๒๗. สมณทูตไทยไปลังกาทวีป

ครั้นมาถึงเดือน ๒ ทรงพระราชดำริว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ได้แต่งพระสงฆ์ออกไปลังกาครั้ง ๑ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้แต่งพระสงฆ์ออกไปอีก ๒ ครั้ง และหนังสือบาลีเก่าที่ยืมเข้ามาแต่ก่อนก็ยังมิได้ส่ง กับชาวลังกาได้ฝากของพระสงฆ์ไทยเข้ามาถวายหลายสิ่ง นานแล้วยังหาได้พระราชทานตอบแทนออกไปไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานแต่งกำปั่นสยามพิภพลำ ๑ หมื่นแกล้วสาครเป็นกัปตัน นายทรัพย์มหาดเล็กข้าหลวงเดิม[๑] เป็นนายเรือ ขุนอาจอรรคนิกร[๒] ปลัดกรมรักษาพระองค์ ปืนปลายหอกขวานาย ๑ นายพุ่มมหาดเล็ก[๓] ข้าหลวงเดิมเป็นข้าหลวงจัดซื้อพลอยนาย ๑ นายนุชอาจารย์ ๑ นายเปี่ยม[๔] อาจารย์ ๑ เป็นข้าหลวงคุมดอกไม้ทองเงินธูปเทียนขึ้นไปบูชาพระทันตธาตุ ณเมืองสิงขัณฑ์และของที่จะพระราชทานชาวลังกาด้วย ฝ่ายข้างพระสงฆ์โปรดฯ ให้พระอโนมมุนี[๕] ราชาคณะวัดประทุมคงคา ๑ พระมหาชื่น เปรียญ วัดพิไชยญาติ ๑ พระมหาหรุ่น เปรียญ วัดบวรนิเวศ ๑ พระอันดับ ๗ รูป รวมสงฆ์ ๑๐ รูป คุมหนังสือพระคัมภีร์ที่พระสมุทรมุนียืมมาแต่ครั้งก่อนไปส่งด้วย

ครั้นณวันพุธ เดือน๑ แรม ๑๑ ค่ำ[๖] มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ที่จะไปราชการที่เมืองลังกานั้นเข้ามาฉันณพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ทรงถวายไตรแพรบริกขารพร้อมแก่พระสงฆ์ทั้ง ๑๐ รูป แล้วพระราชทานเงินตรามอบให้กัปปิยการกสำหรับพระสงฆ์ใช้สอยองค์ละ ๑ ชั่งบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง ไวยาวัจจกรพระสงฆ์ที่จะไปด้วยนั้น ก็ให้พระราชทานเสื้อแพรมังกรเสื้อ ๑ เงินตราคนละ ๕ ตำลึง ครั้นพระสงฆ์รับไทยทานของหลวงเสร็จแล้ว พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณี ได้ถวายผ้าไตรพระสงฆ์อีกองค์ละ ๑ ไตรและประทานเงินตรามอบให้กัปปิยการกสำหรับพระสงฆ์ใช้สอยอีกองค์ละ ๕ ตำลึง ต่อหน้าพระที่นั่งเป็นส่วนของพระองค์เจ้ากัลยาณี ครั้นพระสงฆ์ถวายพระพรลาแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ฝ่ายข้าราชการ ขุนอาจอรรคนิกร นายทรัพย์มหาดเล็ก นายพุ่มมหาดเล็ก นายนุชอาจารย์ นายเปี่ยมอาจารย์ กราบถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระราชทานเงินตราคนละ ๑ ชั่งบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง และผ้าปูมเขมร ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ กาถมตะทอง ๑ โต๊ะถมตะทอง ๑ เป็นเครื่องยศทุกนาย แต่มหาดเล็กที่จะให้ไปหัดเป็นทหารเรือ ๒๐ คนนั้น ให้พระราชทานเงินตราคนละ ๓ ตำลึง ผ้าม่วงจีน ๑ เสื้อแพรมังกร ๑ ทุกคน

