาร ธุระเพื่อประชุมชน
รักชาติเสมอชี วิตพลีประโยชน์ตน
เพื่อเพ็ญผะดุงผล คณะร่วมนิรันดร
แม้ในพระศาสนา พระมหามุนินทร
ยกสงฆ์สโมสร- ณประสิทธิ์ณกิจกรรม
ส่ำสงฆ์ผิพร้อมพรัก ก็พิทักษ์พระสัทธรรม
รุ่งเรืองเจริญนำ วรศาสน์สถาวร
บ้านเมืองก็เหมือนกัน ผิวสรรพราษฎร
พร้อมหมู่สโมสร ก็จรัสเจริญผล
จึงควรนิยมเคา รพเหล่าประชุมชน
ควรต่างประพฤติตน สุจริตจรรยา
อ่อนน้อมถนอมใจ บมิให้มลายสา-
มัคคีนิกรนา ครร่วมฤร้าวราน
ตัวเราจะจำรัส คุณวัฒนเนานาน
ชาติเราจะสำราญ รมสุขเสมอไป

----------------------------

ทำอย่างไรจึงจะถนอมความสามัคคีไว้ได้

สุรางคนาง ๒๘

เราทราบคดี ว่าสามัคคี เป็นธรรมข้อใหญ่ ก่อเกิดกำลัง ยังกิจทั่วไป สำเร็จโดยไว ถึงความสำราญ.

ควรทราบต่อไป กอบกิจกลใด จึงได้บันดาล เกิดสามัคคี ให้มีสาธารณ์ อาศัยการงาน เหตุผลกลใด.

อันสามัคคี เกิดจากไมตรี ในกันทั่วไป เป็นด้วยความรัก ฟูมฟักใฝ่ใจ พึ่งพาอาศัย ร่วมใจเดียวกัน.

ร่วมสุขสำราญ ร่วมคิดกิจการ เอาภารผ่อนผัน ลดหย่อนผ่อนตาม ด้วยความรักกัน เกื้อให้เกิด ธรรม์ ความสามัคคี.

เพราะเหตุฉะนั้น เราควรถือธรรม์ ผูกพันไมตรี ให้ชนทั่วไป รักใคร่ปราณี แล้วสามัคคี จักมีโดยจง.

กล่าวคือกอบกิจ ในธรรมสุจริต บัณฑิตประสงค์ คิดคัดข้อความ ตามใจจำนง สรุปรวมลง คงสองวิธี

(๑) ทำตัวให้ดี

หนึ่งพึงบำเพ็ญ ตัวเราให้เป็น ผู้ประพฤติดี ให้คนทั่วไป ไว้ใจไมตรี โอบเอื้ออารี ในเรานิรันดร์

(๒) ประพฤติต่อผู้อื่นให้ดี

สองพึงอบรม การสมาคม ผูกมิตรสัมพันธ์ รู้จักกาละ เทศะผ่อนผัน ถูกใจแก่สรรพ์ พสกนิกร

สองข้อนี้แล เล่ห์ลูกกุญแจ แห่งสโมสร หมู่ใดอบรม สั่งสมถาวร จักเป็นอากร แห่งสามัคคี.

เปรียบเหมือนเครื่องมือ กอบการช่างคือ มีดพร้าตามมี ต้องชุบต้องลับ จนนับว่าดี กับรู้วิธี กอบกิจนานา

ถึงเครื่องมือดี ใช้ผิดท่วงที ดีที่ไหนมา มีดโกนใช้เหลา เอาดาพเจียนสลา ถึงมีวิชชา อาจพาเสียการ.

ถึงแม้ใช้เป็น เครื่องมือแสนเข็ญ ก็เกิดรำคาญ ไม่ได้ดังใจ ย่อมไร้สำราญ ต่อพร้อมสองสถาน การงานจึงดี.

ขอจงชาวเรา ฝึกหัดขัดเกลา จิตต์กายวจี ในธรรมจรรยา สัมมาจารี ปรุงสามัคคี แก่ชาติบ้านเมือง.

