เรื่องลายตามหน้า

ที่เจ้าถามลุงว่า ทำไมหน้าลุงจึงเปนลาย เหมือนรอยแผลหลายแห่งนี้ เจ้าจะฝันไม่ได้ทีเดียวว่าลายหรือรอยแผลที่หน้าลุงนี้ มีเรื่องราวหลายหน้ากระดาษทีเดียว เปนเรื่องประหลาดที่สุด ในระหว่างอายุของสิ่งที่ได้เคยพบเห็นมาด้วย เจ้าก็คงจะเห็นได้แล้วว่าแผลเช่นนี้คงเกิดจากการตีรันกันเปนแท้ แต่การที่ลุงถูกลงโทษหลาย ๆ ครั้งนั้น เกิดจากวิชาหมอความที่ลุงไปเล่าเรียนเข้า แลเข้าสอบซ้อมได้ในเร็ว ๆ นั้น.

เวลานี้อายุลุงก็ย่างเข้า ๗๐ มาแล้ว เรื่องนี้ลุงได้เล่ามานับด้วย ๑๐ ครั้ง แต่ถ้าเจ้ายังไม่ได้ฟังลุงก็มีความยินดีจะเล่าให้ฟัง ด้วยลุงไม่มีความเบื่อหน่ายเลย ที่จะเล่าถึงเรื่องลายสองสามแห่ง ซึ่งมาติดหน้าลุงอยู่โดยเหตุที่ลุงช่วยคู่หนุ่มสาวคู่หนึ่งในเวลานั้น ที่ลุงยังมิได้รู้จักหน้าตาแต่ก่อนเวลาที่เกิดเหตุเลย.

เมื่อประมาณ ๔๐ ปีเศษมาแล้วนี้ ลุงได้เข้าไล่รับประกาศนียบัตรเปนเนติบัณฑิต มีกรรมสิทธิ์แลโอกาศจะหากินทางความได้เหมือนหมอความทั้งปวง ลุงจึงเช่าตึกแห่งหนึ่งเปนที่ทำการ สำหรับปรึกษาการความแนะนำแต่งร่างหนังสือสำคัญต่างๆ แลทำการทางกฎหมายทั้งปวง ที่จะนำ ช. บ. อ. มาสู่กระเป๋าลุงได้.

นี่แหละหมอความ หรือหมอยา หรือหมออะไรก็ดี ที่จะนำให้มหาชนเชื่อถือได้โดยเร็วนั้นเปนการยากนักหนา ยิ่งหมอความหนุ่มไม่มีญาติหรือคนมีชื่อเสียงช่วยอุดหนุนเช่นลุงด้วยแล้ว ทำอย่างไรจึงจะให้เขาเชื่อได้ว่าเราพอจะทำการความโดยไม่ให้เหลวไหลได้ การเปนความถ้าแพ้ก็ต้องเสีย ถ้าชนะก็ต้องได้เปนธรรมดา ใครเลยจะอยากแพ้หรือไม่อยากชนะบ้าง เมื่อดังนี้ก็เปนธรรมดาที่จะต้องหาผู้ช่วยในการความ คือเนติบัณฑิตที่เปนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ พอทำให้ความหนักเปนเบา ๆ เปนหนักได้ หมอความเช่นลุงในเวลานั้น ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยว่าความสักครั้งเดียว เปนแต่มีชื่อว่าเปนเนติบัณฑิต ด้วยมีประกาศนียบัตรที่ไล่ได้เช่นนั้น จะทำอย่างไรจึงจะให้เขาเชื่อถือ ยอมให้ว่าความซึ่งเปนการไม่เสียก็ได้ อย่างนั้นได้ ด้วยเหตุทั้งน้อยแลใหญ่นี้เอง ลุงจึงต้องนั่งออฟฟิศเปล่า ๆ อยู่ประมาณสามเดือนเศษ จะหางานทำสักนิดเดียวก็ไม่ได้ มีแต่อ่านหนังสือกฎหมายทั้งปวงที่มีอยู่เท่านั้น.

เจ้าจะเห็นได้อยู่ว่า คนเช่นลุงซึ่งไม่มีญาติแลที่พึ่งพาในเวลานั้น เมื่อไม่ได้ทำการสามเดือนเศษ แปลว่าต้องนั่งนอนใช้เงินที่มีอยู่แต่แรกมาดังนั้น คงถึงซึ่งความสุขอันพิเศษ คือไม่มีเงินจะใช้ต่อไปอีกกี่มากน้อยแล้ว.

