- คำนำ
- พระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑
- พระราชกระแส เรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕
- วันที่ ๒๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๐ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๐ สยามินทร์
- วันที่ ๓ กันยายน ร.ศ. ๑๒๐ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๔ กันยายน ร.ศ. ๑๒๐ สยามินทร์
- วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔ จิรประวัติวรเดช
- --มณฑลกรุงเทพ ฯ พลรบ อัตราธรรมดา
- วันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๔ สยามินทร์
- วันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕ จิรประวัติวรเดช
- --(ร่าง) ประกาศกำหนดอัตราเงินผู้ที่ได้เสียภาษีอากร ต้องในจำพวกยกเว้นชั่วคราว
- --(ร่าง) ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔
- วันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ สยามินทร์
- วันที่ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๖ สยามินทร์
(ฉะบับที่ ๓)
วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์๔๑ศก ๑๒๗
ถึง มกุฎราชกุมาร
ด้วยระยะทางที่ไปเที่ยวคราวนี้ ซึ่งได้ส่งไปให้ทราบแล้วนั้นยังไม่ตลอด จึ่งขอส่งต่อมาอีก ดังนี้
วันที่ ๒๒ ตุลาคม
วันนี้กะทางผิดเป็นอันมาก ด้วยเมื่อมาครั้งก่อนเป็นขาขึ้นแล้วแจวขึ้นมา สังเกตดูเทียบกับกำลังฝีเท้าเรือครุฑเหิรเห็จ ว่าประมาณสักชั่วโมงครึ่งหรือ ๒ ชั่วโมงจะถึงบางปลาม้า จึงได้นั่งแฉะอยู่เสียจนสาย แต่ครั้นมาจริงชั่วโมงหนึ่งเท่านั้นถึงบางปลาม้า ได้จัดการที่จะเลยลงไปตามลำน้ำไม่เลี้ยวเข้าคลอง แต่วุฒิ๑ไปเลือกวัดแป๊ะซะที่เคยแวะแต่ก่อน เลือกต่ำลงไปอีก ที่ได้ชื่อว่าแป๊ะซะนี้เพราะมีผู้นำปลาแป๊ะซะมาให้ เขาเลยลงไปเลือกวัดตะค่า ได้ไปทำกับข้าวกันที่นั้น สมภารวัดตะค่ารูปนี้ชื่อแสง พุทธสร เป็นหมอและเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นลูกศิษย์เรียนพระธรรม พร้อมกันกับพระมงคลทิพ ๔๕ พรรษา มีอัชฌาสัยดี ไม่รู้จักว่าใคร ดูสังเกตได้แต่ว่าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ ไม่มีการอวดดีอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถามถึงรดน้ำมนต์ก็ว่าได้รด แต่ได้รดด้วยความซื่อตรง ไม่สำแดงว่ามีปาฏิหาริย์อย่างใด พูดถึงเรื่องมีผู้มาขอหวย ได้เคยตอบว่าให้เอาผ้าคฤหัสถ์มาให้นุ่งเสียดีกว่ามาขอหวย ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถสำเร็จแล้วกำลังจะลงมือพระวิหาร ได้ให้เงินช่วยในการปฏิสังขรณ์ ๘๐ บาท ไม่ได้รับโดยอาการที่ไม่งาม และยถาอนุโมทนาอย่างเรียบร้อยดี จนนึกสงสัยว่านี่จะรู้ดอกกระมัง แต่ครั้นเมื่อเวลาลาจะมา ให้พรให้พ่อจำเริญยิ่งๆ ขึ้นไปก็เป็นสิ้นสงสัย แล่นกลับขึ้นมาเข้าคลองบางปลาม้าไปจนถึงที่แยกจระเข้ใหญ่ เลี้ยวมาตามลำจระเข้ใหญ่ ผ่านลาดชะโดมาจอดที่หน้าบ้านหลวงวารีโยธารักษ์๒ บ้านผักไห่ซึ่งเคยจอดแต่ก่อน ตอนคลองจระเข้ใหญ่มีผักตบชวามากขึ้นตามลำดับ แต่ที่ลาดชะโดเป็นมากกว่าที่อื่น พระยาโบราณซึ่งกำหนดว่าจะขึ้นไปรับถึงสุพรรณไปไม่ได้ เหตุด้วยมีลมพายุตีผักตบแตกกระจายเต็มปิดปากคลอง ต้องแก้ไขกันอยู่จนวันนี้ยังไม่หมด มาถึงบ้านผักไห่แต่วัน ราษฎรพากันมาเป็นอันมากเต็มแน่นไปทั้งนั้น มีการแข่งเรือสนุกสนานโห่ร้องรำกันครึกครื้น เวลาเย็นได้ลงเรือไปซื้อของตามแพเพราะคิดจะหากฐินตกทอดสักวัดหนึ่ง ได้ลงมือหาผ้ามาแต่สุพรรณแล้ว มาหาของเพิ่มเติมที่นี่ และได้สั่งให้ไปเที่ยวหาวัด แต่ครั้นเมื่อไปวัดชีโพน ซึ่งเรียกว่าวัดชีตาเห็น ที่หลวงญาณ๓สร้าง สมบุญ๔ไปสร้างวิหารขึ้นไว้ได้ช่วยการปิดทองเขา ๆ จึงเชิญไปให้อนุโมทนา ได้พบพระครูอ่ำเจ้าคณะแขวงเสนาใหญ่ เดิมเป็นฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ขึ้นมาอยู่ที่วัดตึกตรงวัดชีโพนข้าม ตั้งแต่ ศก ๑๒๑ ได้เรี่ยไรสร้างพระอุโบสถและผูกสีมาแล้วเสร็จ เป็นเงินเกือบ ๑๖,๐๐๐ บาท สร้างการเปรียญหลังหนึ่งสิ้นเงินเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรม ดูเป็นคนดีมีความอุตสาหะพอใช้อยู่ และไปได้ความว่าเป็นวัดที่กฐินตกไม่มีใครทอด จึงได้จองจะไปทอดวัดนั้นในมะรืนนี้ เพราะพรุ่งนี้ตาช้างมาชวนให้ไปทอดกฐินซึ่งแกได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้ว
