วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ น

บ้านปลายเนอน คลองเตอย

วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ตำนานเสภาซึ่งประทานมาให้ตรวจนั้น ต้องชมว่าดี เพราะไม่มีหลักฐานอะไรเลอย ทรงคุ้ยค้นเอาในตัวนั้นเองมาประกอบความคาดคเน ทำให้ปรากฎเปนรูปร่างมีหลักฐานขึ้นได้ แต่เกล้ากระหม่อมเห็นแตกต่างจากที่ทรงพระดำริห์บ้าง ดังจะทูลถวายต่อไปนี้

ข้อต้นที่ทรงสงไสย ว่าชื่อ “เสภา”จะได้จากเอาสำเนาเพลงปี่พาทย์มาใช้เปนทำนองขับ ข้อนี้เกล้ากระหม่อมขอประทานยืนยันว่า ไม่ใช่เปนแน่แท้ ไม่ใช่แต่ว่าเพราะลำนำไม่เหมือนกันเท่านั้น ยังไม่เห็นทางว่าจะเปนได้อย่างไรด้วย เพราะแลย้อนขึ้นไปยิ่งเห็นทางห่างไกลกันออกไป เปนว่าแต่ก่อนนั้น พวกร้อง พวกปี่พาทย์ แลพวกเครื่องสาย ต่างคนต่างเล่น ไม่ได้เล่นปนกัน คือปี่พาทย์ไม่ได้ทำรับร้อง เครื่องสายไม่ได้ผสมกับปี่พาทย์อย่างทุกวันนี้ เพลงร้องของพวกคณะร้องมีต่างหาก เปนของเขาคิดขึ้นโดยอิศระ เพลงเก่าๆ ยังมีปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ที่ปี่พาทย์ไม่มีใครทำรับ เช่นชมตลาด ช้าครวญ โลมนอก เปนต้น ยังมีอื่นๆ อีกมาก ส่วนเพลงปี่พาทย์นั้น พวกคณะปี่พาทย์เฃาก็คิดของเฃาโดยอิศระเหมือนกัน เพลงที่ยังไม่มีใครร้องก็ยังมีอยู่มากเหมือนกัน เช่นสาธุการ ตระ รัว เปนต้น แลอื่น ๆ อีกอเนก เครื่องสายนั้นเกล้ากระหม่อมรู้น้อย เพลงอิศระของเฃาทราบอยู่เพลงเดียว เรียกว่า ทัด ที่เล่นซอกับบันเฑาะโยนสองมือรวางขับไม้ การที่คณะทั้งสามมาเล่นปนกันนี้ภายหลัง แรกทีปี่พาทย์จะเล่นกับร้องก็เพียงคำคั่นกันก่อน ตัวอย่างเช่นลครเมื่อร้องสิ้นบทแล้ว ถึงเวลาเดิรที่เรียกเพลงนั้น เดอมก็เปนร้องเหมือนกัน แต่ร้องภาษาป่า มีเห่โห่ฮ้าฮะชะต้าอะไรไปตามที่ที่เกอดจากใจรื่นเรอง ภายหลังแทรกคำเฃ้าบ้าง เปนคำเกี้ยวคนดูโดยมาก ดังว่า “ชะต้อยติงนังเหน่ เจ้าอย่าสนเท่ห์ ว่าพี่จะไม่รัก ฉันรักนางน้อง เจ้าอย่าร้องไห้ร่ำ เปนกรรมเจ้าน้อย ต้อยติงนังเหน่เอย” ฉนี้ มันจืดทนไม่ไหวเข้า เจ้าปี่พาทย์ก็โดดเข้าทำเพลงแทน จึงเปนคั่นกันถึงบทก็ร้อง ถึงเพลงก็ปี่พาทย์ ภายหลังปี่พาทย์ก็เอื้อมเฃ้าไปคั่นในร้องเรียกว่ารับร้อง แต่เพลงที่รับร้องเก่า ๆ เนื้อร้องกับเนื้อปี่พาทย์ก็ผิดกันไกลเช่น ช้าปี่ โอ้ร่าย เปนต้น คงทรงลฦกเลาทางได้ว่ามันไกลกันเพียงไร แลไม่ได้รับเมื่อร้องหมดท่อนด้วย ปี่พาทย์เฃ้าไปขวางอยู่กลาง ต้นบทร้องแล้วปี่พาทย์รับ แล้วลูกคู่ต่อ จึงสิ้นคำ ภายหลังเจ้าพวกปี่พาทย์อวดดีขึ้น ตีรับเนื้อให้เหมือนร้อง เจ้าคนร้องก็เคือง เอาเนื้อปี่พาทย์มาร้องบ้าง จึงได้เล่นรับร้องกันกลมเกลียวไป คงจะยังทรงจำได้ เช่นรบำสี่บท แต่ก่อนร้องไม่ได้รับปี่พาทย์ พึ่งจะคิดรับกันเมื่อรัชกาลที่ ๕ ตอนหลังนี้เอง เกือบจะว่าเจ้าพระยาเทเวศร ฯ เปนผู้ประเดิมก็เห็นจะได้ ปี่พาทย์กับเครื่องสายก็ไม่ได้เล่นด้วยกัน เพราะเสียงดังแลเบาผิดกันมาก เครื่องสายได้เฃ้าคลอเสียงคนร้องก่อนเพราะเสียงกลมเกลียวพอเฃ้ากันได้ ภายหลังเจ้าเครื่องสายจำเพลงปี่พาทย์ไปเล่น เจ้าปี่พาทย์ก็จำเพลงเครื่องสายมาล้อ แล้วก็เลยเล่นปนไปด้วยกัน เพราะเหตุที่เคยเปนสามคณะอย่างพรรณามาแล้วนั้น กระบวรของเพลงจึงจัดเปน ๓ อย่าง ว่าอ้ายนี่เพลงร้อง อ้ายนั่นเพลงมโหรี อ้ายโน่นเพลงปี่พาทย์ การขับเสภาขับกันมานมนาน แต่พึ่งจะมารับติดต่อกับปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ดังปรากฎในไหว้ครู เพราะฉนั้นจะเกี่ยวข้องกับเพลงปี่พาทย์ไม่ได้เปนอันขาด ต่างว่าถ้าหากทำนองจะเปนอย่างเพลงเสภาของปี่พาทย์ ก็เปนด้วยบังเอิญเปนเท่านั้น ถ้าจะคิดไปแล้ว น่าสงไสยว่าเพลงเสภาของปี่พาทย์จะได้ชื่อมาจากขับเสภาเสียอีก คือคนขับเสภาแต่แรกชอบส่งเพลงนั้น ปี่พาทย์ผู้ที่จะรับก็เลียนตามไป ชื่ออะไรก็ไม่รู้ เรียกกันสำหรับรับเสภา ก็เลอยเรียกเพลงเสภา เดี๋ยวนี้ไม่มีใครส่งแล้ว คนปี่พาทย์ชั้นผู้ใหญ่จึงจะตีได้

