- คำนำ
- พระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑
- พระราชกระแส เรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕
- วันที่ ๒๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๐ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๐ สยามินทร์
- วันที่ ๓ กันยายน ร.ศ. ๑๒๐ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๔ กันยายน ร.ศ. ๑๒๐ สยามินทร์
- วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔ จิรประวัติวรเดช
- --มณฑลกรุงเทพ ฯ พลรบ อัตราธรรมดา
- วันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๔ สยามินทร์
- วันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕ จิรประวัติวรเดช
- --(ร่าง) ประกาศกำหนดอัตราเงินผู้ที่ได้เสียภาษีอากร ต้องในจำพวกยกเว้นชั่วคราว
- --(ร่าง) ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔
- วันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ สยามินทร์
- วันที่ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖ จิรประวัติวรเดช
- วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๖ สยามินทร์
วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔ จิรประวัติวรเดช
ที่ ๑๗/๕๘๙๙
ศาลายุทธนาธิการ
วันที่ ๔ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า ฯ
ด้วยเมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้า ฯ ถวายรายงานวิธีจัดการปกครองและระเบียบการทหารบกในแพนกกรมยุทธนาธิการกลางเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามการที่ดำเนินมานั้น บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายรายงานการทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ และความดำริในการต่อไป เพื่อเป็นการที่จะได้ทรงพระราชดำริอีกชั้นหนึ่ง
๑. ทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ ตามที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ จัดตั้งขึ้นเป็นกรมบัญชาการมณฑล ๑ มีกรมและกองทหาร คือ
(๑) กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
(๒) กรมทหารม้าที่ ๑
(๓) กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑
(๔) กรมทหารช่างที่ ๑
(๕) กรมทหารราบที่ ๑
(๖) กรมทหารราบที่ ๒
(๗) กรมทหารราบที่ ๓
(๘) กองโรงเรียนนายสิบมณฑลกรุงเทพ ฯ
(๙) กองพยาบาลมณฑลกรุงเทพ ฯ
นายพลตรี พระยารามกำแหง๑ เป็นผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลในขณะนี้
๒. วิธีปกครองมณฑลในแพนกบัญชาการ
การปกครองทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่เดิม ๆ มาก็ได้รวมอยู่ในหน้าที่ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการนั้นเองตลอดมาจนเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๘ ครั้นเมื่อศก ๑๑๘ นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเหตุที่กรมยุทธนาธิการจะได้มีโอกาสและเวลาดำริจัดการตั้งมณฑ,ทหารตามหัวเมืองให้เจริญยิ่งขึ้น แต่ในสมัยนั้นแม้แต่กรมยุทธนาธิการได้จัดการตามหัวเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นอยู่ก็จริง แต่ทางหัวเมืองก็เพียงพึ่งเริ่มจัดแต่มณฑลนครราชสิมาแห่งเดียว การของกรมยุทธนาธิการและกรมบัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ ก็ยังไม่ขาดตอนกันออกไปได้จริง ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการยังต้องเอื้อในแพนกบัญชาการมณฑลอยู่ด้วยเป็นอันมาก และผู้บัญชาการมณฑลเป็นแต่เสมอผู้ช่วยในแพนกนี้ ถ้าผู้บัญชาการมณฑลที่เป็นผู้มีความสามารถมาก งานในแพนกกรมกลางก็เบาลง ถ้าความสามารถน้อยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการก็ต้องมีหน้าที่มากขึ้นเป็นธรรมดา จึงยังนับว่าเป็นมณฑลอิสสระเช่นเดียวกับมณฑลนครราชสีมาไม่ได้
ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งมณฑลทหารเพิ่มขึ้นอีกหลายมณฑล การของกรมยุทธนาธิการกลางทวีมากขึ้นเป็นลำดับไป ซึ่งไม่เปิดโอกาดให้เอื้อแก่มณฑลกรุงเทพ ฯ ได้เช่นก่อน โดยต้องมีภาระและกังวลในส่วนหัวเมืองเสียเป็นเบื้องต้น การทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ นับว่าดำเนินช้าลงไป ถ้าเทียบกับมณฑลหัวเมืองแล้ว การปกครองการบังคับบัญชาตลอดถึงการฝึกหัดทั้งปวงเป็นอันสู้กันไม่ได้ทั้งสิ้น เมื่อรัตนโกสินทรศ์ก ๑๒๓ ทหารบกได้มีมณฑลหัวเมืองขึ้นถึง ๗ มณฑล มณฑลกรุงเทพ ฯ ต้องถอนนายทหารดี ๆ ไปจากมณฑลกรุงเทพ ฯ เป็นอันมาก ยิ่งกระทำให้การในมณฑลกรุงเทพ ฯ ยุ่งยากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ตลอดทั้งคนที่จะเข้ารับราชการเป็นพลทหารก็แร้นแค้นต่าง ๆ จึงเป็นเวลาที่มณฑลกรุงเทพ ฯ ใช่แต่ไม่เดินกลับจะถอยหลังเสียอีก ในศกนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายพลตรีพระยารามกำแหง เข้ามาเปนผู้บัญชาการมณฑลซึ่งตำแหนงนี้ได้ว่างอยู่นาน เพราะผู้บัญชาการมณฑลคนก่อนได้ไปราชการมณฑลพายัพในการปราบเงี้ยวเสียนั้น ตั้งแต่นายพลตรีพระยารามกำแหงเข้ามารับราชการในตำแหน่งนี้ การทหารในมณฑลนี้ฟื้นขึ้นเห็นทันตา ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้พยายามจัดระเบียบการที่ก้าวก่ายระหว่างกรมยุทธนาธิการกับมณฑลกรุงเทพ ฯ แยกกันออกไปให้เด็ดขาดยิ่งกว่าที่เป็นมาแล้วแต่เดิม การจึงดำเนินสะดวกดีขึ้นเป็นอันมาก
๓. ระเบียบการรับคนเข้าเป็นทหาร
