นิทานเริ่ม

บัดนี้จะได้กล่าวเนื้อความในหิโตปเทศวัตถุปกรณัม ว่าในกาลก่อน (อันล่วงลับแล้วแต่ครั้งหลัง) ยังมีเมืองหนึ่งชื่อกุสาวดีราชธานี เปนที่อาศรัยอยู่แห่งหมู่กษัตริย์มากหลาย ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามสุทัสสนะมหากษัตริย์ ทรงพระคุณพฤฒิมีปรีชาชาญเปรื่องปราชญ์เฉลียวฉลาดกว่ากษัตริย์เหล่านั้น ได้ทรงศึกษารอบรู้ในวิชาการศิลปศาสตร์สำหรับพระมหากษัตริย์พร้อมสมบูรณ์ทุกประการ จึงได้ครองสิริราชสมบัติในเมืองกุสาวดีนั้น

วันหนึ่งหมู่กษัตริย์พวกอำมาตย์ราชมนตรีน้อยใหญ่ ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าสุทัสสนราชพร้อมกัน ครั้งนั้นมีอำมาตย์ผู้บัณฑิตคนหนึ่งได้กล่าวคาถาสุภาษิตขึ้นหน้าพระที่นั่ง เนื้อความในคาถานั้นว่า ความเคลือบแคลงสงสัยในคดีความกะทงใดๆ ก็ดี เนื้อความแลอธิบายอันลับลี้ที่ไม่อาจจะชี้ขาดเหล่าใดก็ดี ข้อความทั้งปวงนั้น ก็มีนัยแจ้งอยู่ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ทั้งสิ้น อันคัมภีร์ธรรมศาสตร์นี้เปนดุจแก้วตาของมนุษย์ทั้งหลาย กุลบุตรผู้ใดไม่ได้ศึกษาสดับฟังพระธรรมศาสตร์นี้แล้ว กุลบุตรผู้นั้นเปนดังหนึ่งคนจักษุบอด เหล่าบุคคลทั้ง ๔ ชาตินี้เล่า ผู้ใดถึงพร้อมด้วยพฤฒิ ๔ ประการ คือเปนคนมีชื่อเสียงรูปทรงสง่างาม ๑ มียศบริวารที่นั่งที่นอนสมบูรณ์ ๑ มีทรัพย์สิ่งของอุดมมาก ๑ มีปัญญาหลักแหลมได้ยินได้ฟังมาก ๑ เมื่อถึงพร้อมด้วยพฤฒิ ๔ ประการนี้แล้ว ผู้นั้นแลควรจะเรียกว่าเปนมนุษย์ได้ ถ้าพร่องไปด้วยข้อใดข้อหนึ่งแล้วไซ้ ผลประโยชน์ผู้นั้นไม่ยั่งยืนได้นาน ถ้าขาดไปทั้ง ๔ แล้วไซ้ ผู้นั้นจะจัดว่าเปนมนุษย์ไม่ได้เลย สิ้นเนื้อความคาถาของอำมาตย์ผู้นักปราชญ์เพียงนี้

พระมหากษัตริย์สุทัสสนราช ได้ทรงสดับคาถาสุภาษิตนั้นแล้ว จึงทรงพระราชดำริห์ว่า โอรสของเราทั้งหลายนี้ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนรู้พระคัมภีร์ แลไม่มีความเพียร มีอากัปกิริยาดุจคนบ้าใบ้ เมื่อเราระลึกถึงความประพฤติของโอรสเราฉนี้ไป ก็เปนเครื่องร้อนใจไม่เปนผาสุกได้ แล้วพระเจ้าสุทัสสนราชจึงตรัสสอนโอรสทั้งหลายนั้นว่า บุตรผู้ใดโฉดเขลาไม่เล่าเรียนให้รู้พระคัมภีร์ไม่อุตสาหพากเพียรในกิจกังวลน้อยใหญ่อันควรแก่บุรุษจะพึงทำ แลไม่มีความพยายามในการงารจะเปนที่เกิดทรัพย์สิน มีอากัปกิริยาก็ไม่ดี บุตรเช่นนี้ป่วยการในกิจที่จะเลี้ยงดูไปมีประโยชน์น้อยนัก แม้จะเลี้ยงไปเล่า ก็เปนเครื่องจะได้เห็นด้วยตาจะได้ยินด้วยหู ว่าบุตรเพียงนั้น ๆ ผลประโยชน์ก็สั้นนัก