เวลามานั่งออฟฟิศกลางวัน ลุงไม่ใคร่มีเวลาเว้นนึกน้อยใจวิชาที่ได้เรียนรู้มาไม่เปนประโยชน์นี้ยิ่งนัก สุภาษิตที่ว่ามีวิชาอยู่กับตัวอย่ากลัวจนนั้น ใครเปนผู้กล่าวหนอ ถ้ารู้จักตัวไปต่อว่าได้จะต้องไปต่อว่าทันทีเปนแท้ว่า วิชาก็มีแล้วความชั่วร้ายอะไรก็ไม่ได้ทำสักอย่างหนึ่ง นี่ทำไมจึงจน ๆ ถึงมีเงินติดตัวไม่ถึง ๔ บาทดังนี้ เปนด้วยเหตุไร.

ลุงไม่เล่ายืดยาวหละ ว่าความรู้สึกของลุงในเวลานั้นเปนอย่างไร เพราะถึงจะทำได้ก็ดูไม่มีสนุกอะไรนัก เพราะฉนี้ ลุงจะไปจับเอาวันที่เกิดเหตุทีเดียว.

วันนั้น (จะว่าเปนเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายก็ตามแต่เจ้าจะตัดสินทีหลัง) เทวดาดนใจอย่างไรก็ไม่ทราบ ทำให้ลุงนั่งฝันอยู่กับโต๊ะที่ออฟฟิศทำงานคนเดียว ถึงเรื่องที่เขาจะมาเตือนค่าเช่าตึกพรุ่งนี้ นัดให้เจ้าหนี้อิกแห่งหนึ่งเขามาเก็บเงินมรืนนี้ แลข้อความที่จะทำให้ไม่สบายใจเหล่านี้ทั้งปวง จนเวลาประมาณสองทุ่มเศษ หมอความทั้งหลายเขาก็คงเลิกการเสร็จ พอได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินกระหืดกระหอบเข้ามา.

ลุงลุกขึ้นไปเชิญแขก คือผู้หญิงแก่คนหนึ่ง เข้ามาข้างในเลยยกเก้าอี้ให้นั่ง.

“ไม่มีเวลานั่งหละ” ยายคนนั้นพูด “นี่แน่ะ หมอความหนุ่มเจ้าทำอะไร ๆ ได้บ้างหรือ.”

ลุงออกพื้นเสียแก่ นึกว่ายายคนนี้รูปร่างก็ไม่เปนคนเลว ทำไมจึงหยาบคายหนักหนา ลุงเวลานั้นเหตุที่จวนจะสิ้นคิดเข้าแล้วนั่นเองที่ทำให้ไม่กล้าโกรธฉุนเฉียวขึ้นได้ เปนแต่ตอบว่าการที่เกี่ยวข้องด้วยการความ แลกฎหมายทั้งปวงแล้ว เชื่อว่าทำได้ทุกอย่าง.

ที่ลุงตอบดังนั้น ดูเหมือนไม่พอใจยายคนนั้น แต่จะไม่พอใจด้วยเหตุไรลุงก็นึกไม่ได้ จะเปนด้วยแกกำลังธุระร้อนไม่ชอบพูดยืดยาวเลื้อยเจื้อยกระมัง.

“ร่างหนังสือได้ไหมล่ะ.”

ลุง “ได้มากกว่าไม่ได้ บางอย่างก็ไม่ได้บ้างกระมัง.”

ยายคนนั้น “อย่าพูดมากไปน่า นี่แน่ะอยากจะให้ร่างหนังสือพินัยกรรม์ฉบับหนึ่งให้แล้วเร็วที่สุด แลให้ชัดเจนแน่นหนาจนไม่ให้ใครกลับแก้ใจความภายหลังได้ ยังไงจะได้หรือไม่ได้ ?”

ลุงก็รับรองยายคนนั้นว่า จะทำให้ได้ดีแลจะพยายามทำอย่างเร็ว แลไม่ให้ใครมาลบล้างภายหลังได้ดังใจแกทุกประการ.

“ได้หละ มาไปด้วยกันเร็ว ๆ เถอะ”

ยายคนนั้นว่า “จะให้รางวัล ๕๐๐ บาทให้สมใจ.”