----------------------------

การประพฤติตนให้ดีจะต้องทำอย่างไร

อินทวงศ์ ๑๒

ผู้ที่ประพฤติอาต- มพิลาสมลังเมลือง
ด้วยสุจริตเรือง ติทวารพิสุทธิ์พิสัณห์
มีธรรมโอวาท อนุศาสน์อเนกอนันต์
ตามแต่กมลฉัน- ทสมัครจะรักเจริญ.
แต่ต้องประคองธรร- มะประจำฤห่างฤเหิน
อาชีพดำเนิร บริรักษเกื้อสกนธ์.
เมตตาประจำครู นิติผู้จะฝึกจะฝน
การุณย์ประจำตน นิติแพทย์ประคับประคอง
เหล่าผู้ตระลาการ บมิหาญละแบบละบอง
เที่ยงธรรมประจำคลอง มนะมั่นมิหวั่นมิไหว
ส่วนธรรมประจำพา ณิชค้าอะไรอะไร
ซื่อตรงตระหนักใจ บมิลวงตลบตะแลง
อาชีพผิแปลกมา จริยาก็เปลี่ยนก็แปลง
ตามฐานวิถีแห่ง กรณีย์จะมีจะมา
หลักธรรมประหนึ่งวัตร ปฏิบัติมิเคลื่อนมิคลา
อื่นอื่นก็ตามฐา- นะกมลจะขวนจะขวาย
อาชีพมนุษย์มาก จะวภาคก็หลากก็หลาย
เหลือที่จะบรรยาย ประจุให้ละเอียดละออ
จักขอแสดงทาง คติกลางจะเพียงจะพอ
เพื่อเพ็ญสโมส- รณร่วมสมัครสมาน
ธรรมแห่งฆราวาส คณะปราชญ์วิจิตรวิจารณ์
สรรสอนนิกรฐาน พลเมืองจะจดจะจำ
ไว้เพื่อประพฤติตัว นรทั่วจะยอบจะยำ
เกรงตนกมลทำ- นุเสน่ห์มิหน่ายมิแหนง
สี่อย่างพระจอมปราชญ์ วรศาสดาแสดง
“สจฺจํ” ประถมแถลง คติสัตย์มิแปรมิปรวน
ที่สอง “ทโม” การ ทรมานสงบสงวน
สามความมิเรรวน “ฐิติ” จิตต์เสถียรสถาน
“จาโค” ประการสี่ ธนมีก็เจือก็จาน
ครบสี่ประการปาน อุปกรณ์ประชุมประชา
พาตนอร่ามเรือง ดุจเครื่องประดับประดา
เป็นที่นิยมนา- ครรักสนิทสนม
นี้แลฆราวาส ทะนุอาตม์ประเทืองประถม
ต่อไปก็อบรม ทะนุหมู่ประสมประสาน

----------------------------

*ภุชงคประยาต ๑๒

ณคาบนี้จะขอต่อ คดีย่อณเพรงกาล
ฆราวาสธรรมขาน เฉลยพิสดารไข

(๑) “สจฺจํ” ความสัตย์

ณข้อต้นยุคลอรรถ ประพฤติสัตย์ประกอบใน
ทวารสามวจีใจ และกายจงประพฤติจริง
ผิปากรักก็กายรัก และใจภักดิ์มิชังชิง
เสมอไปมิไหวติง เขยื้อนกลับขยับกลาย
คดีโลกประสงค์สิ่ง ประจักษ์จริงมิคลาคลาย
ผิคลาดเคลื่อนมิเหมือนหมาย ก็หมดมาดนิราสผล
จะเป็นวัตถุเครื่องใช้ ประกอบไกและจักรกล
จะเป็นสัตวพาหน ประกอบกิจประการใด
ผิคลอนแคลนมิแม่นมั่น มิเป็นอันจะไว้ใจ
คะเนช้าสิเป็นไว คะเนไปสิเป็นมา
ก็เสียกิจมิสิทธิ์ผล พินาศดลประโยชน์คลา
มนุษย์เราก็อย่างสา รพัตรเครื่องประกอบการ
บซื่อสัตยบมีใคร จะไว้ใจสมัครสมาน
จะเชี่ยวพิทยาชาญ ก็หมดเชิงจะชูตน
จะเป็นใหญ่จะได้ดี จะเป็นที่นิยมชน
เพราะมูลนายและฝูงคน ประจักษ์สัตย์และไว้ใจ
ฉะนี้ควรดรุณแท้ ประพฤติแต่ประถมวัย
ณภายแก่จะแก้ไข สิเหลือเข็ญเพราะเคยชิน

