- เรื่องหางแมว
- เรื่องนางจินตลีลา
- เรื่องยาแก้โรครัก
- เรื่องจับผู้หญิงสองมือ
- เรื่องคนเดียวรอดตาย
- เรื่องตาเป็ดกับยายแมว
- เรื่องสู้กันด้วยกลืนยาพิษ
- เรื่องทหารพระเจ้าราชาธิราช
- เรื่องลายตามหน้า
- เรื่องถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์
- เรื่องสืบสรรพการ
- เรื่องอะไรแน่หนอ !
- เรื่องปลาหมอตายเพราะปาก
- เรื่องรอดตัวเพราะเผลอ
- เรื่องโมเตอร์คาร์ใหม่
- เรื่องความรักของนางพระยา
- เรื่องค้างค้าง
เรื่องถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์
เมื่อข้าพเจ้าอยู่ประเทศอเมริกา ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องสนุกที่น่านำมาเล่าฟังกันเล่นหลายเรื่องต่อหลายเรื่อง.
เรื่องนี้เกิดขึ้นแต่เมื่อข้าพเจ้าจวนจะออกจากวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่ยังหาได้ออกไม่ด้วยยังต้องรอเข้าไล่อะไรอยู่อิกอย่างหนึ่งหรือสองอย่างก็จำไม่ได้เสียแล้ว
วันหนึ่งสิ้นเวลาเล่าเรียนแล้ว ข้าพเจ้านั่งดูหนังสือพิมพ์อยู่ในห้องอ่านหนังสือของวิทยาลัย พอพบข่าวฆ่ากันตายแห่งหนึ่งว่า มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซพ่อค้าเก่าคนหนึ่งเปนคนมั่งคั่ง ตั้งบ้านอยู่ห่างจากเมืองไปประมาณสองร้อยเส้น ตายเมื่อวันก่อนนั้นไป ด้วยมีคนลอบเข้าไปฆ่าถึงในที่นอน.
ข้าพเจ้าตกใจสดุ้งขึ้นทั้งตัว ด้วยมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักอยู่บ้าง เวลานั้นจะเปนด้วยข้าพเจ้าต้องเตรียมการที่จะเข้าสอบไล่วุ่น ไม่ใคร่ได้หยุดอยู่หรืออย่างไรแหละ จึงมิได้ทราบข่าวมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายก่อนนี้.
ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านอยู่นั้น เจ้าพนักงานได้จับ ยอน อิงเกอร์ คนใช้เก่าแก่ของ มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซ ไปจำแล้ว ด้วยสงสัยตรงว่าเปนผู้กระทำร้ายนายถึงแก่ชีวิต ดังเหตุที่ชี้ตรงแน่วใส่สองสามอย่างที่จะได้เล่าต่อไป.
มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้ ถึงได้หากินมาแต่ด้วยการค้าขายเท่านั้นเองก็ดี ก็ยังเคยเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับการบ้านเมืองอยู่บ้าง คนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีกับมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซพูดว่า มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้เปนคนรู้จักการกฎหมายดีทีเดียว แต่เปนคนมีความเห็นต่อสู้กับการที่เปนไปอยู่นั้นสองสามอย่าง เช่นการที่ประหารชีวิตคนด้วยเหตุที่ไม่มีพยานเห็นแก่ตาเบิกเพียงพอ เปนแต่ว่าการเปนดังนั้น ๆ สมกับสิ่งนั้น ๆ คงเปนดังนั้นๆ ให้ลงโทษผู้ผิดดังนั้น ๆ เช่นนี้ เห็นว่าเปนอันใช้ไม่ได้เปนอันขาด
นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรในตัวมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซ ที่จะนำมาพรรณนาได้นอกจากว่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้แต่เดิมเปนพ่อค้ารุ่งเรือง ทำการค้าขายจนได้ผลประโยชน์มั่งคั่ง นับว่าเปนเศรษฐีได้คนหนึ่ง ครั้นแก่ตัวลงก็ออกจากทางหากินเช่นนายห้างธรรมดาเสีย นอนกินดอกเบี้ยค่าเช่าตึก ฯลฯ ฯลฯ เรื่อยอยู่กับบ้าน ไม่สู้จะธุระปะปังกับใครนัก ถ้าใครไปขยายพูดถึงการบ้านเมืองขึ้น ก็ออกความเห็นแต่ตามที่กล่าวมาข้างบนเท่านั้น
เวลาเช้า เมื่อบ่าวไพร่เข้าไปพบมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซ ตายอยู่ในที่นอนวันนั้นก็มีเอะอะกันตามธรรมดา มีเจ้าพนักงานกองตระเวนมาตรวจศพ แลสืบสวนหาเหตุที่มีผู้ฆ่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนั้น ในวันนั้นเองเมื่อตรวจค้นกันเสร็จแล้ว ยอน อิงเกอร์ ก็ได้ถูกจับไปจำไว้ ด้วยถูกสงสัยซัดว่าเปนผู้ฆ่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตาย.
