จดหมายบันทึกความเห็น ในตำนานเครื่องโต๊ะแลถ้วยปั้น ตอนพระราชบัญัติ

พระราชบัญัติบังคับการตัดสินเครื่องโต๊ะนั้น ได้ปฤกษาตกลงกันแล้ว ว่าควรยกไปพิมพ์ข้างท้าย เพื่อประโยชนเพียงมิให้สูญเสีย ด้วยจะเอาไว้ในเนื้อตำนานกลัวจะทำให้คนอ่านเบื่อเลยงด พาเอาตำนานตอนหลังพระราชบัญัตินั้นไร้คนอ่านไปเสียด้วย ที่จิงพระราชบัญัติซึ่งมีอยู่ ๙ หมวดนั้น ไม่ใช่จะอ่านไม่สนุกทั้งหมด ตอนต้น ๓ หมวดอ่านสนุกไม่ออกเบื่อ แต่ตอนปลายตั้งแต่หมวดที่ ๔ ไปนั้นแลอ่านไม่สนุกอย่างเอก อ่านที่อ่านสนุกมีน้อย ไม่สนุกมีมาก จึงจำเปนต้องไล่ไปไว้ข้างหลัง เมื่อทำดังนั้นเปนที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ด้วยข้อความในพระราชบัญัติบางอย่างก็มีความพรรณาไว้แล้ว ในท้องตำนาน แต่บางอย่างไม่ได้พรรณาเลย ถ้ายกพระราชบัญัติไปไว้ท้ายสำหรับไม่อ่าน ข้อความที่น่าฟังไม่ได้พรรณาก็พลอยสูญไปเสียด้วย ในที่จะแก้การอันนั้น ควรเก็บข้อความในพระราชบัญัติ ส่วนที่น่าฟังยังไม่ได้พรรณาในตำนาน แต่งบวกเฃ้าในตำนานเสียอีก ดังจะได้รบุข้อพระราชบัญัติตามที่แลเหนต่อไปนี้

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยวิธีตั้งโต๊ะ มีกล่าวมาในท้องตำนานแล้ว ไม่ต้องเก็บเอาความอีก

หมวดที่ ๑ (ก) ว่าด้วยเครื่องตั้งโต๊ะ ความฃ้างต้นซึ่งกล่าวด้วยชิ้นมีพออยู่แล้วในตำนานตอนคุมโต๊ะ แต่ความฃ้างปลายอันมีกล่าวด้วยการจัดผิดเช่นปักดอกไม้ในกระบอกเปนต้นนั้น ยังไม่ได้มีกล่าวในตำนานเลย ควรเก็บความกล่าวเปนตอนแต่งตั้งโต๊ะขึ้นใหม่ บวกเฃ้าในตำนานอีกตอนหนึ่ง

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยวิธีตรวจตัดสินโต๊ะ ความในหมวดนี้ดูเหมือนจะได้กล่าวในตำนาน มีกระทบมาถึงแล้วอยู่หลายแห่ง แต่อย่างไรก็ดี ความในหมวดนี้เปนแต่อธิบาย ไม่ใช่มูลความ ไม่ต้องเก็บก็ได้

หมวดที่ ๓ ข้อบังคับกรรมการ หมวดนี้เปนสนุกกว่าหมวดไหนหมดที่ในพระราชบัญัติ ฟุตโนตก็เก่งด้วย ตำนานตอนที่ว่าด้วยวิธีตรวจโต๊ะ ซึ่งแต่งต่อไว้ท้ายพระราชบัญัติบัดนี้ ก็คือเปนลูกความของพระราชบัญัติหมวดนี้เอง เมื่อยกพระราชบัญัติไปหลังเสียแล้ว ไม่รู้ความในข้อบังคับกรรมการบ้างก่อน อ่านที่ว่าด้วยพิธีตรวจโต๊ะจะเข้าใจไม่ได้ดี จึงเปนการจำเปนต้องเก็บความที่น่ารู้ในพระราชบัญัติหมวดนี้ ขึ้นแต่งต่อน่าที่ว่าด้วยพิธีตรวจโต๊ะเปนแม่ความเสียก่อน ยกฟุตโนตหมวดนั้นเข้าในนั้นด้วย