บุตรผู้ใดมีปรีชาเปรื่องปราชญ์ได้เรียนรู้พระคัมภีร์แลสืบชาติตระกูลของตนให้ยิ่งขึ้นไปได้ แลได้ปฏิบัติบิดามารดาโดยความเคารพ บุตรผู้นั้นมีผลประโยชน์มากยืดยาวนัก บุตรผู้ใดความรู้เครื่องจะให้สำเร็จคุณประโยชน์แก่ท่าน เช่นความรู้แห่งบุรุษเหล่าอื่นก็ไม่มีในตนแลความประพฤติตนก็ไม่ดีไม่แยบคาย บุตรเช่นนั้นท่านไม่นับเนื่องในมนุษย์เลย ย่อมตัดประโยชน์ที่มารดาบิดาได้เลี้ยงตนมานั้นเสีย ไม่อาจจะรู้คุณจะสนองคุณท่านได้ ย่อมผลาญมารดาบิดาให้พินาศไป แม้ตนก็ไม่มีความสุขสบายเหมือนอย่างผู้อื่นได้ อันสัตว์ทั้งหลายซึ่งเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏนี้ สัตว์ที่ได้มาเกิดเปนบุตรในตระกูลมารดาบิดาดีกว่านั้นหาได้ง่าย มารดาบิดาที่จะได้บุตรดีกว่าตนขึ้นไปนั้นหาได้ยาก กุลบุตรผู้ใดถึงพร้อมด้วยคุณ ๔ ประการ คือปรีชาเปรื่องปราชญ์ในศิลปศาสตร์ ๑ ได้เล่าเรียนรู้พระคัมภีร์ ๑ มีเกียรติศัพท์เล่าลือว่าดี ๑ ได้ก่อสร้างสั่งสมการบุญการกุศลไว้ ๑ กุลบุตรผู้นั้นเปนบุตรอย่างดีสามารถจะรักษาชาติตระกูลให้เจริญได้ เพราะเหตุนั้นไฉนหนอโอรสของเราเหล่านี้จะถึงพร้อมด้วยคุณเหล่านั้นได้

อนึ่ง เหตุเครื่องจะมอบความสุขให้แก่มนุษย์ทั้งหลายนี้มี ๖ ประการ คือ มีภรรยาเปนที่รักเต็มใจ ๑ มีบุตรดีสามารถจะสืบวงศให้เจริญขึ้นไป ๑ มีทรัพย์สมบัติมาก ๑ มีปัญญาเฉลียวฉลาด ๑ ถึงพร้อมด้วยเกียรติศัพท์เกียรติคุณที่ดี ๑ โรคไม่เบียดเบียฬ ๑ เหตุ ๖ ประการนี้แลเปนเครื่องจะมอบความสุขให้แก่มนุษย์ทั้งปวง เพราะฉนั้น จำเราจะต้องตักเตือนประกอบโอรสของเรานี้ ให้บริบูรณ์ด้วยคุณพฤฒิ ให้มีปรีชาเปรื่องปราชญ์ในศิลปศาสตร์ต่าง ๆ แลให้ฉลาดรู้ในพระคัมภีร์ไว้จึงจะชอบ บุตรของเราเหล่านี้ เพราะได้ทำบุญไว้ในปางก่อน จึงได้มาเกิดในวงศ์บิดามารดาที่ดีเปนตระกูลกษัตริย์เช่นนี้ แม้ในปัจจุบันนี้ก็อย่าล่วงวิสัยตนที่เปนตระกูลกษัตริย์เสียจึงจะดี ถ้าล่วงวิสัยตนเสียแล้วไซ้ ก็จะขาดองค์ไป จะเปนดุจหนึ่งว่าเกวียนที่มีจักรข้างเดียว ไม่อาจจะฉุดลากไปดังประสงค์ได้

อนึ่ง บุรุษทั้งหลายนี้ต้องประกอบตนให้สมบูรณ์ด้วยคุณ ๓ ประการ คือ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ มีความเพียร ๑ คุณ ๓ ประการนี้จำจะต้องเจริญไว้ในตนจึงจะชอบ จะคอยท่าว่าสุดแต่บุญกรรมเช่นนั้นไม่ได้ ก็โอรสของเราเหล่านี้ จะมาสำคัญถือตนว่ามีบุญอยู่แล้วดังนี้ไม่ควร จำจะฝึกฝนให้มีสติปัญญาแลความเพียรขึ้นไว้ให้จงได้