แม้ ห้าร้อยบาท ! ๆ !! ลุงแทบจะตัวสั่นด้วยความปลื้มใจแลความปลาด ที่รวมกันเปนความรู้สึกของลุงในเวลานั้น ลุงก็รีบลุกขึ้นหยิบหมวก ไม้ ปิดออฟฟิศขึ้นรถไปกับยายคนนั้นในสองนาฑีนั้นเอง.

เมื่อเวลาขับรถไปตามทางนั้น ค่าว่า “ห้าร้อยบาท” ดังก้องอยู่ในหูลุงไม่สงบลงไปได้ ลุงเลยนั่งฝันถึงเรื่องเงินห้าร้อยบาทนั้นเรื่อย ไม่พูดจาถามไถ่ยายคนนั้นว่าอะไรกัน จึงได้เร่งรัดเสียหนักหนาทีเดียว.

ยายคนนั้นก็พาลุงไปยังโฮเต็ลแห่งหนึ่ง (เอาเถอะไม่ต้องออกชื่อก็ได้) แล้วก็นำลุงขึ้นกระไดไป ถึงห้อง ๆ ใหญ่มีเตียงๆ เดียวตั้งอยู่ บนเตีย นั้นมีคนแก่นอนหายใจรวน ๆ จะตายมิตายร่อแร่อยู่ แต่ยังพูดจามีสติดี.

มีคนใช้อยู่กับคนไข้คนหนึ่ง แต่ยายที่พาลุงเข้าไปโบกมือให้ออกไปเสีย แลเข้าไปข้างที่นอน บอกกับคนเจ็บว่า :–

“อีฉันได้หมอความมาแล้วเจ้าคะ ท่านจะให้ลงมือหรือยัง”

ท่านคนไข้ลืมตาขึ้นมองดูลุงสักอึดใจหนึ่งแล้วบอกว่า “ถ้าเจ้าร่างพินัยกรรม์ได้ก็ร่างเดี๋ยวนี้ทีเดียวเถอะ ต้องเร็วๆ เข้า ไม่อย่างนั้นจะไม่ทัน.”

ลุงจะไม่เล่าลายเลอียดถึงหนังสือพินัยกรรม์ฉบับนั้นแล้ว ด้วยรวมความทั้งปวงก็มีแต่ว่า :–

ข้าพเจ้า.........ยกทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าทั้งหลาย ทั้งสวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ แลทรัพย์ที่ฝากได้ดอกเบี้ยหรือที่รับเปนประกันไว้ทั้งปวง ให้แก่สนิทคนใช้ของข้าพเจ้าให้เปนที่ระลึก แลความขอบใจของข้าพเจ้าที่คนใช้คนนี้ได้รับใช้ข้าพเจ้ามาโดยซื่อสัตย์มั่นคง ฯลฯ”

แต่คำที่ลงท้ายพินัยกรรม์นี้ ลุงลืมไม่ได้เปนแท้ ด้วยเปนคำร้ายแรงที่สุดที่ลุงได้เคยเขียนมาในชีวิตลุงทีเดียว คำเหล่านั้นเปนคำที่คนไข้บอกให้ลุงเขียนด้วยปากเองดังนี้ :–

“ส่วนสงบบุตรสาวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าให้ไว้อย่างเดียว แต่คำแช่งของข้าพเจ้าเท่านั้น เมื่อความฉิบหาย ฯลฯ ฯลฯ มาสู่ตัวเขาดังคำแช่งของข้าพเจ้าผู้เปนบิดานี้เมื่อไรเขาจึงจะรู้สึกเสียใจว่าการที่ไม่อยู่ในถ้อยคำข้าพเจ้านั้น ไม่ใช่แต่ถูกริบจากทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าอย่างเดียว ต้องรับคำแช่งให้เปน – ฯลฯ – ฯลฯ ซึ่งขอเทพเจ้าผู้ศักสิทธิ์ ได้บันดาลให้เปนไปตามคำข้าพเจ้าผู้เปนบิดานี้ด้วย.”

