๒๐๑. สถานที่ซึ่งทรงก่อสร้างและเปลี่ยนแปลงในรัชชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ทำการพระนคร การวัด ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจนสิ้นแผ่นดิน ที่แล้วบ้างก็มี ที่ยังบ้างก็มี

ดำรัสว่าพระบรมมหาราชวังกว้างนัก ให้ทำเขื่อนเพ็ชร์มีพื้น ๒ ชั้นสูงกว่าเขื่อนเพ็ชร์เก่า ทำเป็นเล่าเต๊งตั้งแต่ท้ายสนมตัดตรงขึ้นไปจดเอาเขื่อนเก่า ด้านตะวันออกในระหว่างเขื่อนเพ็ชร์ใหม่กับเขื่อนเพ็ชร์เดิมนั้น โปรดให้ทำเป็นที่อัฏฐิสถาน ก่อผนังหลังคาเป็นจตุรมุข สำหรับไว้พระอัฏฐิพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีศาลาเป็นบริวารอีก ๔ หลังสำหรับเป็นที่สดับปกรณ์ มีฉางเข้าไว้ด้วยหลัง ๑ เป็นธรรมเนียมสำหรับพระราชวังฝ่ายใน หน้าเขื่อนเพ็ชรทำใหม่นั้น โปรดให้ทำตึกพระราชทานพระราชธิดาและเจ้าจอม พระสนมเอกขึ้นอีกหลายหมู่ ฝ่ายนอกพระราชวังข้างพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยฝ่ายบูรพทิศโปรดให้สร้างพระที่นั่งอย่างฝรั่งขึ้นอีกองค์ ๑ ติดกับฉนวนให้ชื่อพระที่นั่งราชฤดี เป็นที่ประทับว่าราชการเมื่อเวลาว่างออกขุนนาง และให้รื้อเก๋งบอกพระไตรปิฎก ซึ่งอยู่ที่ริมหอพระปริตรไปปลูกไว้หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้พระสงฆ์ไปเรียนหนังสือที่นั้น ให้ทำเก๋งขึ้นที่ริมพระที่นั่งราชฤดีอีก ๒ หลัง หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยขยายกำแพงแก้วออกไปอีกชั้น ๑ ย่อเข้าประจวบกำแพงแก้วเดิม มีประตูใหญ่ชื่อว่าเทวาภิบาล ข้างด้านหอกลองด้านเหนือพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เดิมเป็นเกยช้างก็ให้รื้อเสียทำเป็นเกยพระราชยานขึ้น ย้ายเกยช้างมาไว้ข้างด้านตะวันตกฝ่ายในกำแพงแก้วใหม่ ให้รื้อกำแพงแก้วเดิมเสีย ชักกำแพงสะกัดมีมุขพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าประจบกำแพงแก้วใหม่เป็นสะกัด ทำประตูยอดพรหมพักตร์ไว้ทั้ง ๒ ข้าง ที่มุมกำแพงก็ทำซุ้มตะเกียงไว้ทั้งซ้ายขวา ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเดิมพระแกลพระทวารเป็นผนังเปล่าไม่มีซุ้ม โปรดให้ทำซุ้มจระนำขึ้นทั้งสิ้น

ที่กำแพงพระราชวังชั้นในริมประตูสนามราชกิจ โปรดให้ทำเก๋งพระที่นั่งขึ้นองค์ ๑ ชื่อสีตลาภิรมย์เป็นพระที่นั่งเย็นขึ้นอีกแห่ง ๑ ที่ชาลาหน้าโรงช้างหว่างกะถางไม้ดัดเป็นที่อ่างแก้วปลูกบัวแต่ก่อน โปรดให้ทำกรงใหญ่ใส่นกสัตว์ต่างๆ ให้ชื่อกรงสกุณวัน แล้วให้ทำเก๋งขึ้นริมกรง ๔ ทิศ ๆ บูรพาเป็นพระที่นั่งราชานุราชอาสน์ ด้านทักษิณชื่อเก๋งวรนาฎนารีเสพย์ ด้านประจิมชื่อเก๋งเทพรัตนสถาน[๑] ด้านอุดรชื่อเก๋งสำราญมุขมาตยา ที่ริมฉนวนทางออกวัดพระแก้ว ให้สร้างเก๋งขึ้นอีกหลัง ๑ สำหรับพระสงฆ์เข้ามาพักอาศัย ชื่อสังฆาสนศาลา

