เรื่องรอดตัวเพราะเผลอ

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคมปีก่อน มีหญิงกับชายคู่หนึ่งไปแต่งงานกันอย่างเงียบๆ ที่ออฟฟิศจดทเบียฬแต่งงานแห่งหนึ่งในลอนดอน แลเมื่อกระทำพิธีต่าง ๆ ที่เปนเครื่องจำเปนในการแต่งงานตามธรรมเนียมเมืองโน้นเสร็จแล้ว หญิงชายคู่นั้นก็ขึ้นรถขับไปที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ชายได้ตระเตรียมจัดไว้สำหรับอยู่ต่อไปข้างน่าโดยมิให้กระตกกระตากให้ใครทราบได้.

ชายผู้นั้นชื่อ ย๊อช บิลตัน เปนเลขานุการของเซ็อร์เอ็ดมันด์โคลซ์ อธิบดีกรมสำคัญกรมหนึ่ง แลหญิงนั้นชื่อ บีลินดา เปนบุตรคนมีตระกูลคนหนึ่งอยู่สก๊อตแลนด์ วิ่งหนีบิดามารดามาแต่งงานกับบิลตันในวันนั้น.

การที่บีลินดากับบิลตันต้องแต่งงานกันอย่างเงียบ ๆ ดังนั้น ก็เปนที่ส่อว่ามีเหตุที่จะต้องปิดบังอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เหตุที่จะทำให้การแต่งงานเปนของต้องปิดบังนั้นก็ย่อมมีใหญ่บ้างเล็กบ้าง เหมือนกับสรรพสิ่งอื่น ๆ บางอย่างถึงกับเกี่ยวข้องกับความเปนไปของคนทั้งสองในอนาคต บางทีทำให้ความส่วนนอก (คือนอกจากความรักที่คนทั้งสองมีต่อกัน) ลดน้อยลงไปได้มาก ๆ บางอย่างก็เปนเหตุที่จะต้องปิดบังแต่ชั่วคราว คือเมื่อแต่งงานกันแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเม้นส้อนกันอิกต่อไป.

แต่เหตุที่กระทำให้บิลตันกับบีลินดาต้องปิดบังการแต่งงานของเขาทั้งสองนั้นเปนเหตุอย่างที่หนึ่ง คือการแต่งงานของคนทั้งสองนั้น ถ้าทราบกันแพร่หลายออกไปแล้ว ก็อาจทำให้อนาคตของผัวเมียคู่นั้นเศร้าหมองไปได้.

ย๊อช บิลตัน เปนเลขานุการของท่านอธิบดีคนหนึ่งดังได้กล่าวมาแล้วแต่ไม่ใช่เท่านั้น ยังเปนลูกสมุนชอบพอของท่านอธิบดีผู้นั้นด้วย บิลตันเปนคนฉลาดเฉลียวว่องไว เก่งทั้งในการที่ทำแลการที่ประพฤติตนให้เปนที่ชอบแห่งผู้อื่น มีผู้หญิงทั้งหลายเปนต้น ใช่จะแต่เท่านั้น บิลตันยังเปนคนที่จะได้รับมรดกของลุง ซึ่งเปนขุนนางผู้หนึ่งหาทองติดก้นถุงมิได้ แลก็เมื่อการเปนดังนั้นมรดกที่บิลตันจะได้รับจากลุงก็มีอยู่แต่ยศเท่านั้น (ที่ประเทศโน้นผู้รับมรดกได้รับยศต่อ ๆ กันไป) เพราะฉนั้น บิลตันก็มีที่หวังว่าจะได้เปนเซอร์ในไม่สู้ช้านัก แลการที่บิลตันมีที่หวังว่าจะได้รับยศดังนั้น ก็ย่อมทำให้เปนที่พอใจแห่งหญิงมารดาทั้งหลายที่มีบุตรีครบอายุจะมีเรือนได้นั้น.

ข้าพเจ้ายังไม่กล่าวว่าท่านเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์อธิบดีของบิลตันนั้น มีบุตรีรูปงามอยู่คนหนึ่งชื่อเกว็นโดลีน เปนแก้วตาของท่านเซอร์เอ็ดมันด์แลเลดีโคลซ์ (บิดามารดา) เพราะท่านผู้นั้นหามีบุตรอื่นไม่ มิสเกว็นโดลีนอายุได้ราว ๒๐ ปี ถึงกำหนดที่จะแต่งงานได้แล้ว แต่ชายที่จะมาแต่งงานด้วยนั้นจะต้องเปนคนที่เซอร์เอ็ดมันด์แลเลดีโคลซ์พอใจทุกอย่าง แลเหตุสำคัญที่จะต้องเปนดังนั้นก็คือ เกว็นโดลีนเปนลูกว่าง่ายสอนง่าย มีความประสงค์ที่จะตามใจบิดามารดาทุกอย่าง การที่เกว็นโดลีนเปนเด็กว่าง่ายจนที่สุดในการมีคู่นี้ ก็ต้องนับว่าเกว็นโดลีนเปนเด็กดียิ่งนัก แต่เราจะเชื่อว่าเปนอย่างนั้นทีเดียวก็ยังไม่ควรก่อน เพราะเกว็นโดลีนยังไม่เคยรักใคร่ใคร แลธรรมดามนุษย์ถ้าลงรักจนเต็มที่แล้ว ถึงเด็กดีก็อาจเปลี่ยนเปนอื่นไปได้ เพราะนางวีนัซ (เทพธิดาการรักใคร่) เปนมีอำนาจสูงกว่านางรีซัน (เทพธิดาบัญชาความคิดให้ถูกต้อง) มากอยู่ แลถึงนางรีซันจะบันดาลให้เกว็นโดลีน (หรือใครก็ดี) คิดให้ชอบในเรื่องรักใคร่นั้นก็ตาม แต่นางวีนัซมีอำนาจมากกว่า อาจทำให้เปนอื่นไปได้ ถึงอย่างไรก็ดี เวลาที่ข้าพเจ้านำมาเล่านี้ เกว็นโดลีนยังเปนเด็กดีอยู่.

ความดีแลความหวังที่บิลตันจะได้รับยศต่อไปนั้นก็กระทำให้เลดีโคลซ์ (มารดาเกว็นโดลีน) มีความพอใจในบิลตันด้วย แลความพอใจอันนี้สูงถึงทำให้เลดีโคลซ์ต้องการจะให้บิลตันเปนบุตรเขยต่อไป.

โลกน้อยที่เราอยู่นี้ก็ยังไม่เปนโลกที่ยุ่งเหยิงถึงกระไรนัก เพราะฉนั้น ความดีที่ให้ความทุกข์นั้นไม่มีใครมีมากมายเท่าใด แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบ้าง คือเรื่องบิลตันนี้เปนตัวอย่าง ที่ข้าพเจ้าว่านี้จะชัดหรือยังข้าพเจ้าก็ไม่ทราบแน่ เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าต้องอธิบายต้องอธิบายต่อไปว่า ความดีของบิลตันนั้นทำให้เลดีโคลซ์ต้องการบิลตันเปนบุตรเขย แต่บิลตันรักบีลินดาจนถึงได้แต่งงานกันเสียแล้ว เลดีโคลซ์จะได้บิลตันเปนบุตรเขยไม่ได้ การที่บิลตันกับบีลินดาต้องแต่งงานกันโดยเงียบ ๆ นั้น ก็เพราะเหตุที่บิลตันไม่กล้าจะทำให้เมียนายขัดใจกลับเปนศัตรูเสีย เลดีโคลซ์เปนผู้หญิงวิเศษอาจทำให้ผัวตามใจได้หลายอย่าง ถ้าทราบว่าบิลตันไม่ตรงต่อเกว็นโดลีน คือแอบไปแต่งงานกับคนอื่นเสีย เมื่อได้แสดงกิริยาว่ารักเกว็นโดลีนหรือทำให้เกว็นโดลีนรักมาแล้วดังนี้ เลดีโคลซ์ก็คงโกรธใหญ่ (ถ้าข้าพเจ้าเปนมารดาเกว็นโดลีนก็โกรธ แต่เห็นจะเปนไม่ได้) แลถ้าความโกรธของเลดีโคลซ์ยกการที่บิลตันไม่ตรงใจต่อเกว็นโดลีนไปเปนตัวอย่าง ที่บิลตันอาจไม่ตรงในการงานอื่นได้ด้วยแล้ว ตำแหน่งเลขานุการที่บิลตันรับอยู่นั้นก็คงกลับเปนของเปลี่ยวที่อาจหลุดจากมือบิลตันไปได้ บิลตันก็ไม่เปนคนมั่งมีสีสุกอันใด แลที่จะขึ้นบันไดไปสู่ความรุ่งเรืองได้ก็แต่โดยทำการให้มีชื่อเสียงกระเตื้องขึ้นไปเปนชั้น ๆ โดยได้รับบำเหน็จรายเดือนเปนกำลังให้ปีนคั่นบันไดที่กล่าวมานั้นได้.

