คำนำ

ในงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พุทธศักราช ๒๔๙๓ สำนักพระราชวังแจ้งพระบัญชา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงมอบภาระการเลือกและการพิมพ์หนังสือสำหรับพระราชทานแจกเป็นของหลวงในงานพระบรมศพ และพระศพทุกงานมาให้กรมศิลปากรจัดทูลเกล้า ฯ ถวาย ในส่วนงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กรมศิลปากรได้เลือกเรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดพิมพ์ทูลเกล้า ฯ ถวาย ส่วนงานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กรมศิลปากรได้เลือกพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ในมณฑลสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เรื่องหนึ่ง กับพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพ ๆ ในรัชกาลที่ ๕ เรื่องหนึ่ง รวม ๒ เรื่อง จัดพิมพ์ทูลเกล้า ฯ ถวายในเล่มเดียวกัน

พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ทรงพระราชนิพนธ์เป็นอย่างรายงานพระราชทานมายังที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร อันมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเป็นประธาน สำหรับจะได้ประกาศข่าวที่เสด็จประพาสให้มหาชนทราบ การเสด็จประพาสครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ ในการเสด็จประพาส/หัวเมืองฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ ๕ คือครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เสด็จโดยรถไฟไปเพียงพระราชวังบางปะอิน แต่นั้นทรงเรือพระที่นั่งเก่ง เรือกลไฟจูงขึ้นไปตามลำแม่น้ำ จนถึงเมืองฝางเหนือเมืองอุตตรดิตถ์เป็นที่สุดทาง (เสด็จครั้งนี้มีพระราชหัตถเลขาพิมพ์แล้วนับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ เป็นภาคที่ ๕) ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เสด็จโดยเรือยนต์พระที่นั่ง ใช้จักรขึ้นไปจนถึงปากน้ำโพ แต่นั้นทรงเรือแม่ปะ เป็นเรือพระที่นั่ง ถ่อขึ้นไปทางลำน้ำปิงจนถึงเมืองกำแพงเพ็ชรเป็นที่สุด (เสด็จครั้งนี้มีพระราชนิพนธ์เป็นจดหมายเหตุพิมพ์แล้ว เรียกว่า พระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ กับมีพระราชหัตถเลขา เป็นรายงานพระราชทานมายังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร อีกส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้พิมพ์) ครั้งที่ ๓ (คือที่พิมพ์ในสมุดนี้) เสด็จโดยรถไฟจนถึงเมืองนครสวรรค์ แล้วลงเรือพระที่นั่งล่องลงมาเข้าปากน้ำมะขามเฒ่า ประพาสทางลำน้ำเมืองชัยนาท เมืองสุพรรณบุรี เมืองอ่างทอง และเมืองสิงหบุรี อนึ่งในการเสด็จประพาสทั้ง ๓ คราวนั้น มีพระราชประสงค์จะพระราชทานสิ่งของให้เป็นที่ระลึกอยู่แก่ตัวราษฎร จึงโปรดให้สร้างเสมาเงินเป็นลายรูปพระจุลมงกุฎกับอักษรย่อพระปรมาภิไธยขึ้น สำหรับพระราชทานแจกเด็กชายหญิงตามหัวเมืองที่เสด็จประพาส ความข้อนี้เป็นที่รู้กันในหมู่ราษฎรตั้งแต่เสด็จประพาสสองคราวก่อน จึงปรากฏในพระราชหัตถเลขาเสด็จประพาสคราวนี้ว่า เมื่อเสด็จไปถึงไหนราษฎรก็พากันมาคอย เฝ้ารับพระราชทานแจกเสมาทุกระยะไป

พระราชกระแสเรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ นั้น ทรงมีถึงผู้ปัญชาการกรมยุทธนาธิการ พระราชทานกระแสพระราชดำทรงแนะนำในความคิดอ่านที่จะจัดการทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ให้เข้ารูปจนถึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเป็นที่สุด ความยากลำบากของการจัดการทหารในครั้งนั้น สำคัญอยู่ที่จะหาคนมาเป็นทหาร เป็นยากยิ่งกว่าอย่างอื่น ดังปรากฏในลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลของผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการที่พิมพ์ในสมุดนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือนัยหนึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ก็ได้จัดจนสำเร็จลุล่วงไป ทั้งนี้ด้วยได้กำลังความอุดหนุนจากบรรดาเจ้านายซึ่งได้ไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ทวีปยุโรป กลับมาช่วยทรงรับภาระในตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงรับตำแหน่งเป็นจเรทหารบก (นัยว่าได้ทรงเรียบเรียงพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ ด้วยพระองค์เอง) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช แต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่น ทรงรับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และสมมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมขุน ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการ เป็นอาทิ ประกอบกับความร่วมมือในด้านอื่น ๆ โดยพร้อมเพรียง การที่ใหญ่และยากจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ อนึ่งเนื่องในการจัดการทหารมณฑลกรุงเทพ ฯ คราวนั้น (พ.ศ. ๒๔๕๐) มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยกระทรวงนครบาลไม่รับจัดการใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในมณฑลกรุงเทพฯ เช่นที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดสำเร็จมาแล้วหลายมณฑล ด้วยอ้างว่าเป็นการยากเหลือกำลังที่จะจัดได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สับเปลี่ยนตัวเสนาบดีใหม่ ย้ายพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม คือเจ้าพระยายมราช) จากเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล การจึงเรียบร้อยสำเร็จลง

ขอพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญเป็นส่วนบรมวงศญาติสังคหธรรมนี้จงสำเร็จแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งสิ้นพระชนม์ล่วงลับไป ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ ทุกประการ.

กรมศิลปากร

๑๗ มีนาคม ๒๔๙๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