(ฉะบับที่ ๑)

หน้าที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์

วันที่ ๑๕ ตุลาคม รัตนโกสินทร์๔๑ศก ๑๒๗

ใบบอกแจ้งความมายังมกุฎราชกุมาร ให้ทราบ

ระยะทางที่มาโดยรถไฟได้เห็นว่าน้ำมาก แต่ไม่ใช่มากข้าวล่มแลเห็นน้ำเปล่าน้อย เต็มไปด้วยข้าวตลอดหนทาง ผักชะวาในทุ่งได้ทำลายลงเสียมากจนโปร่งตา แต่ก็ยังเหลือ จะต้องทำลายต่อไปอีกมาก พิเคราะห์ดูแพและเรือค้าขายในแควใหญ่โรยไปมาก นึกสงสัยว่าจะเป็นด้วยรถไฟพิษณุโลกทำให้เมืองนครสวรรค์ไม่เป็นท่าสำคัญ เพราะสินค้าขึ้นไปทางรถได้สะดวกกว่า ครั้นถามคนค้าขาย กล่าวคือยายพลอยที่เป็นคนชอบกัน บอกว่าไม่เชิงจะร่วงโรยด้วยรถไฟ เป็นด้วยราคาเงินบางกอก บรรทุกของลงไปจำหน่ายไม่มีกำไร เวลาเย็นได้มาพักที่แพหน้าที่ว่าการ ตลิ่งน้ำท่วมไปหมดทั้งนั้น เรือพายได้ เวลากลางคืนฝนตกหนัก อากาศเย็น ไม่มียุง

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เวลาเช้าโมง ๑ ได้ลงเรือครุฑเหิรเห็จขึ้น ไปทางแควใหญ่ แลวไปทางลำน้ำเชียงไกร ลำนำนี้ยังกว้างน้ำก็ลึก เรือพายม้าเดินได้ในฤดูแล้งตลอดปี สองข้างเป็นป่าไม้กระเบาเป็นพื้น มีเรือขึ้นล่องเนืองๆ บ้านเรือนรายกันไป ได้ผ่านบ้านขี้ทูต ทีจะเปนตำบลที่พวกโรคเรื้อนอาศัยอยู่ก่อน มีบ้านเรือนหลายหลัง ต่อไปจนถึงตำบลบ้านพะหลวง มีบ้านเรือนมากขึ้นหน่อย อยู่แพกันเป็นพื้น ได้แวะที่วัดพะหลวง วัดนั้นก็อยู่บนแพ มีแพโบสถ์หลัง ๑ แพการเปรียญหลัง ๑ แพกุฎี ๓ หลัง ที่นั้นน้ำลึกกว่าทุกแห่ง เดี๋ยวนี้ถึง ๑๑ ศอก เป็นที่ประชุมปลาอาศัยมาก มีปลาเทโพตัวใหญ่ๆ ในฤดูนี้ แต่เมื่อถึงฤดูปลาขึ้นเหนือ ปลาเทโพขึ้นไปเหนือ ปลาม้าเข้ามาอยู่แทน เพราะเป็นที่พ้นอันตรายไม่มีใครทำร้าย มีพระสงฆ์อยู่ ๖ รูป เป็นพวกข้างเหนือ ๕ รูป มาแต่กรุงเทพฯ แต่อุโบสถไม่ได้ทำ เพราะไม่มีผู้สวดปาฏิโมกข์ได้ พระสงฆ์ลงไปรวมทำอุโบสถที่วัดปากน้ำในแควใหญ่ วิธีจองกฐินของเขาชอบกล เขียนลงในกระดาษปิดไว้ที่เสาแพการเปรียญ ว่าผู้นั้นจองกฐินจะทอดกลางเดือน ๑๒ ไตร ๓ บริกขารสำรับ ๑ อันดับองค์ละ ๔ บาท ถ้าผู้ใดจะถวายมากกว่านี้ เชิญท่านทอดเถิด ตามัคคนายกแกบอกว่า ทำเช่นนี้ไม่เป็นการขัดลาภสงฆ์ มัคคนายกผู้นี้คือนายดัด เป็นชาวเมืองอ่างทอง ขึ้นมาตัดฟืนแล้วเลยจอดแพอยู่ที่นี่

การหากินทำปลาเป็นพื้นของท้องที่ เหตุด้วยในลำน้ำนี้มีปลาชุม ส่วนผู้อื่นที่ขึ้นมาหากินในที่นี้ตัดฟืนเป็นพื้น การตัดฟืนใช้จ้างลูกจ้างลาวเหมาปีละชั่ง กินอยู่เป็นของผู้จ้าง แต่ถ้าอยู่ไม่ครบปีไปเสียก่อนไม่ต้องให้อะไรเลย ได้ฟืนเปล่า จึงเป็นอันได้ความว่าด้วยเหตุนี้นี่เอง เป็นเรื่องให้พวกลาวละทิ้งการรับจ้างทำนาที่คลองรังสิต ด้วยเจ้าของนาหรือนายกองนาคิดอ่านโกงพวกลาว ค่าจ้างไม่ได้จ่ายให้เป็นเดือนๆ ต่อครบปีจึงจ่ายชั่ง ๑ ทีเดียว เมื่อทำงานมาได้หลายเดือนจวนสิ้นปีแล้ว กวนให้พวกลาวนั้นได้ความลำบากเบื่อหน่ายละทิ้งงานไปเสีย ก็ไม่ต้องให้ค่าจ้าง หรืออีกอย่างหนึ่งถึงกำหนดแล้วก็ผัดไป เมื่อลาวไม่ได้เงินก็ไปไม่ได้ ครั้นเบื่อหน่ายเข้าต้องละทิ้งไป ผู้จ้างก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้น ผู้ที่ทำการโดยซื่อตรงเช่นตาดัด อ้างว่าตัวเป็นคนซื่อตรง ว่าพวกลาวเหล่านี้ทำงานแข็งแรง และอยู่ด้วย ๓ ปีจึงกลับไปบ้านครั้งหนึ่ง อยู่บ้านเดือนเดียวก็กลับมาใหม่ ไม่ยากในการที่จะหาจ้าง ฟืนขายราคาที่ในลำน้ำนั้นพันละ ๗ บาท ถ้าต้องล่องลงมาส่งข้างนอกขึ้นเป็นพันละ ๑๐ บาท

ได้เรียกลาวมาพูดด้วย ๔ คน มาจากเขมราฐ ๒ คน อุบลคน ๑ ศรีสะเกษคน ๑ ถามได้ความว่า หากินอะไรไม่สู้เป็นลูกจ้างทำทางรถไฟ ได้ถึงเดือนละ ๒๕ บาท ได้เสมอ จึงได้ถามว่าเหตุใดไม่ทำงานทางรถไฟต่อไป บอกว่าได้มากก็จริงแต่มีที่เสียมาก อยู่ด้วยกันมากๆ อดเล่นคู่คี่ไม่ได้ เก็บเงินไม่อยู่ ที่หลีกมาหากินเช่นนี้ เมื่อได้เงินคราวเดียวมากก็ได้กลับไปบ้าน เจ้านี่อยู่กันมา ๒ ปีแล้ว ปีหน้าจะไปบ้าน การที่ไปบ้านชั่วแต่เอาเงินไปให้บิดามารดาบุตรภรรยา ที่จะไปหากินในเมืองลาวไม่ใคร่ได้อะไร ลำบากมาก รับยืนยันว่านายดัดเป็นคนซื่อตรงให้เงินจริงๆ ฟืนนั้นโดยมากตัดลงไว้ก่อนน้ำมา เมื่อน้ำมาแล้วจมอยู่ในน้ำต้องดำขึ้นมารอนเป็นขนาดดุ้นฟืน ถ้าหากว่ารอนหมดในฤดูน้ำ ก็ไปตัดได้ทั้งกำลังน้ำ

เวลาที่ไปนี้มีแต่ลาว ๔ คน กับผู้ใหญ่ ๓ คน นอกนั้นลงไปอยู่ที่วัดเขาบวชนาคซึ่งยังเหลือคนอยู่ เพราะเหตุที่กำลังทำธรรมาสน์จะมีเทศน์มหาชาติซ้อน แต่ยังมีความปรารถนาเป็นอันมากที่จะเห็นฟ้า และบอกให้อนุโมทนาในเรื่องที่ได้ออกเงินหล่อรูปฟ้า พรรณนาถึงบุญคุณของฟ้าที่มีแก่ราษฎรเป็นอันมาก และการที่ได้ออกเงินมาหล่อรูปท่านไว้คงจะได้บุญมาก และจะมีความจำเริญแก่ตัว ความปรารถนามีอย่างเดียวแต่จะใคร่เห็นตัวกรมหลวงดำรง เห็นบ่นคร่ำครวญนัก จึงชี้ตัวฟ้าให้เป็นที่ชื่นชมยินดีต้องไปหาธูปมาบูชา และรับพาเด็กมารับเสมา คุยเอ็ดว่าดีกว่าพวกที่ลงไปถึงเขาบวชนาค เพราะเหตุที่ตัวมุ่งหมายจะทำบุญกุศลส่งให้ฟ้าขึ้นมาถึงที่ได้เห็นสมประสงค์ ได้แจกเงินพระและให้เงินสำหรับซื้อไม้ยัดแพต่างหากอีก ๗๐ บาท แล้วล่องกลับลงมาจอดที่หน้าวัดเขาซึ่งราษฎรมาประชุมกันอยู่ที่นั้น น้ำท่วมสะพานหมด ไม่มีที่จะยืนต้องจอดเรืออยู่ แต่ราษฎรแข่งเรือกันสนุกสนานมาก การแข่งเรือที่นี้มาแต่เช้า แข่งเรือกันทอดหนึ่งแล้วขึ้นไหว้พระทักษิณแล้วกลับลงมาแข่งเรืออีกทอดหนึ่ง ค่อย ๆ โรยกันไปตามบ้านไกลบ้านใกล้ พวกที่ทวนน้ำก็ไปก่อน พวกที่ตามน้ำไปทีหลัง ไม่มีเรืออยู่เกินบ่าย ๓ โมง

แม่น้ำที่เชียงไกรนี้ เป็นทางซึ่งไปขึ้นแม่ยมไปสุโขทัย สวรรคโลกก็ได้ ในพงศาวดารว่าเสด็จไปตีเชียงไกรเชียงกรานคงเป็นทางลำน้ำนี้ แต่เมืองจะอยู่แห่งใดถามยังไม่ได้ความ เพราะผู้ที่อยู่ในที่นี้เป็นคนมาจากที่อื่น ได้ความแต่ว่า ถ้าจะไปบางควานอำเภอเมืองพิจิตร คงจะถึงในเวลาพลบค่ำ ได้ทำคำสั่งเรื่องที่จะตรวจสอบแม่น้าเก่า ซึ่งเธอควรจะได้รับฉะบับหนึ่งต่างหาก

เวลาบ่ายได้ขึ้นบกหน้าที่ว่าการ น้ำลดลงไปมากจนเป็นแผ่นดิน ไปลงเรือพายหลังที่ว่าการ เพราะเป็นที่ลุ่มลึกมากตัดไปในทุ่งข้าวในเชิงเทินเมือง ในเมืองเป็นที่ดอน แต่มีสายน้ำหักแทงเข้าไปตามหนทางไหลเชี่ยวเป็นแก่ง เชิงเทินเมืองนี้ตั้งอยู่ที่หลังวัดโพธิ์ ยังมีดินอยู่สูงๆ มาก ไปออกตลอดทางวัดโพธิ์ ในถนนท้องตลาดน้ำท่วม เรือครุฑเดินได้ การขายของใช้ยกพื้นตั้งขึ้นอยู่บนพื้นเดิม แต่ที่ยกขึ้นไปไม่ได้ เช่นตู้กระจกสูง ๆ ปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำ ตั้งแต่ท่วมมาประมาณสัก ๑๕ วันแล้ว เขาว่าน้ำเหมือนกับศก ๑๑๒ เคยท่วมเท่านี้ ขากลับล่องลงมาทางข้างนอก ฝนตั้งแต่ไม่ตก ไม่สู้ร้อนและไม่มียุงอีกด้วย

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