นิทานเรื่องลูกเศรษฐีกับโจร

ครั้งก่อนนี้ยังมีเมืองชื่ออมิตปูระ ในเมืองนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อมหาวิสาละ แลเศรษฐีนั้นมีบุตรคนหนึ่งถึงพร้อมด้วยคุณที่เปนความดีพอใจจะให้ทานแลรักษาศีล วันหนึ่งเศรษฐีบุตรนั้นพาเกวียน ๕๐๐ เล่มไปค้าขายในประเทศอื่น ครั้นถึงกลางทางโจรทั้งหลายมาปล้นเอาทรัพย์จับเอาบุตรเศรษฐีนั้นไปด้วย แล้วโจรทั้งหลายก็ไปชักจูงให้ไปเสพย์สุราฆ่าโค แลไปปล้นสดมภ์ลักทรัพย์ท่านให้ประพฤติตาม เศรษฐีบุตรจึงกล่าวแก่โจรเหล่านั้นว่า เรานี้เปนผู้ถือบุญถือบาป ซึ่งท่านทั้งหลายจะมาชักจูงเราในกิจการอันเปนบาปเช่นนั้น เราไม่ทำได้ เมื่อท่านเอ็นดูจะปล่อยเราไปก็จงปล่อยเสียเถิด หรือจะฆ่าเราเสียก็ตามแต่จะทำเถิด โจรเหล่านั้นก็คิดเห็นว่าถ้าเราจะปล่อยเศรษฐีบุตรไปแล้ว ทุกข์ภัยก็คงจะมาถึงเราเปนแท้จำจะต้องฆ่าเสีย ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้วก็ฆ่าบุตรเศรษฐีนั้นเสีย

นิทานเรื่องนี้เราก็ได้รู้ความชัดว่า มนุษยทั้งหลายถ้ามีเชื้อสายแลประพฤติการเปนประการใด ก็ไม่ละวิสัยของตนได้เลย ดูกรสหายทั้งสอง ข้าพเจ้านี้ถึงเปนสุนัขจิ้งจอกก็ดีมีเชื้อสายเนื่องมาแต่สุนัขจิ้งจอกอันเปนผู้ดี มารดาบิดาปู่ย่าตายายของข้าพเจ้านี้ ท่านได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมความสัตย์ ได้เคยเปนนายพวกเดียรัจฉานชาติสัตว์ป่า ได้รักษาศีล ๕ เปนเนืองนิตย์สืบมาก จนถึงตัวข้าพเจ้านี้ก็ได้ตั้งอยู่ในกุศลกิริยกตามวงศ์ของคนมาตั้งแต่เล็กคุ้มเท่าบัดนี้ ได้รักษาศีล ๕ มิได้ด่างพร้อยเศร้าหมอง สหายทั้งสองอย่าได้สงสัยในข้าพเจ้าเลย

มริจิปาลินิสมันครั้นได้ยินคำจันทรพุทธิสุนัขจิ้งจอกกล่าวเปนยุติธรรมเช่นนั้น ก็สำคัญว่าเปนผู้ซื่อตรงตั้งอยู่ในยุติธรรมจริง จึงกล่าวแก่กาปังสุพุทธิว่า แน่ท่านกาผู้เปนสหาย เรานี้ก็ได้ฟังถ้อยคำของสุนัขจิ้งจอกกล่าวแต่ต้นจนปลายเห็นแยบคายเปนสัตย์เปนธรรมอยู่ ท่านอย่าสงสัยเลย เราทั้ง ๓ จงผูกไมตรีกันเปนมิตรสหายด้วยกันเถิด เมื่อโทษทุกข์สิ่งไรของใครมีขึ้นแล้ว จะได้ช่วยกันเปลื้องปลดโทษทุกข์นั้น ๆ กาจึงตอบว่า ท่านทั้ง ๒ ผู้อาศรัยแผ่นดินด้วยกันสุดแต่จะเห็นดีเถิด เรานี้เปนสัตว์มีปีกบินไปในอากาศได้ ตั้งแต่นั้นไปเดียรัจฉานทั้ง ๓ นั้นได้ผูกไมตรีเปนมิตรสหายกัน วันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกจึงชวนสมันว่า ท่านสมันผู้สหายในสถานที่ใกล้ประเทศนี้ มีป่าหนึ่งสมบูรณ์ด้วยหญ้าแลเข้าสาลีก็อุดมดี เราทั้ง ๒ พากันไปกินเข้าสาลีด้วยกันเถิด ครั้นสมันรับว่าจะไปแล้ว สุนัขจิ้งจอกก็พาสมันไป ครั้นถึงประเทศที่นั้นแล้วสมันก็ลงไปกินเข้าสาลีในทุ่งนาของชายผู้หนึ่ง บุรุษเจ้าของเข้าสาลีได้เห็นรอยเท้าสมันจึงดักบ่วงไว้ที่ทางสมันลงไปนั้น ครั้นเวลากลางคืนสมันลงไปกินเข้าสาลีก็ติดบ่วงของบุรุษนั้น สมันร้องบอกสุนัขจิ้งจอกว่า ท่านสหายบัดนี้ตัวเราติดบ่วงอยู่ไม่อาจจะไปได้แล้ว