ตำบลผักไห่นี้บริบูรณ์ครึกครื้นกว่าเมืองสุพรรณเป็นอันมาก นาที่ว่าเสียนั้นก็เสียในที่ลุ่มมาก ที่ซึ่งไม่ลุ่มข้าวงามบริบูรณ์ดีทั้งนั้น
ได้ถามเรื่องเมืองอู่ทองคือเมืองเก่า เจ้าอธิการแสง ตามที่ได้ไปเห็นและตามที่ได้ฟังเล่า ว่าอู่ทองนั้นอยู่เมืองเก่า หนีห่าได้หนีขึ้นไปข้ามที่ตะพานหินวัดกร่าง ข้ามมาเดินทางฝั่งตะวันออก แล้วจึงลงไปตั้งเมืองกำแพงแสนและเมืองอื่นๆ ห่าก็ยังตามอยู่เสมอ เพราะห่านั้นเดินทีละย่างนกเขาเท่านั้น อู่ทองจึงได้มีเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองได้ แต่ครั้นเมื่อเมืองสำเร็จแล้วห่าก็ตามไปถึง จึงต้องย้ายต่อไป ลงปลายนั้นว่าหนีออกทะเล ห่าก็ตามไปเอาจนได้ ได้ถามว่าห่านั้นเป็นอย่างไร บอกว่าตามที่พูดนั้นเหมือนเป็นคน แต่เธอเข้าใจเองว่าเหมือนอหิวาตกโรค เมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างแต่ไม่ใช่อู่ทองสร้าง อู่ทองที่หนีห่าไม่ใช่อู่ทองที่ไปเป็นเจ้าแผ่นดินที่กรุงเก่า เป็นอู่ทององค์อื่น อู่ทองมืหลายองค์เป็นตำแหน่งเจ้า ผู้ซึ่งสร้างวัดอู่ทองในลำน้ำสุพรรณก็เป็นอู่ทององค์หนึ่งต่างหากเหมือนกัน แต่จะมีลำดับและกำหนดเรียกเปลี่ยนกันอย่างไร สมัยเทียบกับครั้งใดคราวใดไม่ทราบไม่ได้ยินใครเล่า
วันที่ ๒๓ ตุลาคม
เวลาเช้าลงเรือครุฑล่องลงไปช่วยนายช้างและอำแดงพลับ๕ทอดกฐินตำบลวัดหัวเวียง เขาจัดการทอดที่การเปรียญ เพราะโบสถ์นั้นน้ำจวนจะท่วม เครื่องบริขารไม่มากสิ่ง แต่เป็นของอย่างที่ถือกันว่าเป็นของดี คือตู้กระจก หมอนปัก กระเช้า ป้านถ้วย เป็นต้น คู่สวดก็ได้เครื่องบริกขาร อันดับได้สบงและหีบระฆัง หมากพลูธูปเทียน ได้ออกเงินช่วยองค์กฐิน ๒๐ บาท คู่สวดองค์ละ ๖ บาท อันดับองค์ละกึ่งตำลึง แต่อยู่ข้างจะเป็นการนางนอง ด้วยเหตุที่เขากำหนดจะทอดต่อเวลาพรุ่งนี้มาพ้องกับกฐินที่เราจะทอด สมภารก็ไม่อยู่ ผู้อปโลกน์ก็ไม่อยู่ แต่ก็ไม่ได้บอกขัดข้องอย่างไร วิธีที่จะทอดนั้นคือตั้งไตรและเครื่องบริกขารอ่างของกินไว้กลางศาลา แล้วมีดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะมีมากเท่าใดมาวางมั่วสุมอยู่ที่ไตร สัปปุรุษที่ไปมากน้อยเท่าไรไม่ว่านั่งล้อมกันอยู่ที่นั่น เจ้านายนั่งเก้าอี้ซึ่งตั้งเรียงไว้เป็นแถว พอพระลงนั่งเรียบร้อยแล้ว เอาสายสิญจน์กลุ่มหนึ่งมาคลี่ออกโยงผ้าไตร แล้วจ่ายกันถือทั่วไปอย่างหล่อพระ จึงมีหัวหน้าสัปปุรุษนำตั้งนโมพร้อมกันก่อน แล้วว่าอรหังสัมมาสัมพุทโธ แล้วถวายกฐิน ผู้นำนำ คนทั้งปวงว่าตามอย่างเดินเทียน แต่การที่จะว่าผ้านั้นอยู่ข้างประดักประเดิดมาก ท่านวัดหัวเวียงนี้ว่าผ้าได้แต่ไม่มีผู้อปโลกน์ ต้องเขียนคำอปโลกน์ให้เดี๋ยวนั้น อ่านก็ไม่ใคร่จะออกประหม่า แต่ครั้นอปโลกน์แล้วเสร็จสวดไม่ได้ ต้องเลยยถาตักบาตรข้าวซึ่งหาไป แล้วย้ายไปวัดใหม่ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันนัก เป็นวัดที่ ๒ พิณพาทย์ไม่ได้ประโคมจนเวลาพระลง ประโคมในเรือเวลาผ้ากฐินไป แล้วยกพิณพาทย์ขึ้นตั้งบนบก พอสัปปุรุษไป ประโคมอีกครั้งหนึ่ง เป็นสัญญาให้พระลง วัดนี้พระสงฆ์ ๑๕ รูปพรักพร้อมกันดี แต่เสียเค้าที่ขึ้นอปโลกน์ก่อนแล้วจึงได้ว่าผ้า เขาว่ากฐินบ้านนอกอยู่ข้างจะเลอะเทอะเช่นนี้ เมื่อได้เห็น ๒ วัดนี่เข้าแล้ว ให้นึกชมท่านเจ้าอธิการแสง วัดตะค่า ซึ่งไปหยุดเมื่อวานนี้ ได้สอบถามวิธีถวายกฐินและทำกฐิน ขึ้แจงได้ถูกต้องเรียบร้อยหมด เป็นผู้มีความรู้และความสุจริตอยู่มาก วัดที่นี่ใกล้กรุงมากกว่ายังเลอะเทอะ ได้ช่วยเงินและตักบาตรเหมือนวัดโน้น แจกเสมาด้วยเป็นการครึกครื้นสนุกดี ครั้นทอดกฐินแล้วจึงไปทำกับข้าวเลี้ยงกันที่บ้านตาช้างซึ่งได้จัดรับอย่างรับซารวิตซ์ตามเคย กลับมาลงเรือแจวที่ปากคลองฦๅไชย แจวเข้าไปวัดกุฎีฦๅไชย ดูก็เป็นวัดใหญ่อยู่ โบสถ์เก่ามาก มีหน้าต่างข้างละช่อง แต่ไม่มืด พระสงฆ์มีถึง ๓๐ รูป พระครูเจ้าวัดจำพรรษาอยู่วัดเบญจมบพิตร จึงมิได้รับในที่นี้
กลับมาพบจิระ๖มาถึง ดูสบายดีขึ้นมาก
