บันทึกความเห็นเรื่องตั้งโต๊ะเครื่องบูชาและลักษณการเล่นโต๊ะ

บันทึกความเห็นเรื่องตั้งโต๊ะเครื่องบูชา

น่า ๒. “ตรงกลางตั้งกระถางเผา” คนไม่รู้จักเล่นโต๊ะจะเข้าใจไปว่า ตั้งตรงกลางโต๊ะก็ได้ ควรใช้คำว่า “รหว่างกลางตั้งกระถางเผา”

น่า ๔. ตรงที่แก้ลงไว้ว่า “เปนของต่าง ๆ” นั้น ซ้ำคำกับวรรคน่า เมื่อสิ้นคำว่า “แล้วแต่จะเห็นว่าอะไรดีงาม” แล้วฆ่า ฃ้ามไปต่อ “ที่สุดจนตุ๊กกระตา” ก็พอทีเดียว

น่า ๑๗. ซึ่งว่าด้วยตั้งโต๊ะกิมตึ๋งอย่างซัดนั้นสงไสยอยู่ เอาขวดซัดแซกเฃ้าอีกชิ้นหนึ่ง ฤๅเอาขึ้นแทนขวดปักดอกไม้ ความตามที่พิมพ์ไว้เดิมดูเปนเอาขึ้นแทนขวดปักดอกไม้ แต่ตกแก้ดูเปนเพิ่มขวดซัดขึ้นอีกชิ้นหนึ่ง ทำไมจึงต้องเพิ่มแถวหลังเปน ๖ ชิ้น จะไม่แน่นไปฤๅ ฤๅตั้งเบี่ยงบ่ายอย่างไรก็ควรจะว่าเสียให้ชัดหน่อยดี เกล้ากระหม่อมรู้ไม่พอ ทอดพระเนตรตรวจตรงนี้อีกสักทีจะดี

น่า ๒๕. บาญชีชื่อเจ้าของโต๊ะ ชื่อเดิมพระยาสุนทรพิมลขีดไว้เข้าใจว่ายังสืบไม่ได้ ทูลได้ว่าชื่อเผล่

น่า ๓๔. “เดียรี” นั้นลึกจิง ที่ทรงเดาไว้ว่าเห็นจะเปน “เยลี” นั้น ก็ไม่ใคร่เห็นตาม ชิ้นอะไรใครใส่เยลี เอาไปตั้งแรไว้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง มันจะไม่ไหลเปรอะปฏิกูลไปฤๅ ฤๅจะเปน “เดียรดี” หมายความว่าของกินดี ๆ เกลื่อนกลาด เดาถวายมาเผื่อเลือกอีกอย่างหนึ่ง

น่า ๓๕. “เทพปรู” คำนี้ก็ตกอีก ไม่ทราบว่าหมายความว่าอะไร เพลงยาวโตผักชีนี้เตมทน กลอนก็เลว เฃลา เฃ้าใจก็ยาก ข้อนข้างจะเปลืองกระดาษพิมพ์ เฃ้าทีอยู่นิดเดียวที่เปนพูดล้อ ๆ ทำให้มีสนุกอยู่บ้าง ถ้าหาไม่แล้ว จะถวายความเห็นให้ตัดออกเสียทีเดียว

น่า ๔๓. บาญชีรายชื่อกรรมการ มีพระยาวุฒิ พระยาสวัสดิ พระบริบูรณ ซึ่งควรจะมีหมายต่อในวงเล็บ ว่าเจ้าพระยาวิชิต พระยาโชฎึกฟัก พระยาโชฎึกฮวด กันเฃ้าใจไขว้เขว

น่า ๔๘ ที่อ้างว่า “เปนหอพระสมุดวชิรญาณอยู่ทุกวันนี้” เปนคำที่เกินเวลาไปเสียแล้ว

บาญชีการงานต่างๆที่ได้ตั้งโต๊ะนั้น ถ้าคนที่ไม่ใช่นักเลงเล่นโต๊ะอ่านจะมืดมนอนธการนักในชื่อชนิดโต๊ะ ที่เรียกโต๊ะใหญ่ โต๊ะกลาง โต๊ะเล็ก โต๊ะโขก โต๊ะยักษ ฯลฯ เห็นว่าทำคำแปลชื่อชนิดโต๊ะเสียด้วยจะดี ขออาราธนาฝ่าพระบาททรงแต่งเติมอีกท่อนหนึ่ง แทรกลงระหว่างหลังท่อนที่กล่าวถึงการตั้งโต๊ะแรก ก่อนถึงบาญชีงานตั้งโต๊ะ กล่าวถึงชนิดโต๊ะที่ได้จัดตั้งต่อมา ชั้นแรกเปนโต๊ะสองตัว คือสี่เหลี่ยมมีขวางหลัง เรียกว่าโต๊ะใหญ่ เพราะเหตุใหญ่กว่าโต๊ะตัวเดียวที่ตั้งเครื่องบูชาตามธรรมดาที่โรงเจ๊กเช่นกล่าวแล้วข้างต้น ครั้นถึงงานเล็กน้อยไม่ควรแก่ที่จะตั้งโต๊ะใหญ่ฤๅที่ไม่พอ จึงจัดตั้งโต๊ะตัวเดียวซึ่งควรจะเรียกว่าโต๊ะเล็ก แต่ไม่เรียกเช่นนั้นเพราะทรงเลือกชิ้นเล็ก ๆ ทำโต๊ะมิเนียเชอขึ้นตั้งงานฃ้างใน เรียกว่าโต๊ะเล็กมีเสียแล้ว จึงเรียกว่าโต๊ะโขก อาไศรยเหตุตามที่พระญวนสวดกงเต๊กแกโขกเปรี้ยง ๆ เห็นอยู่ด้วยกันเล่าแปลไปตามทำนองนี้ดูก็จะสนุกดี ถึงโต๊ะยักษยังมีวิธีเล่นออกชิ้นประกอบเข้าไปได้อีกด้วย วิธีจัดตั้งชนิดไรเกิดขึ้นปีใดมีด้วยเสร็จ ก็เปนจดหมายเหตุอย่างดีท่อนหนึ่งเหมือนกัน แล้วจึงถึงบาญชีงานตั้งโต๊ะ ผู้อ่านก็เปนที่เข้าใจไสวสว่างดีได้.

