เรื่องทหารพระเจ้าราชาธิราช

เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่าต่อไปนี้ เปนเรื่องที่เกี่ยวด้วยพระเจ้าราชาธิราชก็จริง แต่ไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือราชาธิราช เพราะเปนเรื่องเล็กน้อยหาสมกับศักดิ์ของพงศาวดารไม่ ถ้าท่านผู้อ่านถามข้าพเจ้าว่า ไปฉวยเรื่องมาแต่ไหนแล้วข้าพเจ้าก็ตอบได้แต่อย่างด้วน ๆ ว่าพงศาวดารมอญไม่ได้มีแต่ราชาธิราชเล่มเดียว

----------------------------

จักดำเนินความตามเรื่องทหารพระเจ้าราชาธิราช กล่าวโดยลักษณบุรพเหตุความเบื้องต้นเปน สังเขปใจความว่า ยังมีชายชาวเมืองตะเกิงผู้หนึ่ง มีนามว่ามะตอด เปนพ่อค้าบริบูรณ์มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ แต่เปนคนไม่ชอบยศหาได้ตาแหน่งในฐานันดรศักดิ์ชั้นหนึ่งชั้นใดไม่ เมื่อศักราช ๗๒๐ ปี ภริยามะตอดคลอดบุตรคนหนึ่งเปนชายให้ชื่อว่ามะขัง เปนบุตรคนเดียวของมะตอด ๆ จึงเอาใจใส่เลี้ยงดูให้ร่ำเรียนกระบอง หมากรุก ตะกร้อ แลวิชาที่เกี่ยวด้วยการรบทั้งปวงถูกความต้องการในเวลานั้น มะขังเปนคนแข็งแรงแต่มีรูปร่างอันสะสวย พร้อมทั้งกิริยาวาจาอ่อนหวาน เปนที่ชอบแห่งหญิงชายทั้งปวงในเมืองตะเกิง แลเปนคนข้อนข้างเจ้าชู้ มีหญิงสาวทั้งไพร่ผู้ดีหลงพิศวาสรักใคร่เปนอันมาก แต่ซึ่งมะขังจะได้ปลงใจรักหญิงคนใดลงไปเด็ดขาดนั้นหามิได้.

ในเมืองตะเกิงมีชายชาวร้านคนหนึ่งชื่อมะลอง มีบุตรีรูปงามยังกำลังสาวอายุได้ประมาณ ๑๖ ปี ประกอบไปด้วยลักษณะกิริยามารยาตรอันแช่มช้อย รูปของนางนั้นเปนเสน่ห์แก่คนทั้งปวง ชายหนุ่มเห็นแล้วก็รักใคร่แทบมิได้เว้นคนเลย มะลองบิดาหญิงงามคนนี้ตั้งบ้านอยู่ใกล้ตลาด น่าบ้านมีร้านขายของร้านหนึ่งขายได้ดีมีกำไรมาก เพราะคนชอบไปซื้อ (ถึงแพงหน่อยก็ทนเอา) เพื่อได้มีช่องชมโฉมบุตรมะลองได้เปนครั้งเปนคราว.

ฝ่ายมะขังนั้นพาพวกเพื่อนเดินไปเที่ยวทางตลาด เปนเวลาบังเอินบุตรสาวมะลองออกมานั่งอยู่น่าร้าน มะขังเห็นก็ชอบใจหยุดยืนตลึงพินิจโฉมนางอยู่กับที่หาเดินต่อไปได้ไม่ ส่วนบุตรสาวมะลองเมื่อเหลือบเห็นมะขังเปนชายหนุ่มสะสวย รูปร่างองอาจกิริยาเรียบร้อยดังนั้น ก็ช้อยหางตาไปสบตามะขังถ้อยทีถ้อยมีจิตต์ผูกต่อกัน เลยมะขังก็รักบุตรสาวมะลอง ๆ ก็รักมะขังแต่นั้นมา

ส่วนมะขังเวลาบ่ายวันนั้น เมื่อรู้สึกรักบุตรสาวมะลองอย่างที่ไม่เคยรู้สึกแต่เดิมมา แลสังเกตดูบุตรสาวมะลอง เห็นมีกิริยาว่ารักตอบบ้างแล้วก็ตรงเข้าไปซื้อของในร้านพูดเกี้ยวพาเล็กน้อยแล้วก็พาเพื่อนกลับบ้าน.