เรื่องกฐินมีคนช่วยมาก ชาวร้านไม่เอาเงินทั้งนั้น ต้องยัดเยียดให้ ยายพลับใจแกเด็ด ที่เราไปช่วยกฐินแก เจ้าอธิการองค์ละห้าตำลึง แกช่วยเราเสีย ๑๐ ตำลึง คู่สวดองค์ละ ๖ บาท อันดับองค์ละกึ่งตำลึงเหมือนกัน สมบุญและญาติของเขาก็ช่วย ยายพลับให้สายสร้อยทองมากอยู่ เป็นของลูกสาวที่ตายช่วยในการกุศล เดิมแกหมายว่าจะหล่อพระพุทธรูปด้วย ทองแกจะให้หล่อพระรูป ครั้นรู้เรื่องราวเข้าเลยอุทิศในการหล่อพระสัมพุทธพรรณี กฐินคิดว่าจะจัดให้เป็นการอย่างข้างนอกเช่นที่ได้ไปเห็นมาวันนี้
วันที่ ๒๔ ตุลาคม
วันนี้เวลาเช้าขึ้นไปเยี่ยมบ้านสมบุญ แล้วจึงลงเรือไปกฐิน ใช้เรือครุฑเล็กเป็นเรือผ้าไตร บริกขารลงเรือต้น มีเรือกราบโถงเป็นเรือดั้งคู่หนึ่ง เรือกลองอีกลำหนึ่ง ไปเข้าคลองริมวัดตึกนั้นเอง เป็นคลองที่ไปบางอ้อได้ วัดนี้เป็นบ้านจีนช้าง หลวงอภัย อำแดงเงินภรรยาจีนช้างตาย อำแดงเงินถวายเป็นวัด เป็นตึกอย่างจีนสัก ๕-๖ หลัง บ้านใหญ่อยู่ หันหน้าลงทางแม่น้ำ ตัวอำแดงเงินนั้นเองก็ยังอยู่ อายุ ๗๔ ปี แต่ลูกเต้าก็มีเป็น ๔ คน ศรัทธาขึ้นถวายบ้านเป็นวัด แต่พระซึ่งเป็นผู้รับแต่ก่อนไปทำการไม่สำเร็จ เลยร้างไปคราวหนึ่ง จนพระครูวินัยธรรม อ่ำ ฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งเป็นชาวตำบลนี้ขึ้นมาอยู่ จัดการเรี่ยไรทำพระอุโบสถผูกพัทธสีมาและทำการเปรียญหลังใหญ่ต่อออกไปทางหลังบ้าน หันหน้าลงคลอง จึงให้ชื่อว่าวัดตึก ตึกนั้นคือเก่งเจ๊ก คชนั้นคือช้าง หิรัญ เงิน จึงตกลงเป็นตึกคชหิรัญศรัทธาราม น่าชมความอุตสาหะทำเป็นอย่างใหม่ ไม่ใช่เจ๊กเป็นฝรั่งปนเจ๊กเกลี้ยง ๆ แต่แน่นหนาดีพอใช้ พระประธานฝีมือหลวงกลมาบรรจง เป็นแม่ลูกอินซึ่งควรจะดีกว่านี้ เป็นที่น่าเสียใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สู้เลวทีเดียวนัก การเปรียญทำใหญ่โตดี เห็นจะไม่มีวัดไหนเท่า ลัปปุรุษนั่งได้หลายร้อย สะอาดหมดจด ราษฎรพากันไปคอยอยู่มาก มีไตรและของไทยทานไปช่วยจนนับไม่ถ้วน แต่เงินยกส่วนที่ตาช้างกับยายพลับออกเสียแล้ว ยังเป็นเงินถึง ๗๙๘ บาท ส่งเติมย่อยกันอยู่เสมอจนกฐินแล้ว การทอดกฐินวันนี้จัดเป็นอย่างข้างนอก คือตั้งลับแลเป็นข้างในอยู่ข้างฐานพระอย่างวัดอรุณ แต่ราชอาสน์อยู่ที่หน้าที่บูชาทีเดียว เจ้านายข้าราชการและราษฎรเข้าไปนั่งในโบสถ์เต็ม เว้นว่างอยู่แต่ที่วางของบริกขารและไทยทาน ถวายกฐินโยงสายสิญจน์ถือทั่วกันและว่าพร้อมๆ กันอย่างเมื่อวานนี้ เจ้าอธิการว่าผ้าพระกฐินทานเกือบจะถูก แต่คงจะไม่ได้สังเกตไว้ถ้วนถี่ ทั้งประหม่าด้วย จึงไม่เหมือนบางกอกแต่ยังใช้ได้ดี สวดญัตติและกรานก็ถูกต้องเป็นที่เรียบร้อย อนุโมทนาก็สวดดีเกือบจะไม่รู้สึกว่าพระหัวเมือง ถ้าหากว่าเหมือนกฐินเมื่อวานนี้ ๒ วัด จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอันมาก ด้วยเครื่องบริกขารและไทยทานกับทั้งเงินไม่มืกฐินไหนเท่า แต่เครื่องบริกขารไม่ได้ถวายด้วยมือ เพราะเหลือที่จะขนถวายได้ เต็มไปทั้งนั้น จึงได้ถวายด้วยวาจา ในสิ่งซึ่งแบ่งไม่ได้เป็นของบริวารแห่งองค์กฐิน สิ่งซึ่งแบ่งได้ให้แจกพระสงฆ์มี ๑๑ รูป ได้ครองไตร ๕ แต่ยังได้สบง ๒ ผืน จีวรผืนหนึ่ง กับสิ่งของอื่นๆ มีกาน้ำ โคม ถ้วยแก้ว หมอนและอื่นๆ อีกบ้าง เสร็จการกฐินแล้วออกมาตักบาตรเลี้ยงพระที่การเปรียญ ราษฎรพากันหาข้าวแกงและสิ่งของมาคนละเล็กละน้อยแต่มากมายเหลือเกิน ถ้าพระจะมีบาตรองค์ละสัก ๔ บาตรก็เห็นจะรับข้าวไม่พอ ปล่อยให้เขาเข้าไปตักกันเป็นที่สนุกสนานมาก การกฐินเช่นนี้โดยจะเล่นในกรุงเทพฯ คงไม่สนุกได้อย่างนี้ พวกราษฎรเหล่านี้กล้าเข้ามานั่งพูดจาเข้าหมู่กันได้ไม่สะทกสะท้าน ดูเป็นที่ปีติยินดีกันมาก พระยถาแล้วจึงได้กลับมาลงเรือครุฑเหิรเห็จขึ้นตามลำแม่น้ำน้อย พักกินข้าวที่วัดหน้าโคก ออกจากวัดนั้นเป็นที่น้ำท่วมแลเห็นเหมือนทะเล ตามทางลำแม่น้ำน้อยนี้มีบ้านเรือนคนติดต่อกันหนาตลอด เหมือนอย่างในกรุงเก่า ตามตลิ่งมักจะมีที่ดอน วัดเก่า ๆ ก็มีหลายวัด เมืองวิเศษชัยชาญที่ย้ายลงไปตั้งบ้านอ่างทองได้ตั้งอยู่ในลำน้ำน้อยนี้เป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอวิเศษชัยชาญ ที่ตั้งพลับพลาสูงขึ้นมาพ้นทางที่จะออกไปเมืองอ่างทองหน่อยหนึ่ง อยู่ฝั่งตะวันออก ตำบลห้วยลิง อำเภอโพทอง แขวงอ่างทอง ตามที่ได้กะไว้ ครั้งนี้ขึ้นมาค้างสูงเพียงเท่านี้ ถ้าขึ้นไปตามลำน้ำน้อยนี้ จะผ่านแขวงเมืองพรหม ผ่านเมืองสิงห์เก่าไปออกปากน้ำเมืองสรรค์ ถ้าเลี้ยวไปทางตะวันตกก็ขึ้นไปเหนือสุพรรณ ถ้าเลี้ยวทางตะวันออกก็ออกไปทางชัยนาท ตอนข้างล่างนี้ไม่มีไข้ ทั้งลำน้ำน้อยนี้และลำน้ำเขาดินข้างสุพรรณ ฉะเพาะเป็นไข้อยู่แต่ที่เมืองสรรค์ เพราะเป็นดงขึ้นในเมืองที่ร้าง เมืองสรรค์นี้ครั้งก่อนก็ได้ไปแล้ว ถ้าจะล่องออกไปที่ว่าการเมืองอ่างทองทางชั่วโมงครึ่ง ไปป่าโมก ๓ ชั่วโมง วันนี้ถูกฝนเมื่อจวนจะถึงที่พักจอดเรือ การที่ย้ายเมืองวิเศษชัยชาญไปตั้งเสียอ่างทอง และย้ายสิงห์ไปตั้งเสียแม่น้ำโน้น เพราะแม่น้ำน้อยนี้หน้าแล้งน้ำแห้ง มีน้ำอยู่ตั้งแต่หัวเวียงขึ้นมาถึงผักไห่ เหนือน้ำขึ้นมาขาดเป็นห้วงเป็นตอน