หมวดที่ ๔ ว่าด้วยพัดยศแลพัดรองสำหรับกรรมการ ความหมวดนี้วิถารฟั่นเฝือเหลือเกิน ควรเก็บเอาแต่จำนวนชั้นไปกล่าวในตอนว่าด้วยรางวัลในการตั้งโต๊ะ แทรกลงตรงที่พรรณา ถึงรางวัลกรรมการ ในน่า ๑๖๗ บรรทัดที่ ๕ พอให้อ่านเข้าใจ ด้วยไม่ต้องดูพระราชบัญัติ

หมวดที่ ๕ ว่าด้วยเขมสำหรับติดอกเสื้อกรรมการ นี่ก็ย่อเอาความไปกล่าวในตอนว่าด้วยรางวัลเหมือนกัน แทรกลงในน่า ๑๖๙ บรรทัดที่ ๖

หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเครื่องหมายชิ้นไหมทอง นี่ก็ลเอียดจนอ่านเบื่อเหมือนกัน ดูเหมือนจะได้อธิบายไว้บ้างในที่ใดที่หนึ่งมาก่อนแล้ว จำไม่ได้ถนัด ถ้าได้อธิบายแล้วก็ละเสียได้ ถ้ายังไม่ได้กล่าวควรพรรณาเสียบ้าง จะเอาไว้ในตอนแต่งตั้งโต๊ะ ซึ่งเห็นว่าควรจะแต่งเติมขึ้นใหม่นั้นก็ได้

หมวดที่ ๗ ว่าด้วยรางวัลผ้าน่าโต๊ะ ควรเก็บชั้นสีแพรไปบอกย่อๆ ในตอนรางวัลการตั้งโต๊ะ น่า ๑๖๗ บรรทัดที่ ๔

หมวดที่ ๘ ว่าด้วยรางวัลโต๊ะ หมวดนี้มีว่าไว้ใหม่พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก

หมวดที่ ๙ ว่าด้วยประกาศเก่า ไม่เปนข้อจำต้องรู้ ไม่ต้องกล่าวถึงในตำนาน

สิ้นหมวดแห่งพระราชบัญัติเพียงเท่านี้

ทีนี้จะกล่าวถึงส่วนซึ่งเรียบเรียงใหม่

น่า ๖๖ คำนำกฎหมายการประกวดเครื่องโต๊ะ เมื่อตกลงยกกฎหมายไปไว้หลังแล้ว คำนี้ก็ต้องเรียงใหม่ให้เข้ารอยกัน

น่า ๑๕๖ บรรทัดที่ ๑๓ เรียกว่ากระบอก ผิด เพราะฃ้างต้นพูดถึงขวด ได้แก้เปนขวดแล้ว

น่า ๑๖๐ ลงสีธงตขาบผิด ๒ แห่ง เปนพื้นเขียวครีบแดงสำหรับ ๒ ชิ้น ที่ถูกควรจะเปนพื้นม่วงครีบเหลือง ได้แก้ลงแล้ว

น่า ๑๖๖ ที่กล่าวด้วยวิธีนับแต้มชิ้น บรรทัดที่ ๙-๑๐ ในคำที่ว่า “ตามวิธีแจ้งอยู่ในพระราชบัญัติหมวดที่ ๘ ไม่ต้องอธิบายซ้ำตรงนี้ ควรแก้เปน “ตามวิธีแจ้งอยู่ในพระราชบัญัติหมวดที่ ๘ อันมีอยู่ต่อไปในตอนหลัง”