ครั้นณวันศุกร เดือน ๒ แรม ๑๓ ค่ำ[๗] พระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวง เข้าไปถวายพระพรลาในพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายผ้าไตรบริกขารพร้อมทั้ง ๑๐ รูป

ครั้นณวันเสาร์ เดือน ๒ แรม ๑๔ ค่ำ เจ้าพนักงานจัดเรือแจว ๒ ลำ มารับพระสงฆ์ ๑๐ รูปลำ ๑ รับข้าราชการซึ่งคุมของหลวงนั้นลำ ๑ ลงไปส่งถึงกำปั่นสยามพิภพซึ่งทอดอยู่นอกสันดอนเมืองสมุทรปราการ

ครั้นณวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ[๘] ก็ใช้ใบไปจากสันดอนไปถึงเมืองสิงคโปร นายพุ่มมหาดเล็กได้เชิญพระราชหัตถเลขาไปพระราชทานมิสชาติเจ้าเมืองที่ ๒ ฉะบับ ๑ พระราชทานจีนนายห้างชื่อตันกิมจิ๋งฉะบับ ๑ ครั้นณวันอังคาร เดือน ๓ แรมค่ำหนึ่ง ๑ มิสชาติเจ้าเมืองที่ ๒ ตันกิมจิ๋งลงมาคำนับพระสงฆ์ที่กำปั่นสยามพิภพ เชื้อเชิญพระสงฆ์และข้าราชการให้ขึ้นไปพักอยู่บนตึกตันกิมจิ๋ง ณวันพุธ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ พระสงฆ์และข้าราชการได้ขึ้นไปพักอยู่บนเมืองสิงคโปร์ประมาณ ๑๑-๑๒ วัน หมื่นแกล้วสาครกัปตัน นายทรัพย์นายเรือจัดสะเบียงอาหารเสร็จแล้ว พระสงฆ์และข้าราชการได้ไปลามิศชาติ ตันกิมจิ๋ง แล้วลงไปอยู่กำปั่น ครั้นณวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ[๙] กำปั่นสยามพิภพได้ใช้ใบออกจากเมืองสิงคโปร์ ณวันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ[๑๐] ไปถึงเกาะลังกาที่หน้าเมืองคาลุ[๑๑] ขุนอาจอรรคนิกร หมื่นแกล้วสาครให้ทหารยิงสลุตในเรือ ๑๙ นัด ทหารบนเมืองคาลุก็ยิงสลุตรับ ๑๙ นัดเหมือนกัน แล้วขุนอาจอรรคนิกรได้เชิญพระราชหัตถเลขาไปพระราชทานเจ้าเมืองคาลุฉะบับ ๑ พระราชทานโรตมละก๊อกเจ้าเมืองที่ ๒ ฉะบับ ๑ นายนุชอาจารย์ นายเปี่ยมอาจารย์ได้เชิญสมณศาส์น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ และราชาคณะกรุงเทพมหานครถึงมหาสังฆนายกวัดวาลุคารามฉะบับ ๑ ถึงพระสิริสุมน (ติสส) วัดปรมานันทวิหารฉะบับ ๑

ครั้นณวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ พระสิริสุมนพระกรุณารัตนกับขุนนางฝ่ายลังกาที่มีชื่ออีกหลายนาย จัดเรือเป็นกระบวนแห่ตามประเทศชาวลังกา ลงมาที่กำปั่นสยามพิภพคอยรับพระสงฆ์ หมื่นแกล้วสาครกัปตันจัดเรือกรรเชียง ๓ ลำ ให้พระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวง ขุนอาจอรรคนิกรจัดทหารมหาดเล็ก ๒๐ คน แต่งตัวอย่างยุโรป ๔๐ คน รวมทหาร ๖๐ คน แต่งตัวสวมเสื้อหมวกสพายดาบแบกปืนเป็นกระบวนไปด้วยเรือแห่ พวกลังกาก็แวดล้อมไปจนถึงท่าเมืองคาลุ แล้วมีพระสงฆ์และขุนนางลังกามาคอยรับอยู่ที่ท่าเป็นอันมาก เมื่อพระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวงจะเดินขึ้นไปนั้น มีพวกลังกาแต่งตัวเป็นละครเต้นรำไปหน้าพระสงฆ์พวก ๑ มีทหารลังกาบ้างทหารในกำปั่นสยามพิภพบ้างแห่หน้าหลัง พวกลังกาถือเพดานผ้าขาวบังร่มไปด้วย ถนนที่จะเดินนั้นปูเสื่อลวดชั้น ๑ ปูผ้าขาวชั้น ๑ ราษฎรชาวบ้านตั้งเครื่องโต๊ะบูชา ๒ ฟากถนนและมายืนคอยดูร้องสาธุการ โปรยเข้าตอกดอกไม้จนถึงวัดปรมานันทวิหาร หนทางที่จะไปวัดปรมานันทวิหารนั้น ไกลท่าประมาณสัก ๑๐๐ เส้น พระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวงถึงวัดปรมานันทวิหารเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ โรตมละก้อกเจ้าเมืองที่ ๒ ก็มาเยี่ยมพระอโนมมุนีในเวลานั้น พูดอยู่สักครู่หนึ่งแล้วโรตมละก้อกก็ลากลับไป