คำว่าเสภาจะแปลว่ากระไร ได้คิดแลค้นนึกแล้ว ยังไม่เห็นไม่พบเลอย ที่มาน่าจะมาจากคำขับนั้นเอง เช่นชื่อสักระวาก็เพราะร้องขึ้นต้นว่าสักระวา คำนี้ก็แปลไม่ออกเหมือนกัน ชื่อดอกสร้อยก็ได้ชื่อมาจากบทแบบที่ว่า “มาพบดอกสร้อยสวรรค์มาลัย” ชื่อเพลงเก่า ๆ ก็มักได้จากบทที่ร้องนั้นเอง เช่นเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน ก็ได้จากบทเรื่องสุวรรณหงส์ว่า “เจ้าพราหมณ์พินิจพิศหัวแหวน งามประดับกับแผ่นภูผา” เปนต้น คำว่า เสภา บางที่จะมีในต้นคำไหว้ครูที่สูญเสียนั้นประกอบกับอะไรให้เปนถ้อยความได้สักอย่างหนึ่ง แต่ความเห็นนี้ก็เปนแต่เทียบเคียงเท่านั้น จะเอาเปนหลักแน่ไม่ได้ ตกลงเปนขับเสภาทำไมจึงเรียกดังนั้นเปนอันยังไม่รู้ มีคนพยายามแปล สักระวาว่า สักวา ก็มี ว่า สักระวาที ก็มี ไม่ได้ลงเนื้อเห็นด้วยทั้งนั้น ถ้าจะเล่นแปลกันอย่างนั้น เสภา จะแปลบ้างว่า โสภา ว่าคำงามคำดีก็สนิทกว่านั้นเสียอีก

