อธิฐานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

๓๓ สิทธิการิย ถ้าจะทำการอธิฐานเศกน้ำพระพิพัฒสัตยา ให้บัณฑิตยาจาริยผู้เป็นสัปรุษ เรียนรู้พระคำภีร์ที่มีในพระพุทธสาศนาภาสามาคธิกาเข้าใจ จนอ่านบาฬีก็รู้เนื้อความได้ อาจตั้งใจไปตามความในพระคาถา ที่จะใช้อ่านสวดเศกอธิฐาน เปนการมงคลภาวนาในพิธีนั้น เรียนตำรานี้ เล่าคาถาเป็นบาฬีให้คล่อง ศึกษาเนื้อความให้เข้าใจและหัดตั้งสติทำพิธีให้ได้โดยเรียบร้อย จึ่งจะควรเป็นผู้นำ ก็อันน้ำมนต์ชื่อน้ำพระพิพัฒสัตยานี้แปลว่าน้ำสำหรับความสัตย เพื่อเจริญพร อธิบายว่า ถ้าใครปฏิญญาความสัตยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ตั้งอยู่ในความสัตยนั้นแล้ว ก็จะให้เจริญชนมายุ พรรณ ศุข พละ ปฏิภาณศุภสารศิริสมบัติ สวัสดิมงคลศุภผลทุกประการ ก็ถ้าไม่ตั้งในความสัตยผลพิบัติซึ่งเป็นอันขัดแก่ผลของความสัตย์ที่ว่านั้น ก็จะพึงมีด้วยผลแห่งบาป คือความเท็จ ไม่ได้ตั้งอยู่ในสัตยนั้น ก็อันน้ำพระพิพัฒสัตยานี้ ซึ่งใช้อยู่โดยปรกติ เป็นของสำหรับพระราชวงษานุวงษและข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทั้งหลายซึ่งตั้งอยู่ในกรุงแลหัวเมือง ที่เป็นเขตรแขวงน้ำพระพิพัฒสัตยาแผ่นดินหลวงแท้ มิใช่เมืองประเทศราชมาพึ่งพิงอิงอาไศรย อ่อนน้อมภอไม่ให้เบียดเบียน แลมิใช่แผ่นดินของเจ้าอื่นนายอื่นทั้งปวง จะได้รับพระราชทาน เมื่อเวลาถวายสัจปฏิญญาทานบน จะยินดียอมอยู่ในอำนาจ พึ่งอยู่ในใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ไม่เป็นขบถประทุฐโทษเป็นการโหดร้าย แลไม่คิดยักย้ายไปเข้าด้วย แลนับถือเจ้าอื่นนายใด ซึ่งเป็นไทยต่างด้าวท้าวต่างแดน แลเป็นสัตรูต่อสู้พระเดชพระคุณเลยนั้น เมื่อเวลาแรกเสร็จการพระราชพิธีพระบรมราชาพิเศก ครั้งหนึ่งเป็นเดิมแล้ว ก็รับพระราชทานเมื่อถวายปฏิญญาเมื่อเวลาเสร็จการพระราชพิธีสาตร แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทุกปีไปอย่างธรรมเนียมเดิมพระราชพิธีสาตรตั้งแต่วันกาฬปักษ เตรสีภัทรบทมาศคือแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ไปสามเวลาราตรี เสร็จลงในเวลาเช้า ล่วงวันอามาวสีคือวันดับ เป็นวันปาฏิบทอัสยุชมาศ ก็วันที่สามของพระราชพิธีสาตรฤๅวันสุกปักษปาฏิบทนั้น เป็นวันที่ประชุมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาครั้งหนึ่ง พระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน เริ่มแต่วันกาฬปักษเอาการสี่ดิถีของเดือนผคุณมาศ คือวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ไปเสร็จลงในวันกาฬปักษบัณระศรี แรม ๑๕ ค่ำของเดือนนั้น ซึ่งเป็นวันสมโพชน์เครื่องที่ตั้งในมณฑลพระราชพิธีทั้งปวง ก็วันแรม ๑๕ ค่ำนั้น ฤๅวันปาฏิบทอันเป็นลำดับ เป็นวันที่ประชุมรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัตยาอีกครั้งหนึ่ง น้ำที่ทำน้ำพระพิพัฒสัตยานั้น