ฝ่ายพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทก็โปรดให้ทำปราสาทน้อยองค์ ๑ ที่หลังกำแพงแก้ว ชื่ออาภรณพิโมขปราสาท กำแพงแก้วล้อมปราสาทเดิมเป็นประตูหูช้าง ก็โปรดให้ทำประตูยอดขึ้นทุกประตู ในกำแพงแก้วด้านประจิมทิศโปรดให้ก่อเขาขึ้นไว้สำหรับสรงน้ำเจ้านายโสกันต์ นอกกำแพงแก้วนั้นเป็นที่หัดละครมาแต่เดิม ก็โปรดให้สร้างตึกขึ้นไว้ ๒ หลังสำหรับไว้พระศพเจ้าฝ่ายในหลัง ๑ ชื่อหอธรรมสังเวช หลัง ๑ สำหรับกวนเข้าทิพย์ในพิธีสารท หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนอกกำแพงแก้วฝ่ายทิศอุดรมุมข้างด้านตะวันตกนั้น ทำเป็นตึกมีพื้นชื่อว่าหอพระราชพิธี ไว้พระไสยศาสตร์ สำหรับพระครูพราหมณ์ทำพิธีต่างๆ มุมข้างด้านตะวันออกโปรดให้ทำตึกใหญ่ชื่อตึกกระสาปนสิทธิการ สำหรับทำเงินเหรียญอัฐโสฬส ที่หน้าโรงนาฬิกาก็ก่อเรือนนาฬิกาสูง ๑๐ วา ไว้นาฬิกาใหญ่

และโรงช้างต้นโปรดให้ยกพื้นขึ้นให้พ้นดินทุกโรง โรงม้าต้นนั้นโปรดให้รื้อทำใหม่สูงกว่าเก่า ชั้นนอกศาลาลูกขุนในริมกำแพงก็ให้รื้อทิมเก่าเสียทำเป็นโรงทหารขึ้นหลัง ๑ หว่างศาลาลูกขุนโปรดให้ทำโรงปืนใหญ่หลัง ๑ ที่สระน้ำหน้าศาลาลูกขุนก็ทำเป็นเก๋งลงเขื่อนซ่อมแซมขึ้นใหม่

วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น โปรดให้รื้อมณฑปเก่าซึ่งไว้พระธรรมเปลี่ยนเครื่องบนใหม่ ทำแล้วให้รื้อแผ่นเงินออกเสียสานเป็นเสื่อเงินปูไว้ ด้านตะวันออกโปรดให้สร้างพระพุทธปรางคปราสาทขึ้นองค์ ๑ สูง ๑ เส้น เท่ากันกับมณฑป ทรงพระราชดำริว่าจะเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ในนั้น ด้านตะวันตกมณฑปให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์ ๑ ชื่อพระศรีรัตนเจดีย์ สูง ๑ เส้นเท่ากันกับมณฑปเก่า มีกำแพงแก้วรั้วเหล็กเสาและกรอบทำด้วยศิลาล้อมทั้งพระพุทธปรางปราสาท เป็นบริเวณเดียวกัน ได้บริกรรมการอื่นเพิ่มอีกเป็นหลายสิ่ง หลังพระอุโบสถนั้น โปรดฯ ให้สร้างพระพิหารน้อย ๒ หลัง หลังเหนือไว้รูปพระพุทธเจ้า ๓๔ ปาง จารึกอุททิศถวายกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาเดิมทั้ง ๓๔ พระองค์ แล้วให้เขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงเก่าไว้ที่ผนังด้วย หลังใต้ไว้พระพุทธรูป ๓ ปาง จารึกอุททิศถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงไปแล้ว ให้เขียนเรื่องสร้างกรุงอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาไว้ที่ผนังด้วย ในพื้นพระอุโบสถเดิม แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ชักลวดทองเหลืองเป็นเส้นแบบสานเป็นเสื่อปูพื้นไว้ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ให้ช่างหล่อทองเหลืองเป็นแผ่นอิฐหนากึ่งนิ้วปูพื้นเสียใหม่จะได้ขัดสีง่าย โปรดให้ชักพระระเบียงย่อออกไปข้างตะวันออกตรงพระพุทธปรางปราสาท โอบพระปรางค์ไว้ ๒ พระองค์ ด้านตะวันตก โปรดให้ชักพระระเบียงตรงพระศรีรัตนเจดีย์ย่อออกไปเหมือนด้านตะวันออก ภายหลังเมื่อปีเถาะ นพศก โปรดให้รื้อหลังคาพระอุโบสถเปลี่ยนตัวไม้เป็นตัวๆ เป็นแห่งๆ