คนที่จะเข้ารับราชการทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ นั้น บังเกิดขึ้นตามหมวดหมู่เลขเดิม ๆ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมทบเข้ามารับราชการทหารนั้นทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเกิดจลาจลในมณฑลพายัพต้องระดมทหารมณฑลกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปปราบเหล่าร้าย และขึ้นไปประจำอยู่ถึงสองปีบ้างสามปีบ้าง ทางมณฑลกรุงเทพ ฯ ขาดคนลงไป และผู้ที่กลับจากราชการมณฑลพายัพก็ต้องปล่อยออกไปพักตามภูมิลำเนา โดยที่ไปรับราชการเหน็ดเหนื่อยมานั้นเป็นกำหนดคนหนึ่งหลาย ๆ ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลขส่วยฝ่ายพระราชวังบวรฯทั้งสิ้นมาสมทบเป็นทหาร และกระทรวงกลาโหมเป็นหน้าที่ที่จะสั่งคนเหล่านี้เข้ารับราชการ คนที่ได้มาใหม่นี้เป็นคนชราแทบทั้งสิ้น ที่ชั้นบุตรหมู่มีน้อย ทั้งจำนวนในบัญชีที่พระราชทานมาเป็นทหารนั้นเล่าก็มีอยู่แต่ชื่อ หาได้มีตัวคนมารับราชการจริงไม่ คือได้ไม่ถึง ๑ ส่วนใน ๓ เป็นต้น ถ้าเป็นคนชราก็ต้องจัดเวรให้เสียทีเดียวไม่ได้อยู่ประจำการเช่นนี้ คนที่จะเข้ารับราชการทหารมณฑลกรุงเทพ ฯ ร่อยหรอลงไป ทั้งเมื่อทรงพระกรุณาโบรดเกล้า ฯ ให้มณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลราชบุรีใช้ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้น บรรดาคนที่เดิมสังกัดเป็นทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลทั้ง ๓ นี้ ก็ต้องโอนไปเป็นทหารมณฑลทั้ง ๓ นี้ทั้งสิ้น ทหารในมณฑลกรุงเทพฯจึงขาดอัตราลงไปมาก ตลอดทั้งการติดขัดในวิธีที่จะติดตามบุตรหมู่คนระบาดอย่างเช่นเคยกระทำมา โดยเหตุที่การปกครองหัวเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป และวิธีชำระเลขอย่างเก่า ๆ จะมาใช้ในสมัยนี้ก็ยาก บางอย่างก็ไม่เป็นการสมควร เช่นจับตัวญาติไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายมากักขังเร่งตัวคนระบาดเช่นนี้เป็นต้น นอกจากนี้มีการขัดข้องต่าง ๆ อีกหลายประการ ตามที่ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทตลอดแล้ว ซึ่งย่อมทำลายวิธีรับคนโดยอย่างเก่า ๆ นี้มาเป็นทหารลงทุกที จึงเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าวิธีรับคนอย่างเก่านี้ไม่มีเวลาที่จะได้คนมากได้อีกแล้ว แม้แต่จะพระราชทานเลขหมู่ใดกองใดเข้ามาสมทบอีกในสมัยนี้ ก็เท่ากันกับให้ทางแก่เจ้าหมู่นายหมวดเดิมๆ และคนที่ปลิ้นปล้อนหากินในทางนี้ เบียดบังกระทำการทุจจริตลงเอาเงินไพร่ให้เป็นที่เดือดร้อนทั่วไปเท่านั้น การที่จะให้สำเร็จได้ในเรื่องคนที่สำหรับจะเป็นทหารในมณฑลกรุงเทพฯนี้มีอยู่แต่ทางเดียว คือทางขยายข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในมณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครชัยศรีเสียก่อน และยกคนทั้ง ๒ มณฑลนี้เข้ามารับราชการในมณฑลกรุงเทพ ฯ เมื่อเป็นโอกาสดีเมื่อใดค่อยขยายข้อบังคับลักษณะเกณฑ์หหารนี้ใช้ในมณฑลกรุงเทพ ฯ อีกด้วย ส่วนมณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครชัยศรีตามที่หารือกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เห็นพร้อมกันว่าจะจัดได้ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ทั้ง ๒ มณฑล
๔ วิธีการปกครองกรมและกองทหาร
กรมและกองทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ตามจำนวนที่กล่าวไว้แล้วนั้น ต่างขึ้นตรงต่อกรมบัญชาการมณฑลทั้งสิ้น
กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
กรมทหารมหาดเล็กจัดเป็น ๔ กองร้อย ประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ๓ กองร้อย ผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่สวนดุสิต ๑ กองร้อยทหารมหาดเล็กพื้นเดิมซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จัดตั้งขึ้นนั้น ได้คนเข้ารับราชการชั้นดีๆเป็นที่ไว้วางใจได้ คนจำพวกนี้และบุตรหลานของคนจำพวกนี้ ได้ออกไปสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งสูงๆ ก็มาก ที่เสื่อมศูนย์หายไปตายไปก็มาก ในกรมทหารมหาดเล็กไม่มีเหลือเลย นอกจากที่รับราชการเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรอยู่ ๑ คนเท่านั้น คนที่รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กทุกวันนี้ อาศัยหมู่มหาดเล็กวังหน้าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมทบเข้าเปนทหารมหาดเล็กนั้นเป็นพื้น ได้จัดให้เข้ารับราชการประจำ ๓ ปี เมื่อพ้นกำหนดประจำการแล้วออกไปเป็นคนเวร แบ่งออกเป็น ๒ ผลัด คือเข้ารับราชการเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่ง จนกว่าอายุจะครบ ๔๐ ปีจงพ้นราชการ หมุ่มหาดเล็กวังหน้านี้แต่แรกเมื่อมาสมทบก็ทราบเกล้า ฯ อยู่ว่าได้มาน้อยกว่าที่ระบาดไปและเร่งบุตรหมู่ไม่ขึ้นตลอดมา จนรัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้จัดทหารมหาดเล็กมีเพียงสองกองร้อย เพราะไม่มีตัวคนเข้ารับราชการ ครั้นต่อมาเมื่อข้าพระพุทธเจ้าสนองพระเดชพระคุณเป็นผู้บังคับการกรมนี้อยู่ ได้พยายามติดตามคนที่ระบาด ก็ได้คนเข้ามารับราชการอยู่คราวหนึ่ง และรับพระราชทานเพิ่มเงินเดือนทหารมหาดเล็กขึ้น คนก็มีความนิยมมาก ที่หนีก็เบาบางลง จึงสามารถตั้งขึ้นเป็น ๓ กองร้อยได้ แต่กระนั้นก็ดี อัตรา ๓ กองร้อยก็ยังขาดอยู่บ้าง ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๙ การเร่งบุตรหมู่ระบาดก็ติดขัดรีดขึ้นได้โดยยาก การที่ลงแรงติดตามไม่คุ้มกับที่ได้มา กรมยุทธนาธิการจึงเปิดช่องให้ทหารกรมอื่นๆ สมัครเข้ารับราชการกรมทหารมหาดเล็กได้ แม้ผู้นั้นเป็นผู้ประพฤติดีมีผู้สมัครเข้ารับราชการโดยเห็นแก่เงินเดือนสูงบ้าง และประการอื่น ๆ บ้าง กรมทหารมหาดเล็กได้คนเพิ่มขึ้นอีกคราวหนึ่ง จัดตั้งได้เป็น ๔ กองร้อย แต่การที่คนกรมอื่นสมัครเข้ามาเช่นนี้ เป็นที่รังเกียจของกรมและกองอื่นทั้งสิ้น เพราะคนที่ดีในกรมและกองนั้นก็ย่อมจะน้อยลงไป กับทั้งคนในกรมและกองอื่นนั้นก็ไม่บริบูรณ์อยู่เหมือนกัน ชักแปรปรวนไม่ใคร่จะอุดหนุนให้ทหารสมัครเข้ามารับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก มีกรมทหารราบที่ ๔ (ทหารหน้า) ซึ่งขณะนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนา๒เป็นผู้บังคับการ กระทำการอุดหนุนแข็งแรง ได้คนดี ๆ จากกรมทหารราบที่ ๔ มากกว่ากรมอื่น ๆ ครั้นกรมทหารราบที่ ๔ ย้ายไปอยู่มณฑลราชบุรี ทางสมัครจากกรมนี้ก็ย่อมไม่มีมาเลยอยู่เอง ที่กรมอื่น ๆ จะสมัครก็เลยสาบศูนย์ไปด้วย เพราะผู้ที่สมัครมาที่ไม่เป็นผู้สมควรเข้าใกล้ชิดพระองค์นั้นก็ไม่รับ การก็คาราคาซังตลอดมาจนศกนี้จัดมณฑลราชบุรีให้ใช้ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร และโอนทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในมนณฑลราชบุรี ไปเป็นทหารมณฑลราชบุรี คนกรมทหารราบที่ ๔ ที่สมัครเข้ามาเป็นทหารมหาดเล็กแต่ชั้นนั้นร้องสมัครจะไปสังกัดเดิม เพราะใกล้ถิ่นฐานและราชการเบาขึ้น อาศัยเหตุที่เกลี้ยกล่อมไว้ยังคงเหลืออยู่ในกรมนี้บ้าง ในทุกวันนี้จำนวนคนที่มีชื่อในทะเบียนเพียง ๑,๒๙๙ คน จำหน่ายต่าง ๆ คือ พ้นราชการเป็นกองหนุนและตายคงเหลือ ๗๓๔ คน ในคนจำพวกนี้ยังเป็นคนที่มีเวรอีก มีคนคงประจำ ๓ ปีเพียง ๑๑๗ คน มีคนประจำรับราชการอยู่ทั้งนายทหารและพลทหารไม่ถึง ๓๐๐ คน กรมนี้เป็นกรมมีหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์ยิ่งกว่ากรมอื่น และมีราชการในแพนกรักษาพระองค์มากกว่ากรมอื่น จึงนับว่าเป็นกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่นๆทั้งสิ้น เมื่อคนขาดอัตราลงมากๆเช่นนี้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้ามีความวิตกเป็นอันมาก ด้วยจะฝึกหัดให้ดีหรือจะวางระเบียบให้ดีก็ยากทั้งสิ้น เพราะคนที่มีตัวรับราชการไม่มีโอกาสที่จะรับความแนะนำพอ ต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่ยามรักษาหน้าที่เป็นนิตย์
กรมทหารราบที่ ๑ (รักษาพระองค์)
กรมทหารราบที่ ๑ จัดตั้งขึ้นเป็น ๔ กองร้อย ประจำอยู่ที่โรงทหารสวนดุสิต คนกรมนี้ตามหมู่หมวดเดิม ๆ มามีคนมากกว่ากรมอื่น ๆ ในกรุงเทพ ฯ และการที่ทหารต้องไปราชการมณฑลพายัพกับที่ต้องโอนคนไปมณฑลที่ใช้ขัอบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ขาดคนลงไปในครั้งนั้นก็จริงอยู่ มาเดี๋ยวนี้ได้จัดให้เลขส่วนฝ่ายพระราชวังบวรฯ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลนครชัยศรี เข้าสมทบกรมทหารราบที่ ๑ ทั้งสิ้น ได้คนแม้แต่ชั้นแก่ ๆ เข้ามาก็จริง แต่พอที่จะรับราชการตามอัตราได้ ส่วนการฝึกหัดนั้นพอเป็นปานกลาง ด้วยม่คนแก่เข้ารับราชการอยู่มากและหน้าที่รักษาการก็มาก
กรมทหารราบที่ ๒ (ล้อมวัง)
กรมทหารราบที่ ๒ จัดตั้งขึ้นเป็น ๔ กองร้อย อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรี่ยรายอยู่ตามป้อมตามกำแพงวัง คนที่รับราชการในกรมนี้แต่เดิมมามีน้อย ขาดอัตราอยู่เสมอ และเป็นคนพื้นมณฑลปราจิณบุรี โดยมากติดตามยาก เมื่อทหารในกรมนี้ต้องไปราชการมณฑลพายัพ คนขาดลงไปเกือบจะไม่พอรับราชการตามหน้าที่ได้ ครั้นเมื่อพระราชทานเลขส่วยฝ่ายพระราชวังบวร ฯ มาสมทบเป็นทหารบก ได้จัดให้เลขส่วยซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลปราจิณบุรีมาเป็นทหารกรมนี้ และเลขส่วยที่สมทบนี้พึ่งจะได้ตัวมาเมื่อพระพินิจสารา๓ออกไปช่วยข้าหลวงเทศาภิบาลติดตาม ที่ได้มายังน้อยไม่พอราชการ ขาดอัตราอยู่มาก การฝึกหัดจึงยังเลวอยู่ และการควบคุมทหารในกรมนี้ยากกว่ากรมอื่น ๆ เพราะที่อยู่หรือโรงทหารเที่ยวแยกกันไปโดยไม่มีระเบียบ
กรมทหารราบที่ ๓ (ฝีพาย)
กรมทหารราบที่ ๓ จัดตั้งขึ้นเป็น ๔ กองร้อย อยู่ในศาลายุทธนาธิการ คนที่เข้ารับราชการในกรมนี้ยุ่งยากตลอดมา โดยที่ก้าวก่ายกันกับหมู่ฝีพายเดิม ที่ตกมารับราชการทหารนั้นน้อย และการเร่งหมู่หรือติดตามคนระบาดก็เกี่ยวกับต้องเป็นความอยู่กับกรมฝีพายเนือง ๆ ดังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อยังเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาครั้งหนึ่งแล้ว คนในกรมนี้ไม่เคยมีบริบูรณ์เหรือเต็มอัตราเวลาใดแต่ก่อน ๆ มา ครั้นเมื่อไปราชการมณฑลพายัพและต้องโอนเป็นมณฑลที่ใช้ข้อบัคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ไม่มีคนพอรับราชการตามหน้าที่ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลขส่วยฝ่ายพระราชองบวร ฯ ได้จัดให้เลขส่วยซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลกรุงเก่า ซึ่งมีมากกว่ามณฑลอื่นมาสมทบในกรมนี้ทั้งสิ้น และได้ให้พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์๔ ออกไปช่วยกระทรวงกลาโหมติดตามเลขเหล่านี้ในมณาฑลกรุงเก่าเข้าเป็นทหารอีกชั้นหนึ่ง ได้คนมามากจนเกินอัตรา บางเวลาต้องถึงนอนตามเฉลียงในเวลากลางคืน แต่ที่ได้มามากนี้ก็หาได้คุณประโชน์นักไม่ โดยที่เป็นคนแก่ทั้งสิ้น ที่ต้องปลดไปก็มี ที่ต้องจัดให้มีเวรไปก็มี ที่เห็นเป็นได้คนมากเช่นนี้เป็นการคับคั่งชั่วคราวเดียวต่อมาก็น้อยลง แต่ต้องนับว่าในการที่เลขส่วยฝ่ายพระราชวังบวรฯมาสมทบกรมทหารบก กรมนี้เป็นได้ผลมากกว่ากรมอื่น จนบัดนี้คนในกรมทหารราบที่ ๓ ก็ไม่ขาดอัตรา คงมีตัวรับราชการอยู่ หากเปนคนแก่เสียโดยมากฝึกหัดจึงไม่ได้คล่องแคล่ว
กรมทหารม้าที่ ๑
