วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ น

บ้านปลายเนอน คลองเตอย

วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อมขอถวายความเห็น เรื่องชื่อเครื่องช้างสองอย่าง ซึ่งรับสั่งถามมานั้น

“พระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์” คำนี้ จะเปนช่างผูกเครื่องชนิดใดได้เคยสงไสย แลได้เคยสืบถาม ได้รับคำชี้แจงมาแล้วเปนสองอย่าง อย่างหนึ่งว่าอันเดียวกับ “พระที่นั่งหลังคาทอง” คือที่เปนวอนั้นเอง อีกอย่างหนึ่งว่าที่ผูกเครื่องมีผ้าลายทองปกหลังทรงฅอนั้นแล ยังไม่มีธุระที่จะต้องรูแน่ก็เลยนิ่งไว้ที

เมื่อได้รับสั่งปฤกษา จึงจับติดใจขึ้นอีก แต่ไม่ค้นหนังสือ กลัวเสียเวลาเปล่า ไม่ได้ความรู้จิง เพราะธรรมดาคำใช้ย่อมทำให้ความเข้าใจเดิรผิดไปได้เสมอ ทั้งผู้แต่งหนังสือไม่รู้พอ ว่าไปตามบุญตามกรรม จะคลำเอาความจริงก็มีแต่เหลว ดังจะยกตัวอย่างเช่นว่า จามร ถ้าจะค้นในหนังสือ เช่นพระราชพงษาวดารเปนต้น ก็จะพบว่า “กลิ้งกลดบังแทรก สลับสลอนจามรมาศ” ถ้าจะคลำไปตามคำนั้น ก็ได้ความแต่ว่าจามรนั้นทำด้วยทอง แต่รูปร่างจะอย่างไรใช้ทำอะไร อยู่ตรงไหน ไม่ได้ความทั้งสิ้น ถ้าถามคนทุกวันนี้ก็ถูกชี้เอา อ้ายแผ่นที่อินทร์พรหมถือ ครั้นดูกระบวรแห่เสด็จ อ้ายแผ่นนั้นก็กลายเปนพุ่มดอกไม้ทองเงินไปเสียอีก ตกลงไม่รู้อะไรแน่ จนดิกชันเนรีภาษามคธ เพราะจามรนั้นเปนคำมคธ จึงได้ความว่าเปนแส้ขนจามรสำหรับปัดแมงวัน มันคลาศเคลื่อนไกลดังนี้ ที่แท้อ้ายแผ่นที่อินทร์พรหมถือที่จะเปนบังแทรก สำหรับช่วยบังสูรย์ จามรแต่ก่อนเห็นจะใช้ในที่พัดโบก เพราะเหตุมีคลาศเคลื่อนอยู่อย่างนี้ จึงไม่ใคร่วางใจเชื่อหนังสือแต่งแลคำบอกเล่า ชอบจะคิดเอาเองตามธาตุของคำนั้น เอาเหตุผลประกอบ เชื่อว่าเปนทางไกลที่จะถูกได้มากกว่า

