(ฉะบับที่ ๒)

เมืองสุพรรณบุรี

วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทร์๔๑ศก ๑๒๗

ถึง มกุฎราชกุมาร

ด้วยได้รับหนังสือเมื่อล่องจากอำเภอศรีประจันลงมาที่นี่เป็นฉะบับแรก ได้ร่างจดหมายที่จะบอกระยะทางไว้ จึงเลยตอบรับหนังสือด้วยจดหมายรายทางดังนี้

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗

เมื่อวานนี้เรือครุฑเหิรเห็จเกิดเหตุหมุนไม่ไป เมื่อได้แล่นถึง ๓ ชั่วโมงแล้วหยุดอยู่ชั่วโมงหนึ่ง นึกสงสัยว่าจะเป็นด้วยหยอดน้ำมันในสูบไม่พอ ร้อนจัดเหล็กจะติดกัน จึงได้ให้รพี ตรวจจับเหตุไม่ได้ รื้อออกดูทั้งหมดก็ไม่มีสิ่งใดเสีย ไปได้ความแต่ว่าชาฟที่ข้างเรือฝืดไป เพราะเหตุที่ต้องรื้อออกหมดและคุมเข้าใหม่จึงกินเวลาตลอดรุ่ง ได้ออกเรือต่อ ๓ โมงเช้า ล่องลงมากลางทางประมาณสักชั่วโมงเศษ จักรติดอีก แต่คราวนี้รู้เค้าเงื่อน เปิดท้องเรือขนหยอดไข พอหายร้อนแล้วก็แล่นได้เป็นปรกติ วันนี้โปรแกรมพึ่งเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวแก่เรื่องที่จะตรวจแม่น้ำเก่า ได้ความว่ามีอยู่ตอนหนึ่งในย่านมัทรี จึงได้ให้มาถางไม้รกพอเรือเข้าไปได้ หยุดเรือไฟไว้ที่ริมแม่น้ำ มีเรือยาวและเรือต่าง ๆ ราษฎรเป็นอันมากมาคอยรับ เข้าลากเรือเก้ากึ่งพยาม เข้าในคลองน้ำทรงเป็นคลองแคบเล็กพอระครือเข้าไป อยู่ข้างจะคด แต่ครั้นเมื่อเข้าไปถึงที่สุดคลองตกแม่น้ำ เรียกว่าน้ำพระทรง หน้าตาเหมือนกับแม่น้ำใหญ่ไม่ผิดเลย แรกหลุดเข้าไปนึกว่าไปเกินลำแม่น้ำด้วนกลับมาออกแม่น้ำใหญ่เสียแล้ว แต่ครั้นเมื่อพิจารณาดูก็ไม่ใช่ ไปในลำน้ำนั้นประมาณกึ่งทาง ถึงวัดซึ่งกรรมการไม่ควรจะถามชื่อแต่หลงถามชื่อ ก็ได้ความว่าวัดน้ำทรง ไม่มีอุโบสถมีแต่ศาลากุฎีและแพ เป็นวัดซึ่งมีวัดเดียวในย่านนั้น มีพระสงฆ์อยู่ ๒ รูปเป็นปีที่มีพระน้อย อย่างมากก็พอรับกฐินได้ ราษฎรในตำบลนั้นหมดด้วยกัน ๔๐๐ เศษ หากินด้วยทำนา เผายาง ค่าน้ำในลำน้ำด้วนนี้ปีละ ๑,๐๐๐ บาท ทางออกแม่น้ำใหญ่เมื่อไปถึงบางหวายแล้วแยกออกบางผีทางหนึ่ง แยกลงไปตามลำน้ำตากแดด ซึ่งต่อกับลำน้ำสะแกกรังอีกทางหนึ่ง มีเขินเป็นห้วง ๆ และมีไม้รก เรือเป็ดบรรทุกข้าวล่องลงไปขายสะแกกรังได้ ชาวบ้านนี้ไม่ได้จำหน่ายข้าวออกทางแม่น้ำใหญ่ ล่องข้าวลงไปสะแกกรัง น้ำหน้าแล้งกลางแม่น้ำลึกประมาณ ๕ วา ๖ วา เป็นเลนไม่มีหาด ฤดูแล้งจระเข้ชุมเสียงร้องมาก ฤดูน้ำก็เข้าป่าไป

มีนิทานเล่าเป็นเรื่องตาม่องไล่บนบกว่า เดิมมีนางคน ๑ บ้านอยู่ดอนคา มีผู้มาสู่ขอบิดาฝ่าย ๑ มารดาฝ่าย ๑ ต่างคนต่างบอกให้ลูกสาวแล้วกำหนดจะไปแต่งงานอภิเษกที่เขาพนมเสพที่เมืองนครสวรรค์ ไปหยุดทำของเลี้ยงมีขนมจีนเป็นต้นที่เขาแห่งหนึ่ง ครั้นเมื่อปรากฏว่าบิดาให้ข้างหนึ่งมารดาให้ข้างหนึ่งเกิดวิวาทกันขึ้น เขานั้นจึงได้ชื่อว่าเขาวิวาท ภายหลังจึงกลายเป็นพนมวาด ยังมีหมวกขนมจีนและรอยสุนัขปรากฏอยู่ นางนั้นได้ความคับแค้นรำคาญโกรธขึ้นมา จึงได้ตัดนมข่ว้างไป กลายเป็นเขานมนาง แล้วนางนั้นก็กลับลงมา เห็นน้ำในลำแม่น้ำนี้ใสสะอาดดีก็ลงอาบ จึงเรียกว่าน้ำสรง ภายหลังกลายไปเป็นน้ำทรง แล้วนางก็ลงไปทางตำบลเดิมบางแล้วก็ไปบวชเสีย ที่ซึ่งนางบวชนั้นจึงได้ชื่อว่าตำบลนางบวช แขวงสุพรรณบุรี เพราะดอนคาซึ่งเป็นเมืองเดิมนั้นก็อยู่ที่สุพรรณ นิทานนี้ก็อย่างเดียวกันกับตาม่องไล่

เป็นอันได้ความว่าลำน้ำนี้เป็นลำน้ำเดิมในเขตต์สุวรรณภูมิ เห็นจะมาร่วมน้ำลพบุรีที่นครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่แอ่งลึก น้ำข้างตะวันออกและข้างตะวันตกกัดเข้ามาร่วมกันเป็นแม่น้ำเดียว กับที่มโนรมย์ก็มาร่วมกันอีกแห่งหนึ่ง ฝั่งตะวันออกเป็นฝั่งสูง ข้างตะวันตกเป็นท้องทุ่งที่น้ำหักออกมา แต่ก่อนคงจะลงมาจากกำแพงเพ็ชรถึงอุทัยธานี จากอุทัยธานีลงไปสุพรรณ ไม่มีนครสวรรค์ ไม่ถูกเมืองพยุหคีรี มโนรมย์และชัยนาทเป็นคนละลำน้ำ เรื่องค้นแม่น้ำเก่านี้เห็นจะสนุก ได้เค้าเงื่อนแตกออกไปทุกที คงจะได้แผนที่แผ่นดินสยามแต่ก่อนว่าเป็นอย่างไรแน่

หยุดกินข้าวกลางวันที่วัดน้ำทรง แล้วกลับออกทางบางผี พวกชาวบ้านชื่นชมยินดีรับรองแข็งแรงมาก อย่างเดียวกันกับปลดม้ารถเสียเข้าลาก ดูกล้าหาญไม่ย่นย่อร้องเพลงเรื่อยไปทุกลำ แรกได้ยินร้องก็นึกว่าจะประหลาด แต่ฟังไปฟังมาเป็นลำยี่เก ล่องลงมาจอดที่พลับพลาแพหน้าวัดหัวหาดเมืองมโนรมย์ ชื่อตั้งว่าท่าหาดพิกุลงาม เหตุด้วยมีต้นพิกุลงามๆ อยู่หน้าวัด

วันที่ ๑๗ ตุลาคม

เมื่อวานนี้ ลืมกล่าวว่าวัดที่จอดเรือนั้นอยู่ฝั่งตะวันออก วันนี้ลงเรือครุฑเหิรเห็จเวลาเช้า ข้ามฟากเยื้องลงมาข้างล่างหน่อยหนึ่ง เข้าปากคลองที่วัดสิงห์ ปากคลองน้ำย้อนลงข้างใต้ เข้ายากสักหน่อย พอพ้นลำคลองตกถึงลำน้ำหลังวัดก็เป็นตลาด เรียกชื่อทับศัพท์ว่าตลาดวัดสิงห์ มีบ้านเรือนฝากระดานหลายหมู่ มีโรงแถวตลาดข้างเหนือ ๓๐ ห้องเศษ เจ้าของหนึ่งเป็นผู้หญิง ตั้งอยู่บนที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีตลาดของสดอยู่หน่อยหนึ่ง ต่อลงไปเป็นตลาดใต้ซึ่งอยู่ติดกัน มีประมาณ ๓๐ ห้องเศษเป็น ๒ เจ้าของ แต่ตลาดนี้น้ำท่วม ข้อซึ่งตลาดติดที่นี่ได้ถึง ๒ ตลาด เหตุด้วยเป็นท่าเกวียนข้าวในดอนมาลง เป็นที่ประชุมแห่งหนึ่ง อย่างเดียวกับสะแกกรัง ผู้คนก็มีมากอยู่ ถัดนั้นเข้ามาเป็นทุ่งแล้วจึงถึงป่า ตั้งแต่พอพ้นตลาดวัดสิงห์เข้ามาหน่อยหนึ่ง จนถึงเขตต์อำเภอเดิมบาง เป็นระยะที่ต้นไม้ขึ้นในลำน้ำมากเรือเดินไม่สะดวก พึ่งจะได้ลงมือถางใน ๒ ปีนี้ แต่ผักตบชะวาเต็มพึ่งได้ชำระออกในคราวรับเสด็จนี้ มีที่เขาเรียกว่าแก่งอยู่ที่ตำบลหาดทดแห่งหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นแต่สายน้ำเชี่ยวด้วยน้ำตื้น คดเคี้ยวอยู่บ้าง เขาเตรียมจะโรยด้วยเชือก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ ถัดนั้นมาเป็นทางที่เรือเดินไปมาอยู่แต่ก่อนแล้ว แต่หากมีไม้ล้มทับขวางทางไม้เอนชายและเป็นตออยู่ในใต้น้ำมาก ประกอบทั้งผักตบชะวาขึ้นเต็มด้วย เรือจึงเดินไม่ได้ทีเดียว ครั้งนี้ได้ตัดไม้ที่กีดขวางและเอนชาย กับตัดตอในน้ำเสียมากยังเหลืออยู่บ้าง เมื่อก่อนจะมานี้ ๓ วัน ต้นยางก็ล้มอีกต้น ๑ ทางที่ริมน้ำเป็นที่ดอนโดยมาก มีไม้ใหญ่เป็นดง คือ ยาง กระเบา มะม่วงกะล่อนเป็นพื้น บ้านคนมีรายๆ มาตลอด วัดก็มีหลายวัด แต่เป็นที่สำนักสงฆ์พึ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ บ้านเรือนก็ใหม่ๆ โดยมาก ที่ป่านี้ชอบกลดูเหมือนจะใหญ่ทึบมาก แต่ไม่หนาเท่าใด ยืนจากลำน้ำขึ้นไปเพียง ๕ เส้น ๖ เส้นก็ถึงทุ่งซึ่งเป็นนาดีตลอดไป มีคลองแยกออกแม่น้ำมากหลายสาย คลองเหล่านี้เองที่ชักให้แม่น้ำเหล่านี้เขิน เขาตั้งพลับพลารับตำบลคลองจันทร์อยู่ฝั่งใต้ ระยะทางสั้นเกินไป ถ้าจะเดินเรือโมเตอร์มาไม่หยุด ๒ ชั่วโมงก็จะถึง เพราะระยะทางตั้งแต่วัดสิงห์มา ๔๒๗ เส้นเท่านั้น ตำบลนี้ยังอยู่ในแขวงชัยนาท

วันที่ ๑๘ ตุลาคม

ทางมาจากคลองจันทร์วันนี้เขาว่า ๕๐๐ เส้น มาไม่มากนักก็ออกทุ่ง มีไผ่ริมน้ำอย่างแม่น้ำสุพรรณ แลเห็นนาในไผ่เป็นช่อง ๆ ไม้ใหญ่ก็ยังมีราย ๆ บ้านเรือนค่อยหนาขึ้น เมื่อตอนใกล้เดิมบาง เห็นเขาเดิมบางอยู่ข้างหน้า พลับพลาทำที่วัดคงคาฝั่งใต้ในแขวงชัยนาท มีราษฎรมาหามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตอนล่างนี้ดูมีการตัดไม้ไผ่ป่ามาก

เวลาบ่าย ๔ โมง ลงเรือล่วงไปเขาพระในแขวงสุพรรณ พระยาสุนทรบุรีขึ้นมารับอยู่ในที่นั้น เขานี้ไม่สู้สูงแต่แลเห็นภูมิประเทศตลอดทุกทิศ มีพระเจดีย์บนนั้นพังเหลืออยู่บ้าง ใช้ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่สอดินที่จะเป็นแว่นฟ้า ๓ ชั้น มีทะนานครอบข้างบน เขาว่าเขาในบริเวณนี้มีการก่อสร้างอยู่บนยอดแทบทั่วไป ตามลำน้ำนี้ไม่ปรากฏว่ามีเมืองใดนอกจากเมืองสรรค์ซึ่งอยู่ในคลองตัดไปหาลำน้ำสายกลาง ทะลุจนถึงสายนอก เห็นจะเป็นเมืองที่ชิงกันเป็นเจ้าของ เพราะอาจจะบังคับแม่น้ำได้ทั้ง ๓ แม่น้ำ ถ้าเวลาละโว้มีอำนาจคงเป็นของละโว้ สุวรรณภูมิมีอำนาจคงเป็นของสุวรรณภูมิ พื้นเดิมคงเป็นของละโว้ ได้พระพุทธรูป ๒ องค์ในแขวงชัยนาท เป็นพระเขมรงามมาก ได้หม้อดินใน ๑ ที่หว่างเขาพระในแขวงสุพรรณ รูปร่างเป็นหม้อปักดอกไม้ซึ่งมีความรำคาญมานานแล้ว ว่าเครื่องปักดอกไม้อย่างไทยไม่มี หม้อนี้ใช้ได้พอเป็นตัวอย่าง แต่สังเกตดูท่าทางเห็นจะเป็นหม้อน้ำน่าจะมีฝา ลักษณะหม้อกรันและรูปสูง รูปแปลกดีมากไม่เคยเห็น

เมื่ออยู่ที่เมืองพยุห เขามีแห่ผ้าป่าให้คืนหนึ่ง วันนี้เขาเตรียมแห่ผ้าป่าไว้อีก ทำรูปเป็นเรื่องราวของประเทศนี้ จึงขอให้ถามคำให้การเรียบเรียงเป็นเรื่องมา ข้อความก็ลงกับแต่ก่อน แต่ไม่มีความขึ้นไปถึงน้ำทรง

ได้ความจากหลวงพิบูลย์รัฐคาม เดิมเป็นนายอำเภอเดิมบาง เดี๋ยวนี้ไปรับราชการเป็นนายอำเภอพนมรอก เมืองนครสวรรค์ ว่า

แต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีนางคน ๑ ชื่อใดไม่ปรากฏ เป็นชาวบ้านเดิมบางนี้ พระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ครองเมืองใดไม่ปรากฏ ได้ข่าวนางงามนี้ต้องพระราชประสงค์ นางไม่สมัครจึงหลบหนีไปอยู่บ้านนางลือ แขวงเมืองสรรค์ แล้วมาอยู่ที่เขากี่บ้านกำมะเชี่ยนแขวงอำเภอเดิมบางนี้

บ้านกำมะเชี่ยนนี้ เดิมชื่อบ้านกำมะเชือด คนภายหลังเรียกเพี้ยนเป็นบ้านกำมะเชี่ยน และบ้านกำมะเชี่ยนนี้อยู่ฝั่งตะวันตกลำน้ำมะขามเฒ่า เดินไปจากที่ตั้งพลับพลาเดิมบางนี้สัก ๔๐ นาฑีถึง มีแม่น้ำเก่าอยู่ที่นั้นเรียกว่าแม่น้ำกำมะเชี่ยน กว้างบางแห่ง ๓ เส้นเศษ บางแห่งแคบกว่านั้น ข้างเหนือขึ้นไปทางฉวากละหานพระห้วยทราย ไปบรรจบแม่น้ำมะขามเฒ่าที่ปากคลองสะเดาหักใต้วัดหันคา ข้างใต้ลำน้ำนี้ไปบรรจบลำน้ำกระเสียว ออกลำน้ำมะขามเฒ่าที่ใต้นางบวช

กล่าวเรื่องนิทานต่อไปความว่า เมื่อนางงามมาอยู่ที่เขากี่บ้านกำมะเชี่ยนนั้น มีชายคน ๑ ชื่อศรีนนท์ ออกไปเห็นนางนั้นมีใจรักใคร่เวียนเกี้ยวพาน แต่ฝ่ายนางไม่มีความรัก เบื่อหน่ายหนักเข้าจึงเชือดนมทิ้งเสียที่เขานมนาง แล้วจึงไปบวชเป็นชีอยู่ที่เขานมนาง แล้วจึงไปบวชเป็นชีอยู่ที่เขานางบวช จบเรื่องนิทานเท่านี้