อนึ่ง ผู้ใดไม่ได้เรียนรู้พระคัมภีร์แลวิชาการศิลปศาสตร์แล้ว ผู้นั้นเมื่อเข้าไปในที่ประชุมผู้มีปรีชา ดูเก้อเขินไม่องอาจไม่มีสง่าเลย ดุจนกยางแลกาอันเข้าไปปลอมปะปนระคนอยู่ท่ามกลางหงส์ฉนั้น เพราะฉนี้มารดาบิดาควรจะต้องว่ากล่าวตักเตือนบุตรของตน ให้ศึกษาเล่าเรียนให้รู้วิชาการศิลปศาสตร์ แลให้รอบรู้พระคัมภีร์ใหญ่น้อยให้มีปัญญาไว้จึงจะชอบ ก็ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายนี้ ทรัพย์คือปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวง เหตุไฉนจึงรู้ว่าทรัพย์คือปัญญานั้นประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวงเล่า ทรัพย์คือปัญญานี้ แม้จะแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นก็ไม่รู้สิ้นไม่รู้หมดเลย แม้ผู้อื่นจะมาปล้นสดมภ์ช่วงชิงฉ้อลักไปก็ไม่ได้ แม้อันตรายต่างๆ จะมาเบียดเบียฬก็ไม่พินาศเลย ทรัพย์คือปัญญานี้ไม่อาจจะตีราคาให้เทียบถึงได้ เพราะเหตุนั้นปัญญาคุณนั้นจะประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งปวง แลบุคคลที่มีปัญญาได้ฝึกฝนให้เปรื่องปราชญ์หลักแหลมแล้วนั้น จะมีประโยชน์มีอานิสงส์ไฉนเล่า เมื่อผู้มีปรีชานั้นใช้กิจปัญญาตริตรองพิจารณาเสาะหาผิดหาชอบหาคุณหาโทษประโยชน์ใช่ประโยชน์ไป ก็ได้รู้เห็นตามจริงสว่างไปในข้อนั้น ๆ โดยการแยบคายพร้อมด้วยเหตุผล ข้อที่ผิดที่มีโทษไม่มีประโยชน์ก็จะได้งดเว้นละเสีย สิ่งที่ชอบที่มีคุณมีประโยชน์ ก็จะได้ประกอบตนประพฤติตาม ความเจริญก็จะมีแก่ผู้นั้นเปนอันมาก เพราะว่าเมื่อมีปรีชาแล้ว คนเหล่าอื่นต้องมาศึกษาวิชานับถือบูชาด้วยสารทรัพย์ ครั้นมีทรัพย์มากแล้วในปัจจุบันนี้ก็จะได้บริโภคใช้สรอยให้เปนสุข แลได้ทำบุญแจกทาน ครั้นทำการกุศลไว้แล้วก็จักได้มนุษย์สมบัติแลทิพยสมบัติไม่แคล้วคลาศเลย คนมีปัญญานั้นมีอานิสงสผลฉนี้ ผู้นักปราชญ์ที่เรียนรู้วิชานั้นเล่าเปนสองสถาน คือเรียนรู้ในหัตถกิจโกศล ๑ เรียนรู้ความดีในพระคัมภีร์ต่าง ๆ ๑ เปน ๒ ผู้นักปราชญ์ที่เฉลียวฉลาดในหัตถกิจการช่างนั้น เปนผู้ต้องรับใช้สรอยท่านผู้อื่น ตั้งอยู่ในที่เลวทรามต่ำช้า เมื่อมีกำลังยังสามารถจะทำการช่างได้อยู่แล้ว ก็ยังเปนที่นับถือของชนมาก ครั้นชราแล้วไม่อาจจะทำการด้วยหัตถกิจได้ ก็เปนที่เย้ยหยันหมิ่นประมาทแห่งท่าน ส่วนบัณฑิตที่เรียนรู้ความดีในตนรอบรู้ในคัมภีร์ต่าง ๆ นั้น เปนที่เคารพนบนอบนับถือบูชาของประชุมชนทั้งหลายในกาลทั้งปวง แม้เมื่อจะเข้าไปในท่ามกลางแห่งบรรพษัทท่านก็เชื้อเชิญให้นั่งที่สูง แลบุคคลที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดได้เห็นได้ฟังมามากรอบรู้ในคัมภีร์ทั้งปวงนั้น ถ้าเปนเชื้อกษัตริย์แม้เปนเด็กมีอายุน้อย ไม่ควรจะหมิ่นประมาทว่าเปนเด็กหามิได้ จะให้ครองราชสมบัติก็ควร เพราะว่ามีปัญญาคุณสามารถจะประกอบราชกิจใหญ่น้อยให้ถูกต้องตามเยี่ยงอย่างกษัตริย์ได้ อันผู้ไม่มีปัญญาเปนคนโฉดเขลานั้นแม้จะเปนชนมีเชื้อวงศ์สูงอายุก็ดี ไม่ควรจะยกย่องตั้งไว้ในอิศรฐานมียศมิได้ แลคนชราไม่มีปัญญานั้น เปนดุจหนึ่งว่าน้ำเค็มในมหาสมุทร อันน้ำเค็มในทเลนั้นแม้เปนของเก่ามีมาแต่ต้นกัลปก็ดี เปนแต่น้ำเค็มอยู่ในทเล ไม่มีใครนำมาใช้สอยให้สำเร็จกิจแห่งน้ำมีอันดื่มกินเปนต้นได้ บัดนี้มนุษย์ทั้งหลายย่อมใช้สอยน้ำบ่อแลน้ำในแม่น้ำที่เปนน้ำจืดให้สำเร็จกิจแห่งน้ำตามประสงค์ฉันใด อันคนที่มีปรีชาเปรื่องปราชญ์ แม้เปนเด็กตั้งอยู่ในปฐมวัยก็ดี ไม่ควรจะหมิ่นประมาทว่าเปนเด็ก เปนที่ต้องการใช้สอยของมนุษย์ทั้งหลายในกิจทั้งปวงฉนั้น

พระเจ้าสุทัสสนราชได้พระราชทานพระราโชวาทตรัสสอนพระโอรสทั้งหลายดังนี้ แล้วก็ตรัสสั่งให้หาผู้เปนนักปราชญ์ราชบัณฑิตใหญ่น้อยขึ้นมาที่เฝ้า จึงตรัสว่า โอรสของเราทั้งปวงไม่ได้เล่าเรียนรู้พระคัมภีร์นิติศาสตร์ มีอากัปกิริยาดุจคนบ้าใบ้ บัดนี้เราประสงค์จะให้ฝึกสอนเล่าเรียนพระคัมภีร์นิติศาสตร์ให้มีปรีชาบ้าง ท่านทั้งปวงจะเห็นเปนประการใด ครั้งนั้นยังมีครูใหญ่ผู้หนึ่งชื่อวิสมานบัณฑิตเปนผู้เปรื่องปราชญ์ในปกรณ์นิติศาสตร์ จึงกราบทูลว่า อันวิสัยมนุษย์ทั้งหลายนี้แม้เกิดในตระกูลสูงก็ดี เมื่อมาประพฤติต่ำตามคนชั่วคบหาสมาคมกับคนชั่วแล้ว ก็คงจะประพฤติตนเปนคนชั่วเปนคนพาลเช่นนั้นไป ถ้าได้คบหาสมาคมกับท่านผู้เปนบัณฑิตแล้ว คงจะประพฤติตนเปนบัณฑิตด้วย เมื่อคบหากับท่านที่ดีที่ประเสริฐแล้ว ก็เปนผู้ดีขึ้นได้ ก็พระราชกุมารทั้งหลายเหล่านี้ได้ทรงพระเจริญแล้วในตระกูลอันประเสริฐเปนวงศ์กษัตริย์ ถ้าได้เสพสมาคมกับข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้ทรงเล่าเรียนพระคัมภีร์นิติศาสตร์แลธรรมศาสตร์ให้เปรื่องปราชญ์แต่เดิมทีแล้ว ไฉนจะไม่เปนบัณฑิตได้เล่า สิ่งที่ยังไม่ทราบก็คงจะได้ทราบทั้งสิ้น ผู้ใดเมื่อมีกำลังสติปัญญาอยู่แล้ว ถ้าผู้นั้นไม่ทำตามถ้อยคำของบัณฑิต เปนคนเกียจคร้านไม่อุสาหะสดับฟังเล่าเรียนเขียนอ่านท่องทานไตร่ตรองเนื้อความโดยแยบคายแล้ว ไหนจะเปนบัณฑิตได้เล่า ผู้นั้นเปรียบเหมือนด้วยนกยาง อันนกยางนั้นแม้บุคคลมาฝึกสอนให้หัดพูดภาษามนุษย์ นกยางก็ไม่อาจจะเจรจาภาษามนุษย์ได้ไม่เหมือนตระกูลนกสาลิกา แลนกสาลิกามีวิสัยเมื่อคนฝึกสอนให้หัดเจรจาภาษาคนแลภาษาอื่นๆ นกสาลิกาก็พึงสามารถจะเจรจาได้ พระราชกุมารทั้งหลายนี้ได้ดำรงในวงศ์อันประเสริฐก็มีอุปนิสัยเปนดุจหนึ่งนกสาลิกา ถ้าได้ฝึกฝนแต่เดิมทีแล้ว