ครั้นณวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ[๑๒] นายนุชอาจารย์ นายเปี่ยมอาจารย์ได้ขนของขึ้นจากกำปั่นสยามพิภพ มีหนังสือคัมภีร์และดอกไม้ทองเงินเครื่องบูชาพระทันตธาตุบ้าง และของพระราชทานชาวลังกาบ้าง ขึ้นไปพักอยู่วัดปรมานันทวิหาร และได้จดหมายรายชื่อตามบัญชี ส่งให้พระสิริสุมนบอกกล่าวเป่าร้องพระสงฆ์พวกรามัญวงศ์บ้าง พวกอุบาลีวงศ์บ้าง และคฤหัสถ์ที่ได้ถวายของแต่ครั้งก่อนบ้าง ให้มารับไทยทานและรับพระราชทานของตอบแทนพร้อมกันณวัดปรมานันทวิหาร และพระอโนมมุนีให้กรุณารัตนขุนนางชาวลังกาจัดรถเทียมด้วยม้ารถ ๑ ให้นายนุชอาจารย์ คุมดอกไม้ทองเงินของหลวงขึ้นไปบูชาพระทันตธาตุเมืองสิงขัณฑ์ นายนุชอาจารย์ได้ออกจากวัดปรมานันทวิหารเมืองคาลุ ณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ[๑๓] ครั้นณวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ[๑๔] เป็นวันมาฆบูชา พระอโนมมุนีได้ให้พระสิริสุมนชักชวนพระสงฆ์ลังกา และสัปบุรุษมาประชุมพร้อมกันที่วัดปรมานันทวิหาร พระอโนมมุนีได้เทศนาเป็นภาษามคธ พระสิริสุมนได้แปลออกเป็นภาษาลังกาสั่งสอนพระสงฆ์ และสัปบุรุษเป็นอันมาก ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่งเวลาวันนั้น

ครั้นณวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ สิ้นการมาฆบูชาแล้ว พระสงฆ์คฤหัสถ์ชาวลังกาที่มีชื่อในบัญชีนั้น ก็มาถึงวัดปรมานันทวิหาร พระอโนมมุนีได้จำหน่ายของหลวงถวายพระสงฆ์ชาวลังกา ลางองค์ได้ไตรแพร บาตร ย่ามบ้าง ลางองค์ได้แต่ไตรแพรเปล่าบ้าง รวมพระสงฆ์ลังกาที่ได้รับไทยทานของครั้งนั้นประมาณ ๓๐ รูป คฤหัสถ์มีชื่อในบัญชีได้รับพระราชทานผ้าปูมเขมร ๑ แพรหงอนไก่เพลาะ ๑ บ้าง ได้แต่ผ้าม่วงจีน แพรหงอนไก่แถบ ๑ บ้าง รวมคฤหัสถ์ลังกาได้รับพระราชทานของหลวงครั้งนั้นประมาณสัก ๒๐ คน พระอโนมมุนีจำหน่ายของหลวงตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ จนถึงณวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำจึงเสร็จ แล้วพระอโนมมุนีจึงจัดให้มหาชื่น ๑ มหาหรุ่น ๑ คุมหนังสือคัมภีร์ต่างๆ และให้พระสิริสุมนช่วยพาไปส่งเจ้าของตามบัญชีเดิม ซึ่งพระสมุทรมุนียืมมาแต่ครั้งก่อน

