๒๐๒. การพระราชกุศล

และการพระราชกุศลนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันสงกรานต์ขึ้นเถลิงศกและวันวิสาขบูชา ก็มีธรรมเทศนาทำการสมโภชเวียนเทียนมีดอกไม้เพลิงและเครื่องประโคมต่างๆ และมีโคมรูปตราบรรดาศักดิ์ พระราชาคณะและเจ้าต่างกรมและเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรมข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกพนักงาน ทำสักการบูชาในวันวิสาขบูชา ๓ วัน ๓ คืน เสด็จกลับจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประทับพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว พระราชทานธรรมเทศนาให้กรมฝ่ายในฟังจนรุ่งสว่างทั้ง ๓ วันทุกปี

ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทุกๆ พระองค์ ในวันประสูติวัน ๑ วันสวรรคตวัน ๑ ทุกๆ ปี มิได้ขาด และการพระราชกุศลอื่นอีกเป็นการฉลองพระบ้าง ฉลองวัดบ้าง

และการพระราชพิธีตรุษ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ได้มีละครสมโภชพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วเลี้ยงโต๊ะเจ้านายขุนนางและกงสุลต่างประเทศด้วยทุกปี

ครั้นถึงพิธีถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง แต่ก่อนก็เป็นแต่ขุนนางภรรยาเข้าไปรับน้ำพระพิพัฒนสัตยา ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเท่านั้น กรมพระราชวังและพระบรมวงศานุวงศ์ก็เข้าไปเฝ้าอยู่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพนักงานก็นำน้ำเข้าไปถวายให้เสวยหน้าพระที่นั่ง ก็ครั้งนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าการถือน้ำพิพัฒนสัตยาเป็นการใหญ่ จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยรับน้ำพระพิพัฒนสัตยาแต่ฝ่ายเดียว ก็ไม่เป็นการยุตติธรรมต่อกัน ถ้าถือดังนั้นก็ผู้รับน้ำพระพิพัฒนสัตยาก็ต้องรักษาความสุจริตแต่ฝ่ายเดียว พระเจ้าแผ่นดินไม่ถือด้วย จะคิดร้ายประการใดๆ ก็ได้ ความสุจริตข้าง ๑ รักษา ข้าง ๑ ไม่รักษาก็ไม่สมควร ต้องรักษาด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย น้ำพิพัฒนสัตยาจึงจะศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นถึงวันพระราชพิธีถือน้ำจึงได้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเป็นส่วนในหลวง ๓๐ รูป ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการในพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังคนละรูป เป็นพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจริญพระปริตรในเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำวัน ๑ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำวัน ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปฟังพระสงฆ์เจริญพระปริตร ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าเป็นวันรับน้ำพระพิพัฒนสัตยาก็เสด็จไปปรนนิบัติพระสงฆ์ ข้าราชการก็ทำเข้ากระทงไปถวายพระสงฆ์ตามผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกพระองค์ แล้วทรงกระทำสัตย์รับน้ำพระพิพัฒนสัตยาก่อน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการก็ตั้งความสัตย์สุจริตอ่านคำสาบานถวาย แล้วก็รับน้ำพระพิพัฒนสัตยาเป็นลำดับกันตามผู้ใหญ่ผู้น้อยในพระอุโบสถ แล้วก็ออกมากำกับให้หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาทุกตัวคน แล้วก็เสด็จขึ้นกระทำสักการบูชาพระบรมอัฏฐิ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่สมควร ก็ตามเสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง จุดธูปเทียนดอกไม้กราบถวายบังคมพระบรมอัฏฐิขอเอาพระเดชพระคุณเป็นที่พึ่ง

ครั้นมาถึงหน้าฤดูแล้งฤดูน้ำก็ดี มีพระราชอุตสาหะเสด็จไปนมัสการพระสถูป และถวายไทยธรรมพระสงฆ์และทอดพระกฐินหัวเมืองต่างๆ บ้าง และเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคเป็นกระบวนพยุหยาตราเรือ พระราชทานผ้าพระกฐินเสมอทุกปีมิได้ขาด

