วันที่ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ น

ท่าพระ กรุงเทพฯ

วันที่ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

การกำหนดสมัยผ้าซึ่งอึดอัดใจอยู่แล้วนั้น มามีเหตุทำให้หกขเมนไม่รู้จะไปทางไหนเกิดขึ้นอีก คือเฃารื้อหีบผ้าของแม่ออกตาก ไปเห็นเฃ้าใจหาย มีผ้าเปนหลายอย่าง ที่เคอยเข้าใจว่าเปนผ้าครั้งกรุงเก่า แลรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ แลมีเจ็บปวดจนยังไม่ได้นุ่ง ตราผ้ายังอยู่ ได้คัดส่งมาถวายทอดพระเนตรเปนตัวอย่างบ้างในบัดนี้ จัดเปน ๖ อย่าง คือ

๑. ผ้านุ่งลายอย่างมีเชองมีชาย

๒. ผ้านุ่งจำลองลายอย่าง ชนิดมีเชองมีชาย

๓. ผ้านุ่งนอกอย่างปลอมลายอย่าง ชนิดมีเชองมีชาย

๔. ผ้านุ่งลายอย่าง ชนิดมีชายไม่มีเชอง

๕. ผ้านุ่งจำลองลายอย่าง ชนิดมีชายไม่มีเชอง

๖. ผ้านุ่งนอกอย่างปลอมลายอย่าง ชนิดมีชายไม่มีเชอง

๗. ผ้าห่มนอนจำลองลายอย่างมีเชองรอบ

ฝ่าพระบาทย่อมทรงทราบฐานของแม่อยู่แล้วว่าเปนอย่างไร ที่จะได้รับมฤดกของเก่าแก่ของใครมานั้นไม่มี ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเปนของที่สะสมขึ้นในชั่วตัวทั้งสิ้น เพราะฉนั้น เปนการแน่ใจที่สุด ว่าผ้าเหล่านั้นต้องเปนของในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ทั้งสิ้น หากจะพลาดเปนของเก่ากว่านั้นก็ได้เพียงเปนรัชกาลที่ ๓ ซึ่งของครั้งนั้นจะมีตกค้างอยู่ก้นร้านได้ จะเปนหลักทอดพระเนตรเทียบเคียงกับของในหอพระสมุดได้ว่าผิดกันเพียงไร เปนการยากยิ่งเสียจิงแล้วที่จะประมาณอายุผ้า ตามทางที่เคอยกะสังเกตเอากระบวรผูกลายนั้นไม่ได้เสียแล้ว ดูผ้าลายอย่างที่ส่งตัวอย่างมาถวายนี้ ลายเชองและชายงามเหมือนผ้าเก่า ที่ส่อให้เห็นว่าเปนรัชกาลที่ ๔ แต่ที่ดอกในพื้นผ้าเล็กไปเท่านั้น สันนิฐานเห็นได้ว่าก่อนที่จะเขียนอย่างนั้น เอาผ้าเก่ามาดู ลายเชองลายชายชอบของเก่าแล้วลอกเอาแต่ลายพื้นของเก่า ใหญ่ไม่ชอบใจตามสมัย จึงให้ช่างเขียนร่นลงเปนเล็ก ๆ คงจะได้ถ่ายถอนกันต่อ ๆ มาเช่นนี้ทุกสมัย เพราะฉนั้นจึงเปนการยากที่จะพยากรณ์ให้ถูกได้ในเชองท่วงทีลาย ยังที่สังเกตเนื้อหยาบเนื้อลเอียดก็อาจจะผิดมากเหมือนกัน เมื่อเห็นผ้าของแม่ พาให้นึกขึ้นได้ว่าพระภูษาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า แลสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานเกล้ากระหม่อมไว้มีอยู่ จึงเชอญออกมาดู ได้ถวายมาทอดพระเนตรด้วยนี้แล้ว แต่พระภูษาเปนของคัดเอาแต่ที่ดีแล้วเนื้อยังหยาบลงปานนั้น ผ้าคนชั้นต่ำต้องหยาบยิ่งกว่านั้นมาก ที่ได้ทำนายไปแล้วว่า เปนผ้าสมัยกรุงเก่าเปนกองสองกองนั้นเห็นจะผิดเกือบหมด แต่นี้ไปในสลากตรงช่องสมัยคิดจะว่างไว้ก่อน ค่อยตรวจตราไป ต่อแน่ใจจึงลงไปทีละผืนสองผืน จะได้ไม่ผิดเสียกระดาษ

ในการที่จะพยากรณ์สมัยผ้า จะต้องหาหลักอื่นประกอบความเปนมาของผ้า คิดว่าจะเปนดังนี้ได้ฤๅไม่