เมื่อลุงเขียนคำแช่งเหล่านี้ เช่นนั้น ลุงรู้สึกครั่นตัวราวกับจะจับไข้ ตั้งแต่ลุงเกิดมายังไม่เคยได้ยินคำแช่งถึงเท่านั้น นึกจะกลับฉีกพินัยกรรม์นั้นเสียก็ใช่เชิง เงินห้าร้อยบาทจะว่าเล็กน้อยก็ไม่ได้ ลุงเขียนพลางนึกพลางเปนอันจนปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ถ้าเราจะปล่อยไปตามที่เขียนนั้นก็ไม่มีอื่น นอกจากจะต้องการเงินห้าร้อยบาทเท่านั้น ไปภายน่าสงบลูกสาวคนไข้คนนั้นจะเปนอย่างไรก็ไม่รู้ เขาจะป่นปี้ด้วยเราต้องการเงินห้าร้อยบาทก็เปนได้ ใช่แต่เท่านั้นคนที่ชื่อสงบนั้นจะรูปร่างละสวยฉันใดก็ไม่รู้ ถ้าเราทำคุณไว้ครั้งนี้จะเปนช่องกับตัวลุงให้ได้เปนเศรษฐี กล่าวคือได้ทรัพย์สมบัติของคนไข้นี้ก็เปนได้. คือถ้าลุงฉีกพินัยกรรม์นั้นเสีย ที่ไหนยายคนนั้นจะไปหาคนอื่นมาทำใหม่ให้ทันเวลาก่อนคนไข้ตายได้ ด้วยเวลานั้นเปนเวลากลางคืนแล้ว ออฟฟิศหมอความทั้งปวงก็ยอมปิดหมด ตาคนไข้นั้นโกรธลุงที่ฉีกหนังสือเสีย จะซ้ำตายเร็วหนักขึ้นอิกด้วย เมื่อดังนี้ สมบัติคนตายก็จะหาตกเปนมรดกยายคนนั้นไม่ จะกลับเปนของบุตรสาวที่ชื่อสงบไป ครานี้ถ้าสงบเปนแต่เพียง “บุตรสาว” กล่าวคือยังหามีคู่อยู่ด้วยแล้ว ลุงพยายามเกี้ยวพาราสีสำเร็จได้ดังนี้ จะไม่ได้พลอยครอบครองทรัพย์สมบัติผู้ตายด้วยหรือ อิกข้างหนึ่งถ้าลุงปล่อยพินัยกรรม์นั้นไป เปนต้องเชื่อได้ว่าห้าร้อยบาทอย่างไรก็ต้องได้ ถ้าความคิดสร้างป้อมบนอากาศ ดังที่ว่ามาเมื่อตะก็ไม่สำเร็จได้ กล่าวคือสงบนั้นเปนคนแต่งงานเสียแล้ว ดังนี้ลุงจะได้อะไรเล่า ถ้าเขารู้เรื่องดีว่าลุงได้ช่วยสมเคราะห์ดังนั้น ๆ แล้ว เขาจะสมนาคุณบ้างดอกกระมัง แต่นี่แหละ สงบคนนั้นจะอยู่ไหนก็ไม่รู้ เราจะทำอย่างไรจึงจะให้เขารู้ได้เล่าว่าเราได้ฉีกพินัยกรรม์นั้นเสีย แลได้ช่วยให้เขาได้รับสมบัติอันนั้น นี่แหละจะเอาข้างแน่คือ ๕๐๐ บาทดี หรือจะเอาข้างไม่แน่ซึ่งไม่มีกำหนดว่าจะได้เท่าใด เช่นกับอดเปรี้ยวไปคอยกินหวานที่ไม่รู้ว่าอยู่แห่งหนตำบลไหน ดังนี้ จะตัดสินให้เอนใจไปข้างไหนก็ยาก ด้วยว่าการอดเปรี้ยวนั้น ถึงจะไม่ได้หวานจริงดังต้องการ ก็พอช่วยให้การมรดกอันนี้เปนไปตามทางที่ควรจะเปนได้ แต่จะทำดังนั้นโดยทิ้งเงินซึ่งเปนของที่ลุงต้องการแท้ ๆ ในเวลานั้นเสียถึง ๕๐๐ บาทดังนี้ก็อย่างไรอยู่ แต่ลุงนั่งนึกว่าจะทำอย่างไรดีหนอ อยู่ดังนี้ จนคนไข้เตือนว่า “นั่งนิ่งอยู่ทำไมละอ่านไปซี.”