ก็คงจะเปนผู้ดีมีปัญญารอบรู้พระคัมภีร์ทั้งปวงได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จะขอรับอาสาฝึกสอนพระราชกุมารทั้งหลายเหล่านี้ให้มีพระปัญญาเปรื่องปราชญ์ขึ้นให้จงได้ วิสมานบัณฑิตได้กราบทูลรับอาสาฉนี้ พระเจ้าสุทัสสนะจึงตรัสตอบว่า แน่ท่านทั้งหลาย เหมือนใบไม้แม้เปนของไม่มีกลิ่นเมื่อมาห่อดอกไม้ที่มีกลิ่นอันหอม ก็เปนของมีกลิ่นหอมขึ้นได้ อนึ่งเหมือนดอกบัวแดงอันตั้งอยู่บนยอดเขา หันหน้าข้างตวันออก ครั้นพระอาทิตย์ขึ้นมา ต้องแสงพระอาทิตย์แล้ว สีดอกบัวแดงนั้นก็ยิ่งแดงมากขึ้นไป ฉันใด โอรสของเราทั้งหลายแม้ยังเปนคนน้อยปัญญาอยู่ก็ดี เมื่อท่านทั้งหลายได้ฝึกฝนให้เรียนพระคัมภีร์แล้ว คงจะมีปัญญาเปรื่องปราชญ์ได้ ด้วยเหตุนั้น ท่านทั้งหลายช่วยฝึกสอนให้ด้วยเถิด

ครั้งนั้นครูวิสมานบัณฑิตจึงได้เชิญพระราชกุมารทั้งหลายนั้นออกมาในที่ฉะเพาะหน้า จึงกล่าวสอนว่า ข้าแต่พระราชกุมารทั้งหลาย วิสัยบัณฑิตผู้มีปรีชาได้ใช้กิจปัญญามักทำการให้ล่วงไปด้วยการกล่าวถ้อยคำสุภาษิต เครื่องแสดงประโยชน์ตนแลผู้อื่นตามที่มีมาในคัมภีร์ต่าง ๆ ส่วนคนพาลไม่มีปรีชานั้นมักทำการให้ล่วงไปด้วยเหตุ ๔ ข้อ คือ กล่าวถ้อยคำเปนทุภาษิตเครื่องจะให้ถึงความพินาศ ๑ มักยินดีในการนอนหลับ ๑ แลมักเพลิดเพลินในการเล่นต่าง ๆ ๑ แลมักเทลาะวิวาทถุ้มเถียงกับท่าน ๑ เหตุ ๔ อย่างเหล่านี้แล เปนคติเปนวิสัยของคนพาล เพราะเหตุนั้น พระราชกุมารทั้งหลายพึงคิดอ่านให้แยบคายอย่าประพฤติตนเปนคนพาล พึงกล่าวถ้อยคำสุภาษิตเครื่องจะให้รักใคร่เปนไมตรีกัน ให้ถูกต้องตามเยี่ยงอย่างที่มีมาในพระคัมภีร์ทั้งหลายเถิด ผู้ใดมีปัญญาหมั่นตริตรองโดยทางแยบคายแลไม่ล่อลวงกัน มีใจซื่อตรงเปนที่เชื่อเปนที่วางอารมณ์แก่กันได้ แลรักษาความสัตย์มั่นนักทำประโยชน์แก่กันแลกันให้สำเร็จได้ แลมักขวนขวายเพื่อจะเปลื้องปลดทุกข์ร้อนกิจกังวลของมิตรสหายให้สำเร็จได้ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยลักษณเช่นนี้แล เมื่อใครได้คบหาเปนมิตรสหายไว้แล้ว จึงจะเปลื้องปลดสรรพทุกข์แห่งกันแลกันให้สำเร็จ แล้วจึงจะได้อยู่เปนสุขพร้อมกันได้ เหมือนหนึ่งกาแลเต่าแลสมัน ๒ เดียรฉานเหล่านี้ได้ผูกไมตรีกัน ได้ขวนขวายปลดเปลื้องทุกข์ภัยแห่งกันแลกันให้สำเร็จแล้ว ได้อยู่เย็นเปนสุขสำราญพร้อมกัน แม้พระราชกุมารทั้งหลายก็พึงพระพฤติตนให้เหมือนด้วยสามสัตว์นั้นจึงจะชอบ พระราชกุมารทั้งหลายจึงซักถามว่า สามเดียรฉานเหล่านั้นเปนไฉนเล่า วิสมานอาจารย์ผู้บัณฑิตจึงได้เล่านิทานว่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