พระเฑียรฆราช ผู้ว่าราชการเมืองชัยนาทเล่านิทานเรื่องนี้ว่า เดิมแต่ครั้งไรไม่ปรากฏ มีนางงามคน ๑ ชื่อนางพิมสุลาไลย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เขาเดิมบาง เขานี้แต่แรกเรียกว่าเขาเดิมนาง อยู่มามีข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นมา นางนั้นกลัวจึงหลบไปอยู่บ้านนางลือแขวงเมืองสรรค์ ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จ นางจึงกลับมาอยู่ที่เขากำมะเชี่ยน แต่เดิมเรียกว่าเขากำมะเชือด นางตั้งหน้ารักษาศีลและทอผ้าด้วยใยบัว ประสงค์แต่จะทำบุญทำทาน มีชายคน ๑ ชื่อเสนนท์มีโรคเรื้อน วันหนึ่งออกไปต่อไก่ที่เขากำมะเชี่ยน ยังมีหลักศิลาซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลักไก่อยู่จนทุกวันนี้ นายเสนนท์ไปเห็นนางเข้ามีความรักใคร่ ไปเกี้ยวพานรบกวนจนนางโกรธนางก็ตัดนมทิ้งเสียที่เขานมนาง แล้วหนีไปบวชที่เขานางบวช จบเรื่องนิทานเท่านี้

ส่วนที่ราษฎรชาวตำบลนี้เล่าว่า บ้านเดิมบาง เดิมเรียกว่าบ้านเดิมนาง แต่นามนางไม่ปรากฏ แล้วนางย้ายไปอยู่บ้านกำมะเชี่ยน นางทอหูกอยู่บนเขา มีนายศรีนนท์คน ๑ ไปต่อไก่เถื่อน พบนางเข้ามีความรักใคร่พูดจาเกี้ยวพาน นางไม่มีความเสน่หาด้วย นางจึงตัดถันของนางออกจากอกทั้ง ๒ ถันขว้างไปทางซ้ายและขวา จึงบังเกิดเป็นเขาขึ้น มีนามปรากฏทุกวันนี้เรียกว่า เขานมนาง และหลักต่อไก่ของนายศรีนนท์ก็ยังอยู่ (ดูเหมือนจะเป็นหลักเขตต์วัด) แต่ข้อที่นางได้ตัดถันนั้นเพื่อประสงค์จะให้สิ้นความสะสวย แต่กระนั้นก็ดี นายศรีนนท์ยังไปรบกวนอยู่เสมอ นางต้องจำหนีไปบวชอยู่ที่เขานางบวชแขวงเมืองสุพรรณ ซึ่งเรียกต่อมาว่าเขานางบวชจนทุกวันนี้ นายศรีนนท์ก็ยังตามไปรบกวนอยู่ นางจึงหนีต่อไปจำศีลอยู่แขวงเมืองอ่างทอง เรียกว่าบ้านไผ่จำศีลต่อมา นายศรีนนท์ก็ยังตามไปอีก นางได้หนีไปอยู่เขาราวเทียนแขวงเมืองนครสวรรค์ นายศรีนนท์ก็ยังตามอยู่ร่ำไป ต่อมานางก็ถึงแก่กรรม นายศรีนนท์ป่วยหนักได้อาราธนาสงฆ์ไปเพื่อจะหาทางภายหน้า แต่สงฆ์มีความรังเกียจไม่ไป เพราะนายศรีนนท์เป็นโรคเรื้อน นายศรีนนท์ตายลง นัยว่านายศรีนนท์ยังมีความอาฆาตสงฆ์ ถ้าสงฆ์รูปใดไปที่เขาราวเทียนแล้วอาจจะมีเหตุถึงแก่ความมรณภาพตามความดังนี้