อนึ่งในบรรทัดที่ ๑๖ มีคำ “ใน” ติดกันฟังขัดหูอยู่หน่อย ควรแก้เปน “ราว”เสียคำหนึ่งดังนี้ “มีจำนวนเบจเสรจอยู่ราว ๑ ใน ๖” จะเกลี้ยงเกลาขึ้น

น่า ๑๖๗ มีกล่าวด้วยรางวัลผ้าน่าโต๊ะ ควรตัดคำว่า “ดังกล่าวไว้ในพระราชบัญัติ” นั้นออกเสีย เอาคำเหล่านี้ใส่ลงแทน “คือรางวัลที่ ๑ สีเหลือง ที่ ๒ สีแดง ที่ ๓ สีชมพู ที่ ๔ สีเขียว ที่ ๕ สีม่วง ถ้าได้ที่ ๑ อยู่แล้วจะเติมรางวัลที่ ๒ ฤๅที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ด้วยก็ได้ เพิ่มแพรสีตามชั้นรางวัลนั้นพันกัน” จะได้เฃ้าใจได้เสร็จ ไม่ต้องดูพระราชบัญัติ

อนึ่งที่ว่าด้วยรางวัลกรรมการตรงพัดยศ โดยเหตุที่ยกพระราชบัญัติไปไว้หลัง จึงเห็นควรเริ่มความต่อคำว่า “สิ่งสำคัญก็อยู่ที่พัดยศ” นั้นลงว่า “ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานกรรมการ เปนเครื่องหมายที่ได้แต้มมากและน้อยเปนอันดับกัน เปนพัด ๓๑ เล่ม (มีพัดนายกกับผู้ชี้ขาดต่างหากอีก ๒ เล่ม) มีรูปพรรณแลลวดลายต่างๆ กัน” แล้วถึงคำว่า “ซึ่ง” เติมคำว่า “มี” ลง แล้วถึงคำว่า “กล่าวไว้” เติมคำว่า “โดยลเอียด” ลงเชื่อมกับคำว่า “ในพระราชบัญัติหมวดที่ ๔” สำหรับให้เข้าใจแจ่มขึ้น

น่า ๑๖๙ ที่กล่าวด้วยโปเจียม ควรแทรกความลงต่อคำ “โปเจียม” ไปว่าดังนี้ “เปนเขมกลัดอก ทำด้วยทองนากเงินแลงามุกด์ แล้วด้วยอย่างเดียวบางสลับกันบ้าง ประกอบด้วยลงยาแลฝังพลอยบ้าง มีลำดับเปนชั้น ๆ รูปหลายอย่าง แลมีแพรสีต่างๆ จีบเปนดอกไม้รอง โปรดเกล้า ฯ ให้ทำพระราชทานเปนเครื่องหมายยศ แล้วถึงคำว่า “ที่” ฆ่าเสีย เปลี่ยนความเปนดังนี้ “มีความลเอียด” ไปต่อกับ “พรรณาไว้ในพระราชบัญัติหมวดที่ ๕” แล้วเติมความอีกว่า “โปเจียมหมายยศกรรมการนี้ ผิดกันกับพัดที่เวลาเปลี่ยนตำแหน่งทุกคราวนั้น เปลี่ยนไปตามพัดแต่แพรสี ส่วนต้วเขมนั้น ถ้าได้รับยศสูงขึ้นจึงเปลี่ยนเขมสูงขึ้นตามตำแหน่ง ถ้าได้ยศลดลง คงใช้เขมเดิมไม่ต้องเปลี่ยน แต่ส่วนตำแหน่งสังฆราชซึ่งเปนตำแหน่งสูงสุดนั้น ได้บุญวิเศษ คือถ้าได้รับตำแหน่งซ้ำอีกแล้ว ก็ได้เปลี่ยนเขม เพราะไม่มีตำแหน่งจะเลื่อนขึ้นได้อีก”

ตอนที่เรียงใหม่เห็นบุบสลายบกพร่องแต่เพียงเท่านี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐

  1. ๑. บันทึกความเห็นตอบลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