นิทานเรื่องแร้งกับแมว

ครั้งก่อนแต่นี้ ยังมีแม่น้ำตำบลหนึ่งชื่อภาคิยนที ที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นมีต้นเสดาใหญ่ต้น ๑ ยังมีแร้งแก่ตัวหนึ่งชื่อจลัตถะมีเล็บแลปากทั้งขนคอก็หลุดร่วงเสียสิ้นตาก็ไม่เห็น มาอาศรัยอยู่ที่ค่าคบต้นไม้นั้น แลบนต้นไม้นั้นเล่า มีฝูงนกมาทำรังอยู่เปนอันมาก นกเหล่านั้นครั้นได้เห็นแร้งแก่ก็มีความเอ็นดูปรานี จึงได้เอาอาหารมาให้กินทุกวันๆ ยังมีแมวหนึ่งชื่อทีฆกัณณะมาเห็นลูกนกเหล่านั้น จะใคร่กินด้วยอุบาย จึงทำอาการขมีขมันวิ่งขึ้นไปบนต้นไม้ ลูกนกทั้งหลายครั้นได้เห็นแมวก็พากันร้องเกรียวกราวขึ้น แร้งแก่ได้ยินดังนั้น ก็คาดการดูว่า คงจะมีศัตรูมาเปนมั่นคง จึงร้องถามว่า ใครมาที่ถิ่นฐานของเรานี้เล่า แมวจึงตอบว่า ดูกรท่านพระยาแร้ง ข้าพเจ้าแมวชื่อทีฆกัณณะจะขออาศรัยพึ่งท่านอยู่ด้วย เพราะว่าบัดนี้ศัตรูติดตามไล่ข้าพเจ้ามาไม่ทันที่จะหนีไปในสถานที่อื่นได้ ข้าพเจ้าจึงวิ่งขึ้นมาพึ่งท่าน เพื่อจะให้พ้นจากมรณภัย ขอท่านจงเอ็นดูช่วยชีวิตข้าพเจ้าด้วยเถิด แร้งแก่จึงกล่าวขู่ว่า แน่แมวมึงรีบหนีไปเสียให้พ้น อย่าขึ้นมาบนต้นไม้นี้เลย ถ้ามึงไม่ไปแล้วกูจะฆ่ามึงเสียณบัดเดี๋ยวนี้ แมวจึงวิงวอนว่า ดูกรท่านพระยาแร้ง ไฉนท่านจึงกล่าวถ้อยคำหักโหมเช่นนี้เล่า ท่านจงฟังคำข้าพเจ้าก่อน อันธรรมเนียมในมนุษย์ทั้งหลายเปนเช่นนี้ เมื่อผู้ใดมีโทษทุกข์ร้อนสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหนีไม่พ้นแล้ว ก็วิ่งไปพึ่งผู้มีปัญญาที่มีกำลังฤทธานุภาพมาก ควรจะเปนที่พึ่งแก่ตนได้ ก็ผู้มีปัญญามีกำลังนั้นควรจะต้องไต่ถามดูก่อนว่า ผู้ที่มาพึ่งตนนั้นผิดหรือชอบดีหรือชั่วเปนประการใด ถ้าผู้นั้นผิดเปนคนชั่วจริง ผู้มีปัญญานั้นก็ควรจะทำโทษแก่คนชั่วคนผิดนั้นตามโทษานุโทษ ถ้าผู้วิ่งมาพึ่งตนนั้นเปนคนดีไม่มีความผิด ผู้มีปัญญามีกำลังนั้นก็ต้องรับถนอมรักษาป้องกันอันตรายเลี้ยงดูไว้ด้วย ผู้มีปัญญาเช่นนั้นจึงควรจะกล่าวว่า เปนบัณฑิตเปนผู้ดีแท้ แร้งแก่จึงตอบว่า แน่แมว มึงจะว่าอย่างไรจงว่าไปเถิด กูจะขอฟังดูก่อน แมวจึงแกล้งเล่าความว่า เมื่อครั้งเรายังเปนลูกแมวน้อยอยู่นั้น ยังมีฤๅษีตนหนึ่งบริบูรณ์ด้วยศีลแลพรต ไปจงกรมอยู่ณป่าใหญ่ ประพฤติพรตทำตนให้เปนทุกข์ด้วยวิธีข้อปฎิบัติต่างๆ เรานี้ได้ไปอยู่ในสำนักแห่งฤๅษีนั้นๆ ท่านได้เปนอาจารย์ของเรา ท่านได้สอนคัมภีร์ธรรมศาสตร์แลนิติศาสตร์ให้แก่เรา เราก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ปฏิบัติฤๅษีนั้นจนเปนผู้ใหญ่ขึ้น ท่านจึงให้สมาทานศีล ๕ เราได้รักษาไว้มั่นไม่ให้ด่างพร้อยเศร้าหมอง พระฤๅษีผู้อาจารย์ท่านเห็นว่าเรานี้ดีตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรม แม้จะอยู่ด้วยลำพังตนก็ได้อยู่แล้ว ท่านจึงไปปล่อยเราเสียในป่าที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เราได้ลงไปอาบน้ำชำระเกล้าในแม่น้ำคงคาเสร็จแล้ว ได้สมาทานพรตอย่างหนึ่งชื่อจันทรายนะกินอาหารชื่อนิรามิส คือกินลมเปนของไม่มีอามิสเราได้ประพฤติตามโอวาทพระฤๅษีเช่นนี้นานแล้ว เรานี้เปนผู้สอนง่าย เมื่อฤๅษีผู้อาจารย์สอนประการใด เราก็ได้ประพฤติตามถ้อยคำท่านถ้วนถี่ทุกประการ เหล่าสัตว์ที่อยู่ในป่านี้ ท่านพระยาแร้งแลเปนผู้มีปัญญามีกำลังฤทธานุภาพมากกว่าผู้อื่น ซึ่งท่านเปนผู้ดีถึงพร้อมด้วยคุณเช่นนี้แล้ว จะมาฆ่าเราผู้ไม่มีโทษน้อยทรัพย์อับปัญญาดำรงอยู่ในศีลในพรตเช่นนี้นี่ไม่สมควรเลย อีกข้อหนึ่งธรรมเนียมของมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญามีบรรดาศักดิ์บริบูรณ์ด้วยกำลังอานุภาพเปนผู้ดีเหมือนอย่างท่านพระยาแร้งนี้ เมื่อมีแขกมาถึงเรือนของตนก็ต้องต้อนรับตามสมควร ถ้าแขกนั้นเปนผู้ดีก็ต้องต้อนรับให้สมควรแก่ผู้ดี ถ้าเปนคนเลวก็ต้องต้อนรับตามคนเลว ถ้าเปนมิตรสหายหรือเปนศัตรูก็ดี ต้องปฏิสัณฐารต้อนรับตามสมควรแก่แขกที่เปนมิตรสหายแลศัตรูนั้นๆ จึงจะชอบจะสมควรแก่คนที่เปนผู้ดี อย่างนี้เปนข้อปฏิบัติของสัตวโลกซึ่งท่านไม่ได้สวนดูก่อน แล้วแลลงโทษแก่คนที่เปนแขกมาถึงถิ่นฐานของตนนั้นไม่สมควรเลย สัตว์ทั้งหลายนี้ เมื่อใครทำดีหรือทำชั่วไว้ก็ดี คุณแลโทษนั้นๆ ย่อมติดตามผู้นั้นไป เหมือนเงาติดตามตนไปฉนั้น ด้วยเหตุนี้ ข้อซึ่งท่านพระยาแร้งเปนผู้สูงอายุมีปัญญาหลักแหลมแลมีตบะเดชานุภาพมากถึงเพียงนี้ ไม่ตริตรองดูให้แยบคายก่อนแล้วแลมาลงโทษแก่เราเปนแขกเปนผู้อนาถาซึ่งมาถึงสำนักของท่านเช่นนี้นี่ไม่ควรเลย อีกข้อหนึ่ง อันผลไม้นั้นมีหลายอย่างหลายสถาน แต่ผลไม้ ๒ อย่าง คือผลมะเดื่อแลผลขนุน ๒ นี้มีลำต้นแลกิ่งใบคล้ายกัน แต่ผลนั้นแปลกประหลาดต่างกัน ผลมะเดื่อนั้นข้างนอกดูเกลี้ยงเกลาแดงสุกสดใส