วันที่ ๑๙ ตุลาคม

เมื่อวานนี้เรือครุฑจักรฟันไม้ลอยน้ำบิ่น จึงต้องยกท้ายขึ้นเปลี่ยนจักรใหม่ยังไม่แล้ว อีกประการหนึ่งทางที่จะไปวันนี้ต้องเลี้ยวเข้าไปในทุ่ง ไปได้แต่เรือเล็ก จึงได้ลงเรือศรีเทพออกจากเดิมบางไปทางประมาณสักชั่วโมงหนึ่งจึงถึงนางบวช ซึ่งมีตำบลบ้านและมีสะพานยาวเข้าไปจนถึงเขา แต่สะพานนั้นน้ำท่วม เรือเข้าไปจอดได้ถึงเชิงเขา ลักษณะเขาสมอคอน ในแม่น้ำตอนตั้งแต่เดิมบางลงมาปรากฏว่าเป็นแม่น้ำใหม่ น่าจะเรียกว่าลำคลองมากกว่าแม่น้ำ เพราะไม่มีไม้ใหญ่ มีแต่ไผ่และแคบกว่าลำแม่น้ำตอนข้างบนมาก ลำแม่น้ำเดิมไปทางกำมะเชี่ยน เมื่อถึงนางบวชแล้วเลี้ยวเข้าในคลองหรือในทุ่งเข้าไปถึงเชิงเขา มีกุฎีพระมุงแฝกหลังใหญ่ ๓ หลัง มีพระสงฆ์อยู่ถึง ๗ รูป มีโรงพักสัปปุรุษและสระบัว ทางที่ขึ้นเขาเป็นสองทาง ตรงขึ้นไปเหมือนธรรมามูลทางหนึ่ง เลี้ยวอ้อมไปที่ไม่สู้ชันทางหนึ่ง เขาก็เป็นลักษณะเดียวกันกับเขาธรรมามูลหรือโพธิ์ลังกา ไม่ใคร่มีต้นไม้อื่นนอกจากไม้รวกเต็มไปทั้งเขา ฤดูแล้งแห้งใบร่วงเกิดเพลิงบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นหลังคาโบสถ์วิหารไม่ใคร่อยู่ได้ ที่ลานบนหลังเขายาวประมาณสัก ๓๐ วา เกือบจะเท่ากับวัดราชประดิษฐ์แต่แคบกว่า ดูเป็นลานกว้างขวางสบายดีกว่าธรรมามูล ที่บนนั้นมีพระอุโบสถหลังหนึ่ง ๕ ห้อง ไม่มีหน้าต่าง ก่อเว้นช่องว่างอย่างวัดพุทไธศวรรย์ แต่หลังคาไม่มีมุงแฝกคลุมไว้ พระที่ตั้งอยู่บนฐานชุกชีเป็นพระพุทธรูปศิลาปั้นปูนประกอบปิดทอง ฐานทำลายรักปิดทองอย่างดีเต็มไปทั้งฐานชุกชี ผนังโบสถ์ด้านหนึ่งก่อเป็นแท่นเหมือนอาสน์สงฆ์ ตั้งพระพุทธรูปเป็นพระยืนขนาดใหญ่ ๆ เห็นจะเป็นพระเท่าตัว ฝีมือดี ๆ อย่างโบราณ สวมเทริด หน้าต่าง ๆ แต่ชำรุดทั้งสิ้น ได้สั่งให้เชิญลงมาจะปฏิสังขรณ์ ๔ องค์ ถ้าแล้วเสร็จจะส่งกลับขึ้นไปไว้ที่เขานั้นบ้าง เสมาใช้ศิลาแผ่นใหญ่ ๆ อย่างเสมาวัดหลวงกรุงเก่า มีกำแพงแก้วรอบไปจนกระทั่งพระเจดีย์และวิหารด้วย แต่วิหารนั้นเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะทำเป็นสองคราวเพราะกระชั้นพระเจดีย์นัก ไม่ได้ไว้ช่องอีกมีช่องหน้าต่างเล็กสูงสักศอกเดียวกว้างคืบเศษสองช่องเท่านั้น ท้ายวิหารจดฐานพระเจดีย์ มีทางเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ที่กำแพงแก้วมีพระเจดีย์ประจำมุม เห็นจะมีถึงด้านละ ๘ องค์ พระเจดีย์นั้นก็แว่นฟ้า ๓ ชั้น ข้างบนตั้งรูปพระเจดีย์ปั้นดินเผาสีดำบ้างขาวบ้าง เผาแข็งแกร่ง ได้นำลงมาเป็นตัวอย่างองค์ ๑ มีศาลายาวก่ออิฐแต่ไม่มีหลังคา เห็นจะเป็นที่จำศีลภาวนาคงจะได้มุงกระเบื้องกะบูทั้งนั้น เหลือหลังคาอยู่แต่วิหาร ทางที่จะแลจากเขานางบวชนี้สู้เขาพระไม่ได้ เพราะเหตุที่มีต้นไม้บังเสียข้างหนึ่ง แต่การซึ่งขึ้นไปบนยอดเขาเหล่านี้ มีประโยชน์ที่ได้เห็นภูมิพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ข้อที่เราเห็นเมื่อเวลามาในแม่น้ำว่าเหมือนมาในดงไม้ใหญ่ แต่ที่จริงขึ้นไปที่สูงแล้วแลเห็นว่าไม่มีดงแห่งใด หลังหมู่ไม้เข้าไปก็เป็นท้องนาทั่วไป มีท้องนากับป่าไผ่จนสุดสายตาทุกทิศ ไม่มีที่ว่างเปล่าในที่แห่งใดเลย ป่าไผ่นี้ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับป่าสนของเมืองฝรั่ง ของเขาปลูกเหย้าเรือนด้วยไม้สน ของเราก็สำเร็จด้วยไม้ไผ่เป็นที่งามบริบูรณ์ดีทุกแห่ง

เขานางบวชนี้เป็นที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดขึ้นไหว้พระกันในกลางเดือน ๔ มาแต่หัวเมืองอื่น ๆ ก็มาก ใช้เดินทางบกทั้งนั้น ได้หยุดทำกับข้าวกินที่เชิงเขาแล้วจึงล่องเรือลงมา จนถึงปากกะเสียวจึงกลับเข้าลำแม่น้ำเดิม ซึ่งมีต้นกระเบาและต้นยาง ๒ ฟากต่อมาอีก ตอนต่ำ ๆ ใต้อำเภอเดิมบางลงมา มีตำบลที่ตั้งยุ้งข้าวมาก ๆ ตั้งแต่ ๔ หลังขึ้นไปหา ๗ หลังเนือง ๆ ตลอดทาง เขาว่าที่เมืองนี้ไม่เหมือนกรุงเก่า ถ้าไม่เห็นข้าวใหม่ในนาแล้วไม่เปิดยุ้งจำหน่าย เหตุฉะนั้นจึงต้องมียุ้งมากๆ พลับพลาที่พักนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์ ๑ เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่ข้างจะเขื่อง ว่าเป็นที่ราษฎรประชุมกันไหว้พระทุกปี

เรื่องตรวจลำน้ำเก่าตอนล่างนี้ออกจะร่วม ๆ เข้าไปแล้ว ได้ประชุมกันไต่สวนเวลาวันนี้ได้ความว่า แม่น้ำที่ต่อสะแกกรังอยู่ที่วัดท่าในลำน้ำสะแกกรังแล้วมาท่าหลวง กระทงหนองบัว ถึงลำน้ำมะขามเฒ่า แต่ไม่ลงมาตามทางลำน้ำที่เรือเดินครั้งนี้ เลี้ยวไปทางบ้านเชี่ยนถึงฉวากแล้วกำมะเชี่ยนมาออกที่กะเสียวแล้วไปทางลาดปลาเค้า ท่าตาจาง ท่าระกำ หนองตับเตี่ยว หนองสาหร่าย สี่สระ เขาดิน บางกุ้ง วัดหน้าพระธาตุ ศาลาราว สวนแตง กระจันยี่แส บุงทลาย หางสลาด ตอตัน รางกะดี สระยายโสม สระกะพังลาน ศรีสำราญ หวายสอ ดอนมะนาว ลำอ้ายเสา หูช้าง กำแพงแสน สามแก้ว ห้วยขวาง ห้วยพระ ตะก้อง อุไทย ดุมหัก ทุ่งน้อย ห้วยจระเข้ พระปฐมเจดีย์ ลำน้ำที่ไปทางตะวันตกในลำน้ำสุพรรณนี้เข้าไปก็คือทางเมืองเก่าของสุพรรณที่เรียกว่าเมืองอู่ทอง อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้ ลำน้ำเดียวกันกับพระปฐมเจดีย์ สี่สระที่ปรากฏอยู่นี้ คือ สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนา ซึ่งเป็นน้ำราชาภิเษกอยู่เหนือเมืองสุพรรณเก่า วัดหน้าพระธาตุคือตัวเมืองสุพรรณซึ่งเป็นกรุงเก่ากับกรุงเทพ กับปฐมเจดีย์ ได้สั่งไว้ให้ค้นตอนข้างเหนือต่อขึ้นไปอีก ลำน้ำนี้เห็นจะได้ลงในแผนที่ได้เร็ว เพราะตอนที่ต่อน้ำทรงขึ้นไปข้างบนก็ได้เค้าเงื่อนแล้ว

มีความยินดีที่จะกล่าวว่าเรื่องยุงและตัวแมลงนั้นนับว่าไม่สู้มี ดีกว่ากรุงเทพฯ เป็นอันมากทั้งสองอย่าง

วันที่ ๒๐ ตุลาคม

วันนี้พยายามลองจะไปต้น ไต้จัดการให้แตรเป่านำกระบวน แล้วตัวเองก็ลงมาในเรือพระที่นั่งหน่อยหนึ่งจึงลงเรือศรีเทพ แวะ ๆ เวียน ๆ ให้ล้าลงไปหมายจะมาท้ายกระบวน แต่ไม่สำเร็จอย่างยิ่ง เพราะพวกในแม่น้ำนี้ไม่รู้จักแตร รู้แต่ว่าเสด็จมาลงเรือเล็กข้างหลัง หรือจะจำเรือศรีเทพไต้ แตรเป่าก็เฉย ตาพวกผู้ใหญ่บ้านก็ไม่คำนับ นักเรียนก็ไม่ร้องเพลง เรือที่ผ่านลงมาเท่าไร ๆ ก็เฉย ฉะเพาะเรือศรีเทพไปที่ไหนเป็นได้คำนับและร้องเพลงกันที่นั่น พวกคอยรับเสมาก็คอยตอมเรือศรีเทพ แวะเวียนอยู่จนปล่อยเรือแจวลงไปหมดแล้ว คราวนี้ถึงเรือไฟยิ่งร้ายหนักชื้น ในการที่ห้ามไม่ให้กะลาสียืนคำนับนั้นเป็นพ้นวิสัย ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งประกาศให้คนรู้ เลยไม่มีผลสำเร็จอะไรได้เลย จนต้องหยุดทำกับข้าวกันใต้ต้นไม้ดื้อ ๆ ที่ทำนั้นเยื้องจากวัด สักครู่หนึ่งพวกนักเรียนแลพบอุตส่าห์เดินเลียบตลิ่งลงมาจนพ้นเขตต์วัด พอตรงเรือก็ร้องสรรเสริญบารมี ที่จำจะต้องผิดให้เป็นพระเกียรติยศ เลยต้องทนดื้อเอาเฉย ๆ เมื่อเรือผ่านวัดแคที่เคยไปทำกับข้าวครั้งก่อน เป็นที่เรียบร้อยดีมาก คงจะนึกได้นั้น เดื๋ยวนี้ศาลาที่หัวโดนนั้นได้รื้อเสียแล้ว รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลกไป ถ้าไม่ถามทีจะจำไม่ใคร่ได้ ลงมาจอดที่บ้านพระยาสุขุมตามเคย แต่แปลกมากอีกเหมือนกัน คราวก่อนจะขึ้นไปบนบ้านต้องเดินปีนตลิ่ง คราวนี้พอเสมอน้ำแฉะ ๆ สุพรรณไม่เปลี่ยนแปลกรูปอะไรนอกจากที่น้ำมากและน้ำน้อย

เวลาบ่ายลงเรือไปเข้าคลองตลาด บวงสรวงที่ศาลเจ้า เงินที่ให้ไวัก่อนได้ทำให้ศาลเรียบร้อยดีขึ้น แต่เป็นข้างจีนและน้ำท่วมด้วย กลับมาไปทางคลองวัดป่าเลไลย เมื่อคราวก่อนนื้ไปทางถนน คราวนี้ถนนน้ำท่วม คลองนี้เป็นคลองตัดกลางเมืองไปแต่วัดประตูศาลทางสัก ๒๕ เส้นถึงเชิงเนินเมือง เมืองสุพรรณนี้มีกำแพงเป็นสองฟากเหมือนพิษณุโลก ยืนขึ้นไปจากฝั่งน้ำราว ๒๕ เส้น คูกว้างประมาณ ๖ วานอกเชิงเทิน แต่ยาวนั้นยังไม่สู้แน่ พระสุนทรสงครามว่าราว ๓๗ เส้น วังตั้งอยู่หลังวัดประตูศาล ๆ นี้คงจะเป็นวัดใหม่สร้างขึ้นเมื่อสุพรรณร้าง อย่างเดียวกันกับวัดใหม่ชัยวิชิตที่ท่าวาสุกรีกรุงเก่า เด็กกว่าวัดตะไกรที่อยู่คนละฟากคลอง และวัดผึ้งซึ่งอยู่ในเข้าไป วังจะอยู่ในหว่างพระมหาธาตุและศาลหลักเมือง ตามที่พบโคกเนินดินลึกขึ้นไปกว่าแม่นา บางทีวังจะตั้งอยู่ลึกขนาดวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์กับคลองเมือง คลองไปวัดปาเลไลยนี้เป็นลักษณะคลองหลอด วัดป่าเลไลยเองเป็นลักษณะภูเขาทองกรุงเก่าหรือภูเขาทองกรุงเทพฯ ซึ่งเอาอย่างกัน เป็นที่ประชุมไหว้พระในเดือน ๑๑ เมืองสุพรรณใหม่นี้คงอายุราว ๖๐๐ ปี ก่อนนั้นขึ้นไปอยู่ตะวันตกเฉียงใต้ในแม่น้ำเก่าห่างแม่น้ำนี้ประมาณ ๗๐๐ เส้น ตามระยะทางที่ได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ เมืองเก่านั้นมีโคกเนินดินอย่างเดียวกันกับปฐมเจดีย์ จะเป็นรุ่นเดียวกันหรือเลื่อนมาจากปฐมเจดีย์ เมืองหลวงข้างแถบสุวรรณภูมินี้เห็นจะเลื่อนขึ้น เพราะเหตุที่พวกมาไลยประเทศ คือพวกที่อยู่แหลมมลายูขึ้นมารบกวน ตรงกันกับที่ข้างเหนือ เลื่อนลงมาตามปลายลำน้ำของเรา แต่เรื่องนี้ถ้าหากว่าได้ค้นลำน้ำได้สำเร็จ คงจะได้ความสว่างไสวออกไปอีก