เวลาจวนค่ำในวันนั้น เมื่อเพื่อนมะขังต่างคนต่างแยกกันไปหมดแล้ว มะขังก็กลับไปยังร้านมะลอง พบบุตรสาวมะลองยังอยู่น่าร้าน ก็เข้าไปสนทนาตามพิธีสนทนาในสมัยเก่าเทียบกับพิธีสนทนาในสมัยใหม่ดังนี้

มะขัง “ฉันยินดีมากที่หล่อนยังไม่กลับเข้าบ้าน ฉันกลับมาคนเดียว ด้วยหวังใจว่าจะได้สนทนากับหล่อนโดยสดวก.”

บุตรสาวมะลอง “ฉันยังแต่ไม่เห็นว่าทำไมท่านจะพูดกับฉันได้โดยสดวก ต่อเมื่อท่านมาคนเดียว ที่แท้ธุระที่ท่านจะพูดกับฉันได้ก็ควรมีแต่เรื่องซื้อของในร้านเท่านั้น.”

มะขัง “ความควรบางทีจะเปนอย่างนั้น แต่ถ้ามนุษย์พูดอะไรก็แต่ที่ควรพูดไปหมดแล้ว โลกก็จะกลับเปนสวรรค์ไป เพราะฉนั้นเราต้องพูดที่ไม่ควรพูดบ้างเพื่อให้โลกคงเปนโลกอยู่.”

บุตรสาวมะลอง (พูดคล้าย ๆ ผู้หญิงฝรั่ง) “ถ้าอย่างนั้นท่านจะมิอยากพูดกับฉันถึงของที่ไม่ควรพูดหรือ ?

มะขัง “ถ้าของที่ฉันควรพูดกับหล่อนมีอยู่อย่างเดียวแต่เรื่องซื้อของในร้านดังที่ว่าเมื่อตะกี้แล้ว เรื่องที่ฉันอยากจะพูดกับหล่อนนี้ก็คงเปนของไม่ควร.”

บุตรสาวมะลอง “ท่านต้องเข้าใจว่าท่านจะมาพูดเรื่องที่ไม่ควรกับฉันไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากฉัน.”

มะขัง “ถ้าอย่างนั้น ฉันขออนุญาตบอกหล่อน ว่าหล่อนเปนผู้หญิงสวยที่สุดที่ฉันได้เคยเห็นตั้งแต่เกิดมา.”

บุตรสาวมะลอง “ฉันไม่ให้อนุญาต.”

มะขัง “แต่ฉันได้บอกเสียแล้ว.”

บุตรสาวมะลอง “ถ้าอย่างนั้นก็เปนแล้วกันไป แต่ทำไมท่านจึงมายอฉันดังนี้ ?”

มะขัง “ฉันไม่ได้ยอ ฉันกล่าวความจริงแท้แลที่ฉันกล่าวนั้นก็เพราะรักหล่อน.”

บุตรสาวมะลอง “ฉันไม่เชื่อว่าท่านกล่าวความจริง.”

มะขัง “ฉันเชื่อ.”

บุตรสาวมะลอง “เอาเถอะ ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าท่านรักฉันจริงแล้วฉันต้องแสดงความเสียใจ เพราะ–”

มะขัง “หล่อนไม่รักฉันบ้างหรือ?”