ข้างในเปนหนอนฟอนไม่มีโอชารสไม่เปนเครื่องบริโภคได้ อันผลขนุนนั้นไซ้ภายนอกเปนหนามดูระคายตา ภายในยวงเหลืองสดใสดุจสีทอง มีโอชารสเปนเครื่องบริโภคของท่านผู้ดีได้ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายนี้ดูรูปทรงสัณฐานก็คล้ายกัน แต่สัตว์บางพวกนั้น ดูภายนอกมรรยาทกายแลวาจาสุภาพเรียบร้อยเสงี่ยมงาม แต่ในใจนั้นมัวหมองคดโกงเปนเนืองนิตย์ บางพวกนั้นดูภายนอกมรรยาทกายวาจาไม่เรียบร้อยไม่สุภาพ แต่ภายในใจนั้นเปนสัตย์ธรรมนักรู้คุณท่าน แม้สัตว์ทั้งหลายก็เปน ๒ จำพวก ๒ สถาน ฉันนั้น เหมือนท่านพระยาแร้งนี้ประหนึ่งว่าผลขนุน โครงกายภายนอกดูรุงรังไม่เกลี้ยงในตาก็จริงอยู่ แต่ภายในใจของท่านนั้นล้วนประกอบไปด้วยความดีมีปัญญาหลักแหลม มีความเอ็นดูต่อสัตว์ทั้งปวง แม้ใครจะมาพึ่งพักอาศรัยอยู่ในสำนักของท่าน กำลังอานุภาพของท่านอาจคุ้มครองป้องกันภัยอันตราย แล้วแลสงเคราะห์ให้สมบูรณ์ด้วยการกินการอยู่ให้เปนสุขสำราญได้ อีกข้อหนึ่ง ในป่าทั้งหลายนั้น ประเทศซึ่งเปนที่เกิดเครื่องหอมคือกฤษณากลำพักนั้นน้อยนักหาได้ยาก ประเทศซึ่งเปนที่เกิดแห่งหญ้าแลต้นไม้ไม่มีกลิ่นนั้นมากหาได้ง่าย ฉันใด ในหมู่สัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกัน สัตว์ที่เปนผู้ดีมีปัญญามีใจโอบอ้อมเช่นท่านพระยาแร้งนี้มีน้อยหาได้ยาก ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายเล่า คนที่มีปัญญามีความเอ็นดูปรานีต่อท่านผู้อื่นนั้น เปนที่ไปมาสมาคมคบหาแลเปนที่พึ่งพักอาศรัยแห่งมนุษย์ทั้งหลาย แม้จะอยู่ในสถานที่ใด คนทั้งหลายก็มักมั่วสุมประชุมอยู่ในที่นั้น เรือนซึ่งเปนที่อยู่ของผู้นั้นเปนที่ไปมาแห่งชนทั้งหลายไม่ขาดเลย ครึกครื้นอยู่ด้วยประชุมชนเปนเนืองนิตย์ อันเรือนของคนพาลไม่มีความปรานีต่อผู้อื่นนั้น ไม่มีใครจะไปมาดูเงียบเหงา ปานประหนึ่งว่าเรือนร้างว่างเว้นจากประชุมชน คนพาลโง่เง่านั้นเปนประหนึ่งว่าดอกผลลำโพง อันดอกผลลำโพงนั้นไม่มีใครจะกินเปนอาหาร ดอกลำโพงนั้นเล่า ไม่มีใครทัดทรงประดับประดาเชิดชูไว้บนศีร์ษะหามิได้ แลคนที่มีปรีชาเฉลียวฉลาดเล่า เปนเหมือนหนึ่งดอกไม้ที่มีกลิ่นอันหอมเปนที่ชื่นชมยินดีแห่งชนทั้งหลาย เปนเครื่องตกแต่งประดับประดาทัดทรงเชิดชูไว้บนศิรเกล้า ดอกไม้ที่หอมนั้นแม้จะเหี่ยวแห้งแล้วก็ดี