๑๕๐. เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐

ครั้นมาถึงเดือน ๑๑ ทรงพระราชดำริว่า พระชนมพรรษาครบเต็มบริบูรณ์ ๖๐ จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างใหญ่เหมือนอย่างเจ้าแผ่นดินเมืองจีนและเมืองยุโรป เขาทำก็เป็นการใหญ่ตามวิสัยเขา เมื่อเวลาครบ ๖๐ ปี จึงโปรดฯ ให้ตั้งสวดพระพุทธมนต์และมีพระธรรมเทศนา ณวันเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ[๑] ได้พระฤกษ์สรงน้ำพระมุรธาภิเศก พระบรมวงศานุวงศ์ท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยคิดกันทำการฉลองพระเดชพระคุณ เพื่อจะให้พระชนมายุเจริญนาน จึงเป่าร้องบอกกล่าวกันทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ในพระราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร ให้นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีธรรมเทศนาถวายไทยทานพร้อมกัน ณวันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๑๔ ค่ำ

ครั้งนั้นจะหาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ก็ต้องแย่งชิงกัน พระสงฆ์ไม่พอ ปี่พาทย์หามาทำเมื่อสวดมนต์เย็นฉันเช้าราคาก็ถึงวันละ ๑๕ ตำลึง ละครเหมาเล่นอยู่วันละ ๒ ตำลึงราคาก็ถึง ๑ ชั่ง เวลากลางคืนก็พากันไปจุดประทีปผูกเป็นโคมรูปต่างๆ ชักขึ้นบนเสาธง ที่พื้นแผ่นดินทำเป็นลับแลไฟบ้าง ทำเป็นเรือนไฟต่างๆ กันบ้าง ที่บ้านใหญ่ประมาณไฟถึง ๕๐๐ - ๖๐๐ ดวง ที่ผู้น้อยก็อยู่ใน ๑๐๐ หรือ ๑๐๐ เศษ ลูกค้าต่างประเทศ และกงสุลก็พลอยมีความยินดี ทำโคมเป็นรูปต่างๆ อย่างยุโรป ชักขึ้นเสาธงบ้าง ที่เรือชักขึ้นเสากระโดงบ้าง ทุกบ้านทุกเรือน จนชั้นแต่ราษฎรที่ยากจนก็พากันติดโคมแขวนหน้าบ้านหน้าเรือน ๑ ดวง ๒ ดวง ทุกบ้านทุกเรือน มิได้เว้นในน้ำบนบก ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ มาจนวันแรม ๕ ค่ำ[๒] ดูสว่างไปทั้งแผ่นดิน เป็นอัศจรรย์ด้วยอำนาจพระบารมี จึงได้มีคนพากันนิยมชมชื่นรื่นเริงไม่ได้คิดที่ว่าจะเสียทรัพย์สินไป

ครั้นทรงทราบว่าคนนิยมชมชื่น พากันจุดประทีปทั้งบ้านทั้งเมือง ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งกลไฟในเวลากลางคืน ทอดพระเนตรโคมตลอดทั้งเหนือน้ำทั้งใต้น้ำ ครั้งนั้นได้ทรงทราบว่า คนทั้งปวงจะพากันสวดมนต์เลี้ยงพระในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็จะพากันซื้อเนื้อสดปลาสดมาทำบุญ ที่เคยฆ่าสัตว์ซื้อขาย ก็จะฆ่าสัตว์ซื้อขาย ชีวิตสัตว์ก็จะตายไปมากกว่ามากนัก โดยทรงพระมหากรุณาเมตตาแก่สัตว์ จึงให้มีหมายประกาศห้ามคนทั้งปวงที่จะทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ อย่าให้ซื้อเนื้อสดปลาสดมาทำของเลี้ยงพระ ให้ใช้แต่เครื่องเค็มตามกำลังที่จะหาได้ การเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งนั้นทั่วหัวเมือง และในพระราชอาณาจักร กงสุลฝ่ายสยามที่ได้ทรงตั้งไปอยู่เมืองต่างประเทศรู้เหตุแต่เดิมก็มีหนังสือถามเข้ามาว่าวันไรเป็นแน่ เจ้าพนักงานก็ได้บอกออกไป กงสุลเหล่านั้นก็ได้ทำตามวิสัยเขา ก็เป็นพระราชกุศลใหญ่คราว ๑

เมื่อวันสรงนั้น ก็ได้พระราชทานเงินแก่คนชราพิการ คนอายุ ๑๐๐ ปี ๗ คนๆ ละ ๑ ตำลึง ๒ บาท เงิน ๑๐ ตำลึง ๒ บาท คนอายุ ๙๐ ปี ๑๕ คนๆ ละตำลึง เงิน ๑๕ ตำลึง อายุ ๘๐ ปี ๒๓ คนๆ ละ ๓ บาท เงิน ๑๗ ตำลึง ๑ บาท อายุ ๗๐ ปี ๒,๓๓๗ คนๆ ละ ๒ บาท เงิน ๕๘ ชั่ง ๘ ตำลึง ๒ บาท รวมเป็นคน ๒,๓๘๒ คน สิ้นพระราชทรัพย์ ๖๐ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๑ บาท



[๑] วันที่ ๑๙ ตุลาคม ฯ

[๒] พฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