๑๑๙. การรับและสมโภชพระเศวตสุวรรณาภาพรรณ ช้างพังสีประหลาด

ในเดือน ๔ นั้น พระรัตนวงศาอุปฮาดราชวงศ์เมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ช้างพังสีประหลาดช้าง ๑ ที่กระแจะป่าฉะมาตฉะบา แขวงข่าลัดแด สูง ๓ ศอก คืบ ๙ นิ้ว ฝึกหัดเชื่องราบแล้วเดินช้างลงมาถึงวังจันทรเกษมวันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พักช้างอยู่ที่วังจันทรเกษมแล้วเสด็จขึ้นไปสมโภช ๓ วัน ๓ คืนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับลงมารับสั่งว่า ช้างนี้จะจัดเอาเป็นช้างเผือกโทก็ได้ โปรดให้ปลูกโรงสมโภชหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์เหมือนอย่างพระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ และให้ปลูกโรงให้อยู่ต่อยืนโรงพระมหาศรีเศวตวิมลวรรณมาอีกหลัง ๑ เจ้าพนักงานได้เร่งรัดกันทำโรงสมโภชและโรงอยู่

ลุศักราช ๑๒๒๕ ปีกุน เบญจศก[๑] เป็นปีที่ ๑๓ โรงช้างทำแล้ว ช้างได้ลงแพล่องลงมาถึงวัดเขียน ณวันพฤหัสบดีเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ[๒] ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับมาถึงท่าพระ ครั้นณวันศุกรเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้แต่งช้างสีประหลาดลงไปรับทุกๆ ช้าง แล้วเสด็จลงไปรับที่ท่าพระด้วย ตามถนนที่แห่ช้างขึ้นมานั้น มีราชวัติฉัตรเบญจรงค์ปักรายขึ้นมาถึงโรงสมโภช ครั้นเวลาบ่าย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีการมหรสพทำขวัญ ๓ วัน ๓ คืน ช้างนั้นถ้าจะประสมสี ๆ เหลืองเป็นพื้น เจือแดงเจือฝุ่นน้อย จารึกนามในท่อนอ้อยว่า พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ สรรพางคพิบูลยลักษณ เผือกเอกอรรคอุดม บรมรัตนราชกริณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนคร สุนทรสุภโสภณ มิ่งมงคลคชคุณ อดุลยกิริยามารยาท ช้างชาติอุโบสถ ลักษณปรากฏพร้อมมูล บริบูรณ์บัณฑรนัขเนตร โลมเกศกายฉวี วรรณศรีทองผ่องแผ้ว เป็นกุญชรีแก้วกำเนิดพรหมพงศ์ ดำรงราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดีปรเมนทรมหาราช วรวิลาศเลิศฟ้า พระราชทานให้ช้างรับต่อพระหัตถ์ เสร็จการสมโภชตั้งชื่อแล้ว ก็แห่เข้ามาผูกยืนโรงไว้ที่ทำใหม่ สวดมนต์ทำขวัญ ๓ วัน แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคบริโภคให้พระรัตนวงศา และหมอควาญ กับเงิน ๑๐ ชั่ง

ช้างเผือก ๕ ช้างนี้คล้องได้มาป่าเดียวกัน สีสันก็คล้ายๆ กัน เป็นแต่ยิ่งกว่านั้น เหมือนช่างเขียนประสมสีสิ่งนั้นมากบ้าง สิ่งนี้น้อยบ้าง สีจึงไม่ตรงกันได้



[๑] พ.ศ. ๒๔๐๖ ฯ

[๒] วันที่ ๒ เมษายน ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