นิทานเรื่องเสือโคร่งกับคนเดิรทาง

ครั้งก่อนยังมีเสือโคร่งแก่ตัว ๑ หูตึงตามัวมีกำลังกายน้อยจะไปเสาะหาอาหารที่ไกลๆ ก็ไม่ใคร่จะได้ เสือแก่นั้นก็คิดจะลวงมนุษย์กินด้วยอุบาย จึงคาบเอากิ่งไม้ทองคำไปนั่งเซาซุ่มอยู่ณที่ใกล้บ่อน้ำ ครั้งนั้นยังมีบุรุษเดิรทางคนหนึ่งเปนคนโฉดเขลามาถึงที่นั้น เสือแก่ได้เห็นหวังว่าจะลวงบุรุษนั้นกิน จึงกล่าวด้วยวาจาอันอ่อนหวานว่า เชิญท่านเข้ามานี่เราจะให้กิ่งไม้ทองคำนี้แก่ท่าน ท่านจงมารับเอาไปใช้สรอยตามประสงค์เถิด บุรุษนั้นปราถนาจะใคร่ได้กิ่งไม้ทองคำนั้น จึงกล่าวแก่เสือนั้นว่า เสือกับมนุษย์นี้ย่อมเปนปัจจนึกแก่กัน อันวิสัยท่านผู้เปนเสือนี้ย่อมกินสัตว์ทั้งเปนมักผลาญชีวิตสัตว์อื่น เราไม่อาจจะเข้าไปใกล้ท่านได้ ซึ่งท่านเรียกให้กิ่งไม้ทองคำแก่เรานั้น เห็นจะเปนกลอุบายท่านจะลวงกินเรา เสือได้ยินดังนั้นแล้วจึงตอบว่า คำซึ่งท่านว่านั้นเปนจริงอยู่ เมื่อเราเปนหนุ่มยังมีเรี่ยวแรงอยู่นั้น ย่อมเดิรเหิรเต้นโลดโดดไปมารวดเร็วว่องไวนัก แลมีใจฮึกเหิมห้าวหาญโลภล้นเหลือประมาณ ได้เที่ยวตะครุบสัตว์กินทั้งเปนเคยผลาญชีวิตสัตว์อื่นจริงอยู่ ครั้นบัดนี้เราชรามีกำลังก็ทดถอยหูตาก็ตึงมัวเขี้ยวฟันก็หักร่วง จะไปจะมาก็ไม่ว่องไวเหมือนดังก่อนได้แล้ว แม้ภรรยาของเราต้องตายจากกันไปเสียแล้ว เพราะเช่นนั้น เรามีความสลดใจจึงได้ละถิ่นฐานที่อยู่มานั่งจำศีลอยู่ณที่นี้ อนึ่งเมื่อก่อนแต่นี้เราได้ประสบพบมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งมีปรีชาเปรื่องปราชญ์เปนผู้ตั้งอยู่ในธรรม บุรุษผู้นั้นกล่าวสอนเราไว้ว่า ความชอบเปนเครื่องประพฤติของสัตว์ผู้ดีนี้ มี ๘ ประการ คือได้สักการบูชาในวัตถุที่ควรจะบูชา ๑ ได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ๑ ได้ตักเตือนท่านบำเพ็ญทานทำการกุศล ๑ ได้จำศีล ๑ มีความสัตย์มั่น ๑ เปนคนซื่อตรง ๑ เปนคนอดทน ๑ มีความปราถนาน้อย ๑ ความชอบ ๘ ประการนี้ เปนเครื่องประพฤติของท่านที่เปนผู้ดี แลความชอบ ๘ ประการนั้น ๔ ข้อในเบื้องต้น แม้คนที่น้อยปัญญาก็สามารถจะศึกษาประพฤติตามได้ ๔ ข้อข้างปลายฉะเพาะเปนวิสัยของท่านผู้ดีที่มีปัญญาจึงจะประพฤติได้ เพราะเหตุนั้น การชั่วทั้งปวงเราได้ละเสียสิ้นแล้ว ความดี ๘ ประการที่มีมาในคัมภีร์อันบุรุษผู้บัณฑิตได้กล่าวสอนไว้นั้น เราได้ประพฤติตามมานานแล้ว เดี๋ยวนี้เราได้ตั้งอยู่ในยุติธรรม ไม่กินสัตว์ที่มีชีวิตย่อมกินหญ้าแลใบไม้เปนเนืองนิตย์ มีจิตต์เอ็นดูท่าน ยินดีในการจะแจกทานแลจำศีล