กลอนดอกสร้อย “รำพึงในป่าช้า”

(จากภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านเสฐียรโกเศศแปลให้ ข้าพเจ้าได้แต่งดัดแปลงให้เข้าธรรมเนียมไทยบ้าง)

กถามุข

ดังได้ยินมา สมัยหนึ่ง ผู้มีชื่อต้องการความวิเวก, เข้าไปนั่งอยู่ณที่สงัดในวัดชนบท เวลาตะวันรอนๆ, จนเสียงระฆังย่ำบอกสิ้นเวลาวัน ฝูงโคกระบือ และพวกชาวนา พากันกลับที่อยู่เป็นหมู่ๆ. เมื่อสิ้นแสงตะวันแล้ว ได้ยินแต่เสียงจังหรีดเรไรกับเสียงเกราะในคอกสัตว์. นกแสกจับอยู่บนหอระฆังก็ร้องส่งสำเนียง. ณที่นั้นมีต้นไทรต้นโพธิ์สูงใหญ่ ใต้ต้นล้วนมีเนินหญ้ากล่าวคือที่ฝังศพต่างๆ อันแลเห็นได้ด้วยเดือนฉาย. ศพในที่เช่นนั้นก็เป็นศพพวกชาวไร่ชาวนานั่นเอง. ผู้นั้นมีความรู้สึกซึ่งเยือกเย็นใจอย่างไร แล้วรำพึงอย่างไรในหมู่ศพ, ได้เขียนความในใจนั้นออกมาสู่กันดังต่อไปนี้-

(กถามุขนี้นาคะปทีปเรียบเรียง)

ดอกสร้อย

๑. วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่ง มุ่งถิ่นตน ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล และทิ้ง ตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย.

๒. ยามเอ๋ยยามนี้ ปฐพีมืดมัวทั่วสถาน อากาศเย็นเยือกหนาวคราววิกาล สงัดปานป่าใหญ่ไร้สำเนียง มีก็แต่จังหรีดกระกรีดกริ่ง ! เรไรหริ่ง ! ร้องขรมระงมเสียง คอกควายวัวรัวเกราะเปาะเปาะ ! เพียง รู้ว่าเสียงเกราะแว่วแผ่วแผ่วเอย.

๓. นกเอ๋ยนกแสก จับจ้องร้องแจ๊กเพียงแถกขวัญ อยู่บนยอดหอระฆังบังแสงจันทร์ มีเถาวัลลิ์รุงรังถึงหลังคา เหมือนมันฟ้องดวงจันทร์ให้ผันดู คนมาสู่ซ่องพักมันรักษา ถือเป็นที่รโหฐานนมนานมา ให้เสื่อมผาสุกสันติ์ของมันเอย

๔. ต้นเอ๋ยต้นไทร สูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้า และต้นโพธิ์พุ่มแจ้แผ่ฉายา มีเนินหญ้าใต้ต้นเกลื่อนกล่นไป ล้วนร่างคนในเขตต์ประเทศนี้ ดุษณีนอนรายณภายใต้ แห่งหลุมลึกลานสลดระทดใจ เรายิ่งใกล้หลุมนั้นทุกวัน เอย.

๕. หมดเอ๋ยหมดห่วง หมดดวงวิญญาณลาญสลาย ถึงลมเช้าชวยชื่นรื่นสบาย เตือนนกแอ่นลมผายแผดสำเนียง อยู่ตามโรงมุงฟางข้างข้างนั้น ทั้งไก่ขันแข่งดุเหว่าระเร้าเสียง โอ้เหมือนปลุกร่างกายนอนรายเรียง พ้นสำเนียงที่จะปลุกให้ลุก เอย.

๖. ทอดเอ๋ยทอดทิ้ง ยามหนาวผิงไฟล้อมอยู่พร้อมหน้า ทิ้งเพื่อนยากแม่เหย้าหาเข้าปลา ทุกเวลาเช้าเย็นเป็นนิรันตร์ ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ เห็นพ่อกลับปลื้มเปรมเกษมสันต์ เข้ากอดคอฉอเลาะเสนาะกรรณ สารพันทอดทิ้งทุกสิ่ง เอย.