กรมทหารม้าที่ ๑ จัดเป็น ๒ กองร้อย ประจำอยู่ที่โรงทหารม้า คนที่รับราชการในกรมนี้บกพร่องมาแต่เดิม และก่อน ๆ นี้ไม่มีผู้ยินดีในกรมนี้โดยที่ต้องเลี้ยงม้าและประกอบราชการหน้าที่อื่น ๆ อีกด้วย เป็นคนพื้นมณฑลกรุงเทพ ฯ มากบังคับบัญชาค่อนจะยาก เมื่อคนขาดอัตราอยู่เป็นการลำบากยิ่งกว่ากรมอื่น ๆ ด้วย เพราะหน้าที่เลี้ยงม้าก็ต้องมีเพิ่มมากขึ้น บางคนต้องเลี้ยงหลาย ๆ ตัวและจะเอาดีไม่ได้ ม้าก็พลอยทรุดโทรมลงไป ครั้นเมื่อพระราชทานเลขส่วยฝ่ายพระราชวังบวร ฯ ได้จัดให้เลขส่วยซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลกรุงเทพ ฯ เข้าสมทบในกรมนี้ได้คนมาพอ ถึงแก่ก็จริงพอให้เลี้ยงม้าได้ ใช้คนชั้นหนุ่มๆฝึกหัดให้ดีไว้ จึงสังเกตได้ว่าทหารม้าทุกวันนี้การฝึกหัดดีขึ้นกว่าที่ได้เห็นมาช้านาน หน้าที่อยู่ยามก็มีน้อย ส่วนม้าที่จะจัดหามารับราชการนั้นเป็นการติดขัดยากมาก เพราะราคาม้าทุกวันนี้แพงขึ้นประการหนึ่ง เพราะจะหาม้าพอใช้ราชการได้โดยยากอีกประการหนึ่ง และม้าที่จะพอหาซื้อได้ตามบ้านนอกเป็นขนาดเล็ก ซึ่งไม่สมควรใช้ในราชการทหารเสียโดยมาก ในทุกวันนี้ต้องให้คนออกไปเก็บได้แต่คราวละเล็กละน้อยเท่านั้น และยังไม่พอใช้ราชการ ในเรื่องที่จะให้มีมาพอราชการเป็นการใหญ่เนื่องตลอด ถึงการประสมม้าและบำรุงพันธุ์ม้าในประเทศสยามนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองสืบราคาม้ายะวาก็ทราบว่าขึ้นราคาไปหมดเหมือนกันโดยเหตุต่าง ๆ และหมอม้าเลโอนาดที่เข้ามาใหม่ได้แนะนำว่า ม้ายะวาจะมาใช้ตรากตรำสู้ม้าไทยไม่ได้ ข้าพระพุทรเจ้ายังรู้สึกอึดอัดอยู่ ได้แต่เพียงกราบทูลพระเจ้าน้องยาเขอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ และขอแรงผู้ที่รู้จักตามหัวเมืองให้ช่วยเสาะแสวงและซื้อม้าสำหรับราชการในปีนี้ด้วยเท่านั้น
กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑
กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ จัดตั้งขึ้นเป็น ๒ กองร้อย กองร้อยหนึ่งมีปืนใหญ่ ๔ กระบอก ประจำอยู่ในศาลายุทธนาธิการ คนที่รับราชการทหารในกรมนี้เป็นคนหมู่เก่า ๆ มาทั้งสิ้น ไม่ได้มีสมทบขึ้นใหม่ช้านาน และมีต่างเพศต่างภาษาอยู่บ้าง คือพวกญวนพวกมอญปะปนอยู่เป็นพื้น การบังคับบัญชายิ่งลำบาก มักจะมีจุกจิกภายในอยู่เนือง ๆ และต้องระวังเอาใจพวกญวนอยู่ ซึ่งจะมิให้เอาใจออกหาก ในทุกวันนี้อาศัยเหตุที่เจ้าหมู่นายหมวดชั้นเดิม ๆ เอาใจใส่อยู่บ้าง จึงได้บุตรหมู่เข้ามารับราชการอยู่เสมอ แต่จะเอาเป็นการเที่ยงธรรมนักก็ยาก เพราะเจ้าหมู่นายหมวดเดิม ๆ นี้ชักจะลอยแพกันเอง ต้องปลอบโยนกันอยู่ จึงเป็นการยากที่จะหาคนเจ้ารับราชการให้เต็มอัตราได้ ตลอตจนทั้งนายทหารที่จะบังคับการในกรมนี้ก็หายาก เพราะการยิงและการฝึกหัดปืนใหญ่ผู้ที่จะแนะนำต้องมีวุฒิวิชาผิดกับกรมทหารอื่น ๆ เป็นแผนกส่วนหนึ่ง แต่ก่อนๆ มาฝึกหัดแต่เพียงให้ยิงสลุต จะให้ใคร ๆ เข้าไปบังคับสักแต่ว่ารวบรวมคนไว้ได้ก็เป็นที่เพียงพอ มาสมัยนี้ต้องการพื้นวิชาเป็นเบื้องต้น ผู้ที่มีความสามารถและมีวุฒิอยู่บ้างก็ล้วนเป็นนายทหารชั้นหนุ่มๆ ทั้งสิ้น โดยเหตุที่พึ่งเริ่มแนะนำวิชาการปืนใหญ่สำหรับจะใช้ยิงจริงๆ กันเมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ เท่านั้น แต่ก่อนมาไม่มีผู้ใดเข้าใจวิธีการในทางนี้เลย เมื่อมีแต่นายทหารชั้นหนุ่ม ๆ ซึ่งสมควรจะบังคับการในกรมนี้ได้ก็เกิดข้อติดขัดในทางติดตามคนและการอะลุ้มอล่วยแก่พวกเจ้าหมู่นายหมวดอย่างเก่าๆ เพราะพวกเหล่านั้นไม่สู้มีความยำเกรงเช่นที่มีต่อนายทหารชุดเก่าๆนั้น คำนวณว่าตั้งแต่รัตนโกสินทรศก ๑๑๘ จนรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ มีผู้บังคับการกรมนี้ถึง ๗ คนแล้ว ที่ย้ายโดยเลื่อนขึ้นรับตำแหน่งสูง ๆ มีน้อย ที่ต้องเปลี่ยนโดยรวบรวมคนไว้ไม่สนิทมีมากฉะนี้แล้ว ยิ่งกระทำให้ยุ่งยากในการบังคับบัญชามากขึ้น เพราะเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ จึงไม่ทันตั้งตัวได้ แต่ก็เป็นการจำเป็นในขณะและในสมัยนั้น ซึ่งจะไม่ให้ราชการในแพนกคนนี้เสียไป ได้ทดลองจนถึงหาทางกลางเอาคนเก่า ๆ เป็นหัวหน้า เอาคนชั้นหนุ่ม ๆ ไว้หัดวิชาก็แล้ว การก็ยิ่งโยกเยกขึ้นโดยที่ก้าวไม่พร้อมกันได้ การฝึกหัดทหารในกรมนี้ในปัจจุบันนี้ต้องนับว่าแม้แต่มีความลำบากเช่นกล่าวมา ก็ยังนับว่าเป็นกรมทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ที่ฝึกหัดพอใช้ได้ทั้งปืนใหญ่ปืนเล็กอยู่กรมหนึ่ง เพราะหน้าที่รักษาการมีน้อย
กรมทหารช่างที่ ๑
กรมทหารช่างที่ ๑ จัดตั้งขึ้นเป็น ๒ กองร้อย ประจำอยู่ในศาลายุทธนาธิการ ทหารกรมนี้พึ่งเริ่มตั้งขึ้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เมื่อพระราชทานหมู่เลขกรมแสงปืนโรงใหญ่มาสมทบเป็นทหารช่างทั้งสิ้น มีจำนวนที่ได้สักขึ้นทะเบียนไว้เพียง ๕๖๗ คน เป็นคนแก่เสียมาก ได้จำหน่ายเป็นกองหนุนและตายเสีย ๑๓๑ คน โอนไปมณฑลราชบุรีเสียอีกมาก คงเหลือคนรับราชการรวมทั้งคนเวรและคนประจำเพียง ๘๒ คนเท่านั้น ต้องทิ้งว่างขาดอัตราอยู่กองร้อยหนึ่ง หน้าที่ของทหารในกรมนี้เป็นเหล่าสำคัญในเวลามีราชการศึก จำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้นโดยบริบูรณ์แท้ๆ แต่ในขณะที่ขาดคนอยู่นี้ก็จนด้วยเกล้า ฯ การคงจะร่วงโรยอยู่จนกว่าจะได้จัดเรื่องคนสำหรับทหารที่ประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ นั้นสำเร็จ การฝึกหัดทหารในกรมนี้ยาก โดยต้องนับว่าเป็นเหล่าพิเศษเช่นปืนใหญ่ มีการหยุกหยิกที่จะต้องฝึกหัดยิ่งกว่าปืนใหญ่ และในขณะนี้ก็หาผู้แนะนำยาก มีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร๕ และหม่อมชาติเดชอุดม๖ ซึ่งได้ศึกษาวิชาช่างทหารต่างประเทศเป็นผู้ดำริการ และวางระเบียบตำราในเรื่องนี้อยู่ แม้พึ่งเริ่มจัดก็ดี การฝึกหัดทหารในกรมนี้นับว่าดี ผู้บังคับการก็เป็นผู้เอาใจใส่เข้าใจในทางช่างทหารอยู่บ้าง ได้ฝึกหัดเช่นทหารราบประการหนึ่ง วางโทรศัพท์ ก่อสร้างสะพาน ขุดค่ายสนามเพลาะ และธงสัญญาเป็นต้น
กองโรงเรียนนายสิบมณฑลกรุงเทพ ฯ