วันนี้มาก่อนถึงพลับพลาฝนตก เวลาค่ำมีผ้าป่า เขาทำเป็นรูปต้นโพทองและมีลิงนั่งอยู่ใต้ต้น เป็นเครื่องหมายนามของตำบลนี้
วันที่ ๒๕ ตุลาคม
เมื่อคืนนี้เวลา ๒ ยามเป็นพายุฝนตกฟ้าร้อง อยู่ข้างจะตึงตังมาก ท้องไม่สู้สบาย วันนี้จึงได้ไปเที่ยวสายไป กรมสมมต๗ ชายเสรฐวงศ์๘ เจ้าพระยาสุรวงศ์๙ ไปล่วงหน้ากองหนึ่งแห่งอื่นก่อน เพื่อจะล่อให้คนไปตอม วุฒิไชยแยกล่วงหน้าไปกองหนึ่ง ไปด้วยเรือครุฑเหิรเห็จ ระยะที่ขึ้นไปบ้านเรือนคนไปบางที่พรมแดนเมืองอ่างทองกับเมืองพรหม ใต้นั้นลงมาบ้านเรือนเต็มตลอดแลเห็นวัดไชโยใกล้มาก ดูเหมือนถ้าตัดตรงไปจะสัก ๒๕ เส้นหรือ ๓๐ เส้น ขึ้นไปเหนือคลองวัดโพธิประจักษ์ ซึ่งไปออกใต้เมืองพรหม หยุดพักทำกับข้าวกินที่วัดท่าข้าม วัดซึ่งได้ชื่อว่าท่าข้าม เพราะเป็นที่เกวียนข้ามมาแต่ข้างตะวันตก มีน้ำตาลมามาก ที่นี่มีการเปรียญใหญ่แต่ทำไม่ดี ท่าทางจะไม่ทนอยู่เท่าไร เลี้ยงกันแล้วยืมเรือเป็ดประทุน ๔ แจวพระ ล่องลงมาหยุดฟังเทศน์มหาชาติที่วัดจำปา กรมขุนสรรพสาตรเสด็จ ในการเปรียญคนนั่งเต็มแน่นไม่มีที่ว่าง กำลังเทศน์ชูชก มีกระจาด ๓ กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์ ๆ เดียว เงินติดเทียนไม่ตกเป็นของพระ สำหรับรวมไว้ใช้ในการปฏิสังขรณ์ พวกชาวบ้านเหล่านี้ทั้งที่ผักไห่และที่นี่ ทั้งสาวทั้งเด็กแต่งตัวมาก มีเครื่องทองหยองเพียบๆ ตัว มีผู้หญิงตัดผมคล้ายๆ ดอกกระทุ่มแต่ยาว ไว้ผมทัดหรือที่เรียกว่าผมหมวกโตและยาวทัดขึ้นไปบนหูหลายคน มีตาแก่คนหนึ่งชื่อจัน อายุได้ ๑๐๐ ปีถ้วน สอบสวนแล้วเดินเหิรยังแข็งแรง ตาเห็นอยู่บ้างแต่หูไม่ได้ยินเลย ไปนั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย พวกมัคคนายกต้อนรับแข็งแรง มีเสื่ออ่อนมาปูให้นั่ง หมอนขวาน หมากบุหรี่น้ำชาเลี้ยง ได้ติดกัณฑ์เทศน์ ๓ ตำลึง และเอาหมกไว้ในหมากในป้านต่าง ๆ ที่เขามารับแหล่งละบาทอีก ๘ บาท แล้วลงเรือกลับมา ขึ้นเรือครุฑที่ใต้วัดจำปาสัก ๒ เลี้ยว ได้พาลูกศิษย์วัดลงมาด้วย ๔ คน ในเรือไฟแจกเงินให้คนละกึ่งตำลึงให้แจวกลับขึ้นไป น้ำเชี่ยวมาก ขากลับล่องลงมาไม่ช้าเลยถึงบ่าย ๔ โมง มีเรือราษฎรมาประชุมอยู่แน่นฟากตรงกันข้าม ที่จริงแม่น้ำนี้ตอนตั้งแต่อำเภอโพทองลงไปถึงกรุงเก่า บ้านเรือนเต็มติดกันไปหมดไม่มีที่เปลี่ยว วัดก็มีใหญ่ ๆ มาก กำลังก่อสร้างอยู่ก็มี ไม่มีวัดร้าง เขาว่าระยะทางขาขึ้นตั้งแต่บ้านผักไห่ขึ้นไปนอนเมืองสิงห์ ๑๑ ชั่วโมง ออกจากเมืองสิงห์ไปอีกครึ่งวัน ก็ออกจากแม่น้ำเมืองสรรค์ถึงชัยนาท
วันที่ ๒๖ ตุลาคม
ลงเรือครุฑไปเข้าคลอง ไปหยุดลงเรือแจว เรือไฟลากเข้าไปตามลำรางในท้องทุ่งคำหยาด จนถึงตำหนักซึ่งว่าเป็นที่ขุนหลวงหาวัดเสด็จออกมาทรงผนวช ที่นี้พระยาจ่าแสนเป็นผู้ได้พบขึ้นก่อน ได้บอกไว้แต่เมื่อคราวขึ้นไปเมืองเหนือ ไม่มีเวลาที่จะมาดู ตามอรรถาธิบายของพระยาโบราณคิดเห็นว่า ชะรอยบ้านในทุ่งคำหยาดนี้จะเป็นบ้านพวกกรมช้าง จึงได้มีชื่อวัดเกี่ยวข้องเป็นช้าง ๆ เช่นกับวัดโขลงข้ามเป็นต้น หลายวัด หลวงทรงบาศครั้งแผ่นดินพระนารายน์ที่เป็นคู่คิดกับพระเพทราชาเอาราชสมบัติ ได้เป็นกรมพระราชวังหลัง ภายหลังที่ให้ถามว่าพระเจดีย์สร้างแล้วจะควรรื้อนั่งร้านหรือจะควรเอานั่งร้านไว้ ให้เอาไปประหารชีวิตเสียนั้น ชะรอยจะอยู่บ้านนี้ หลวงทรงบาศผู้นี้เป็นบิดากรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ซึ่งเป็นพระมเหสีขุนหลวงบรมโกศ เจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระโอรสกรมหลวงพิพิธมนตรี เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรออกจากราชสมบัติครั้งแรก ทรงผนวชอยู่วัดประดู่ ทีจะยังไม่มีความบาดหมางมากกับขุนหลวงสุริยามรินทร์ ครั้นเมื่อทรงผนวชครั้งหลัง ทีความบาดหมางจะมากขึ้น จึงได้คิดออกมาสร้างตำหนักที่ตำบลคำหยาดนี้ เพื่อจะเอาเป็นที่มั่น เพราะเหตุที่ตำบลคำหยาดเป็นหมู่ไม้อยู่ในกลางท้องทุ่ง ไม่มีลำคลองที่เข้าไปถึง ถ้าจะเข้าทางทิศใดคงแลเห็นเสียก่อนนาน หวังจะเอาไว้เป็นที่มั่นป้องกันตัว ถ้าขุนหลวงสุริยามรินทร์เอะอะขึ้นมาอย่างไรก็จะหนีมาอยู่ที่ในนี้ จะคิดสู้ด้วยคนในท้องที่ก็เป็นพระญาติวงศ์สมัครพรรคพวกอยู่แล้ว