๗. กองเอ๋ยกองเข้า กองสูงราวโรงนายิ่งน่าใคร่ เกิดเพราะการเก็บเกี่ยวด้วยเคียวใคร ใครเล่าไถคราดฟื้นพื้นแผ่นดิน เช้าก็ขับโคกระบือถือคันไถ สำราญใจตามเขตต์ประเทศถิ่น ยึดหางยามยักไปตามใจจินต์ หางยามผินตามใจเพราะใคร เอย.

๘. ตัวเอ๋ยตัวทะยาน อย่าบันดาลดลใจให้ใฝ่ฝัน ดูถูกกิจชาวนาสารพัน และความครอบครองกันอันชื่นบาน เขาเป็นสุขเรียบเรียบเงียบสงัด มีปวัตติ์เป็นไปไม่วิตถาร ขออย่าได้เย้ยเยาะพูดเราะราน ดูหมิ่นการเป็นอยู่เพื่อนตู เอย.

๙. สกุลเอ๋ยสกุลสูง ชักจูงจิตต์ฟูชูศักดิ์ศรี อำนาจนำความสง่าอ่าอินทรีย์ ความงามนำให้มีไมตรีกัน ความร่ำรวยอวยสุขให้ทุกอย่าง เหล่านี้ต่างรอตายทำลายขันธ์ วิถีแห่งเกียรติยศทั้งหมดนั้น แต่ล้วนผันมาประจบหลุมศพเอย.

๑๐. ตัวเอ๋ยตัวหยิ่ง เจ้าอย่าชิงติซากว่ายากไร้ เห็นจมดินน่าสลดระทดใจ ที่ระลึกสิ่งไรก็ไม่มี ไม่เหมือนอย่างบางศพญาติตบแต่ง เครื่องแสดงเกียรติเลิศประเสริฐศรี สร้างสถานการบุณย์หนุนพลี เป็นอนุสสาวรีย์สง่า เอย.

๑๑. ที่เอ๋ยที่ระลึก ถึงอธึกงามลบในภพพื้น ก็ไม่ชวนชีพที่ดับให้กลับคืน เสียงชมชื่นเชิดชูคุณผู้ตาย เสียงประกาศเกียรติเอิกเกริกลั่น จะกระเทือนถึงกรรณนั้นอย่าหมาย ล้วนเป็นคุณแก่ผู้ยังไม่วางวาย ชูเกียรติญาติไปภายภาคหน้าเอย

๑๒. ร่างเอ๋ยร่างกาย ยามตายจมพื้นดาษดื่นหลาม อย่าดูถูกถิ่นนี้ว่าที่ทราม อาจขึ้นชื่อลือนามในก่อนไกล อาจจะเป็นเจดีย์มีพระศพ แห่งจอมภพจักรพรรดิกษัตริย์ใหญ่ ประเสริฐด้วยสัตตรัตน์จรัสชัย ณสมัยก่อนกาลบุราณ เอย.

๑๓. ความเอ๋ยความรู้ เป็นเครื่องชูชี้ทางสว่างไสว หมดโอกาสที่จะชี้ต่อนี้ไป ละห่วงใยอยากรู้ลงสู่ดิน อันความยากหากให้ไว้ศึกษา ย่นปัญญาความรู้อยู่แค่ถิ่น หมดทุกข์ขลุกแต่กิจคิดหากิน กระแสวิญญาณงันเพียงนั้น เอย.

๑๔. ดวงเอ๋ยดวงมณี มักจะลี้ลับอยู่ในภูผา หรือใต้ท้องห้องสมุทรสุดสายตา ก็เสื่อมซาสิ้นชมนิยมชน บุบผชาติชูสีและมีกลิ่น อยู่ในถิ่นที่ไกลเช่นไพรสณฑ์ ไม่มีใครได้เชยเลยสักคน ย่อมบานหล่นเปล่าดายมากมาย เอย.

๑๕. ซาก เอ๋ยซากศพ อาจเป็นซากนักรบผู้กล้าหาญ เช่นชาวบ้านบางระจันขันรำบาญ กับหมู่ม่านมาประทุษอยุธยา ไม่เช่นนั้นท่านกวีเช่นศรีปราชญ์ นอนอนาถเล่ห์ใบ้ไร้ภาษา หรือผู้กู้บ้านเมืองเรืองปัญญา อาจจะมานอนจมถมดิน เอย.