การที่เจ้าพนักงานพลตระเวรจับตัวยอนอิงเกอร์ไปนั้นก็เปนการสมควรแท้แล้ว ด้วยความจริงที่ตรวจค้นแลสืบสวนได้เปนดังนี้ :–
เมื่อคืนวันที่ ๑๙ เดือนสิงหาคม มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเข้าห้องนอนประมาณ ๔ ทุ่มครึ่งตามเคย ครั้นรุ่งขึ้นเช้าคนใช้เข้าไปพบนอนตายอยู่มีรอยแทงตรงหัวใจด้วยซ่อมเงินยาวที่สำหรับใช้ตัดเนื้อหรือไก่เป็ดซึ่งยังคาอยู่ในตัวผู้ตายนั้น ซ่อมนั้นแต่เดิมคงไม่แหลมพอ อ้ายผู้ร้ายจึงต้องตะไบหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้แหลมเข้าอิก ด้วยมีรอยตะไบใหม่ ๆ ดูเหมือนจะทำในคืนวันนั้นเอง.
คำให้การยอนอิงเกอร์นักโทษผู้ถูกสงสัยนั้นว่า เมื่อมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเข้านอนแล้วนั้น ยอน อิงเกอร์ ได้นำถาดใส่เครื่องซ่อมช้อนเงินที่ใช้อยู่ทุก ๆ วัน เข้าไปไว้ในห้องนอนนั้น ด้วยธรรมเนียมมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซ เก็บของเหล่านั้นไว้ในห้องนอนเสมอ เปนแต่ให้คนใช้คือ ยอน อิงเกอร์ นี้ เก็บกุญแจลิ้นชักของเหล่านั้นไว้เท่านั้น เวลาที่ ยอน อิงเกอร์ เข้าไปนั้น มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซนอนอ่านหนังสือโนเวิ่ลอยู่ เมื่อเก็บของลงลิ้นชักลั่นกุญแจแล้วจะกลับออกมา มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซยังได้ว่า “กูดไนต์” กับ ยอน อิงเกอร์ ด้วย.
มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้หาได้ใส่กุญแจห้องนอนตัวเอง เหมือนฝรั่งทั้งหลายโดยมากไม่ ด้วยเวลาเช้าเคยมีคนขึ้นมาตักน้ำใส่อ่างอาบน้ำให้ทันก่อนมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตื่นทุกวัน.
ฝ่ายคนที่ขึ้นมาตักน้ำเวลาเช้า แลเปนผู้พบมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซนอนตายอยู่นั้น เมื่อเรียกตัวมาไล่เลียงก็ให้การว่า เมื่อตัวขึ้นมาตักน้ำใส่ที่อาบตามธรรมดานั้น ได้เปิดประตูเข้าไปทีเดียว แลจัดแจงอ่างอาบน้ำตามเคย ด้วยเข้าใจว่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซยังหลับอยู่ มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเปนคนนอนหลับไม่ตื่นง่ายก็จริง แต่เมื่อเวลาล้างอ่างแลเทน้ำเสียงโครมครามประจวบเวลาตื่นดังนั้น ก็เคยลุกขึ้นเสมอ วันนั้นทำอะไร ๆ ก็เสร็จแล้ว แต่หาลุกขึ้นไม่ คนใช้คนนั้นเห็นผิดทีจึงเข้าไปมองดูข้างที่นอน ที่ไหนเล่า หน้ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซไม่มีเลือดเสียแล้ว ที่นอนที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซนอนตายนั้นอยู่ข้างยุ่งเหยิงอยู่สักหน่อย แต่โคมไฟก็ดับหมดด้วย เมื่อเห็นนายตายดังนั้นแล้ว คนใช้คนนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร เปนแต่วิ่งออกมาบอกกันโวยวายขึ้น.