ย่อมเอาน้ำที่ได้ตั้งในพระราชพิธีสาตร แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินนั้น มาทำอธิฐานเป็นน้ำพระพิพัฒสัตยา แต่ครั้นภายหลังมา ผู้ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาไม่ภอใจจะมาประชุมกัน ในวันซึ่งเป็นกำหนดในนักษัตรฤกษตรุศสาตร เพราะมีความประสงค์จะอยู่ทำบุญให้ถาน เล่นการนักษัตรฤกษ แยกย้ายกันในรั้ววังถิ่นถานบ้านเรือนของตัวๆ พร้อมใจกัน จะใคร่ชุมนุมรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัตยาในวันก่อนฤๅวันภายหลังไป แต่วันนักษัตรฤกษ ว่าที่แท้นักษัตรฤกษตรุศนั้น เป็นที่ตื่นในการเล่นของคนที่เป็นนักเลง เล่นเบี้ยเล่นการพนัน แลเสพยสุรายาเมา เที่ยวเร่ไปชุกชุม ตั้งแต่วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เรียกว่าวันจ่ายตรุศ ไปจนวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ เรียกว่าวันส่งตรุศ จะนัดประชุมให้พร้อมเพรียงกันยาก บ้านเมืองต้องตั้งกองลาดตระเวนรักษารวังโจรผู้ร้าย แลคนเมามายมักจะทำเหลือเกินต่างๆ จึ่งเลื่อนวันประชุมรับถือน้ำพระพิพัฒสัตยาออกไปต่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันต่อวันส่งตรุศมา เมื่อเปนดังนี้ วันนั้นก็ชื่อว่าล่วงเข้าไปในปีใหม่เพราะเป็นเดือน ๕ ถึงกระนั้นเพราะยังไม่เถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ ยังชื่อว่าเป็นปีก่อนอยู่ ครั้นเมื่อถือน้ำพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน เลื่อนออกมาเป็นในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ดังนี้แล้ว จึ่งมีผู้ตั้งตำราว่า วันประชุมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในพระราชพิธีสาตร ให้ทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันจะเริ่มพระราชพิธีสาตรนั้นเถิด สับดาหารวันทั้ง ๗ วันได้วันหนึ่ง ของวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในสาตรแลตรุศสำหรับกลางปีแลปลายปีจะได้ต้องกันทุกปีไป เป็นที่ให้รู้แลเข้าใจว่าถือในพระราชพิธีสาตรเป็นกลางปี ถือน้ำในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินเป็นปลายปี เพราะกำหนดนี้เป็นแน่ เมื่อใดวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นอาทิตย์ฤๅวันจันทร์แลอื่นๆ จนวันเสาร์วันใดวันหนึ่งแล้ว วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ต่อไป ก็เป็นวันนั้นไม่คลาดเลย เพราะวันทั้งหลายเป็นรวางวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทั้งสองนั้น ๑๘๑ วัน เมื่อเอา ๑ คือวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยาปลายปีเข้า แลเอา ๗ หาร เสศก็เป็นสูญให้รู้ว่าวันนั้นเป็นวารเดียวกับวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในพระราชพิธีสาตรก่อนนั้น ธรรมเนียมนี้เป็นธรรมเนียมประจุบัน เปนไปในบัดนี้ แต่หัวเมืองปากใต้ลางเมืองยังถือธรรมเนียมเก่าอยู่ก็ดี ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในวันแรม ๑๕ ค่ำ เป็นวันดับ เดือน ๑๐ แลเดือน ๔ อยู่เสมอทุกคราวน้ำพระพิพัฒสัตยา เหมือนอย่างเมืองนครศรีธรรมราชก็มีอยู่บ้าง แต่พระตำรานี้เป็นตำราวิเศศ สำหรับบัณฑิตยาจาริยผู้มีสีลาจารวัตร จะได้ทำสัตยาธิฐาน ด้วยคุณพระรัตนไตรยแลความสัตยวิเสศ ซึ่งมีในเนื้อความพระพุทธสาศนา จะทำต่างหากจากพระราชพิธีก็ได้ จะพร้อมกับพระราชพิธีก็ได้ เมื่อทำอธิฐานน้ำพระพิพัฒสัตยามหามงคลมนตรนี้ไว้แล้ว จะไปเจือจานเพิ่มเติมในน้ำพระพิพัฒสัตยา ซึ่งชีพ่อพราหมณ์อ่านอิศรเวทวิศนุมนตร์ แลทำโดยการแทงด้วยพระแสงสำหรับแผ่นดินนั้นก็ได้ จะให้รับพระราชทานต่างหากก็ได้ เป็นมหามงคลแก่ผู้รับพระราชทาน ซึ่งตั้งอยู่ในความซื่อสัตยทั้งปวง แลเมื่อจะทำนั้นให้เชิญพระไชยวัฒนปฏิมากร แลพระห้ามสรรพุทธ แลพระคำภีร์พระพุทธวจนะมาตั้งเป็นประธานในมณฑล แล้วตั้งน้ำซึ่งตักมาแต่สระอันเป็นมงคลตามประสงค์มากน้อยเท่าใด ในสฐานที่ควรแล้ว ให้บัณฑิตยาจาริยผู้จะทำ ชำระตนให้บริสุทธให้ปราศจากมลทินสมมมต่างๆ แล้วนุ่งผ้าขาว ห่มผ้าขาวใหม่บริสุทธ แล้วชำระตนด้วยตั้งจิตรอธิฐานพระไตรสรณาคมให้มั่นในสันดาน แลสมาทานศีล ๕ ฤๅอุโบสถศีลให้บริบูรณ ถ้าเปนพระสงฆแลสามเณร ก็ให้ชำระบรรพชิตศีลให้บริสุทธ อย่าให้มีอาบัติวัตรเภทน้อยใหญ่ ทำจิตรใจให้ผ่องแผ้วได้แล้ว จึ่งเข้ามาในมงคลพิธีการ แล้วให้ลาดผ้าขาวลงตรงพระภักตร์พระพุทธปฏิมากร ชักชายยาวออกมาข้างทิศกาลกรรณี แล้วจึ่งให้น้ำสระที่เป็นมงคลมาเต็มในภาชนะอันสอาด แล้วตั้งภาชนะนั้นในชายผ้าข้างทิศศรี ผู้จะเศกขึ้นนั่งบนผ้าข้างทิศกาลกรรณี หันหน้าต่อภาชนะนั้นอยู่ข้างทิศศรี แล้วจึ่งเศกตามตำราเถิด ก่อนแต่จะขึ้นบนผ้าเพื่อจะเศกน้ำนั้น ให้จัดเครื่องสักการะบูชาเทียนธูปข้าวตอกดอกไม้ จุณจันทน์เครื่องหอมไว้ในภาน ฤๅภาชนะเป็นเครื่องบูชาสามสำรับ แลจับสายสิญจน์ด้วยพรหมจารีกลุ่มหนึ่ง วงให้รอบมณฑลที่ตั้งพระพุทธปฏิมากรแลหม้อน้ำทั้งปวง แล้วชักโยงมาพันภาชนะน้ำที่จะเศกนั้นสามรอบ แล้วเอากลุ่มด้ายวางลงบนแผ่นศิลาวางเคียงภาชนะนั้นข้างทิศกาลกรรณีซึ่งตัวจะนั่งเศกนั้น แลให้มีดินสอที่ทำปั้นด้วยชาติหรคุณ แลหรดาลมโนศิลา วางไว้กับสายสิญจนสูตนั้น แลจึ่งผันหน้าต่อพระพุทธปฏิมา ทำอธิฐานสามประการ คือนมการาธิฐาน ๑ บูชาการาธิฐาน ๑ สัจกิริยาธิฐาน ๑ ชุบตนให้กล้าแล้วจึ่งขึ้นนั่งบนอาศนะ หันหลังให้ทิศกาลกรรณี ผันหน้าต่อทิศศรี ลงยันต์เศกน้ำทำพิธีดังจะสำแดงไปนี้เถิด ว่ามานี้เปนบุรพภาคปฏิบัติ เมื่อจะทำนมการาธิฐานให้นั่งคุกเข่า ผันหน้าต่อเตียงมณฑลที่ตั้งพระพุทธปฏิมากร แล้วประนมมือยกอัญชลีขึ้นถึงสุดหน้าผาก รฦกพระพุทธคุณแล้วสวดคาถานี้

(มีความเพียงเท่านี้)

(คัดจากสมุดไทย เรื่องจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๗ ข้อ ๑)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