(๒) “ทโม” ความทรมานใจหรือความรั้งตน

ณ ข้อสอง “ทโม” ตั้ง มนัสรั้งกมลถวิล
ขจัดสิ่งประชาฉิน ประกอบสิ่งประชาชม
มนุษย์แต่อุบัติมา มิใช่ว่าจะดีสม
ก็พ่อแม่สิอบรม และต่อมาก็อาจารย์
กระทำชอบก็ชมชัว กระทำชั่วก็ทัดทาน
กมลเด็กสิมักพาน จะมุ่งตามกมลตน
เพราะอ่อนคิดและสังเกต มิเห็นเหตุมิเห็นผล
ก็ผู้ใหญ่สิขวายขวน มิให้ขวางและเขวไป
ฉะนี้จึงประกอบด้วย “ทโม” ช่วยสะกดใจ
จะเพลิดเพลินณสิ่งใด ผิท่านห้ามก็หักรอน
ผิเติบใหญ่ก็ไร้ผู้ จะอุ้มชูและอาทร
มนัสเราจะสั่งสอน มนัสตนตลอดไป
ฉะนี้ควรดรุณหลาย จะรั้งกายและรั้งใจ
ประพฤติชอบประกอบใน สุจรรยาณต้นมือ
พยายามประคองสม- ฤดีข่มและฝึกปรือ
อะไรดีก็ควรถือ อะไรร้ายก็บ่ายหนี
ณ ภายหน้าจะกอบผล จะเป็นพลเมืองดี
เจริญคุณทวีมี ประโยชน์แก่ประเทศตน

(๓) “ิติ” ความมั่นคง

ณ ข้อสามกระทำใจ มิหวั่นไหวจลาจล
จะทำการพิจารณ์ยล ตระหนักจึงจะปลงใจ
และเมื่อปลงมนัสแน่ ก็มิแปรมนัสไป
ณข่าวลือระบือไข บสมเหตุบสมผล
มิพลาดจริงมิทิ้งถอน และย่อหย่อนกมลตน
พยายามกระทำจน จะสมเหมือนมนัสปอง
ดรุณวัยสิใจเบา มิใคร่เอามนัสตรอง
อะไรชอบก็ทำลอง ผิทำยากก็บากหนี
ประเดี๋ยวการฉะนี้รัก ประเดี๋ยวยักฉะนี้ดี
ผิเคยตัวจะเสียที เพราะมีจิตต์มิมั่นคง
จะจับจดมิอดทน มนัสตนมิยืนยง
ก็หมดผู้จะปองปลง มนัสเชื่อในกิจการ
ฉะนี้ควรกระทำตน มิย่อย่นณการงาน
อะไรเล่าจะทนทาน พยายามมนุษย์เรา
อุมงค์มารครถไฟ สะกัดไศละลอดเขา
ฉนำนี้มิเสร็จเอา ฉนำหน้ามิคลาดคลาย
มิวันใดก็วันหนึ่ง จะสมซึ่งมนัสหมาย
ฉะนี้แท้หทัยชาย จะชูชาติเฉลิมนาม