ทีนี้จะทูลความเห็นส่วนซึ่งทรงวินิจฉัยในมูลเหตุของขับเสภาว่ามาจากเล่านิทานนั้นถูกต้องแท้จิง แต่ที่ทรงแยกว่าที่เปนกลอนมาจากแต่งหนังสือนั้นไม่เห็นด้วยพระดำริห์อีก เห็นว่าหนังสือนั้นเปนทีหลังที่สุด เมื่อความจำเริญบังเกอดเต็มที่แล้วเสภาเดอมเปนเล่านิทานนั้น ยังมีเล่านิทานส่งปี่พาทย์อยู่เปนเพื่อน ท้องเรื่องก็เปนเรื่องอะไรที่ขันๆ ลงท้ายก็ผูกเปนกลอนสดร้องลำส่ง เช่น “หมาลาวมันเอาของเจ้าไป พี่ถือหอกไล่ทัพแตกทัพแตน” แล้วปี่พาทย์ก็รับ แต่เดอมเห็นจะไม่ได้รับปี่พาทย์ คงร้องเล่นเฉอย ๆ อย่างเดียวกับที่ทรงพระดำริห์ว่าเสภาเดอมคงเปนกลอน แต่ที่สำคัญเปนช่อง ๆ ฉนั้น แล้วคนว่ากลอนเชี่ยวชาญหนักเข้า ก็เลอยด้นเปนกลอนเสียทั้งเรื่อง เช่นเพลงดอกสร้อย แลสักระวา ที่สุดจนลครแต่ก่อนก็ด้น อ้ายโนรายังด้นอยู่จนทุกวันนี้ อ้ายที่เฃ้าสู่หนังสือนั้นเพราะคนเขลาด้นไม่ไหว แต่มีความทยานอยากอยู่ที่จะดีในทางนั้นบ้าง จึงนอนคิดจดกลอนที่คิดได้ลงเปนหนังสือ แล้วกลับท่องอีกทีหนึ่ง ไปว่าปากเปล่าอวดเขา เพื่อให้ทันคนที่ด้นแข็ง จึงเกอดมีหนังสือขึ้น ครั้นมีหนังสือขึ้น คนที่ไม่ใช่คนร้องคนขับได้อ่าน ที่มีปัญญากว่าเห็นว่ามันโทรมเตมที ก็เลอยช่วยแก้ช่วยแต่งให้ใหม่ คนจะขับจะว่าก็ดีใจท่องไปขับร้อง จึงเกอดจ้างวานกันแต่งขึ้น ภายหลังรู้กันทั่วแล้ว ว่าที่ร้องที่ขับกันนั้นเปนเครื่องแห้ง ก็เลอยละความปกปิด เอาหนังสือไปอ่านกันเอาดื้อ ๆ จึงเกอดเปนสองอย่างขึ้น คือว่าด้นอย่างหนึ่ง อ่านหนังสืออย่างหนึ่ง แล้วแต่ความสามารถของคน ตั้งแต่เทศน์มหาชาติลงไปถึงสวดเรื่องชาดก เสภา ลคร อะไรๆ เหล่านี้ มูลมาแต่เล่านิทานด้วยกันทั้งสิ้น แล้วจำเริญขึ้นเปนกลอนเปนหนังสือโดยลำดับ ที่เปนทำนองนั้นเปนธรรมดาที่จะประดิษฐให้เพราะ ถ้ายิ่งเปนร่ายเปนกลอน เปนอันที่มีเล่นอักษรมีสัมผัสมีครุลหุเปนของประณีต ทำนองก็ประณีตขึ้นไปตามส่วน จนคำพูดเฉอยๆ ก็ยังต้องเปนทำนองเช่นเทศนธรรมวัตร เล่านิทานก็ต้องจัดว่าเปนทำนองเหมือนกัน คือทำเสียงเล็กเสียงใหญ่ หนักเบา ออด กระโชก ให้สมกับท้องเรื่องเพื่อให้จับใจคนฟังทั้งสิ้นด้วยกัน เสภาที่ว่ากันก็หลายทำนอง ว่าเปนทำนองนิดหน่อยเอาแต่เสียงหนักเบา ให้สมบทก็มี ที่ว่าเปนพื้นเฉอย ๆ ไปก็มี ที่ว่าทำนองแหบหวลครวญครั่นไปมากก็มี ที่ยักย้ายเปนทำนองมอญเมงอะไรไปก็มี เหล่านี้เปนเหตุให้เห็นว่า ไม่ได้อาไศรยเพลงปี่พาทย์มโหรีเปนหลักทั้งนั้น