๑๖. คุณเอ๋ยคุณเหลือ ผู้เอื้อเฟื้อเกื้อชาติซึ่งอาจหาญ แน่วนับถือซื่อสัตย์ต่อรัฏฐบาล ไม่เห็นการส่วนตัวไม่กลัวตาย แสวงชอบกอบคุณอุดหนุนชาติ กษัตริย์ศาสน์แม้ชีวิตปลิดถวาย ไว้ปวัตติ์แก่ชาติญาตินิกาย ได้อ่านภายหลังลือระบือ เอย.

๑๗. ชาวเอ๋ยชาวนา วาสนากั้นไว้ไม่วิตถาร ไม่ชั่วล้นดีล้นพ้นประมาณ สองประการนี้แหละขวางทางคระไล คือไม่ลุยเลือดนั่งบัลลังก์ราช นำพินาศนรชนพ้นพิษัย แต่ปิดทางกรุณาอันพาไป ยังคุณใหญ่ยิ่งเลิศประเสริฐ เอย.

๑๘. มักเอ๋ยมักใหญ่ กนแต่ใฝ่ฝันฟุ้งตามมุ่งหมาย อำพรางความจริงใจไม่แพร่งพราย ไม่ควรอายก็ต้องอายหมายปิดบัง มุ่งแต่โปรยเครื่องปรุงจรุงกลิ่น คือความฟูมฟายสินลิ้นโอหัง ลงในเพลง เกียรติศักดิ์ประจักษ์ดัง เปลวเพลิงปลั่งหอมกลบตลบ เอย.

๑๙. ห่างเอ๋ยห่างไกล ห่างจากพวกมักใหญ่ฝักใฝ่หา แต่สิ่งซึ่งเหลวใหลใส่อาตมา ความมักน้อยชาวนาไม่น้อมไป เพื่อนรักษาความสราญฐานวิเวก ร่มชื้อเฉกหุบเขาลำเนาไศล สันโดษดับฟุ้งส้านทะยานใจ ตามวิษัยชาวนาเย็นกว่า เอย.

๒๐. ศพเอ๋ยศพไพร่ ไม่มีใครขึ้นชื่อระบือขาน ไม่เกรงใครนินทาว่าประจาน ไม่มีการจารึกบันทึกคุณ ถึงบางทีมีบ้างเป็นอย่างเลิศ ก็ไม่ฉูดฉาดเชิดประเสริฐสุนทร์ พอเตือนใจได้บ้างในทางบุณย์ เป็นเครื่องหนุนนำเหตุสังเวชเอย.

๒๑. ศพเอ๋ยศพสูง เป็นเครื่องจูงจิตต์ให้เลื่อมใสศานติ์ จารึกคำสำนวนชวนสักการ ผิดกับฐานซาวนาคนสามัญ ซงอย่างดีก็มีกวีเถื่อน จารึกชื่อปีเดือนวันดับขันธ์ อุททิศสิ่งซึ่งสร้างตามทางธรรม์ ของผู้นั้นผู้นี้แก่ผี เอย.

๒๒. ห่วงเอ๋ยห่วงอะไร ไม่ยิ่งใหญ่เท่าห่วงดวงชีวิต แม้คนลืมสิ่งใดได้สนิท ก็ยังคิดขึ้นได้เมื่อใกล้ตาย ใครจะยอมละทิ้งซึ่งสิ่งสุข เคยเป็นทุกข์ห่วงใยเสียได้ง่าย ใครจะยอมละแดนแสนสบาย โดยไม่ชายตาใฝ่อาลัย เอย.

๒๓. ดวงเอ๋ยดวงจิตต์ ลืมสนิทกิจการงานทั้งหลาย ยอมละชีพเคยสุขสนุกสบาย เคยเสียดายเคยวิตกเคยปกครอง ละทิ้งถิ่นที่สำราญเบิกบานจิตต์ ซึ่งเคยคิดใฝ่เฝ้าเป็นเจ้าของ หมดวิตกหมดเสียดายหมดหมายปอง ไม่ผินหลังเหลียวมองด้วยซ้ำ เอย.

๒๔. ดวงเอ๋ยดวงวิญญาณ เมื่อยามลาญละพรากไปจากขันธ์ ปองแต่ให้ญาติมิตรสนิทกัน คล่าวน้ำตาต่างบรรณาการไป ธรรมดาพาคะนึงไปถึงหลุม หรือที่ชุมเพลิงเผาเฝ้าร้องไห้ คิดถึงกาลก่อน เก่ายิ่งเศร้าใจ ตามวิสัยธรรมดาเกิดมา เอย.