เมื่อคืนนี้ฝนตก วันนี้อากาศเย็นจนตกบ่ายจึงได้ร้อน ยุงไม่ปรากฏแต่ตัวแมลงชุม

วันที่ ๒๐ ตุลาคม

ลงเรือศรีเทพไปเข้าคลองหว่างวัดมหาธาตุและหลักเมือง ไปออกหลังเมือง ในท้องทุ่งหลังเมืองมีต้นตาลเป็นอันมาก เป็นคันตลิ่งสูง ดงตาลแลสุดสายตาเหมือนอย่างขึ้นจากฝังน้ำวงไปทั้ง ๒ ข้าง ในหว่างดงตาลนั้นเป็นทุ่งนางามดีเป็นอันมาก พระปาเลไลยอยู่ที่ชายดงตาล จึงมีนิทานกล่าวว่า ชาวเพ็ชรบุรีผู้ ๑ มาเป็นเขยอยู่ที่สุพรรณพูดกันถึงเรื่องต้นตาล ชาวเพ็ชรบุรีว่าต้นตาลเพ็ชรบุรีมากกว่าที่นี่ พวกที่นี่ว่ามากกว่าเพ็ชรบุรี เถียงกันไม่ตกลงจนเกิดมวยขึ้น เจ้าเขยเพ็ชรบุรีเห็นว่าตัวมาต่างเมืองจำจะต้องยอมแพ้ อย่าให้เกิดวิวาทถึงแตกหัก จึงยอมรับว่าต้นตาลเพ็ชรบุรีน้อยกว่าจริง แต่น้อยกว่าต้นเดียวเท่านั้น ความวิวาทก็เป็นอันระงับกันได้ด้วยยอมแพ้กันเสีย

เมื่อพ้นดงตาลออกไปแล้วเป็นที่ดอนป่าไผ่ มีทางเกวียน ๆ นั้นหน้าน้ำใช้เป็นคลอง ที่เรือไปวันนี้ นาน ๆ ก็ไปตกทุ่งเป็นทุ่งนามีชื่อต่าง ๆ ทุ่งละใหญ่ ๆ ทางนั้นคดไปคดมา เรียกว่าสามสิบสามคดมีอยู่แห่งหนึ่ง ระยะทางตั้งแต่ลำน้ำนี้ขึ้นไป ๗๐๐ เส้นจึงถึงลำน้ำเก่า เขาเรียกกันว่าลำน้ำเขาดินท่าว้า ชื่อว่าลำน้ำเขาดินนั้น เพราะเหตุว่าสี่สระอยู่เหนือน้ำ วัดหน้าพระธาตุเมืองเก่าอยู่ใต้น้ำ วัดเขาดินนี้อยู่ในย่านกลาง เป็นวัดใหญ่อยู่ฝั่งตะวันตก มืพระเจดีย์และโบสถ์ แต่พระสงฆ์ละไปอยู่วัดสารภีเหนือน้ำขึ้นไป เหตุด้วยลำนำตอนข้างเหนือลึกมีน้ำตลอดปี ตอนข้างใต้แต่วัดพระธาตุลงไปขาดเป็นห้วงเป็นตอน ลำน้ำเก่านี้ไม่เล็กกว่าลำน้ำสุพรรณ น้ำก็ลึกดอนกว่าสุพรรณ แลเห็นฝั่งมืต้นไม้ใหญ่ๆ มาก น้ำไหลเชี่ยวตั้งแต่ปากคลองไปจนกระทั่งถึงในลำน้ำ ต้องแจวทวนน้ำขึ้นไปอีกหลายคุ้งจึงถึงที่สี่สระ ระยะทางหมดด้วยกัน ๘๐๐ เส้นเศษ แต่มีราษฎรพากันมาคอยอยู่เป็นอันมากตลอดหนทาง ซึ่งเดินขึ้นจากเรือไปอีกหลายเส้นจึงถึงสระ ที่สระนั้นมีสัณฐานต่าง ๆ อยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคาก่อน สระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตะวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกษอยู่ข้างใต้แนวเดียวกับสระแก้ว แลเห็นปรากฏว่าเป็นสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพระรูป ๑ ไล่เลียงเอาชื่อไม่ได้ ไปก่อเสริมฐานของเก่าที่สระคาแห่งหนึ่ง สระยมนาแห่งหนึ่ง มีสระแก้วเป็นศาลเจ้า ที่ซึ่งสำหรับบวงสรวงก่อนตักน้ำสรง แต่ที่สระเกษนั้นมีคันดินสูงยาวไปมาก ที่บนนั้นมีรากก่อพ้นดินสูง จะเป็นเจดีย์หรือมณฑปซึ่งถูกแก้แต่ไม่สำเร็จ สงสัยที่เหล่านี้น่าจะเป็นเทวสถานมีใช่วัด สระที่ขุดไว้เหล่านี้เป็นสระสำหรับพราหมณ์ลงชุบน้ำให้ผ้าเปียกเสียก่อนที่จะเข้าไปนมัสการตามลัทธิศาสนาพราหมณ์จึงได้เป็นสระที่ศักดิ์สิทธิ์ คันดินที่กล่าวนี้ว่ามียาวไปมาก น่าจะเป็นถนนถึงเมืองเก่า ที่นี่น่าจะเป็นเทวสถานหรือวัดพราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมาแต่สุพรรณเก่า จึงได้ใช้น้ำนี้เป็นน้ำอภิเษกสืบมาแต่โบราณ ก่อนพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศแถบนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวถึงหลายเรื่อง เช่นพระเจ้าประทุมสุริวงศ์ เป็นเจ้าที่เกิดในดอกบัวหรือมาแต่ประเทศอินเดีย อันเป็นเจ้าแผ่นดินที่ ๑ หรือที่ ๒ ในวงศ์พระอินทร์ที่ครองกรุงอินทปัถ พระนครหลวงเจ้าของพระนครวัด ก่อนพุทธศาสนกาล จะราชาภิเษกต้องให้มาตักน้ำสี่สระนื้ไป และในการพระราชพิธีอภิเษกต่าง ๆ ต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พระเจ้าสินธพอมรินทร พระยาแกรก ราชาภิเษกกรุงละโว้ ประมาณ ๑๔๐๐ ปี ก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเษก พระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัยจะทำการราชาภิเษกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจแล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเษก จึงเป็นธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์สรงมุรธาภิเษกแรกเสวยราชย์และตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระรักษาอย่างกวดขัน เพราะเหตุที่มีเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเษก จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ พระเจ้ากาวิโลรสเป็นพระเจ้าขึ้นใหม่ ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปทำอภิเษก เป็นข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเป็นกบฏ