(๔) “จาโค” ความสละ

ณข้อสี่ก็ “จาโค” ขจัดโลภะเสื่อมทราม
กมลปลงประสงค์ความ เจริญหมู่มิดูตน
ผิควรทรัพย์ก็จ่ายทรัพ- ยสำหรับประชาชน
ผิควรแรงก็สู้ทน ประจาคแรงแสวงบุญ
ผิควรชีพและเลือดเนื้อ ก็ยอมเอื้อสนองคุณ
กษัตริย์ชาติและศาสน์สุนทร์ สงวนสัตย์และศักดิ์ศรี
ผิควรความสราญกาย ก็แจกจ่ายประดามี
กะคนแก่และนารี ดรุณผู้มิแข็งแรง
กะทั่งสิทธิพึงมี ก็ยินดีจะจ่ายแจง
กะผู้ควรจะสำแดง กตัญญและบูชา
ประสงค์ผลกะชนมาก มิเกรงยากกะอาตมา
ก็แต่ต้องพิจารณา ณข้อโลกนิยมปอง
มิใช่ว่าจะสอนให้ มิรักใคร่สงวนของ
ประจงหาประจงครอง ประจาคที่ประจักษ์ผล
ประหนึ่งธัญญชาติผู้ จะหว่านดูธราดล
ผิอิ่มโอชและอิ่มชล ก็อวยช่อตระการคุณ
ณ “จาโค” ก็ฉันนั้น ผิถูกธรรม์ก็ถั่งบุญ
ประพฤติเถิดประเสริฐสุนทร์ พิจารณ์ถ่องประจาคเทอญ

*มาลินี ๑๕

นิกรดรุณหวังเจริญ แก่ตนูเชิญ
ชะลออาตม์  
ณพระจตุรชิโนพาท คือ “ฆราวาส-
ธรรม” ไข  
นิกรนรจะมานไม- ตรี ณ เราใด
จะเปรียบปาน  
จะลุวรคุณไพศาล เสริมสวัสดิ์ดาล
กะแดนตน  

----------------------------

จะประพฤติอย่างไรต่อผู้อื่น

ฉะบัง ๑๖

ขอเอื้อนอรรถานุสนธิ์ ขยายยุบล
เพ็ญผลผูกสามัคคี  
มีข้อทำตนให้ดี ดังแจ้งคดี
เยี่ยงกี้ข้อแรกแจกไข  
จักขานข้อสองต่อไป คือประพฤติไฉน
เพื่อให้ผู้อื่นชื่นชม  
ช่ำชองครองครบอบรม สองข้อนี้สม-
บูรณ์บ่มสามัคคีธรรม  
คนที่มีคุณประจำ- ตนแต่ขาดบำ-
เพ็ญกิจต่อมิตรทั้งผอง  
เท่าผู้มีของที่ครอง ไม่รู้จักลอง
ใช้ของนั้นให้ได้ผล  
ดีผู้เดียวโดดโสดตน ไฉนฝูงชน
จักยลรู้เค้าเราดี  
เร่งด้อยถอยสามัคคี ซึ่งเป็นวิถี
เรามีประสงค์จงใจ  
จึงฝึกฝนตนใน ทางคบใครใคร
เพื่อให้เกิดสามัคคี  
มีข้อศึกษาบาลี ภาษิตชินศรี
มุนีนาถสมณะ  
มีนามเรียก ‘สังคห- วัตถุ’ สี่ประ-
การพระตรัสพร่ำนำขาน  
หนึ่ง คือ “ทานํ” ว่าการ อวยทรัพย์บำนาญ
เจือจานตามควรส่วนปัน  
สอง “เปยฺยวชฺชํ” จรร- จาถ้อยคำอัน
เพราะกรรณก่อนิสสัยอารย์  
สาม “อตฺถจริยา” ขาน ขวนขวายกอบการ
สาธารณ์ประโยชน์ศึกษา  
สี่ “สมานตฺตตา” บำเพ็ญอาตมา
เหมาะกาละเทศนิยม  
นี้ย่อพอทางอบรม ต่อสมาคม
สร้างสมพันธมิตรไมตรี  
หมั่นตรึกฝึกหัดให้ดี สังคหะสี่
อย่างนี้ท่านอุปมา  
เป็นเหมือนลิ้มล้อรถคลา ไคลตามมรรคา
ไปหาที่หวังทั้งหลาย  
ถ้าลิ่มหลุดล้อขจาย รถก็ทำลาย
บผายผันเคลื่อนเหมือนหวัง  
แม้ว่าลิ่มแข็งแรงยัง คุมล้อแล่นดัง
จิตต์หวังลุกิจสิทธิ์คุณ  
“สงฺคห วตฺถุ” กุล บุตรเพ็ญพิบุล
บ่มคุณคือสามัคคี  
มีความบรรยายคดี โดยความเห็นชี้-
แจงทีละข้อต่อไป  