ชนทั้งหลายยังเก็บถนอมรักษาไว้ให้สำเร็จประโยชน์ต่อไปได้ ท่านพระยาแร้งนี้ประกอบด้วยคุณพฤฒิเปนดุจกฤษณาแลกลำพักแลดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเปนที่ชื่นชมยินดีคบหาสมาคม แลเปนที่พึ่งพักอาศรัยของสัตว์ที่อนาถาทั้งหลายได้ อนึ่งคนโฉดเขลานั้นไม่รู้ประโยชน์ของตนไม่รู้ความผิดโทษทุกข์มาถึงแก่ตนนั้นๆ ได้ แลไม่รู้ทำประโยชน์ที่ยืดยาวแก่ตนแลผู้อื่นได้ ท่านที่มีปัญญานั้นไซ้ แม้จะพูดถ้อยคำสิ่งไรได้เหตุผลถูกต้องด้วยเยี่ยงอย่าง ล้วนให้สำเร็จประโยชน์ตนแลประโยชน์ผู้อื่นได้ เปนที่ยินดีชอบใจแห่งคนทั้งหลายต่างคนต่างให้สาธุการทั้งสิ้น ด้วยเหตุนั้น ท่านที่เปนบัณฑิตนั้นเปนที่เคารพนบนอบนับถือของชนทุกเพศพรรณภาษาทุกประเทศ เปนดุจดวงพระจันทร์ในวันเพ็ญย่อมจำรัสแสงไพโรจน์รุ่งเรืองทั่วไปในสรรพทิศทุกตำบล แม้จะเล็งแลขึ้นไปต่างคนก็ต่างเห็นว่าพระจันทร์นั้นตั้งอยู่ตรงตัวของตนๆ ทั้งสิ้น คนโง่กับคนฉลาดนั้นต่างกันเช่นนี้ ท่านพระยาแร้งเล่า ก็มีปรีชาเปรื่องปราชญ์ถึงพร้อมด้วยคุณต่างๆ เหลือล้นพ้นวิสัยที่จะนับจะประมาณได้ แม้จะพรรณนาไปก็ไม่รู้สิ้นรู้สุดเลย เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้วิ่งขึ้นมาพึ่งพักอาศรัยท่าน ขอท่านพระยาแร้งผู้มีปรีชามีกำลังอานุภาพเปนอันมาก จงมีความปรานีแก่ข้าพเจ้าผู้เปนสัตว์อนาถา แล้วแลเปนที่พึ่งให้ที่อยู่อาศรัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด แร้งแก่ไม่รู้ประมาณตัว ครั้นได้ยินแมวกล่าวยอคุณให้มีในตนยกย่องสรรเสริญเช่นนั้น ก็มัวเมาประมาทให้สำคัญวิปลาศเห็นผิดทางไป ก็มีจิตต์ชื่นชมเปนกำลัง จึงตอบด้วยวาจาอันไพเราะว่า โอ ท่านแมวทีฆกัณณะผู้ฉลาด ข้อความซึ่งท่านกล่าวมานั้นจริงแล้วชอบแล้วทุกประการ แต่ว่าวิสัยแมวทั้งหลายนั้นเปนสัตว์เลวต่ำช้ามักฆ่าชีวิตท่านผู้อื่นกินสดๆ เปนธรรมดา อนึ่งที่ต้นไม้นี้เล่า ลูกนกทั้งหลายมาอาศรัยอยู่เปนอันมาก เกลือกว่าจะเปนอันตรายแก่ลูกนกเหล่านั้น เราจึงต้องว่าแก่ท่านเช่นนี้ ใช่ว่าตระหนี่หึงหวงถิ่นฐานที่อยู่หามิได้ แมวทีฆกัณณะครั้นได้ยินพระยาแร้งกล่าวถ้อยคำผ่อนผันอ่อนลงเช่นนั้น ก็มีความรื่นเริงบรรเทิงใจยิ่งนัก แส้งทำอาการอ่อนน้อมเคารพนบนอบคลานเข้าไปใกล้หมอบลงที่ฉะเพาะหน้าแร้งแก่แล้วจึงตอบว่า ข้าแต่พระยาแร้ง ข้อซึ่งท่านว่าแมวทั้งหลายเปนผู้ร้ายกาจฆ่าสัตว์กินสดๆ นั้นจริงอยู่ เพราะว่าแมวเหล่านั้นเปนชาติแมวพาล ไม่ได้อยู่ในสำนักแห่งท่านผู้ทรงศีลสิกขาบท แต่ข้าพเจ้านี้เปนศิษย์ของพระฤๅษีได้เรียนคัมภีร์ธรรมศาสตร์แลนิติศาสตร์ ได้รักษาศีลห้าเปนเนืองนิตย์ ไม่ฆ่าชีวิตท่านกิน ข้าพเจ้าได้สมาทานพรตกินลมอันไม่มีอามิสเปนอาหารเนืองนิตย์ ไม่ได้เบียดเบียฬชีวิตท่าน ด้วยหวังว่าเบื้องหน้าแต่จุติจิตต์แล้วจะได้ไปเกิดในสวรรค์ตามโอวาทที่มีมาในพระคัมภีร์ ใช่ว่าจะแกล้งกล่าวเปนเล่ห์กลหลอกลวงท่านนั้นหามิได้ จลัตถะแร้งแก่ผู้โฉดเขลาไม่ตริตรองให้เห็นโดยแยบคาย แล้วหลงเชื่อคำแมวล่อลวงเปนกลอุบาย ก็สำคัญว่าตนนี้มีปัญญามีบรรดาศักดิ์ มีอานุภาพเช่นนั้นจริง จึงกล่าวว่า ท่านแมวจะประสงค์อยู่ที่ต้นไม้นี้ ก็จงไปอยู่ในที่สมควรเถิด แมวก็ลาแร้งแก่เข้าไปซ่อนอยู่ที่โพรงไม้เสลานั้น แล้วขึ้นไปจับลูกนกกินทุกๆ วัน ฝูงนกทั้งหลายเห็นว่าลูกนกน้อยลงไป ก็มีความสงสัยในแร้งแก่ จึงพากันมาดูก็แลเห็นขนแลกระดูกนั้นเรี่ยรายอยู่ใกล้ที่อยู่แห่งแร้งแก่ ก็สำคัญว่าแร้งนั้นกินลูกของตนเสีย แล้วก็กล่าวว่า แร้งแก่นี้ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรม แม้เราทั้งหลายได้หาอาหารมาให้กินอิ่มหนำสำราญทุกๆ วัน ยังไม่เต็มความปราถนายังมากินลูกของเราเสียเล่า ฝูงนกทั้งหลายก็โกรธนัก จึงพากันจิกสับแร้งแก่นั้นจนถึงความตาย แมวได้รู้ความดังนั้นก็รีบหนีไปจากต้นไม้นั้น

เมื่อกาปังสุพุทธิได้ชักนิทานมาสาธกเนื้อความให้สมันฟังเช่นนี้ แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรสมันผู้เปนสหายซึ่งท่านจะผูกไมตรีเปนมิตรสหายด้วยสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติสกุลต่างกันนี้ไม่ควรเลย จะเปนเหมือนแร้งแก่ไม่รู้ประมาณตัวมาคบกับแมวเจ้ามายา แล้วก็ต้องถึงความตายเช่นนั้นเปนแท้

อนึ่งเล่าผู้มีปัญญาเก่า ๆ ท่านกล่าวไว้ว่า สัตว์ ๓ จำพวก คือ เสือ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ แมว ๑ สัตว์ ๓ จำพวกนี้มักฆ่าสัตว์กินสด ๆ จะได้มีความปรานีต่อชีวิตท่านนั้นหามิได้ จันทรพุทธิสุนัขจิ้งจอกได้ยินกาปังสุพุทธิกล่าวเตือนสติสมันเช่นนั้นก็มีความเสียใจ จึงกล่าวแก่กาปังสุพุทธิว่า แน่ท่านกา ตัวท่านกับสมันได้เปนมิตรสหายกันมาช้านานแล้ว ก็ท่านทั้งสองนี้มีชาติเชื้อความประพฤติก็ไม่เหมือนกัน เหตุไฉนจึงได้เปนมิตรสหายคบหากันได้เล่า แน่ท่านกา ท่านจงฟังคำเราว่าก่อน