เมื่อเราได้เห็นท่านผู้เดิรทางเปนแขกมาถึงสำนักเรา เรามีใจเลื่อมใสในท่านหวังว่าจะบำเพ็ญทาน เชิญท่านเข้ามาเอากิ่งไม้ทองคำที่เราคาบไว้นี้เถิด บุรุษก็มีความขยาดไม่อาจจะเข้าไปใกล้ เสือแก่จึงแกล้งกล่าวเปนอุบายว่า ท่านอย่ากลัวเราเลย ข้อซึ่งมนุษย์ทั้งหลายได้เล่าลือกันว่า เสือดุร้ายมักจับมนุษย์กินเปนอาหารเช่นนี้นั้น ท่านอย่าเชื่อเลย ตัวเรานี้ไม่เปนสัตว์ดุร้ายเช่นนั้น เราได้ตั้งอยู่ในธรรมเปนผู้จำศีลอยู่ ถ้าท่านไม่เชื่อเราแล้ว เราก็จะกล่าวบรรยายเนื้อความให้ท่านฟัง อันวิสัยสัตว์ทั้งหลายนี้ เมื่อท่านเปนผู้ดีตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรม ก็ไม่รู้ไม่ได้นับถือว่าดีจริง เมื่อชนเปนอันมากนับถืออย่างไร ก็พลอยนับถือตามไปด้วย ผู้ที่โฉดเขลาเช่นนั้นแล จึงได้จับสัตว์อื่นกินเปนอาหาร แลหมู่พราหมณ์ทั้งปวงเล่าเขาก็นับถือกันว่าเปนผู้ตั้งอยู่ในความสัตย์ดังนี้แล้ว แม้พราหมณ์ที่เปนคนเท็จเปนคนชั่วจะมีบ้าง มนุษน์ทั้งหลายก็สำคัญว่าเปนผู้ประเสริฐตั้งอยู่ในความสัตย์ฉันใด เราทั้งหลายผู้เปนเสือนี้แม้ตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรมเปนผู้จำศีลให้ทานอยู่ก็ดี คนทั้งหลายก็พากันสำคัญเข้าใจว่า เปนสัตว์ดุร้ายเปนไปเช่นนี้นี่ ท่านอย่าสำคัญเราตามคำเขาเล่าลือเช่นนั้นเลย แน่บุรุษผู้เดิรทาง ถ้าท่านยังไม่เชื่อเราแล้ว เราจะบรรายายความอีกข้อ ๑ ให้ท่านฟังอีก อันวิสัยผู้ดีตั้งอยู่ในธรรมแล้ว เมื่อตัวรักชีวิตตนอย่างไร ก็ต้องรักชีวิตท่านผู้อื่นนั้นด้วย เมื่อรู้จักเอ็นดูกายตนฉันใด ก็ต้องเอ็นดูกายของท่านเหล่าอื่นฉันนั้นด้วย ข้อความเช่นนี้มีมาในคัมภีร์ที่เปนยุติธรรม เราได้จำไว้แต่บุรุษผู้บัณฑิตนั้นได้กล่าวสอนไว้ เพราะเหตุนั้นเรานี้จึงมีความปราณีต่อสัตว์ทั้งหลาย ได้รักชีวิตท่านเอ็นดูกายของท่านผู้อื่นเสมอด้วยชีวิตตนแลกายของตน ด้วยเหตุนี้ เราปราถนาจะสงเคราะห์ท่านผู้ลำบากในทางกันดาร จึงได้เรียกให้กิ่งไม้ทองคำซึ่งเราคาบไว้นี้ หวังว่าจะให้เปนทานจริง ๆ อันการให้ทานนี้ควรจะให้แก่คนยากจนที่เปนคนต้องการด้วยทาน จึงจะดีจะมีผลมีประโยชน์มาก คนที่มั่งมีแล้วไม่ควรที่จะให้ เปรียบความเหมือนคนไข้ อันธรรมดาคนไข้นั้นคงจะมีความต้องการด้วยยาเครื่องจะบำบัดโรค เมื่อใครได้ให้ยาแก่คนไข้แล้ว ผลประโยชน์ที่ยืดยาวคงจะมีแก่ผู้นั้นเปนแท้ คนดีๆ ที่ไม่มีโรคแล้วไม่ควรจะให้ยาหามิได้ เพราะว่าผู้ไม่เจ็บไข้นั้นเปนผู้ไม่ต้องการด้วยยาเลย แม้จะให้ก็มีผลประโยชน์น้อยนัก ข้อนี้เราได้ยินมาแต่บุรุษผู้บัณฑิต