- เจ้าจอมมารดากลิ่น รัชกาลที่ ๔
- คำนำ
- นิทานเริ่ม
- นิทานเรื่องหนูแลนกพิราบแลกา
- นิทานเรื่องเสือโคร่งกับคนเดิรทาง
- นิทานเรื่องกากับสมัน
- นิทานเรื่องแร้งกับแมว
- นิทานเรื่องช้างกับสุนัขจิ้งจอก
- นิทานเรื่องฤๅษีกับแมลงมุม
- นิทานเรื่องลูกเศรษฐีกับโจร
- นิทานเรื่องพระเจ้ามหาสมุทรกับพระเจ้าสิริคุต
- นิทานเรื่องนกมูลไถกับเหยี่ยว
- นิทานเรื่องสิงหราชกับเขียด
- นิทานเรื่องสีหราชกับกบ
- นิทานเรื่องฤๅษีกับหนู
- นิทานเรื่องชายชรามีภรรยาสาว
- นิทานเรื่องชายมั่งมีกับหญิงทาสี
- นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
- นิทานเรื่องนายสำเภากับลูกเรือ
นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
ครั้งก่อนยังมีวานรตัวหนึ่งใหญ่เท่าโค ลงมากินน้ำในแม่น้ำคงคา ขณะนั้นมีนางจรเข้ตัวหนึ่ง ครั้นเห็นวานรใหญ่แล้วอยากจะใคร่กินตับวานรนั้น จึงว่าแก่จรเข้ผู้ผัว่าข้าพเจ้าอยากจะใคร่กินตับแลหัวใจวานรใหญ่นี้ ถ้าไม่ได้กินแล้วข้าพเจ้านี้จะต้องตายจากไปเปนแน่ จรเข้ผู้ผัวจึงกล่าวว่าท่านเปนสัตว์น้ำมาปราถนาจะกินสัตว์บก ซึ่งมีวิสัยต่างกันนั้นยากที่จะได้กินอยู่ ท่านจงอดกลั้นระงับความอยากนั้นเสียเถิด นางจรเข้จึงว่าท่านเปนตัวผู้มีสติปัญญามาก แต่ตับวานรตัวเพียงนี้จะคิดเอามาให้เรากินยังไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็คงจะตายเปนแน่ แล้วนางจรเข้ก็แกล้งทำอาการประหนึ่งว่าจะตายนอนนิ่งอยู่ จรเข้ผู้ผัวจึงว่าท่านอย่าเพ่อเสียใจเลย เราจะคิดลวงเอาตับวานรนั้นมาให้ท่านกินให้จงได้ ครั้นว่าดังนั้นแล้วจรเข้ผู้ผัวก็ว่ายตรงเข้ามาหาวานรใหญ่ จึงแกล้งกล่าวเปนอุบายว่า ดูกรวานรผู้ประเสริฐ ท่านอยู่ในต้นมะเดื่อนี้ไม่มีประโยชน์เลย อาหารการบริโภคก็ขัดสนนัก ท่านจะขืนอยู่ไปทำไมเล่า ในคัมภีร์ท่านกล่าวไว้ว่า ประเทศที่อยู่ไม่แยบคายมี ๔ สถาน คือที่ไม่มีญาติเผ่าพันธุ์มิตรสหาย ๑ ที่ไม่อุดม ๑ ที่ไม่มีใครถือตามคติคนเก่า ๑ ที่ไม่มีกิจการจะให้เปนประโยชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ๑ ประเทศที่อยู่ ๔ สถานนี้ไม่ควรจะอยู่เลย แม้ได้อยู่มาแล้วก็จำจะต้องแปลงสถานให้จงได้ ในคัมภีร์มีมาเช่นนี้มิใช่หรือ เหตุไฉนจึงขืนมาอยู่ในที่ขัดสนเช่นนี้เล่า ดูกรวานรผู้ประเสริฐ ฟากแม่น้ำคงคาข้างโน้นมีสวนตำบล ๑ เปนที่อุดมมีผลไม้รากไม้อันประกอบไปด้วยโอชารสมาก มีดอกไม้หอมขจรอยู่ทุกเมื่อ แลมีสระน้ำดาดาษไปด้วยบัว ๕ ประการ ควรจะเปนที่สำราญรื่นเริงชื่นอารมณ์นัก สวนนั้นแลควรที่ท่านผู้เปนพระยาวานรจะไปอยู่ ถ้าท่านปราถนาจะไปแล้วเราจะสงเคราะห์ท่านไป อนึ่งเล่าเรานี้แม้เปนสัตว์อยู่ในน้ำก็จริง แต่ว่ามีบัณฑิตผู้วิเศษคนหนึ่งมาให้เราสมาทานศีล ๕ แล้วสั่งสอนให้เราตั้งอยู่ในยุติธรรมความสัตย์ ให้ฉลาดในกิจที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ว่าเปนการกุศลอันประเสริฐ เพราะเหตุนั้นเราเห็นว่าท่านอยู่ในที่นี้ลำบากขัดสนด้วยอาหารยิ่งนัก เราหวังว่าจะให้เปนบุญเปนกุศล จึงคิดจะพาท่านไปอยู่ในที่อันอุดมดี วานรใหญ่ครั้นได้ยินอย่างนั้นไม่ทันจะใคร่ครวญดูก็เชื่อคำจรเข้มาลวงหลอก จึงตอบว่าแน่ท่านจรเข้ซึ่งเราได้มาพบปะท่านผู้ใจบุญ รู้ทำประโยชน์แก่กันเช่นนี้ดีนักเปนลาภอันประเสริฐของเราแล้ว ท่านจงสงเคราะห์พาเราไปส่งให้ถึงฝั่งคงคาฟากข้างโน้นด้วยเถิด จรเข้จึงว่าดีแล้วถ้ากระนั้นท่านจงลงขี่หลังเราเถิด เราจะพาท่านข้ามไปถึงที่อุดมดีนั้นให้จงได้ แล้ววานรก็ลงไปนั่งบนหลังจรเข้ ๆ ก็รีบว่ายออกไปถึงกลางแม่น้ำคงคาแล้วจึงค่อยจมตัวลง วานรเห็นประหลาทจึงว่า แน่ท่านจรเข้ท่านรับคำเราไว้ว่าจะไปส่งเราให้ถึงฟากข้างโน้น เหตุไฉนท่านจึงมากดตัวให้จมไปในกลางแม่น้ำเช่นนี้เล่า จรเข้จึงขู่ว่าเฮ้ยวานรผู้โง่เขลาต้องการอะไรที่เราจะไปส่งท่าน เราคิดจะกินตับหัวใจของท่าน จึงแกล้งลวงท่านออกมากลางแม่น้ำเช่นนี้ ตัวท่านนี้ต้องเปนอาหารของเราแล้ว ยังไม่รู้หรือยังมาถามอีกเล่า วานรใหญ่ผู้มีปรีชาว่องไว ครั้นได้ยินดังนั้นแล้วก็คิดจะลวงตอบจรเข้นั้นบ้าง จึงแกล้งกล่าวขึ้นณทันใดนั้นว่าท่านนี้เปนผู้โฉดเขลานัก วิสัยวานรทั้งหลายเปนผู้เต้นโลดโดดโผนไปมาบนต้นพฤกษา ถ้าเอาตับแลหัวใจไว้กับตัวแล้วจะมิช้ำชอกแหลกเหลวไปเสียหรือ ด้วยเหตุนั้นเราจึงเอาตับแลหัวใจแขวนไว้ที่ต้นมะเดื่อเปนนิตย์ ซึ่งห้อยเปนพวกแดงสุกสดอยู่เมื่อกี้นั้นท่านไม่เห็นหรือ โน่นแน่ท่านแลดูเถิดซึ่งห้อยเปนพวง ๆ อยู่ที่ต้นมะเดื่อนั้น คือตับแลหัวใจของเรา จรเข้แลไปเห็นผลมะเดื่อมีจริง ก็สำคัญว่าเปนตับแลหัวใจของวานร จึงว่าถ้าท่านให้ตับแลหัวใจของท่านแก่เราไซ้ เราจะพาท่านไปส่งให้ถึงฝั่ง ครั้นวานรรับว่าจะให้แล้ว จรเข้ก็พาวานรกลับเข้ามาส่งถึงฝั่ง วานรก็โดดขึ้นไปบนต้นมะเดื่อแล้ว จึงร้องบอกว่าเฮ้ยจรเข้โง่ วิสัยสัตว์ทั้งหลาย ตัวแลหัวใจนั้นอยู่นอกกายมีบ้างหรือ ที่กูว่าจะให้ตับแลหัวใจแก่มึงนั้นคือผลมะเดื่อนี้แลว่าแล้วก็เก็บผลมะเดื่อโยนลงมา จึงร้องบอกอีกว่าซึ่งกูจะให้มึงนั้น กูได้ให้มึงแล้วตามถ้อยคำกูว่าจริงมิใช่หรือ แต่คำซึ่งมึงว่ากะกูไว้นั้นไม่จริงสักข้อหนึ่งเลย มึงเปนคนเท็จกล่าวคำไม่จริง สวนของมึงนั้นกูไม่ไปแล้ว มึงกลับไปกินผลไม้ที่สวนของมึงเถิด จรเข้ก็ได้รับความลอายแล้วดำน้ำกลับไปทั้งความโศกเศร้าเสียใจ
ข้อซึ่งจรเข้หลอกวานรให้อยู่ในเงื้อมมือของตนแล้วไม่ได้กินตับแลหัวใจวานรตามประสงค์กลับได้ความลอายต้องโศกเศร้าเสียใจเช่นนั้นนั่น เพราะไม่ฉลาดจริงมิใช่หรือ แต่ข้อซึ่งวานรตกอยู่ในเงื้อมมือจรเข้ใกล้จะถึงความตายอยู่แล้วกลับแก้ไขเอาตัวรอดได้มีไชยชนะเช่นนั้นนั่น ก็เพราะมีปัญญาฉลาดจริงมิใช่หรือ อันปัญญาซึ่งเกิดด้วยการได้สดับฟังมากนั้นสามารถที่จะให้สำเร็จกิจกังวลทั้งปวงได้ เปนดุจหนึ่งมนต์ชื่อวิชามะยะ แลสามารถให้สำเร็จความปราถนาในโลกิยคุณทั้งปวงดังประสงค์ได้ เปรียบปานประหนึ่งว่าแก้วสารพัดนึกแลแก้วชื่อว่าโชติรสฉนั้น เพราะเหตุฉนี้กุลบุตร์ทั้งหลายที่เปนกษัตริย์ พราหมณ์ เสนามาตย์ ราชมนตรี แม่ทัพนายกองทั้งปวงซึ่งมีปัญญายิ่ง พึงตรึกตรองประกอบกิจการทั้งปวงให้พร้อมไปด้วยมารยาแลปริยายแลอุบายนั้นๆ ตามสมควรเถิด คงสำเร็จดังประสงค์ได้ทุกประการ