กองนักเรียนนายสิบมณฑลกรุงเทพ ฯ จัดเป็น ๑ กองร้อย ประจำอยู่ในศาลายุทธนาธิการ แบ่งออกเป็นชั้นเรียน ๒ ชั้น ผู้ที่เข้ามาเป็นนักเรียนนี้บุตรหมู่กรมและกองทหารต่าง ๆ ซึ่งสมัครจะเรียนและกรมและกองเห็นชอบด้วย และเป็นผู้ที่ว่องไว มีพื้นวิชาหนังสือมาแต่เดิมบ้างแล้ว สังเกตว่ามี ผู้นิยมเข้าเป็นนักเรียนนายสิบอยู่ เพราะเงินเดือนได้มากกว่าเมื่อประจำกองทหาร และมีช่องทางที่จะได้เลื่อนเป็นนักเรียนนายร้อยอีกด้วย ทั้งหน้าที่ราชการก็มีแต่ที่จะเล่าเรียนและฝึกหัดให้ดีเท่านั้น ส่วนกรมและกองเดิมก็ไม่มีความรังเกียจที่จะให้คนดี ๆ ในกรมและกองของตนเข้ามาเป็นนักเรียนนายสิบ เพราะเมื่อสอบไล่ได้แล้ว ก็ได้ไปประจำกองตามเดิมเว้นเสียแต่จะไปเป็นนักเรียนนายร้อย ตลอดจนคนที่ไม่ได้เป็นหมู่ทหารบางคนสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบโดยที่หวังประโยชน์ว่า เมื่อตนได้สอบไล่ที่โรงเรียนนายสิบได้ดีแล้ว จะได้เลื่อนขึ้นเป็นนักเรียนนายร้อยภายหลัง ซึ่งในขณะต้นนั้นตนไม่มีวุฒิสามารถจะเข้าเป็นได้ และโดยแม้ว่าสอบไล่ไม่ได้ก็ยังมีช่องทางที่จะออกไปเป็นนายสิบ มีเงินเดือนไม่ลดหย่อนกันกับที่จะไปหากินทางเสมียนหรือทางอื่นๆ ในจำพวกคนชั้นนี้ นักเรียนนายสิบที่สอบไล่ได้ออกจากโรงเรียนนายสิบนี้ได้น้อย ปีหนึ่งเพียง ๒๐ เศษๆ ไม่พอราชการ โดยที่อัตราจำนวนมีอยู่น้อย อาศัยต้องเลื่อนพลทหารในกรมและกองขึ้นเป็นนายสิบเสียแทบทั้งสิ้น การภายหน้าจำจะต้องขยายให้มีนักเรียนนายสิบมากขึ้นให้พอราชการ เพราะนายสิบได้ออกไปจากโรงเรียนนี้ได้เปรียบที่รู้หนังสือ ส่วนนายสิบที่เลื่อนพลทหารขึ้นเป็นไม่รู้หนังสือแทบทั้งสิ้น ในปีนี้ยังไม่ได้ขยายขึ้น โยที่คนตามกรมและกองยังบกพร่อง และคนที่ไม่ได้เป็นหมู่ทหารที่จะสมัครมาเป็นนักเรียนนายสิบก็ยังหวังเป็นแน่ไม่ได้นัก ไม่เหมือนมณฑลที่ใช้ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ในขณะนี้ได้ยกกองโรงเรียนนนายสิบไปสมทบขึ้นในความปกครองกรมทหารช่างที่ ๑ เพื่อเป็นการสะดวกในวิธีปกครองและการเลี้ยงดูในขณะซึ่งยังมีคนน้อยอยู่ทั้ง ๒ ฝ่าย
กองพยาบาลทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ
กองพยาบาลทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ จัดตั้งขึ้นที่โรงพยาบาลใหญ่ของทหารบกใกล้ปากคลองหลอด จัดการพยาบาลโดยใช้ยาและตำราแพทย์ฝรั่ง รับคนป่วยได้โดยปรกติประมาณ ๒๐๐ คน ถ้าเป็นเวลาฉุกเฉินจะรับคนป่วยได้ในระหว่าง ๓๐๐ – ๔๐๐ คน ในขณะนี้คงมีคนป่วยประจำอยู่ ๑๐๐ เศษ ๆ เสมอ คือเป็นคนป่วยซึ่งจะรักษาที่โรงทหารไม่ได้ภายในกำหนด ๑๔ วันเป็นต้น หรือคนป่วยที่ต้องรักษาโดยตำราฝรั่ง เพราะแพทย์ที่ประจำตามกรมและกองล้วนเป็นแพทย์ที่ใช้ยาไทยทั้งสิ้น ในโรงพยาบาลนี้คนป่วยที่ต้องรักษาโดยมาก คือโรคเหน็บชา ซึ่งแพทย์ฝรั่งและแพทย์ไทยไม่ทราบว่าจะบำบัดได้โดยทางใดเปนแน่แท้ อาศัยทดลองแก้กันอยู่ แต่โรคนี้ที่จะถึงอันตรายมีน้อยมักจะหายได้โดยมาก สถานที่และการพยาบาลได้เป็นไปโดยประณีตและเรียบร้อย และเป็นเครื่องเชิดชูอวดชาวต่างประเทศได้แห่งหนึ่ง โรงพยาบาลนี้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ดีแท้ ยังกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ดีนับว่าใช้ได้แล้ว และในเดือนกันยายนนี้คงจะสำเร็จบริบูรณ์
๕. การก่อสร้าง
การก่อสร้างโรงทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ มีเงินเพียง ๑๘๒,๐๓๘ บาท และเงินแพนกการจรของกรมยุทธนาธิการโดยมากต่องโอนไปจ่ายตามหัวเมืองมณฑลทหาร ซึ่งจำเป็นต้องจัดให้มีที่พักทหารขึ้นโดยพลัน ในจำนวนเงินส่วนมณฑลกรุงเทพ ฯ นี้ ได้ใช้ในการสร้างโรงเรียนนายร้อยใหม่ ๑๔๒,๒๔๘ บาท สร้างโรงพยาบาล ๓๕,๗๙๐ บาท กับได้กเบียดกเสียรเงินในแผนกซ่อมแซมต่างๆ และเงินที่เหลือจ่ายบ้างบางอย่างบางประเภทมาจัดซ่อมที่ว่าการกรมทหารม้าที่ ๑ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมขึ้นได้หนึ่งหลัง และสร้างโรงทหารราบที่ ๒ ขึ้นในพระบรมมหาราชวังได้หนึ่งหลัง จุคนประมาณ ๑๐๐ คน นับว่าได้กระทำการน้อยในแผนกก่อสร้างในส่วนที่พักกรมและกองทหารซึ่งขึ้นในมณฑลนี้ การก่อสร้างในจำนวนเงินเหล่านี้ได้สำเร็จไปตามประสงค์และได้ย้ายนักเรียนนายร้อยออกไปอยู่โรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็น ๒ กองร้อย กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ให้ยืมมาใช้ในการสร้างที่พักรักษาการสวนดุสิตอีกหนึ่งหลัง เงินในศก ๑๒๔ นี้มณฑลกรุงเทพ ฯ มีเงินประเภทการจรจำนวนเงิน ๒๘๓,๐๐๐ บาท หักที่ต้องใช้หนี้โรงกาดสวนดุสิตปีกลายนี้แล้ว คงเหลือเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาท ในจำนวนเงินนี้ได้รับใส่เกล้า ฯ กะก่อสร้างต่างๆ ในปีนี้ คือ
(๑) สร้างโรงเรียนนายร้อยใหม่ ทำตึกที่พักนักเรียนสองหลัง โรงพยาบาลนักเรียนนายร้อยหนึ่งหลัง ส้วมห้องอาบน้ำและท่อริมถนน เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท
(๒) สร้างโรงทหารใหม่หลังพระราชวังบวรฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างท่าพระจันทร์ด้านใต้ถึงโรงพักกองตระเวนท่าช้างวังหน้าด้านเหนือ คือ ในปีนี้สร้างโรงทหารเป็นตึกสองชั้น ๒ หลังจุคน ๒ กองร้อย ที่ว่าการ ๑ หลัง โรงเลี้ยง ๑ หลัง โรงประกอบอาหาร ๑ หลัง ซ่อมรั้วกำแพงสะกัดด้านเหนือด้านใต้รวมเป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท กับใช้เงินค่าซ่อมแซมและซึ่งจะกะเบียดกเสียรในเงินเหลือใช้ ซ่อมศาลายุทธนาธิการชั้นล่างทำเป็นคลังไว้เครื่องสรรพยุทธโดยรอบ กับสร้างศาลายิงเป้า ๒ หลัง และรื้อเรือนแถวสร้างเป็นกำแพงโรงพยาบาลให้สำเร็จซึ่งค้างมาแต่ปีก่อน จัดทำโรงสำหรับเก็บเครื่องสัมภาระขึ้นที่โรงเรือทหารบก กับการซ่อมแซมเบ็ดเตล็ดตามกรมอีกเล็กน้อย เมื่อสังเกตเงินที่ได้และการที่จะต้องทำ ดูส่วนเงินได้นั้นบกพร่องไม่ทันใจ และแม้ในเวลาทุกวันนี้ที่พักทหารนั้นยังคับแคบอัดแออยู่ทั่วไป
๖. การพรักพร้อมในการระดมเมื่อเวลาเตรียมรบ
ตามที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามาในเบื้องต้นแล้วนั้น ถ้ามีเหตุราชการสำคัญย่อมส่อให้เห็นได้ว่า การพรักพร้อมของทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ เป็นการยากที่จะจัดให้ดีแท้ตามสมัยและวิธีการที่เป็นอยู่ เพราะมีข้อติดขัด คือ