เราจึงมีจิตต์กรุณาหวังว่าให้เปนผลประโยชน์ให้ยืดยาว จึงจะให้กิ่งไม้ทองคำนี้แก่ท่าน เชิญท่านผู้จะได้รับทานของเราจงลงไปอาบน้ำ ชำระเกล้าที่บ่อน้ำนี้ให้กายสอาดก่อน แล้วแลมารับเอากิ่งไม้ทองคำที่ปากเรานี้เถิด บุรุษผู้โฉดเขลาไม่ตริตรองด้วยปรีชา ครั้นได้ยินคำเสือกล่าวแทะโลมหลอกหลอนเปนกลอุบาย เพราะความอยากได้ก็สำคัญเข้าใจว่า เสือจะให้กิ่งไม้ทองคำแก่ตนจริง ก็รีบเร็วลงไปในบ่อน้ำด้วยกำลังแรง ก็ไปติดอยู่ที่แปลงอันลึกไม่อาจจะถอนตัวขึ้นได้ ในทันใดนั้นเสือแก่เจ้าอุบายทำอาการดุจหนึ่งมีความเอ็นดู แล้วร้องด้วยวาจาอันไพเราะอ่อนหวานว่า เราจะช่วยท่านให้พ้นทุกข์ แล้วก็ค่อยเดิรค่อยย่องมาช้าๆ ทำทีจะช่วย ครั้นถึงตัวบุรุษนั้นแล้วก็ฉวยขึ้นมากัดกินเปนอาหาร ครั้งนั้นยังมีกระต่ายตัว ๑ เปนผู้มีปรีชาจะลงมากินน้ำที่บ่อน้ำอันนั้น ครั้นได้เห็นเสือลวงบุรุษผู้โฉดเขลากินเปนภักษาหารเช่นนั้นได้แล้ว กะต่ายจึงบ่นว่าบุรุษคนนี้เปนผู้โฉดเขลา ไม่ได้ยินได้ฟังคำสุภาษิตที่เปนแบบแผน เสือจึงล่อลวงกินได้ ถ้าเปนตัวเราแล้ว ไหนเลยเสือแก่จะลวงกินได้เล่า ว่าดังนี้แล้วกะต่ายก็วิ่งเข้าป่าไป

จิตรคิวาพระยานกพิราบได้ชักนิทานเทียบให้ฝูงนกพิราบฟังดังนี้แล้ว จึงสาธกเนื้อความว่า ข้อซึ่งเสือแก่ลวงบุรุษเขลาด้วยอุบาย แล้วแลจับกินเปนอาหารได้ที่บ่อน้ำณกาลนั้น เราก็ได้เห็นด้วยตาของเรา แม้กะต่ายผู้ฉลาดนั้นก็ได้บอกเล่าแก่เรา ด้วยเปนความจริงเช่นนั้น ท่านทั้งหลายอย่าลงไปกินเข้านั้นเลย ถ้าขืนจะลงไปกินไซ้ จะเปนเหมือนชายคนโลภต้องเปนอาหารเสือแก่ฉนั้น ท่านทั้งปวงก็จะต้องเปนอาหารของมนุษย์เปนแท้ อนึ่งท่านทั้งหลายฟังคำเราก่อน อันธรรมดามนุษย์ทั้งหลายนี้ พอใจจะทำกิจที่ลามก ๗ ประการ คือเปนคนมักได้มีความปราถนาใหญ่ไม่รู้จบ ๑ มีความริษยามักยุยงท่านให้แตกร้าวกัน ๑ แลมีความล่อลวงฉ้อฉนท่านมาก ๑ มีความโกรธกล้า ๑ เปนคนเกียจคร้านไม่มีความเพียร ๑ เปนผู้มักนอนไม่ว่ากลางวันแลกลางคืน ๑ มีความขลาด ๑ ลามก ๗ ข้อนี้เปนเครื่องทับยีสันดานมนุษย์เสมอในการทั้งปวง เพราะเหตุนี้ ท่านทั้งหลายจงตัดถอนความพอใจในความอยากอาหาร แล้วอย่าลงไปกินปลายเข้านั้นเลย ฝูงนกพิราบทั้งหลายจึงกล่าววิงวอนว่า ในประเทศที่อันใดน้อยหนึ่ง มีทรัพย์อันประเสริฐแลมีของกินประกอบด้วยโอชารส เมื่อได้มาพบปะแล้วแลละเลยทิ้งเสีย เมื่อไรจะได้บริโภคของที่ดีๆ นั้นเล่า ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ฝูงนกพิราบทั้งหลายก็พากันลงไปกินที่สถานอันนายพรานได้โปรยปลายเข้าไว้นั้นสิ้น