บุตรสาวมะลอง “ข้อนั้นฉันตอบไม่ได้ แต่ที่ฉันเสียใจนั้น เพราะที่บิดายกฉันให้คนอื่นเสียแล้ว ถึงท่านจะรักฉันก็คงไม่มีประโยชน์.”

มะขัง “ถ้าหล่อนรักฉันตอบบ้างแล้วบางทีก็จะเปนไปได้.”

บุตรสาวมะลอง “ท่านจะทำอย่างไร ?”

มะขัง “ฉันจะลองพูดกับบิดาหล่อน ๆ จะยอมหรือไม่ ?”

บุตรสาวมะลอง “ฉันไม่มีอำนาจจะห้ามท่านได้”

เมื่อมะขังกับบุตรสาวมะลองพูดกันเท่านั้นแล้ว มะขังก็ลาบุตรสาวมะลองกลับบ้าน เวลาคืนวันนั้น มะขังก็นอนคนึงถึงบุตรสาวมะลองในเวลาตื่น ฝันถึงบุตรสาวมะลองในเวลาหลับอยู่ตลอดรุ่ง.

ฝ่ายบุตรสาวมะลอง เมื่อได้พูดกับมะขังวันนั้นแล้วนางก็มีจิตต์ประหวัดผูกพันธ์ มิอาจจะทิ้งเสียได้ซึ่งความรักอันได้เกิดขึ้นในทรวงนางนั้น เพราะตั้งแต่เกิดมานางก็ยังมิได้มีจิตต์ผูกสวาทต่อชายใดเลย แต่การที่นางได้มั่นจะมีสามีนั้น ก็เปนตามความต้องการของบิดา เพราะชายหนุ่มซึ่งมาสู่ขอนั้น เปนคนเรียบร้อยหากินโดยสุจริตโดยทางเดียวกับมะลองเอง เปนที่พอใจของมะลองยิ่งนัก.

ฝ่ายมะขังวันรุ่งขึ้นนั้นก็แสดงความรักใคร่ของตนในบุตรสาวมะลอง ที่ได้พบปะในวันก่อนนั้น ให้มะตอดผู้บิดาฟัง แต่มะตอดไม่เห็นด้วยที่จะไปพยายามให้มะลองกลับใจตามความต้องการของมะขังนั้น แต่เมื่อมะตอดเห็นอาการมะขังว่าจะห้ามมิได้แล้ว จึงบอกว่ามะขังจะไปพากเพียรอ้อนวอนมะลองเองก็ตาม แต่ที่จะมาพาเอามะตอดไปวุ่นด้วยได้นั้นมะขังอย่าได้หมายเลย.

เมื่อมะขังได้ฟังมะตอดผู้บิดาพูดดังนี้ก็น้อยใจ เพราะคนหนุ่มที่กำลังเต็มไปด้วยความรักเช่นมะขังนั้น จะได้มีสติตริตรองเนื้อถ้อยกะทงความอันใด ที่ไม่พาไปสู่ความต้องการนั้นหามิได้ แต่เมื่อมะขังจะทำให้มะตอดช่วยหลือตนไม่ได้แล้ว ก็แต่งตัวออกจากบ้านไปหามะลอง พูดจาพยายามที่จะให้มะลองกลับยกบุตรสาวมาให้ตนเองก็หาสำเร็จไม่ กลับทำให้มะลองโกรธขึ้นใหญ่โต มะขังเลยถูกขับออกจากบ้านมะลอง เปนการขายหน้าแลเปนที่ติฉินในละแวกบ้านนั้นเปนอันมาก.

ฝ่ายมะตอดเมื่อได้ทราบว่ามะขังบุตรไปถูกขับออกจากบ้านมะลองกลับมาดังนั้น ก็โกรธเปนกำลัง แต่มะตอดก็มิได้คิดแก้แค้นแทนบุตร ด้วยมะตอดไม่เปนคนใจอาธรรม เห็นว่ามะลองมีเหตุพอที่จะโกรธมะขังได้ เพราะฉนั้น มะขังก็ถูกบิดาด่าว่าเปนอันมาก แต่ถึงกระนั้นมะขังก็มิได้สิ้นความคิดต่อไป ด้วยมะขังเข้าใจว่าตนได้ทำการเกินที่จะถอยกลับได้แล้ว แต่ถ้ามะขังไม่กระทำการให้สมหมายตราบใด ความอายของมะขังก็จะต้องติดตัวไปตราบนั้น.