ในกาลก่อนยังมีไพรตำบลหนึ่งชื่อกัปปุระ ในป่านั้นมีเสือตัว ๑ ชื่อ วาลุพยัคฆะได้เปนมิตรสหายกับเราได้กินอยู่ด้วยกันรักใคร่กันนัก แม้จะไปหาอาหารก็ไปด้วยกัน ครั้นได้อาหารแล้วก็มาแบ่งกันกินทุก ๆ วัน เมื่อเสือผู้เปนสหายป่วยไข้ เราก็ปฏิบัติหาอาหารมาให้กิน ครั้นเราป่วยไข้เล่า เสือผู้เปนสหายก็ปรนนิบัติหาอาหารมาให้กิน แลเราทั้งสองนั้น เมื่อผู้ใดเกิดการวิวาทกับสัตว์เหล่าอื่น ข้างผู้หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาห้ามปรามปรานีปรานอมไม่ให้เกิดวิวาทได้ เราสองสหายได้อยู่เย็นเปนสุขมาสิ้นกาลนาน ครั้นเสือผู้สหายเราตายเสียแล้วเรานี้ก็อ้างว้างอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีใครเปนมิตรสหายเปนที่ปรึกษากัน จึงได้ออกจากป่ากัปปุระเที่ยวมาถึงป่านี้ ตัวเรานี้ไม่เคยผูกไมตรีกับสัตว์เหล่าอื่น ได้ทำกิจที่เปนประโยชน์แก่มิตรสหายแลได้แนะนำสั่งสอนสัตว์เหล่าอื่นให้มีปัญญา ให้เปนผู้ดีมาได้มากอยู่แล้ว ท่านอย่าสำคัญคิดว่าเรานี้เปนผู้เลวทรามต่ำช้าเลย วิสัยสัตว์ทั้งปลายที่เปนผู้ดีมีปัญญานั้น มีใจเมตตาปรานีต่อสัตว์ จะได้คิดฤทยาพยาบาทต่อท่านผู้หนึ่งผู้ใดหามิได้ อนึ่งวิสัยสัตว์ที่จะเปนไมตรีกันนั้น จะมีเชื้อวงศ์ชาติตระกูลแลการประพฤติเสมอกันก็ดีต่างกันก็ดีไม่เปนประมาณ ใจที่เอ็นดูรักใคร่ต่อกันนั้นเปนประมาณ เมื่อใจไม่รักใคร่เอ็นดูกันแล้ว แม้มีเชื้อวงศ์ตระกูลแลความประพฤติเสมอเหมือนกันก็ดีหรือเปนมิตรสหายกันก็ดี ปานประหนึ่งว่าเปนศัตรูกันเปนผู้ต่างเชื้อวงศ์ชาติตระกูลกัน เหมือนท่านกาท่านสมันมีชาติตระกูลแลความประพฤติก็ไม่เหมือนกัน ท่านทั้งสองก็ได้เปนมิตรสหายกันมานานแล้วไม่ใช่หรือ กาปังสุพุทธิครั้นได้ยินสุนัขจิ้งจอกว่าดังนั้น จึงกล่าวแก่สมันว่า ดูกรสหายเรานี้เปนสัตว์มีปีกบินไปในอากาศได้ สัตว์ที่อาศรัยแผ่นดินไม่อาจจะมาทำอันตรายแก่เราได้ แม้อันตรายจะมาถึงแก่เราท่านสมันผู้เปนสหายจะมาช่วยก็ไม่ได้ เมื่อภัยอันตรายจะมาถึงท่านเล่า เราจะช่วยท่านก็ไม่ได้ ตัวท่านเปนสัตว์เดิรดินมีทุกข์ภัยอันตรายมาก ท่านอย่านอนใจเร่งตรองระวังตัวให้จงดี ท่านจงฟังคำเราเล่าก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