ลุงก็ลงมืออ่านพินัยกรรม์ฉบับนั้นให้คนไข้ฟังใหม่ จนจวนจะจบถึงคำแช่งอันร้ายแรงตามที่ลุงเล่ามาเมื่อตะกี้นี้ ซึ่งเกิดเรื่องที่ทำให้ลุงตกลงในใจทันที แลถูกกระทำโทษจนเกิดแผลเปนลายอยู่จนเดี๋ยวนี้ คือ :–

กำลังลุงอ่านคำแช่งอยู่ยังไม่ทันจบ เสียงประตูเปิด มีเสียงผู้หญิงร้องบอกลุงโดยความตกใจเสียงสั่นว่า :–

“ฉีกเสีย ฉีกเสีย ตายแล้วฉีกเร็ว ๆ พินัยกรรม์อะไรเช่นนี้” ลุงได้ยินเสียงดังนั้นก็เหลียวไปดูเห็นหญิงสาว (ตามความเห็นของลุง) สวยที่สุดในโลกนี้.

ตายจริง! นี่ลุงจะยกเอาทรัพย์สมบัติเปนกองสองกองจากคนงามเช่นนี้ ไปให้ยายแก่อะไรมิรู้อย่างไรได้ เจ้าหล่อนเปนผู้ที่ควรจะรับแท้ด้วยคราวนี้ลุงไม่กลับนึกถึงเงิน ๕๐๐ บาทจนนิดเดียว ฉีกหนังสือพินัยกรรม์นั้นเลอียดไปทีเดียว.

ส่วนท่านคนไข้นั้น เมื่อเห็นบุตรสาวเข้ามาดังนั้นโทโษจัดขึ้น ร้องว่า “เอาปืนโกมา ๆ” แล้วก็ทลึ่งลุกขึ้นจากที่นอนกระโดดลงมาจะฆ่าลูกสาวด้วยกำลังโทโษแล้วกลับล้มฟาดลงขาดใจตาย.

เวลาที่ท่านเศรษฐีคนไข้ล้มลงนั้น ลุงก็ล้มลงด้วย เพราะยายคนที่เกือบจะได้รับมรดกอยู่แล้วนั้น โกรธลุงว่าฉีกพินัยกรรม์ของแกเสีย ฉวยเอาอะไรไม่ทราบตีถูกต้นคอลุงล้มลง แล้วแกซ้ำหลายทีจนลุงสลบแน่ไป ลายตามหน้าลุงเหล่านี้ก็คือรอยที่ถูกยายคนนั้นตีนั่นเอง.

ในระหว่างที่ลุงสลบอยู่นั้น มีผู้หามพาลุงกลับไปบ้าน แลจัดแจงเรียกหมอมดเสร็จ ลุงไม่รู้สึกว่าอะไรกันเลย จนรุ่งสว่างจึงฟื้นมีสติขึ้น.

เมื่อลุงตื่นขึ้นนั้น เห็นมีผู้ปฏิบัติหยูกยาใหม่พร้อม ลุงไต่สวนดจึงได้ทราบทีหลังว่า ชายสามีของสงบ (ด้วยสงบเปนคนมีสามีแล้ว) มาจัดแจงเรียกมดหมอชำระเงินทองที่ลุงเปนหนี้สิ้นเสร็จ แล้วยังซ้ำให้แบงก์โน๊ตใบใหญ่ ๆ ไว้สองสามใบด้วย.

ลุงป่วยอยู่ก็ไม่กี่เวลานัก พอหายขึ้นก็ไปนั่งออฟฟิศต่อไป การที่ได้ทำคืนวันนั้น นับว่าเปนอันได้ประโยชน์ ด้วยแบงก์โน๊ตที่ผัวสงบให้ไว้นั้น เปนอันพอใช้ไปได้นานทีเดียว.

ตั้งแต่นั้นมาลุงก็สิ้นเวลาเคราะห์ร้าย ด้วยการงานก็พอมีทำเรื่อย ๆ มา ตั้งแต่น้อยจนมากขึ้น จนถึงเวลานี้ ลุงมีหมอความหนุ่ม ๆ ช่วยอยู่เปนหลายคนแล้ว งานยังเหลือมือไม่รู้หยุดหย่อน.

ส่วนสงบกับสามีนั้น ตั้งแต่คืนวันนั้นมาลุงก็ไม่ได้เห็นหน้าค่าตา หรือได้ยินข่าวคราวอิก นอกจากจดหมายสั่งมาทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง เมื่อประมาณสัก ๗ วัน ภายหลังคืนเกิดความนั้นดังนี้ :–

“เรามีความชอบใจท่านเปนอันมาก ที่ได้ฉีกหนังสือพินัยกรรม์เสีย ทรัพย์สมบัติของบิดาก็ตกเปนของเราแล้ว ได้ยินว่าอียายเจ้ากรรมคนนั้นก็ผูกคอตายเหมือนกัน เราจะไปเที่ยวตามเมืองอื่นในเร็วๆนี้ เพราะฉนั้น บางทีจะไม่ได้พบท่านอิก ขอสอดแบงก์โน๊ตมาสมนาคุณท่านในซองนี้อีกใบหนึ่งด้วย.