เพราะฉนี้ บิลตัน จะทำให้นายหรือเมียนายขัดใจด้วยเรื่องไม่รักเกว็นโดลีนจริงก็ไม่เปนทางอัน ดี แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาข้างต้นว่าความดีให้ความทุกข์นั้นก็คือว่า ความดีทั้งหลายของบิลตันนั้นให้ความทุกข์แต่บิลตัน ในการที่ทำให้นายแลเมียนายต้องการบิลตันเปนบุตรเขยนั้น.

เกว็นโดลีนเปนเด็กดีชอบทำตามใจบิดามารดา แลเมื่อทราบว่าบิดามารดาต้องการบิลตัน ก็ต้องการบิลตันบ้าง ความต้องการอันนี้ไม่ช้าไม่นานก็เลยกลายเปนความรัก แลความรักของเกว็นโดลีนนั้นหาได้เปนของปิดบังมากมายนักไม่ เมื่อคนอื่น ๆ ทราบเปนนัย ๆ ว่าหญิงรักชายดังนั้น ก็มักเข้าใจเอาว่า หญิงกับชายต่างคนต่างรักกัน เพราะบิลตันก็ไม่กล้าตีห่างเกว็นโดลีน ไม่ใช่แต่เท่านั้น บิลตันยังมีความเพลิดเพลินในเกว็นโดลีนอยู่เล็กน้อยด้วย เปนแต่ไม่รักเท่าบีลินดาเท่านั้น.

เด็กดีแลเด็กสวยเช่นเกว็นโดลีนนี้ คงมีผู้ชายชอบหลายคน แลในหมู่ผู้ชายที่บูชาเกว็นโดลีนจัดนั้น มีคนหนึ่งชื่อ หลอด ดัลเมอร์ เปนคนที่บิดามารดาเกว็นโดลีนก็ชอบไม่ใช่น้อย แต่ยังสู้บิลตันไม่ได้ เพราะถึงหลอดดัลเมอร์จะมียศกว่าบิลตันก็จริง แต่น้ำหนักส่วนตัวสู้บิลตันไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ดีหลอดดัลเมอร์ยังเปนคนมีช่องมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะถึงบิดามารดาเกว็นโดลีนแลเกว็นโดลีนเองจะไม่รักก็จริง แต่ก็ยังชอบอยู่ เมื่อบิลตันไปแต่งงานเงียบ ๆ เสียแล้ว เกว็นโดลีนก็คงรับหลอดดัลเมอร์ ถ้าหลอดดัลเมอร์เข้าทางถูกแต่ในเวลานั้นก็ยังไม่มีใครทราบว่า บิลตันไม่ใช่คนตัวเปล่าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม คือวันที่บิลตันกับบีลินดาแต่งงานกันนั้น เปนวันที่บิลตันได้ลาหยุดงานวันหนึ่ง อ้างเหตุว่ามีพี่น้องทางชายทเลฝ่ายใต้มีโทรเลขมาเรียกให้ลงไปให้ได้ จะกลับต่อเวลาเย็น แต่ที่จริงความต้องการของบิลตันก็เพื่อจะแต่งงานเท่านั้นเอง ตั้งใจว่าอิกสองสามอาทิตย์เมื่อได้หยุดงานก็จะพาภริยาไปอยู่ชายทเลฝรั่งเศสที่เงียบ ๆ สักแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีโอกาศจะพบมนุษย์ที่รู้จักกันได้.

คืนวันที่ ๗ นั้น บิลตันก็ได้ตรวจดูแล้วว่าไม่มีอะไรจะทำ จึงได้กะแต่งงานวันนั้น เพราะบิลตันไม่ต้องการจะแต่งงานแล้วต้องทิ้งภริยาไว้คนเดียวครึ่งคืนในวันแรกที่แต่งงานนั้น แต่เวลาบ่ายบิลตันกลับได้รับจดหมายจากเลดีโคลซ์ (เมียนาย) ซึ่งได้มาฝากไว้กับบ่าวบิลตัน (เพราะบิลตันต้องมีบ้านสองแห่ง เพื่อจะปิดเรื่องแต่งงานไว้ก่อน) ดังนี้.

“๑๘๕๙ สี่กั๊กอีตัน”

ที่ ๗ กรกฎาคม ๑๘๙๙

แจ้งความมายัง มิสเตอร์บิลตัน

ด้วยคืนวันนี้ท่านได้บอกฉันไว้ว่าไม่มีที่จะต้องไปไหน เพราะฉนั้น ฉันจึงเขียนจดหมายนี้มากวน คือคืนวันนี้เจ้าเบอร์แตรมเมืองฮินเนอร์เบอคมาดินเนอร์โดยที่ฉันไม่ได้ทราบล่วงน่าเท่าไรเลย เพราะฉนั้น จะเชิญคนก็ยาก ขอท่านได้มาคนหนึ่งให้ได้เวลา ๒ ทุ่ม.

ผู้ตรงต่อท่าน

“เอมิลีโคลซ์”

เมื่อบิลตันได้รับจดหมายดังนี้ ก็ให้บีลินดาดู ถามว่าจะทำอย่างไรดี.

บีลินดา ทำอย่างไรได้ ก็ต้องไปเท่านั้นเอง.

บิลตัน ก็ฉันจะทิ้งหล่อนไว้คนเดียวอย่างไรได้.

บีลินดา ก็ไม่ทิ้งท่านจะทำอย่างไรเล่า ไปเสียหน่อยเถิด ทิ้งฉันไว้คนเดียวไม่เปนไรดอก ไหนๆเราก็ได้แต่งงานกันแล้ว ไปประจบเลดีโคลซ์ไว้ก่อนดีกว่า ถ้าอย่ากลับดึกนักได้เปนดี เพราะฉันคงจะไม่มีใจนึกถึงอื่นออกจากคอยท่าน

ดังนี้ก็เปนการตกลงที่บิลตันจะต้องไปดินเนอร์บ้านนายในคืนวันนั้น บิลตันก็เขียนจดหมายสั้น ๆ ไปถึงเลดีโคลซ์ ว่ามีความยินดีที่จะไปดินเนอร์ตามที่เชิญมา ข้าพเจ้าไม่อยากจะพรรณนาว่าการที่บิลตันกับภริยาต้องพรากกันในวันแต่งงาน ดังนั้นเปนการที่ต้องทำให้บีลินดาเศร้าโศกอย่างไร เพราะทำให้ข้าพเจ้าออกสงสารแลเห็นอกจัดจนเกือบจะต้องวางปากกาอยู่แล้ว เวลาที่หญิงชายทั้งสองต้องพรากกันนั้น ถึงเพียงห้าหกชั่วโมงก็จริง แต่ต้องคิดว่าวันนั้นเปนวันแรกแต่งงาน เมื่อบีลินดาได้ออกจากบ้านบิดามารดามาโดยตัวคนเดียวเพื่อจะอยู่กับบิลตัน แลรุ่งขึ้นเช้าบิลตันจะต้องไปทำงานเสียตลอดวัน บีลินดาจะต้องเหงาอยู่คนเดียวอิก แต่ความรู้สึกที่ว่าต้องปิดบังการแต่งงานเท่านั้น ก็ทำให้บีลินดาใจห่อเสียพอแล้ว ไม่ว่าจะมีอะไรเพิ่มมาแต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ดี ก็ยิ่งทำให้ใจบีลินดาลีบเข้าไปอีก เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวมาแล้วว่า ข้าพเจ้าสงสารบีลินดายิ่งนัก.

เวลาประมาณทุ่มครึ่ง บิลตันแต่งตัวสำหรับเวลาเย็น ลาบีลินดาอยู่ประมาณ ๑๐ นาฑีแล้วก็ขึ้นรถแค๊บขับไปสี่กั๊กอีตัน สั่นระฆังบ่าวมาเปิดประตูรับเข้าไป พบแขกมาแล้วสองสามคน รวมทั้งหลอดดัลเมอร์ แลเลดีเมรีน้องสาวหลอดดัลเมอร์ด้วย.

หลอดดัลเมอร์แลเลดีเมรีนั้นเปนลูกกำพร้า บิดามารดาตายแต่เมื่อยังพอจะรุ่น ๆ ขึ้น แลเวลานี้หลอดดัลเมอร์ก็อายุได้ ๒๕ เลดีเมรีอายุได้ ๒๑ แล้ว เปนคนมั่งมีสีสุกไม่มีผู้ใหญ่จะต้องง้อ แต่ก็ได้ดู ๆ กันมาพี่ ๆ น้อง ๆ เรียบร้อยดีอยู่ เมื่อหลอดดัลเมอร์กับเลดีเมรียังเด็กมากอยู่นั้น ก็ได้มีป้าคนหนึ่งช่วยดูแลอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ป้าคนนั้นก็ได้ตามบิดามารดาหลอดดัลเมอร์แลเลดีเมรีไปสู่ปรโลกแล้ว เพราะฉนี้ เด็กพี่น้องคู่นี้ก็รักษาตัวเองใช้เงินเล่นสนุกสบายดี.