เพราะฉนี้ เวลาค่ำในวันรุ่งขึ้นแห่งวันที่มะขังได้รับความโกรธของมะลองมานั้น เปนเวลาพะเอินที่มะลองมีธุระต้องไปจากบ้าน มะขังหาโอกาศที่จะพูดกับบุตรสาวมะลองได้ มะขังจึงไปเล่าเรื่องที่มะขังไปหามะลองให้บุตรสาวมะลองฟัง แล้วพูดต่อไป (เทียบพิธีสนทนาอย่างใหม่ดังนี้)

มะขัง “นี่แหละ ฉันก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดของฉันแล้วที่จะให้บิดาหล่อนกลับยกหล่อนให้แก่ฉัน แต่เมื่อบิดาหล่อนกลับโทษะร้ายดังนี้ ฉันก็ยังไม่ทราบว่าฉันจะควรทำอย่างไร”

บุตรสาวมะลอง “ฉันก็ไม่ทราบว่าท่านจะควรทำอย่างไร แต่การที่ท่านไปพยายามขอฉันกับบิดานี้แสดงว่าท่านรักฉันแน่แล้วหรือ?”

มะขัง “หล่อนจะให้ฉันสาบาลหรือทำอย่างไร ที่จะทำให้หล่อนเชื่อแน่ได้ว่าฉันรักหล่อนแล้ว ฉันจะทำตามทุกอย่าง.”

บุตรสาวมะลอง “ถ้าท่านจะทำให้ฉันเห็นว่าท่านรักฉันจริงแล้ว ท่านจะต้องทำอย่างไรให้ฉันไม่ต้องเปนภริยาชายที่บิดายอมยกฉันให้นี้ เพราะฉันไม่รักเขา.”

มะขัง (เข้าใจประโยก ๕ ของบุตรสาวมะลองดี) “ข้อนั้นฉันคงพยายามเต้มกำลังเปนแน่ ฉันมีความคิดอยู่อันหนึ่ง แต่เกรงหล่อนจะไม่ยอม.”

บุตรสาวมะลอง “ฉันจะยอมก่อนที่ทราบความคิดของท่านนั้นไม่ได้.”

มะขัง “ความคิดของฉันนั้นก็คือจะพาหล่อนหนีไปเมืองพะโค ฉันจะจัดแจงหาช้างเร็วตัวหนึ่ง ทั้งเครื่องเสบียงอาหารพร้อม เมื่อเราไปถึงเมืองพะโคเสียแล้วเราก็เปนสิทธิแก่ตัวเอง.”

บุตรสาวมะลองนั่งนิ่งนึกอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วถามว่า “การที่ท่านจะทำดังนั้น ๆ ท่านเห็นจะไม่เปนการติดขัดอันใดแน่แล้วหรือ.”

มะขัง “ฉันไม่เห็นมีขัดขวางตรงไหน พรุ่งนี้ฉันจะจัดแจงหาช้างแลเครื่องเสบียงอาหารให้พร้อม ออกเดินทางปรืนนี้แต่ก่อนตรู่ หล่อนจะเตรียมตัวทันหรือ.”

บุตรสาวมะลองตอบว่า ทัน แล้วมะขังก็ลาไปเพราะใกล้เวลามะลองจะกลับอยู่แล้ว.