เมื่อได้ยินเรื่องมาถึงตรงนี้ ใครเลยจะปรักปรำเอายอน อิงเกอร์ ทีเดียวว่า เปนผู้ฆ่านายตาย ด้วยถ้าจะสงสัยเอาเฉย ๆ อย่างนั้นแล้ว ก็น่าสงสัยคนตักน้ำนั้นมากกว่า ด้วยคงจะไม่ได้เปนบ่าวสนิท แลรับการของมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซมานานเหมือนยอน อิงเกอร์ ธรรมดาบ่าวนายที่เคยรับใช้สรอยรู้จักน้ำใจกันมานับด้วยยี่สิบปีดังนี้ ที่จะไม่มีความรู้สึกภักดีต่อกันนั้น มีหนึ่งในร้อยก็ไม่ได้ดังนี้ ท่านผู้อ่านยังจะสงสัยคนใช้ที่เข้าไปตักน้ำอยู่นั้นก็เปนได้ แต่ที่จริงเมื่อท่านได้อ่านต่อนี้ไปสองสามบันทัดแล้ว จึงจะเชื่อแน่ลงที่ว่าการที่พลตระเวนจับตัวยอนอิงเกอร์ไปนั้นเปนการถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุดังนี้ :–
เมื่อเกิดเหตุฆ่ากันตายเปนเหตุใหญ่ดังนั้น ก็เปนธรรมเนียมที่เจ้าพนักงานพลตระเวนจะต้องทำดีที่สุดที่จะทำได้ เพราะฉนั้น เปนธรรมดาที่จะต้องค้นหาฝอย ที่จะนำไปสู่ทางที่จะจับผู้ร้ายได้ ในที่ทั้งปวงที่สงสัยนั้น เมื่อฉนี้ ในบ้านมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเองก็เปนต้องค้นให้ทั่วก่อน ตลอดจนห้องบ่าวไพร่ทั้งปวง ในห้องยอนอิงเกอร์นั้น เมื่อค้นแล้วได้ของสำคัญเปนพยานปรักปรำเอาเจ้าของห้องหลายอย่าง คือบนหลังตู้สูงพบตะไบอันหนึ่งมีแร่ขาว ๆ ติดอยู่ ซึ่งตรวจดูรู้ได้ว่าเปนตะไบที่ถูเงินมา คือตะไบที่ตะไบซ่อมเงินที่แทงมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนั้นเอง กับถุงเงินที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเคยใช้อยู่ มีเงินตราเงินกระดาษหลายสิบเหรียญ ซ่อนอยู่อิกแห่งหนึ่งในห้องนั้นด้วย เท่านี้ก็พออยู่แล้วที่จะให้เห็นได้ว่ายอนอิงเกอร์เปนคนฆ่านายตายจริง แต่ไม่ใช่เท่านั้น ยังมีพยานอิกอย่างหนึ่งที่นำทางให้ซัดเข้าไปอิกด้วย คือเมื่อประมาณเดือนเศษมาแล้วนั้น มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สมบัติกับพี่น้องคนหนึ่ง แลในพินัยกรรมนั้นมีว่า ให้ยกเงิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญให้ยอน อิงเกอร์ ตอบแทนที่ได้รับใช้โดยเรียบร้อยมานานด้วย ตรงนี้ก็เห็นได้ง่ายๆ ว่า ยอน อิงเกอร์ คงได้ทราบความในพินัยกรรมนั้น แลเมื่อยอน อิงเกอร์ ทราบไม่ได้ว่า เงิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญนั้นจะลอยลงมาถึงมือเมื่อใด แลบางทีจะตายเสียก่อนไม่ได้เลยก็เปนได้ดังนี้ จึงคิดขบถทำร้ายนายถึงชีวิตเพื่อจะเอาเงิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ มาใส่กระเป๋าตนเร็วๆเข้า เท่านี้เอง.
ส่วนคนใช้อิกคนหนึ่งที่ตักน้ำเข้าไปในห้องนอนมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซเวลาเช้า ซึ่งเมื่อตะกี้ท่านผู้อ่านคงคิดว่าควรจะสงสัยด้วยนั้น ไม่มีร่องรอยอะไรเลย ที่เจ้าพนักงานพลตระเวนเห็นว่าควรจะสงสัย เพราะฉนั้น จึงจับแต่ตัว ยอน อิงเกอร์ ไปจำไว้ดังกล่าวมาแล้ว คอยชำระว่าเปนผู้ฆ่านายตาย.
ตามธรรมเนียมกฎหมายในประเทศโน้น เมื่อจับนักโทษได้เช่น ยอนอิงเกอร์ เช่นนี้ จะต้องจำไว้ประมาณสี่เดือนก่อนจึงจะชำระได้ แลเมื่อชำระตัดสินลงโทษ เช่นว่าฆ่าคนตายให้ตายตกไปตามกันเช่นนี้แล้ว จะต้องจำไว้เปล่า ๆ อิกประมาณสองเดือนจึงจะประหารชีวิตได้ เพราะฉนั้น ในระหว่างเวลาที่จับตัวได้กับเวลาที่จะชำระนั้น ยอน อิงเกอร์ ไม่มีอะไรนอกจากนั่งง่วงอยู่ในห้องจำ ดูเหมือนไม่มีสติที่จะรู้สึกได้ว่าทำไมจึงต้องมาอยู่เช่นนั้น แลทำไมจึงจะต้องทนลำบากไปอิกหลายเดือน แลทำไมจึงจะไม่ได้คงชีวิตไปอิกนานแล้ว เมื่อหมอความที่หามาว่าความแทน ซักไซ้ไล่เลียงเพื่อจะหาทางแก้ไขต่างๆ ยอนอิงเกอร์ก็ไม่พูดตอบคำถามให้พอเพียงได้ เปนแต่เพียงปฏิเสธตะพัดไปเท่านั้น.