(๑) คนซึ่งคุมอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่เช่นเดี๋ยวนี้ เจ้าพนักงานฝ่ายพลเรือนไม่ได้รับผิดชอบที่จะส่งทหารโดยเต็มตัว
(๒) เวลาเรียกระดม ขอร้องให้ฝ่ายพลเรือนช่วยเร่งคนเข้ามารับราชการ ผู้เหล่านั้นไม่สามารถทราบจำนวนทหารในท้องที้ของตนและถิ่นฐานอยู่แห่งใด ซึ่งจะเร่งได้และช่วยติดตามได้ เว้นเสียแต่จะเป็นราชการศึกใหญ่ ซึ่งไม่คำนึงถึงว่าเป็นทหารหรือหมู่ทหารนั้น
(๓) ส่วนเจ้าหมู่นายหมวดซึ่งควบคุมกันอยู่นั้น ตามสมัยนี้กำลังหรือออำนาจก็ไม่มีพอที่จะเร่งรีดคนเข้ามารับราชการได้โดยเร็ว
(๔) ผู้บังคับการและนายทหารบกนั้นเล่า ก็ติดหน้าที่ราชการที่จะต้องตระเตรียมตลอดทั้งรับคน ต้องพะวงอยู่ทางกรมและกองนั้นอยู่เป็นเบื้องต้น ไม่มีโอกาสที่จะช่วยในการติดตามคนนั้นได้เลย
๗. อนึ่งเครื่องที่จะมีติดตัวไปกับทหารในเวลามีราชการและเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งจะต้องมีไปด้วยในกองทหารในเวลาซึ่งจะต้องยกทัพนั้น ในมณฑลกรุงเทพ ฯ มีบริบูรณ์กว่าหัวเมืองทั้งปวง ด้วยคลังใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น แต่แม้กระนั้นก็ดี เวลาฉุกเฉินขึ้นแล้วความพรักพร้อมจะสู้หัวเมืองไม่ได้สักมณฑลเดียว เพราะเหตุ
(๑) วิธีเบิกจ่ายอาวุธยังก้าวก่ายกันในระหว่างผู้ที่จะยกไปและผู้ที่จะจ่ายอาวุธ ทำให้การเนิ่นช้ากว่าตามหัวเมือง ซึ่งเป็นพนักงานแพนกเดียวกัน
(๒) เครื่องสิ่งของใช้ที่จะมีไปด้วยในกองทัพ เจ้าพนักงานชั้นสูงรวบรวมไว้ในความปกครองและไม่ขาดตอนออกไปเช่นกับหัวเมือง ซึ่งทำให้ชักช้าในเวลาที่จะจ่ายอีกชั้นหนึ่ง
(๓) การพาหนะที่จะยกทหารไปเล่า ก็ยังก้าวก่ายไม่ลงระเบียบดี แม้แต่ในชั้นน้อย ๆ ก็นับว่าไม่พอราชการ
(๔) การบังคับบัญชาฝึกหัดไม่สู้จะได้มุ่งในการพร้อมเพรียงในเวลาที่จะต้องเข้าสนามหรือฝึกหัดเป็นกระบวนรบ เช่นหัวเมือง
๘. การในมณฑลนี้ที่เกี่ยวและเนื่องกับฝ่ายพลเรือน
(๑) การระแคะระคายในระหว่างทหารกับกองตระเวนมีอยู่เนืองๆ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ ตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ คดีในระหว่างพลตระเวนกับทหารแม้จะเทียบกับครั้งก่อน ๆ นับว่าเรียบร้อยขึ้นมากก็จริง แต่ไม่เป็นทางแน่นอนหรือถาวรได้ สุดแต่ใครเป็นนายกองตระเวนหรือนายทหารเท่านั้น มักจะเป็นเหตุโดยบังเกิดความเข้าใจผิดกันเป็นเบื้องต้น เนื่องจากไม่ได้เอาใจใส่ในการสมานสามัคคีเป็นเบื้องต้น ฝ่ายพลตระเวนและนายพลตระเวนซึ่งเป็นคนต่างประเทศก็ถือทิฏฐิอันหนึ่ง ในวิธีการและใช้อำนาจโดยตั้งใจจะรักษาหน้าที่ของตนนั้นเอง กลายเป็นส่อให้เกิดการวิวาทกันขึ้นก็มี ฝ่ายทหารเล่าไม่สู้ซึมซาบในอาการและอัธยาศัยของพวกเหล่านี้ ก็บังเกิดทิฏฐิหักหาญชวนก่อวิวาทขึ้นอีกด้วย ใช่แต่เท่านั้น การซึ่งจะเกิดเหตุวิวาทนี้มักจะเกิดในระหว่างพลทหารกับพลตระเวนและพลตระเวนลับ หาใช่ชั้นนายไม่ โดยข้อริษยาพัวพันกันในเรื่องผู้หญิงบ้าง ในเรื่องอื่น ๆ บ้าง ชักก่อความอาฆาตซึ่งกันและกันคุมกันขึ้นเป็นพวก เมื่อนายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เล็งเห็นข้อสาเหตุฉะนี้แล้ว ก็ต่างคนต่างเข้ากับเหล่าของตน กลายบังเกิดความระแวงขึ้นในระหว่างนายต่อนายอีกชั้นหนึ่ง กระทำให้เสียทางราชการทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในอำนาจราชการด้วยกันและมีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณร่วมกัน ที่เป็นเหตุเนืองๆ อยู่และระงับไว้ได้ ก็เพราะความอันนี้ทราบถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่จัดการป้องกันได้ทันท่วงที และถ้าเกิดการวิวาทก็ได้ลงโทษฝ่ายทหารโดยแรง ๆ แต่ฝ่ายกองตระเวนทำไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่าอำนาจที่จะลงโทษพลตระเวนนั้นมีน้อยไม่เหมือนทหาร ถ้ากองตระเวนชั้นนายมีน้ำใจที่จะระงับเหล่าของตนเช่นเดียวกับทหารแล้ว ความร้ายแรงคงจะไม่เกิดขึ้นได้
(๒) การที่ทหารวิวาทกับราษฎรหรือมีคดีเกี่ยวกับราษฎร แม้มีอยู่บ้างก็ต้องนับว่าน้อยกว่าที่เคยเป็นมา และการวิวาททั้งนี้ก็ไม่มีความรุนแรงอันใด พลตระเวนมักจะจับส่่งมาให้อัยการทหารฟ้องศาลทหารโดยความผิดของผู้เหล่านั้นผิดในช้อบังคับทหารมากกว่า แม้ส่งไปศาลโปรีสภาก็ไม่มีโทษหรือมีโทษน้อย เช่นหนีไม่ได้แต่งตัวไปเสพสุราเมาในท้องที่พลตระเวนเป็นต้น และถ้าเกี่ยวไปถึงก่อวิวาทกับราษฎรเป็นการเล็กน้อยเช่นนี้ ผู้เป็นความมักจะชอบให้ส่งมาศาลทหารมากกว่าศาลพลเรือน โดยประสงค์โทษมากกว่าสินไหม จำนวนความที่เกี่ยวกับพลตระเวนและราษฎรที่ศาลทหารมณฑลกรุงเทพ ฯ ได้ตัดสินลงโทษไปใน ร.ศ. ๑๒๓ ทั้งสิ้นมี ๖๘ เรื่อง ยกฟ้อง ๗ เรื่อง ระเบียบการพิจารณาและพระธรรมนูญในเรื่องศาลทหารบกทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่ได้จัดวางเป็นหลักฐานมั่นคงนั้น ได้รับใส่เกล้า ฯ หารือกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมดูแล้ว โปรดให้มองซิเออร์ปาดูที่ปรึกษาหารือกับข้าพระพุทธเจ้าลองร่างพระราชบัญญัติขึ้น ในขณะนี้มองซิเออร์ปาดูกำลังร่างอยู่