ถึงปี่พาทย์ก็เหมือนกัน เดิมก็ไม่มีเพลง ใช้เป่าด้นไปตามโวหาร ของใครก็ของใคร ปี่ชวาซึ่งเป่ากับกลองแขก ในเพลงสรหม่าและแปลงอยู่เดี๋ยวนี้ก็ด้น ปี่ไฉนที่เป่ากับกลองชนะแลประโคมยามก็ด้น ปี่นอกที่เป่าเชิดนอกอยู่เดี๋ยวนี้ก็ด้น เดอมทีเครื่องเล่นมีไม่กี่สิ่งจึงด้นได้ เครื่องปี่พาทย์ก็มี ๕ สิ่งจึงเรียกปัญจดุริยางค์ มีกลองสามใบ เป็นสามเสียง สูง กลาง ต่ำ เดี๋ยวนี้ฉลาดขึ้นร่นลงได้เปนสองใบ แต่คงมีสามเสียงอย่างเดอม กับเครื่องโลหะอย่างหนึ่ง จะเปนฉาบฉิ่งโหม่งเหมงอะไรก็ตาม สำหรับทำจังหวะ แลเครื่องลมอีกอย่างหนึ่ง คือปี่ฤๅขลุ่ยเปนอันมีสิ่งเดียวที่ทำเพลงได้ จึงด้นไปได้ เสียงปี่ที่ด้นไปตามโวหารจึงได้เรียกปี่พาทย์ เสียงพิณอันเปนเครื่องสายดีดด้นไปตามโวหารจึงได้เรียกพิณพาทย์ ภายหลังโหม่งเพิ่มขึ้นเปนสองใบอย่าง..... เสียงสูงต่ำตีสลับกัน แลก็เปนสามใบสี่ใบ พอถึงเจ็ดใบก็ทำเพลงได้ ฃ้างมอญยังเตอมกลองเปนเถา เลยเปนเพลงไปด้วยอีก ยังซ้ำกรับโกร่งก็ประดิฐขึ้นเปนระนาดอีก เครื่องที่ทำเพลงได้มากขึ้นเช่นนั้น ทีนี้เพลงก็ต้องจำกัดลูก ด้นไม่ได้อย่างที่เล่นอยู่ทุกวันนี้แล

อีกข้อหนึ่งซึ่งทรงเห็นว่า คนชอบเรื่องขุนช้างขุนแผนเพราะเปนเรื่องจิงนั้น ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่เห็นว่าจะเปนด้วยเปนเรื่องที่ไม่เปนไปตามใจหวัง ทำให้ใจผู้ฟังนั้นวับหวาบด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพราะเรื่องของไทเรา ใครในท้องเรื่องซึ่งน่ารักก็มีแต่ความดี ถึงจะมีอันตรายบ้างก็เพียงยักษมาลักเอาเมียไป นึกให้ทำอไรไม่ได้ก็ไม่ได้ นึกให้ฆ่ายักษตายได้นางกลับ ก็ตายก็ได้กลับสมนึก มันก็สิ้นสนุกไปในตัวเอง แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นนึกไม่สมนึกตบึงไป ตั้งแต่แรกพลายแก้วรักนางพิมพ์ขุนช้างก็รักพ้อง พลายแก้วน่าเอนดูแต่ขุนช้างมีเงิน นึกเอาใจช่วยให้พลายแก้วได้สมนึกก็จิง แต่เคราะร้ายต้องจากไปทัพ ขุนช้างก็ขวางเฃ้ามาให้ใจหวามอีก กลัวจะเสียทีแก่ขุนช้างเกือบตาย พลายแก้วกลับมาทันยังไม่ทันเสียตัว ช่วยดีใจเจียนตาย กลับเกอดความวิวาทกับลาวทองถึงตัดฃาดกัน ต้องเปนเมียขุนช้างด้วยจำใจ ฟังน่าสงสารแลเสียใจมาก ครั้นขุนแผนคิดถึงจะมาลอบลักพากลับไป ช่วยดีเนื้อดีใจ วันทองกลับไม่ไป อาไลยรักขุนช้าง มันขวางใจที่สุด ถ้าไม่มีมนต์ก็ต้องถึงฉุดคร่ากันจึงไปได้ เปนนานจึงได้รักใคร่ลงรอยกันอย่างเดอม นึกว่าจะเปนศุขกันเสียทีก็หาเปนอย่างนึกไม่ ขุนช้างถวายฎีการับสั่งให้หาเข้าไปชำระ ฟังเรื่องใจวับหวาม กลัวจะถูกตัดสินให้ได้แก่ขุนช้าง แต่มีหวังที่ขุนแผนเปนผัวเก่ามีทางจะได้แต่ก็ทำผิดไว้ เรื่องกลับหลีกไปเปนวันทองต้องถูกตัดหัว ร้ายไปกว่าอไรเสียหมด เรื่องมันขวางน้ำใจอยู่ดังนี้ ของเรามีอยู่เรื่องเดียวเท่านี้ ประกอบกับคำแต่งเหมือนเรื่องคนจิงจัง จึ่งชอบกันไม่รู้จืด

ข้อใหญ่ใจความที่ความเห็นแตกต่างไปหมดเท่านี้ จะฟังได้ฤๅไม่ก็แล้วแต่จะโปรด ทีนี้จะกราบทูลถึงแห่งที่วิรุธเล็กน้อยต่อไป

น่า ๑ เพลงเสภาขาดไปเพลงหนึ่ง ที่ถูกมี ๓ เพลงคือ เสภาใน เสภากลาง เสภานอก คำใน กลาง นอก นั้นมาแต่ปี่ คือปี่ที่ใช้มี ๓ ขนาด ขนาดใหญ่เรียกปี่ใน ขนาดกลางเรียกปี่กลาง เสียงสูงกว่าปี่ในเสียงหนึ่ง ขนาดเล็กเรียกปี่นอก เสียงสูงกว่าปี่กลางสามเสียง ชรอยเดอมเพลงในจะเป่าด้วยปี่ใน เพลงนอกจะเป่าด้วยปี่นอก ยังเหนท่าอยู่ได้ในการทำหนังเชอดนอกเป่าด้วยปี่นอกคนเดียว ไม่ตีฆ้องรนาด กลองก็มี ๒ คู่ ใหญ่คู่หนึ่ง เล็กคู่หนึ่ง ถ้าเพลงเชอดนอกกราวนอกตีกลองเล็กเสียงสูง ถ้าเชอดในกราวในตีกลองใหญ่เสียงต่ำ เข้าใจว่าแต่เดอมคงคิดจัดให้เสียงเพลงแปลกกัน อย่างฝรั่งจัดเพลงเซเลกชั่น ประเดี๋ยวใช้ขลุ่ยใหญ่ ประเดี๋ยวขลุ่ยเล็กฉนั้น แต่ปี่พาทย์เราเดี๋ยวนี้ ปี่มีกี่เลาก็เป่าพร้อมกันกับเครื่องอื่น ด้วยทั้งหมด ความนิยมอยู่ที่ว่าถ้าทำให้หูแตกได้เปนเก่ง

อันหนึ่งที่ทรงว่า เพลงเสภานอก เสภาใน เปนเพลงดนตรีนั้นผิด ดนตรีแปลว่าเครื่องสาย มีพิณเปนต้น ดุริยแปลว่าเครื่องปี่กลอง ประโคมดุริยดนตรี แปลว่า ทำทั้งปี่พาทย์แลเครื่องสายเกรียวกราวขึ้นพร้อมกัน เพลงเสภาสามทางเปนเพลงที่ปี่พาทย์ทำฝ่ายเดียว จึงควรเขียนว่า “เพลงปี่พาทย์” แทนที่ “เพลงดนตรี”

น่า ๑๔ กลอนไหว้ครู สงไสยว่าจะผิดอยู่แห่งหนึ่งที่ “มาเมื่อพระองค์เธอทรงใช้” ใช้อไร เห็นความเลื่อนลอยอยู่กลัวจะเปน “มาเมื่อพระองค์ทรงไชย” ฤๅ “มาเมื่อพระองค์ผู้ทรงไชย” ในวรรคนั้นดูไม่น่าจะมีความอย่างอื่นอีก นอกจากว่าถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ก็เกิดคนดีขึ้นมาก สังเกตสำเนากลอนไหว้ครู ดูประหนึ่งว่าผู้แต่งจะเปนศิษย์ครูมาพระยานนท์

