วาจา

๏ วาจาคือว่าคำ ซึ่งพูดพร่ำตามธรรมดา
เป็นอย่างของกลางมา ปรากฏเพื่อรู้เนื้อความ ฯ
๏ ชั่วดีมีประเภท แล้วแต่เหตุตั้งเจตน์ตาม
มั่นหมายฝ่ายคุณงาม หรือโทษทรามยามพูดไป ฯ
๏ วาจาชื่อว่าชั่ว ในที่ทั่วคือตัวร้าย
ควรเกลียดรังเกียจไกล และอย่าได้ใช้ไขขาน ฯ
๏ ยกไว้ในที่นี้ ไม่กล่าวมีกี่ประการ
จักแก้แต่พจมาน เป็นแก่นสารหลักฐานแถลง ฯ
๏ เรียกว่าวาจาชะนิด สุภาษิตไม่ผิดแปลง
แปรเป็นโทษเร้นแฝง สำแดงไว้ในบาลี ฯ
๏ คือพระพุทธพจน์ พึงกำหนดโดยบทมี
วาจาห้าวิถี ถ้อยพาทีที่ถูกฐาน ฯ
๏ ๑. พร้องต้องกาละ คือรู้กะขณะกาล
ควรไขไม่ควรขาน จุ่งวิจารณ์วารเวลา ฯ
๏ นึกใดขึ้นได้พล่อย ด่วนโพล่งถ้อยอาจพลอยพา
พลาดผลฝ่ายตนครา ผิดกาละกล่าวแสดง ฯ
๏ ๒. พร่ำพูดคำจริง ไม่แอบอิงสิ่งเท็จแฝง
ฟังเฟือนเคลื่อนคลาดแคลง จงแจ้งไว้ในวจี ฯ
๏ ถึงจะประสงค์เผล็ด ผลสำเร็จเสร็จสมมี
มาได้ก็ไม่ดี เนื่องพาทีนี้ผิดธรรม ฯ
๏ ๓. พร่ำคำอ่อนหวาน ศัพท์สำนารซาบซ่านนำ
ดูดดื่มปลื้มใจจำ มิตรสัมพันธ์มั่นไมตรี ฯ
๏ แท้ถ้อยที่ถ่อยหยาบ อสุภาพเราทราบดี
ด้วยใครคงไม่มี ที่ถวิลอยากยินฟัง ฯ
๏ ๔. พร่ำกล่าวคำกอบ ประโยชน์รอบชอบเชิงหวัง
ไว้ถ้อยไป่ปล่อยดัง- มิรู้ยั้งชั่งคำควร ฯ
๏ เพ้อเพรื่อเพื่อเหลวใหล ผลดีใดไม่มีมวล
คำมักจักแปรปรวน ชวนเวลาพาเสียไป ฯ
๏ ๕. เผยเอ่ยออกมา ด้วยเมตตาปรากฏไข
อคติมิเจือใจ สะอาดได้ในวาจา ฯ
๏ รวมความตามแม่บท บ่งกำหนดพจน์กถา
ถูกทำควรนำมา สนทนาปรารภถึง ฯ
๏ วาจาสุภาษิต ห้าชะนิดคิดคำนึง
ให้มีจงดีพึง หวังซึ่งผลดลบรรดาล ฯ
๏ เมื่อกล่าวถูกคราวอยู่ ย่อมเป็นผู้รู้จักกาล
พูดจริงยิ่งขนาน นามท่านนี้มีสัตย์ธรรม์ ฯ
๏ พูดเพราะเหมาะเพื่อทราบ ความสุภาพราบเรียบครัน
พูดไม่เหลวไหลอัน ผลเสียนั้นมั่นไม่มี ฯ
๏ พูดเหตุด้วยเมตตา สิ่งเจตนาออกมาดี
ทั้งห้าพจน์พาที เทอดศรีสวัสดิ์วัฒนผล ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