เรื่อง ทรงมอบพระราชอำนาจในการรักษาพระนคร แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ขอประกาศแก่คนทั้งปวงที่ควรจะได้ฟังคำประกาศนี้เป็นสำคัญ บัดนี้เราพระเจ้ากรุงสยามกับเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่หลายพระองค์ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทแลพระองค์อื่นๆ กับขุนนางผู้ใหญ่หลายนาย เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ สมุหพระกระลาโหมแลอื่นๆ มีประโยชน์จะใคร่ภากันไปเที่ยวเยี่ยมเยียนต่างๆ ในฝั่งทเลไทยข้างตะวันตก นานประมาณ ๒๗-๒๘ วัน ในเดือน ๙ ปีมะแม เอกศกนี้[๑] เราพระเจ้ากรุงสยามขอมอบอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนคร แลบังคับคดีของราษฎรแก่ราชการแผ่นดินตามเหตุต่างๆ ไว้แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฤกษากับพระเจ้าฯ เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร แลพระเจ้าฯ กรมพระพิทักเทเวศ กรมหลวงสรรพศิลปปรีชา กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ แลเจ้าพระยานิกรบดินทรมหินทรมหกัลยาณมิตร[๒] ที่สมุหนายก เจ้าพระยารวิวงษ มหาโกษาธิบดี ที่พระคลัง[๓] เจ้าพระยายมราชชาติเสนางศนฤบดินทร[๔] เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ[๕] เจ้าพระยามุขมนตรี[๖] พระยามหาอำมาตย[๗] พระยาสุรเสนา[๘] พระยาเสนาธิเบศร พระยาพิไชยบุรินทร พระยามณเฑียรบาล[๙] พระยาสิงหราชเดโชไชย พระยาเพชรพิไชย[๑๐] ขุนนางผู้ใหญ่ ๗ นาย เสนาบดีทั้ง ๖ ให้การตกลงในเวลาเดียวแล้ว ให้มีพระบวรราชโองการสั่งให้เป็นเสร็จไปทุกประการเถิด กว่าเราพระเจ้ากรุงสยามจะได้กลับถึงกรุงเทพฯ นี้ ในรหว่างนี้ (๑) ถือราชการใดๆ (๒) เหมือนกับราชการอื่นๆ ทุกตำแหน่งซึ่งเป็นการเล็กน้อย ถ้าจะกราบทูลฉลองในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ฤๅจะชุมนุมกันปฤกษาก่อน จะลำบากฤๅจะช้าเสียเวลาไป ก็ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร กรมพระพิทักเทเวศ เจ้าพระยานิกรณบดินทร เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดี ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้เข้ามาประจำซองอยู่ในพระบรมมหาราชวัง คาดการฤๅปฤกษากันแต่สองสามแล้วสั่งไปก่อนให้สำเร็จ แล้วจึงกราบทูลฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวฤๅเสนอเสนาบดีทั้งปวงต่อภายหลังก็ได้ สุดแต่ให้การที่ควรจะให้สำเร็จทุกอย่างสำเร็จทั่วไปให้ทันการทันเวลาที่ควร อย่าให้คั่งค้างขวางขัดอยู่ได้โดยใช่เหตุ เมื่อท่านที่ออกนามมานั้นบังคับบัญชาประการใด ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งฟังความให้เข้าใจแน่นอน แล้วจะได้ทำตามทุกสิ่งทุกประการ อย่าว่าตามตำแหน่งผิดตำแหน่งเลย ในบังคับบัญชาท่านที่ออกนามมาแล้วนั้น การในหัวเมืองขึ้นกระลาโหมชั้นใน คือเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี แลเมืองขึ้นต่างๆ แลเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองประทุมธานี ถ้ามีเหตุควรบังคับบัญชาด้วยราชการฤๅถ้อยความประการใด ก็ให้พระยาสุรเสนาปฤกษากับพระยาศรีสรราช[๑๑] พระยาเสนาธิเบศ แล้วมีตราพระคชสีหน้อยบังคับไปเถิด โดยการคล้ายกับที่ว่าไว้ในมหาดไทยนั้น ตัวพระยาสุรเสนาจงไปรักษาเมืองนครเขื่อนขันธ์อยู่ กว่ากระบวนที่ไปจะกลับมาฯ

ฝ่ายการข้างกรมท่านั้น ถ้อยความโรงศาล (๓) ฉลองเลย ถ้ามีข่าวมาแต่นอกประเทศประการใด ว่าด้วยญวนรบกับฝรั่งเสศ ฤๅต่อแขกเมืองจะมาแลอื่นๆ ถ้ามีเรือกลไฟกลับมาแต่ทางที่เราพระ ฯลฯ สยาม[๑๒] ไปนั้น แลจะกลับไปตาม ก็จงบอกความออกไปให้ทราบ ทั้งข่าวคราวราชการในพระนครแลในพระราชวัง แลหัวเมืองทั้งปวงนั้นเถิด ถ้ามีเรือรบทูตเมืองเดนมาร์กฤๅเมืองหันเสียติกในเยรมานีมาเปลี่ยนสัญญา ก็จงให้เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีว่าหาฤๅกับทูตที่เข้ามานั้นดู ถ้าทูตจะสมัคอยู่คอยเราสยามกว่าจะกลับมาได้ตามกำหนด ๒๗-๒๘ วัน ในเดือน ๙ ต่อเดือนนี้ การก็เป็นดีที่สุด ถ้าทูตไม่ยอมจะรีบกลับไปเร็ว เราสยามก็ได้เขียนราชหัถเลขาสัญญาลงในแผ่นกระดาษน้อย ตามอย่างที่เคยมอบให้เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีไว้แล้ว จงเทียบคำนำเรื่องแลคำตระหน่ำท้ายหนังสือสัญญาทั้งไทยทั้งอังกฤษ คล้ายกับอย่างในท้ายหนังสือสัญญาฝรั่งเสศนั้น แล้วให้อาลักษณแลเสมียนเขียนให้ถูกต้อง แล้วจงเอากระดาษพระราชหัตถเลขาของเราสยามทราบลงที่ต้นแลปลายตามที่อย่างเคยแต่ก่อน แลจงเรียกเอาพระราชลัญจกร พระไอยราพต พระครุธพาห แลพระบรมราชโองการแลตราสำหรับแผ่นดินประจุบันนี้ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงประทับลงตรงลายหัถเลขาของเราสยามตามอย่างแต่ก่อน แลประทับตราประจำครั่งพระครุธพาห แลตราประจำแผ่นดินประจุบันนี้ทั้งสองน่าครั่งเสร็จแล้ว ถ้าทูตที่มานั้นยอมเปลี่ยนก็จงเปลี่ยนไปเถิด ของเครื่องราชบรรณาการฤๅพระราชสาสนทูตมอบไว้ ก็ให้เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดีรับไว้คอยเราสยามเทอญฯ

การที่จะรับรองประการใดๆ ก็จงปฤกษากับเสนาบดี แล้วรับโดยสมควรตามเหนพร้อมกันนั้นเทอญฯ

การใดๆ ในหัวเมืองขึ้นกรมท่า ก็ให้เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดี ปฤกษากับพระยาพิพัทโกษา[๑๓] พระยาราชานุประพัน[๑๔] แลพระยาราชานุประดิฐ[๑๕] แล้วควรจะมีกล่าวบังคับออกไปประการใดไปเถิดฯ

การใดๆ (๔) ไม่เอาธุระดังนี้เป็นอันขาด การในกรมพระนครบาลนั้น ให้เจ้าพระยายมราช พระยาพิไชยบุรินทรา แลพระเพชรปาณี[๑๖] พระยาเพชรชฎา[๑๗] ช่วยกันชำระผู้ร้ายรายเมืองสระบุรี ให้ได้ตัวสำคัญเสียให้ได้ แล้วกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แลกราบทูลเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ แลปฤกษาท่านเสนาบดีให้เหนพร้อมกันควรจะทำโทษอย่างไร ทำที่ไหน จะควร จะไม่เป็นเยี่ยงเป็นอย่างต่อไป ก็จงทำโทษเถิด อย่าเกบไว้คอยเลย ผู้ร้ายรายอื่นมันจะกำเริบขึ้น การรักษาระวังพระนคร ก็จงจัดแจงให้กวดขันตามเคยอย่างเมื่อเราพระเจ้ากรุงสยามแต่ก่อนๆ นั้น ถ้าการผู้ร้ายลักฉกฤๅตีรันฟันแทงคนนอกประเทศที่มา

การในกรมนานั้น ปีนี้ฝนแล้งจะตั้งแต่งเสนาข้าหลวงไป จงกำชับอย่าให้ฉ้อฉลกุมเหงมีวิวาทกับราษฎรด้วยนาน้ำฝนฟางลอยที่ว่าได้ทำแลไม่ได้ทำ ได้ทำเสียอะไรอะไรเลย จงเลือกคนดีๆ ไม่ใช่เจ้าถ้อยหมอความคดๆ โกงๆ ตั้งไปจงคิดอ่านเสียก่อนแต่เดิมทีๆ การในกรมวังนั้น

การระวัง (๕) ประการบุตรเด็กๆ เราพระเจ้ากรุงสยาม หลายคนตกอยู่ในพระราชวังนี้ มารดาหาได้อยู่ด้วยไม่ ถ้าป่วยไข้ก็ให้กรมหลวงสรรพศิลปปรีชา กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศคิดอ่านกัน ให้แพทยพระยาบาลรักษาให้ดีเถิด ถึงจะให้หมอนอนที่ป่วยไข้ก็ได้ดอก อนึ่ง ถึงพระสงฆบิณบาตรเวรก็ดี พระปริตเวทก็ดี เทศนาข้างในก็ดี อย่าเลิกเลย จงให้พระสงฆ์เข้าไปบิณบาตรแลเทศนาตามเคยดังปรกติเถิด ไม่ควรจะหึงษจะห้าม ถึงหึงษถึงห้ามก็ถี่ลอดตัวช้างห่างลอดตัวเลน คนที่จะต้องหึงษต้องหวงก็มีน้อยตัวดอก จะไปกับฯ ข้าฯ เกือบหมด ไม่มีใครอยู่มากนัก ควรจะเลิกงดไว้แต่เทศนาเวรในหลวงแลฉันเวร เพราะเราพระเจ้ากรุงสยามไม่อยู่ก็ไม่มีใครประฏิบัติ แลถ้าเทศนาไป เรื่องที่ฟังอยู่ก็จะขาดไป จึงต้องงดการกุศลอื่น ให้เจ้านายข้างในทรงทำอยู่ตามเคยทุกอย่าง บูชาให้หอพระพุทธรูปแลหอพระบรมอัฐิ แลวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แลบูชาเทวดา ใส่บาตรพระปริต แลคิลานภัต ก็ให้ทำตามเคยทุกวัน ให้พวกลูกเธอเล็กข้างในจุดเทียนแลใส่บาตรทุกเวลาฯ การต่างๆ รวังรักษาฤๅว่าถ้อยความในพระราชวังนั้น ให้คุณปุก คุณอรุณ คุณขำ คุณเสงี่ยม คุณเนย พวกข้าราชการราชินิกูล แลท้าวอินทสุริยา ท้าวศรีสัตยา ท้าวโสภานิเวศ แลเจ้าจอมมารดาอึ่ง ท้าวศรีคลัง ปฤกษาพร้อมกัน ว่ากล่าวไปให้ทั่วถึงที่ท่านทุกทาง เจ้านายข้างในโดยมากท่านก็ทรงพระเจริญพระชนมพรรษามากๆ ไปแล้ว พระองค์ใดประชวร ฤๅบุตรเล็กๆ ของเราพระเจ้ากรุงสยามป่วยไข้ ก็ขอพระเดชพระคุณเจ้านายที่ไม่ประชวรช่วยเอาใจใส่ด้วยเถิด

การสักเลข (๖) ทรงไปตามเดิม อนึ่ง ถ้าเกิดเพลิง (๗) ไปได้ อนึ่ง ให้ท่านผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเงี่ยหูฟัง รวังระไวอย่าให้ราษฎรในกรุงแลหัวเมืองแตกตื่นเล่าฤๅถืออะไรๆ ผิดๆ ไป จงคิดอ่านรงับเสียฯ การน่าที่การช่างการโยธาต่างๆ ในพระราชวัง ให้กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร พระยาเพชรพิไชยตรวจตราดูแล การนอกพระราชวัง ให้กรมหมื่นภูบาลบริรักษตรวจตราดูแลทุกแห่ง ทั้งการวัดการบ้าน ให้พระยาสามภพพ่ายเอาใจใส่ทุกแห่ง ทั้งในวังนอกวังอย่าให้ลดหย่อนแลหลอนเจ้านายฝ่ายน่าฤๅข้าราชการ แลพระสงฆ์ราชาคณถานานุกรมบาเรียญ ถ้าใครป่วยไข้บอกว่าการเข้ามา ก็ให้กรมหลวงสรรพศิลปปรีชา จัดหมอไปรักษาการรักษาได้ แลให้ทานที่โรงทานนอกในก็ให้จ่ายให้ทำอยู่โดยปรกติ การอื่นๆ (๘) กรมแล้ว ขอท่านทั้งปวงจงทราบดังประกาศนี้ เทอญ สั่งวัน ค่ำ[๑๘] ฯ .

(คัดจากสมุดไทย เรื่องจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๒๒ ข้อ ๕)



[๑] จ.ศ.๑๒๒๑ (พ.ศ. ๒๔๐๒) ปีที่ ๙ ในรัชกาลที่ ๔

[๒] เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)

[๓] เจ้าพระยารวิวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ภายหลังเปลี่ยนนามพระราชทานใหม่ว่า เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี

[๔] เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย

[๕] เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์)

[๖] เจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ สิงหเสนี)

[๗] พระยามหาอำมาตย์ (บุญศรี บุรณศิริ) ภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี

[๘] พระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ สวัสดิ์-ชูโต)

[๙] พระยามณเฑียร (บัว)

[๑๐] พระยาเพ็ชรพิไชย (หนู เกตุทัต)

[๑๑] พระยาศรีสรราช (ภู่ จาติกรัตน์) ภายหลังเป็นพระยาสุรเสนา

[๑๒] เข้าใจว่าย่อมาจากคำว่า “เราพระเจ้ากรุงสยาม”

[๑๓] พระยาพิพัฒโกษา (เสพ สรนันทน์) ต่อมาเป็นพระยาอภัยพิพิธ

[๑๔] พระยาราชานุประพันธ์ (วรรณ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาศรีสรราชภักดี

[๑๕] พระยาราชานุประดิษฐ์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์

[๑๖] พระยาเพ็ชรปาณี (ยัง) ต่อมาเป็นพระยาวิชิตชลธี

[๑๗] พระยาเพ็ชรชฎา (นก สินสุข) ต่อมาเป็นพระยาพิไชยสงคราม

[๑๘] ในสมุดไทยว่างไว้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