น่า ๑๕ อ่านความที่กล่าวถึงกรมหลวงพิทักษมนตรีทรงคิดท่ารำดูเหมือนจะทำให้เฃ้าใจไปว่า บรรดาท่าลครที่รำกันอยู่ในกรุงสยามนี้ กรมหลวงพิทักษมนตรีทรงคิดตั้งเปนแบบบัญัติขึ้นทั้งสิ้น แต่ที่จิงไม่ใช่เช่นนั้น ที่จะต้องคิดนั้นมีแต่ที่ทำบทตามคำร้อง กับทำท่าบทใบ้ เปนรำเชอดฉิ่งตัดดอกลำเจียกเปนต้น ท่ารำเพลงช้าเพลงเร็ว เชอดกลองเชอดฉิ่งอไรเหล่านั้นมีแบบแผนมานานแล้ว ที่คิดก็คิดเลือกเอาท่าในแบบเหล่านั้นเอง ว่าท่าไหนจะสมกับทำที่ร้อง ฤๅสมกับที่จะตัดลำเจียกเอามาใช้มาแทรกให้ดูติดต่อกันได้ ไม่ให้เห็นขัดขวางเท่านั้น ควรจะแก้คำเสียอย่าให้เข้าใจผิดได้จะดี จะเปนว่ายกย่องเกินไปจนเหลือเชื่อ ใช้คำว่า “จัด” แทน “คิด” เห็นจะพอฤๅ “คิดจัดท่า” ก็ได้

น่า ๒๑ บรรทัดแรก ที่ว่า “เสภาจึงวิเศษในกระบวรหนังสือกลอนแปด” นั้น เกล้ากระหม่อมไม่ชอบคำว่า “แปด” เหตุว่าคำกลอนนั้น ๖ ก็มี ๗ ก็มี ๘ ก็มี ๙ ก็มี กลอนรัชกาลที่ ๑ มี ๖ แล ๗ อักษรเปนพื้น ๘ อักษรน้อยนัก มาถึงรัชกาลที่ ๒ มี ๗ แล ๘ อักษรเปนพื้น มาถึงรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ มี ๘ อักษรเปนพื้น แลมากขึ้นถึง ๙ อักษร มาถึงรัชกาลที่ ๕ มีตั้งแต่ ๘ ถึง ๑๑ อักษรก็ถึง คำที่เรียกกลอนแปด กลัวจะเรียกในรัชกาลที่ ๔ ฤๅที่ ๕ นี้เอง กลอนเสภาเปนของเก่ากว่านั้น กลอนมี ๗ อักษรมากเช่นตัวอย่างที่ทรงเขียนลงไว้ “เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง ฉากสองชั้นม่านมู่ลี่มี” ไม่ควรใช้คำว่ากลอนแปดให้ผิดไป เรียกแต่ “กลอน” เท่านั้นจะพอกระมัง

น่า ๒๘ เรื่องราวของเพ็จฉลู ที่ทรงเรียงไว้ว่าเพลงสร้อยสนนั้นพลาดไป สร้อยสนเปนเพลงมโหรี เสภาเขาไม่ส่งกัน ที่แท้นั้นคือเพลงตเข้หางยาว ได้แก้ลงไว้แล้ว

หน้า ๓๔ คำไหว้ครูที่ทรงลงไว้เปนตัวอย่างนั้นเขลาเตมทน จำอไรได้ก็เก็บยัดลงไป ความไม่ติดไม่ต่อกันก็เอา “คงคายมนา” ที่ทรงทักไว้ว่าเปนของเก่านั้น เฃาเห็นจะว่าตั้งต้นแต่สร้างโลกมา คงยืดยาวมาก คนเบื่ออยากจะฟังเรื่องจึงต้องตัดทิ้ง จนเลอยลืมเสียหายหมด ไหว้นารายณ์ก็ซ้ำสองหน หนแรกชึ่งมีคำว่า “ไวกูณฐ์มาเปนพระรามา” นั้น บากทางว่าจะเนื่องเข้าเรื่องรามเกียรติ คงขโมยมาจากคำเบอกหน้าพระที่เฃาจะเล่นหนัง พระวิศณุกรรม์สาบสรรพ์เครื่องเล่นนั้นก็จนความรู้เต็มทน

ได้ถวายต้นร่างคืนมานี้แล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