วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ น

บ้านปลายเนอน คลองเตอย

วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัถลงวันที่ ๕ รับสั่งมาด้วยเรื่องเพลงมโหรีเก่า ได้รับทราบเกล้าแล้ว นุนูเปนลูกคู่ใจ จะทำอะไรให้แม้แต่เลกน้อยก็อยากให้ดีมาก ๆ เรื่องเพลงมโหรีเหนประโยชนน้อย จะประทานไปให้พิมพ์สำหรับงารพระศพพระองคเจ้ากนกวรรณก็ไม่รังเกียจเลย จะเรียงคำอธิบายเรื่องดนตรีมโหรีส่งมาถวายทีหลัง สำหรับนุนูนั้นฃอประทานเรื่องใหม่ ต้องให้เจบปวดสักหน่อย

พูดถึงมโหรีนึกขึ้นมาได้ ลืมทูลรายงานไป ตามที่ได้ถามชื่อเครื่องปี่พาทยพม่าเมื่อวันไปดูลครพม่าที่วังมาแล้ว วันหนึ่งไปตัดผมที่ร้านน่าบ้าน ช่างตัดผมเปนมอญ จึงเลยสนทนาสอบถามชื่อเครื่องปี่พาทยมอญ เพื่อจะสอบกับพม่า ได้ความต้องกันมากตลอดมาจนถึงไท เช่นกลองเถา พม่าบอกว่าเรียก “บง” มอญเรียก “ปงมาง” ไทเรียก “เปิงมาง” “ตโพน” มอญเรียก “กโพน” รนาดที่พม่าเรียก “ปัจยา” นั้น ได้แก่ “พาทยะ” เรานี่เอง คำนี้มอญเรียกห้วนเปน “ปาต” เปนคำต่อท้ายชื่อเครื่องหลายอย่าง จนกระทั่งปี่พาทยทั้งวง เรียกว่า “วงปาต” สิ้นเคราะห์ไปที

พูดถึงลครพม่า นึกขึ้นมาได้อีก ได้เหนสมุดรูปเมืองเขมร ฝรั่งเศสเขาตีพิมพ มีหนังสือฝรั่งเศสแลหนังสือขอมบอกกำกับไว้กับรูป ในนั้นมีรูปหมู่ลครหลายรูป กำลังรำก็มี เอามายืนถ่ายเปนตัวอย่างที่แต่งตัวต่าง ๆ ก็มี ดูหนังสือขอมที่พิมพใต้รูปเขียนว่า “ลโขนพระกรุณา” นี่มาได้ความรู้อย่างประหลาด ซึ่งไม่เคยนึกเลย ว่าคำลครกับโขนนี้จะเปนคำเดียวกัน หากต่างไปตามเสียงที่เรียกแปร่งไปจากกันเท่านั้น ความประหลาดอันนี้ นำไปให้เหนว่าลครกับโขนนี้เราคงเรียนมาคนละทาง โขนคงร่ำเรียนขึ้นมาจากทางเขมร เพราะเรียกชื่อเปนพยานอยู่ ลครคงเรียนมาจากทางปักษใต้ เพราะร้องรับลูกคู่มีเปนพยานอยู่ ทั้งสองสาขานี้ต้นคงอยู่ชวา คำ “ลคร” ไม่ใช่ออกจากคำ “นครศรีธรรมราช” พระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าหลวง เคยทรงวินิจฉัยว่าออกจากคำชวา ว่าอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว ฝ่าพระบาทคงทรงจำได้

เมื่อสามสี่วันมานี้ ได้รับหนังสือที่หอพระสมุดส่งมา ๒ เล่ม คือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๗ เล่ม ๑ กับ Guide aux Ruines d’Angkor เล่ม ๑ ว่าฝ่าพระบาททรงพระเมตตาโปรดประทานขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก หนังสือนำทางนครวัดมีรูปน่าดู เสียแต่หนังสืออ่านไม่ออก ประชุมพงษาวดารดีทุกเรื่อง คำให้การจีนกั๊กเหนเปนเอก คำให้การขุนโขลน ตรงที่ว่า “ผู้ใดมาผิดเวลาให้คุมเอาตัวไปส่งให้กะหลวงพัน” (น่า ๖๒) ทรงลงฟุตโนตว่า “ส่งให้ใครตรงนี้ตีความไม่ออก” นั้น จะเปน ทลวงฟัน ได้ฤๅไม่ เหนในกรมวัง มีน่าที่ได้คุมคนโทษแลเฆี่ยนคนก็เรียกหลวงพัน คือพันจงใจจิตร พันนิจรักษา พันพิทักษทิวา พันรักษาราตรี พันรักษาราตรีนั้น ยังได้คุมคนโทษตะรางกระทรวงวังอยู่จนทุกวันนี้

กลับมาแล้วยังคิดถึงบางปอินอยู่เนือง ๆ ถ้าทำงานอยู่บางปอินงานเห็นจะเปลืองดี ไม่มีใครกวน

ได้ส่งเรื่องความเจ้าต๋งกับนายปาน ซึ่งตัดจากหนังสือพิมพ์ปิดไว้ตั้งแต่ต้น มาถวายทอดพระเนตรด้วยแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ทรงหมายถึง หม่อมเจ้าปลื้มจิตร จิตรพงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