เพลงขับเรื่องซอมโหรี

บอกลำนำให้รู้ในเพลงบุราณ ๑๙๒ บท เพลงในนี้

ที่เปนลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระนริศฯ

ข้าไหว้ครูซอขอคำนับ

ขับบรรสานสายสุหร่ายเรื่อง

มโหรีแรกเริ่มเฉลิมเมือง

บอกเบื้องฉบับบุราณนาน

แต่บรรดาเพลงใหญ่ให้รู้ชื่อ

บทที่ ๑  
โศลกแขก คือโฉลกแรกเรื่อยเฉื่อยฉาน
อักษรโศลก อันศรโฉลกบรรเลงลาน
วิศาลโศลก วิศาลโศลกนั้นเปนหลั่นลด
มหาวิศาลโศลก ลอยชายเข้าวัง มหาโฉลกลอยชายเข้าวัง
พราหมณ์เข้าโบสถ์ พราหมณ์เดินเข้ายังอุโบสถ
โยคีโยนแก้ว โยคีโยนมณีโชติชด
  เจ็ดบทบอกต้นดนดรีฯ ๗ เพลง
บทที่ ๒ เพลงซอที่สองรองรับ
  นับอิกเจ็ดบทกำหนดสี่
เนรปัตตี ในนามว่าเนรปัตตี
ชามพูนุท กับศรีสุวรรณชมภูนุท
ทองเก้านํ้า ทองย้อย ทองเก้านํ้านองทองย้อย
ทองพราย ทองพรายแพร้วพร้อยแสงสุด
ทองสระ ทองสรม ทองสระทองสรมสมมุติ
  กลบุตรจงจำลำนำนานฯ (๗ เพลง)
บทที่ ๓  
นางกราย นางเยื้อง นางกรายแล้วย้ายนางเยื้อง
สร้อยต่าน เรียงเรื่องเรียบร้อยสร้อยต่าน
นาคเกี้ยว นาคเกี้ยวพระสุเมรุพาดพาน
พระรามตามกวาง พระอวตารติดตามกวางทอง
พระรามเดิรดง ราเมศออกเดินดงดร
พระรามนคร พระรามนครควรสนอง
  เจ็ดเพลงบรรเลงลํ้าทำนอง
  ที่สามต่อสองประสานกันฯ ๗ เพลง
บทที่ ๔  
มอญแปลง ขึ้นมอญแปลงใหญ่ในบทสี่
สรรเสริญพระจันทร์ สรรเสริญจันทรีสรวงสวรรค์
มหาชัย มหาไชยในเรื่องรำพรรณ
มโนหราโอด มโนราโอฐอั้นครั่นครวญ
ราโค เหรา ราโคเคียงเรียงเหรา
หงส์ไซ้ดอกบัว หงส์ไซร้ปทุมมาสร้อยสงวน
  ยิ่งฟังยิ่งเพราะเสนาะนวล
  ในขบวนบรรเลงเพลงพอ ฯ ๗ เพลง
บทที่ ๕  
บังใบแฝงใบโอด บังใบแฝงใบโอฐอ้อน
ฝรั่งถอนสมอ ฝรั่งร่ายร้องถอนสมอ
คู่ฝรั่งถอนสมอ คู่ฝรั่งบ้าบ่นบทซอ
คู่บ้าบ่น คู่บ้าบ่นต่อลำดับไป
แขกสวด แขกกินเหล้า แขกสวดแล้วแขกกินเหล้า
ยาเมาเล สังข์ใหญ่ อิกยาเมาเลสังข์ใหญ่
สังข์น้อย สังข์น้อยร้อยเรียบระเบียบใน
  สิบเอ็ดบทบอกไว้ให้เจนจำ ฯ ๑๑
บทที่ ๖  
สระบุหร่ง สระบุหร่งรับขับอ้าง
กะระนะ นางบุหร่ง กะระนะนางบุหร่งเรื่อยรํ่า
มลกาเสียเมือง มลกาเสียเมืองลำนำ
มลายูหวล มลายูหวนซํ้าสืบไป
คู่มลายูหวล แล้วคู่มลายูหวน
เพื่อนนอนใหญ่ เสนาะนวนเพลงเพื่อนนอนใหญ่
เพื่อนนอนน้อย ดอกไม้ไทร เพื่อนนอนน้อยดอกไม้ไทร
ดอกไม้ตานี เป็นรำดับดอกไม้ตานี
แสนพิลาปใหญ่ แสนพิลาปน้อย แสนพิลาปใหญ่พิลาปน้อย
น้ำค้างตะวันตก นํ้าค้างย้อยตะวันตกเรื่อยรี่
น้ำค้างตะวันออก นํ้าค้างตวันออกโดยมี
นกกระจอกต้องกระเบื้องร้อน นกกระจอกต้องที่กระเบื้องร้อน
