๒๑๔. เสนาบดีเข้าชื่อกันทำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวาย เรื่องราษฎรกล่าวว่า พระบาง พระพุทธรูปทำให้ฝนแล้ง

และเมื่อปีชวด ฉศก[๑] เกิดฝนแล้งข้าวแพง ท่านเสนาบดีเข้าชื่อกันทำเรื่องราวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายว่า

ด้วยได้ยินราษฎรชายหญิงหลายพวกหลายเหล่า บ่นซุบซิบกันอยู่เนืองๆ มานานแล้วว่า ครั้งตั้งแต่พระเสิมเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งมาอยู่เมืองหนองคาย เชิญลงมาไว้ในณกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปีมะเส็ง นพศก และพระไสยเมืองเวียงจันทร์ซึ่งมาอยู่ด้วยพระเสิมณเมืองหนองคาย และพระแสนเมืองมหาไชย เชิญมาไว้ณวัดปทุมวนาราม เมื่อปลายปีมะเมีย สัมฤทธิศกนั้นมา ฝนในแขวงกรุงเทพมหานครตกน้อยไปกว่าแต่ก่อนทุกปี ต้องบ่นว่าฝนแล้งทุกปี ลางพวกก็ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนของแพงที่นั่น และว่าของลาวเขาถือว่าพระพุทธรูปของบ้านร้างเมืองเสีย ปิศาจมักสิงสู่ ลาวเรียกว่าพุทธยักษ์ รังเกียจนักไม่ให้เข้าบ้านเข้าเมือง ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังเนืองๆ แล้วจึงได้ปรึกษากันรำพึงถึงกาลเก่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นแม่ทัพเสด็จขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทร์ครั้งก่อน ก็ได้พระพุทธรูปมีชื่อทั้งปวงในเมืองนั้นมาอยู่ในอำนาจ แต่ทรงเลือกให้เชิญลงมากรุงธนบุรีแต่พระแก้วมรกตกับพระบาง ๒ องค์ พระพุทธรูปมีชื่อนอกนั้นก็ได้โปรดให้คงอยู่เมืองเวียงจันทร์ ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงจัดการแผ่นดินและสร้างพระนครพระราชวังใหม่ เจ้านันทเสนและเจ้าเขียวค่อมท้ายสวนกราบทูลพระกรุณาว่า

พระแก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันเมืองใดก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็นอย่างมา ๓ ครั้งแล้ว คือ

เดิมพระแก้วอยู่เมืองเชียงใหม่ พระบางอยู่เมืองหลวงพระบาง ครั้นภายหลังเจ้าเมืองหลวงพระบางได้เจ้าเชียงใหม่เป็นเขย จึงขอยืมพระแก้วมานมัสการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็คุมพระแก้วมาเมืองหลวงพระบางด้วย เจ้าเมืองหลวงพระบางกักขังเจ้าเชียงใหม่ผู้เป็นเขยไว้กับพระแก้วช้านาน ชาวเชียงใหม่จึงตั้งเจ้าเชียงใหม่อื่นขึ้นใหม่ เจ้าเชียงใหม่เก่าจึงขอกองทัพเมืองหลวงพระบางไปรบเอาเมืองเชียงใหม่คืน การรบกันเป็นไปหลายปี ฝ่ายพวกเมืองหลวงพระบางเอาไชยชนะไม่ได้ พวกเมืองเชียงใหม่ได้ไชยชนะเขตต์แดนใกล้เข้ามา จนพวกเมืองหลวงพระบางต้องกลัวจะเสียเมือง จึงลงผีถามคนทรง ผีที่รักษาพระบางออกความว่า ตัวผีรักษาพระบางเป็นเจ้าของเมืองไม่ชอบกับผีรักษาพระแก้ว ขอให้ไล่พระแก้วไปเสียจากเมือง ผีรักษาพระบางจึงจะช่วยในการศึกให้มีไชย เจ้าเมืองหลวงพระบางไม่อยากจะคืนพระแก้วให้ชาวเชียงใหม่เป็นข้าศึก แต่กลัวผีที่รักษาพระบาง จึงให้เชิญพระแก้วไปฝากไว้เมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเวลานั้นนับถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน ตั้งแต่เชิญพระแก้วไปไว้เมืองเวียงจันทร์แล้ว พวกเมืองหลวงพระบางก็มีกำลังขึ้น กลับได้ไชยชนะพวกเมืองเชียงใหม่คืนเอาเขตต์แดนที่เสียไปแก่พวกเชียงใหม่ได้หมด พวกเชียงใหม่ก็ไม่ได้มารบกวนต่อไป การศึกก็เป็นสงบ