แต่ครั้นเมื่อไปถึงได้เห็นตัวตำหนักเข้า เห็นว่าไม่ใช่ตำหนักที่ทำโดยรีบร้อนเป็นการด่วน อย่างเช่นพระยาโบราณกล่าว เป็นตำหนักที่ทำการโดยมั่นคงประณีต แต่เป็นประณีตชั้นตอนปลายในแผ่นดินพระบรมโกศ ประณีตตอนต้นนั้นคือวัดกุฎีดาวเป็นตัวอย่าง เพราะทำแข่งวังหลวง ประณีตตอนปลายเป็นเวลาแผ่นดินพระบรมโกศเอง ที่ไว้ใจคนอื่นทำ
ข้อซึ่งพระยาโบราณเห็นว่าบ้านหลวงทรงบาศจะอยู่ที่นี่นั้นเห็นจะถูก พระญาติวงศ์เห็นจะมีอยู่มาก แต่ตำหนักนี้คงจะได้สร้างเมื่อขุนหลวงบรมโกศเสด็จมาเที่ยวประพาสตามแถบเมืองอ่างทองเนือง ๆ จนถึงได้เสด็จพระนอนขุนอินทรประมูลถึง ๒ ครั้ง ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งวัดพระนอนจักรศรีและพระนอนอินทรประมูล ที่ตำหนักคำหยาดนี้คงจะได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่ประทับ เสด็จออกมาเนือง ๆ อย่างเดียวกันกับพระเจ้าปราสาททองสร้างบางปอิน ในแผ่นดินพระบรมโกศไม่เสด็จบางปอิน เสด็จชื้นมาอ่างทองเนือง ๆ ตำหนักนั้นลักษณะเดียวกันกับตำหนักทุ่งหันตรา คือก่อเป็นตึกสูงพื้นดิน ๕ ศอก ผนังชั้นล่างเป็นช่องคูหาปูพื้นกระดาน ชั้นบนซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มจระนำ หลังคาในประธาน ๓ ห้อง มุขลดหน้าท้าย รวมเป็น ๕ ห้อง มีมุขเด็จทั้งหน้าทั้งหลัง ด้านข้างหน้ามุขเด็จเสาหาร มีอัฒจันทร์ขึ้นข้าง มุขหลังอุดฝาตันเจาะช่องหน้าต่างไว้สูง เห็นจะยกพื้นขึ้นเป็นหอพระ ที่หว่างผนังด้านหุ้มกลองเจาะเป็นคูหาทั้งข้างหน้าข้างหลัง มีช่องคอสอง ในช่องเหล่านี้ทาดินแดงทั้งนั้น ฝีมือเป็นฝีมืออย่างสไตล์ลพบุรี โดยยาวตลอดหลัง ๙ วา ๒ ศอก ขื่อกว้าง ๕ วา ดูเป็นรอยแก้ อุดหน้าต่างมุขลดด้านหลังเสียทั้ง ๒ ด้าน ตำหนักนี้พื้นดินก็ยังต่ำ น้ำท่วมแฉะรอบ หันหน้าไปตะวันออกหันหลังไปตะวันตก ตรงด้านข้างใต้มีวิหารเล็กหรือหอพระหลังหนึ่ง แยกอยู่คนละโคก มีเจดีย์องค์เล็กซึ่งรูปร่างอย่างไรไม่ได้ความพังเสียแล้วองค์หนึ่ง นอกนั้นไม่มีอะไร การที่ขุนหลวงหาวัดออกมาทรงผนวช ไม่ได้ทรงผนวชที่ตำหนักนั้น ทรงผนวชที่วัดโพทองแล้วไปประทับอยู่ตำหนักคำหยาด อย่างเดียวกันกับจะไปทรงผนวชวัดชุมพล แล้วไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์หรือวโรภาศพิมานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็กลับลงมาอยู่วัดประดู่ เห็นจะไม่มีความคิดใหญโต ถึงที่จะตั้งมั่นสำหรับต่อสู้ ถ้าหากว่าขุนหลวงหาวัดคิดจะไม่ยอมให้สมบัติแก่ขุนหลวงสุริยามรินทร์แล้ว มีช่องที่จะทำได้หลายอย่าง ขุนหลวงสุริยามรินทร์สิปรากฏโด่งดังว่าเป็นคนโง่กักขละ จนถึงพระบิดาทำนายว่าถ้าเป็นใหญ่ขึ้นบ้านเมืองจะฉิบหาย บังคับให้ออกบวช ตั้งเจ้าฟ้าพรเป็นวังหน้าขึ้นไว้แล้ว เวลาเมื่อขุนหลวงบรมโกศสวรรคตก็ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถึงว่าขุนหลวงสุริยามรินทร์จะสึกมานั่งกีดเกะกะอยู่ จะเชิญเสด็จไปเสียข้างไหนก็คงจะทำได้ ไม่จำจะต้องฆ่า นี่ยอมถวายสมบัติกันโดยดีออกไปบวช ถึงว่าเมื่อพะม่ามารับสัญญาว่าจะคืนสมบัติให้ขุนหลวงหาวัดตัวจะกลับออกไปบวชเสีย ครั้นพะม่าไปแล้วไม่ทำตามคำที่พูด กลับนั่งพูดกันเอาพระแสงพาดตัก ขุนหลวงหาวัดก็ไม่เห็นน่าจะต้องกลัวอะไร เพราะจะทำอะไรก็ไม่เห็นจะต้องเกรงใจ เช่นเอาปิ่นราชมนตรีพระยาเพ็ชรบุริไปฆ่าเสีย ก็ไม่เห็นขุนหลวงสุริยามรินทร์ว่าไรได้ การที่กลับออกมาบวชอีกน่าจะเป็นได้ด้วยไม่มีความมักใหญ่ เห็นควรสมบัติจะได้แก่พี่ชายที่แก่กว่าจริง ๆ อย่างหนึ่ง หรือจะเป็นคนที่อ่อนไม่แข็งแรงและไม่มีใครนิยมนับถือ ใจคอเกียจคร้านคับแคบนั้นอย่างหนึ่ง หรือจะทำให้ปรากฏว่าใจดี เห็นพี่อยากครองเมืองก็ให้ครองคงไม่ไปได้ถึงไหน เมื่อเหลวไหลอย่างไรต่อไปก็คงตัวได้เป็น นี้อีกอย่างหนึ่ง