เชิญสหายช่วยเปลื้องปลดเราให้พ้นจากบ่วงด้วยเถิด สุนัขจิ้งจอกเห็นสมันติดบ่วงแน่นหนาเช่นนั้นแล้ว จึงคิดว่าคราวนี้สมความปราถนาของเราแล้ว เราจะได้กินเนื้อสมันนี้เปนแท้ แล้วสุนัขจิ้งจอกเข้าไปซ่อนอยู่ในสุมทุมตำบลหนึ่งซึ่งมีอยู่ในที่ใกล้ สมันจึงกล่าววิงวอนว่า ท่านสุนัขจิ้งจอกผู้สหาย เหตุไฉนท่านจึงทำลายทางไมตรีไม่มาช่วยทุกข์ภัยของเราผู้เปนสหายเล่า ดูกรสุนัขจิ้งจอก ผู้ที่เปนมิตรสหายกันจะได้รู้ว่าเปนสหายจริงนั้น ก็เมื่อเวลาทุกข์ภัยอันตรายมาถึงแก่สหายข้างหนึ่งแล้ว ถ้าสหายข้างหนึ่งได้ช่วยขวนขวายเปลื้องทุกข์นั้น ๆ จึงจะรู้ว่าเปนสหายจริง ผู้ที่แกล้วกล้านั้นเมื่อเวลาเข้าไปยังสมรภูมิที่ผจญ จึงจะรู้ว่าเปนผู้กล้าแลผู้ขลาด อนึ่งวิสัยคนที่มีภรรยานั้นเล่า เมื่อเวลาเสื่อจากลาภยศสิ้นทรัพย์สิ่งสินแล้ว จึงจะได้รู้ว่าภรรยารักจริงแลรักไม่จริง คำนี้ก็มีมาในคัมภีร์นิติศาสตร์ ข้าพเจ้ากับสุนัขจิ้งจอกได้ผูกไมตรีเปนสหายกันมานานแล้วมิใช่หรือ เหตุไฉนท่านจึงไม่ตั้งอยู่ในความยุติธรรมความสัตย์ ไม่ช่วยกันแร้วให้ขาดเปลื้องทุกข์ของข้าพเจ้าผู้สหายเสียเล่า จันทรพุทธิสุนัขจิ้งจอกได้ยินสมันกล่าววิงวอนเช่นนั้น จึงแกล้งกล่าวว่า แน่สมันผู้สหาย บ่วงที่ท่านติดอยู่นั้นมั่นคงแน่นแฟ้นนัก เหลือวิสัยที่เราจะกัดให้ขาดได้แล้ว อนึ่งเรานี้ได้อาบน้ำชำระเกล้าสมาทานพรตตั้งอยู่ในศีลเปนผู้หมดจดดีแล้ว ซึ่งท่านจะมาให้เรากัดแร้วที่มีเจ้าของหวงแหนอยู่นั้น เราทำไม่ได้แล้ว กลัวศีลจะขาดจะมัวหมองไป แน่สมันผู้สหายเรานี้คิดเห็นว่าแม้จะถึงความตายก็ตามเถิด ศีลคุณที่เปนการดีนั้น จำจะต้องรักษาไว้ให้มั่น เพราะเหตุนั้นท่านจงอุตสาหะดึงบ่วงนั้นให้ขาดด้วยกำลังตนเถิด ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว สุนัขจิ้งจอกก็แอบเข้ามาอยู่ในที่รกตำบลหนึ่งซึ่งใกล้ที่อยู่แห่งสมัน ด้วยคิดว่า ครั้นเราจะเข้าไปกัดสมันกินทั้งเปนณบัดนี้ ฝูงสัตว์ทั้งหลายก็จะครหาได้ ว่าชาติสุนัขจิ้งจอกแกล้งลวงหลอกผูกไมตรีแล้วฆ่าสหายกิน หาควรไม่ ภายหน้าต่อไปใครเลยเล่าจะมาผูกไมตรีกับเราอีก เราก็จะว่างเว้นอยู่แต่ผู้เดียว แม้เราจะลวงหลอกสัตว์อื่นกินอีกนั้นยากที่จะทำได้ อย่ากระนั้นเลยเมื่อสมันตายเองแล้ว เราจึงค่อยกินเถิด ครั้นคิดดังนั้นแล้วสุนัขจิ้งจอกก็หมอบแอบอยู่ณที่รกนั้น ครั้งนั้นกาปังสุพุทธิคอยท่าสมันผู้สหายอยู่หลายวันไม่เห็นกลับมา จึงรำจวญจิตต์คิดเห็นว่าชรอยสหายของเรานั้น จะมีเหตุอันตรายสิ่งให้สิ่งหนึ่งเปนแม่นมั่น แล้วบินไปเที่ยวเสาะหาสมันผู้สหาย ครั้นเวลาเช้าได้เห็นสมันติดบ่วงอยู่ที่ทุ่งนาเข้าสาลีนั้น กาจึงถามว่า ดูกรสหาย ไฉนท่านจึงมาติดบ่วงแน่นอยู่เช่นนี้เล่า สมันได้ยินเสียงกาปังสุพุทธิก็ค่อยมีจิตต์รื่นเริงขึ้นมาจึงตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้สหายซึ่งเรามาติดบ่วงต้องทุกข์ทรมานกายอยู่เช่นนี้ เพราะไม่เชื่อคำสอนสหายผู้มีปัญญา