๒๑๖. สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ ให้บุรณะปฏิสังขรณ์พระอารามเก่าที่ปรักหักพังบ้าง

ทรงสร้างใหม่นั้น วัดนามบัญญัติ ๑ วัดราชประดิษฐ์ ๑ วัดโสมนัสวิหาร ๑ วัดปทุมวนาราม ๑ วัดตรีทศเทพวัด ๑ เป็นวัดกรมหมื่นวิศนุนารถนิภาธรสร้างไว้เดิม ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทำสืบมา ครั้นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงกระทำต่อไป พระราชทานชื่อว่าวัดตรีทศเทพ รวมสร้างใหม่ ๕ วัด

ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ในพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ได้กล่าวไว้แล้ว บุรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวัด ๑ ทำพระเจดีย์ แก้พระรัศมีพระพุทธไสยาศน์ก็กล่าวมาแล้ว วัดมหาธาตุวัด ๑ วัดชนะสงครามวัด ๑ บุรณะแต่ของที่ปรักหักพัง โปรดให้กระทำพระวิหารหลังพระอุโบสถอีกหลัง ๑ กระทำกุฏิสงฆ์เป็นตึกทั้งสิ้น ในคลองก็ให้ลงเขื่อนศิลาเป็นคั่นบันได

ฐานพระชินสีห์นั้น โปรดให้หล่อทองเหลืองเปลี่ยนฐานอิฐปูนเดิมออกเสีย แล้วทำการอื่นเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก

วัดสุทัศน์นั้น พระศาสดาซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยไปเชิญเอามาแต่วัดบางอ้อยช้างในกรุงเทพฯ มาไว้ที่วัดประดู่ ทรงเห็นว่าพระศาสดา พระชินราช พระชินสีห์ ท่านอยู่วัดเดียวกัน จะให้ไปอยู่วัดในเรือกสวนนั้นไม่สมควร จึงให้ไปเชิญมาไว้หน้าพระอุโบสถ ต่อพระประธานใหญ่ออกมา ภายหลังวิหารวัดบวรนิเวศแล้ว ก็ให้เชิญพระศาสดาไปไว้ แล้วให้สร้างพระพุทธรูปใช้ใหม่องค์ ๑ พระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์นั่งฟังธรรมเทศนา ประดิษฐานแทนไว้ในพระอุโบสถ แล้วถวายพระนามพระประธานในวิหารว่า พระพุทธศรีสากยมุนี พระประธานในพระอุโบสถ ถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกยเชษฐ์

วัดกัลยาณมิตร์ พระประธานในพระวิหาร ถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก

วัดอรุณราชวรารามนั้น ก็โปรดให้ทำเพิ่มเติมขึ้นอีก คือให้ช่างทำเป็นมณฑปขึ้นที่ผนังหุ้มกลองหน้ามุขด้านตะวันออก ไว้พระพุทธรูปทรงเครื่องต้น อย่างพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมณฑป ๑ อีกมณฑป ๑ ให้ทำที่ผนังหุ้มกลองหน้ามุขด้านตะวันตกไว้พระพุทธรูป ๒ พระองค์ อย่างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ เป็นส่วนอุททิศถวายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ อย่างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ เป็นส่วนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ และพระอุโบสถเดิมนั้นประดับกระเบื้องเป็นลายดอกไม้ใบไม้ทำมาแต่เมืองจีนที่ข้างนอกทั่วไป แต่เสาหน้ามุขกับเสารายเฉลียงรอบนั้นเป็นแต่ถือปูนเปล่า หาได้ประดับลายกระเบื้องไม่ โปรดสั่งให้ทำดอกไม้มาแต่เมืองจีน ประดับเสารายเพิ่มเติมรอบทั่วไปทั้งสิ้น แล้วถวายพระนามพระประธานในพระอุโบสถว่า พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก

ที่วัดสระเกศนั้น ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นที่ริมคลององค์ ๑ ก่อขึ้นไปพอสิ้นลายฐานก็ซุดแตกร้าวไป การจะทำต่อไปไม่ได้ ต้องหยุดเสียจนทุกวันนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า ของใหญ่ไม่ควรจะทิ้งไว้ให้เป็นกองอิฐอยู่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์เป็นแม่กอง พระยาราชสงครามเป็นนายช่างกระทำซ่อมแปลงเป็นภูเขาขึ้น ก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้บนยอด มีพระระเบียงรอบชื่อบรมบรรพต และการสิ่งไรที่ค้างอยู่ก็ให้ทำเสียให้แล้ว ๆ ถวายพระนามพระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร

วัดตะเคียนวัด ๑ ไม่ได้เป็นพระอารามหลวง มีเจ้าอธิการองค์ ๑ ชื่อแก้ว อายุ ๑๐๗ ปี ไม่หลงลืม เป็นแต่จักษุไม่เห็น หูตึงเท่านั้น ก็โปรดตั้งเป็นพระมหาพฤฒาจารย์ราชาคณะ แล้วโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดตะเคียนขึ้น ทำพระอุโบสถและวิหารกุฎิสงฆ์เสนาสนะ ก่อสวมพระปรางค์เดิม ๔ องค์ขึ้นให้สูงใหญ่กว่าเก่าเป็นหลั่นๆ กันลงมา อุททิศเป็นของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ วัดนั้นสำเร็จแล้วให้ชื่อว่า วัดมหาพฤฒาราม กรมหมื่นภูมินทรภักดีเป็นแม่กองทำ ในคลองบางกะปิตรงคลองมหานาคเข้าไป

วัดพระราชรินทรอาศน์สร้างไว้ค้างอยู่ ถวายเป็นวัดข้าหลวงเดิม โปรดให้ทำการเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายสิ่ง และก่อพระเจดีย์องค์ใหญ่ไว้หลังพระอุโบสถองค์ ๑ พระราชทานชื่อว่าวัดบรมนิวาส

วัดปทุมคงคา แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาสวัสดิวารีกราบทูลขอบุรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยอมอนุญาตให้ พระยาสวัสดิวารีทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นยังไม่ทันแล้วก็ถึงแก่กรรม ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระยาพิศาลศุภผลรับทำต่อไป จึงทรงพระราชดำริว่า วัดนี้เป็นวัดของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สร้างอุททิศถวายสมเด็จพระบรมไปยิกาธิราช จึงโปรดให้กรมขุนราชสีหวิกรมทำการเพิ่มเติมขึ้นอีก ให้ช่างยกพระพุทธรูปในพระอุโบสถให้สูงขึ้น แล้วทำเป็นพระทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ แล้วต่อชุกชีออกมา ทำเป็นรูปเทวราชถือพุ่มฉัตรดอกไม้ทองดอกไม้เงินด้วย ๒ องค์ แล้วพระราชทานรางวัลช่างซึ่งกระทำนั้นด้วย

กรมขุนธิเบศรบวรสร้างขึ้นที่หลังวังวัด ๑ ก็ค้างอยู่ โปรดให้บุรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์เป็นแม่กองทำ พระราชทานชื่อวัดวงศ์มูล

ในคลองมอญวัดกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสร้างไว้ยังค้างอยู่  โปรดให้สร้างพระเจดีย์อีก ๒ องค์ และเขียนผนังทำการยังค้างอยู่นั้นจนสำเร็จ พระราชทานชื่อวัดชิโนรสาราม

และวัดราชโอรสนั้น โปรดให้ซ่อมแซมพระวิหารโถงหลัง ๑ กับซ่อมแซมทำศาลารายอีก ๖ หลัง ถวายพระนามพระประธานในพระอุโบสถว่า พระพุทธอนันตคุณ อดุลยญาณบพิตร ถวายพระนามพระไสยาศน์ว่า พระพุทธไสยาศน์นารถมุนินทรชินสากยะบรม สมเด็จสรรเพ็ชญพุทธบพิตร