(เซ็นสงบแลสามี).”

ตั้งแต่นั้นมาอิกประมาณปีหนึ่ง ลุงทำการมีชื่อเสียงว่าเปนหมอความดีขึ้นแล้ว เงินทองก็ไม่ขัดสนดังแต่ก่อน มีใช้ฟุ่มเฟือยทีเดียว ในเวลานั้น ถ้ายายเจ้ากรรมคนนั้นจะมาจ้างไปทำพินัยกรรม์อิก แลพูดจาใช้คำหยาบดังที่เล่ามาแล้ว ดูเหมือนลุงจะไม่ใช่แต่ไม่รับไปทำทีเดียว ดูเหมือนแทบจะใช้เท้าไล่ส่งออกจากออฟฟิศไปเสียด้วย.

วันหนึ่งลุงไปนั่งออฟฟิศตามธรรมดา พอมีคนเข้ามาหาเรื่องความเรื่องหนึ่ง ว่าจะต้องไปเมืองอื่น ด้วยความออกจากเมืองนี้ไปเสีย เปนความสำคัญหากันเปนเงินทองมาก จะต้องตามออกไปฟ้อง เพราะฉนั้น จึงจะขอว่าจ้างลุงเปนหมอความแลเปนผู้เข้าใจภาษาอื่นที่ใช้กันในเมืองนั้นออกไปเปนเพื่อนด้วย.

ลุงซักไซ้ไล่เลียงถึงเรื่องความ แลพูดจาถึงเรื่องค่าบำเหน็จในการที่จะต้องทิ้งการในเมืองนี้ไปเสียนั้นเสร็จแล้ว ก็เปนอันตกลงที่จะไปด้วย.

เจ้าของความกับลุงก็ออกจากกรุงไปในสองสามวันนั้นเอง ครั้นไปถึงเมืองโน้นก็จัดแจงว่าความที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แลที่ลุงจำไม่ได้สนัด เปนอันไม่ต้องนำมาเล่าด้วย.

เวลาบ่ายวันหนึ่ง ลุงนั่งอยู่ที่โฮเต็ลที่พักอยู่นั้น เห็นพวกกุลีแบกหีบเร่อร่ามาหลายคนหลายหีบ ถามเขาว่าคนมาใหม่ พึ่งมาถึงเมืองนั้น ลุงก็ไม่ได้เอาใจใส่ต่อไป จนถึงเวลาลุงไปกินอาหารเย็น จึงพบชายผู้หนึ่งซึ่งลุงคิดว่าดูเหมือนเกือบจะเคยเห็นหน้าอยู่แต่ก่อนแต่เมื่อใดก็จำไม่ได้.

ชายคนนั้นยืนจ้องดูลุงอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วตรงเข้ามาหาพูดว่า :–

“เอ ! นี่ทำไมมาอยู่ที่นี่ละ สงบ สงบ. นี่แน่ะ เพื่อนเก่าของเราคนนี้มาอยู่นี่แน่ะ.”

พอได้ยินว่าสงบลุงก็ลำลึกได้ทันทีถึงคืนวันนั้น เลยเปนเพื่อนสนิทกับสงบแลสามีผู้นั้น เรื่องราวที่ทำให้ท่านเศรษฐีคนใช้โกรธบุตรสาว ถึงกับทำพินัยกรรม์ร้ายแรงนั้นเปนด้วยเหตุดังนี้ :–

แรกเริ่มเดิมทีท่านเศรษฐีคนนั้น ก็เปนคนธรรมดา ไม่สู้จะมีทุนมากนัก แต่พยายามหากินมาจนค่อยมีเงินทองเปนหน้าตาขึ้น จึงแต่งงานกับมารดาสงบคนนี้ ความสมบูรณ์ก็ยิ่งจำเริญขึ้นทุกที จนมีบุตรหญิงคนหนึ่ง ก็พอเปนเศรษฐีมั่งคั่ง พอกับความต้องการทุกอย่าง จนถึงไม่ต้องหากินอะไรก็ได้แล้ว.