มาเชื่อฟังคำสุนัขจิ้งจอกผู้เลวทรามต่ำช้า ซึ่งเปนดังนี้นี่เพราะโทษข้าพเจ้าโฉดเขลา ดูกรสหาย วิสัยสัตว์ทั้งหลายเมื่ออันตรายจะมาถึงตนแล้ว แม้บัณฑิตจะสั่งสอนเท่าใด ๆ ก็ไม่ถือตามถ้อยคำของท่านผู้มีปัญญาได้ ไปเชื่อฟังคำของสัตว์ที่ต่ำช้ามาหลอกตน เพราะเหตุนั้นจึงต้องถึงความพินาศจากสุขสมบัติของตนไป กาจึงถามว่า บัดนี้จันทรพุทธิสุนัขจิ้งจอกผู้พาลนั้นมันไปข้างไหนเสียเล่า สมันจึงบอกว่ามันซ่อนเร้นแฝงอยู่ในที่รกคอยจะกัดกินข้าพเจ้านี้เปนอาหาร กาจึงกล่าวว่า เมื่อก่อนนั้นเราได้ห้ามท่านแล้ว ว่าอย่าไปคบหากับสุนัขจิ้งจอกผู้หินชาติต่ำช้านั้นเลย ท่านก็ไม่เชื่อคำของเรา จึงต้องถึงทุกข์ภัยอันตรายโตใหญ่ถึงเพียงนี้ ดูกรท่านสมันสัตว์เหล่าใดเปนผู้ไม่ซื่อตรงต่อมิตรสหาย มักล่อลวงประทุษร้ายมิตรสหายก็ดี พูดไม่จริงไม่ถูกต้องด้วยเยี่ยงอย่างให้ผิดทางไปก็ดี ไม่มีศีลไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมก็ดี เปนผู้มักได้ก็ดี มีความโกรธมาก็ดี ผู้ใดไปผูกไมตรีคบหาด้วยสัตว์ที่ใจบาปเหล่านี้ไว้เปนมิตรสหายแล้ว ผู้นั้นก็จะถึงความพินาศแลทุกข์ภัยอันตรายเปนแท้ กากับสมันได้โต้ตอบกันอยู่ดังนี้ ในทันใดนั้นบุรุษผู้เจ้าของถือศัสตราแล้วเดิรออกมาจากบ้าน ครั้นกาได้เห็นชายผู้นั้นจึงให้อุบายแก่สมันว่า เมื่อชายนั้นมาถึงแล้ว ท่านจงทำอุบายนอนนิ่งอยู่ปานประหนึ่งว่าท้องขึ้นตายเสียแล้ว เมื่อชายผู้นั้นแก้บ่วงแล้วแลไปตัดเถาวัลย์นั้น เราจะลงไปจับอยู่ที่ตัวท่านแล้วจะร้องเปนเสียกาขึ้น ท่านจงลุกขึ้นแล้วรีบวิ่งไปเสียให้พ้นเถิด แล้วกาจับอยู่บนต้นไม้คอยจ้องดูกิริยาชายผู้นั้น บุรุษเจ้าของบ่วงเล่า ครั้นมาถึงแล้วก็เห็นสมันนอนกลิ้งอยู่ มีอาการปานประหนึ่งว่าตาย แล้วคิดเห็นว่าสมันนี้ติดบ่วงแล้วแต่เวลาหัวค่ำจึงตายเสียแล้ว ก็ตรงเข้าไปตบดูที่ท้องสมัน เห็นว่าท้องขึ้นแล้วก็สำคัญว่าตายจริงแล้วก็แก้บ่วงออก ถือมีดเดิรไปหวังว่าจะตัดเถาวัลย์มาผูกจะได้หามเข้าไปบ้าน กาเห็นว่าเปนทีแล้วจึงบินลงมาจับที่ตัวสมันร้องขึ้นเปนเสียงกา สมันได้สติขึ้นมาแล้วก็ลุกขึ้นวิ่งหนีเข้าไปในป่ารก โดยทางที่สุนัขจิ้งจอกแอบอยู่นั้น บุรุษนั้นแลมาเห็นว่าสมันวิ่งไปเสียไกล ครั้นจะไล่ตามไปก็ไม่ทัน จึงเอามีดโต้ที่ถือไว้นั้นขว้างไปในที่รก ก็บันดาลให้มีดนั้นตกลงถูกสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกผู้ทำลายทางไมตรีก็ถึงความตาย กาลักขุปตนะได้ชักนิยายมาสาธกความให้หิรัณกะพระยาหนูฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ดูกรพระยาหนูผู้สหาย ชนผู้ใดคิดจะปองร้ายแก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในความสัตย์ก็ดี ผู้เปนมิตรสหายกันก็ดี หรือคิดประทุษฐร้ายแก่บิดามารดาปู่ย่าตายายครูบาอาจารย์แลท่านผู้มีคุณก็ดี แก่สมณะชีพราหมณ์ที่ตั้งอยู่ในศีลในสัตย์ก็ดี ชนผู้นั้นก็แพ้แต่ศัตรู ๘ จำพวกด้วยโทษ ๑๐ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะมาถึงแก่ผู้นั้นด้วย ถ้าไม่ถึงในขณะนั้นไซ้ ในสามวันหรือสามเดือนสามปีก็คงจะมาถึงแก่ผู้ใจบาปไม่รู้คุณท่านนั้นเมื่อไรเมื่อหนึ่งเปนแท้ เหมือนหนึ่งจันทรพุทธิสุนัขจิ้งจอกผู้ใจบาปคิดประทุษฐร้ายสมันมริจิปาลินิผู้เปนสหายตั้งอยู่ในความสัตย์ โทษทั้งปวงนั้นก็กลับกลายให้ผลแก่ตนเองมิใช่หรือ อนึ่งผู้ใดมีปัญญารู้คุณท่านตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรมไม่ทำลายมิตรไมตรี ผู้นั้นจะมีสุขสำราญจะเปนที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งปวง เหมือนหนึ่งกาปังสุพุทธิสมันกับมริจิปาลินินี้ ได้คบหาเปนมิตรสหายกันไม่ทำลายทางไมตรี ได้พ้นจากทุกข์ภัยแล้วแลกลับไปอยู่ในป่าจำปากาวี ได้จำเริญทางไมตรีพร้อมกันจึงได้อยู่เย็นเปนสุขจนสิ้นชีพ ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ทั้งสองเปนตัวอย่างมิใช่หรือ สุนัขจิ้งจอกนั้นครั้นได้เปนมิตรไมตรีกันแล้วก็มาทำผิดทางเสียความสัตย์ จึงเกิดอุปัทวันตรายถึงความตายแล้วต้องไปเกิดในนรกใหญ่ ดูกรพระยาหนูข้อซึ่งเปนมิตรไมตรีกันนั้นเปนการดี ประโยชน์ก็มาก เพราะว่าเมื่อจะมีทุกข์ร้อนน้อยใหญ่ก็จะได้ปรึกษากันแล้วจะได้ไปมาหากัน เมื่อมีกิจการสิ่งหนึ่งแลสิ่งใดจะได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันฉนี้จนชั่วบุตรแลหลานสืบกันไป อนึ่งวิสัยคนที่โฉดเขลานั้นเมื่อไม่รู้ความดีของท่านที่ดีกว่าตน ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแลความสัตย์ก็ไม่ได้คบหาสมาคมเปนมิตรสหายกับท่าน จึงไม่ได้อยู่เปนสุขสำราญมีอายุก็สั้น ท่านผู้ดีที่มีปรีชานั้นได้รอบรู้ความดีของท่านที่เปนสัตย์เปนธรรมที่ดีกว่าตน แล้วได้ไปคบหาเปนมิตรสหายกับท่าน ได้ประกอบกิจการสิ่งที่เปนประโยชน์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจึงได้อยู่เย็นเปนสุขสำราญ มีอายุกาลก็ยั่งยืนได้นาน แม้ด้วยเหตุข้อนี้เราจึงต้องมาคบหาท่านเปนมิตรสหายกับท่าน พระยาหนูจึงตอบว่า แน่ท่านกา ในหมู่สัตว์เหล่านี้สัตว์ ๕ จำพวก คือกา ๑ เสือ ๑ งู ๑ แมว ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ เหล่านี้เปนผู้ชั่วช้าลามกดุร้าย ถ้าผู้ใดคบหาเปนมิตรสหายให้ชิดชมแล้ว ความฉิบหายทุกข์ภัยอันตรายก็คงจะมาถึงผู้นั้นเปนแท้ บัณฑิตท่านกล่าวมาเช่นนี้ ก็กาย่อมเปนปัจจามิตรกับหนูมิใช่หรือ บัดนี้ท่านกาจะมาผูกไมตรีเปนมิตรสหายกับเรานั้น เราเกรงขามท่านนัก เกลือกจะมีอันตรายณภายหน้า ครั้นกาได้ยินพระยาหนูว่าดังนั้น จึงตอบว่าคำซึ่งท่านว่านี้จริงอยู่ แต่ว่าท่านจงฟังคำเราว่าก่อน ธรรมดาว่าไฟแม้เปนของร้อนนัก เมื่อเอาน้ำรดลงให้ดับก็กลับเย็นลงไปได้ฉันใด แม้ผู้ที่เปนศัตรูกันเมื่อผูกไมตรีโดยยุติธรรมปฏิบัติผ่อนผันให้ถูกต้องตามอัธยาศัยกันแล้ว ก็กลับเปนไมตรีกันไม่ประทุษฐร้ายต่อกัน ทำสิ่งที่เปนประโยชน์แก่กันได้อีกฉันนั้น อนึ่ง