สมิงทองไทย สมิงทองมอญ สมิงทองแขก สมิงทองไทยรามัญแขก
  สิบแปดเพลงแจงแจกจำสอน
  ประสานเสียงเพียงซอสวรรค์วร
  ที่หกจบกลอนไม่เบียดบัง ฯ ๑๘
บทที่ ๗  
อรชร เพลงเจ็ดนั้นตั้งอรชร
สายสมร ปโตงโอด สายสมรปโตงโอฐโดยหวัง
ปโตงหวล ปโตงพัน ปโตงหวนปโตงพันพึงฟัง
  เป็นห้าเพลงไม่พลั้งเพลินชม ฯ ๕
บทที่ ๘  
สุวรรณมาลา เพลงแปดนั้นสุวรรณมาลา
ก้านต่อดอก สระสรม มาก้านต่อดอกสระสรม
นางนาคใหญ่ ทั้งนางนาคใหญ่ชื่นชม
  บรรสมเปนเพลงแปดปอง ฯ ๔ เพลง
บทที่ ๙  
พระทอง คู่พระทอง ตุดตู่ พระทองคู่พระทองตุดตู่
คู่ตุดตู่ คู่ตุดตู่จงรู้เรื่องสนอง
  สี่บทเพราะลํ้าทำนอง
  จะเรียบร้องเพลงสิบสืบกลอนฯ ๕
บทที่ ๑๐  
ดอกไม้ เริ่มแรกนั้นเรียกดอกไม้
ดอกไม้พัน ดอกไม้พันประไพเกษร
ดอกไม้โอด อีกดอกไม้โอดเอื้อนชออน
สุวรรณหงส์ สุวรรณหงส์ร่อนคัคฆนานต์ฯ ๔ เพลง
บทที่ ๑๑  
นางไห้ ลมพัดชายเขา นางไห้ลมพัดชายเขา
ชทชเล เบ้าหลุด คำหวาน ชมชเลเบ้าหลุดคำหวาน
  ห้าบทกำหนดในการ
  ประมาณที่สิบเอ็ดเพลงมีฯ ๕ เพลง
บทที่ ๑๒  
อรุ่ม สร้อยสน อรุ่มสร้อยสนระคนกัน
อาถรรพ ตลุ่มโปง อาถรรพสี่ อาถันตลุ่มโปงอาถันสี่
อาถรรพแปด เล่าซอ อาถันแปดเล่าซอต่อคดี
  เพลงที่สิบสองมีเจ็ดครบฯ ๗ เพลง
บทที่ ๑๓  
ยิกินใหญ่ ล่องเรือนคร ยิกินใหญ่ล่องเรือนคร
ยิกินน่าศพ แซรกซ้อนยิกินหน้าศพ
ยิกินยาก ยิกินยากซํ้าคำรบ
  เพลงสิบสามจบเจนใจฯ ๔ เพลง
บทที่ ๑๔  
พระนคร สิบสี่นั้นคือพระนคร
  เรื่อยร่อนสำเนียงเสียงใส
ลำไป อีกทั้งลำนำลำไป
ถอยหลังเข้าคลอง ถอยหลังเข้าในคลองจรฯ (๓ เพลง)
บทที่ ๑๕  
นางนาคน้อย เพลงสิบห้านั้นมานางนาคน้อย
คู่นางนาค นกร่อน คู่นางนาคพลอยนกร่อน
ม้าย่อง ม้ารำ ม้าย่องม้ารำอรชร
  สีสอนตามเรื่องเนื่องกัน
เขนง กระทงเขียว เขนงกระทงเขียวแสง
ขอม มอญแปลงเล็ก ขอมมอญแปลงเล็กสลับคั่น
  แยกออกเพลงละเจ็ดจงสำคัญ
  เพลงสิบห้ารำพันจงลงฯ
บทที่ ๑๖  
  สิบหกยกบทกำหนดชื่อ
จั่นดิน คือว่าจั่นดินอย่าลืมหลง
คู่จั่นดิน อิกคู่จั่นดินโดยจง
บ้ารบุ่น บทบ้าระบุ่นคงครบขบวน
  จบเพลงเรื่องใหญ่แม้นใครเรียน
  อุส่าห์เพียรให้ดีถี่ถ้วน
  เพลงพรัดท่านจัดไว้ตามควร
  สืบสวนโดยระเบียบเรียบร้อย ๓
บทที่ ๑๗  
ศรีประเสริฐ ระส่ำระสาย ศรีประเสริฐระส่ำระสาย
แหวนรอบก้อย เรียงรายวงแหวนรอบก้อย
อังคาร เนรคันโยค มดน้อย อังคานนฤคันโยกมดน้อย
นางพระยาตานี ร้องไห้ นางตานีไห้ละห้อยโศกา
พระนครเขิน พระนครเขินขันบรรเลง
  ร้อยสามสิบเจ็ดเพลงศึกษา
  มโหรีมีเรื่องบุราณมา
  เปนศรีกรุงอยุธยาใหญ่เอย.