ส่วนเสียงหนังสือพิมพ์แลเสียงมหาชนทั้งปวงนั้นเห็นเปนคำขาดคำเดียวกันว่า ยอน อิงเกอร์ เปนผู้ฆ่านายตายแท้ แปลกอยู่อย่างหนึ่ง แต่ที่มิสเตอร์ ยอนนี หมอความของ ยอน อิงเกอร์ ยังเกือบเห็นว่า ยอนอิงเกอร์ ไม่ได้ทำจริง การที่ข้าพเจ้าว่า “เกือบ” เห็นนั้น เพราะเหตุอะไร เพราะมิสเตอร์ ยอนนี คนนี้เปนคนที่ทำตัว (อย่างหมอความโดยมาก) ว่า ไม่เชื่อใครว่ากระไรแลทำอะไรเปนแท้ลงไปได้ แลตามธรรมเนียมของมิสเตอร์ ยอนนี นั้น ลูกความเช่นนี้แล้วเปนเห็นว่าเปนสัตย์ทั้งนั้น ถึงอย่างไรก็ดีในความเรื่องนี้ มิสเตอร์ ยอนนี ยังเห็น ยอน อิงเกอร์เปนคนสุจริตอยู่ร่ำไป แต่การที่เข้าใจดังนั้นก็เปนแต่ว่าเข้าใจเท่านั้น จะว่าเข้าใจด้วยเหตุนั้นเหตุนี้ที่จะชี้ให้แจ่มแจ้ง หรือจะพอให้เปิดเปนทางออกไปบ้างก็ไม่ได้ ยังมืดตื้ออยู่อย่างนั้นเอง.
เมื่อถึงวันชำระ มิสเตอร์ ยอนนี ก็ได้พยายามแก้ไขอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ด้วยทางที่จะแก้ไขให้ค่อยยังชั่วแต่สักนิดเดียวก็ไม่มีเลย ตกลงลงท้ายท่านอนุญาโตตระลาการก็ตัดสินให้ประหารชีวิตยอน อิงเกอร์ เปนโทษที่ฆ่านายตายตามที่ใคร ๆ ก็ทายล่วงน่าได้อยู่แล้วนั้น.
เมื่อผู้คุมคุมตัวยอน อิงเกอร์ กลับไปที่จำแล้วนั้น มิสเตอร์ ยอนนียังไปพูดจาประเล้าประโลมถึงอุทธรณ์แลอะไร ๆ ต่าง ๆ ที่พอจะทำให้ยอน อิงเกอร์ ชื้นขึ้น แต่ก็ไม่มีประโยชน์อันใดด้วยยอนอิงเกอร์เกือบจะไม่ได้ยินคำที่มิสเตอร์ ยอนนี พูดเสียแล้ว.
มาจะกล่าวบทไปถึงหมอความอิกคนหนึ่งชื่อ มิสเตอร์แว๊ก ซึ่งเปนหมอความสำหรับตัวของมสเตอร์เบ็ลลี๊ซที่ถึงแก่กรรมนั้น.
วันหนึ่ง (นับได้ ๖ เดือนภายหลังจากวันมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายไป) มิสเตอร์แว๊กนั่งทำการวุ่นอยู่ในออฟฟิศ พอคนใช้นำก๊าดเข้ามาส่งให้ใบหนึ่ง ในก๊าดนั้นมีชื่อเปนตัวพิมพ์ว่า “มิสเตอร์ลาซี” แลมีตัวเขียนว่า “มาด้วยธุระเรื่องมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซที่ถึงแก่กรรม.”
มิสเตอร์แว๊กรู้จักมิสเตอร์ลาซีแล้วแต่ห่างๆ แลทราบว่า มิสเตอร์ลาซีคนนี้เปนเพื่อนสนิทของมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซที่ถึงแก่กรรม แต่ไม่มีความคิดทีเดียวว่า “ธุระเรื่องมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซที่ถึงแก่กรรม” นั้นจะเปนเรื่องอะไร
มิสเตอร์แว๊กก็ให้คนใช้ไปเชิญมิสเตอร์ลาซีเข้ามาในออฟฟิศแลเชิญให้นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว มิสเตอร์ลาซีก็หยิบห่อกระดาษห่อหนึ่งออกมา แล้วพูดว่า :–
“ที่ข้าพเจ้ามาหาท่านวันนี้ ด้วยมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซที่ถึงแก่กรรมสั่งไว้ ห่อกระดาษนี้มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซให้แก่ข้าพเจ้าไว้ประมาณสามสี่เดือนก่อนเวลาที่ผู้ร้ายลอบเข้าไปฆ่าตายถึงในห้องนอนนั้น แลสั่งไว้ว่า ถ้าตายแล้วเมื่อไร ให้ข้าพเจ้านำห่อนี้มาให้แก่ท่าน หรือผู้ที่ทำการต่อท่านไปในวันที่ครบหกเดือน ภายหลังเวลาที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนั้น ตั้งแต่ว่ามีผู้ฆ่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนั้น นับมาได้หกเดือนวันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้มาตามคำสั่งที่ข้าพเจ้าได้รับไว้แต่แรกว่าจะทำตาม.”