ชั้นที่ ๑ ผ้าขาว คือแรกทำผ้าได้ คงใช้เนื้อฝ้ายตามปรกติก่อน ครั้นนุ่งไปเปื้อนเปรอะจึงย้อมสีกลบ กลับเห็นเปนงาม จึงเกอดนุ่งผ้าสีกัน

ชั้นที่ ๒ ผ้าพื้นเกิดจากการย้อมสี เมื่อทอแล้วนั้นไม่สนิท เพราะสีเฃ้าในซอกเส้นด้ายไม่ค่อยทั่ว จึงคิดย้อมด้ายเสียก่อนแล้วจึงทอ

ชั้นที่ ๓ ผ้ามีน่า เกอดจากด้ายที่ย้อมไว้ไม่พอผ้าผืนหนึ่งฃาดไปหน่อย จึงเอาสีอื่นพุ่งต่อ กลับเห็นงาม จึงเกอดมีชายต่างสีขึ้น

ชั้นที่ ๔ ผ้าริ้วผ้าตา เกอดจากสลับชายได้ ก็คิดสลับสีทั้งตัวต่อไป

ชั้นที่ ๕ ผ้าลาย มีกระบวรทำสามวิธี คือ

๑. ลายปัก คงเกอดจากเย็บ เมื่อตรงด้ายก่ายกันปนตีนกาก็ทำให้เห็นเปนที่ดอกสี่กลีบ เกอดปัญาซ้ำเตอมเข้าก็เปนดอกสี่กลีบชัด แล้วก็ลามไปเปนดอกหกกลีบ แปดกลีบ เปนใบ เปนก้าน สำเร็จเปนลายเครือไม้

๒. ลายปูม เกอดจากทอด้ายควบ คือเอาด้ายสีต่างกันตบิดทอด้วยอำนาจความลักลั่นเปนลายไปต่าง ๆ ทำให้เกอดปัญา ย้อมด้ายให้ต่างสีกันเปนท่อน ๆ ทอให้เฃ้าประจบกินเปนลายตามความคิด

๓. ลายยก คงเกอดจากผูกด้ายตกอไม่ตึงเสมอกัน พุ่งกสวยฃ้ามไปเส้นหนึ่งฤๅสองเส้นสามเส้น ก็เกอดวิรุทธผุดขึ้นเปนตำนิ ทำให้เกอดปัญาคิดยกตกอให้ลักลั่นอยู่ในบังคับ เลอยเปนลายไปตามความคิด

ลายสามวิธีนี้อย่างใดจะเกอดก่อนอย่างใด ประมาณไม่ถูก

ชั้นที่ ๖ ผ้าตีพิมพ์ คงเกอดจากแขกเอาผ้าส่านเข้ามาขายเห็นงามคล้ายผ้าปักผ้ายก จึงซื้อห่มแทนด้วยไม่ต้องเหนื่อยแรงทำ แต่ยังไม่ค่อยพอใจที่ลายไม่เหมือนผ้าไทแท้ เจ้าแขกจึงรับอาสาสั่ง ทีแรกเห็นจะเอาผ้ายกผ้าปักส่งไปเปนตัวอย่าง จึงมีผ้าลายเทียมปักเทียมยก อันมีตัวอย่างอยู่ที่หอพระสมุดแล้ว ภายหลังอยากให้งามยิ่งขึ้น จึงเขียนลายตามชอบใจ ไม่ต้องเหมือนปักเหมือนยก สุดแต่ให้งามเต็มใจ ส่งลายนั้นไปเปนอย่างทำเฃ้ามาถึงเกอดมีผ้าพิมพ์ลายอย่างขึ้น

ผ้าพิมพ์ลายอย่างซึ่งเปนผ้านุ่ง ตามที่เห็นมาแล้วมี ๔ ชนิดคือ

๑. ผ้าท้องแดง มีเชองลาย มีชายกรวยหลายชั้น แต่เห็นจะมีอีกหลายสี เคอยเห็นหนังสือมีว่า “ภูษาพื้นตองทองพรรณ” เห็นจะได้แก่ผ้าชนิดนี้

๒. ผ้าท้องลาย มีเชองมีชายกรวยหลายชั้น

๓. ผ้าท้องลาย มีเชองแถบ ๆ ชายกรวยชั้นเดียว

๔. ผ้าท้องลาย มีชายกรวยชั้นเดียว ไม่มีเชอง ผ้ากรวยหลายชั้นทีจะสำหรับผู้ชายนุ่ง ผ้ากรวยชั้นเดียว ทีจะสำหรับผู้หญิงนุ่ง ฤๅนัยหนึ่งผ้ากรวยสามชั้นจะสำหรับนุ่งเวลาออกงานการทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผ้าชายกรวยชั้นเดียวสำหรับนุ่งตามปกติทั้งผู้หญิงผู้ชายก็เห็นจะเปนอย่างหลังนี้มากกว่า