มีข้อที่จะพิจารณาอยู่อย่างหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารว่า กรมเทพพิพิธเป็นพรรคพวกข้างวังหน้า คือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ออกไปคบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชาที่วัดกระโจม จะเอาแผ่นดินถวายขุนหลวงหาวัด ขุนหลวงหาวัดเองเป็นผู้เข้าไปทูลขุนหลวงสุริยามรินทร์ จะเป็นด้วยเหตุใด ถ้าว่าขุนหลวงหาวัดไม่อยากเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยไม่เห็นสมควร ก็ลงกันได้ จะว่าเพราะกำลังอ่อนก็ชอบกล บางทีกรมเทพพิพิธคิดการครั้งนี้จะเป็นแต่กลอุบายยืมชื่อขุนหลวงหาวัดไปอ้างไม่ได้บอกให้รู้ตัวเพื่อจะให้คนนิยม คนที่นิยมหมายว่าเป็นความจริง มาพูดขึ้นกับขุนหลวงหาวัด เมื่อขุนหลวงหาวัดได้ทราบแล้วจะคิดเห็นว่า ถ้ากรมเทพพิพิธทำการได้สมความคิด ฆ่าขุนหลวงสุริยามรินทร์เสียแล้วก็จะมาฆ่าท่านเสียด้วย แล้วก็จะเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ขุนหลวงหาวัดคงรู้นิสสัยกรมเทพพิพิธ เพราะเคยฝากเนื้อฝากตัวกันมา เหตุฉะนั้นจึงได้นำความไปทูลเจ้าแผ่นดินดังนี้ก็จะเป็นได้ ข้อที่ว่าจะเป็นการอวดดีลองให้เป็นดู คงจะไม่ไปถึงไหนแล้วตัวก็จะได้เป็น ก็เป็นการที่น่าทำอยู่แต่แรก แต่ครั้นเมื่อพะม่ามาก็ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในกำแพงกับพระราชาคณะทั้งปวง ไม่คิดอ่านสึกหาลาพรตออกมาช่วยการงานอะไร นิ่งทอดธุระเฉยอยู่ได้ น่ากลัวจะไปข้างเป็นคนอ่อนมากกว่าอย่างอื่น เห็นจะทำไปไม่ไหวแล้วก็ทอดธุระตามบุญตามกรรม แต่คงจะเป็นผู้ที่มีความแค้นความน้อยใจพี่ชายว่าสมบัติก็ยกให้ มีทัพศึกก็สึกออกมาช่วยรักษาบ้านเมือง ครั้นเสร็จศึกแล้ว ท่านพี่ชายกลับหยาบช้าไม่ยกย่องตามการที่ควร เหตุที่ออกมาบวชเพราะความแค้นนั้น เห็นจะเป็นความจริง
ที่นี้ไม่ใช่วัดเลย แต่เดี๋ยวนี้พระได้มาตั้งเรือนจากโกโรโกเรขึ้นไว้ทีจะสำคัญว่าเป็นวัด แต่ก็อยู่ตอนหนึ่งต่างหาก ยังไม่ได้มาจับต้องตำหนักของเก่านี้ ได้สั่งห้ามไว้อย่าให้มาทำอะไร ถ้าจะทำวัดวาอารามอะไรก็ให้ทำในที่นอกออกไป กลับออกมาๆแวะทำกับข้าวกินที่วัดโบสถ์ แล้วมาทางคลองศาลาแดง แวะลงเรือแจวเข้าไปพระนอนขุนอินทรประมูล พระนอนองค์นี้ยาวกว่าพระนอนจักรศรี ฝีมือทำอยู่ข้างจะดี เป็นช่างหลวง พระพักตร์งาม แต่วิหารไฟไหม้โทรมลงมาหมดช้านานมาแล้ว มีโคกเห็นจะเป็นโบสถ์พูนสูงกว่าโคกพระนอน ก่อเขื่อนอิฐรอบ มีโบสถ์ไม่มีหน้าต่าง ฝีมืออิฐเป็นอิฐถาก เห็นจะปฏิสังขรณ์ครั้งแผ่นดินพระบรมโกศเหมือนกัน เป็นโบสถ์ ๕ ห้อง พระข้างในเป็นพระศิลา แท่นพระเป็นที่ดงพระ ๕ องค์ ๆ กลางสูง องค์ที่นั่งสี่ด้านหันหน้าเข้าหาพระองค์กลาง มีพระเจดีย์ ๘ เหลี่ยมอยู่หลังโบสถ์ ถูกขุดเป็นโพรง ขนเอาพระพิมพ์ออกมาทิ้งไว้ข้างนอกมาก พระพิมพ์นั้นฝีมือไม่สู้ดี นั่งบ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง องค์โต ๆ ไม่ปรากฏว่ามีปริศนา
พระครูวัดไชโยมารับที่นี้ ราษฎรมาประชุมกันมากทั้ง ๒ แห่ง มาจากคลองขุนอินทรประมูลไม่ช้าก็ออกแม่น้ำ ขึ้นมาจอดที่บ้านผู้ว่าราชการเมือง
เรือครุฑเหิรเห็จเดินแล่นทวนน้ำในฤดูนี้ ประมาณว่า ๑๐๐ เส้นต่อ ๑๕ มินิต ถ้าจะมาจากอำเภอโพทองตรงมาประมาณสักชั่วโมงเศษก็จะถึงที่นี้
วันที่ ๒๗ ตุลาคม
ลงเรือล่องลงมาเข้าคลองบางนางร้า หาที่พักทำกับข้าวไม่เหมาะ จนมาออกปากคลอง เลยขึ้นไปดูข้างเหนือ เห็นว่าจะช้าเสียเวลาไป จึงได้แล่นกลับลงมา ไม่ช้าเท่าใดก็ถึงวัดวรนายกรังสรรค์วัดเขาดิน ที่จริงภูมิฐานดีแลเห็นเด่นแต่ไกล เป็นที่ประชุมไหว้พระใหญ่ไม่มีที่ไหนเท่า สุพรรณ อ่างทอง ลพบุรี ก็ลงมาพร้อมกันหมด เสียแต่การก่อสร้างไม่แข็งแรงเลย พูนดินขึ้นไปที่โคกโบสถ์สูงครากแบะจะพัง มาไลยเจดีย์ปูนยังไม่ทันจะดำมีต้นไม้ขึ้นมาก ทำกำมะลอเสียแต่แรกแล้ว ไม่ได้แวะเลยลงมาตามลำน้ำโพสามต้น ไปทางบางขวดถึงปากช่องที่จะเข้าไปวัดตูม วัดศาสดา จอดเรือโมเตอร์ที่นั้น ลงเรือสามสิบหกศอกแจวเข้าไป หยุดทำกับข้าวที่วัดศาสดา ซึ่งมีการเปรียญน้ำพอปริ่ม ๆ ที่จริงไม่เห็นท่าทางที่น่าจะอด หน้าวัดก็มีบ้าน การเปรียญก็ดูเป็นที่มีเทศนาวาการกันอยู่ แต่มีพระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์เดียวก็มิใช่อยู่อย่างจน ๆ อยู่กุฎีฝากระดานยังใหม่ มีคฤหัสถ์ที่เป็นพวกพ้องนั่งอยู่เป็นหลายคน