มิสเตอร์แว๊กหยิบห่อกระดาษซึ่งผนึกแน่นหนา พลิกไป พลิกมาดูแล้วพูดว่า :–
“ห่อกระดาษนี้ ดูเหมือนถ้าท่านจะแสดงเสียแต่เมื่อแรกเกิดความใหม่ ๆ จะดีมาก บางทีจะมีอะไรสำคัญบ้างกระมัง เพราะการที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนั้นเปนการฆ่ากันตาย หาใช่ตายด้วยป่วยเจ็บหรือที่เรียกว่าตายโดยธรรมดา กล่าวคือไม่เปนความเช่นนี้ไม่.”
มิสเตอร์ลาซีตอบว่า “ถ้าจะพูดตามทางความหรือตามทางที่จริงแล้ว ท่านว่าดังนั้นก็ถูก แต่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซได้ทำให้ข้าพเจ้าสัญญาแน่นหนา จนเกือบจะให้สบถว่าอย่างไรก็จะไม่นำห่อนี้มาให้ท่านก่อนหกเดือนเลย การที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซตายนี้ ถึงจะตายเปนเหตุสำคัญดังนั้นก็ดี ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ที่จะเปนเหตุให้ข้าพเจ้าเสียสัญญาได้ ถ้าเปนการฆ่าตัวตายเองก็จะต้องเปนอย่างหนึ่ง นี่หาใช่อย่างนั้นไม่.”
มิสเตอร์แว๊ก “ท่านว่าตามความที่สัญญาไว้นั้นก็ถูก แต่ถึงอย่างไร ๆ ก็เหมือนกัน ด้วยเปนการเลยมาแล้ว.”
ว่าพลางมิสเตอร์แว๊กก็ฉีกห่อนั้นออกพบตั๋วแบงก์หลายใบ ราคารวมด้วยกันถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ กับจดหมายยืดยาวซึ่งมิสเตอร์แว๊กอ่านดัง ๆ ให้มิสเตอร์ลาซีฟังดังนี้ :–
“เลขที่ ๑๖ ถนนว๊อชชิงตัน”
วันที่ ๒๖ เมษายน ๑–
“ถึงมิสเตอร์แว๊กเพื่อนที่รัก.”
“ข้าพเจ้าจะต้องตั้งต้นจดหมายนี้โดยขอลุแก่โทษต่อท่าน ที่ให้มิสเตอร์ลาซึเก็บหนังสือฉบับนี้กับตั๋วแบงก์ที่สอดไว้ด้วยกันนี้ไว้ หาได้ส่งให้ท่านแต่แรกตามควรไม่ เหตุที่ข้าพเจ้าทำดังนี้นั้น ด้วยข้าพเจ้าเห็นท่านเปนหมอความ ที่ไหนจะเก็บห่อจดหมายนี้ไปเปิดเอาต่อเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งไว้ คงจะไปเปิดเสียก่อนเปนแน่ ที่จริงถ้าข้าพเจ้าจะขอให้ท่านสัญญาดังที่ข้าพเจ้าได้ทำให้มิสเตอร์ลาซีสัญญาแล้ว ท่านจะทำตามสัญญาหรือไม่ทำท่านก็คงต้องอยู่ในขลุกขลักลำบากยากเย็นอยู่ทั้งสองทาง คือถ้าท่านจะทำตามที่ได้สัญญาไว้กับข้าพเจ้าคือไม่เปิดจดหมายนี้จนถึงหกเดือน ภายหลังที่ข้าพเจ้าตายไปแล้ว ท่านเปนหมอความคงจะต้องถูกติเตียนปรักปรำว่าทำผิดทาง จนถึงเสียชื่อเสียงได้ หรือถ้าไม่อย่างนั้น ถ้าท่านไปเปิดเสียก่อน ท่านก็ไม่ทำประโยชน์อะไรได้กี่มากน้อย แต่คงจะเสียใจทีหลังด้วยท่านทำให้ความตั้งใจของข้าพเจ้าแลลู่ทางที่ข้าพเจ้าวางไว้เสียไปสิ้น เปนอันข้าพเจ้าตายจากท่านไปในเวลาที่ยังไม่ควรโดยหาประโยชน์อะไรมิได้ เพราะเหตุฉนี้ ข้าพเจ้าจะให้มิสเตอร์ลาซีรักษาหนังสือฉบับนี้ไว้กว่าจะถึงหกเดือน ภายหลังเวลาที่ข้าพเจ้าตายไปแล้วจึงจะให้ท่านทราบ ขอท่านได้ยกโทษข้าพเจ้าแลทำตามที่ข้าพเจ้าจะอ้อนวอนขอท่านในท้ายหนังสือฉบับนี้.”