ลัทธิที่ถือน้ำสระเป็นน้ำอภิเษกนี้ ปรากฏชัดว่าเป็นตำราพราหมณ์ เช่นกับมหาภารตะอรชุนต้องไปเที่ยวปราบปรามเมืองทั้งปวง และสรงน้ำในสระที่เมืองนั้นห้ามหวงตลอดจนถึงสระในป่าหิมพานต์ เป็น ๖๔, ๖๕ สระจึงได้มาทำอัศวเมธ ซึ่งเป็นพิธีสำหรับเป็นจักรพรรดิ แต่เหตุไฉนที่สี่สระนี้จึงขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นที่นับถือทั่วไป มาขุดสระและมาผูกเวทมนตร์ไว้อย่างหนึ่งอย่างใด ราษฎรในเมืองนี้มีความกลัวเกรงเป็นอนมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน มีหญ้าขึ้นรกเต็มอยู่ในสระ มีจระเข้อยู่ทั้งสี่สระ ได้ทราบมาแต่แรกที่ทูลกระหม่อมรับสั่งว่าน้ำท่วมถึง แต่เวลานี้ซึ่งเป็นเวลาน้ำมาก พอปริ่ม ๆ ไม่ท่วม เห็นจะเป็นบางปีจึงจะท่วม แต่น้ำล้นขอบสระ ทางที่เดินต้องพูนขึ้นหน่อยหนึ่ง แต่กระนั้นก็ชื้น ๆ น่าจะท่วมได้จริง น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาดมีสีแดง แต่น้ำสระแก้วสระเกษใสสะอาด

ได้หยุดบวงสรวงแสะตักน้ำแล้วขึ้นไปกินข้าว พระยาสุนทรบุรีเลี้ยงที่บนคันดิน ชาวสุพรรณอยู่ข้างจะเป็นคนนับถือเจ้านายจัด นับถือบูชาอธิษฐานได้ จะถวายอะไรเจ้าดูเหมือนจะได้บุญ ที่สุดจนเสื่อที่สานมาสำหรับให้นั่งก็มีคำอธิษฐานติด ใกล้ไปข้างเป็นพระพุทธเจ้ามากกว่าอย่างอื่น

เมื่อวานนี้มีผูหญิงแก่คน ๑ ลงเรือ มีต้นไม้ตั้งมาในเรือพายตามมา แต่ไม่ได้ช่อง พึ่งมาได้ช่องวันนี้ นำต้นไม้นั้นเข้ามาให้ เป็นต้นโพ ถามว่าเหตุใดจึงได้เอาต้นโพนี้มาให้ บอกว่าต้นโพนี้เกิดขึ้นที่ท่าน ไม่เข้าใจถามว่าเหตุไรจึงว่าเช่นนั้น บอกว่าได้ไปซื้อท่านที่อยู่ในกระจกไปติดไว้ที่เรือน ต้นโพก็งอกขึ้นบนหลังหีบที่ตรงรูปนั้นเป็น ๗ ต้น จึงได้เอากาบมะพร้าวและดินมาประกอบเข้าไว้ สูงถึง ๒ ศอกเศษ พอเสด็จจึงได้นำมาให้ เห็นว่าเข้าทีดีอยู่จึงได้ให้เอาไปด้วย ได้แยกออกเป็นต้นปลีก ๓ ต้นรวมเป็นกอ ๔ ต้นไว้กอหนึ่ง ปลูกประจำสระทั้งสี่ เป็นที่ระลึกว่าได้ขึ้นไปถึงทั้งสี่นั้น พวกราษฎรที่มาหลายร้อยคนเต็มไปทั้งนั้น ถึงต้องมีข้าวห่อมาเลี้ยงกัน กลับลงมาถึงเวลาพลบ ระยะทางขาไปประมาณ ๓ ชั่วโมง ขากลับ ๒ ชั่วโมง อยู่ข้างจะเหนื่อย

วันนี้พอออกเรือไปเสียงฟ้าร้องครั่นครื้น เห็นท่วงทีแล้วว่าฝนคงจะตก แต่ระยะทางที่ไปคงจะไม่ถูกฝน ต่อกลับมาจึงเห็นที่เปียก และได้ความว่าฝนที่สุพรรณตกมาก

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

  1. ๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ คือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

  2. ๒. พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยายมราช

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