เลดีเมรี เปนเด็กรูปร่างสวยหน้าตาดี จนที่สุดข้าพเจ้าเองก็ออกชอบหน่อยๆ (แต่ไม่แน่) แลชายผู้ที่เลดีเมรีพอใจมากกว่าคนอื่นก็คือบิลตันเรานี้เอง หลอดดัลเมอร์แลเลดีเมรีเข้าใจว่าผู้หญิงที่บิลตันอาจรักได้มากกว่าเลดีเมรีนั้น ก็มีคนเดียวแต่เกว็นโดลีนโคลซ์ แต่บิลตันก็ไม่ออกท่าออกไปทีเดียว เพราะฉนั้น หลอดดัลเมอร์ก็ยุน้องสาวให้ทอดเบ็ดตกบิลตันให้ได้ แลการที่หลอด ดัลเมอร์ยุน้องสาวให้จับตัวบิลตันให้ได้นั้น ก็ด้วยเหตุสองประการ คือหลอดดัลเมอร์ต้องการจะให้น้องสาวมีผัวที่ไว้ใจได้อย่างหนึ่ง หลอดดัลเมอร์จะได้ๆเกว็นโดลีนเองอย่างหนึ่ง.

ส่วนเกว็นโดลีนนั้นก็เข้าใจอยู่ว่ามีศัตรูที่อาจแย่งบิลตันได้อยู่แต่เลดีเมรีคนเดียว แต่เกว็นโดลีน ก็ไม่นึกพรั่นเลย เพราะไม่คิดว่าเลดีเมรีจะตกบิลตันติดได้.

เย็นวันดินเนอร์ที่บ้านบิดามารดาเกว็นโดลีนวันนั้นเมื่อบิลตันเข้าไปจับมือแลพูดจากับคนนั้นคำหนึ่งคนนี้คำหนึ่งแล้ว หลอดดัลเมอร์ก็บอกกับบิลตัน ว่าอยากจะพูดด้วยสองต่อสองสักห้าหกคำ (หลอดดัลเมอร์กับบิลตันเปนเพื่อนกันตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยด้วยกันมา) สักครู่หนึ่งก็เข้าห้องกินเข้า บิลตันต้องจูงมือเกว็นโดลีนเข้าไปนั่งข้าง ๆ กันตามเคย.

เวลานั่งลงเรียบร้อยแล้วเกว็นโดลีนก็พูดกับบิลตันว่า ท่านทราบแล้วหรือว่าเราจะไปสวิตเซอร์แลนด์มะรืนนี้ ป้าป๋า (พ่อ) ไม่สู้สบายจะต้องหยุดพัก แต่ได้ข่าวว่าจะต้องให้ท่านไปด้วย.

ขอให้คิดดูเถิดว่าถ้าใครเปนบิลตัน จะไม่เวียนศีร์ษะขึ้นมาทันทีบ้าง เพราะฉนั้น บิลตันก็ทำหน้าเสียแล้วถามได้คำเดียวว่า อย่างนั้นหรือ.

เกว็นโดลีน ฉันคิดว่าท่านชอบสวิตเซอร์แลนด์ ทำไมดูเฉย ๆ ไปเล่า เมรีกับหลอดดัลเมอร์ก็จะไปด้วย.

ข้าพเจ้าไม่ต้องกล่าวก็ได้ว่าเวลาที่ดินเนอร์อยู่นั้น บิลตันพูดน้อยกว่าที่เคยพูดไปมาก แต่ผู้ชายที่นั่งต่อเกว็นโดลีนไปอิกข้างหนึ่งนั้น จะบูชาเกว็นโดลีนอิกคนหนึ่งหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ชวนเกว็นโดลีนพูดเกือบไม่หยุด เพราะฉนั้น เกว็นโดลีนจึงไม่ทันสังเกตุว่าบิลตันซึมไปกว่าเคยหลายเท่า.

เวลาดินเนอร์เสร็จเมื่อผู้ชายยังสูบบุหรี่กันอยู่ในห้องกินเข้านั้น เซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์บอกบิลตันเรื่องจะไปสวิตเซอร์แลนด์ แลแสดงความเสียใจที่ไม่ได้บอกให้รู้ล่วงน่าหลายวัน เพราะเซอร์เอ็ดมันด์เองก็พึ่งได้ตกลงตามคำแนะนำหมอ แลหวังใจว่าจะเปนการสดวกกับบิลตัน.

เวลาที่ออกจากห้องกินเข้าแล้ว หลอดดัลเมอร์กับบิลตันหาได้ตรงเข้าห้องรับแขกที่พวกผู้หญิงไปอยู่กันไม่ หลอดดัลเมอร์ฉุดตัวบิลตันไปห้องบิลเลียดซ์ เพื่อจะพูดกันสองต่อสองตามที่ว่าไว้.

หลอดดัลเมอร์ ข้าเห็นว่าเราควรจะพูดเรื่องนั้นกันเสียให้ตกลงในส่วนเราๆ.

บิลตัน เรื่องอะไร เรื่องมิส.........

ดัลเมอร์ ช้าก่อน เราต้องพูดกันอย่างที่เพื่อนสนิทพูดกัน มีโกรธขึ้งไม่ได้.

บิลตัน แน่ทีเดียว

ดัลเมอร์ เรื่องมิสโคลซ์แลเมรีนั้น เราควรจะพูดกันให้เปนที่เข้าใจเสีย.

บิลตันพ่นบุหรี่เรื่อยอยู่ ๒ อึดใจแล้วถามว่า นั่นบ่งความว่ากระไร.

ดัลเมอร์ คืออย่างนี้ ไม่เจ้าก็ข้าคงจะแต่งงานกับมิสโคลซ์ (เกว็นโดลีน) ถ้ามิสโคลซ์ไม่รักข้าก็คงรักเจ้า แลเจ้านั้นถ้าไม่รักมิสโคลซ์ก็คงรักเมรี ในพวกเราสี่คนนี้ข้ารักได้คนเดียวแต่มิสโคลซ์ (นอกจากรักส่วนพี่น้องและเพื่อน) แลเมรี ก็คงรักได้แต่คนเดียวเหมือนกัน เข้าใจหรือยังล่ะ.

บิลตันไม่ตอบว่ากระไร นั่งนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วกลับถามว่า ก็เจ้าจะว่ากระไรต่อไปอิกล่ะ.

ดัลเมอร์ ข้าไม่ต้องบอกเจ้าก็ได้ว่าข้ารักมิสโคลซ์ แต่ส่วนเจ้านั้นข้ายังไม่ทราบว่ารักใครแน่ เพราะกิริยาเจ้าก็ดูเรื่อยๆ อยู่ แต่ถ้าเจ้ากับข้าต่างคนต่างรักมิสโคลซ์แล้ว ก็คงต้องให้มิสโคลซ์ตัดสิน เพราะฉนั้น ข้าอยากจะทราบเดี๋ยวนี้ว่าเจ้ารักมิสโคลซ์หรือไม่.

บิลตัน ข้ายังไม่อยากจะบอกเจ้าก่อน.

ดัลเมอร์ ถ้าเราจะแย่งกันก็ควรบอกให้กันทราบไว้จึงจะเปนการงาม เพราะเราก็เพื่อนกันเองควรแย่งกันอย่างเพื่อน ๆ เจ้าก็ยอมให้ข้าพยายามแย่งเจ้าไม่ใช่หรือ.

บิลตัน แน่ทีเดียว แต่เจ้าต้องอย่าบอกให้ใครทราบก่อน.

การที่บิลตันพูดจาไม่ลงที่ว่ากระไรลงไปนั้น ก็แปลชัดว่าอยากจะหลอกโลกว่ารักเกว็นโดลีนอยู่ แต่ส่วนหลอดดัลเมอร์นั้นมีความประสงค์สองอย่าง คือต้องการจะได้เกว็นโดลีนเปนเมียอย่างหนึ่ง ต้องการจะให้เลดีเมรีน้องสาวได้กับบิลตันให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียอย่างหนึ่ง แต่เมื่อได้สนทนากับบิลตันดังข้างบนนี้แล้ว หลอดดัลเมอร์ก็เข้าใจว่าบิลตันไม่รักเลดีเมรีเท่ารักเกว็นโดลีน แลถ้าหลอดดัลเมอร์พยายามจนได้เกว็นโดลีนแล้ว ก็คงจะสำเร็จประสงค์สองอย่าง คือได้เมียตามต้องการอย่างหนึ่ง บิลตันกับเลดีเมรีก็คงจะได้กันอย่างหนึ่ง.

เมื่อออกจากห้องบิลเลียดซ์ไปแล้ว หลอดดัลเมอร์กับบิลตันก็เข้าไปทำหน้าที่ในการประจบแลปฏิบัติพวกผู้หญิงตามธรรมเนียม บิลตันก็ได้พูดจาทั้งกับเลดีเมรีแลเกว็นโดลีนอยู่เกือบตลอดเวลา แลเด็กผู้หญิงทั้งสองคนนั้นก็ได้แสดงกิริยาหวานต่อบิลตัน เปนที่น่าชื่นใจยิ่งนัก ส่วนบิลตันถึงแสดงอาการภายนอกยิ้มแย้มแช่มชื่นอยู่ได้ก็จริง แต่ภายในไม่มีอื่นนอกจากคำนึงว่า ปานนี้บีลินดาคงนั่งแกร่วอยู่คนเดียว คงร้องไห้แลระทมทุกข์ต่าง ๆ.