เรือท่านเล็ก10มาแต่ป่าโมกพบกันได้เรียกให้หยุดพักที่นี้ กินข้าวแล้วขึ้นดูพระอุโบสถและวิหาร มีพระเจดีย์กลมองค์หนึ่งอยู่ตรงหลังวิหาร อุโบสถและวิหาร ๔ ห้อง ๒ หน้าต่างเท่ากัน วิหารไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูป ๖ องค์ เป็นพระศิลาปั้นปูนเพิ่มเติมชะนิดพระลพบุรี แต่ในพระอุโบสถเป็นพระไม่สู้เก่า ผนังครากหลังคาโปร่ง สกปรก ถัดขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่งจึงถึงคลองเข้าวัดตูม อยู่คนละฟาก วัดตูมนี้เป็นที่มีผลประโยชน์อยู่บ้าง คือป่าสะแกและที่นากัลปนา จึงได้มีพระอยู่เสมอ ไม่เคยขาดทีเดียวอย่างวัดศาสดา แต่เดี๋ยวนี้ก็มี ๒ องค์เท่านั้น เคยมีถึง ๕ วัดตูมนี้ลานวัดมีต้นไม้ร่มชิดเป็นวัดอย่างสมถะแท้ พระอุโบสถใหญ่แต่มีหน้าต่างข้างละช่อง จั่นหับหน้าหลัง หน้าบันเทพนมก้านขดโต ๆ ปั้นลมเป็นรูปตุ๊กตา ทำนองเดียวกับวัดกลางเมืองสมุทร มีหลังเดียว แต่พระเจดีย์เป็น ๒ องค์ ๆ หนึ่งตรงหลังโบสถ์ องค์หนึ่งไม่ตรง หายกันกับวัดศาสดา วัดศาสดานั้นมีทั้งโบสถ์ทั้งวิหาร แต่มีพระเจดีย์องค์เดียว นี่มีแต่โบสถ์แต่มีพระเจดีย์ ๒ องค์ มีพระเจดีย์เล็กอีกองค์หนึ่ง พังหมดทั้งสาม พระพุทธรูปในนั้นมีแถวใน ๓ แถวหน้ามีพระทรงเครื่องที่มีน้ำในพระเศียรองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งว่าเชิญลงไปวัดเบญจมบพิตรแท่นว่าง จะให้หาพระขึ้นมาตั้งเปลี่ยน พระ ๓ องค์แถวในปิดทองแต่ฉะเพาะที่พระองค์ ผ้าทาชาด สังเกตดูการพระอุโบสถทั้ง ๒ วัดนี้ เห็นจะได้มาซ่อมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า วัด ๒ วัดนี้เป็นวัดเดิมแต่ครั้งกรุงอโยธยา ชั้นเดียวกันกับวัดเดิมที่เรียกว่าวัดศรีอโยธยา วัดเดิมเป็นคามวาสีตั้งอยู่กลางพระนคร วัดตูมเป็นวัดอรัญวาสี ตั้งอยู่ในป่า วัดศาสดาเป็นศิษย์ของวัดตูม ข้อที่วัดเข้ามาอยู่ในดอนลึกเช่นนี้ เป็นเหตุด้วยขุดคลองบางขวด ลัดตัดแม่น้ำทิ้งเสียประมาณสัก ๘๐ เส้น อย่างเดียวกันกับคลองเกร็ดและบางบัวทอง ยังแลเห็นรูปลำแม่น้ำ ว้างใหญ่อยู่ตามทิวไม้ แต่แม่น้ำตื้นทำนากินลงมาเสียจึงเหลือแต่เป็นคลอง ปากช่องข้างบนมาออกใต้โพสามต้นบ้านเรือนคนยังมีอยู่ตลอดหนทาง การที่แม่น้ำนี้ตื้น เห็นจะได้ตื้นมาเสียช้านาน แผ่นดินพระนเรศวรได้มีจดหมายว่าประชุมทัพที่บางขวดแล้วลำแม่น้ำโพสามต้นนี้เป็นแม่น้ำเดียวกันกับคลองเมือง ค่ายโปสุพลาตั้งอยู่เหนือวัดเขาดิน ค่ายพระนายกองตั้งที่โพสามต้นจริง ๆ ยังมีรากอิฐที่ก่อกำแพงปรากฏอยู่ แต่ข้างริมน้ำตลิ่งพังไปกลับงอกเป็นเกาะขึ้นเสียในกลางน้ำ จึงดูแคบไป โพสามต้นนั้นมีวัด แต่ว่าเหลือต้นโพอยู่ต้นเดียวเป็นหน่อโพเดิม วัดนี้ถูกรื้อเอาอิฐไปทำกำแพง ปากช่องที่แม่น้ำอ้อมเรียกบางนางลาง เป็นทางซึ่งครอบครัวขุนแผนขึ้นมาส่งทัพซึ่งข้ามแม่น้ำที่เหนือพลับพลาวัดม่วงนี้หน่อยหนึ่ง แล้วจึงพากันลงไปปลูกโพสามต้นที่ใต้พลับพลานี้ลงไป เรื่องขุนช้างขุนแผนที่เขามั่นคงไม่เหลวไหลอย่างวงศ์ ๆ จักร ๆ
วัดตูมนี้เป็นที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามแต่ดั้งเดิมมา คงเป็นแต่แรกตั้งกรุงอโยธยาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐๐ ปี แต่การก่อสร้างคงจะได้แก้ไขมาโดยลำดับ อย่างไร ๆ ก็ไม่เป็นวัดใหญ่โต แต่เป็นที่สงัด พระในวัดไม่เคยทำเอง เป็นพระที่อื่นขึ้นมาทำ เช่นเครื่องพิชัยสงครามที่กรุงเทพฯ ก็พระวัดพระเชตุพนขึ้นมาทำ ที่นี่และที่วัดเดิมศรีอโยธยา ทูลกระหม่อมทรงนับถือ เสด็จพระราชดำเนินก็มีพระราชทานให้มาทอดกฐินตั้งแต่เด็กๆ มา วันนี้ได้ให้นิมนต์พระเลื่อง ซึ่งเป็นหลานศิษย์พระอาจารย์ม่วง มาลงเครื่องตามแบบพระอาจารย์ม่วง พระญาณไตรโลก พระสุวรรณวิมลศีล พระครูวัดหน้าพระเมรุ พระครูวัดขุนญวน มานั่งปรกในการลงเครื่องนั้นด้วย ครั้นเสด็จแล้วได้กลับโดยเรือแจว มาออกทางปากช่องข้างเหนือขึ้นมาพลับพลา วันนี้มีคนมามากยิ่งกว่าทุกแห่ง เพราะเขามีหนังและมีเพลง และมีผ้าป่า ๆ ที่นี่มากลำแต่งต่าง ๆ เป็นการครึกครื้นกว่าทุกแห่ง นับเป็นการนักขัตฤกษ์ที่ประชุมคนใหญ่ วันนี้มีลมเย็นฟ้าแลบ แต่ไม่มีฝน
วันที่ ๒๘ ตุลาคม