และความฎีกานั้นทรงพระราชดำริว่า ผู้จะเข้ามาตีกลองร้องถวายฎีกาได้ยากลำบาก เขาจะต้องเสียเงินค่าไขกุญแจ จึงโปรดให้เลิกตีกลองเสีย ยกเอากลองวินิจฉัยเภรีไปทำหอไว้ที่ริมป้อมสิงขรขัณฑ์ ถึงวันถือน้ำก็ให้ ๆ ขุนศาลไปเวียนเทียนสมโภชทุกคราว ป่าวร้องให้ราษฎรมาร้องถวายฎีกาที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในวันขึ้น ๗ ค่ำ แรม ๗ ค่ำบ้าง แรม ๑๓ ค่ำ บ้าง เสด็จออกรับฎีกาของราษฎรเสมอ ถ้าเป็นการร้อนจะร้องเมื่อไรก็ได้ ฎีกาครั้งนั้นมาก คราว ๑ ก็ถึง ๑๐ ฉะบับ ๒๐ ฉะบับ ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ก็ระวังตัวไม่อาจที่จะเบียดเบียนข่มเหงราษฎร ด้วยทรงพระมหากรุณาเมตตาแก่ราษฎรโปรดพระราชทานยกโทษเสีย ถึงจะเอาเท็จเข้ามากล่าวก็ไม่มีโทษ ครั้นจะเอาโทษก็กลัวจะเลื่องลือไปว่า เข้ามาร้องถวายฎีกาต้องถูกรับพระราชอาชญาจะพากันตื่นไป แล้วก็พระราชทานจ่ายไปให้ตำรวจบ้าง ขุนนางบ้าง ตุลาการเดิมบ้างชำระ การก็ไปติดอยู่ปี ๑-๒ ปี จึงแล้วก็มี ภายหลังมีปัญญาคนโกงเห็นว่า ความจะแพ้เขาแล้ว ก็เข้าไปร้องถวายฎีกา ลากหนามจุกช่องไว้แต่พอให้ความยาวไปดังนี้ก็มีโดยมาก ด้วยพระราชกิจการมีมาก ส่งไปแล้วก็ไม่ได้ไถ่ถามต่อไป ความใหม่ก็ทับเข้ามามากทุกๆ เดือน เพราะฉะนั้นความฎีกาจึงมากกว่ามากนัก

ทรงพระกรุณาเมตตาแก่ราษฎร พระนครก็สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยสมบัติ ฝนก็ตกต้องตามฤดู ลูกค้าวาณิชมาตั้งห้างค้าขาย สิ่งของต่างๆ ที่ไม่เห็นก็ได้เห็น ของที่ไม่เคยมีก็มีขึ้น และลูกค้านานาประเทศเข้ามาค้าขายซื้อเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๓๐๐ ลำ บางปีก็ถึง ๔๐๐ ลำ ราษฎรก็ได้ขายเข้าไปแก่ลูกค้านานาประเทศ เป็นจำนวนเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๘๐,๐๐๐ เกวียนบ้าง ๘๐,๐๐๐ เกวียนเศษบ้าง และภาษีฝิ่นก็ได้เงินปีละ ๖,๐๐๐ ชั่ง ๗,๐๐๐ ชั่ง เงินค่านาก็ถึง ๔,๐๐๐ ชั่ง ๕,๐๐๐ ชั่ง ราษฎรก็ได้มั่งมีเงินทองขึ้นทุกแห่งทุกตำบล จนชั้นแต่ลาวเป็นคนเกียจคร้านไม่ใคร่จะทำไร่ไถนายากจนทรพลยิ่งกว่าภาษาอื่นๆ หาเช้ากินค่ำตำเข้ากรอกหม้อขอทานเขากิน ทุกวันนี้มีเงินซื้อกินไม่เหมือนแต่ก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