ข้าพเจ้าเชื่อแน่ในใจว่า เมื่อท่านอ่านจดหมายนี้อยู่นั้นข้าพเจ้าจะตายไปได้หกเดือนแล้ว แลตามกฎหมายคงตัดสินลงทีเดียวว่า ยอน อิงเกอร์ คนใช้เก่าแก่อันสนิทสนมของข้าพเจ้าเปนผู้ฆ่าข้าพเจ้าตาย คือแทงข้าพเจ้าด้วยซ่อมเงินใหญ่ ซึ่งอยู่ในเครื่องซ่อมช้อนทั้งปวงที่เก็บไว้ในห้องนอนข้าพเจ้าแลที่ยอนอิงเกอร์เปนคนเก็บเองนั้น.”
“พยานที่เปนทางให้เห็นว่า ยอน อิงเกอร์ เปนผู้ฆ่าข้าพเจ้าตายนั้น ดูเหมือนจะไม่ต้องการมากนัก เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าคะเนว่าเวลาที่ท่านอ่านจดหมายสำคัญของข้าพเจ้าฉบับนี้อยู่นั้น ท่านพวกอนุญาโตตุลาการ คงจะตัดสินให้ประหารชีวิตยอน อิงเกอร์แล้ว แต่คงยังหาได้ประหารไม่ ด้วยตามกฎหมายต้องรอให้เวลาในระหว่างตัดสินแลประหารชีวิต ดูเหมือนประมาณสองเดือน.”
“เงิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ที่ข้าพเจ้าให้ ยอน อิงเกอร์ ไว้ในหนังสือพินัยกรรมของข้าพเจ้านั้น เปนทางที่ทำให้มหาชนเห็นว่า ยอน อิงเกอร์ ฆ่าข้าพเจ้าจริงด้วยจะต้องการเงินนั้นให้เร็วเข้า แต่ถึงอย่างไรก็ดี เงินนั้นคงจะช่วยให้เขาได้หาหมอความช่วยเหลือโดยแข็งแรง ในเวลาชำระแลในระหว่างจำนั้น แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าหมอความอะไรก็ช่วยให้หลุดไม่ได้ทั้งนั้น เพราะฉนี้ ยอนอิงเกอร์ ก็เปนอันต้องถูกตัดสินให้ประหารชีวิตอย่างที่ว่ามาแล้ว อย่างนั้นจริงหรือไม่ ?”
“คราวนี้ข้าพเจ้าจะอธิบายอะไร ๆ ให้ท่านฟังให้หมด จะได้ทำให้สิ่งที่มืดเปนสิ่งสว่าง แลสิ่งที่คดกลับเปนสิ่งที่ตรง เห็นได้ทั่วกันคือ เมื่อวันที่ ๑๙ เดือนสิงหาคมนี้ ข้าพเจ้าได้ฆ่าตัวตาย แลได้จัดแจงเสียแต่แรกแล้วว่า ให้ยอน อิงเกอร์ คนใช้ของข้าพเจ้าเปนคนฆ่าตาย อะไร ๆ ก็ชี้เปนพยานว่า ยอน อิงเกอร์ ได้ประทุษร้ายข้าพเจ้า ดังนั้น พูดสั้น ๆ ก็คือสิ่งที่เปนทางชี้โดยสว่างว่า ยอน อิงเกอร์ ได้ทำความผิดอันใหญ่ต่อบ้านเมืองนั้น เปนของที่ข้าพเจ้าทำไว้ทั้งนั้น เพราะฉนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ยอน อิงเกอร์ จะพ้นจากโทษ ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างบนนั้นไม่ได้เปนอันขาด.”
“เมื่อมาถึงตรงนี้ ท่านจะต้องการที่สุดว่าที่ข้าพเจ้าได้ทำอย่างนี้นั้นด้วยเหตุไร ตรงนี้ข้าพเจ้าก็จะต้องพยายามอธิบายให้เพียงพอจะได้เข้าใจได้ตลอดกัน.”
“การที่ข้าพเจ้าฆ่าตัวตายนี้ ก็เปนอันได้ทำความผิดใหญ่ขัดกับกฎหมายของบ้านเมือง แลกฎหมายของพระผู้เปนเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ชีวิตของคน ๆ หนึ่งนี้ ถ้าจะเปรียบกับการที่จะเปนประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ก็มีราคาสักนิดเดียวเท่านั้น ถ้าการที่ข้าพเจ้าฆ่าตัวตายนี้ ได้สมดังประสงค์ที่ข้าพเจ้าตั้งใจไว้แล้ว ถึงจะอย่างไร ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าจะต้องเข้าใจทีเดียวว่าที่ข้าพเจ้าตายนี้ ตายด้วยทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในประเทศนี้ แลถึงความที่คิดไว้จะไม่สำเร็จก็ดี การที่ข้าพเจ้าตั้งใจไว้ก็เปนการดีพออยู่แล้ว ข้าพเจ้ายังเห็นว่าควรทำอยู่นั่นเอง.”