----------------------------

* สาลินี ๑๑

(๑) “ทานํ” การให้ปัน

ข้อว่า “ทานํ” นั้น จะขอบรรยายไข
อวยของครองน้ำใจ ถนอมจิตต์สนิทกัน
ต้นไม้ใฝ่อวยชล ชะอุ่มต้นมิเผือดผัน
กลไกใส่น้ำมัน จะหมุนคล่องมิเสียงาน
ดวงไฟใส่เชื้อเพลิง จะดำเกิงตลอดกาล
ร่างกายคลายอาหาร ก็หิวโหยบ่กำแหง
หมวดหมู่ผู้ปรองดอง ก็มีของชะลอแรง
ผู้ใหญ่ใฝ่สำแดง มนัสเกื้อและเจือจุน
ในหมู่ผู้น้อยกว่า มีเข้าปลาก็อุดหนุน
ให้งานฐานการุณย์ ประหนึ่งลูกและเมียขวัญ
คนในใต้ปกครอง ก็ยกย่องตลอดกัน
ทำชอบมอบรางวัล และใครเหนื่อยก็บำนาญ
เจ็บไข้ให้หยูกยา ลุเวลาฤดูกาล
คราวดุจตรุษสงกรานต์ ก็แจกเครื่องประเทืองใจ
ของกินสินเสื้อผ้า มิให้ว่าติเตียนได้
ตามส่วนควรเท่าไร ก็สุดแต่จะมีจน
ในหมู่ผู้เพื่อนบ้าน ก็เจือจานประสาตน
โน่นทีนี่นั่นหน ประคองรักมิร้างรา
ในท่านฐานผู้ใหญ่ จุแก่ใจจะบูชา
ของคำนับทรัพย์สักกา- ระตามควรมิหน่ายแหนง
มีงานการสิ่งใด ผิยากไร้ก็ช่วยแรง
ทั้งนี้ชี้สำแดง อุทาหรณ์ ณ “ทานํ”

(๒) “เปยฺยวชฺชํ” การกล่าววาจาอ่อนหวาน

จักแจงสำแดงต่อ ณ ข้อ “เปยฺยวชฺชํ”
พูดจาน่าใคร่ฟัง เพราะพริ้งโสตเกษมสันต์
วาจาว่าลมลม มิน่าสมจะสำคัญ
คำร้ายร้ายยิ่งสรร- พ ลมร้ายมิร้ายถึง
คำดีดีไม่เบา อะไรเล่าจะคล้ายคลึง
เหตุนั้นหมั่นคำนึง ขนานแต่วจีดี
คำร้ายคล้ายศัสตรา เผด็จผ่าเกษมศรี
มิตรญาติขาดไมตรี นิราสศิวิไลซ์ศูนย์
ไม่ไกลในพ่อแม่ จะดูแลและเกื้อกูล
กินใช้ให้สมบูรณ์ สถานใดก็ทำเนา
สำคัญนั้นวาจา ผิหยาบช้ามิเกลี้ยงเกลา
เช่นว่าด่าลูกเต้า และคนใช้ ณ เรือนตน
“พวกนี้ดีแต่กิน พินาศสินมิเป็นผล”
ท่านฟังตั้งทุกข์ทน เพราะถ้อยทาบกะทบถึง
เคืองแค้นแสนเจ็บร้อน ประหนึ่งศรสลักตรึง
ตัดลูกผูกเคียดขึ้ง ขจัดพรากมิฝากผี
พ่อแม่แผ่รักตน มิอาจทนสลัดหนี
ใครเล่าเขาจักมี กมลกลั้นมิหวั่นไหว
พูดดีมีคุณแพร้ว สดับแล้วก็ติดใจ
ฝังจิตต์มิตรทั่วไป บมีอื่นจะเปรียบปาน
ใช่ยากปากของเรา ผิซื้อเขาก็ควรการ
คิดก่อนจึงผ่อนขาน พจีจำเพาะเห็นงาม.