ฝ่ายมะลองเมื่อกลับมาบ้านวันนั้นก็ตระเตรียมสั่งเข้าของสำหรับการมงคลบุตรสาวในเร็ว ๆ นั้น เพราะชายหนุ่มที่มาขอบุตรสาวมะลองไว้นั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่ามะขังมาพยายามจะขอให้มะลองยกบุตรสาวให้มะขังเองดังนั้น ก็เปนที่ไม่ชอบใจ เพราะหญิงงามย่อมเปนที่ชอบใจคน แลถ้าการมงคลรอไป ก็คงมีคนอื่นมาพากเพียรให้มะลองกลับใจอิก เพราะฉนี้ ชายผู้นั้นจึงจะรีบแต่งงานให้รู้แล้วกันไปเสีย บุตรสาวมะลองจะได้เปนของตัวทีเดียว เปนอันสิ้นร้อนใจในเรื่องที่จะมีคนมาชักชวนให้มะลองกลับใจนั้น.

ส่วนมะขังเมื่อกลับไปถึงบ้านวันนั้น ก็คิดเตรียมการที่จะพาบุตรสาวมะลองหนีโดยมิได้กะตุกกะตากให้มะตอดทราบ วันรุ่งขึ้นก็เที่ยวหาได้ช้างที่มีฝีเท้า แถตระเตรียมเสบียงอาหารไว้ทุกอย่าง แต่เอาซ่อนไว้ที่อันควรหาให้ทราบถึงหูผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากผู้ไว้ใจแท้นั้นไม่.

วันรุ่งขึ้นเวลาเช้าก่อนตรู่ มะขังก็จัดแจงตัวออกจากบ้านไปรับบุตรสาวมะลองได้แล้วก็พาขึ้นช้าง มะขังเปนหมอไปเองในตัว รีบขับออกจากนอกเมืองได้โดยเรียบร้อย เปนเวลาเคราะห์ดีหามีผู้ขัดขวางอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ แต่เมื่อออกไปนอกเมืองเมื่อมะขังพอจะวางใจดงว่าไม่มีใครทราบร่องรอยความคิดของตนแล้ว ก็บังเอินชายที่มาขอบุตรสาวมะลองไว้นั้นขี่ม้าสวนมา เพราะชายผู้นั้นบ้านอยู่นอกเมืองต้องไปตามหมอในเมือง ด้วยมีเหตุเจ็บไข้ขึ้นในหมู่ญาติของเขา แต่เวลาเที่ยงคืน

ฝ่ายบุตรสาวมะลองเมื่อได้ยินเท้าม้าสวนทางมาดังนั้น ก็หมอบลงในสัปคับแลดูข้างล่างหาเห็นไม่ แต่ส่วนมะขังนั้นเมื่อเห็นมีคนขี่ม้าสวนทางมา ก็เร่งช้างให้เข้าเดินบังเงาไม้ใหญ่เสียทัน ชายขี่ม้าหาสังเกตจำมะขังได้ไม่ เพราะมะขังแลชายผู้นั้น จะได้รู้จักซึ่งกันแลกันโดยแน่นอนถึงจำกันได้แต่เวลาก่อนตรู่ดังนั้นหามิได้ แลที่แท้มะขังก็มิได้ทราบชายขี่ม้านั้นคือผู้ใด เพราะฉนั้น เมื่อชายผู้นั้นผ่านไปแล้ว มะขังก็ไม่ได้เร่งร้อนให้ช้างเดินเร็วเข้า.

มะขังกับบุตรสาวมะลองเดินทางไปด้วยกันดังนี้จนเวลาสาย มะขังเห็นว่าได้เดินทางไกลพอแล้วก็หยุดลงริมทาง แล้วหาฟืนรีบจัดแจงติดไฟหุงเข้า หาคิดว่าจะมีอันตรายอันใดไม่ เพราะถึงแม้ว่ามะลองจะทราบว่าบุตรสาวหายไปแต่เวลาเช้าก็ดี มะลองก็คงจะเที่ยวสืบหาอยู่ในเมืองตะเกิงนั้นเอง จะหาสงสัยว่ามะขังพาบุตรสาวไปสู่เมืองพะโคดังนั้นไม่.

แต่การที่มะขังคาดล่วงน่าฉนี้เปนการคาดโดยไม่ทราบว่าชายที่ขี่ม้าสวนทางไปเมื่อก่อนตรู่นั้น คือชายที่มาสู่ขอบุตรสาวมะลองนั้นเอง แลเมื่อการเปนดังนี้ ความสำเร็จของการที่มะขังคิดนั้นก็ย่อมสั้นเข้า.

ฝ่ายมะลองเมื่อตื่นขึ้นทราบว่าบุตรสาวหายไปจากเรือนดังนั้น ก็เอ๊ะอะค้นคว้าตามธรรมดา พอชายที่จะเปนบุตรเขยนั้นทราบความก็มาแจ้งต่อมะลองว่า เมื่อตัวขี่ม้าเข้าเมืองแต่เวลาก่อนตรู่นั้น เห็นมีช้างตัวหนึ่งผูกสัปคับ มีคนขี่เดินสวนออกไปนอกเมือง ชรอยจะเปนมะขังพาบุตรสาวมะลองหนีไปสู่เมืองพะโคเปนมั่นคง แต่เมื่อมะลองทราบข่าวดังนี้ก็ชักชวนพวกพ้องของมะลอง แลพวกพ้องของชายหนุ่มที่จะเปนบุตรเขยนั้นได้หลายคนด้วยกัน บ้างก็ขี่ม้ารีบขับควบไป บ้างก็รีบเดินตามไปทันมะขังกับบุตรสาวมะลองพักอยู่ริมทางดังที่กล่าวมาแล้ว.

ฝ่ายมะขังเมื่อมะลองพาพวกติดตามมาทันโดยมิได้รู้ตัวฉนั้น ก็มิทราบที่จะทำอันใดได้ เพราะจะต่อสู้ก็เปนการเหลือกำลัง จะพาบุตรสาวมะลองขึ้นช้างหนีก็ไม่ทันท่วงที แลช้างจะหนีม้าก็ย่อมไม่ทันอยู่เอง เพราะเหตุฉนี้ มะขังก็จำเปนต้องยอมให้มะลองพาบุตรสาวกลับบ้าน แลรับคำด่าว่าจากมะลองแลพวกมะลองโดยจะโต้ตอบมิได้ เพราะถ้ามะขังไม่ระงับโทษะในเวลานั้นชีวิตมะขังก็จะออกจากร่างไป จะทำการแก้แค้นไม่ได้.

เมื่อมะลองกับพวกมะลองพานางที่มะขังลักไปได้ไม่ถึงครึ่งวันนั้นกลับเข้าเมืองตะเกิงแล้ว มะขังจะกลับบ้านก็มิได้ ด้วยเกรงโทษะมะตอดผู้บิดา ทั้งจะเปนที่เย้ยหยันแก่พวกพ้องแลชาวเมืองตะเกิงทั้งปวงด้วย เพราะฉนั้น มะขังจึงขึ้นช้างเดินทางต่อไปจนถึงบ้านปะสิมใกล้เมืองพะโค เลยพักอยู่กับสมิงเพื่อนเก่าของมะขัง ซึ่งตั้งบ้านอยู่ในตำบลนั้น.

ในขณะเมื่อมะขังกำลังรักบุตรสาวมะลองอยู่ในเมืองตะเกิงดังนี้ ในเมืองพะโคกำลังมีเหตุวุ่นวาย ด้วยสมิงมะราหูกับพระมหาเทวีกำลังคิดอุบายจะทำลายพระยาน้อย ๆ รู้ตัวจะหนีออกจากเมืองพะโค กำลังแต่งคนสนิทให้เที่ยวสะสมกำลังแลพาหนะ ได้ให้พ่ออู่หมอเฒ่าตระเตรียมช้าง มีพลายประกายมาศ พลายธนูเพ็ชร์เปนต้นไว้ณบ้านวัดตะเมาะเสร็จแล้ว วันหนึ่งพ่อมอญได้ออกไปจัดหาคนบ้านปะสิมได้ ๑๕ คน บ้านวากะเมาะได ๑๕ คน รวมทั้งสมิงแลมะขังด้วย.

