- คำนำ
- ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรเมืองไชยนาท
- เรื่อง ทรงมอบพระราชอำนาจในการรักษาพระนคร แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ประกาศเรื่อง พระเจดีย์ที่ถ้ำปทุน
- ประกาศ เรื่องพระพุทธรูปที่ถ้ำประทุน
- ประกาศ เรื่องพระสถูปเจดีย์ศิลาที่ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ณ ถ้ำประทุน
- ประกาศเรื่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำวิมานจักรี
- ประกาศ เขตวิสุงคามสีมาวัดกุฏกษัตริยาราม
- สำเนาประกาศเลื่อนหลักเขตวัด และพระราชทานที่อุปจารวัด
- ประกาศเขตวิสุงคามสีมาวัดตรีทศเทพ
- เรื่องเปลี่ยนชื่อวัดตะเคียนเป็นวัดมหาพฤฒาราม
- พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชื่อรัตนาภรณ์ แก่กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ
- อธิฐานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
- พระราชหัตถเลขา เรื่องครัวลาว
- เรื่อง สมีบุญ สมีมี และอ้ายเซ่ง
- เรื่อง ตั้งหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ณ เมืองร่างกุ้ง
- เรื่อง ตั้งพระพิเทศพานิช (ตันกิมจิ๋ง) เป็นพระยาอัศฎงคตทิศรักษา
- เรื่อง ตั้งนายมหมัดแฉรีศเป็นขุนทวีปวิวิธการ
- เรื่อง ตั้งมิสเตอวิลเลียม ทอมาส เลวิศเป็น หลวงทวีปสยามกิจ
เรื่อง ตั้งหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ณ เมืองร่างกุ้ง
บัดนี้ เราพระเจ้ากรุงสยาม ตั้งความเชื่อความไว้ใจในมิศเตอะฝอวล์นั้นแล้ว ขอประกาศมาให้ท่านทั้งปวงรู้ ด้วยคำประกาศอันนี้ซึ่งได้ประทับราชลัญจกรตามตำแหน่ง แลราชลัญจกรพิเศษเฉพาะสำหรับเราพระเจ้ากรุงสยามเป็นสำคัญ ขอตั้งมิศเตอะฝอวล์ให้เป็นกงสุลฝ่ายสยาม มีถานันดรนามตามธรรมเนียมสยามใช้ภาษาสังสกฤฏว่า หลวงสยามานุเคราะห์ แปลว่าผู้เป็นใหญ่เป็นผู้อนุเคราะห์แก่ชาวสยาม เราพระเจ้ากรุงสยามให้อำนาจอันเต็มแก่มิศเตอะฝอวล์ เมื่อจะรับราชการในตำแหน่งกงสุลฝ่ายสยามตามกฎหมายอินเตอรนาแชนนาลลอแลกฎหมายสำหรับเมืองร่างกุ้งนั้น คือว่ากงสุลเมืองอื่นๆ อยู่ที่เมืองร่างกุ้งนั้น ประพฤติให้เป็นคุณแก่แลมีอำนาจในดินขึ้นแก่อาณาจักรนั้นๆ ฉันใด ให้มิศเตอะฝอวล์อยู่รักษาผลประโยชน์ ประพฤติให้เป็นคุณแก่แลมีอำนาจในคนผู้ขึ้นในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม บันดาที่สัญจรไปในเมืองร่างกุ้งฉันนั้น แลจงช่วยอนุเคราะห์รักษาชาวสยามซึ่งออกไปทั้งปวงนั้น ให้ได้คงอยู่ในผลแห่งความชอบของผู้นั้นทุกคนๆ
เมื่อชนชาวสยามไปมีถ้อยความวิวาทกันเองมิใช่พวกอื่น ให้มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามมีอำนาจมาห้ามปรามแลจับกุมผู้ก่อวิวาท แลไล่เลียงไต่ถามพิพากษาแล้ว ตัดสินโดยยุติธรรมเถิด ถ้าผู้ผิดควรจะทำโทษก็จงทำโทษตามโทษานุโทษ ฤๅจองจำกักขังไว้ให้เข็ดหลาบ ถ้าผิดเป็นความใหญ่ถึงฆ่าฟันกันตาย ให้จำส่งเข้ามาในกรุงเทพมหานคร บอกมาให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ จะได้ทำโทษตามกฎหมายที่เป็นความฉกรรจ์ ถ้าไปวิวาทกันกับคนขึ้นในอำนาจอื่นให้มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม ไปแจ้งความแก่แลหาฤๅกับผู้ครองเมืองบริติศพม่า เมื่อกฎหมายอย่างธรรมเนียมในเมืองนั้น จะยอมให้กงสุลเมืองอื่นประพฤติอย่างไร ก็จงประพฤติอย่างนั้นเถิด จะรักษาไมตรีกับผู้ครองเมืองฝ่ายอังกฤษแลกงสุลเมืองอื่น ซึ่งเป็นเมืองไมตรีกับสยาม ให้เรียบร้อยราบคาบทุกประการ ถ้าผู้ใดมีความทุกข์ประการใด มาขอร้องให้ช่วย ก็จงไล่เลียงให้ได้ความจริงแล้ว แลช่วยโดยสมควรแก่ความจริงนั้น ให้เต็มตามกำลังเทอญ
สิ่งใดๆ มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามยังมีความสงไสยไม่เข้าใจถนัดในอย่างธรรมเนียมสยาม ก็ให้มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม มีหนังสือโต้ตอบไปมากับเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดี ผู้ว่าการต่างประเทศฝ่ายสยามจงเนืองๆ ในเวลาแลช่องโอกาศอันควรสั่งสนทนาหาฤๅให้เข้าใจในขนบราชการที่จะต้องตามประสงค์ เมื่อเจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งไปประการใด ถ้าเห็นชอบด้วยราชการก็จงทำตามทุกประการ ถ้ายังมีความสงไสยไม่เข้าใจชัด ฤๅเห็นว่าเป็นอันข้องขัดแก่กฎหมายแลอย่างธรรมเนียมในเมืองนั้น ก็ให้มีหนังสือชี้แจงมาให้ถ้วนถี่ แลไต่ถามหาฤๅเอาความให้ละเอียดเข้าใจได้แล้วจึ่งทำตามคำสั่ง แลให้มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม คอยฟังถ้อยคำผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ณ เมืองบริติศพม่าจะว่ากล่าวด้วยเหตุผลประการใดเกี่ยวข้องมาในแผ่นดินสยาม ฤๅได้ฟังข่าวใดๆ แต่เมืองพม่าของเจ้าอังวะเป็นการประหลาดมาก ฤๅว่าเกี่ยวข้องอันใดมาด้วยพระราชอาณาจักรฝ่ายสยามก็ดี ก็ให้มีหนังสือแจ้งความมาถึงเจ้าพระยาพระคลังให้ทราบ ถ้าเหตุควรจะต้องฟังคำตอบก็ให้คอยฟังคำตอบ ถ้ามีคำตอบไปได้ความประการใดแล้ว ถ้าเห็นว่าควรจะต้องไปแจ้งความแก่ผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ณ เมืองบริติศพม่า จงนำไปแจ้งเถิด ฤๅการใดๆ ในแผ่นดินสยาม มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามเข้าใจเป็นแน่ เพราะได้รู้แต่เจ้าพระยาพระคลังแต่เดิมแล้ว จะโต้ตอบแก่ผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ณ เมืองบริติศพม่า ทันคำถามหารือทีเดียวก็ได้ แต่ถ้าผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ณ เมืองบริติศพม่า จะว่ากล่าวให้ยินยอมตามข้อความใดๆ แทนผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยาม ต้องมีใบบอกมาหาฤๅเจ้าพระยาพระคลังก่อน ต่อได้บังคับโดยเฉภาะไปแต่เจ้าพระยาพระคลัง จึ่งยอมเป็นอันขาดได้
อนึ่ง การใดๆ ที่กงสุลเมืองอื่นๆ บันดาตั้งอยู่ในเมืองนั้นทั้งปวงจะมาว่ากล่าว โดยเป็นการเกี่ยวข้องกับด้วยแผ่นดินสยาม มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามได้ทราบความแล้ว จงบอกมาให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ ฤๅจะควรตอบประการใด ถ้าเข้าใจการถนัดแล้ว จงตอบไปเถิด