อุเปนทรวิเชียร ๑๑

(๓) “อตฺถจริยา” การประพฤติประโยชน์

ณ “อรรถจรรยา” รจนาขยายความ
พะยุงพยายาม จะประกอบประโยชน์ผล
อุททิศนมัสกอบ คุณตอบประชาชน
สมัยพิบัติดล คณะชาติและศาสนา
ผิควรจะเสี่ยงชี- วะพลีก็บูชา
คะนึงประโยชน์นา- ครยิ่งประโยชน์ตน
ประพฤติประจำกิจ ธุระนิตยกังวล
อะไรผิไร้ผล ก็เผด็จมิดูดาย
จะยกนิทัศน์เป็น คติเห็นประจักษ์หลาย
ถนน ณ ยามผาย ปะกะเบื้องและตาปู
ก็เก็บและทิ้งพ้น ระยะคนจรัลผลู
ปะคนพิบัติชู มนะช่วยมิแชเชือน
อุทกและอัคคี- ภยะมีพยาธิเยือน
วิการ ณ มารกเฟือน สติหลงมิรู้ทาง
และโจรสะดมปล้น คหะพ้นจะขัดขวาง
และเรือลุอับปาง นรจมชลาลัย
สมัครประคองช่วย ทะนุด้วยกมลใส
พิทักษ์อนามัย มนะมุ่งเกษมศานติ์
แนะนำสหายผู้ บมิรู้วิธีการ-
สุขาภิบาลขาน คติข้อสถาพร
สนับสนุนชาติ ตนุศาสน์และภูธร
ฉะนี้ประชากร จะนิยม ณ สากลย์

(๔) สมานตฺตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ

ณ ข้อ “สมานา ตมภาวะ” เพ็ญตน
สม่ำเสมอยล เหมาะเจาะกับสมาคม
ประชุมประชากอบ มนะชอบนิยมชม
มิต่ำมิสูงสม กุลวุฑฒิพองาม
ผิถ่อมก็ถ่อมควร บมิชวนจะเลวทราม
ผิใฝ่ก็ใฝ่ความ สุวภาพมิใฝ่สูง
มิถือดนูถือ คติคือสมานฝูง
ประชาประชุมจูง มนะร่วมเจริญผล
ปะสูงก็สูงพร่ำ คุณ, ต่ำก็ชมตน
สนิทสนมกล คณะญาติสโมสร
ผิอยู่ณยศใหญ่ ก็มิได้สลัดรอน
ละห่างสหายปอน คณะเคยสมาคม
ปะหน้าก็ปราศรัย หฤทัยสนิทสนม
เหมาะช่วยก็ช่วยสม เคราะหฐานะเมตตา
นิกายสหายต่ำ จะมิดำริริษยา
สนิทเสน่หา ดุจเดิมมิหน่ายแหนง
พะยุงเผยอยศ มิประชดแสดงแคลง
จะหยอกจะเอินแปลง คติเก่ามาก้ำเกิน
ฉะนี้และน้อยใหญ่ ก็มิได้เผด็จเมิน
มิห่างระคางเขิน และมิหลีกละไมตรี
ดรุณเจริญเถิด จะประเสริฐประสิทธิ์ศี
วิไลซ์วิลาสจี- รสถิตตลอดกัลป์.

สทธรา ๒๑

เผยสามัคคีเสนอสรร พ กุลดรุณอัน
ควรประพฤติบรร- จุนิสสัย
เพื่อความปึกแผ่นพิศาลไกร ผลกะนิกรไทย
จบยุบลไข ประพันธิ์ฉันท์
สรวมฤทธิ์ไตรรัตน์พิทักษ์สรร พนรและวรธรร
มิกมกุฎขัณ ฑสีมา
สรวมผลเผือเพียรประพันธ์ภา ษิตบุรณะประชา
มั่นสมัครกา ลนาน เทอญ.

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