ผ้าลายอย่างซึ่งเรียกในที่นี้ หมายความจำเพาะผ้าที่เปนลายไท ผูกงามเฃ้าแบบแผน เฃ้าใจว่าเปนของพระเจ้าแผ่นดินฤๅผู้มีบันดาศักดิ์ คัดช่างฝีมือดีทำตัวอย่างสั่ง นอกจากนั้น ยังมีผ้าอีกสองจำพวก จำพวกหนึ่งลายไทเหมือนกันแต่ไม่งาม ฤๅบางทีคลาศเคลื่อน เฃ้าใจว่าคนอยากได้ผ้าลายอย่างกันมากเข้า แขกก็หาช่างเถื่อนเขียนอย่าง ฤๅหาผ้าลายอย่างส่งไปเปนอย่างสั่งเฃ้ามา ลายจึงทรามไป ในที่นี้จะตั้งชื่อผ้าชนิดนั้นว่าผ้าเลียนลายอย่าง อีกจำพวกหนึ่งเปนลายแขกปนไท เข้าใจว่าเจ้าแขกสั่งให้ทำเฃ้ามาตามเคอย อ้ายที่นอกทำพิมพ์หายหกตกหล่นเสียบ้าง ทำพุ่งเข้ามาให้ตามที่จำเค้าได้ เรียกกันว่าผ้านอกอย่าง ก็ควรอยู่แล้ว ผ้าเลียนลายอย่าง แลผ้านอกอย่าง ทั้งสองจำพวกนี้ มีเหมือนผ้าลายอย่างทุกชนิด เว้นแต่อย่างท้องพรรณไม่เคยเห็น ถ้าถึงคราวแห่โสกันต์แล้วเอาผ้าขาวดามกัน

ผ้าพิมพ์นี้ เข้าใจว่าเกอดขึ้นไม่นานนก รูปภาพในสมุดพระธรรมครั้งกรุงเก่ายังได้เคอยเห็นมีนางบำเรอนุ่งผ้าตาโถง ลงมาจนชั้นกรุงเทพ ฯ คนพลเรือนที่มีอายุสูงก็ยังนุ่งผ้าตาเล็ดงาตาบัวปอก เปนการเจียมตัว ผ้าลายดูจะเปนสำหรับนางใน แลพลเรือนสาวๆเห่อตาม อย่างเช่นทุกวันนี้ คนชั้นผู้ใหญ่ถูกแต่งตพายแพรแล้วมักจะบ่นตุบตับๆ เปนตัวอย่างให้เห็นได้ว่าผ้าลายพิมพ์เกอดขึ้นใหม่ ยังไม่ได้ใช้แพร่หลายไปมากนักในชั้นกรุงเก่า บ้านเมืองที่ใกล้เคียง เช่นพม่ามอญลาวก็ไม่ได้ใช้ผ้าพิมพ์อย่างเรา

อันนี้เปนลำดับอายุผ้าโดยเดา ตามที่ควรจะเปน แต่ชั้นไหนจะตกอยู่ในราวร้อยปีที่เท่าใดพูดอย่างฝรั่ง ยากที่จะกำหนดลงได้ แต่เห็นจะมีทางจะหาหลักได้บ้าง คือตรวจหนังสือเก่า ๆ ฝ่าพระบาทได้ทรงมาก บางทีจะทรงช่วยจับหลักประทานได้ เช่น ในหนังสือฝรั่งต่าง ๆ ที่เขาเขียนครั้งกรุงเก่า เฃาคงกล่าวว่าคนนุ่งห่มอย่างไรกันไว้บ้าง

ผ้าของแม่ ถ้าผืนใดต้องพระไทย ทรงเห็นเปนประโยชนที่จะเก็บไว้เปนตัวอย่างในหอพระสมุด ก็ถวายด้วยความเต็มใจ ที่กรอบฃาดนั้นมีเปลี่ยน ที่ส่งขาดมาถวายทอดพระเนตร เพื่อให้เห็นว่าเปนของใหม่ยังไม่ได้นุ่ง แป้งยังอยู่จึงพาให้กินตัวกรอบไป ที่นุ่งแล้วได้ซักน้ำแล้วอยู่ดีบริบูรณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