นิทานเรื่องสีหราชกับกบ

ครั้งก่อนโน้นยังมีสีหราชตัวหนึ่งเปนใหญ่ในป่า อาศรัยอยู่ในสุวรรณคูหา วันหนึ่งปราถนาเพื่อจะแสวงหาอาหาร จึงเที่ยวไปตามลำเนาแนวไพรไปถึงประเทศที่ใกล้จอมปลวกตำบลหนึ่ง ซึ่งเปนที่เคยอาศรัยอยู่แหงกบน้อยตัวหนึ่ง ครั้นกบได้เห็นสิงหราชจึงถามขึ้นว่า ท่านนี้เปนสัตว์พรรณไร มาแต่ไหน สิงหราชจึงตอบว่า เรานี้เปนนายแห่งสัตว์ ๔ เท้าทั้งปวง ท่านจะทำไมเล่า กบน้อยจึงตอบว่า ท่านนี้มาถึงถิ่นของเราแล้ว ก็ไม่รู้ประมาณกล่าวถ้อยคำขู่รู่เช่นนี้ไม่ชอบกลเลย เมื่อท่านอยู่ในถ้ำของท่าน ท่านจึงค่อยดุดันเช่นนี้เถิด ครั้นสิงหราชได้ยินดังนั้นก็โกรธนัก จึงท้าทายว่า เฮ้ยกบเองก็เปนแต่สัตว์ตัวน้อย มาว่าขานถ้อยคำอันเฉียบแหลม ไม่รู้จักผู้ดีผู้ใหญ่เลย มึงจะใคร่สู้รบกับกูหรือ กบจึงตอบว่า แน่ท่านสิงหราช ถ้าท่านปราถนาจะผจญกับเราแล้ว ท่านจงไปลองกำลังกับสิงหราชตัวหนึ่ง ซึ่งเราจับขังไว้ที่บ่อน้ำโน้นดูเสียก่อน แล้วท่านจึงค่อยมาสู้รบกับเราเถิด สิงหราชครั้นได้ยินดังนั้นยิ่งโกรธมากขึ้นไปจึงตอบว่า มึงขังไว้ที่ไหนเล่า จงพากูไปณบัดนี้ กบน้อยก็พาสิงหราชไปในที่นั้น ครั้นถึงปากบ่อแล้วกบจึงบอกว่า ท่านจงหยุดยืนอยู่ที่นี้ก่อน เราจะไปบอกสิงหราชผู้นั้นให้รู้ก่อน จะได้ตระเตรียมตัวลองกำลังกับท่าน ท่านจงระมัดระวังตัวให้มากเถิด ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว กบน้อยผู้ฉลาดก็โดดลงไปซ่อนตัวอยู่ณบ่อน้ำ พระยาไกรสรครั้นไม่เห็นกบน้อยขึ้นมาก็เดิรไปที่ปากบ่อ แล้วก้มลงมองดูได้เห็นเงารูปของตนในน้ำ ก็สำคัญว่าเปนราชสีห์ตัวอื่นที่กบได้บอกเล่าไว้นั้น ยิ่งโกรธมากขึ้น เพราะความโกรธกลุ้มใจจึงไม่ได้พิเคราะห์ให้รู้ว่าเปนเงารูปของตน แล้วก็เปล่งสิงหนาทด้วยเรี่ยวแรงอันกล้า สิงหราชเงานั้นก็ไม่สเทื้อนสท้านหวั่นไหว พระยาไกรสรเห็นดังนั้นก็ยิ่งโกรธนักขึ้นไป แล้วก็แผดซ้ำอีกเปนหลายคราว สิงหมฤคราชผู้พาลสุดเสียงสิ้นกำลังอกแตกตาย กบน้อยไม่ได้ยินเสียงก็เข้าใจว่าราชสีห์นั้นเห็นจะตายแล้วเปนแน่ แล้วจึงค่อยคลานขึ้นมาที่ปากบ่อ ก็ได้เห็นสิงหราชทอดกายตายอยู่ณที่นั้น จึงไปร้องป่าวกบทั้งหลายให้มาศพพระยาไกรสร แล้วก็ชวนกันกินเปนอาหารให้เปนไชยมงคล นี่แลกบน้อยจ้อยนิดเดียว เพราะมีที่แอบอิงที่ส้อนเร้นอาศรัยจึงได้ชัยชนะต่อไกรสรสิงหราช ซึ่งมีกำลังเรี่ยวแรงมากถึงเพียงนั้นได้มิใช่หรือ สมันชื่อสาขาครั้นได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า ดูกรสหายทั้งหลาย ข้อความแลนิยายซึ่งท่านทั้งหลายกล่าวมานี้ชอบจริงแล้วควรยิ่งนัก ข้าพเจ้าจะขอกล่าวให้ท่านทั้งหลายฟังบ้าง ถึงมนุษย์ทั้งหลายก็ควรจะจำไว้ให้เปนคติทางข้อปฏิบัติได้ วิสัยสัตว์ทั้งหลายนี้ แม้มีปัญญาเฉลียวฉลาดมีกำลังอานุภาพศักดาเดชมาก หรือมียศบริวารทรัพย์สินมากก็ดี ถ้าไม่มีใครเปนที่พาดพิงพักอาศรัย แลไม่มีถิ่นที่แอบอิงซ่อนเร้นได้แล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าเหมือนหนึ่งไม่มีปัญญาไม่มีอานุภาพไม่มีทรัพย์สินเช่นกัน

พระยาหนูหิรัณกะจึงตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เปนสหาย วิสัยมนุษย์ทั้งหลายแม้เปนเอกราชมหากษัตริย์เจ้าแผ่นดิน หรือเปนเสนาบดีนายทัพใหญ่แลเปนช่าวเฉลียวฉลาดในวิชาการศิลปศาสตร์ต่างๆ ก็ดี จำต้องใคร่ครวญพิเคราะห์ดูการแลประเทศถิ่นฐานแลฤดูแลโภชนาหารให้แยบคายก่อน ถ้าสมบูรณ์ด้วยคุณนั้นๆ แล้ว จึงสามารถจะประกอบกิจการที่ตนปราถนานั้นๆ ให้สำเร็จตามประสงค์ได้ ถ้าไม่ตรึกตรองประกอบตนให้สมบูรณ์ด้วยคุณนั้นๆ แล้ว แล้วจะคิดอ่านทำการสิ่งใดก็ไม่สำเร็จดังประสงค์ได้ ด้วยเหตุนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าก็ได้มาอยู่ในถิ่นฐานที่สำนักของท่านทั้งหลายผู้เปนสหายที่รักแล้ว เห็นจะเปนสุขสำราญพ้นภัยอันตราย แลบำเพ็ญการกุศลตามประสงค์ได้เปนแน่ เมื่อเราอยู่ณถ้ำจิตรคุตถิ่นของเราโน้น เราได้จัดไว้แยบคายมั่นคงดี มีประตูปากถ้ำทั้งทางที่จะไปท่าน้ำ แลที่จะได้เก็บของกินก็มั่นคง ที่นั่งที่นอนก็สำอางสอาดดี ขอท่านผู้เปนมิตรสหายทั้งปวงจงตกแต่งจัดถิ่นที่นี้ให้เหมือนดังที่โน้นด้วย ครั้งนั้นพระยาหนูแลเต่าแลสมันสามสหายจึงพากันไปเที่ยวเสาะหาประเทศที่เปนไชยภูมิ์ ได้สร้างที่อยู่ให้มั่นคงแยบคายได้อยู่พร้อมเพรียงกันเปนสุขสำราญ ได้ไปมาสมาคมร่วมสุขร่วมทุกข์กันทั้งกลางวันแลกลางคืนมิได้ขาด

ครั้นอยู่มากาลวันหนึ่ง สามสหายจึงว่าแก่พระยาหนูว่า ดูกรพระยาหนูผู้สหาย มนุษย์ทั้งหลายนั้นเมื่อใครมีทรัพย์สมบัติยศบริวารมากแล้วก็ทยานเย่อหยิ่งถือตัวมากขึ้น ครั้นเสื่อมจากลาภยศบริวารนั้นๆ แล้ว ผู้นั้นก็เกิดความโศกเศร้าร่ำไรคับแค้นในใจนัก ลาภยศบริวารนี้เปนเครื่องชูใจทำใจของมนุษย์ให้กำเริบนัก พระยาหนูจึงตอบว่า คำซึ่งท่านทั้งปวงกล่าวนั้นชอบอยู่แล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าจะขอเล่านิยายให้สหายทั้งหลายฟัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