- คำนำ
- ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรเมืองไชยนาท
- เรื่อง ทรงมอบพระราชอำนาจในการรักษาพระนคร แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ประกาศเรื่อง พระเจดีย์ที่ถ้ำปทุน
- ประกาศ เรื่องพระพุทธรูปที่ถ้ำประทุน
- ประกาศ เรื่องพระสถูปเจดีย์ศิลาที่ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ณ ถ้ำประทุน
- ประกาศเรื่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำวิมานจักรี
- ประกาศ เขตวิสุงคามสีมาวัดกุฏกษัตริยาราม
- สำเนาประกาศเลื่อนหลักเขตวัด และพระราชทานที่อุปจารวัด
- ประกาศเขตวิสุงคามสีมาวัดตรีทศเทพ
- เรื่องเปลี่ยนชื่อวัดตะเคียนเป็นวัดมหาพฤฒาราม
- พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชื่อรัตนาภรณ์ แก่กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ
- อธิฐานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
- พระราชหัตถเลขา เรื่องครัวลาว
- เรื่อง สมีบุญ สมีมี และอ้ายเซ่ง
- เรื่อง ตั้งหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ณ เมืองร่างกุ้ง
- เรื่อง ตั้งพระพิเทศพานิช (ตันกิมจิ๋ง) เป็นพระยาอัศฎงคตทิศรักษา
- เรื่อง ตั้งนายมหมัดแฉรีศเป็นขุนทวีปวิวิธการ
- เรื่อง ตั้งมิสเตอวิลเลียม ทอมาส เลวิศเป็น หลวงทวีปสยามกิจ
เรื่อง สมีบุญ สมีมี และอ้ายเซ่ง
มีพระบรมราชโองการให้กราบเรียนเสนอหารือต่อ ฯ พณ ฯ สมุหพระกระลาโหม เงียบฤๅเบาๆ ว่า อธิการบุญวัดบางปทุน ๑ อ้ายหมอสัง[๑] ๑ คนสองคนนี้ แต่ก่อนเมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ก็เลี้ยงชีวิตร์หาลาภแลความสรรเสริญด้วยทำน้ำมนตร์แลเป็นหมอดู ยอเจ้ายอนายยุขุนแหย่นางให้เชื่อให้ถือไปต่างๆ กิริยาของคนสองคนนี้ตามได้ฟังเล่าฦๅต่างๆ บ้าง ได้เห็นประจักษแก่ตา ได้ยินแก่โสตบ้าง ทั้งเกิดความตามที่ได้จับกุมแลตระลาการชำระได้ความว่า กิริยาแลพยากรณของคนสองคนนี้ก็ปรากฎว่า จะเป็นการสาศนาสามัญ คือเปนทางเป็นเหตุจะหลีกทุกข์ ให้ได้ศุขในปรโลกก็ดี ฤๅจะเป็นกำนนต์แลยารักษาโรคไภยกันไข้กันเจ็บ แต่โดยสามัญดังวิชาแพทยหมอ แลน้ำมนตร์หอพระปริตเท่านั้นก็หาไม่ การหมอดูการทายเล่าก็จะเป็นแต่ทายเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย แลให้ฤกษยามตามตำราดังวิชาโหรสามัญก็หาไม่ กิริยาแลพยากรณของคนสองคนนี้ มักกระทบไปข้างการแผ่นดิน เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินไปว่า เอาการแผ่นดินไปปรารภทำต่างๆ ทายต่างๆ จนต้องปกปิด ต้องซ่อนต้องเร้นต้องกระซิบต้องกระซาบกัน ต้องปกต้องปิดดังได้ทราบมาแล้วแต่หลัง จนคนสองคนนี้ในปากในใจ เจ้าใหญ่นายน้อยขุนเล็กนางโต เหนว่าเป็นผู้วิเสศ คนสองคนนี้ก่อเหตุให้คนบางพวกต้องโทษทัณฑ์ต้องหม่นต้องหมองกับพระเจ้าแผ่นดิน เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินไปว่าเป็นการแสลง เมื่อเป็นดังนี้ ครั้นจะเฆี่ยนจะจำจะฆ่าจะตี ก็เห็นว่าเป็นอันเฆี่ยนบ้าฆ่าบอ จำเอาไปไม่สมควรเปนกิริยาแลบังคับบันชาของผู้ใหญ่ ครั้นจะปล่อยไว้ในกรุงเทพฯ นี้ ให้เหนว่าให้คนทั้งปวงถือสาศนาตามใจตัว ก็เห็นว่าสาศนาแลลัทธิของคนสองคน ซึ่งคนทั้งปวงจะไปคบหาส้องเสพนั้น มักเกี่ยวข้องกับพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ยุเจ้ายอนายให้กำเริบเสิบสัน ยั่วขุนแหย่นางให้หมองหมางจากราชการ ฤๅทยานไปต่างๆ ดังเป็นมาแล้ว ก็จะเปนที่ให้พระเจ้าแผ่นดินหม่นหมองข้างโน้นข้างนี้ จึ่งได้ปฤกษาด้วยเหตุนั้นพร้อมกัน ให้เนรเทศคนสองคนนี้ไปกับสมีมี พระโยคาภิรัตเถร ให้ไปอยู่เมืองสงขลา ซึ่งเป็นชาติภูมเดิมของอ้ายเซ่ง แลเปนบ้านห่างเมืองไกลเจ้านายขุนนางข้างน่าข้างใน บางพวกที่รักใคร่แลนับถือ จะใช้ผู้คนไปมาหาสู่ยาก การซึ่งเปนหนามเปนขวาก เปนที่หม่นหมองแก่พระเจ้าแผ่นดินก็จะค่อยสงบไป ครั้นเมื่อเดือนเก้าปีมแม เอกศก ก็เรือกลไฟกระบวนหลวงซึ่งลงไปประภาศฝั่งทเลตะวันตก กำหนดว่าจะไปถึงเมืองสงขลา ได้ทราบว่ากรมหมื่นอุดมรัตนราษี ไปคิดกับพนักงานในกรมพระกระลาโหม ให้มีท้องตราออกไปขับไล่สมีมี พระโยคาภิรัตเถร สมีบุญ อธิการวัดบางประทุน และอ้ายเซ่งให้ไปเสียจากเมืองสงขลา ไปคุมไว้ ณ เมืองพัทลุง ด้วยระแวงว่าเจ้านายแลข้าราชการข้างในบางพวกในกระบวนที่นับถือสมีบุญแลอ้ายเซ่งอยู่แต่ก่อน จะลอบไปสู่มาหาขอน้ำมนตร์ถามวิชาให้ทักให้ทายอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าความทราบมาก็จะเปนที่หม่นหมองขัดเคืองต่อไป แลการที่ได้บังคับไปให้พระยาสงขลา กรมการ กับสมีมี สมีบุญแลอ้ายเซ่งไปเสียให้ห่างจากทางกระบวนหลวงถ้าได้ทำจริง การนี้ก็เป็นสวามีจีกรรม ความชอบที่ยิ่งอยู่ แต่บังคับนั้นถ้าได้มีท้องตราออกไป ถ้าคนในเมืองสงขลาก็คงสำคัญว่า การนั้นในหลวงสั่ง
บัดนี้ ได้ฟังท่านแดงภรรยาพระยาพัทลุงเล่าว่า สมีมี สมีบุญกลับลงมาอยู่ที่เมืองสงขลา เมื่อกระบวนกลับมาแล้ว ถ้าเปนดังนั้นจริง ปีนี้ก็จะมีเรือกระบวนประภาศลงไปถึงเมืองสงขลา เมืองพัทลุงอิก
ก็ถ้าเจ้าใหญ่นายน้อย ขุนเล็กนางโตผู้ใดๆ ในกระบวนเสด็จนั้นที่นับถือสมีมี สมีบุญ แลอ้ายเซ่งคนใดคนหนึ่งอยู่ จะไปสู่มาหา ก็เห็นจะออกหน้าออกตา จะไม่ซ่อนไม่เร้น ด้วยไม่เปนกระบวนการเสด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นที่วิไสยปรารภปรารมของถ่อหมอทายเหล่านั้น ฤๅคนสามคนนั้นเมื่อทราบว่าใครที่วิสาสคุ้นเคยออกไป ก็จะดีใจ ตรงเข้ามาหา ออกต้อนรับดู แลจะได้ลาภผลต่างๆ ตามคนที่อยู่ห่างได้พบกัน
ถ้าการเป็นดั่งนั้น ไม่เหมือนกันกับครั้งหลังแล้ว ก็จะเปนอันเห็นว่า กระบวนที่ไปครั้งนี้ลบคมเจ้าแผ่นดินใหญ่ ที่เนรเทศขับไล่คนเหล่านั้นออกไปก็ดี แลที่ให้มีท้องตราบังคับให้ขับไล่ให้ห่างเสียได้ ในปีหลังนั้นก็ดี คนลงโทษ คนลงโทษความผิดของคนสามคนนั้น ก็จะเป็นโทษเบาฯ
(คัดจากสมุดไทย เรื่องจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๑๘ ข้อ ๕)