พระยานกพิราบได้เห็นฝูงนกพิราบทั้งหลายลงไปเช่นนั้นแล้ว จึงคิดว่าบริวารของเราลงไปเสียสิ้นแล้ว ครั้นเราจะไม่ลงไปเล่า ฝูงนกพิราบเหล่านั้นก็จะถึงความพินาศเสียสิ้น แล้วจึงตามลงไปด้วย ครั้นฝูงนกพิราบลงไปมั่วสุมประชุมกันพร้อมแล้ว ข่ายที่นายพรานดักไว้นั้นก็รวบรัดหุ้มห่อฝูงนกพิราบไว้ทั้งสิ้น ครั้นนั้นจิตรคิวาพระยานกพิราบจึงคิดว่า เพราะความโลภในอาหาร เราทั้งหลายนี้จึงต้องติดข่ายของนายพรานมิใช่หรือ ขณะนั้นนายพรานนกเห็นนกพิราบติดแร้ว ก็รีบเดิรออกมาบ่นด้วยวาจาพลางว่า อันวิสัยสัตว์ทั้งหลายเมื่อมีทุกข์ร้อนกิจกังวลสิ่งใด ผู้เปนใหญ่จำจะต้องเปลื้องปลดทุกข์ร้อนกิจกังวลนั้นๆ ให้พ้นจนสำเร็จไปได้ จึงควรจะเรียกว่าผู้ใหญ่ดีมีปัญญาควรจะเปนนายท่านได้ ถ้าผู้ใหญ่เปลื้องปลดไม่สำเร็จได้แล้ว ผู้ใหญ่นั้นเปนคนโฉดเขลาน้อยปัญญา ความครหาก็จะมี สรรพทุกข์ร้อนกิจกังวลทั้งปวงก็เปนภาระตกอยู่แก่ผู้ใหญ่ทีเดียว พระยานกพิราบผู้นักปราชญ์ครั้นได้ยินนายพรานบ่นมาเช่นนั้น จึงกล่าวเตือนสตินกพิราบทั้งหลายว่า อันวิสัยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อโทษทุกข์มาถึงแล้ว จำต้องตั้งสติให้มั่นคงให้พร้อมไปด้วยลักษณ ๕ ประการ คือได้อุสาหะขวนขวายในกิจนั้นๆ พร้อมกัน ๑ แลฉลาดเจรจากลความในที่ประชุม ๑ ถึงพร้อมด้วยความแกล้วกล้าในสมรภูมิสนามรบ ๑ ความฉลาดในที่จะทำเกียรติศัพท์ของตนให้ลือไปเปนสง่า ๑ ความสามารถแก้ไขซึ่งข้อปฤศนาต่าง ๆ ตามที่มีมาในพระคัมภีร์ ๑ ข้อ ๕ ประการนี้เปนเครื่องหมายของท่านผู้ประเสริฐผู้ควรจะเปนนายท่าน เพราะดังนั้น เราทั้งหลายจำจะต้องตั้งอุตสาหะพร้อมไปด้วยสติแลวิริยะอันแก่กล้า ดูเยี่ยงมดทั้งหลายเถิด อันวิสัยมดทั้งหลายแม้เปนสัตว์ตัวเล็ก เพราะมีอุตสาหะกล้าพร้อมกัน แม้ของใหญ่ก็สามารถจะยกไปได้ อนึ่งเหมือนกับปอแลเถาวัลย์ทั้งหลาย เมื่อบุคคลมาควบทำให้เปนเกลียวเดียวพร้อมกัน ฟั่นให้เปนเชือกแล้ว แม้ช้างสารใหญ่มีกำลังมากก็ผูกคล้องไว้ได้ เพราะฉนั้น เราทั้งหลายจงอุตสาหะบินขึ้นให้พร้อมกันเถิด ฝูงนกพิราบทั้งหลาย ครั้นได้ยินโอวาทของจิตรคิวาพระยานกพิราบเตือนดังนั้น ก็มีอุตสาหะอันกล้าต่างคนต่างบินขึ้นพร้อมกัน พาเอาข่ายขึ้นไปในอากาศได้ ครั้งนั้นนายพรานได้เห็นนกพิราบทั้งหลายบินพาเอาข่ายไปในอากาศเช่นนั้นแล้ว นายพรานก็เดิรสกดตามไป ด้วยคิดว่าจะตกลงณที่ใดก็จะจับฆ่าเสียทั้งสิ้น ครั้นตามไปไม่ทันแล้ว นายพรานก็กลับมา ฝูงนกพิราบทั้งหลายจึงกล่าวว่า