----------------------------

บันทึกความเหนในภาคลักษณการเล่นโต๊ะ

น่า ๕. ตามสำเนาความซึ่งกล่าวยืนยันว่าญี่ปุ่นปลอมของจีนนั้น เกล้ากระหม่อมไม่เต็มใจด้วยเลย เพราะไม่ค่อยเชื่อว่าจะเปนเช่นนั้น จีนมันก็ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมันก็จีน จะว่าเปนชาติเดียวกันก็เกือบจะว่าได้ อะไรมันก็เหมือนกันทั้งนั้น แต่ที่จิงนั้นผิดกันอยู่บ้างพอสังเกตได้ เช่นมังกรจีนเขียน ๔ เล็บ ๕ เล็บ มังกรญี่ปุ่นเขียน ๓ เล็บ เปนต้น เปนแบบของเฃาดังนั้น ไม่ใช่ตั้งใจปลอม ชิ้นที่ลายแปลกตาจากของจีนไปบ้าง แต่มีญี่ฮ่อไต้เหมงนั้น อาจจะเปนของจีนจิง ๆ ไม่ใช่ญี่ปุ่นปลอมก็เปนได้ ธรรมดาฝีมือเขียนเก่าใหม่มันเดิรเปลี่ยนแปลก ถ้าได้ศึกษามีความรู้พอแล้ว อาจจะรู้ได้จิง ๆ ว่าชาติใดเขียน แลบอกได้ด้วยอีกว่าอายุประมาณเท่าใด อีกประการหนึ่ง แม้ถึงชาติเดียวกัน แต่บ้านเมืองอยู่ห่างไกลกัน ฝีมือก็ยังต่างกันได้ เช่นว่าเก๋งจีนฤๅถะเปนต้น ที่ทำทางปักกิ่งกับทางกวางตุ้งมันเหมือนกันเมื่อไร เห็นว่าโลกของกรรมการเล่นลายครามนั้นแคบนัก มีแต่กังไสกับญี่ปุ่นสองเมืองเท่านั้น ภายหลังค่อยฉลาดขึ้นอีกหน่อย มีเกาหลีเข้ามาเติมอีกเมืองหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ถึงชิ้นที่แปลกตาแล้วเถียงกันแทบตายไม่ตกลงทุกที นั่นเปนสักขีปรากฎให้เห็นได้ว่าความรู้ไม่พอ เมื่อความรู้ไม่พอมันก็เปนยังโง่อยู่เท่านั้น ก็ควรแลฤๅที่จะกล่าวยืนยันไปตามความโง่ จะเอาความจำเริญมาแต่ไหน เพราะเหตุเช่นนี้จึงไม่เต็มใจให้กล่าวยืนยันเปนหมั้นคง อยากให้ทรงแก้ความตอนนั้นเสียหน่อยหนึ่ง ให้เปนว่าพวกเล่นลายครามซึ่งเปนกรรมการถือกันว่าเปนเช่นนั้น อย่าให้ปรากฎเปนกล่าวด้วยความรู้ความเห็นแห่งพระองค์เองจะเปนการดี เห็นดังนี้แล้วแต่จะโปรด

น่า ๑๗. ลายที่ ๑๑ ความยังว่างค้างตรอก ทูลกันลืมเลย

น่า ๒๙. สงไสยเครื่องขาว มีเรียกแง่เต๋งอีกอย่างหนึ่งสงเคราะห์เฃ้าในแปะเต๋ง ฤๅแยกอีกประเภทหนึ่ง แต่ทรงลืมฃ้ามไปเสียก็ไม่ทราบแน่

น่า ๓๓. ซึ่งว่าด้วยขนาดชนิดโต๊ะ ว่าตลอดลงไปจนถึงจัดสำรับเลี้ยงพระ ก็ดูเปนขาดจัดช่องน่าต่างไปเสียอย่างหนึ่ง เคยมีที่วัดเบญจมบพิตรตรวจผูกผ้าแดงกันด้วย

เห็นมีบุบสลายอยู่เพียงเท่านี้ ที่พิมพ์อักษรผิดนั้นได้แก้มาในต้นร่าง.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