ครั้นการส่งหนังสือ และจำหน่ายของหลวงที่เมืองคาลุเสร็จแล้ว ณวันอังคาร เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ[๑๕] พระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวง ชวนพระสิริสุมนไปหาโรตมละก้อกเจ้าเมืองที่ ๒ คำนับกันตามมเนียมแล้ว พระอโนมมุนีพูดกับโรตมละก้อก ว่าราชการที่เมืองคาลุก็สำเร็จแล้ว แต่พระสงฆ์ทั้งปวงนี้อยากจะขึ้นไปนมัสการพระทันตธาตุ ณเมืองสิงขัณฑ์ ถ้าเจ้าเมืองกลำบู[๑๖] และเจ้าเมืองสิงขัณฑ์รับรองแข็งแรงไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินสยามแล้วจึงจะขึ้นไป ถ้าไม่รับรองแล้วก็จะไม่ไป ต้องลาท่านกลับเข้ากรุงเทพมหานคร โรตมละก้อกตอบว่าจะต้องมีหนังสือถึงเจ้าเมืองกลำบู และเจ้าเมืองสิงขัณฑ์ก่อน ได้ความประการใดแล้วจึงจะให้ทราบต่อภายหลัง ขอให้พระอโนมมุนีรอท่าอยู่สัก ๓-๔ เวลา พูดกันเท่านั้นแล้ว พระอโนมมุนี พระสิริสุมนและพระสงฆ์ทั้งปวงก็ลาโรตมละก้อกกลับมาอยู่ที่วัดปรมานันทวิหาร แต่รอฟังข่าวอยู่ประมาณ ๓-๔ เวลาแล้วไม่เห็นโรตมละก้อกมาแจ้งความประการใดไม่ พระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ราชการที่เมืองกลำบูนั้น หนังสือคัมภีร์จะต้องส่งที่วัดอัมพรุทธรามแห่ง ๑ ควรจะต้องแบ่งกันไปเมืองกลำบูบ้าง และจะได้นมัสการพระกัลยาณีเจดีย์ด้วย ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงให้พระมหาชื่น ๑ พระอันดับ ๒ รูปไปเมืองกลำบู พระกรุณารัตนขุนนางลังกาได้จัดรถมีคนลากให้พระมหาชื่นและพระสงฆ์รถ ๑ พระมหาชื่นและพระสงฆ์ได้ออกจากวัดปรมานันทวิหาร แต่ณวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ[๑๗] ไปด้วยรถมีคนลากโดยถนนหลังเมืองคาลุ ณ วันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ พระมหาชื่นและพระสงฆ์ทั้งปวงถึงวัดอัมพรุทธาราม ได้ส่งหนังสือและจำหน่ายของหลวงถวายพระสงฆ์ที่วัดอัมพรุทธารามเสร็จแล้ว ณวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ออกจากวัดอัมพรุทธาราม เดินทางไปเมืองกลำบู ถึงวัดกัลยาณเจดีย์ ณวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ[๑๘] ปีฉลู ยังเป็นจัตวาศก นายนุชอาจารย์ซึ่งนำของหลวงไปบูชาพระทันตธาตุณเมืองสิงขัณฑ์นั้น กลับมาถึงวัดกัลยาณีเจดีย์พร้อมกันในเวลานั้นด้วย พระสงฆ์และนายนุชอาจารย์ได้นมัสการพระกัลยาณีเจดีย์ ณวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู ยังเป็นจัตวาศก กลับจากวัดกัลยาณีเจดีย์แขวงเมืองกลำบู ถึงวัดปรมานันทวิหารเมืองคาลุ ณวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ[๑๙]ปีฉลู ยังเป็นจัตวาศก