ผู้ใดกอบไปด้วยวิชาเปรื่องปราชญ์เปนกำลังก็ดี มีอำนาจศักดาเดชฤทธานุภาพเรี่ยวแรงเปนกำลังก็ดี แม้ถึงพร้อมด้วยคุณเช่นนี้ถ้าไม่มีแยบคายทำผิดวิสัยไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะให้สำเร็จกิจนั้น ๆ ได้ เพราะว่าเหมือนหนึ่งเสือมีเรี่ยวแรงว่องไวทำการเต็มอำนาจได้ก็แต่บนบกซึ่งเปนวิสัยของตน ถ้าในน้ำผิดวิสัยของตนเสียแล้ว เสือก็ไม่มีอำนาจได้ จรเข้นั้นเล่าถ้าอยู่ในน้ำซึ่งเปนวิสัยของตนก็สามารถจะมีอำนาจได้ ถ้าขึ้นไปบนบกแล้วจรเข้ก็ไม่มีอำนาจให้องอาจว่องไวเหมือนเช่นในน้ำได้ อนึ่งเหมือนเกวียนบันทุกสิ่งของแล้วจะลากไปบนบกก็อาจจะไปได้ดังประสงค์ ถ้าจะลงไปลากเกวียนในน้ำ ใช่ทางแยบคายก็ไม่สำเร็จกิจดังประสงค์ได้ เรือเล่าเมื่อบันทุกของแล้วจะแจวจะถ่อจะพายจะแล่นใบไปในน้ำก็สามารถจะไปได้ดังประสงค์ จะเอาเรือขึ้นมาลากบนบกเช่นเกวียนก็ไม่แยบคาย ใช่วิสัยแห่งเรือ ฉันใดเราท่านทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน แม้จะมีวิชาเปรื่องปราชญ์ก็ดี มีอำนาจฤทธานุภาพว่องไวก็ดี ก็สามารถจะให้สำเร็จกิจในที่แยบคายที่เปนวิสัยของตน ๆ ได้ ฉันนั้น (กาชื่อลักขุปตนะ ครั้นได้ยินคำสุภาษิตพระยาหนูกล่าวดังนั้นแล้วก็ชื่นชมยินดี จึงตอบว่า ดูกรพระยาหนู่ คำซึ่งท่านว่าชอบแล้ว เราก็จะใส่ใจจำไว้ แม้คำของเราเล่าท่านก็จงจำไว้ด้วย) ผู้ใดแม้มีชื่อเสียงเชื้อวงศ์ชาติตระกูล มีอำนาจกำลังอานุภาพพร้อมไปด้วยลาภยศบริวาร ถึงพร้อมด้วยโยธาทวยหารก็ดี ถ้าผู้นั้นไม่ระมัดกายระวังวาจาแลทรมานจิตต์ของตนให้ปฏิบัติอยู่ในทางชอบแล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าเปนคนชั่ว ผู้ใดแม้โลกิยคุณเช่นนั้นไม่มีในสันดานตนก็ดี ถ้าได้ระมัดกายระวังวาจารักษาใจไว้ในทางธรรมที่ชอบแล้วผู้นั้นก็ชื่อว่าเปนผู้ดี ความปรกติใจของคนชั่วนั้นเปรียบเหมือนหม้อดิน วิสัยหม้อดินนั้นเปนของแตกง่ายไม่มั่นคง ครั้นแตกแล้วแม้จะมาประสานต่อติดจะให้สนิธชิดชมดังเดิมนั้นยากที่จะทำได้ ฉันใด ก็ปรกติใจของคนพาลนั้น แม้จะคบหาสมาคมเปนมิตรสหายกับใครๆ ก็ดี ไม่ยั่งยืนได้นานไปมักร้าวฉานรวดเร็วฉับพลัน ฉันนั้น วิสัยปรกติท่านผู้ที่ดีจะได้เปนเช่นนั้นหามิได้ แม้จะคบหาผูกไมตรีกับใคร ๆ ก็ดีย่อมมีใจโอบอ้อมยั่งยืนนัก ถึงมิตรสหายจะพลั้งพลาดทำผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ดี ไม่ถือโทษไม่เก็บใส่ใจไว้ แม้ร้าวฉานแล้วก็ดีย่อมประสานได้ง่าย อีกข้อหนึ่งธรรมดาของคนพาลนั้นเปนประหนึ่งว่าผลไม้มีพิษ มีสีผิวพรรณภายนอกงามสุกสดใส แต่ภายในนั้นเต็มไปด้วยพิษ อนึ่งธรรมดาของคนพาลนั้นเปนประหนึ่งปลาเน่าที่ห่อไว้ด้วยใบไม้สด ภายนอกดีพอดูได้ ภายในปฏิกูล ความปรกติของบัณฑิตนั้นเปนดุจผลมะตูม ภายนอกเกลี้ยงเกลาดีภายในก็ไม่มีพิษ อีกข้อหนึ่งปรกติใจของคนดีนั้นเหมือนกับจันทน์กฤษณากลำภัก แม้จะเอามีดพร้าขวานถากฟัน กลิ่นนั้นก็หอมติดมีดขวานไปได้ ฉันใด ปรกติใจของบัณฑิตนี้ แม้คนพาลพลั้งพลาดทำผิดประทุษฐร้ายแก่ตนก็ดีมิได้ถือโกรธคิดจะทำตอบ ประกอบด้วยเมตตาแผ่ไมตรีจิตต์คิดจะให้เปนประโยชน์ฝ่ายเดียว ฉันนั้น คนพาลนั้นมีความหวังอยู่ ๒ ประการ คือพอใจจะยกโทษผู้อื่น ๑ มักกลบเกลื่อนความผิดที่มีในตน ๑ บัณฑิตนั้นมักใช้กิจปัญญาเลือกสรรสิ่งที่ผิดแลชอบ การที่ผิดแล้วละเสีย การที่ชอบก็ประกอบตนไป อนึ่งบัณฑิตผู้อื่น ในการที่ชอบที่เปนประโยชน์ แลอุดหนุนค้ำชูสงเคราะห์คนดีที่ประพฤติชอบ แลปฏิบัติตามอัธยาศัยมิตรสหายในทางที่เปนประโยชน์แลเลี้ยงชีวิตชอบ ท่านผู้ดีที่เฉลียวฉลาดย่อมประพฤติตนในกิจที่ชอบที่แยบคายเปนต้น เช่นนี้เราเห็นว่าท่านพระยาหนูเปนบัณฑิตประกอบกิจการที่ชอบ ต้องด้วยเยี่ยงอย่างของบัณฑิตเราจึงได้สวามิภักดิ์มาผูกไมตรีเปนมิตรสหายกับท่าน ตั้งแต่วันนี้ไปท่านจงจำไว้ว่าข้าพเจ้านี้เปนมิตรสหายของท่าน พระยาหนูผู้ปรีชาครั้นได้ยินคำสุภาษิตกาเจรจาเช่นนี้ก็มีความยินดีออกจากปล่องที่อยู่ของตนจึงกล่าวว่า แน่ท่านกา เราได้ยินคำท่านเจรจามานี้แยบคายต้องด้วยลักษณมิตรสหาย เปนเครื่องเยือกเย็นจิตต์สนิธนัก ปานประหนึ่งว่าต้นพฤกษาที่ดาดาษด้วยกิ่งใบมีร่มเงาอันชิด มีบ่อน้ำอันเย็นสนิธ มีลมพัดเฉื่อยๆ พร้อมไปด้วยเครื่องหอมกระแจะจุณจันทน์ แม้บุรุษเดิรทางกันดารร้อนด้วยแสงแดดมีความลำบากเหน็จเหนื่อยมาก บุรุษนั้นครั้นได้เข้าไปพักอาศรัยใต้ร่มไม้อาบน้ำประพรมกายด้วยเครื่องหอมแล้ว ก็รับลมที่พัดเฉื่อยๆ นั้น ความร้อนเหน็ดเหนื่อยก็ระงับหาย ความสุขสำราญก็เกิดขึ้นณทันใดนั้น ฉันใด โอวาทคำสอนของบัณฑิตนี้ก็เปนที่รื่นรมย์ท่านผู้ปรีชาสามารถจะระงับความร้อนใจทำจิตต์ของบัณฑิตให้เยือกเย็นสนิธได้ ฉันนั้น อนึ่งโอวาทคำสอนของบัณฑิตนี้เมื่อใครได้สดับฟังแล้วย่อมเปนที่รักใคร่บันเทิงใจ จะบำบัดความร้อนทุรนทุรายแลความวิตกของผู้นั้นให้สงบลง แล้วแลทำใจให้เปนสุขสำราญได้ แน่ท่านกา มิตรสหายที่ชั่วนั้นมีอยู่ ๓ จำพวก คือสหายผู้ใดเมื่อทุกข์ร้อนมีขึ้นแล้วไม่เปนที่ไว้ใจปรึกษากันได้ ๑ เมื่อมีกิจกังวลเกิดขึ้นไม่ช่วยกันทำ ๑ เปนคนโลภเหลือล้นอยากได้ถ่ายเดียว ๑ มิตรสหายที่ชั่วเช่นนี้อย่าได้คบหาไว้เปนมิตรให้ชิดชมกันเลย อนึ่งอันวิสัยคนทั้งหลายนี้เมื่อได้ยินถ้อยคำที่ผู้นั้นเจรจามาก็ดี หรือได้เห็นอากัปกิริยากายที่ผู้นั้นประพฤติลุกนั่งนุ่งห่มเปนต้นให้เหลือล้นพ้นประมาณตนไปก็ดี ผู้มีปรีชาก็ย่อมรู้ว่าผู้นั้นเปนคนชั่วโฉดเขลาไม่แยบคายด้วยถ้อยคำแลอากัปกิริยาของผู้นั้นได้ บัดนี้เราได้ฟังถ้อยคำของท่านแลได้เห็นอากัปกิริยาของท่านแต่ล้วนดีชอบแยบคายถึงพร้อมด้วยองค์ลักษณแห่งมิตรสหาย ควรจะเปนไมตรีกันได้แล้ว เพราะเหตุนั้นตั้งแต่วันนี้ไปท่านกาจงจำไว้เถิดว่าข้าพเจ้านี้เปนมิตรสหายของท่าน ข้าพเจ้าก็จะจำไว้ว่าท่านกาเปนมิตรสหายของข้าพเจ้าด้วย ตั้งแต่นั้นมาพระยาหนูหิรัณกะกับกาลักขุปตนะก็ได้ผูกไมตรีเปนมิตรสหายกัน