เมื่อสิ้นเวลาแล้ว บิลตันกลับบ้านพบบีลินดานั่งเหงาอยู่คนเดียว ทำให้บิลตันสงสารแลรักเพิ่มขึ้นอิกหลายเท่า แลการที่จะบอกข่าวนิราศสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะบิลตันจำเปนจะต้องบอกอย่างไรที่จะให้บีลินดาเสียใจน้อยที่สุดที่จะเปนได้ แลเมื่อบิลตันได้บอกแล้ว บีลินดาก็ร้องไห้เศร้าโศกแค้นความเปนไปของโลก บ่นว่าเด็กผู้ชายของเขามีอยู่คนเดียวเท่านี้ ก็ประเดี๋ยวคนโน้นชอบคนนี้ชอบ แลยังซ้ำมีนายบังคับหัวใจไม่หยุดหย่อน ถ้าบีลินดามีสมบัติพระอินทร์สักครั้งหนึ่งแล้ว จะไปสร้างปราสาทอยู่กับบิลตันไม่ง้อมนุษย์อิกต่อไป.

ตรงนี้ข้าพเจ้าก็ไม่อยากพรรณนาความเศร้าโศกของบิลตันกับภริยาเลย เพราะใจข้าพเจ้าเองก็ไม่สู้แขงนัก แลข้าพเจ้าก็ยังไม่มีอายุสูงเกินที่จะอ่านหรือเขียนความระทดใจของหนุ่มๆ สาวๆ เช่นนี้โดยไม่รู้สึกระทดใจได้ เวลาที่บีลินดาแลบิลตันแสดงความเศร้าโศกต่อกันอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็น แต่อาจหลับตาแลเห็นได้ว่า บีลินดาซบศีร์ษะร้องไห้บนบ่าบิลตัน ๆ พยายามปลอบต่าง ๆ แลพูดใช้ภาษาคล้ายๆ ว่า—

ทรามรักอย่าร้องร่ำ กำศรวล
อยู่แม่อย่าเสวยครวญ ละห้อย
บ่นานบ่หน่ายนวล แหนงเสน่ห์ นุชนา
เสร็จกิจกลับถนอมสร้อย อย่าเศร้าเสียศรี

นี่แหละที่ข้าพเจ้าว่าดังนี้ก็เปนแต่หลับตาเห็น การที่บีลินดาเอาศีร์ษะซบบ่าบิลตันนั้นคงจริงไม่ควรสงไสย แต่บิลตันจะปลอบเปนคำโคลงหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่สู้แน่ทีเดียว.

ข้าพเจ้าต้องตัดบทเรื่องร้องไห้ทั้งหลายเสีย ไปกล่าวเอาเมื่อจะไปสวิตเซอร์แลนด์ทีเดียว คือ รถไฟออกจากลอนดอนเวลาเช้า บิลตันร่ำลาภริยาเสร็จแล้ว ก็ไปที่บ้านเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์ แลพากันไปสเตชั่นพร้อมกันกับพวกบ้านนั้น แลเมื่อไปถึงสเตชั่น พบหลอดดัลเมอร์กับเลดีเมรีมาคอยอยู่แล้ว สักครู่หนึ่งรถไฟก็ออกไปถึงโดเวอร์ (ท่าอังกฤษ) ลงเรือข้ามทะเลไปขึ้นคาเล (ท่าฝรั่งเศส) แล้วขึ้นรถไปถึงปารีสในคืนนั้น พักอยู่คืนหนึ่งแล้วขึ้นรถไฟต่อไปเมืองยีนีวา คือเมืองหลวงประเทศสวิตเซอร์แลนด์.

ในโฮเต็ลที่คนทั้ง ๖ ไปพักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ เคานต์เดอร์ฟอราซ์ มาพักอยู่ก่อนแล้ว เคานต์เดอร์ฟอราซ์ผู้นี้ เปนคนเก่งในกายเจ้าชู้ มีข่าวว่าได้ทำให้อกผู้หญิงหักมากกว่าคนหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เคยรักใครจริง เปนแต่ทำให้เขารักแล้วก็เลิกเสีย ต้องนับว่าเปนคนน้ำใจโหดเหี้ยมไร้ความสงสารในหมู่หญิงซึ่งหลงรักเปล่า ๆ นั้น.

เมื่อพวกที่ไปจากเมืองอังกฤษไปพักอยู่โฮเต็ลนั้นได้สองสามวัน เคานต์เดอร์ฟอราซ์ก็พยายามแอบเข้ารู้จักได้ แลภายในอาทิตย์หนึ่งนั้นเอง คนอื่นก็เห็นได้ว่า เคานต์เดอร์ฟอราซ์รักเลดีเมรีอย่างลึกซึ้งโดยจะเรียกว่าแกล้งทำไม่ได้ แต่การที่เคานต์เดอร์ฟอราซ์รักเลดีเมรีนั้นก็เปนการรักข้างเดียว เพราะเลดีเมรีพอใจในบิลตันมากกว่า แลหลอดดัลเมอร์กับบิลตันก็กันเคานต์เดอร์ฟอราซ์อยู่ด้วย ถึงกระนั้นก็ดี เคานต์เดอร์ฟอราซ์เปนคนอัธยาศรัยดีรู้จักประพฤติตัวให้ผู้ใหญ่ชอบ แลเลดี้โคลซ์ก็ชอบคนง่ายอยู่สักหน่อยด้วย เพราะฉนั้น เคานต์เดอร์ฟอราซ์จึงมีโอกาศที่จะพูดกับเลดีเมรีได้อยู่บ่อย ๆ.

เมื่อไปสวิตเซอร์แลนด์ได้แล้วประมาณ ๑๐ วัน หลอดดัลเมอร์ก็ได้รับโทรเลขจากเมืองอังกฤษฉบับหนึ่ง เปนธุระร้อนเกี่ยวด้วยที่ทางแลผลประโยชน์ซึ่งอยู่ข้างจะยุ่งเหยิง เพราะฉนั้น หลอดดัลเมอร์จึงต้องรีบกลับบ้านในวันที่ได้รับโทรเลขนั้น แลเมื่อก่อนจะไป หลอดดัลเมอร์ได้สั่งบิลตันว่าให้ระวังเลดีเมรี อย่าให้เคานต์เดอร์ฟอราซ์กวนได้.

บิลตันตอบว่า ที่จริงก็ไม่ประหลาดอะไร เพราะเลดีเมรีไม่รัก ให้อ้อนวอนเกือบตายก็ไม่สำเร็จ

ดัลเมอร์ ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวัง ใครจะรู้ได้ว่าเขาจะคิดอย่างไร เจ้าต้องรับกับข้าเสียก่อนว่าจะคอยดูไว้เสมอ ถ้าไม่อย่างนั้นข้าจะไม่นอนใจเลย เลดีโคลซ์ก็ไม่รังเกียจเขาอยู่ด้วย.

บิลตัน ตกลงแต่เจ้าก็จะกลับในไม่สู้กี่วันนักไม่ใช่หรือ?”

หลอดดัลเมอร์ตอบว่า จะกลับภายใน ๕–๖ วันจริง แล้วก็ขึ้นรถไฟไป ทิ้งน้องสาวไว้แล้วยังมิหนำซ้ำทิ้งความหนักอกไว้ให้บิลตันเปนอันมากด้วย เพราะถึงบิลตันข้อนข้างจะชอบเลดีเมรีอยู่หน่อยก็จริง แต่บิลตันไม่อยากจะเข้าเกี่ยวเปนตัวตั้ง ด้วยของชนิดนี้คล้าย ๆ กับบ่วง ถ้าจะเกี่ยวข้องด้วยมากนักแล้ว ก็อาจรัดเอาจนดิ้นไม่หลุดได้ อีกประการหนึ่งบิลตันก็ทราบเต็มอกอยู่ว่า เลดีโคลซ์ต้องการจะให้ตัวแต่งงานกับเกว็นโดลีน แลทั้งเกว็นโดลีนก็พอใจจะให้เปนอย่างนั้นอยู่ด้วย เมื่อการเปนดังนี้ ถ้าบิลตันจะเกี่ยวเอาใจใส่กับเลดีเมรีให้มากส่วนกว่าที่เอาใจใส่กับเกว็นโดลีนเล่าก็อาจเกิดร้อนขึ้นได้.

นี่แหละเปนความยากของบิลตัน แลความต้องการของหลอดดัลเมอร์ที่ให้บิลตันดูแลเลดีเมรีนั้นก็บ่งชัดอยู่ว่า เคานต์เดอร์ฟอราซ์จะได้ไม่มีช่องกวนเลดีเมรีอย่างหนึ่ง; บิลตันจะได้จำเปนต้องชูศีร์ษะให้เลดีเมรีเอาเบ็ดตกอย่างหนึ่ง; บิลตันจะได้มีโอกาศเอาใจใส่ในเกว็นโดลีนน้อยเข้า แปลว่าเหลือทางไว้ให้หลอดดัลเมอร์เองมากขึ้นอย่างหนึ่ง. ส่วนเลดีโคลซ์นั้นบางทีมีทางเดินความคิดบ้างก็เปนได้ คือการที่เลดีโคลซ์ชอบพอเคานต์เดอร์ฟอราซ์นั้นบางทีจะเปนเพราะเพื่อจะให้ช่องให้เคานต์เดอร์ฟอราซ์กับเลดีเมรีได้กันเสีย เลดีเมรีจะได้ไม่ขวางอยู่ในระหว่างบิลตันกับเกว็นโดลีน และเลดีโคลซ์ทราบอยู่ว่า ถ้าบิลตันไม่ได้กับเกว็นโดลีน ไพล่ไปได้กับเลดีเมรีเสียแล้ว เซอร์เอ็ดมันด์แลเลดีโคลซ์จะโกรธก็ไม่เปนไร เพราะเลดีเมรีมีเงินมากที่สุด บิลตันจะไม่ได้ทำการก็คงไม่อดอยู่นั่นเอง. ฝ่ายเกว็นโดลีนนั้นแต่แรกก็เฉย ๆ ดีอยู่ แต่เมื่อไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ เห็นบิลตันเข้าใกล้กับเลดีเมรีเกือบเท่ากับเข้าใกล้ตัวเองดังนั้น ก็เกิดรู้สึกอย่างที่ถ้าเปนเมียก็ “เรียกหึง” แต่นี่ไม่ใช่เมียจะเรียกว่าอะไร ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้เรียน ท่านผู้อ่านที่ทราบก็โปรดเรียกเอาเอง.

มาจะกล่าวบทไปถึงบีลินดา ซึ่งจำทุกข์จำเทวศว้าง สวาดิ์ว้าหวั่นถวิล อยู่ในลอนดอนนั้น เมื่อบิลตันไปแล้วก็นั่งร้องไห้, นอนร้องไห้, เดินร้องไห้, ยืนร้องไห้, แลนั่ง, นอน, เดิน, ยืนคิดถึงบิลตัน โดยมิได้มีเวลาหยุดหย่อน เลยมีอาการอย่างที่เรียกกันว่ากินเปนกินไข้ นอนเปนนอนไข้อยู่หลายวัน จนเวลาหนึ่งมีเสียงสั่นระฆังที่ประตูบ้าน สักครู่หนึ่งสาวใช้เข้าไปบอกว่า มีผู้ชายคนหนึ่งผู้หญิงสองคนมาหา คอยอยู่ในห้องรับแขก บีลินดานึกประหลาดใจ ว่าจะมีใครทราบที่จะมาหาถูก นึกคร้ามกลับหน้ากลับหลังว่าจะไม่เข้าไปในห้องรับแขก อยู่สักครู่หนึ่งก็ตกลงว่าให้ทราบเรื่องเสียดีกว่ามัวกลัวอยู่เปล่า ๆ แต่เมื่อบีลินดาโผล่เข้าไปในห้องรับแขก ก็ไม่พบคนอื่น นอกจากพี่สาวพี่เขยกับพี่ชายของตัวเอง.

เมื่อแขกที่มาหานั้นไม่ใช่คนอื่นดังนี้ บีลินดาก็วิ่งเข้าไปกอดคอพี่สาวร้องไห้ ถามอะไรก็ไม่ตอบ มีสอึกสอื้นอยู่หลายนาฑี ต่อค่อยบันเทาความโศกลงบ้างแล้ว จึงเล่าเรื่องให้พวกพี่ทั้งสามฟังว่า ได้หนีมาแต่งงานกับบิลตัน แต่ได้อยู่ด้วยกันวันกว่า ๆ เท่านั้น เพราะบิลตันต้องไปกับนาย ลงท้ายเล่าความทุกข์ซึ่งบังเกิดจากความจำเปนที่จะต้องปิดการแต่งงาน แลขอให้พวกพี่เก็บความลับไว้ก่อนเสร็จแล้ว ก็ได้ทราบข่าวจากพวกพี่ว่า เวลานั้นบิดาป่วยมาก เมื่อบีลินดาหนีไปนั้นถึงบิดาจะทราบเค้าอยู่บางๆก็ไม่ทราบแน่ หาพลตระเวนลับให้ตามสืบข่าวอยู่เปนหลายวันก็ไม่สำเร็จ เสียใจมากเข้าทุกทีเลยป่วย เพราะบิดาบีลินดาก็เปนคนสูงอายุแล้ว มาภายหลังพวกพลตระเวนกลับมาสืบได้ข่าวจึงไปพาพวกพี่มา ต้องขอให้บีลินดากลับบ้าน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นบิดาจะตายก็เปนได้ ส่วนโทษทัณฑ์ทั้งหลายนั้นพวกพี่รับรองว่าจะเปนอันยกหมด ขอแต่ให้กลับไปหาบิดาเท่านั้น ต่อไปจะจัดแจงอย่างไรก็พูดกันทีหลัง ฝ่ายการที่บีลินดากับบิลตันได้แต่งงานกันนั้นก็เปนแล้วกันไปแล้ว แลบิดาบีลินดาก็คงไม่เห็นบิลตันเปนคนเสียหายอันใด ถ้าจะพูดกันดี ๆ ก็คงยอมเปนแน่ เพราะถึงบิดาได้ต้องการจะให้บีลินดาแต่งงานกับมิสเตอร์ยอนแบร์รีนซ์เศรษฐีลูกพี่ลูกน้องก่อนที่บีลินดาวิ่งหนีนั้นก็จริง แต่บิดาหาได้ทราบว่าบีลินดารักกับบิลตันไม่ เวลานั้นถึงจะอย่างไรก็ต้องขอให้บีลินดากลับบ้าน เพื่อให้บิดาผู้มีอายุล่วงมากเข้าไปแล้วรอดชีวิตไปครั้งหนึ่ง

ดังนี้ บีลินดาก็ไม่มีอะไรจะเลือกนอกจากไปบ้านกับพี่แลพี่เขย แลที่แท้การที่บีลินดาต้องอยู่คนเดียวถึง ๑๒–๑๓ วันนั้น ก็คงทำให้บีลินดาอยากกลับบ้านอยู่บ้างแล้ว เมื่อจัดแจงสั่งบ่าวไพร่เสร็จแล้ว บีลินดากับพี่สาวพี่เขยพี่ชายก็ขึ้นรถขับไปสะเตชั่น แลเมื่อถึงสะเตชั่นบีลินดาก็ส่งโทรเลขไปถึงบิลตันว่า พี่น้องมาตามพบวันนี้ ต้องกลับบ้าน

กลับจะกล่าวบทไป ถึงบิลตันซึ่งมีธุระเปนพี่เลี้ยงเลดีเมรีอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่ใคร่มีอื่นนอกจากคิดถึงเมียที่ทิ้งไว้ข้างหลัง แลน้ำหนักที่หลอดดัลเมอร์ทิ้งไว้ให้คือให้ช่วยดูเลดีเมรีนั้น ก็ไม่ใช่ของเล่นทำให้บิลตันต้องหนักอกอยู่หลายวัน เพราะถ้าจะขลุกกับเลดีเมรีนัก เกว็นโดลีนก็ออกอาการว่าพื้นไม่ดี แลเลดีโคลซ์ก็ทำท่าไม่พอใจด้วย เพราะฉนั้น บิลตันก็ต้องทิ้งเลดีเมรีให้ดูแลตัวเองบ้างเปนช่องที่เคานต์เดอร์ฟอราซ์จะเข้าไปประจบประแจงได้บ่อย ๆ แลถึงเลดีเมรีจะออกกิริยาตรง ๆ ว่าไม่ชอบให้เคานต์เดอร์ฟอราซ์ติดก็จริง แต่เคานต์เดอร์ฟอราซ์เปนคนที่ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ แลเมื่อเกิดรักเลดีเมรีจัดหนักขึ้นแล้ว ก็ไม่หยุดพยายามที่จะทำให้เลดีเมรีรักให้ได้ ตั้งใจว่าแต่แรก ๆ ถึงจะไม่ชอบก็คงชอบภายหลัง.

คืนวันหนึ่ง เซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์มีธุระเขียนหนังสืออยู่ในห้องหนึ่งคนเดียว เกว็นโดลีนกับบิลตันนั่งพูดกันอยู่ที่เฉลียง เลดีโคลซ์กับเลดีเมรีนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่น มีเคานต์เดอร์ฟอราซ์เข้าไปอยู่ด้วย เกว็นโดลีนกับบิลตันที่นั่งอยู่ที่เฉลียงนั้นพูดเสียงคล้าย ๆ หึง ๆ กันอยู่.

เกว็นโดลีน หมู่นี้ฉันสังเกตว่าท่านเปนพี่เลี้ยงเมรี

บิลตัน ออกหนักใจตอบว่า ดัลเมอร์ขันแท้ๆ อยู่ดี ๆ ก็ไปเสียได้

เกว็นโดลิน ก็เขาอยากจะให้ท่านดูแลน้องสาวแทนกระมัง ฉันเข้าใจว่าท่านก็คงยินดี

บิลตัน นึกถึงการที่ดัลเมอร์ได้สั่งไว้ จะบอกเกว็นโดลินออกไปก็ไม่แน่ใจ จะตอบว่าไม่ยินดีดอกก็ฟังไม่สู้เพราะ จะบอกว่ายินดีก็จะเกิดไฟไหม้ เพราะแต่บิลตันไม่ได้ว่ากระไร เกว็นโดลินยังออกเสียดสีจัดอยู่แล้ว เพราะฉนั้นบิลตันก็นั่งนึกว่าจะตอบว่ากระไรดีอยู่ พอเกว็นโดลินถามต่อไปอีกว่า ท่านยินดีไม่ใช่หรือ

บิลตัน ไม่ทราบจะว่ากระไรก็พูดออกไปเท่อๆ ว่า หล่อนไม่ทราบหรือว่าฉันไม่อยากจะแบ่งเวลาออกไปสำหรับการหลายอย่าง

ที่บิลตันพูดดังนั้นจะหมายความว่ากระไรก็ยากที่จะบอกได้ บางทีจะไม่ได้หมายว่ากระไรหมด เปนแต่ทุ้ยออกไปเท่านั้น แต่ผู้หญิงสาวมักจะเข้าใจความเอาได้ง่าย ๆ แลถึงผู้พูดจะไม่หมายความว่ากระไรเลย เขาก็คงเข้าใจเอาอย่างหนึ่งจนได้อยู่นั้นเอง ส่วนเกว็นโดลินเวลานั้นเข้าใจว่า การที่บิลตันพูดดังนั้นหมายความว่า บิลตันไม่อยากจะแบ่งเวลาไปเอาใจใส่กับเลดีเมรีเลย มีเวลาอยู่เท่าใดก็อยากจะเอาใจใส่ปฏิบัติเกว็นโดลินเท่านั้น เมื่อเข้าใจดังนี้เกว็นโดลินก็ก้มหน้าลงแลดูรองเท้า ประหนึ่งว่าเปนของประหลาดเสียเต็มที หน้าก็แดงเกือบเท่าหน้ากวนอูก็ว่าได้ ฝ่ายบิลตันเมื่อเห็นเกว็นโดลินทำอาการดังนั้นก็เฉลียวใจขึ้นมาทันที รู้สึกว่าได้กล่าวคำเกี้ยวเกว็นโดลินออกไปก้อนใหญ่ ยังไม่ทันจะว่ากระไรต่อไป พอเสียงประตูห้องนั่งเล่นเปิด เลดีเมรีวิ่งกระหืดกระหอบออกมาหยุดยืนแล้วกล่าวว่าคนอะไรมิรู้

เกว็นโดลินกลับนึกปราบใจทันทีว่าเลดีเมรีคงมาว่าบิลตันว่ามานั่งพูดกับตัว แต่สงบใจไว้ได้ (อโกเธน ชิเนโกธํ) เปนแต่เพียงถามว่าอะไรกัน

เลดี เมรี เคาน์เดอร์ฟอราซ์นั่นแน่ะ นั่งอยู่ในห้องรับเขกเมื่อกี้พอเลดีโคลซ์ลุกออกมา ก็วิ่งเข้ามานั่งข้าง ๆ แล้วชวนแต่งงาน ไม่ยอมก็จับข้อมือไว้ทั้งสองข้างว่าถ้าไม่รับจะแต่งงานด้วย ก็ไม่ปล่อย พึ่งสลัดหลุดหนีมาได้ คนอะไรมิรู้.

เกว็นโดลินกลับขอโทษเลดีเมรีแลบิลตันในใจ แล้วตอบว่า อะไรน่าเกลียดจริง คอยระวังอย่าให้พบกับเขาตัวต่อตัวอีกก็แล้วกัน สักครู่หนึ่งพอได้เวลาต่างคนก็ต่างไปนอน.

ส่วนบิลตัน เมื่อพวกผู้หญิงไปนอนแล้ว ก็จุดบุหรี่นั่งสูบตรองถึงเหตุที่เกิดนั้นว่า หลอดดัลเมอร์ก็ได้ออกปากฝากน้องสาวไว้ แลตัวก็ได้รับรองว่าจะไม่ให้เคานต์เดอร์ฟอราซ์กวนเลดีเมรีได้ แต่นี่เคานต์เดอร์ฟอราซ์ก็ได้กวนเลดีเมรีครั้งหนึ่งแล้ว เพราะฉนั้นบิลตันจำเปนจะต้องเขียนจดหมายไปบอกหลอดดัลเมอร์ เมื่อจะทำอย่างไรก็จะได้ทำภายหลัง เมื่อบิลตันคิดตกลงดังนั้นแล้ว ก็เขียนจดหมายถึงหลอดดัลเมอร์ โดยเมล์ที่ออกจากสวิตเซอร์แลนด์คืนวันนั้นเสร็จแล้วก็นอน.

รุ่งขึ้นเวลากินเข้าเช้า บิลตันได้รับโทรเลขจากบีลินดา บอกข่าวต้องกลับไปบ้าน คือโทรเลขที่กล่าวมาข้างต้นนั้น โทรเลขฉบับนี้ก็ได้กล่าวแต่สั้น ๆ ว่า พี่น้องมาตามพบ วันนี้ต้องกลับบ้านเท่านั้น บิลตันเปนอันทราบไม่ได้ว่าเกิดอะไรกันอย่างไรบ้าง เพราะฉนั้น ใจบิลตันก็เหาะฉิวกลับไปลอนดอน ตัวคงอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ ดังนี้ บิลตันก็ไปแจ้งความกับเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์ ว่าได้รับโทรเลขจากลอนดอนเปนการร้อนที่สุด ขออนุญาตกลับในวันนั้น ถ้าเซอร์เอ็ดมันด์ต้องการจะให้รีบกลับแล้วก็คงจะกลับได้ในไม่กี่วันนัก แต่เมื่อเซอร์เอ็ดมันด์ให้อนุญาตแล้ว บิลตันก็ลาพวกที่พักอยู่สวิตเซอร์แลนด์ กลับลอนดอนในบ่ายวันนั้น.

เวลาที่เดินทางในระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับลอนดอนนั้น บิลตันก็ได้แต่ใจพล่านว่าเมื่อไรจะถึงจะได้รู้เรื่องเสียให้ตลอดว่าอะไรกันอย่างไรแน่ แลการที่บิลตันจะกะลงไปว่าไปถึงลอนดอนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้นั้นก็เปนไปไม่ได้อยู่เอง ส่วนเรื่องเลดีเมรีนั้น บิลตันก็ตั้งใจได้แต่เพียงว่าจะพบกับหลอดดัลเมอร์ แนะนำให้หลอดดัลเมอร์กลับไปสวิตเซอร์แลนด์ หรือเรียกให้เลดีเมรีกลับเสีย แต่เรื่องนี้เปนเรื่องที่จะต้องทำทีหลังอยู่เอง เพราะเรื่องของบิลตันเองมีอยู่คือจะต้องทราบเสียก่อนว่าเรื่องบีลินดานั้นเปนอย่างไรกันบ้าง.

ครั้นไปถึงลอนดอน บิลตันก็ขึ้นรถตรงไปบ้าน พบจดหมายบีลินดาสองฉบับ ฉบับหนึ่งว่าถ้าบิลตันกลับมาแล้วก็อย่าเพ่อให้ตามบีลินดาไป เพราะต้องดูอาการบิดาเสียก่อน ฉบับที่สองบอกว่า บิดาตกลงอนุญาตเรื่องแต่งงานแล้ว บิลตันจะตามไปก็ได้ ดังนี้ บิลตันก็ตามบีลินดาไปบ้านบิดาบีลินดา เลยเปนลูกเขยนับเปนพวกพี่น้องไปคนหนึ่ง แต่ยังหามีโอกาศขยายสุขทุกข์เรื่องที่ต้องปิดบังการแต่งงานนั้นไม่ เปนแต่บิดาภริยาทราบว่าบิลตันเปนลูกคนมีตระกูล แลเปนเลขานุการของท่านอธิบดีคนหนึ่งอยู่ในลอนดอน เปนคนมีหลักแหล่งดีพอจะยกบุตรสาวให้ได้.