“ปฤษฎางค์” คำนี้ เราเคยแปลกันว่าหลัง แต่สงไสยพลิกดิกชันเนรีสันสกฤตดู คำที่ผสมแล้วเปน “ป๎ฤษ์ฎาง์ค” ไม่มี คำว่า หลัง ก็เขียนเปน “ป๎ฤษ์ฐ” ไปเสีย คำ “ป๎ฤษ์ฏ” มีอยู่ แต่จะต่อเข้ากับ”อัง์ค” จะได้ฤๅไม่ได้ จะเปนภาษาที่ถูกต้องฤๅไม่ แลจะแปลได้อย่างไร ไม่มีความรู้พอ จะเดาไปก็จะมีแต่ผิด จึงต้องทิ้งความพยายามที่จะแปลคำให้ได้โดยตรงเสีย อย่างไรก็ดี คำ “ปฤษฎางค์” แปลว่า หลัง นั้นผิดแน่ แต่จะไม่ได้ทำให้เสียรอยไป คำว่า “พระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์” นี้ คงจะผูกขึ้นเมื่อเข้าใจผิดไปแล้วว่า “ปฤษฎางค์” แปลว่าหลัง คำบอกที่ว่า “พระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์” เปนเครื่องลาดผ้าบนหลังนั้น เฃ้าทีหนักหนา ผ้าปูหลังนั้นถ้าไม่สำหรับนั่งจะลาดทำไม ชั้นแรกเจ้าคงนั่งกลางบนผ้านั้น ให้หมอควานเฃาขับไป ถึงจะรบก็ได้เปนไรมี ก็เหมือนรบบนรถซึ่งมีสารถีขับฉนั้น ช้างดั้งที่มีคนถืส้าวขี่กลางก็ยังมีใช้มาจนชั้นหลังนี้ ทีหลังเหนนั่งไม่สบาย จึงคิดทำวอขึ้นนั่ง แลรบก็เหนจะถนัดขึ้นด้วย เพราะที่นั่งสูงขึ้นไม่กีดหัวหมอ การที่เจ้าออกขี่ฅอนั่นเห็นจะมาแต่อยากทรงสปอต มีคล้องช้าง เล่นเสือเปนต้นก่อน ครั้นเห็นว่าขี่ฅอทำอะไรได้คล่องใจ จึงกลายเปนเจ้าขี่ฅอ เอาคนที่ถูกพระไทยขึ้นกลางช้าง ให้รักษาอาวุธคอยส่งเปลี่ยนใช้ตามช่องที่ต้องการ แลช่วยรบก็ได้ ถ้าควานตายแทนควานได้ด้วย เครื่องพระคชาธารที่ปักฉัตรนั้นเกะกะเหลวไหล เหนจะคิดขึ้นใหม่ ๆ สำหรับแห่เล่นงาม ๆ เท่านั้น รูปเขียนเรื่องต่าง ๆ ที่มีรบก่อนยุครัชกาลที่ ๕ นึกไม่ออกว่าได้เคยพบเขียนฉัตรปักบนสับประคับมีที่ไหน คิดดูเหนว่าถ้าผูกเครื่องพระคชาธารอย่างทุกวันนี้เข้ารบ เปนต้องแพ้คนที่ผูกแต่เครื่องหมั้นเปนแน่ เพราะเกะกะแลหนัก ทำให้ช้างแล่นเลี้ยวไม่คล่อง ถึงหากจะขืนขับแล่นเลี้ยวไป ที่แรกฉัตรจะต้องหักสบั้นไปก่อน แลอีกไม่ได้เท่าไรสับประคับก็จะลงมาห้อยอยู่ใต้ท้อง ทำให้ช้างเดิรไม่ได้ เฃาก็เลือกฟันเล่นตามสบายตายเท่านั้น เชื่อว่าที่รบกันมาแต่ก่อนใช้ช้างหลังเปล่าเปนแน่ กลางช้างก็อย่างช้างดังนั้นแล คชาธารแปลว่า ช้างทรง ถึงจะไม่ผูกสับประคับปักฉัตรก็เรียกได้ไม่ขัด “พระที่นั่งหลังคาทอง” นั้น ตรงด้วยวอเปนแน่แท้ จะเปนกูบไม่ได้ เพราะวอรูปเปนหลังคา กูบนั้นได้แก่ที่เรียก “กระโจมทอง” คำว่า “ปฤษฎางค์” นั้น เราเคยเข้าใจกันแต่ว่าหลังไหล่ฤๅเบื้องหลัง ไม่เคยใช้ในที่เปนหลังคาฤๅเพดาล เพราะฉนั้น “พระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์” เชื่อว่าคำบอกที่ว่า เปนช้างผูกเครื่องมีผ้าปูหลังนั้น เห็นจะถูกแน่

“พระที่นั่งละฅอ”คำนี้ เปนภาษาไม่ดี ทรงช้างไม่มีหมอขี่ฅอไม่ได้ ถ้าทรงฅอเปนหมอเอง ก็ไม่ได้ละฅอ คำนี้เกิดจากคำ “ขี่ละฅอ” ซึ่งต้องขี่วิธีนั้นเมื่อเอาช้างมาเข้าประจำเกยคอยรับเสด็จ เปนการที่บังคับช้างยากผิดกว่าปกติ จึงเปนข้อที่คุยอวดดีกัน ว่าขี่ละฅอได้ ภายหลังเห็นเก๋หนักขึ้น จึงเลยอวดดีเอาขี่แห่โดกเดกไปตามถนนหนทางไกล ๆ กลายเปนพระที่นั่งละฅอมีเกิดขึ้น ผู้รู้จะมีความรำคาญใจ เห็นว่าเปนภาษาไม่ดีดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงเรียกแก้เสียใหม่เปน “พระที่นั่งเถลองสอ” สองชื่อนี้เปนอันเดียวกัน คือสุวรรณปฤษฎางค์นั้นเองกระมัง

คิดด้วยเกล้า ฯ เหนดังนี้ อาจจะผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แล้วแต่จะทรงเลือกเอาตามพระดำริห์ที่เหนสมควร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