หมายเหตุใบสอบพิมพ์ตำนานวังน่า

น่า ๗๕ ใช้โทกินคำยาว ในคำ “หนังสือพระราชพงศาวดาร ๆ” เช่นนี้ เปน ลักษณแห่งกุลปาจารย์ กรมพระสมมตเคยทรงวินิจฉัยว่าใช้ไม่ได้ ต้องเขียนตัวหนังสือซ้ำลง โทจะใช้ได้แต่คำเดียว เช่น บ่อย ๆ ต่าง ๆ เปนต้น

น่าเดียวกัน ที่ตรงว่า “ตำแหน่งข้าราชการวังน่าจึงมีตำแหน่งมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ควรเอาคำ “ตำแหน่ง” หนหลังออกเสีย ดูเปนมากเกินไป

น่า ๘๒ มีคำ “สั่งสม” เช่นหมายเหตุไปแต่ก่อนแล้วในที่นี้อีก คราวก่อนได้แก้ไปอย่างไรฤๅไม่ได้แก้ คราวนี้ก็ต้องตามคราวก่อน เพื่อมิให้ลักลั่นกัน

น่า ๘๕ ซึ่งกล่าวถึงรื้อวังน่าเอาเปนท้องสนามแลถนนราชดำเนิร เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรกนั้น คิดด้วยเกล้าว่าไม่ถูก จำได้ว่ารื้อสองครั้ง ครั้งแรกรื้ออย่างง่ายๆ คือรื้อป้อมกำแพงชั้นนอกด้านตวันออกเพียงเขื่อนเพชรชั้นกลางเอาสนามม้าวังน่าเฃ้าบวกกับท้องสนามหลวงไว้เท่านั้นนานทีเดียว เกล้ากระหม่อมยังเคยพูดว่าท้องสนามหลวงรูปเปนผีเสื้อ ภายหลังเมื่อสร้างพระราชวังดุสิต ตัดถนนราชดำเนิร จับรื้อใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทีนี้รื้อเขื่อนเพชรกินเข้าไปถึงหน้าสิวโมกข์ เมื่อวานนี้ได้เดิรเข้าไปในท้องสนามหลวง ได้เหนรอยกำแพงป้อมประตูแลโรงอะไรต่าง ๆ เกือบทุกอย่างอยู่กลางสนาม ประดุจเขียนไว้ เพราะมีดินกลบอยู่สัก ๒ เซนต์ ฤๅอย่างไรเท่านั้น เวลานี้เปนฤดูแล้ง ดินที่บางไม่อุ้มน้ำเลี้ยงต้นหญ้าได้ตายเปนรอยเหมือนเขียน อาจจะเสด็จไปทอดพระเนตรสอบสวนก็ได้

<img>

น่าเดียวกัน ตรงที่ว่า “ให้จัดเปนคลังเครื่องยุทธภัณฑ์” นี้ก็คลาศอยู่ ในกระทรวงกลาโหมเขาหมายคำยุทธภัณฑ์เปนของใช้ของแต่งตัว ไม่ได้มาเกบที่วังน่า อยู่ในยุทธนาธิการ เรียกว่าคลังยุทธภัณฑ์ ที่วังน่าเกบแต่อาวุธ เคยเรียกกันมาว่าคลังสรรพยุทธ บางทีมากคำออกไปเปนคลังแสงสรรพยุทธ แต่เดี๋ยวนี้จะเรียกอไรไม่ทราบ คลังยุทธภัณฑ์ยังคงมีอยู่ในยุทธนา

น่า ๘๗ ประทัดสุด ที่ว่า “ทางเสดจมาพระราชวังหลวง” แต่คำ “มา” นั้น ถูกฆ่าออกเสียแล้ว อยากให้คงเอาไว้ เพราะคำว่า “เสดจ” นั้นก็คือว่าสเด็จ หมายความอย่าง ฝรั่งก็ว่า his ฤๅ he เท่านั้นเอง ต้องมีคำไปฤๅมาประกอบภาษาจึงจะบริบูรณ

