- คำนำ
- แจ้งความพิมพ์ครั้งที่ ๒
- กลอนดอกสร้อย ‘รำพึงในป่าช้า’
- กลอนสุภาพ ‘ความรัก’
- กลอนสุภาพ ‘มนุษย์เรา มีดีที่ตรงไหน ?’
- กลอนสุภาพ อธิบาย ‘สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ’
- กลอนสุภาพ อธิบาย ‘อุฏฺาตา วินฺทเต ธนํ’
- กลอนสุภาพ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’
- กลอนสุภาพ ‘หญิงไทย’
- ลิลิตดั้น มาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย
- ลิลิตดั้น สดุดีบ้านบางระจัน
- ลิลิตสุภาพ สดุดีพระราชบัญญัติประถมศึกษา
- โคลงดั้นวิวิธมาลี อธิบาย ‘อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ’
- คำกาพย์ เรื่องพระศิวประติมา
- คำฉันท์ สามัคคีบรรยาย
- คำฉันท์ ยอเกียรติชาวนครราชสีมา
- คำฉันท์ เทวธรรมบรรยาย
- คำอธิบายศัพท์
คำนำ
ในการฌาปนกิจ บิดา ภรรยา และน้องชายแห่งข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าตั้งใจจะบำเพ็ญเปตพลี ด้วยน้ำพักน้ำแรงแห่งข้าพเจ้าจริง ๆ จึงได้รวบรวมคำประพันธ์ต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้แต่งให้แก่หนังสือรายปักษ์รายเดือนบ้าง ให้แก่มิตรสหายเพื่อพิมพ์ในการศพบ้าง, แล้วเที่ยวขออนุญาตคืนมารวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า ‘คำประพันธ์บางเรื่องของพระยาอุปกิตศิลปสาร.’ ข้าพเจ้ามีประสงค์จะให้หนังสือนี้เป็นอนุสาวรีย์ของผู้ล่วงลับไป อันเป็นบุญญนิธีถาวรกุศล อำนวยสารประโยชน์ดังต่อไปนี้ คือ :-
๑. เพื่อให้เป็นธรรมบูชา สนองอุปการแก่ท่านผู้เคารพนับถือและมิตรสหายผู้มีความเอื้อเฟื้อไปในงานฌาปนกิจนั้น
๒. เพื่อให้เป็นตำราเรียน สำหรับครูและนักเรียนใช้ในการเรียนภาษาไทย เช่นทางกวีนิพนธ์ ทางเรียนศัพท์ ตลอดจนใช้เป็นต้นฉะบับถอดคำประพันธ์เป็นภาษาง่าย, และใช้สอนให้เขียนตามคำบอก เพื่อฝึกหัดใช้ตัวสะกดการันต์ เป็นต้น.
๓. เพื่อใช้สอนความรู้ทางจรรยา พร้อมทั้งเป็นเครื่องชักจูงให้นักเรียนประพฤติในทางดีทางชอบด้วย
ด้วยความมุ่งหมายฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงคัดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับจรรยาเอามาแก้ไขและเพิ่มเติมตามเห็นควร และทำคำแปลศัพท์และอธิบายวิธีใช้ศัพท์ไว้ข้างท้าย เพื่อเป็นความรู้ในภาษาไทย เสร็จแล้วจึงนำขึ้นเสนอต่อกระทรวงธรรมการเพื่อขออนุญาตใช้เป็นตำราเรียนต่อไป และกระทรวงธรรมการก็ได้ให้อนุญาตแล้ว
ตามหลักสูตรภาษาไทย นักเรียนจะต้องอ่านคำประพันธ์ทุกอย่างให้ถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าได้คัดคำประพันธ์ตามแบบฉนทลักษณะ ซึ่งนักเรียนควรรู้มาเรียงไว้เป็นหมวด ๆ จัดลำดับแต่ลิลิต คือร่ายและโคลงต่างๆ, ฉันท์ต่างๆ, กาพย์ต่างๆ, และกลอนต่างๆ ครบทุกอย่าง เลือกเอาแต่ที่ใช้กันชุกชุม. แต่ในการอ่านฉันท์จำเป็นจะต้องรู้แบบ คณะครุลหุในคณะฉันท์นั้นๆ ก่อน จึงจะอ่านถูกต้องได้. เพื่อไม่ต้องให้เที่ยวค้นแบบเป็นการลำบาก ข้าพเจ้าจึงได้วางแบบคณะครุลหุของฉันท์ที่มีในเล่มนี้ไว้ด้วยแล้ว
อนึ่ง หนังสือนี้ได้เริ่มพิมพ์ก่อนปทานุกรมออกอย่างหนึ่ง เป็นการทำคนเดียวและเป็นครั้งแรกด้วยอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีข้อบกพร่องมาก ตามที่ได้ทำใบแก้คำผิด และคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ข้างต้นนี้ ตามที่ตรวจพบเห็น หวังว่ายังจะมีบกพร่องอยู่อีกเป็นแน่นอน ถ้าท่านผู้อ่านจะมีความเอื้อเฟื้อจดข้อบกพร่องที่อ่านพบ ส่งไปยังข้าพเจ้า เพื่อรวบรวมเอาไว้แก้ไขในการพิมพ์คราวหน้า ข้าพเจ้าจะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
พระยาอุปกิตศิลปสาร
วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