ปัญญาคืออะไร
ปัญญา คือ “ความรอบรู้” ความรู้ที่รู้มาโดยรอบนั้น จะรู้จากอะไรที่ไหนๆ เมื่อใช้ความรู้นั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ต้องนับว่าเป็นปัญญาทั้งสิ้น
เวสสเทวีฉันท์ ๑๒ | |
๏ ต้นไม้ใบร่วงหล่น | พรากประจากต้นตลอดไป |
จนหมดไม่มีใบ | เหลือละเมื่อนั้นก็พลันตาย ฯ |
๏ ตามอ้างตัวอย่างเป็น- | ธรรมดาเห็นเถอะหากหมาย |
ถึงคน, ยลบรรยาย | ย่อมบผิดแผกบแปลกแปร ฯ |
๏ ผู้ที่มีปัญญา | โปร่งปรุปรีชาฉลาดแล |
เหลวใหลไม่แยแส | สนเสาะผลเพิ่มเพาะปัญญา ฯ |
๏ ให้เยี่ยมให้เปี่ยมอยู่ | นั่นก็ย่อมรู้จะโรยรา |
เรียวเรื่อยถึงเฉื่อยชา | ช้ามิคมเฉียบมิฉับไว ฯ |
๏ ที่สุดเสื่อมทรุดโทรม | อย่างกะร่างโฉมชราไป |
จนถึงซึ่งบรรลัย | ชนม์สกนธ์แล้วก็เลยศูนย์ ฯ |
๏ คนที่มีกิจการ | ชำนิชำนาญณงานธูร |
แท้เขาทราบเค้ามูล | ว่าวิชามวลละล้วนมี ฯ |
๏ มากมายทั้งหลายแหล | ควรจะเรียนแลจะรู้ดี |
ให้เด่นเป็นเกียรติศรี | สมเพราะศึกษาพยายาม ฯ |
๏ ยังน้อยยังด้อยหนอ | ยังมิมากพอจะเผยนาม |
เป็นปราชญ์ทรงศาสตร์ตาม | เกียรติยศเลิศฉะนั้นเลย |
๏ ความรู้เรียกว่าดี | โดยนิยมมีเพราะเราเคย |
คาดหลงไปลงเอย | เอากะตำรับกะตำรา ฯ |
๏ ด้วยเราเข้าใจถือ | ว่าเพราะหนังสือผิว์ศึกษา |
เพียงอ่านพลิกผ่านตา | จบตลอดเล่มก็เลิกกัน ฯ |
๏ กล่าวว่า “ข้ารู้แล้ว- | พอละ” เพิกแพ้วและพักพลัน |
ทิ้งร้างไป่สร้างสรรค์ | เสริมเพาะเพิ่มเติมผะเดิมมา ฯ |
๏ นี้ไม่ใช่ตั้งอยู่ | ในสภาพภูมิปัญญา |
ย่อมเสื่อมอย่างพฤกษา | ปราศจากใบประลัยทราม ฯ |
๏ ศัพท์ว่า “ปัญญา” นั้น | แปลและรู้กันก็คือ “ความ- |
รอบรู้” จักรู้ตาม | ควรจะรู้จากอะไรใด ฯ |
๏ รู้ได้รู้ให้เด่น | ใช้ก็ให้เป็นประโยชน์ไป |
ย่อมเป็นปัญญาใน | ทุกสถานหมายเสมือนกัน ฯ |
๏ สิ่งเช่นเห็นด้วยตา | ยินกะหูมาประมวลสรรพ์ |
ทราบได้ด้วยใจอัน | เกี่ยวกับอาจรู้เจริญไว ฯ |
๏ หวังรู้เฟื่องฟูเพิ่ม | พูนพิชาเดิมประการใด |
รู้แล้วให้แผ้วไพ- | บูลย์อุบัติมีทวีมา ฯ |
๏ ทั้งมวลล้วนของดี | แท้และควรที่จะศึกษา |
ทราบดูด้วยหูตา | จนกระทั่งใจตริไตร่ตรอง ฯ |
๏ สังเกตทราบเหตุผล | ธรรมชาติคน ฯลฯ สิ่งของ |
เป็นไปอย่างไรมอง | แม่นประจักษ์มั่นเพราะปัญญา –(ยลแล) ๚ |