(๓) การดับเพลิงซึ่งเป็นหน้าที่ทหารบกและทหารเรือนั้น ในส่วนทหารบกได้จัดให้กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ มีหน้าที่ในการใช้สูบไฟด้วย ส่วนกรมอื่น ๆ มีแต่สูบมือถังน้ำและเครื่องรื้อ การทั้งนี้ตามวิธีที่เป็นมาแลเห็นในเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ ไม่เคยกระทำหน้าที่ให้ดีจริงได้สักครั้งเดียว เพราะเวลาปรกติอยู่ทหารไม่ได้มีโอกาสฝึกการดับเพลิงนี้เลย ส่วนสูบไฟนั้นอาศัยได้จ้างอินยิเนียไว้ประจำสูบ และการอื่นๆก็ได้ใช้ทหารทั้งสิ้น ใช่แต่เท่านั้นเขตต์ที่จะต้องไปดับก็กว้างขวาง เพราะการเจริญขยายเขตต์พระนครออกไปทั้งเหนือใต้ ส่วนสูบไฟดับเพลิงมีอยู่แต่ฉะเพาะที่ศาลายุทธนาธิการ และทหารโดยมากอยู่ในกำแพงเมือง ถ้าไฟเกิดขึ้นที่ไกล ๆ เช่นสวนดุสิตหรือบางรักเช่นนี้ กว่าสูบดับเพลิงและทหารจะไปถึงเพลิงนั้นก็ลุกลามมากเสียแล้ว เวลาทหารไปถึงก็ไม่สามารถจะช่วยได้นัก นอกจากเพียงช่วยสะกัดเพลิงได้บ้างแล้วปล่อยให้ดับไปเอง และในเวลาที่ไปถึงที่เพลิงไหม้แล้ว ก็ไม่ได้มีวิธีหรือระเบียบการบังคับบัญชาอันใดในเวลาดับเพลิง ต่างคนต่างสั่งกันชุลมุน มีแต่ทหารไปมากๆประโยชน์ที่ได้นั้นน้อย สูบดับเพลิงเล่าแม้ไปถึงที่นั้นได้ ก็ยังต้องเที่ยวสืบเสาะหาน้ำอีกชั้นหนึ่ง บางทีก็ไม่มีและไม่ทราบที่เสียทีเดียว เพราะไม่ได้จัดระเบียบการเรื่องนี้ไว้ในเวลาที่ยังไม่มีเหตุ หน้าที่การดับเพลิงนี้ ถ้าไม่จัดแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยจริงจังแล้ว พระราชอาญาคงไม่พ้นเกล้า ฯ ด้วยบ้านเมืองนับวันนับจะรุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นทุกที ถ้าไม่คิดการดับเพลิงให้เป็นระเบียบตลอดแล้ว การในเรื่องนี้คงจะไม่ดีขึ้นได้ การที่จะจัดเรื่องดับเพลิงเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า จะต้องจัดตั้งขึ้นเป็นแพนกหนึ่งกรมหนึ่งต่างหาก ฝึกหัดคนไว้ฉะเพาะหน้าที่นี้ให้คล่องแคล่ว และมีหน้าที่แต่ฉะเพาะการดับเพลิงและเตรียมการดับเพลิงนั้น และต้องแยกกันเป็นกองน้อยไปประจำในตำบลต่างๆ อีกชั้นหนึ่งจึงจะได้ผลจริง คุณจะมีมากคุ้มกับพระราชทรัพย์ที่จะเสียในการตั้งกรมดับเพลิงนี้โดยแท้ การปกครองกรมดับเพลิงนี้จะอยู่ในกระทรวงนครบาลหรือในความปกครองของทหารนั้นแล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร แต่ถ้าอยู่ในปกครองทหารแล้ว จะเป็นเหตุให้นานาประเทศสังเกตงบประมาณทหารมากขึ้นและเข้าใจผิดไป เพราะการทั้งนี้ย่อมไม่ใช่เป็นหน้าที่ของทหารตามสมมติเข้าใจในเมืองต่างประเทศ การที่กราบบังคมทูลพระกรุณามาเช่นนี้หาได้คิดหลีกเลี่ยงหน้าที่โดยประการใดประการหนึ่งไม่ เห็นแก่ประโยชน์ของราชการเท่านั้น แม้แต่มีกรมดับเพลิงเช่นนี้แล้ว เมื่อเกิดเพลิงใหญ่ทหารก็จำจะต้องไปช่วยอยู่เช่นเดิมนั้นเอง แต่ได้กำลังของกรมดับเพลิงนี้เป็นผู้อำนวยการและวางการ ทหารที่ไปช่วยจึงจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าที่เป็นมา
๙. ความเห็นในการที่ควรจะจัดขึ้น
ตามที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ การที่จะจัดทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ ให้ดีขึ้นสมกับพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งกรุงเทพ ฯ เป็นเมืองสำคัญหัวใจของประเทสยามเช่นนี้ ในการเรื่องคนแม้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตลอดตามความเห็นนั้นแล้วก็ดี และได้คนมาประจำตามกรมและกองทหารทั้งสิ้นให้เต็มอัตราแล้วนั้นก็ดี จำนวนทหารซึ่งมีประจำก็คงยังไม่พอกับความต้องการซึ่งจะรักษาหน้าที่ต่างๆ และฝึกหัดให้พรักพร้อมได้อีก และจะคิดการใหญ่ให้ถาวรสืบไปก็ยังไม่พอที่จะเป็นกำลังรักษาพระนครได้โดยมั่นคง จึงเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าทหหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ นี ควรจัดรวมเบ็นกรมบัญชาการอันเดียวกันกับมณฑลนครชัยศรีและมณฑลกรุงเก่า เพื่อได้คนใน ๒ มณฑลนี้มาช่วยทางมณฑลกรุงเทพ ฯ และแบ่งออกเป็น ๓ กองพล กองพลหนึ่งมีทหารราบ ๒ กรม ทหารม้า ๑ กรม ทหารปืนใหญ่ ๑ กรม ทหารช่าง ๑ กอง ทหารปืนกล ๑ กอง และ ๓ กองพลนี้ คือกองพลที่ ๑ เป็นกองพลรักษาพระองค์ เลือกคนจากทั้ง ๓ มณฑล ได้บัญชาการทหารในพระบรมมหาราชวังและที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง กองพลที่ ๒ รับคนจากมณฑลนครชัยศรี ได้บัญชาการทหารบริเวณสวนดุสิตใต้และทหารมณฑลนครชัยศรี กองพลที่ ๓ รับคนจากมณฑลกรุงเก่า ได้บัญชาการทหารสวนดุสิตเหนือถึงบางซื่อและทหารมณฑลกรุงเก่า ทั้ง ๓ กองพลนี้รวมขึ้นอยู่ในกรมบัญชาการมณฑลกรุงเทพฯ เป็นกรมใหญ่ กองพลทั้ง ๓ นี้ต่างมีคลังทั้งอาวุธเสื้อผ้าแยกไปรักษา เพื่อจะได้เป็นการพรักพร้อมเมื่อเวลาฉุกเฉิน และให้พอกับทหารในเวลาระดม
ส่วนจำนวนกรมและกองทหารที่มีอยู่แล้วยังไม่ครบบริบูรณ์ตามที่จะจัดได้เช่นกล่าวมา คือยังขาดทหารปืนใหญ่ ๒ กรม ทหารม้า ๒ กรม ทหารราบที่มณฑลนครชัยศรี ๑ กรม ที่มณฑลกรุงเก่า ๑ กรม ทหารช่าง ๒ กอง ทหารปืนกล ๓ กอง ตามจำนวนที่ขาดอยู่นี้ ในชั้นต้นไม่จำเป็นคะต้องมีขึ้นพร้อมเพรียงพร้อมกันทีเดียว เพราะเกี่ยวด้วยเรื่องเงินและโรงทหารอยู่ ซึ่งจะต้องผ่อนทำไป และในขณะนี้จะวางแต่โครงไว้และค่อยขยายออกไปให้เต็มบริบูรณ์ได้ คือในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ควรเพิ่มแต่เพียงกรมทหารที่มณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครชันซรีเท่านั้น เพราะจะต้องจัดขึ้นโดยความจำเป็นในเวลาที่จัดให้ ๒ มณฑลนี้ใช้ขัอบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะได้ถ่ายคนในกรมทั้ง ๒ นี้ที่ฝึกหัดชั้นต้นได้แล้วเข้ามากรุงเทพฯ การที่เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าจะจัดแบ่งเป็นกองพลขึ้นได้ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ นั้น คือ
กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ มีกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และกรมทหารราบที่ ๒ ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๒ กรม กับกรมทหารม้าที่ ๑ รวมเป็น ๑ กองพล
กองพลที่ ๒ มีกรมทหารราบที่ ๑ และกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ ซึ่งอยู่ในศาลายุทธนาธิการเดี๋ยวนี้ กับกรมทหารมณฑลนครชัยศรีที่ควรตั้งขึ้นใหม่ รวมขึ้นเป็น ๑ กองพล
กองพลที่ ๓ มีกรมทหารราบที่ ๓ และกรมทหารช่างที่ ๑ กับกรมทหารมณฑลกรุงเก่าที่ควรจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมขึ้นเป็น ๑ กองพล