ฝ่ายทางสวิตเซอร์แลนด์ ในคืนวันที่บิลตันกลับลอนดอนนั้น เคานต์เดอร์ฟอราซ์ได้สกดรอยตามเลดี เมรี ว่ากล่าววิงวอนพยายามที่จะให้เลดี เมรี รับเปนภริยาครั้งที่สอง เลดี เมรี คิดดูไม่เห็นมีเพื่อนที่จะช่วยกันเคานต์เดอร์ฟอราซ์ให้ห่างออกไปได้ แลทั้งออกสงสัยว่า เลดี โคลซ์ อุดหนุนเคานต์เดอร์ฟอราซ์ หน่อย ๆ ด้วย ดังนี้ในคืนวันนั้นเลดี เมรี ก็จัดแจงบรรทุกของลงหีบ รุ่งขึ้นก็ลุกขึ้นกินเข้าแต่เช้าแล้วเขียนจดหมายกล่าวคำมุสาฝากไว้ให้เลดี โคลซ์ ว่าได้รับโทรเลขให้รีบกลับลอนดอน เสียใจที่จะคอยลาเลดี โคลซ์ ไม่ได้ เพราะรถไฟออกแต่เช้าเท่านั้นแล้วก็ขึ้นรถไฟกลับลอนดอนคนเดียว.

ส่วนหลอดดัลเมอร์นั้น วันที่ได้รับจดหมายบิลตันเปนวันที่สิ้นธุระแล้ว เพราะฉนั้น ก็จัดแจงหีบเสื้อผ้าขึ้นรถไฟไปสวิตเซอร์แลนด์ในวันนั้น ผะเอิญพอแคล้วกับน้องสาวตามทาง แลเมื่อไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทราบข่าวว่า เลดี เมรี กลับไปลอนดอนเสียแล้ว คือได้กลับไปภายหลังบิลตันวันหนึ่ง ดังนี้ หลอดดัลเมอร์ ก็เปนที่วางใจ แลค่อนข้างจะยินดีหน่อย ๆ เพราะเข้าใจว่าที่เลดีเมรีกลับไปลอนดอนภายหลังบิลตันวันหนึ่งนั้น เลดี เมรี กับ บิลตัน คงจะรู้กัน แลการที่บิลตันไม่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เปนการเปิดช่องที่จะให้หลอดดัลเมอร์ ได้ประจบประแจงเกว็นโดลินมากเข้า เพราะฉนั้น หลอดดัลเมอร์ก็พอใจที่จะพักอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ให้น้องสาวคอยอยู่ในลอนดอนก่อน อ้างเหตุกับตัวเองว่าเลดี เมรี จะไปพักอยู่กับผู้ใหญ่เพื่อนฝูงของบิดาที่ไหนก็ได้.

แต่ความพอใจของเกว็นโดลินหาต้องกับความพอใจของหลอดดัลเมอร์ไม่ คือเกว็นโดลินไม่อยากจะพักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป เพราะเข้าใจการที่เลดีเมรีด่วนกลับลอนดอนนั้น อย่างเดียวกับที่หลอดดัลเมอร์เข้าใจ คือว่าบิลตันกับเลดีเมรีรู้กัน แลเมื่อเปนดังนั้น เกว็นโดลีนก็เกิดรู้สึกโกรธ หรือที่ว่าถ้าเปนเมียก็เรียกว่าหึงนั้นเปนขนานใหญ่ อยากจะทราบว่าคนคู่นั้นคิดอ่านอย่างไรกันแน่ จะเข้าใจเอาเองให้ตลอดก็ยาก เพราะเกว็นโดลินสังเกตได้ว่าเมื่อเวลาอยู่ด้วยกันนั้น บิลตันเอาใจใส่กับตัวมากกว่าเลดีเมรี ถ้าคนทั้งสองนั้นรักชอบกันแล้ว เกว็นโดลินจะมิเข้าใจผิดมากกว่าที่เข้าใจว่าจะผิดได้ไปหรือ ช่างเถอะ เปนไปไม่ได้ แต่นี่แหละ การที่เลดี เมรี ผลุนผลันกลับลอนดอนดังนั้น เปนที่น่าสงสัยยิ่งนัก ตกลงไม่มีอื่นนอกจากกลับไปดูว่าอย่างไรกันแน่.

เพราะเหตุฉนี้ เกว็นโดลินก็อ้อนวอนบิดามารดาว่ากลับบ้านเถิด ผะเอิญสบเวลาที่เซอร์เอ็ดมันด์คิดถึงการงานที่ทิ้งไว้กำลังรำพึงจะกลับอยู่แล้วด้วย เพราะฉนั้น เกว็นโดลิน บิดา มารดา แลหลอดดัลเมอร์ ก็กลับลอนดอนในวันรุ่งขึ้นแห่งวันที่หลอดดัลเมอร์ไปสวิตเซอร์แลนด์นั้น.

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ว่าบ้านบิดาบีลินดาอยู่สก๊อตแลนด์ แลบิลตันก็ขึ้นไปอยู่ด้วย แลเมื่อบิลตันได้ทราบข่าวทางโทรเลขว่านายกลับก็ลงไปลอนดอน คิดว่าจะขยายเรื่องแต่งงานเสียทีหนึ่ง จะเปนอย่างไรก็เปนไปให้รู้แล้วรู้รอดไปเสีย เพราะถึงจะปิดไว้ก็คงไม่ได้อีกแล้ว แต่เมื่อบิลตันไปพบนายก็ยังหามีโอกาศที่จะบอกไม่ จึงต้องรออยู่ว่ามีช่องเมื่อไรก็จะบอกเมื่อนั้น เพราะบิลตันได้บอกกับบีลินดาไว้ว่าจะพยายามกลับไปสก๊อตแลนด์ในวันสองวันนั้น จะได้รับบีลินดาลงไปอยู่ลอนดอนทีเดียว เปนแต่จะบอกนายเสียก่อน แลบิดาบีลินดาก็อยากจะให้บีลินดารออยู่ที่สก๊อตแลนด์อิกสัก ๒–๓ วันด้วย.

ฝ่ายเลดี เมรีนั้น เมื่อถึงลอนดอนทราบข่าวว่าพี่ชายกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ดังนั้น ก็พักอยู่ในลอนดอน ๒–๓ วันแล้วเขียนหนังสือไปถึงเลดี เฮาสตัน คือลูกพี่ลูกน้องของบิดาที่กำลังพักอยู่ที่สก๊อตแลนด์นั้น ว่าจะไปอยู่ด้วย ๒–๓ วันกว่าพี่ชายจะกลับ พอได้รับตอบตกลงก็ขึ้นไปสก๊อตแลนด์ แต่หาพบกับบิลตันไม่.

ดังนี้เมื่อเกว็นโดลีนกลับถึงลอนดอน ก็ได้พบแต่บิลตันคนเดียว ทราบว่าเลดีเมรีขึ้นไปพักอยู่สก๊อตแลนด์เสียแล้ว เพราะฉนั้น เกว็นโดลินก็อ่านเรื่องไม่ออกว่าคนทั้งสองนั้นมีความคิดต่อกันอย่างไรแน่ และเกว็นโดลินก็ออกรู้สึกกลับใจหน่อย ๆ ว่า การที่คิดว่า เลดี เมรี ตามบิลตันกลับลอนดอนด้วยรู้กันนั้น น่าจะผิดเสียแล้ว เพราะฉนั้น เกว็นโดลินก็แลไม่เห็นหนเหนือหนใต้ เปนแต่ต้องนิ่งอยู่แลสังเกตกิริยาบิลตัน ว่าไม่ใคร่จะเอาใจใส่ต่อตัวมากดังแต่ก่อนเสียแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอะไรเปนหลักฐานที่จะเชื่อแน่ลงไปทีเดียว.

รุ่งขึ้นอิกวันหนึ่ง บิลตันได้รับจดหมายเกว็นโดลีนว่า มารดาฉันขอให้ฉันเขียนจดหมายมายังท่านว่า ถ้าท่านจะมากินอาหารกลางวันพรุ่งนี้เวลาเที่ยงครึ่งได้แล้วจะมีความยินดีมาก เมื่อกินอาหารแล้วจะเลยไปดูมาติเนเบ็ลล์ออฟนิวยอร์ก (ลครเล่นเวลาบ่ายเรื่องนางงามเมืองนิวย๊อร์ก)

วันที่เชิญกินอาหารกลางวันนั้นเปนวันที่บิลตันนัดภริยาไว้ว่าจะกลับไปสก๊อตแลนด์ แต่เมื่อบิลตันยังไม่ได้แจ้งความเรื่องที่ได้แต่งงานให้นายทราบแลเมื่อได้รับเชิญเลี้ยงกลางวัน เห็นว่าบางทีจะมีโอกาศจะเล่าเรื่องให้เซอร์เอ็ดมันด์ฟังได้ ดังนั้นบิลตันก็ตกลงในใจเขียนหนังสือสองฉบับคือ ถึงเกว็นโดลีนรับเชิญกินอาหารกลางวันฉบับหนึ่ง ถึงบีลินดาแสดงเหตุที่จะต้องเลื่อนวันไปสก๊อตแลนด์ ฉบับหนึ่งเข้าผนึกแล้วก็รีบส่งเดี๋ยวนั้น.