“คราวนี้ เมื่อคิดถึง ยอน อิงเกอร์ คนใช้ของข้าพเจ้าซึ่งเปนคนที่ข้าพเจ้าได้เคยใช้สรอยสนิทสนม แลซึ่งข้าพเจ้าได้เคยนับถือว่าเปนคนสัตย์ซื่อ มีความดีอยู่ในตัวหลายอย่างแล้ว ท่านจะกลับสงสัยอิกว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงยกเอาความร้ายไปทิ้งไว้เปนกองกับคนที่ข้าพเจ้าเคยชอบพอมาดังนี้เล่า ตรงนี้อิก ข้าพเจ้าก็จะต้องอธิบายอย่างเดียวกันว่า ความทนทุกข์ทรมานของคน ๆ เดียว ถ้าจะเปรียบกับการสิ่งใด ที่เปนประโยชน์แก่มหาชนทั่วประเทศแล้ว จะหนักเท่ากับเอาเมล็ดกรวดเมล็ดหนึ่งไปชั่งน้ำหนักกับภูเขาก็ไม่ได้ ในหนังสือพินัยกรรมของข้าพเจ้าก็ได้ให้ ยอน อิงเกอร์ ไว้ถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังซ้ำสอดตั๋วแบงก์อิก ๑๐,๐๐๐ เหรียญมาในนี้เปนค่าบำเหน็จอิก ขอท่านได้โปรดจัดแจงส่งไปให้ด้วย.
“ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ถึงข้าพเจ้าได้พูดมามากมายแล้วดังนี้ ท่านก็คงยังเข้าใจไม่ได้ชัดว่า นี่แปลว่าอะไรแน่ แลทำไมข้าพเจ้าจึงฆ่าตัวตาย ข้าพเจ้าจะต้องพยายามอธิบายอิกครั้งหนึ่งว่า การที่ข้าพเจ้าตายครั้งนี้ข้าพเจ้ามีความหวังใจอย่างไร.
“ท่านเคยได้ยินข้าพเจ้าพูดแล้วเปนแน่ถึงการที่กฎหมายยอมให้ถือเอาพยานที่มิได้มีใครเห็นแก่ตา ซึ่งเปนทางว่าเปนอย่างนั้นอย่างนี้ได้นั้น เปนหลักฐานที่จะตัดสินความลงโทษคน บางทีถึงประหารชีวิตเช่นนี้ ไม่ใช่เท่านั้น ข้าพเจ้าได้เขียนติเตียนการนี้ไปลงพิมพ์ก็หลายครั้ง ท่านคงได้อ่านบ้าง ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าท่านทราบชัดว่าตามความเห็นของข้าพเจ้าแล้วไม่มีอะไรจะเลวยิ่งกว่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อเปนแน่ว่าเมื่อกฎหมายยังเปนอย่างนี้อยู่ตราบใด การที่กฎหมายตัดสินให้คนที่ไม่มีผิดต้องประหารชีวิต หรือต้องจำเปล่า ๆ หรือแทนผู้ทำผิด ยังจะต้องมีอยู่ตราบนั้น การที่ข้าพเจ้าตายแล ยอน อิงเกอร์ ต้องจำแลต้องตัดสินประหารชีวิตนี้ ข้าพเจ้าหวังใจว่า จะทำให้คนทั้งหลายรู้สึกการที่ดำเนิรอยู่โดยไม่ชอบได้ ถ้าการที่ข้าพเจ้าท่านสำเร็จดังปราถนาแล้วจะเปนการดียิ่งนัก.”
“ขอให้ท่านดูเถิดว่า นี่ ยอน อิงเกอร์ ผู้สุจริตแท้ ๆ ต้องถูกตัดสินประหารชีวิตด้วย เหตุที่ถือพยานเช่นนั้นหรือไม่ใช่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เขียนจดหมายนี้ไว้แล้ว ยอน อิงเกอร์ จะต้องถูกประหารชีวิตจริงหรือไม่.”
“ถ้าข้าพเจ้าถูกผู้ร้ายเข้ามาฆ่าตายจริง ๆ แล้ว ถ้าอ้ายผู้ร้ายมันจะวางแปลนต่างๆ ให้อะไร ๆ ตกหนักอยู่กับยอน อิงเกอร์ ทุกอย่าง ดังที่ข้าพเจ้าได้ทำดังนี้จะได้หรือไม่ได้”
“ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าการที่ข้าพเจ้าทำนี้มาให้เปลี่ยนกฎหมายที่ใช้อยู่ได้แล้ว ชีวิตข้าพเจ้าแลความที่ต้องทนทุกข์ทรมานของ ยอน อิงเกอร์ ก็เปนอันไม่เสียเปล่าเปนแน่.”
ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอท่านได้คัดสำเนาหนังสือฉบับนี้ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ข่าวทุก ๆ ฉบับ แล้วให้ต้นฉบับนี้ไว้แก่ตัว ยอน อิงเกอร์ เปนที่ระลึกที่ตัวได้เปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้ามา.”
“แต่เพื่อนสนิทของท่าน.”
(เซ็น) “ยอน เบ็ลลี๊ซ.”
เมื่ออ่านจบแล้วคนทั้งสอง (มิสเตอร์แว๊กกับมิสเตอร์ลาซี) ก็นั่งนิ่งแลดูตากันอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วมิสเตอร์ลาซีจึงพูดว่า :–
“ข้าพเจ้านี้คิดอยู่เสมอว่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้ถึงจะเปนคนใจคอดีทำอะไรแลรู้อะไรได้ดีก็จริง แต่ติดไม่เต็มเต็งอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์เปนแน่ ความเห็นแลลู่ทางที่ว่านั้นก็แน่นหนาแยบคายอยู่ แต่ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่าที่ข้าพเจ้าได้เห็นว่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซมีบ้าอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ นั้นยังน้อยไปมาก คราวนี้เห็นถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เสียอิก ถึงอย่างไรก็ดี การที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซมาฆ่าตัวตายเสียนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจเท่ากับเสียของอย่างดีที่สุด ที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในโลกนี้.
มิสเตอร์แว๊ก “ข้าพเจ้าก็รู้สึกเสียใจไม่น้อยกว่าท่าน ด้วยมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซคนนี้ไม่ได้เปนแต่คนที่ได้ประจำหาข้าพเจ้าในการความทั้งปวงอย่างเดียว เปนเพื่อนที่ที่สุดคนหนึ่งของข้าพเจ้าด้วย.”
มิสเตอร์ลาซี “ข้าพเจ้าอยากทราบนักว่าดังนี้ เมื่อได้ยินเรื่องตลอดแล้ว ยอน อิงเกอร์ จะคิดว่ากระไรบ้าง ถ้าตัวข้าพเจ้าเองแล้วจะจ้างให้ไปถูกอย่างนี้สักเท่าไรก็ไม่เอาแล้ว.”
มิสเตอร์แว๊ก “ถึงยอน อิงเกอร์ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าจะไม่เอาเหมือนกัน เงิน ๒๐,๐๐๐ เหรียญนี้ ที่ได้ในหกเดือนก็ต้องนับว่าไม่ใช่น้อย แต่ถึง ยอน อิงเกอร์ จะอยากได้ ก็คงอยากให้ได้มาอย่างอื่น ไม่ใช่ได้ด้วยต้องทรมาทารกรรมเช่นนี้ ดีเสียอีกที่ไม่เปนบ้าไปเสียแต่ในระหว่างหกเดือนนั้น เปนอันจะได้อยู่รับความสุขจากเงิน ๒๐,๐๐๐ เหรียญนี้.
นี่แหละ เปนเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาแต่ประเทศโน้น การที่มิสเตอร์เบ็ลลี๊ซฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุที่จะอยากหลอกกฎหมายให้พอเปนตัวอย่างนี้ ข้าพเจ้ากล่าวไม่ได้ว่าข้าพเจ้าเห็นด้วยที่มิสเตอร์ลาซีว่ามิสเตอร์เบ็ลลี๊ซมีไม่เต็มเต็งอยู่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี้ข้าพเจ้าก็ว่าชอบเหมือนกัน ถ้าเราจะสงสัยมิสเตอร์เบ็ลลี๊ซว่ามีเหตุอื่นที่ทำให้ฆ่าตัวตายแล้ว เอาเหตุเช่นนั้นมากล่าวดังนี้ก็พอจะว่าได้ จะว่าบ้าจัดเต็มทีก็ได้ จะว่ากระไรก็ได้ทั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องขอลาจากการที่จะว่ากระไรออกไปด้วยเรื่องนี้ ด้วยข้าพเจ้าเองจะได้รู้ว่าเปนอย่างไรกันยิ่งกว่านี้ไปก็หามิได้ ขอท่านผู้อ่านได้มีความเห็นว่าชอบหรือผิด บ้าหรือดี เอาตามท่านเห็นเถิด.
ในที่สุดนี้ ขอท่านทั้งหลายผู้ได้อ่านเรื่องของข้าพเจ้านี้มาจนจบนั้น ได้รับคำแสดงความขอบใจแลความนับถือของข้าพเจ้าด้วย.