----------------------------

๏ ยอกรกึ่งเกล้าบงกชเกษ ไหว้ไทเทเวศเปนใหญ่
อันเรืองรู้ครูครอบพิณไชย สถิตย์ในฉ้อชั้นยามา
ทรงนามชื่อปัญจสิงขร ได้สั่งสอนสานุศิษย์ในแหล่งหล้า
เปนตำรับขับร้องสืบมา ปรากฎในแผ่นฟ้าดินดร
ข้าขอชุลีทำคำนับ พระคนธรรพด้วยใจสโมสร
จะดีดสีขับร้องทำนองกลอน จงศรีสถาพรทุกประการ ฯ
๏ อนึ่งข้าขอประนตบทรัตน์ พระจุลจอมจักรพรรดิมหาสาร
คือองค์พระทรงครุธไชยชาญ เอาวะตารจากกระเษียรสมุทมา
หวังจะดับเข็ญให้เย็นยุค จะทำนุกพระพุทธศาสนา
จะบำรุงผดุงโลกโลกา โอฬาลํ้าชั้นดุษฎี
สารพัดไพบูลย์พูนภพ เลิศลบกระษัตริย์ทุกกรุงศรี
มีทั้งพระเสวตรกิริณี ศรีศุภลักษณ์เลิศอำนวยพงษ์
ย่อมฦๅฤทธิ์กฤษฎาไปทุกทิศ พระทรงอิศรภาพสูงส่ง
สิทธิศักดิดังจักราวงษ์ ดำรงทวาราราชธาตรี
ขอพระเดชเดชาภูวนารถ พระบาทปกเกล้าเกศี
แห่งข้าผู้จำเรียงเรื่องมโหรี ซอ กรับกระจับปี่รัมนา
โทนขลุ่ยฉิ่งฉาบระนาดฆ้อง ประลองเพลงขับกล่อมพร้อมหน้า
ขอให้จำเริญศรีสวัสดิ์ทุกเวลา ให้ปรีชาชาญเชี่ยวในเชิงพิณท์
จะกล่าวเรื่องเมรีเมื่อนิราศ วรนาฎโศกเศร้าแสนถวิล
แสนทเวศเวทนายุพาพิน จนสุดสิ้นสูญชีพชนม์มาร
เพราะหวังจิตรพิศวงจงสวาสดิ์ มุ่งมาทว่าจะเปนแก่นสาร
ประดิพัทธสัตย์ซื่อจิรังกาล ไม่ระแวงว่าภูบาลจะจากจร ฯ