ครั้นณะวันพฤหัสบดีเดือนเจ็ดขึ้นสี่ค่ำเพลาเที่ยงคืน พระยาน้อยก็ฆ่านายประตูเสียคนหนึ่ง แล้วพาพวกข้าหลวงเดิม ๑๗ คนกับพ่อพะโคออกจากเมือง ไปถึงตำบลบ้านกลาดที่ช้างคอยอยู่ พระยาน้อยก็ขึ้นขี่พลายประกายมาศ ยกเร่งรีบไปวันหนึ่งถึงเมืองตะเกิง ฆ่าผู้รักษาเมืองแลขุนนางเมืองตะเกิงเสียหลายคนแล้วก็เข้าครอบครองอยู่.

ฝ่ายมะขังนั้น การที่เข้ารับอาสาเปนข้าพระยาน้อยก็โดยเห็นช่องที่จะแก้เผ็ดมะลองแลชายบุตรเขย นึกตลอดไปถึงจะได้บุตรสาวมะลองเปนภริยาตามความประสงค์เดิมด้วย.

ที่แท้ความต้องการของมะขัง ที่จะแก้แค้นมะลองนั้นก็เกิดจากความอยากได้บุตรสาวมะลองมาเปนภริยาเท่านั้น แลความตั้งใจเดิมของมะขังก็คือจะแย่งเอาบุตรสาวมะลองโดยดื้อ ๆ นั้นเอง แต่ความคิดอันนี้ก็หาเปนการสำเร็จไม่ เพราะเมื่อพระยาน้อยเข้าเมืองตะเกิงได้แล้ว ก็สั่งให้ป่าวร้องกำชับทหารทั้งปวงว่า อย่าให้ใครทำอันตรายข่มเหงไพร่บ้านพลเมืองเปนอันขาด ถ้าผู้ใดมิฟังจะลงโทษให้จงหนัก ดังนี้มะขังจะแย่งบุตรสาวมะลองซึ่งมีสามีในระหว่างที่มะขังหนีไปนั้นก็ไม่เปนการสำเร็จ มะขังจึงคอยทีหาโอกาศอยู่ หวังว่าคงจะได้สมประสงค์สักคราวหนึ่ง.

แต่ที่บุตรสาวมะลองกับมะขังจะมีบุพเพสันนิวาศสร้างสมกันมาแต่เดิมนั้นหามิได้ เพราะบุตรสาวมะลองได้สร้างกุศลมาแต่ชาติก่อน จะได้เปนใหญ่ในปัจจุบันนะชาตินี้ แต่อกุศลซัดให้ได้รับความต่ำต้อยเสียก่อน.

เพราะฉนั้น เมื่อพระยาน้อยเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุตุมุนาถนอกเมืองตะเกิง ทอดพระเนตรเห็นบุตรสาวมะลองภริยาชายมีชื่อ นั่งร้านขายแป้งน้ำมันหอมอยู่ก็ชอบพระไทย จึงให้หาตัวมาเลี้ยงไว้เปนสนมเอกในวันนั้น เพราะบุตรสาวมะลองนั้นก็คือนางเม้ยมะนิกนั้นเอง.

ฝ่ายมะขัง เมื่อนางเม้ยมะนิกได้เปนนางสนมของพระยาน้อยเสียดังนั้น ก็กลับได้สติดีว่านางเม้ยมะนิกเปนคนงามเกินตัวไป หาถึงกับเสียจริตด้วยความเสียใจไม่ เลยเปนทหารสนิทของพระยาน้อยตลอดไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