วัดสมอรายนั้น เสด็จอยู่เมื่อก่อนเสด็จมาวัดบวรนิเวศ ก็โปรดให้พระยาสามภพพ่ายไปกระทำเพิ่มเติมขึ้นอีก ได้ทำมุขหน้าหลังต่อพระอุโบสถออกมา ทำพระเจดีย์ขึ้นข้างหลังพระอุโบสถอีกองค์ ๑ และสร้างกุฏิเสนาสนะขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่าวัดราชาธิวาส

วัดบวรมงคลนั้น เป็นวัดของกรมพระราชวังบวรฯ แผ่นดินที่ ๒ ก็โปรดให้พระองค์เจ้าใยเป็นแม่กองบุรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น

วัดชีปะขาวในคลองบางกอกน้อยเดิมเป็นวัดของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ตำหนักแดง ท่านปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้ ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ตลิ่งพังขึ้นไปจนถึงหน้าพระอุโบสถ ก็โปรดให้เจ้าพระยามุขมนตรีทำพระอุโบสถขึ้นใหม่ ให้เลื่อนขึ้นไปให้พ้นตลิ่งหน้าตลิ่งนั้นก็ให้ถมศิลากันสายน้ำแทง ได้ทำการอื่นๆ อีกเป็นหลายสิ่ง แล้วพระราชทานชื่อว่า วัดศรีสุดาราม

วัดน้อยในคลองบางใส้ไก่ เป็นวัดของท่านเจ๊สัวเงิน ซึ่งเป็นภัศดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์สถาปนาขึ้นไว้ โปรดให้พระยาสีหราชเดโชไปบุรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แล้วพระราชทานชื่อว่า วัดหิรัญรูจี

วัดภคินีนาฎ เป็นวัดของกรมหลวงเทพยวดี ชำรุดหักพังก็โปรดให้บุรณะขึ้น

แล้วทรงพระราชดำริว่า วัดเขมาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงปฏิสังขรณ์ไว้แต่ก่อนชำรุดซุดโทรมไป จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหมื่นมนตรีรักษา ซึ่งเป็นสัมพันธวงศ์พระยาราชภักดีไปบุรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมของเก่านั้นให้เปลี่ยนเสีย ทำให้ดีขึ้นไป แล้วให้ช่างขึ้นไปถ่ายอย่างพระเจดีย์วัดเดิมกรุงเก่าองค์ระฆังเป็นกลีบบัว ให้ก่อหุ้มพระเจดีย์เก่าหลังพระอุโบสถสูง ๑๕ วา มีพระเจดีย์อีก ๔ องค์ตามอย่าง โปรดให้ต่อชุกชีในพระอุโบสถให้ยาวออกมา ทรงสถาปนาพระอสีติมหาสาวกล้อมพระพุทธเจ้า แล้วสร้างวิหารการเปรียญ เรือนระฆัง เจดีย์ ศาลารายและกุฏิสงฆ์ขึ้นใหม่เป็นอันมาก และการที่กระทำทั้งปวงนั้นทั่วไปเป็นอันดีแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รื้อพระตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ขึ้นไปปลูกไว้ในพระอารามนั้นเสร็จแล้ว ให้ชื่อวัดเขมาภิรตาราม จึงตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติกาเป็นเจ้าอธิการ เป็นพระราชาคณะ ชื่อว่าพระเขมาภิมุขธรรม ทรงถวายเครื่องบริกขารแก่พระสงฆ์ที่ไปอยู่ใหม่นั้นด้วย

ทรงพระราชดำริว่าวัดไชยพฤกษ์นั้น เป็นวัดของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสร้างไว้แต่ก่อนไม่สำเร็จ ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่ได้กระทำ ด้วยมีรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังมิได้ทรงผนวชเป็นแม่กองทำ เพราะฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้งดไว้ ครั้งนี้จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่กองไปปฏิสังขรณ์ใหม่ ทำพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ ทำพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นในระหว่างข้างหลังพระอุโบสถพระวิหารองค์ ๑ สร้างกุฏิสงฆ์เป็นฝากะดานเสร็จแล้ว พระราชทานชื่อว่าวัดไชยพฤกษมาลา เจ้าอธิการนั้นตั้งให้เป็นที่พระครูไชยพฤกษธิกามหามุนี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