เวลาเช้าล่องทางแม่น้ำโพสามต้นเลี้ยวเข้าคลองสระบัว มาออกคลองเมืองที่หน้าพระราชวัง คลองสระบัวนี้เป็นคลองที่ขุดลัดไปออกบางแก้ว สำหรับที่จะเดินทางจากพระราชวัง ไม่ต้องอ้อมไปขึ้นทางวัดสามพิหาร ตอนตั้งแต่วังไปตรง ไปโอนต่อเมื่อจะเข้าบรรจบลำแม่น้ำ คลองนี้ก็เหมือนกับคลองมอญที่กรุงเทพฯ เห็นจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนแน่นหนามาก เพราะอยู่ใกล้พระราชวัง มีถนนทั้งสองฟากคลอง แต่ถนนลึกเข้าไป ไม่ได้อยู่ริมน้ำ มีวัดรายริมถนนเป็น ๒ แถว วัดที่ออกชื่อบ่อย ๆ ก็อยู่คลองนี้โดยมาก ล่องลงทางหัวแหลม มาเห็นเขากำลังขึ้นตะเกี่ยกัน ได้ความว่าเห็นจะเป็นออกอิดมีแข่งเรือ แล้วลงมาแวะดูที่บางปอิน น้ำท่วมแล้วยังกำลังขึ้นอยู่วันละนิ้ว นิ้วกึ่ง ขรัวเมฆมาคอยรับ ได้ให้เงินแทนทอดกฐิน ๑๐๐ บาท มีพวกที่บางปอินเอาขนมจีนน้ำพริกมาให้ ลงเรือล่องมาหยุดพักกินกลางวันที่วัดเชียงรากน้อย พบพระยาสุขุม พระยารัษฎา๑๐ เจ้าขจร๑๑ ไปคอยรับอยู่นั่น ครั้นเลี้ยงกันแล้วล่องเรือลงมาพบมกุฎราชกุมารรับมาลงเรือด้วย ล่องลงมาจอดที่หน้าแพวัดราชาธิวาส ที่เจ้านายและข้าราชการไปคอยรับอยู่ พอตกเย็นลง ก็ฝนตั้งและมีตกประปราย ขึ้นมาดูงานไม่ทันทั่วก็ฝนตก บางกอกฝนยังชุกมาก ที่ไหนซึ่งเขาบอกว่ามียุงชุม ยังสู้บางกอกไม่ได้สักแห่งเดียว
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
-
๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ คือ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ↩
-
๒. หลวงญาณ คือ หลวงชลญาณวิจิตร (ขำ) ตำแหน่งปลัดกรมฝ่ายขวาในกรมฝีพายฝ่ายพระราชวังบวร มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านผักไห่ กรุงเก่า มั่งมีทรัพย์สมบัติมาก มีธิดาชื่อ สมบุญ ได้สมรสกับหลวงวารีโยธารักษ์ (อ่วม) เป็นต้นสกุล “ญาณวารี” หลวงวารีฯ กับสมบุญ ได้คุ้นเคยสนิทสนมในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก โดยฉะเพาะสมบุญนั้น เป็นคน ๑ อยู่ในจำพวกซึ่งทรงดำรัสว่าเพื่อนต้น จะเฝ้าแหนเมื่อใดก็เฝ้าได้ ↩
-
๓. หลวงญาณ คือ หลวงชลญาณวิจิตร (ขำ) ตำแหน่งปลัดกรมฝ่ายขวาในกรมฝีพายฝ่ายพระราชวังบวร มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านผักไห่ กรุงเก่า มั่งมีทรัพย์สมบัติมาก มีธิดาชื่อ สมบุญ ได้สมรสกับหลวงวารีโยธารักษ์ (อ่วม) เป็นต้นสกุล “ญาณวารี” หลวงวารีฯ กับสมบุญ ได้คุ้นเคยสนิทสนมในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก โดยฉะเพาะสมบุญนั้น เป็นคน ๑ อยู่ในจำพวกซึ่งทรงดำรัสว่าเพื่อนต้น จะเฝ้าแหนเมื่อใดก็เฝ้าได้ ↩
-
๔. หลวงญาณ คือ หลวงชลญาณวิจิตร (ขำ) ตำแหน่งปลัดกรมฝ่ายขวาในกรมฝีพายฝ่ายพระราชวังบวร มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านผักไห่ กรุงเก่า มั่งมีทรัพย์สมบัติมาก มีธิดาชื่อ สมบุญ ได้สมรสกับหลวงวารีโยธารักษ์ (อ่วม) เป็นต้นสกุล “ญาณวารี” หลวงวารีฯ กับสมบุญ ได้คุ้นเคยสนิทสนมในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก โดยฉะเพาะสมบุญนั้น เป็นคน ๑ อยู่ในจำพวกซึ่งทรงดำรัสว่าเพื่อนต้น จะเฝ้าแหนเมื่อใดก็เฝ้าได้ ↩
-
๕. นายช้างกับนางพลับ สามีภรรยาคู่นี้ ได้ทรงคุ้นเคยในคราวเสด็จประพาสครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จไปแวะที่บ้าน นายช้างกับนางพลับไม่รู้จัก แต่ต้อนรับเสด็จให้ทรงสำราญพระราชหฤทัย ประพฤติตัวเหมือนฉันมิตรสหายที่เสมอกัน ต่อเสด็จกลับมาแล้ว นายช้างนางพลับจึงได้รู้ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ตั้งนายช้างเป็นหมื่นปฏิพัทธภูวนาท เป็นคนโปรดมาแต่ครั้งนั้น เรื่องพิศดารของนายช้างปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งแรก. ↩
-
๖. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช คือ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ↩
-
๗. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. ↩
-
๘. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงศ์วราวัตร ในสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ฯ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น. ↩
-
๙. เจ้าพระยาสุรวงศวัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ↩
-
๑๐. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ↩
-
๑๑. หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ ข้าหลวงรักษาราชการเมืองปทุมธานี ↩