พระอโนมมุนี และพระสงฆ์ทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันว่าราชการหลวงก็สำเร็จแล้ว ครั้นจะรอฟังข่าวเจ้าเมืองกลำบูและเจ้าเมืองสิงขัณฑ์ต่อไปจะป่วยการนัก ควรจะต้องรีบกลับเข้ากรุงเทพมหานคร จึงได้ไปลาพระสงฆนายกพระธีรานันท พระสิริสุมนเสร็จแล้ว พระสงฆ์และข้าราชการก็กลับไปลงกำปั่นสยามพิภพณวันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู ยังเป็นจัตวาศก เวลาเช้า ๓ โมง ครั้นพระอโนมมุนีพระสงฆ์ทั้งปวงถึงกำปั่นสยามพิภพแล้วประมาณสักครู่ ๑ พระสิริสุมนและพระกรุณารัตนตามลงมาถึงกำปั่นสยามพิภพ แจ้งความว่าเจ้าเมืองกลำบูและเจ้าเมืองสิงขัณฑ์ มีหนังสือมาถึงโรตมละก้อกแล้ว ถ้าพระอโนมมุนีและพระสงฆ์ทั้งปวงจะขึ้นไปนมัสการพระทันตธาตุ ณเมืองสิงขัณฑ์ จะรับรองแข็งแรง ไม่ให้เสียพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ พระอโนมมุนีพูดกับพระสิริสุมนและกรุณารัตนว่าราชการที่ออกมาก็สำเร็จแล้ว ซึ่งว่าจะขึ้นไปเมืองสิงขัณฑ์นั้นเป็นแต่พระสงฆ์ที่มาคิดกันเอง อยากจะไปดูพระทันตธาตุ ท่านมาแจ้งความว่าเจ้าเมืองกลำบูและเจ้าเมืองสิงขัณฑ์ จะรับรองให้แข็งแรง ขอบใจอยู่แล้ว แต่หนทางตั้งแต่ท่าเมืองคาลุจะไปถึงเมืองสิงขัณฑ์นั้นหลายวันนัก เวลานี้ก็จวนเทศกาลมรสุมอยู่แล้ว เรือพัดเข้าฝั่งจัด เรือกำปั่นสยามพิภพจะทอดอยู่ไม่ได้ ต้องลาท่านรีบกลับเข้าไปกรุงเทพมหานคร พูดเท่านั้นแล้วพระสิริสุมน พระกรุณารัตนก็ลากลับมา



[๑] ภายหลังเป็นนายบำรุงราชบทมาลย์ ฯ

[๒] ชื่อ ดิศ ภายหลังเป็นพระศักดาภิเดชวรฤทธิ ฯ

[๓] ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ในรัชกาลที่ ๕ ฯ

[๔] ภายหลังได้เป็นพระยาปริยัติธรรมธาดา

[๕] ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี) ฯ

[๖] อังคารที่ ๗ ธันวาคม ฯ

[๗] วันที่ ๗ มกราคม ฯ

[๘] วันที่ ๑๑ มกราคม ฯ

[๙] วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ฯ

[๑๐] วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ฯ

[๑๑] ที่เรียกว่าเมืองคาลุนี้ คือที่อังกฤษเรียกว่าคอลยัง เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งทุกวันนี้ พระมหาศีลรัตนะบอกว่าที่จริงไม่ใช่ภาษาลังกา เดิมที่นี้เป็นแต่ตำบลบ้านน้อยแห่งหนึ่ง อยู่ในภาคมาลัยประเทศ เมื่อโปรตุเกสแล่นเรือมาเมืองลังกาถึงที่ตำบลนั้นเวลาเช้ามืดขึ้นไปได้ยินเสียงไก่ขัน จึงเรียกว่าบ้านไก่ตามภาษาโปรตุเกสว่า Callo คัลโลเป็นเดิมมา-จากเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ๓๕๐

[๑๒] วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ฯ

[๑๓] วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ฯ

[๑๔] วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ฯ

[๑๕] วันที่ ๑ มีนาคม ฯ

[๑๖] โกลัมโบ.

[๑๗] วันที่ ๗ มีนาคม ฯ

[๑๘] วันที่ ๑๒ มีนาคม ฯ

[๑๙] วันที่ ๑๗ มีนาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