อยู่มาไม่ช้าไม่นานนัก มารดาสงบถึงแก่กรรมลง สงบก็เปนลูกบิดาคนเดียวมาจนเติบใหญ่ สมควรจะมีเย่าเรือนแล้ว ท่านเศรษฐีบิดาจึงแสดงความต้องการให้ฟังว่า เงินทองทรัพย์สมบัติเย่าเรื่อนบ้านช่องอะไรๆ ก็มีพอเพียงไม่ต้องของ้อใครแล้ว เพราะฉนั้น ที่ยังต้องการอยู่อย่างเดียวก็แต่ยศเท่านั้น เมื่อทรัพย์สมบัติกับยศมีประกอบกันพอเพียงแล้วก็เปนอันใช้ได้ ไม่มีอะไรต้องการอีกในโลกนี้ เหตุฉนั้น ที่ท่านเศรษฐีต้องการจะให้สงบทำก็แต่แต่งงานกับผู้มบันดาศักดิ์เท่านั้น ที่จะว่ารักใคร่ก็จะอยู่กับคนนั้น ๆ ไม่ได้ ท่านเศรษฐีจะไม่ยอมเปนแท้ทีเดียว.

เวลาที่ท่านเศรษฐีเพ้อแสดงความต้องการกับบุตรสาวอยู่นั้น ท่านเศรษฐีหาได้ทราบไม่ว่าบุตร สาวตัวได้รักใคร่กันอยู่กับชายหนุ่มบุตรชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งถ้าตามความคิดท่านเศรษฐีแล้วก็ไม่เปนการพอเพียงเลย.

นี่แหละธรรมดาหญิงสาวชายหนุ่ม เมื่อได้ลงมือรักใคร่กันลงไปจริง ๆ แล้ว ที่ใครจะมาเทศนาให้กลับเลิกกันไปได้โดยว่าไม่สมกัน แลอะไร ๆ เหล่านี้นั้น เปนการยากนักหนา ที่ท่านเศรษฐีว่ากล่าวจะเอาตามใจว่าให้เปนดังนั้น นั้นก็ไม่กลับใจสงบได้เหมือนกัน ในเวลานั้นไม่รู้จะขัดขืนอย่างใด สงบก็ต้องนิ่งฟังไปก่อน ครั้นภายหลังสงบกับชายผู้นั้นจึงคิดอ่านแต่งคนมาสู่ขอต่อเศรษฐีบิดา แลทำอาการให้ทราบว่าได้รักกันแล้ว แลสงบไม่ตั้งใจจะทำตามคำบิดาแล้ว ท่านเศรษฐีทราบดังนั้นก็พื้นเปนไฟขึ้นมา ยื่นคำขาดต่อบุตรสาวว่า ถ้าขืนยังเอาใจใส่กับชายผู้ไม่มียศศักดิ์คนนี้อยู่แล้ว จะต้องไม่เปนพ่อเปนลูกกันอีกต่อไป สงบไม่ฟังคำขาดที่ท่านบิดายื่นนั้น ไพล่วิ่งตามชายหนุ่มคนนั้นไป เมื่อบุตรไม่อยู่ในโอวาทเช่นนั้น ท่านเศรษฐีบิดาพื้นไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ตกลงว่าลูกคนนี้ใช้ไม่ได้ เปนอันต้องร้อยดอกไม้สดเสีย ถ้ากลับมาให้เห็นหน้าก็มีอย่างเดียวแต่ปืนโกเท่านั้น.

อยู่มาไม่ช้าไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ป่วยลงเห็นจะเปนด้วยความเสียใจเรื่องบุตรก็เปนได้ เมื่อสงบกับสามีได้ทราบดังนั้นก็มาเยี่ยมเพื่อจะขอโทษด้วย ท่านเศรษฐีเห็นยิ่งโกรธหนักเข้า ดูเหมือนทำให้อาการป่วยมากไป หมอที่รักษานั้นแนะนำให้ไปเที่ยวเปลี่ยนอากาศเสีย แลอย่าทำให้ใจร้อนใจรนไปเปนอันขาด ท่านเศรษฐีก็เปลี่ยนที่ไปอยู่ที่โฮเต็ลที่ลุงไปพบนั้น ส่วนสงบแลสามีทราบอาการป่วยของบิดาก็ตามไปแต่ห่าง ๆ ไม่ให้ท่านเศรษฐีรู้เข้าได้.