อำนาจกงสุลฝ่ายสยาม ซึ่งเราพระเจ้ากรุงสยามให้แก่มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ครั้งนี้ จงมีตั้งแต่เวลาเมื่อสำคัญนี้ถึงมือแล้ว แลผู้ครองฝ่ายอังกฤษยอมเห็นด้วยแล้วนั้นไปตลอดเวลาความชอบใจของเราพระเจ้ากรุงสยามปัจจุบันนี้ ฤๅผู้จะสืบพระราชวงษานุวงษแลสืบราชอิศริยยศต่อไปในภายน่า แลตลอดเวลาอายุฤๅความชอบของมิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์นั้นเอง เมื่อใดมีสำคัญอื่นแสดงความชอบใจอย่างอื่นแห่งเราพระเจ้ากรุงสยามบัดนี้ก็ดี แห่งผู้สืบพระราชวงษานุวงษ์ แลสืบราชอิศริยยศในภายน่าก็ดี มีพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินสยามประทับไป สำแดงให้เห็นให้ได้ยินจนเชื่อได้ ฤๅเมื่อใดพ้นเวลาอายุของมิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามนั้น ฤๅเมื่อใดมิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม ไม่ภอใจจะรับราชการกงสุลฝ่ายสยามสืบไป ลาออกเสียจากที่ เมื่อนั้นอำนาจที่ยอมมาในสำคัญฉบับนี้ชื่อว่าระงับไป เมื่อมิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามนั้น ตั้งอยู่ในอำนาจนี้ เมื่อจะไม่อยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ฤๅป่วยไข้ ไม่อุส่าห์ประการใด มอบหมายให้ผู้อื่นรับธุระทำแทนไป ผู้นั้นก็ให้มีอำนาจเป็นดังกงสุล ทำแทนไปได้กว่าจะมีสำคัญฉบับอื่น ซึ่งเราพระเจ้ากรุงสยาม ฤๅผู้สืบพระราชวงษานุวงษ์แลสืบราชอิศริยยศต่อไปภายน่า จะให้ไปตั้งผู้นั้นฤๅผู้อื่นเป็นที่กงสุลต่อไป อำนาจกงสุลจึ่งจะตกอยู่แก่ผู้มีชื่อในสำคัญฉบับอื่นนั้นเมื่อนั้น
ที่เมืองร่างกุ้ง บัดนี้มีราชการฝ่ายสยามน้อย ไม่มาก ก็ถ้ามีเหตุที่จะต้องเขียนหนังสือโต้ตอบไปมาเนืองๆ มาก เมื่อมิสเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยามชอบใจจะให้มีเสมียนผู้เขียนหนังสือฤๅอย่างไร ก็ให้มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม มีหนังสือมาหาฤๅเรียบเรียงกับเจ้าพระยาพระคลัง ผู้ว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม เทอญ
ขอให้สิ่งซึ่งเป็นประธานแก่สกลโลก จงอนุเคราะห์รักษา มิศเตอะฝอวล์ หลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลฝ่ายสยาม ให้มีความศุขสวัสดิ์ทุกประการ เทอญ
ประกาศนี้ ส่งมาแต่ท้องพระโรงหลวงอนันตสมาคม ของเราพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบางกอก ณ วันศุกร เป็นดิถีที่ ๘ ในข้างขึ้นของจันทรมาศ ชื่อมาคสิร เป็นเดือนที่ต้นรดูหนาวในปีกุญเบ็ญจศก ศักราชโหรสยาม ๑๒๒๕ ตรงกันกับกำหนดกาลฝ่ายสุริยคติ เป็นวันที่ ๑๘ ของเดือนเดเซมเบอร์ในปีมีคฤสตศักราช ๑๘๖๓ เป็นปีที่ ๑๓ ฤๅเป็นวันที่ ๔๖๐๑ ในรัชกาลประจุบันของเราพระเจ้ากรุงสยามนี้ ฯ
(คัดมาจากสมุดไทย เรื่องจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๒๑ ข้อ ๑)