พระยาหนู เต่า สมัน ครั้นได้ฟังคำสุภาษิตกาลักขุปตนะกล่าวดังนั้น ก็มีจิตต์ชื่นชมแล้วให้สาธุการพร้อมกัน ในขณะนั้นจิตรคิวาพระยานกพิราบกับบริวารคิดถึงคุณพระยาหนูหิรัณกะผู้ได้ช่วยชีวิตตนไว้ หวังว่าจะสนองคุณแล้วก็พากันบินมาหาพระยาหนูณที่นั้น กาลักขุปตนะได้เห็นพระยานกพิราบจึงถามว่าท่านพระยานกพิราบทั้งบริวาร พระยาหนูได้ช่วยชีวิตไปแล้วได้เปนสุขสำราญอยู่ด้วยกันสิ้นหรือ พระยานกพิราบจึงตอบว่าเราทั้งปวงเปนสุขอยู่สิ้นแล้ว บัดนี้เราระลึกถึงคุณพระยาหนูผู้มีอุปการช่วยชีวิตเราไว้ เราจึงได้มาบูชาสนองคุณท่าน แล้วพระยานกพิราบจึงให้พรแก่พระยาหนูว่าข้าพเจ้าทั้งบริวารได้พ้นภัยอันตรายแล้วแลได้อยู่เย็นเปนสุขพร้อมกันฉันใด ขอให้ท่านพระยาหนูผู้มีคุณทั้งบริวารจงได้อยู่เย็นเปนสุขสำราญทุกทิพาราตรีกาลฉันนั้นเถิด พระยาหนูหิรัณกะจึงว่า ดูกรพระยานกพิราบ วิสัยสัตว์ทั้งหลายนี้ยากที่จะได้ทำคุณแก่กันได้ แลยากที่จะได้รู้คุณท่านที่ทำแก่ตนไว้ แลยากที่จะได้ตอบแทนสนองคุณท่าน เพราะว่าหมู่สัตว์ทั้งหลายนี้อันตัณหามานะทิษฐิเหล่าคาหะทั้ง ๓ นี้ปกคลุมหุ้มห่อให้มืดมนต์มัวเมาอยู่ทั่วทุกสกลสัตว์ อันบุคคลผู้มีความกตัญญูรู้คุณท่านนั้นเปนบัณฑิตมีอายุยั่งยืนพ้นโรคภัยอันตราย มีสุขสมบัติถาวรยั่งยืนยืดยาวยิ่งขึ้นไป ทั้งฤทธานุภาพศักดาเดชก็ยิ่งใหญ่ขึ้น ซึ่งจิตรคิวาพระยานกพิราบทั้งบริวารมีกตัญญูรู้คุณท่านแลได้สนองคุณท่าน ได้มาอวยพรเคารพนบนอบนำเครื่องบรรณาการมาให้เช่นนี้นี่ยากที่จะทำได้ ควรจะสรรเสริญนัก แล้วจิตรคิวาพระยานกพิราบก็พากันทั้งบริวารคำนับพระยาหนูผู้มีคุณตามวิสัยเดียรฉานแล้วก็กลับไป กา เต่า สมัน สามสหายก็ได้กินของบรรณาการอิ่มหนำสำราญ แล้วพระยาหนูจึงว่าแก่สามสหายเหล่านั้นว่าซึ่งพระยานกพิราบมาทำความดีไว้ พระยานกพิราบนี้เพราะมีปัญญาจึงได้สั่งสอนบริวารของตนพร้อมเพรียงกัน จึงได้พ้นภัยอันตรายได้อยู่เย็นเปนสุขพร้อมกันมิใช่หรือ เพราะเหตุนั้นวิสัยคนเปนพหูสูตรถึงพร้อมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อใครได้เชื่อฟังถ้อยคำท่านผู้มีปรีชาพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ก็อาจทำกิจการกังวลทั้งปวงให้สำเร็จดังประสงค์ได้ทุกประการ ถ้าไม่เชื่อฟังถ้อยคำท่านผู้มีปัญญาไม่พร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ไม่อาจทำกิจสิ่งใดให้สำเร็จได้เลย เพราะเหตุนั้นสหายทั้งหลายจงตั้งโสตฟังคำของเรา จะเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังณบัดนี้