- คำนำ
- ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรเมืองไชยนาท
- เรื่อง ทรงมอบพระราชอำนาจในการรักษาพระนคร แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ประกาศเรื่อง พระเจดีย์ที่ถ้ำปทุน
- ประกาศ เรื่องพระพุทธรูปที่ถ้ำประทุน
- ประกาศ เรื่องพระสถูปเจดีย์ศิลาที่ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ณ ถ้ำประทุน
- ประกาศเรื่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำวิมานจักรี
- ประกาศ เขตวิสุงคามสีมาวัดกุฏกษัตริยาราม
- สำเนาประกาศเลื่อนหลักเขตวัด และพระราชทานที่อุปจารวัด
- ประกาศเขตวิสุงคามสีมาวัดตรีทศเทพ
- เรื่องเปลี่ยนชื่อวัดตะเคียนเป็นวัดมหาพฤฒาราม
- พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชื่อรัตนาภรณ์ แก่กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ
- อธิฐานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
- พระราชหัตถเลขา เรื่องครัวลาว
- เรื่อง สมีบุญ สมีมี และอ้ายเซ่ง
- เรื่อง ตั้งหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ณ เมืองร่างกุ้ง
- เรื่อง ตั้งพระพิเทศพานิช (ตันกิมจิ๋ง) เป็นพระยาอัศฎงคตทิศรักษา
- เรื่อง ตั้งนายมหมัดแฉรีศเป็นขุนทวีปวิวิธการ
- เรื่อง ตั้งมิสเตอวิลเลียม ทอมาส เลวิศเป็น หลวงทวีปสยามกิจ
ประกาศเรื่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำวิมานจักรี
ศุภมัศดุ ลุศักราช ๑๑๘๙ พระพุทธสาสนกาล ๒๓๗๐ พรรษา วัน ๕๑ฯ๓ ค่ำ ปีกุนนักษัตร นพ๔ศก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทพยพงษ์ วงศาดิศวรกระษัตริย วรขัตริยราชนิกโรดม บรมราชกุมาร[๑] ทรงพระศรัทธาอุสาหเชิญเอาพระพุทธรูปยืนยกพระหัถข้างหนึ่ง มีท่อไขน้ำสรงในภานรอง เปนของโบราณ เดิมตั้งอยู่ในถ้ำอันหนึ่ง ในภูเขาหนึ่งแขวงเมืองอุไทยธานี มีข้าในกรมผู้หนึ่งไปด้วยการในกรม ได้เหนว่างามชอบกล จึงได้เชิญลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้ทรงรับไว้ แล้วมีรับสั่งให้ช่างลงรักขัดสีดีแล้วทรงปิดทอง ตั้งไว้นมัศการอยู่ในกรุงช้านานมา พระองค์นี้นั้นขึ้นมาแต่กรุงเทพฯ มหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานี แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำวิมานจักรีนี้ เพราะทรงเหนว่าเป็นที่ประชุมชื่นแห่งประชาชาวชนบททั้งปวง ไปมาเป็นนิจนิรันดรทุกปีมิได้ขาดตามเทศกาลเวลานมัศการเจดีย์สฐาน ที่เรียกว่าพระพุทธบาท ด้วยทรงพระเมตาภิธยาไสยในพระภิกษุสงฆ์สามเณร แลคฤหัฐ สัปรุษชายหญิงทังปวงสิ้น บันดาที่จะได้ไปมานมัศการพระพุทธปฏิมานี้แล้ว จะได้อนุโมทนาส่วนกุศล จึ่งโปรดประกาศเตือนสติไว้ว่า ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อน่า พระภิกษุสงฆ์สามเณรแลสัปรุษชายหญิงทั้งปวงผู้ใดๆ ได้มาเที่ยวเล่นถ้ำนี้ ก็จงตั้งใจอุสาหนมัศการพระพุทธรูปนี้เสียก่อน ต่อภายหลังจึ่งค่อยไปเที่ยวตามอัธยาไสยก็จะได้ผลานิสงษแต่กองบุญอันสำเร็จในเขตรอันพิเศศเป็นอเนกอนันต์นัก จะนับจะประมาณมิได้ ตั้งแต่คิดว่าจะไปแล้วย่างท้าวก้าวไป กุศลก็จะได้ทุกๆ ก้าว เจริญขึ้นจนจะถึงเข้านมัศการ เมื่อได้บูชานมัศการแล้ว ผลอานิสงษแห่งกุศลก็จะเป็นยอดยิ่งวิเสศประเสริฐนัก อนึ่ง ทรงปฏิญญาความจึ่งไว้ให้รู้เปนแน่ให้แจ้งแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรแลสัปรุษทั้งปวง ใครใครอย่าได้คิดสงไสยเลย ว่าฝังทรัพย์สิ่งของทองเงินไว้เป็นปริศนาลายแทงต่างๆ ดังลัดธิชนเป็นอันมากถือกันอยู่นั้น การจะเปนดังนี้หามิได้เลยทีเดียว โดยที่สุดสักเฟื้องหนึ่งก็ไม่ได้ฝังส้อนไว้ในที่นี้เลย ถ้าสงไสยคิดจะขุดก็จะเหนื่อยแรงเสีย บาปเสียเปล่าเปนมั่นคง ซึ่งเชิญเอาพระพุทธรูปไว้ที่นี้ ครั้งนี้หวังพระหฤทัยจะให้เป็นที่บูชาแก่เทพยดาแลมนุษย์ แลพระภิกษุสงฆ์สามเณรสัปรุษทั้งปวง ให้เกิดกุศลในอนุตตรบุญเขตร ไม่ให้เสื่อมเสียแรงที่เดินมาไม่เป็นกุศลนั้นเท่านั้นดอก เป็นความประสงค์ ถ้าแลพระภิกษุสงฆ์สามเณรสัปรุษทั้งปวงรู้ความตามประกาศนี้แล้ว จงมีศรัทธาอุสาหนมัศการเถิดทุกๆ คน ในการพระกุศลนี้ทรงพระอุทิศส่วนพระกุศลให้แก่เทพยดาแลมนุษย์สัปรุษทั้งปวง ขอท่านผู้อ่านจาฤกนี้จงรับส่วนกุศลเถิด ทรงอำนวยประทานพรไว้ว่า ขอให้ท่านทั้งปวงทุกตน จงเจริญอายุ พรรณ ศุข พล ประฏิภาณ ทุกประการ เทอญ
หนึ่ง ท่านทั้งปวงที่ได้มานมัศการพระพุทธปฏิมารูปนี้แล้ว จงอุทิศส่วนพระกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณด้วยเทอญ ได้ทรงตั้งปณิธานไว้ว่า ด้วยอำนาจพระกุศลในพระสันดาน แลกุศลในสันดานท่านผู้อื่น ซึ่งอาไสยกันเจริญขึ้นได้โดยกุศโลบายวิถีนี้ ขอสังสารทุกข คือชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข โทรมนัศอรปายาศต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในเบญจุปาทานขันธ อันเปนสกะสันดานปรสันดาน จงได้ถึงวิราคนิโรธนฤพาน โดยง่ายโดยเร็ว เทอญ สิทธิรัศดุ
ศุภมัศดุ ลุศักราช ๑๒๒๒ พระพุทธสาศนกาล ๒๔๐๓ พรรษา จึงได้มีจาฤกเพิ่มเติมเข้าอิก ในบันทัดทั้งหลายต่อนี้ไปเป็นคำประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทพยพงษ วงษาดิศวรกระษัตริย วรขัตติยราชนิกโรดม บรมราชกุมาร ซึ่งออกพระนามไว้ในข้างต้นนั้น ครั้นภายหลังนับแต่ปีกุน นพศก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาได้ ๒๔ ปี เมื่อล่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๔ ในพระบรมราชวงษซึ่งเป็นไปอยู่นี้ เพราะเป็นสมเด็จพระบรมราชนัดดาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประฐมในพระบรมราชวงษนี้ แลเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ในพระบรมราชวงษนี้ โดยลำดับรัชกาลมา แลเป็นสมเด็จพระบรมกณิฐาธิราชในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ ในพระบรมราชวงษนี้ โดยลำดับกาลต่อมา ได้ทรงพระนามในพระราชสุพรรณบัตรว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ สุทธสมมุติเทพยพงษ์ วงษาดิศวรกระษัตริย วรขัตริยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราธิราช บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองแผ่นดินมาแต่วัน ๕๑๕ฯ ๖ ค่ำ ปีกุน ตรี๑ศก ศักราช ๑๒๑๓ ทรงทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้ ๑๐ ปีแล้ว ได้ทรงสร้างแลซ่อมแซมที่ต่างๆ เปนการพระนคร แลการในพระราชวังในกรุงเทพมหานคร แลที่ประทับประภาศ แลป้อมค่ายคูศาลาในหัวเมืองนั้นๆ แลเรือรบเรือกลไฟเป็นอันมาก เป็นราชการสำรับแผ่นดิน แลได้ทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณแลสฐาปนาการพระอาราม พระมหาสถูปเจดีย พระพุทธรูปในที่นั้นๆ เป็นอันมากหลายตำบลทั้งในกรุงนอกกรุง เป็นการราชกุศลต่างๆ จึ่งได้ทรงรฦกถึงสฐานที่นี้ว่ายังจะคงประดิษฐานอยู่ฤๅจะชำรุดซุดโทรมทำลายหายหักไปเสียแล้วประการใด จึงมีพระบรมราชโองการดำรัศสั่งให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม เสด็จไปตรวจดูแล้วได้ทราบว่ายังปรกติอยู่ตามเดิม ก็ทรงพระโสมนัศ แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า การครั้งก่อนได้ทำด้วยรีบร้อนให้แล้วในวันเดียว จึ่งได้ทำไว้เป็นแต่แท่นปูนไม่สู้งามดี แลจะไม่ถาวรยั่งยืนนาน ครั้งนี้จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัศสั่งพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม ให้สร้างทำแท่นสิลาไปประดับใส่แทนแท่นปูนณที่นั้น แท่นนี้ได้ทำมาใส่แต่ ณ วันที่ ๕๘ฯ๓ ค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า ครั้นจะประดับประดาให้ประณีตมากไป ก็เป็นของอยู่ไกล อยู่เปลี่ยวนัก ไม่มีผู้ใดรักษา ครั้นณ วัน ค่ำ[๒] ปีวอก โท๑๐ศก ศักราช ๑๒๒๒ เป็นวันที่ ๒๓ ในรัชกาลประจุบันนี้ จึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปิดอีกครั้งหนึ่ง[๓]
(คัดจากสมุดไทย เรื่องจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๑๓ ข้อ ๖)
[๑] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสวยราชสมบัติ
[๒] ในสมุดไทยว่างไว้
[๓] ในต้นฉบับสมุดไทย ต่อจากนี้ เป็นรายพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และรายนามเจ้านาย ตลอดจนรายนามลูกขุน ณ ศาลหลวงอาลักษณ์ ข้าราชการในพระบรมมหาราชวัง สอบไม่ได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จึงมิได้ให้พิมพ์ไว้