ภายในพระบรมมหาราชวัง พระราชมนเทียรที่ในสวน ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็โปรดให้ซ่อมแซมทำเสียใหม่ แต่ผนังเดิมนั้นปิดทองร่อนชาดก็โปรดให้ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำเรื่องพระพุทธเจ้า มีในพระสูตรต่างๆ ทั้ง ๓ พระองค์ แล้วสร้างพระเจดีย์ทองเหลืองกาไหล่ทองคำองค์ ๑ ฐาน ๓ ศอก สูง ๗ ศอก ตั้งเครื่องสักการบูชาเป็นอเนกอนันต์ แต่พระมหามนเทียรนั้นก็พระราชทานชื่อว่าพระพุทธมนเทียรทั้ง ๓ องค์

ตรงหน้าพุทธมนเทียร ด้านตะวันออก โปรดให้สร้างพระวิหารองค์ ๑ เสาและฝาผนังพนักแล้วไปด้วยศิลา เช็ดหน้าบานประตูหน้าต่างประดับมุกด์ ภายในปูเสื่อสานด้วยเงิน ทั้งชุกชีทำด้วยงาช้าง มีพานแว่นฟ้าหุ้มทองคำจำหลักหลายชั้น ๑ มีพระมณฑปสูง ๘ ศอกหุ้มทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน์ ภายในมณฑปไว้พระพุทธบุษยรัตนจักพรรดิพิมลมณีมัย ผนังและเพดานดาดด้วยกะจกเงามีเครื่องสักการบูชาเป็นอันมาก พระพิหารนั้น พระราชทานชื่อว่าพระพุทธรัตนสถาน ข้างด้านตะวันออกมีหอระฆังทำเป็นมณฑปล้วนด้วยศิลาทั้งสิ้น ด้านข้างพิหารนั้นมีอ่างแก้วซ้ายขวา ข้างทิศใต้เป็นทะเล ข้างทิศเหนือเป็นป่าและเขา ทำนองแผนที่ในพระราชอาณาจักรทั้งปักษ์ใต้ปักษ์เหนือ ภายในพระพิหารมีเสาศิลาปักไว้ ๔ ต้น หล่อทองเหลืองเป็นรูปพระราชลัญจกรทั้ง ๔ แผ่นดินตั้งอยู่ปลายเสา แล้วสร้างพระปรัศว์ซ้ายขวาไว้ ๒ หลังแล้วไปด้วยศิลาทั้งสิ้น ด้านตะวันตกหลังพระพุทธมนเทียรโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์ ๑ ชื่อมหิศรปราสาท ภายในประดิษฐานพระปฎิมากรรูปต่างๆ และพระไตรปิฎก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาไว้ ชักกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในกำแพงแก้วที่พื้นมีเครื่องตั้งวิจิตรแล้วไปด้วยศิลาต่างๆ รวมในบริเวณนั้นเรียกว่าพุทธนิเวศน์ อุททิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งสิ้น

นอกกำแพงแก้วตรงพุทธนิเวศน์ด้านตะวันออกนั้น ทำเป็นสวนปลูกพรรณดอกไม้ได้มาแต่เมืองประเทศต่างๆ ในสวนนั้นโปรดให้ทำปราสาทน้อยๆ ขึ้นไว้เทวรูปทำด้วยแก้วผลึกสูง ๑๕ นิ้ว เป็นหลักสำหรับรักษาพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน ฝ่ายทิศทักษิณแห่งพระพุทธมนเทียรเป็นเก๋งโรงละครเดิม ก็โปรดให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่าพระธรรมสภาศาลา สำหรับกรมฝ่ายในทำบุญมีเทศนาที่นั้น การทั้งนี้กรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่าง