เวลาบ่ายเกว็นโดลีนได้รับจดหมายบิลตัน ฉีกออกอ่านมีใจความดังนี้—

ถึงแม่เจ้าประคุณยอดที่รัก

ด้วยพรุ่งนี้ฉันจะขึ้นไปสก๊อตแลนด์ยังไม่ได้เสียแล้ว เพราะเรื่องที่จะมาบอกเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์นั้นยังหามีโอกาศบอกไม่ เช้าวันนี้ได้รับจดหมายมิสโคลซ์เชิญไปกินเข้ากลางวัน บางทีจะเปนโอกาศที่จะเล่าเรื่องให้เซอร์เอ็ดมันด์ฟังได้ เพราะฉะนั้น ฉันกำลังจะเขียนจดหมายไปถึงมิสโคลซ์เดี๋ยวนี้ ว่าจะไปกินเข้ากลางวันตามที่เชิญมานั้น ถ้าฉันจะขึ้นไปสก๊อตแลนด์ได้เมื่อไร จะบอกมาทีหลัง.

นี่แหละเปนเริ่มของเรื่องที่ลงท้าย คือเมื่อบิลตันเขียนถึงบีลินดา แลถึงเกว็นโดลีนเสร็จแล้ว เมื่อสลักหลังซองไพล่สลับกลับกันเสีย จดหมายที่ถึงบีลินดาจึงไปถึงเกว็นโดลีน จดหมายถึงเกว็นโดลีน ไปถึงบีลินดา เปนการยุ่งใหญ่ แลแปลว่าบิลตันจะหาทางแก้ตัวอย่างไรไม่ได้แล้ว.

ส่วนเกว็นโดลีนนั้นเมื่อได้อ่านจดหมายบิลตันดังนั้นก็ประหลาดใจยืนนิ่งอยู่สักครู่ใหญ่ แล้วก็แลเห็นตลอดเรื่อยไป (แต่ไม่ถูกทีเดียว) ว่าที่เลดี เมรีตามบิลตันกลับจากสวิตเซอร์แลนด์นั้นได้นัดแนะกับบิลตันจริงดังที่เข้าใจแต่แรก เวลานั้นเลดีเมรีอยู่สก๊อตแลนด์ บิลตันจะตามขึ้นไปสก๊อตแลนด์ โดยนัดแนะกันถึงกับเรียกกันว่าแม่เจ้าประคุณยอดที่รัก แลใจความที่บิลตันว่าในจดหมายว่าจะบอกเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์นั้น ก็คือจะบอกว่าได้หมั้นกับเลดี เมรี แล้วจะแต่งงานกันหละขอรับ.

เมื่อความเห็นของเกว็นโดลีนเดินตลอดปรอดโปร่งไปดังนี้ก็เกิดคั่งแค้นเปนกำลัง แสดงอาการโกรธเดินไปเดินมาแล้วกลับลงนั่งพิงเก้าอี้อยากจะร้องไห้ด้วยความแค้น แต่ครั้นจะร้องไห้ก็อายตัวเองเปนการอิหลักอิเหลื่ออยู่ พอหลอดดัลเมอร์มาพบเข้าเห็นเกว็นโดลีนมีอาการประหลาดดังนั้นก็ถามว่า วันนี้หล่อนไม่สบายไปหรือ.

เกว็นโดลีน ฉันไม่ได้เปนอะไร ขอบใจ แต่พื้นไม่สู้ดีอยู่หน่อย หวังใจว่าท่านจะไม่ถือโทษ

หลอดดัลเมอร์ ถ้าหล่อนจะให้ฉันพยายามรักษาความโกรธของหล่อนให้เบาลงแล้ว ฉันจะยินดีนัก แลคงจะพยายามเต็มกำลัง.

เกว็นโดลีน ท่านจะทำอย่างไร

หลอดดัลเมอร์ ถ้าหล่อนจะให้ฉันเปนหมอแล้ว หล่อนจะต้องบอกฉันก่อนว่าโรคเกิดขึ้นด้วยเหตุใด.

เกว็นโดลีน ก็ท่านทราบอาการแล้วท่านจะต้องทราบเหตุที่โรคเกิดขึ้นนั้นทำไมด้วยเล่า

หลอดดัลเมอร์ ถ้าฉันรักษาหล่อนหายแล้ว หล่อนจะยอมให้ฉันรักษาแลดูหล่อนไปตลอดชีวิตหรือ.

เกว็นโดลีนเข้าใจชัดเจนว่า หลอดดัลเมอร์ชวนแต่งงานอย่างอ้อม แต่ใจยังไม่กล้าจะตอบออกไป จึงก้มหน้าลงพิจารณารองเท้าอยู่สัก ๒–๓ อึดใจก็เงยหน้าขึ้นแลดูตาหลอดดัลเมอร์ ๆ ทราบกิริยาก็จับมือเกว็นโดลีนมาถือไว้ทั้ง ๒ ข้าง แล้วบอกว่าหล่อนต้องยอมแต่งงานกับฉัน เพราะถ้าหล่อนไม่ยอมแล้ว ฉันจะไม่มีความสุขไปตลอดชาติ.

เกว็นโดลีน ใครว่าฉันจะไม่ยอมเล่า.

ตกลง ต่อนี้ไปนั้น เกว็นโดลีนกับหลอดดัลเมอร์จะพูดกันว่ากระไรก็ช่างเขา ไม่ควรจะนำของเขามากล่าว เพราะจะได้เกี่ยวด้วยเรื่องนี้ก็หามิได้ การที่เกว็นโดลีนรับแต่งงานกับหลอดดัลเมอร์โดยไม่มีหนักหน่วงอันใดนั้นก็เพราะกำลังแค้นบิลตัน ต้องการจะแสดงว่าข้าไม่ต้องง้อเจ้าดอก แลว่าที่จริงเกว็นโดลีนก็ชอบหลอดดัลเมอร์อยู่แล้วด้วย เปนแต่ยังเปนรองบิลตันอยู่เท่านั้น เมื่อเกว็นโดลีนกลับโกรธบิลตันเปนขนานใหญ่เสียดังนี้ ก็ต้องชอบหลอดดัลเมอร์เปนที่หนึ่งอยู่เอง.

เวลากินน้ำชาแล้ว เมื่อเกว็นโดลีนบอกมารดาว่าขออนุญาตหมั้นกับหลอดดัลเมอร์นั้น เลดีโคลซ์ก็ออกประหลาดใจหน่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ว่ากระไร เพราะคิดว่าลูกสาวรัก แลก็พอใจในหลอดดัลเมอร์อยู่ด้วย ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว.

รุ่งขึ้นบิลตันไปกินอาหารกลางวันที่บ้านเลดีโคลซ์ตามนัด เห็นเกว็นโดลีนทำปึ่งไปหน่อย ๆ แลเห็นใส่แหวนหมั้นด้วย เมื่อบิลตันทราบว่าหลอดดัลเมอร์ได้ตัวเกว็นโดลีนแล้ว ก็อำนวยพรแลแสดงความยินดีตามธรรมเนียม.

นี่แหละบิลตันก็เปนอันรอดตัวไม่ต้องกลัวนายโกรธต่อไป แลเมื่อเกว็นโดลีนกับหลอดดัลเมอร์หมั้นกันแล้ว ใคร ๆ ก็ลืมหมดว่า บิลตันเปนคนที่น่าจะแต่งงานกับเกว็นโดลีนแต่เดิม.

ภายหลังวันกินเข้ากลางวันนั้น ๒–๓ วัน บิลตันหาช่องลาหยุดงานได้คราวหนึ่งไปพักอยู่สก๊อตแลนด์ เมื่อกลับลอนดอนก็พาบีลินดาลงมาด้วย ใครไม่ทราบกันก็นึกว่าไปแต่งงานกันมาใหม่ ๆ แลกว่าบางคนจะไปทราบเรื่องทีหลัง ก็ลืมเรื่องอื่น ๆ หมดแล้ว ดังนี้บิลตันก็เปนเลขานุการของเซอร์เอ็ดมันด์โคลซ์ต่อมา แลยังซ้ำได้เปนเซอร์ขึ้นแลมั่งมีเข้ามาก เพราะลุงของบิลตันที่กล่าวมาข้างต้นว่าเปนขุนนางคนจนนั้น เมื่อตายแล้วจึงทราบว่าเปนคนมั่งมี เพราะตาลุงคนนั้นเปนคนชนิดที่เรียกตระหนี่ส้อนขุมทรัพย์นั้นเอง.

ส่วนเลดี เมรีนั้นเดี๋ยวนี้ได้ข่าวว่าเจ้าเบอแตรมเมืองฮินเนอเบิคติดใจมาแต่วันดินเนอร์ที่บ้านเลดีโคลซ์ วันแรกที่บิลตันกับบีลินดาแต่งงานกันนั้น แลยังซ้ำมีข่าวว่าจะเชิญเลดี เมรี แต่งงานในคราวแรกที่จะเชิญได้นั้น ส่วน เลดี เมรี ก็ชอบเจ้าเบอแตรมเหมือนกัน เพราะฉนั้น เลดี เมรี คงจะได้มีผัวเจ้าแลกลายเปนเจ้าตามผัวไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