ครั้นล่วงมานาน ๒๐๐ ปีเศษ เจ้าเมืองเวียงจันทร์รบกับเจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้ไชยชนะเมืองหลวงพระบาง จึงให้เชิญพระบางมาไว้เมืองเวียงจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาเมืองเวียงจันทร์ก็ไม่มีความสุข เกิดรบพุ่งในพี่น้องกันเองบ้าง ต้องรบกับญวนเสียอำนาจต้องยอมแพ้ญวน แล้วภายหลังจึงได้เสียเมืองต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จขึ้นไปปราบปราม เมื่อปีกุญ เอกศก ศักราช ๑๑๔๑[๒] นั้น ก็พระแก้วกับพระบางมาอยู่ด้วยกันที่กรุงธนบุรีได้ ๒ ปี ก็เกิดวุ่นวาย ขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แยกย้ายพระแก้วกับพระบางให้อยู่ห่างต่างบ้านเมืองกัน จึงจะมีความเจริญแก่พระนครซึ่งตั้งใหม่ในครั้งนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสดับก็มีพระราชหฤทัยรังเกียจตามเหตุการณ์ ซึ่งเจ้านันทเสนกับเจ้าเขียวค่อมท้ายสวนกราบทูลพระกรุณา จึงพระราชทานพระบางให้คืนกลับไปประดิษฐานอยู่เมืองเวียงจันทร์ การซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์นี้ทรงดังนั้นก็เป็นการเยี่ยงอย่างมา มีผู้ใหญ่ได้ทราบเล่าต่อกันมาคุ้มบัดนี้

ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุเวียงจันทร์คิดกบฎ จึงได้มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกทัพขึ้นไปปราบปรามตีได้เมืองเวียงจันทร์อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นพระพุทธรูปมีชื่อในเมืองเวียงจันทร์ทุกพระองค์ ก็ได้ทรงรวบรวมมาทอดพระเนตร ทรงเลือกเชิญลงมาแต่พระบางและพระแทรกคำ พระฉันสมอ กับพระพุทธรูปศิลาเขียวเป็นของประหลาดไม่มีชื่อ ถวายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมยังไม่ได้ทรงสดับความหลัง จึงทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอไว้ในหอพระนาค วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นภายหลังได้ทรงสดับการแต่หลังมา จึงทรงพระราชดำริว่าจะขัดแก่การซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงบังคับมาแต่ก่อน เพื่อเป็นมงคลแก่พระนคร หาควรไม่ ควรจะให้พระมีชื่อซึ่งลาวนับถือว่ามีปิศาจสิง ๒ พระองค์ ให้ไปอยู่ภายนอกพระนคร จึงพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเชิญไปไว้วัดจักรวรรดิราชาวาส พระราชทานพระฉันสมอให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ไปไว้วัดอับสรสวรรค์ พระราชทานพระแทรกคำให้พระยาราชมนตรี (ภู่) เชิญไปไว้วัดคฤหบดี เป็นภายนอกพระนครทั้ง ๓ พระองค์

ก็พระเสริม พระไส พระศุกร์ ๓ พระองค์ ก็เป็นพระพุทธรูปมีชื่อ ลาวนับถืออยู่ที่เมืองเวียงจันทร์มานาน ก็การจะเป็นอย่างไร ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จยกทัพไปตีเอาเมืองเวียงจันทร์ เมื่อปีกุน เอกศก ศักราช ๑๑๔๑ ก็ดี[๓] ครั้งกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปตีเอาเมืองเวียงจันทร์ เมื่อปีกุน นพศก ศักราช ๑๑๘๙ นั้นก็ดี[๔] พระพุทธรูป ๓ พระองค์นี้ก็มีนามได้ทรงสดับทราบ แต่แคลงอยู่ว่าจะมีผู้กราบทูลอย่างไรจึงไม่ทรงพระราชดำริให้เชิญลงมาเลยทั้ง ๒ คราว เป็นที่ให้คนเป็นอันมากจะปรารภบ่นวิตกไปต่างๆ ฝนแล้งเข้าคราวใด ก็มีผู้พูดซุบซิบรังเกียจด้วยพระพุทธรูป พระเสิม พระไส ๒ พระองค์นี้เนืองๆ หนาหู และกาลบัดนี้ก็เป็นประตูที่คนผู้อยากจะหยิบยกโทษต่างๆ บ่นว่า จะลอบไปให้โรงพิมพ์อเมริกันลงพิมพ์นินทาว่าบ่นไปต่างๆ ตามคำราษฎร จะเอาตัวผู้บ่นก็ไม่ได้ จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศไป เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนักนั้น ก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลย พระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกเมืองได้เหมือนพระแก้วมรกตและพระแก้วผลึก พระฉลองพระองค์ทรงเครื่องทองคำประดับเพ็ชรพลอยต่างๆ นั้นเลย พระแก้วมรกต พระแก้วผลึก พระสิหิงค์ และพระพุทธรูปทองสัมฤทธิใหญ่ๆ ซึ่งงามดีเป็นศรีพระนครคู่พระบารมี เคยอยู่กับบ้านเมืองมีความสุขมา ก็มีอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้เป็นอันมากแล้ว ก็พระบาง พระแทรกคำ พระเสิม พระไส พระแสน เป็นของดีแต่ที่ลาวเล่าลือออกชื่อเชิดชูว่าศักดิ์สิทธิ์ เชิญมาไว้ก็นานก็ยังไม่ได้เห็นฤทธิ์เดชวิเศษเป็นคุณแก่บ้านเมืองได้อย่างไร มีผู้นับถือมากก็แต่พวกลาว ก็คนในพระนครนี้เป็นลาวสักส่วน ๑ เป็นคนมิใช่ลาวหลาย ๑๐ ส่วน