และการในพระนครก็ให้เจ้าพนักงาน มีนายด้านซ่อมแซมกระทำขึ้นใหม่เป็นอันมาก ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ก็ให้ปักเสานางเรียงเรียกว่าท้องสนามไชย ที่ทุ่งพระเมรุก็ให้ชื่อท้องสนามหลวง ด้านข้างใต้ริมพระราชวังโปรดฯ ให้สร้างเป็นพระวิหารน้อยไว้พระคันธารราฐสำหรับพระราชพิธีพรุณศาสตร์ แล้วสร้างหอพระไสยศาสตร์ไว้พระพิฆเนศวร สำหรับทำพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล และสร้างพลับพลาโรงละครขึ้นไว้ในการพิธีนั้นด้วย แล้วสร้างพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรทำนาอีกหลัง ๑ สร้างฉางเข้าไว้เข้าซึ่งได้ในนานั้นด้วย แล้วก่อกำแพงล้อมรอบเป็นบริเวณ

และที่ศาลเจ้าหลักเมือง ศาลเจ้าพระกาฬ และศาลพระเสื้อเมือง (พระ) ทรงเมืองนั้น เดิมเป็นแต่หลังคาตัวไม้มุงกระเบื้อง ทรงพระกรุณาโปรดให้ช่างก่อรอบมียอดปรางค์เหมือนอย่างศาลเจ้าพระกาฬที่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเก่าทั้ง ๔ ศาล และที่หอกลองนั้นเดิมชั้น ๒ ชั้น ๓ ขัดแตะถือปูนทำเป็นยอดเกี้ยวโปรดให้ทำใหม่ ก่อผนังถือปูนแปลงเป็นยอดมณฑป

และท้องสนามข้างถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์นั้นโปรดให้ทำเป็นตึกแถวขึ้นหลัง ๑ ยาว ๔๐ ห้อง ให้ครูสอนหนังสือและครูหัดทหารอย่างยุโรปอยู่บ้าง ให้ลูกค้าแขกฝรั่งเศสเช่าค้าขายอยู่บ้าง และทำตึกต่อมาอีก ๕ หลัง สำหรับพวกทหารที่หัดอย่างยุโรปอยู่บ้าง

ฝ่ายด้านน้ำนอกกำแพงพระนคร พระตำหนักน้ำเดิมทำเป็นตำหนักปักเสาลงในน้ำ ทอดคาน

ทำเหมือนพระตำหนักแพเดิม หลังคามุงกระเบื้อง จึงโปรดให้รื้อทำเสียใหม่ ให้ก่ออิฐถมที่ขึ้นเสมอพื้นดินปลูกเป็นที่พระที่นั่งฝ่ายหน้าฝ่ายใน และองค์กลางที่ประทับหลัง ๑ พลับพลาข้างหน้าชื่อชลังคพิมาน องค์กลางชื่อทิพยสถานเทพยสถิต องค์เหนือชื่อราชกิจวินิจฉัย องค์ใต้ชื่ออนงค์ในสราญรมย์ ทำป้อมขึ้น ๒ ป้อม เหนือน้ำชื่อป้อมพรหมอำนวยศิลป์ ใต้น้ำป้อม ๑ ชื่ออินทรอำนวยศร ที่พระตำหนักน้ำนั้น ก่อเป็นกำแพงล้อม สำหรับเป็นที่ส่งพระเจ้าลูกยาเธอหัดว่ายน้ำในที่นั้น ที่ท่าหน้าพระตำหนักให้ชื่อว่าท่าราชวรดิฐ ท่าขุนนางขึ้นพระราชทานชื่อว่าท่านิเวศน์วรดิฐ แล้วโปรดให้ทำเพิงที่ริมฉนวนอีกหลัง ๑ สำหรับให้ขุนนางเฝ้าเมื่อเวลาเสด็จกลับจากลอยพระประทีป



[๑] สมมติเทพยสถาน ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