อนึ่ง เมื่อวานซืนนี้ เจ้าพระยาเทเวศรมาหา ได้ถามถึงเรื่องพระปิ่นเกล้าทรงม้าล่อช้าง ได้ความต่อออกไปอีกหน่อยว่าพอกระทบแผงฃ้างม้าเต้นน้อยฉาด ๆ ตาหมออาจเกี่ยวช้างหมดชีวิตร ช้างแหงนหงายงาเงื้อมอยู่เหนือพระเศียร ขณะนั้นมีใครคนหนึ่งร้องขึ้นว่า “ทำไมไม่ลงแส้” พระปิ่นเกล้าได้พระสติลงแส้ขวับลงไป ม้าก็โลดไปสุดตัว จึงเปนการพ้นอันตราย หมออาจได้ประทานรางวัลดูเหมือนว่า ๕ ชั่ง

ทีนี้จะกราบทูลความเหนในเรื่องชื่อป้อมชื่อประตู

ป้อมรอบกำแพงเมืองชื่อไม่คล้องกัน ผู้ตั้งชื่อเดิรทางอย่างหนึ่ง เอาชื่อสิ่งสำคัญมาเรียกโดยตรง มีป้อมพระสุเมรุ ป้อมพระอาทิตย ป้อมพระจันทร เปนต้น ชื่อป้อมพระอาทิตย พระจันทรนี้เปนของเมือง ไม่ใช่ของวังน่า ชื่อป้อมวังน่าก็เหนจะคิดคราวเดียวกัน ฤๅคนคิดคนเดียวกันก็ว่าได้ เปนชื่อลุ่นไม่เอาคล้องเบือนกัน คือป้อมเพชร ป้อมวิเชียร ป้อมไพฑูรย ป้อมเฃื่อนเพชร ป้อมเฃื่อนขันธ ป้อมนิล ป้อมมุกดา นี่ผู้คิดเอาหลักมาจากกำแพงแก้ว ๗ ชั้น ตามแบบข้างอินเดียพรรณาเรื่องต่าง ๆ หาได้มีสร้อยไม่ สร้อยนั้นเกิดด้วยความเฃ้าใจผิด เดิมทีเกิดจากมีผู้ใหญ่สอนลูกหลานให้รู้ราชการ ให้ท่องชื่อป้อม ว่าป้อมเพชรบุรพา หมายความว่าป้อมที่ชื่อเพชรอยู่ทิศบุรพา ป้อมวิเชียรอยู่ทิศอาคเนย์ ดังนี้เปนแน่นอน แล้วคนที่เล่าต่อมาไม่เฃ้าใจความสำคัญว่าทิศเปนสร้อยชื่อ ที่ยังสั้นจึ่งเลยช่วยต่อให้ เช่นป้อมนิลวัดถา จะทรงเหนได้ว่าเขลาที่สุด ผู้ให้สร้อยไม่รู้เลยว่าแปลว่าผ้าดำ คำนั้นติดสมองมาจากอ่านกลอนวงษๆ จักรๆ ก็ปล่อยไป ป้อมมุกดาพิศาล เหนว่าจะเปนป้อมมุกดาอีศาณ เปนบอกทิศที่ตั้งเหมือนกัน

ชื่อประตูเดิมก็เหนจะร่วง ๆ ไม่คล้องจองกันเหมือนกัน ชื่อตามที่พิมพ์นี้ เปนชื่อตั้งในรัชกาลที่ ๔ เท่านั้นเอง เหตุใดจึงว่าดังนั้นเหตุว่าประตูที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ชื่อเข้าสัมผัสกับประตูเก่า คงได้ต่อเติมฤๅเปลี่ยนแปลงชื่อเก่าให้เฃ้ากลอนกัน เช่นประตูพรหมทวาร เดิมก็เหนจะพรหมเฉย ๆ เท่านั้น เปนต้น

ชื่อป้อมแลประตูพระบรมราชวังดูก็ดาษเยิ่นเย้ออยู่ น่ากลัวเปนปรุงใหม่เหมือนกัน ชั้นเก่าน่าจะมีแต่ชื่อที่เรียกกันเอาเอง เช่นประตูพรหม ประตูยามค่ำ ประตูสองชั้นเปนต้น น่าจะสังเกตร่างหมายรับสั่งต่าง ๆ ชื่อใดปรากฎครั้งไหนบ้าง เปนทางวินิจฉัยต่อไป.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรส

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