ท่านเศรษฐีผู้นั้นมีคนใช้ที่ชื่อสนิท (ที่ออกชื่อในพินัยกรรม์ข้างต้นเรื่องนี้) อยู่ผู้หนึ่ง เปนคนใช้มาตั้งแต่แรกแต่งงานกับมารดาสงบ เมื่อภริยาถึงแก่กรรมแล้ว ท่านเศรษฐีก็มอบการบ้านฝ่ายผู้หญิงทั้งปวง โดยมากให้สนิทเปนผู้ว่ากล่าว เลยเปนที่ไว้เนื้อเชื่อใจในเวลาที่ท่านเศรษฐีป่วยแลไปเที่ยวดังนั้น สนิทก็เปนผู้พยาบาลไปด้วย ย่อมเปนที่ไว้ใจมากเข้า ท่านเศรษฐีเมื่อกำลังโกรธดังนั้น ก็เปนอันตั้งใจแล้วว่า ถึงอย่างไรก็คงไม่ยกมรดกให้บุตรสาวเปนอันขาด เมื่อดังนั้นถ้าไม่ทำพินัยกรรม์เสีย เมื่อท่านเศรษฐีตายลงไป บุตรสาวก็คงได้รับสมบัติเปนธรรมดา เรื่องจะทำพินัยกรรม์นั้นไม่เปนปัญหาแล้ว อย่างไร ๆ ก็ต้องทำเปนแน่ แต่ถ้าทำขึ้นแล้วจะทำให้ใครเล่า นี่แหละท่านเศรษฐีคนนี้ แต่เดิมไม่มีหลักฐานอันใด หาใช่เต็มไปด้วยพี่น้องอย่างคนอื่นไม่ เวลาป่วยดังนั้น เพื่อนฝูงที่สนิทหรือคนที่เคยทำการด้วยกันมาทั้งปวง ก็หาได้มาเยี่ยมเยียนพบปะไม่ เพราะฉนั้น ท่านเศรษฐีจึงตกลงให้สนิทคนใช้เปนผู้รับมรดกเสีย รู้แล้วรู้รอดไปดังนี้ เมื่อท่านเศรษฐีป่วยมากร่อแร่ลง จึงให้ไปเที่ยวตามหมอความมาทำพินัยกรรม์ดังที่เล่ามาแล้ว.

ส่วนสงบกับสามีนั้นทราบอยู่แล้วว่าท่านบิดาพื้นเสียเพียงใด แลป่วยมากอาการอยู่ข้างหนัก เรื่องพินัยกรรม์นั้นรู้นิสัยบิดาดีทีเดียวว่า คงไม่ให้ตัวเปนแท้ แลถ้าตัวจะกลับเข้าไปวิงวอนอิก ก็ไม่ผิดกับเอายาพิษถ้วยหนึ่งเข้าไปให้ท่านบิดากิน คงจะได้การกันเวลานั้นเอง เปนแปลว่าลูกฆ่าพ่อ เมื่อดังนั้นก็เปนอันไม่มีอื่นจะทำได้ นอกจากตามไปแต่ห่าง ๆ ดูว่าจะเปนอย่างไรจะได้ทันท่วงทีกัน เวลาที่ท่านเศรษฐีมาอยู่ในโฮเต็ลนั้น บุตรสาวกับบุตรเขยก็มาอยู่ด้วย แต่ท่านเศรษฐีหาได้ทราบไม่ เมื่อถึงเวลาขับขันคือเวลาที่ทำพินัยกรรม์นั้นสงบรู้ความจึงรีบมา ทำให้ลุงฉีกหนังสือสำคัญฉบับนั้นเสียได้ดังที่เล่ามาแล้ว.

นี่แหละหลาน ลายตามหน้าลุงนี้เกิดจากการที่สงบไม่อยู่ในโอวาทบิดาแท้ ดูก็ขัน ลุงไพล่ไปถูกตีจนหน้าตาเปนรอยเปนหลายแห่ง ด้วยเหตุที่พ่อลูกเขาโกรธกันมาแต่ไหนไม่รู้ดังนี้ เจ้าเห็นว่าจะเปนไปได้บ่อย ๆ หรือ ถึงอย่างไรก็ดี การที่เกิดเมื่อคืนวันนั้น ทำให้เปนอย่างดีกับคนมั่งคั่งทั้งคู่นั้นมาจนบัดนี้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