----------------------------

ขับซอเรื่องมโหรี บท ๑

๏ ข้าไหว้ครูซอขอคำนับ ขับบรรสานสายสุหร่ายเรื่อง
มโหรีแรกเริ่มเฉลิมเมือง บอกเบื้องฉบับบุราณนาน
แต่บรรดาเพลงใหญ่ให้รู้ชื่อ คือโฉลกแรกเรื่อยเฉื่อยฉาน
อับศรโฉลกบรรเลงลาน วิศาลโฉลกนั้นเปนหลั่นลด
มหาโฉลกลอยชายเข้าวัง พราหมณ์เดินเข้ายังอุโบสถ
โยคีโยนมณีโชติชด เจ็ดบทบอกต้นดนตรี ฯ

บัญชีเพลงเรื่องมโหรี

ไหว้ครูข้างเช้า (๑) โฉลกแขก } ๗ เพลง
(๕) ลอยชายเข้าวัง
(๒) อักษรโฉลก
(๓) วิสาระโฉลก
(๔) มหาวิสาระโฉลก
(๖) พราหมณ์เข้าโบสถ์
(๗) โยคีโยนแก้ว
เพลงที่ ๑ ในบัญชีเขียนว่า โฉลกแขก แต่ในบทขับไม่มีคำว่าแขก คิดว่าคำว่า แรก นั้นแลเปน แขก หากเขียนผิดไป
เพลงที่ ๒ ในบัญชีเขียนชื่อ อักษรโฉลกในบทขับเขียนอับศรโฉลก คำว่า โฉลก เลือนมาจากคำ โศลก พากย์สันสกฤต ซึ่งหมายความว่าคำฉันท์ เพราะฉะนั้นต้องวินิจฉัยว่า บัญชีเพลงเขียนอักษรโฉลกเปนถูก ด้วยคำกินกัน
เพลงที่ ๓ ในบัญชีเขียนว่า วิสาระโฉลก เห็นว่าไม่ดี ในบทขับเขียน วิศาลโฉลก เห็นว่าถูกดีกว่า
เพลงที่ ๔ ในบัญชีเขียนว่า มหาวิสารโฉลก แต่ในบทขับเปน มหาโฉลก เห็นช่องกลอนจะไม่พอลงคำวิศาล อีกได้
เพลงที่ ๖ และที่ ๗ ในบทขับเปนชื่อที่กลอนพาไถลไป ต้องถือเอาชื่อในบัญชีเปนหลักที่ถูก

ในบท ๑ นี้ ถอดออกได้ครบ ๗ เพลง ตามที่ระบุไว้ท้ายบทว่ามี ๗ บท ถูกต้องแท้แล้วไม่ขาดเหลือ.

ขับซอเรื่องมโหรี บท ๒

๏ เพลงซอที่สองรองรับ นับอีกเจ็ดบทกำหนดสี่
ในนามว่าเนรปัตตี กับศรีสุวรรณชมภูนุช
ทองเก้านํ้านองทองย้อย ทองพรายแพร้วพร้อยแสงสุด
ทองสระทองสรมสมมุติ กุลบุตรจงจำลำนาม ฯ

บัญชีเพลงเรื่องมโหรี

ไหว้ครูข้างเย็น (๑) เนียรปาตี } ๗ เพลง
(๒) ชมภูนุช
(๓) ทองเก้านํ้า
(๔) ทองย้อย
(๕) ทองพราย
(๖) ทองสระ
(๗) ทองสรม

บท ๒ นี้ ชื่อเพลงต้องกันกับบัญชีเพลง ต่างแต่วิธีเขียน เนรปัตตี อย่างนี้เห็นเขียนไว้หัวบทดอกสร้อย มีหลายแห่ง เนียรปตี อย่างนี้ยังไม่เคยเห็น ชมภูนุช นี้เขียนผิด ที่ถูกจะต้องเปน ชามพูนท

รวม ๒ บท ๑๔ เพลง

ขับซอเรื่องมโหรี บท ๓

นางกรายแล้วย้ายนางเยื้อง เรียงเรื่องเรียบร้อยสร้อยต่าน
นาเกี้ยวพระสุเมรุพาดพาน พระอวตารติดตามกวางทอง
ราเมศออกเดินดงดร พระรามนครควรสนอง
เจ็ดเพลงบรรเลงลํ้าทำนอง ที่สามต่อสองประสานกัน ฯ

บัญชีเพลงเรื่องมโหรี

เรื่องนางกราย (๑) นางกราย } ๗ เพลง
(๒) นางเยื้อง
(๓) สร้อยต่าน
(๔) นาคเกี้ยว
(๕) พระรามตามกวาง
(๖) พระรามลคร
(๗) พระรามเดินดง

บท ๓ นี้ ชื่อเพลงจัดว่าตรงกันกับบัญชีหมด ไถลอยู่ ๒ ชื่อคือเพลงที่ ๕ และที่ ๖. เพราะกลอนพาไป แต่เพลงที่ ๗. นั้นบัญชีเขียนผิดด้วยฟังตามเสียงคนปี่พาทย์ ซึ่งไม่รู้หนังสือ นคร จะต้องเปน ลคร เปนธรรมดา

๓ บท รวม ๒๑ เพลง

ขับซอเรื่องมโหรี บท ๔

๏ ขึ้นมอญแปลงใหญ่ในบทสี่ สรรเสริญจันทรีสรวงสวรรค์
มหาไชยในเรื่องรำพรรณ มโนราโอฐอันครั่นครวญ
ราโคเคียงเรียงเหรา หงส์ไซร้ปทุมมาสร้อยสงวน
ยิ่งฟังยิ่งเพราะเสนาะนวล ในขบวนบรรเลงเพลงพอ ฯ

บัญชีเพลงเรื่องมโหรี

เรื่องทำขวัญ (๑) มอญแปลง } ๗ เพลง
(๕) สรรเสริญพระจันทร์
(๒) มหาไชย
(๓) มโนราโอฐ
(๔) ราโค
(๖) เหรา
(๗) หงส์ไซ้ดอกบัว

บท ๔ นี้ ชื่อเพลงต้องกันกับบัญชี เปนแต่มีคำไถลไปตามกลอนอยู่สองแห่ง คือ จันทร์ เปน จันทรี แล ดอกบัว เป็น ปทุมา

เพลงที่ ๔. ซึ่งเปน มโนราโอฐ นั้นผิด ควรจะเขียน มโนหราโอด ตามภาษาปี่พาทย์ หมายความว่านางมโนหราร้องไห้ โอด เป็นชื่อเสียงปี่พาทย์เสียงหนึ่ง ซึ่งใช้มากที่สุดในเวลาเมื่อละครทำบทร้องไห้ เรียกว่า ลูกโอด.

รวม ๔ บท ๒๘ เพลง

  1. ๑. พิมพ์สกดการันต์ตามต้นฉบับ

  2. ๒. ชื่อเพลงที่คิดออกมาแล้วนี้ และเส้นใต้ที่ขีดในเพลงนั้นแยกเปนหมายเลข ๑, ๒, ๓ ฯลฯ และที่บอกเลขจำนวนเพลงไว้ท้ายบท แต่ละบทว่า ๗ เพลงบ้าง ๑๑ เพลงบ้าง นั้น เปนลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงไว้ด้วยดินสอ

  3. ๓. ชื่อเพลงที่คิดออกมาแล้วนี้ และเส้นใต้ที่ขีดในเพลงนั้นแยกเปนหมายเลข ๑, ๒, ๓ ฯลฯ และที่บอกเลขจำนวนเพลงไว้ท้ายบท แต่ละบทว่า ๗ เพลงบ้าง ๑๑ เพลงบ้าง นั้น เปนลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงไว้ด้วยดินสอ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