ส่วนกองทหารพาหนะตามซึ่งได้จัดสร้างที่อยู่ขึ้นที่หลังวังหน้าในปีนี้ ให้รวมอยู่ในกรมบัญชาการมณฑลกรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับกองนักเรียนนายสิบ
เมื่อคิดเพิ่มจำนวนคนและกองทหารขึ้นในมณฑลกรุงเทพ ฯ มณฑลกรุงเก่า และมณฑลนครชัยศรีเช่นนี้แล้ว ที่อยู่ซึ่งอัตคัดอยู่แล้ว จะต้องคิดเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้คิดลองเทียบที่อยู่และโรงทหาร เมื่อกองพลทั้ง ๓ นี้มีกองเต็มตามจำนวนที่กราบบังคมทูลพระกรุณามาแล้วนั้นบริบูรณ์ จะต้องเพิ่มโรงและวิธีแบ่งกองอยู่อย่างใด เห็นด้วยเกล้า ฯ ดังนี้
กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์นั้น ที่ในพระบรมมหาราชวังแม้จุทหารราบ ๒ กรมอยู่ได้ ก็เพราะกรมเหล่านั้นไม่มีทหารเต็มอัตรา และที่ต้องอยู่กระจัดกระจายกันเช่นทหารราบที่ ๒ ก็ไม่เป็นทางดีในการบังคับบัญชา จำจะต้องหาที่เพิ่มให้อีก คือในพระบรมมหาราชวังมีกรมบัญชาการกงอพลกับกรมทหารมหาดเล็กเท่านั้น กรมทหารราบที่ ๒ อยู่ศาลายุทธนาธิการ กรมทหารมาอยู่ตามเดิม กรมทหารปินใหญ่ ทหารช่าง และทหารปืนกล จำจะต้องขอพระราชทานที่และโรงทหารเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพราะที่อยู่ในศาลายุทธนาธิการไม่พอ และจะต้องจัดทำคลังไว้สิ่งของอีกด้วย เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่ามีอยู่ ๒ แห่ง คือ สนามหลังหลักเมืองนั้นถ้าทำขึ้นได้จะพอ ทั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังและศาลายุทธนาธิการเหมาะดีแห่งหนึ่ง ที่สวนเจ้าเชตอีกแห่งหนึ่ง
กองพลที่ ๒ เมื่อเวลาจัดบริบูรณ์แล้วคงมีกรมทหารราบที่ ๑ อยู่ที่โรงทหารที่สวนดุสิตเดี๋ยวนี้ กรมบัญชาการกองพล กรมทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารช่างและทหารปืนกลนั้นยังไม่มีที่และโรงอยู่ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าได้ที่แถวโรงเรียนนายร้อยใหม่หรือที่ใด ๆ ในแถวนั้น จำจะต้องขอพระราชทานพระราชดำริหาที่ที่จะสร้างเป็นโรงทหารขึ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นทางสะดวกในการควบคุมกองพลนี้ ส่วนกรมทหารที่ไปอยู่มณฑลนครชัยศรีนั้นตั้งที่พระปฐมในแถวห้วยจระเข้ ซึ่งได้กำลังจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว
กองพลที่ ๓ เมื่อเวลาครบตามจำนวนแล้ว มทหารราบที่ ๓ ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ที่ศาลายุทธนาธิการ กรมทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารช่าง และทหารปืนกลตลอดทั้งกรมบัญชาการกองพลล้วนยังไม่มีที่หรือโรง เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ที่ปลายถนนลกใกล้ตึกดิน จัดสร้างขึ้นเป็นโรงทหารจะพอทั้งกองพล และรวบรวมกันอยู่เป็นระเบียบงามดี สะดวกทั้งการจะรักษาตึกดินและโรงกระสุนเมื่อสร้างขึ้นแล้วนั้นอีกด้วย ส่วนกรมทหารที่ไปอยู่มณฑลกรุงเก่านั้นกำลังจัดหาที่อยู่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงแนะนำว่าที่วังหลัง ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ออกไปดู จะต้องไปตรวจดู
การที่จะทำให้สำเร็จตลอดนี้จะเปลืองเงินมากก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะมีทหารมากก็เป็นการจำเป็นอยู่เอง เงินที่จะต้องใช้ทำขึ้นคงจะเกี่ยวเนื่องไปหลายปีกว่าจะสำเร็จ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ นั้นเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่ามีจำเป็นอยู่ ๒ แห่ง คือ โรงทหารที่พระปฐมและกรุงเก่า และถ้าแม้ว่าเริ่มได้ในปีนี้ก็ยิ่งเป็นการสะดวก เพราะปีหน้าถ้าลงมือรับคนแล้วโรงจะสร้างขึ้นไม่ทัน กับโรงทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารปืนกลสำหรับกองพลที่ ๑ ซึ่งเห็นว่าควรจะสร้างขึ้นที่หลังหลักเมืองหรือที่สวนเจ้าเชตนั้น ถ้าได้ในปีหน้าด้วยจะสะดวกแก่วิธีปกครองนั้นเป็นอันมาก
อนึ่ง ในการที่จัดกองพลทั้งปวงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้กล่าวถึงกรมพระตำรวจนั้นเลย ซึ่งน่าจะจัดให้มีแพนก ๆ หนึ่งที่ฝึกหัดเป็นทหารจริง รวมอยู่ในกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์นั้น คู่กันกับทหารมหาดเล็ก รับคนโดยวิธีเดยวกัน ส่วนที่ได้กะราบที่ ๒ ไว้ในกองพลนี้ เมื่อจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนเป็นตำรวจก็จะไม่ขัดข้องอันใด ส่วนราบที่ ๒ เล่า แม้จัดมณฑลกรุงเก่ามณฑลนครชัยศรีขึ้นเป็นทหารแล้ว คนมณฑลปราจิณบุรีซึ่งเป็นพื้นของราบที่ ๒ นั้นก็ยังเหลืออยู่ ควรย้ายราบที่ ๒ ไปตั้งอยู่มณฑลปราจิณบุรีทีเดียว เป็นหนทางอันเดียวกันกับที่จัดทหารในมณฑลราชบุรีมาเมื่อก่อนใช้ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหารนั้น
การที่กราบบังคมทูลพระกรุณามาเป็นรายงานและมีความเห็นเพิ่มเข้ามาฉะนี้ เมื่อผิดพลังไปโดยประการใดบ้าง พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เพราะในขณะที่กำลังคิดขยายข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหารให้ใช้อิกหลายมณฑลออกไป คือมณฑลนครชัยศรีและมณฑลกรุงเก่า เนื่องในการที่จะจัดในมณฑลกรุงเทพ ฯ เป็นต้น และเป็นความเห็นของข้าพระพุทธเจาอันแน่นอนว่า ในเรื่องการทหารในมณฑลกรุงเทพ ฯ นี้ ถ้าไม่เริ่มจัดการเสียโดยพลัน จะเบ็นที่เสื่อมทรามลงไปทุกที ในที่สุดได้รับพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายตารางอัตรากองทหารที่มีอยู่ในมณฑลกรุงเทพ ฯ ฉะเพาะแต่จำนวนพลรบในทุกวันนี้ เทียบกับที่จะจัดขึ้นใน ร.ศ. ๑๒๕ และเมื่อจัดโดยบริบูรณ์นั้น เพื่อได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ขอเดชะ
(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า จิรประวัติวรเดช
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