๒๕. ท่านเอ๋ยท่านสุภาพ ผู้ใคร่ทราบสนใจศพไร้ศักดิ์ รู้เรื่องราวจากป้ายจดลายลักษณ์ บางทีจักรำพึงคิดถึงตน มาม้วยมรณ์นอนคู้อยู่อย่างนี้ คงจะมีผู้สังเกตในเหตุผล ปลงสังเวชวาบเสียวเหี่ยวกมล เหมือนกับตนท่านบ้างกะมัง เอย.

๒๖. บางเอ๋ยบางที อาจจะมีผู้เฒ่าเล่าขยาย รำพันความเป็นไปเมื่อใกล้ตาย จนตราบวายชีวาตม์อนาถใจ “อนิจจา! เห็นเขาเมื่อเช้าตรู่ ออกจากหมู่บ้านเดิรสู่เนินใหญ่ ฝ่าน้ำค้างกลางนามุ่ง คลาไคล ผิงแดดในยามเช้าหน้าหนาว เอย.

๒๗. “ต้นเอ๋ยต้นกร่าง อยู่ที่ข้างเนินใหญ่พุ่มใบหนา มีรากเขินเผินพ้นพสุธา กลางวันเขาเคยมาผ่อนอารมณ์ นอนเหยียดหยัดดัดกายภายใต้ต้น ฟังคำรนวารีมี่ขรม กระแสชลไหลเชี่ยวเป็นเกลียวกลม เขาเคยชมลำธารสำราญ เอย.

๒๘. “ป่าเอ๋ยป่าละเมาะ ยังอยู่เยาะเย้ยให้ถัดไปนั่น เขาเดิรมาป่านี้ไม่กี่วัน ปากรำพันจิตต์รำพึงคะนึงใน บัดเดี๋ยวดูสลดระทดจิตต์ เหมือนสิ้นคิดขัดหาที่อาศัย หรือคล้ายคนทุกข์ถมระทมใจ หรือคู่รักร้างไม่อาลัย เอย.

๒๙. “ต่อเอ๋ยต่อมา ณเวลาวันใหม่มิได้เห็น ทั้งกลางนากลางเนินเผอิญเป็น ใต้ต้นกร่างว่างเว้น เช่นเมื่อวาน เห็นคนหนึ่งเดิรไปใจว่าเขา แต่ไม่เข้ากลางนามาสถาน ที่เขาเคยพักผ่อนแต่ก่อนกาล ทั้งไม่ผ่านป่าเล่าผิดเขา เอย.

๓๐. “ถัดเอ๋ยถัดมา เห็นเขาพาศพไปใจสลด เสียงประโคมครื้นครั่นน่ารันทด ญาติทั้งหมดตามมาโศกาลัย ทำการศพตบแต่งที่ระลึก มีบันทึกถ้อยคำประจำไว้ อยู่ที่ดงหนามนั้นถัดนั่นไป ความอย่างไรเชิญท่านไปอ่าน เอย.”

คำจารึก

๓๑. “ที่เอ๋ยที่นี้ อนุสสาวรีย์ศรีสถาน แห่งชายไม่ประจักษ์ศักดิ์ศฤงคาร แม้สกุลคุณสารต่ำปานไร ขอจงอย่าขึ้งเคียดรังเกียจเขา ขอจงเคารพงามตามวิสัย มัจจุราชรับพาเขาคลาไคล ทิ้งร่างไว้ทวงเคารพผู้พบเอย.

๓๒. “น้ำเอ๋ยน้ำใจ ซึ่งเนาในร่างกายผู้ตายนี้ ล้วนสุภาพผ่องใสด้วยไมตรี อีกโอบอ้อมอารีมีในคน คุณนี้นำชำร่วยอวยสนอง บำเหน็จมองมูลมากวิบากผล คือห่วงใยยั่วหยัดอัสสุชล จากฝูงคนผู้ใฝ่อาลัย เอย.

๓๓. “แต่เอ๋ยแต่นี้ เป็นหมดที่ใฝ่จิตต์ริษยา เป็นหมดที่อุปถัมภ์คิดนำพา เป็นนับว่า ‘อโหสิกรรม’ กัน เขาจะมีดีชั่วติดตัวไป เป็นวิสัยกรรมแต่งและแสร้งสรรค์ เรารู้ได้แต่ปวัตติ์ปัจจุบัน ซึ่ง ทิ้งอยู่คู่กันกับนาม เอย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