วันหนึ่งกาจึงชวนพระยาหนูว่าดูกรพระยาหนูผู้สหาย ถิ่นฐานที่อยู่ของเรานี้คับแค้นขัดสนด้วยอาหารนัก จำเราจะต้องเสาะหาถิ่นอื่นที่สมบูรณ์ด้วยอาหารดีกว่าที่นี่จึงจะชอบ พระยาหนูจึงตอบว่าดูกรสหาย เหตุไฉนท่านจึงพูดง่ายๆ ว่า ให้ไปอยู่ที่อื่นละที่นี่เสียเล่า วิสัยผู้มีสติปัญญาเมื่ออยากจะแปลงสถานไปอยู่ที่อื่นนั้น ย่อมใช้สติปัญญาพิเคราะห์ดูก่อน ถ้าเห็นถิ่นอื่นดีกว่าที่เดิมแล้วท่านจึงไป แลถิ่นที่ท่านชวนจะให้ไปอยู่นั้นจะมีคุณประโยชน์อย่างไร วิเศษดีกว่าถิ่นนี้ด้วยข้อไรเล่า กาจึงบอกว่ายังมีป่าใหญ่ตำบลหนึ่งชื่อว่าคันนะ ตั้งอยู่ทิศหรดีไกลจากที่นี่ไปประมาณโยชน์เศษ ในป่านั้นมีบึงใหญ่แห่งหนึ่งชื่อกัปปุระ มีน้ำลึกใสสอาดแม้ระดูแล้งก็ไม่รู้แห้ง ในประเทศริมบึงนั้นมีของกินผลไม้รากไม้ที่เปรี้ยวหวานก็สมบูรณ์มาก จะเที่ยวหาก็ได้ง่าย ปราศจากภัยอันตรายไม่มีผู้เปนปัจจามิตร สหายสนิธของเรามีอยู่ ๒ สหาย คือเต่าชื่อมักขระ ๑ สมันชื่อสาขา ๑ สองสหายนี้เปนสหายรักของเรา ทั้งอัธยาศัยก็ดีมีสติปัญญาก็มาก สามารถจะพิทักษ์รักษาคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายเราได้ เชิญสหายไปอยู่ที่โน้นเถิด พระยาหนูจึงตอบว่า ดูกรสหาย เมื่อท่านไม่สมัคอยู่ณที่นี้แล้วเราจะขืนอยู่แต่ผู้เดียวก็ไม่ควร อนึ่งเล่าณถิ่นฐานที่ใดประกอบไปด้วยโทษ ๗ ประการ คือเพื่อนบ้านไม่สมัคอยู่ ๑ อาหารการกินก็หาได้ยาก ๑ เครื่องเลี้ยงชีวิตก็ไม่ชอบธรรม ๑ มิตรสหายที่ดีที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ได้ก็ไม่มี ๑ ผู้มีสติปัญญาก็ไม่มี ๑ อยู่ใกล้โจรผู้ร้ายคนกระด้าง ๑ คนที่เปนอริวิวาทมีมาก ๑ ถิ่นสถานเช่นนั้นไม่ควรจะอยู่เลย ประเทศสถานตำบลใดถึงพร้อมด้วยคุณ ๕ ประการ คือผู้เปนใหญ่ในที่นั้นตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรม ๑ มีแพทย์ผู้ฉลาด ๑ มีบัณฑิตผู้เปนพหูสูต ๑ ผู้สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติอยู่มาก ๑ มีเข้าน้ำอาหารสมบูรณ์ ๑ ในที่ที่ถึงพร้อมด้วยคุณเช่นนี้จึงควรจะอยู่ได้ คำเช่นนี้มีมาในคัมภีร์ แลถิ่นฐานที่เราอยู่นี้ก็ไม่ถึงพร้อมด้วยคุณเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้สหายกาจงมีความกรุณาพาเราไปยังสำนักเต่าแลสมันที่เปนสหายรักของท่านนั้นด้วยเถิด เพื่อจะได้เคารพนับถือผูกไมตรีเปนมิตรสหายกันกับท่านทั้งสองนั้นด้วย กาจึงกล่าวว่าดูกรพระยาหนูผู้เปนสหาย เราทั้งสองได้ตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรมจึงได้ผูกไมตรีเปนมิตรสหายกัน เมื่อท่านมีความประสงค์จะไปแล้วข้าพเจ้าก็จะสงเคราะห์ท่านให้สำเร็จประสงค์ให้จงได้ ครั้นว่าดังนั้นแล้วกาลักขุปตนะจึงพาพระยาหนูไปยังบึงชื่อกัปปุระ สู่สำนักเต่าแลสมันซึ่งเปนสหายรักของตนทั้งสองนั้น ครั้นถึงแล้วจึงว่าแก่เต่าแลสมันว่า ดูกรสหายทั้งสอง วิสัยผู้เปนสหายรักนั้นเมื่อสหายข้างหนึ่งมาถึงที่สำนักของตนแล้ว จำจะต้องต้อนรับเชื้อเชิญนับถือเลี้ยงดูด้วยอาหารที่มีโอชารสต่างๆ ตามสติกำลังทำให้เปนปานประหนึ่งมารดาบิดา คำเช่นนี้มีมาในเนติปกรณ์ ก็พระยาหนูผู้นี้เปนมิตรสหายของเราดีนักตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรม สหายทั้งสองพึงปฏิบัติเลี้ยงดูพระยาหนูนี้เหมือนพี่น้องต่างมารดาบิดาแลครูอาจารย์เถิด คุณความดีพระยาหนูนี้ แม้จะสรรเสริญไปสักพันปากก็ไม่รู้สิ้นสุด แล้วกาลักขุปตนะก็เล่าข้อความซึ่งพระยาหนูได้กัดข่ายปล่อยพวกนกพิราบจิตรคิวาทั้งปริวารให้พ้นจากภัยอันตรายตั้งแต่ต้นจนจบ เต่าแลสมันสองสหายนั้นครั้นได้ฟังเกียรติคุณความดีพระยาหนูหิรัณกะดังนั้นก็มีจิตต์ชื่นชมยินดี จึงได้นำผลไม้รากไม้ที่มีโอชารสต่างๆ มาให้พระยาหนูกินอิ่มหนำแล้ว พระยาหนูปราถนาเพื่อจะให้ปล่องอันเปนที่อยู่ให้แก่ตน แลหนทางที่จะได้ไปมาโดยสดวก จึงว่าแก่กาแลเต่าแลสมันทั้ง ๓ สหายนั้นว่า ดูกรสหายทั้ง ๓ วิสัยราชสีห์ผู้มฤคราช เมื่อปราถนาเพื่อจะให้เปนสง่าจะได้ข่มขี่สัตว์ทั้งปวง แลจะป้องกันอันตรายอันจะมีมาแก่ตน จึงได้สร้างสุวรรณคูหาให้เปนที่อยู่ที่อาศรัยให้มั่นคงแน่นหนา แม้จะไปในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ดี ครั้นถึงเวลาเย็นราชสีห์ผู้มฤคราชก็กลับมานอนในสุวรรณคูหาไม่ไปในที่อื่น ครั้นรุ่งขึ้นเช้าเมื่อปราถนาจะเสาะหาอาหารเล่า ราชสีห์ผู้มฤคราชนั้นก็ออกจากสุวรรณคูหายืนอยู่ที่ปากถ้ำเปล่งสิงหนาท ๓ ครั้ง แล้วจึงไปยังโคจรสถานตามประสงค์ สัตว์เหล่าอื่นที่อยู่ในป่านั้น ครั้นได้ยินเสียงสิงหนาทแลได้เห็นตัวสิงหราช แล้วก็ตลึงตกใจเกรงกลัวยิ่งนัก ก็วิ่งหนีไปตกห้วยแลเหว สิงห์ผู้มฤคราชครั้นได้เห็นสัตว์ทั้งหลายกลัวเกรงเช่นนั้นจึงคิดว่า สัตว์เหล่านี้เพราะกลัวเราแลมาถึงอันตรายต่างๆ เช่นนี้ไม่ควรเลย เมื่อสัตว์เหล่าไรมีความนบนอบยำเกรงในตนแล้ว สิงหราชก็มีความกรุณาได้ประคับประคองสัตว์นั้นให้พ้นภัยอันตราย เหล่าสัตว์ที่หมิ่นประมาทไม่กลัวเกรงนั้น สิงห์ผู้มฤคราชก็แผดกินเปนภักษาหาร ครั้นอิ่มสำเร็จแล้วก็กลับมายังสุวรรณคูหาอีก ฉันใด เยี่ยงอย่างพระราชาเจ้าแผ่นดินก็เหมือนกัน เมื่อปราถนาจะทำศึกสงครามช่วงชิงเอาเขตแดนบ้านเมืองพระราชาเจ้าแผ่นดินอื่น จำจะต้องทรงจัดเมืองของตนให้มั่นคงแน่นหนาพร้อมไปด้วยเสบียงอาหารก่อน แล้วจึงไปทำการสงครามกับเมืองอื่น ๆ ได้ชัยชนะโดยง่าย เพราะว่าเมื่อไม่กระเตรียมเมืองของตนให้มั่นคงไว้ก่อน แล้วไปทำการสงครามด้วยท่านเล่า ถ้าเสียที่ปราชัยพ่ายแพ้แก่ปัจจามิตรแล้ว เหล่าปัจจามิตรก็จะติดตามมาย่ำยีบ้านเมืองของตนได้ อนึ่ง ครั้นได้ตระเตรียมอาณาเขตบ้านเมืองของตนแน่นหนาสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีกิตติศัพท์เลื่องลือไปในนานาประเทศ จะเปนที่เกรงขามยำเกรงสยดสยองแห่งท้าวพระยาสามนตราชทั้งปวงได้ ดูกรสหายทั้งหลายข้าพเจ้าจะเล่านิทานสาธกความข้อนี้ให้ฟัง

  1. ๑. ในวงเห็นจะเกิน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