ถ้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม มีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่นมัสการบูชาของราษฎรที่เป็นลาวได้ทำบุญมากเต็มศรัทธาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม จะขอรับพระราชทานพระพุทธรูปที่ลาวนับถือ คือพระเสิม พระไส พระแสน หรือพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ พระมีชื่ออื่นๆ ด้วย พระราชทานคืนให้เจ้าเมืองหัวเมืองลาวที่เดิมหรือเมืองอื่นที่นับถือรับไปไว้ทำบุญบูชา หรือถ้าทรงพระราชดำริเห็นว่าได้เชิญมาแล้วจะคืนไปเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ก็ขอพระราชทานพระบาง พระราชทานไปเมืองหลวงพระบาง ให้ได้ประดิษฐานอยู่ตามชื่อเมืองเดิม ก็จะเป็นพระเกียรติยศมาก ด้วยทำให้เมืองนั้นซึ่งเป็นข้าของขันธเสมาคงชื่อเดิม และพระพุทธรูปอื่นขอรับพระราชทานให้ไปอยู่เมืองสระบุรี หรือพระพุทธบาท เขาปถวีเป็นที่ใกล้บ้านลาวมาก พระพุทธบาทและวัดเขาปถวีและเขาแก้วก็เป็นพระอารามหลวง เมื่อพระพุทธรูปของหลวงไปประดิษฐานอยู่ที่นั้น ก็จะไม่เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศเลย ราษฎรลาวเมืองนั้นมากกว่าไทย ก็จะได้มีความยินดี ถึงราษฎรลาวชาวกรุงเทพมหานครที่นับถือพระพุทธรูปมีชื่อเหล่านั้น ก็ย่อมไปนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย เขาปถวี และเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง ณเมืองสระบุรีอยู่เนืองๆ มิได้ขาด คงได้ไปนมัสการบูชาตามปรารถนาไม่ห่างไกลไป

อนึ่งได้ความทราบเกล้าทราบกระหม่อมว่า พระไส พระเสิม แต่เดิมเคยอยู่แห่งเดียวกัน และได้ยินว่า บัดนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชศรัทธาสร้างพระอารามหลวงลงที่ตำบลบ้านสีทาแห่ง ๑ เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่ที่นั้นปี ๑ ๒ ครั้ง ๓ ครั้งมิได้ขาด ถ้าแม้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระไสแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งขอให้เชิญไปกับพระเสิม ซึ่งอยู่ในพระบวรราชวังนั้น ไปประดิษฐานไว้ในพระอารามหลวง ในพระราชวังณตำบลบ้านสีทานั้นได้แล้ว การจะเป็นงามดีสมควรยิ่งนักหนา พระพุทธรูปมีชื่อเหล่านี้ ถ้าอยู่ในกำแพงพระนคร ก็จะเป็นที่คนต่างๆ ซุบซิบกันบ่นไปเนืองๆ ในคราวที่เหตุบังเกิดมี เพราะฝนในกรุงเทพมหานครน้อยมาหลายปีแล้ว ถึงต้นเข้าได้รอดงามดีก็เพราะน้ำเหนือไหลลงมาช่วย และที่เชิญพระมีชื่อพวกนี้มาไว้ในกำแพงพระนครก็เป็นการขัดกับพระราชดำริแผ่นดินก่อนดังว่ามาแล้ว ราษฎรเป็นอันมากจึงเก็บเอาความนั้นบ่นวิตกได้ ขอพระบารมีโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ได้ทรงชี้แจงให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ ตามความคิดข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ซึ่งคิดจะให้การเป็นไปต้องใจราษฎรเป็นอันมากนี้ด้วย

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด



[๑] พ.ศ. ๒๔๐๗ ฯ

[๒] พ.ศ. ๒๓๒๒ ฯ

[๓] พ.ศ. ๒๓๒๒ ฯ

[๔] พ.ศ. ๒๓๗๐ ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