เพราะเราทั้งหลายได้พร้อมกันพยายามตามถ้อยคำพระยานกพิราบกล่าวเตือน แล้วจึงได้พ้นจากเงื้อมมือของนายพรานมิใช่หรือ เดี๋ยวนี้จะทำไฉนจึงจะออกจากข่ายได้อีกเล่า พระยานกพิราบจึงกล่าวว่า ในหมู่สัตว์ทั้งหลายนี้ เหตุเครื่องให้เกิดทุกข์ร้อนใจมี ๓ ประการ คือเมื่อเวลาอันตรายความพินาศจะมาถึง ๑ เมื่อเวลาความกลัวอันใหญ่มาถึง ๑ เมื่อเวลาอับจนคับแค้นด้วยเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ๑ เหตุ ๓ ประการนี้ เมื่อถึงตัวแล้วมิตรสหายที่สนิธจึงจะช่วยได้ ก็อันสหายนั้นเล่าก็เปน ๓ จำพวก คือสหายที่เลวต่ำกว่าตัว ๑ ที่เสมอกับตัว ๑ วิเศษกว่าตัว ๑ เปน ๓ จำพวกนี้ มิตรผู้ใดมีคุณไม่สมควรแก่ตนแม้เลวกว่า เมื่อจะมีกิจกังวลเกิดขึ้นแล้ว ได้ช่วยขวนขวายตามสมควรแก่กำลังของตน มิตรผู้นั้นชื่อว่าเปนมิตรต่ำกว่าตน มิตรผู้ใดมีคุณเสมอกัน เมื่อมีกิจกังวลเกิดขึ้นแล้ว ก็ช่วยขวนขวายตามสมควรแก่กำลังของตน สหายผู้นั้นชื่อว่าเปนมิตรเสมอกับตน สหายผู้ใดเปนผู้ยิ่งกว่า แม้มีอำนาจฤทธานุภาพกำลังเรี่ยวแรงยิ่งกว่าก็ดี เมื่อมีกิจกังวลเกิดขึ้นแล้ว ก็ช่วยขวนขวายโดยสมควรแก่กำลังของตน สหายผู้นั้นชื่อว่าเปนมิตรสูงกว่า แลมิตรสหาย ๓ จำพวกเหล่านั้นแม้มีลักษณต่างกันดังนี้ก็ดี เมื่อเวลามีทุกข์ร้อนกิจกังวลมีขึ้นแล้ว ก็คงจะวานกันให้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ร้อนนั้นๆ ได้ทั้งสิ้น

อนึ่งมิตรสหายอีก ๓ จำพวก คือมารดา ๑ บิดา ๑ บุตร ๑ สหาย ๓ จำพวกนี้เปนมิตรพัวพันเนื่องกันไปร่วมสุขทุกข์เสมอกัน ย่อมปราถนาจะให้เปนประโยชน์แก่กันอยู่เนืองนิตย์ เรียกว่าเปนมิตรอันสูงสุด แลในสหาย ๓ จำพวกที่แรกนั้น เมื่อมีเหตุทุกข์ร้อนเกิดขึ้นจะพึ่งท่านนั้นพึงใคร่ครวญดู ว่าสหายจำพวกใดจะช่วยทุกข์ร้อนตามประสงค์ตนได้ ก็ต้องไปพึ่งพักอาศรัยสหายจำพวกนั้น ให้ช่วยเปลื้องปลดทุกข์ภัยนั้นจึงจะแยบคาย อย่ากระนั้นเลย พระยาหนู ๑ ชื่อหิรัญกะมีฝูงหนูที่เปนบริวารเปนอันมาก ได้ผูกไมตรีไว้เปนมิตรสหายกับเรามาแต่ก่อน แลพระยาหนูนั้นอาศรัยอยู่ในถ้ำชื่อจิตรคุต ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชื่อว่าคัณฏนที พระยาหนูนั้นแลเห็นจะสามารถจะกัดซี่ข่ายนี้ให้ขาด แล้วปลดทุกข์ภัยของเราทั้งปวงนี้ให้หลุดพ้นไปได้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว พระยานกพิราบก็ตักเตือนนกพิราบทั้งหลายให้มีอุตสาหะพร้อมกันบินพาข่ายนั้นไปยังถ้ำชื่อจิตรคุต ครั้นถึงแล้วก็ลงมาจับอยู่ที่ปากถ้ำพร้อมกัน พระยาหนูหิรัณกะ ครั้นได้ยินเสียงนกพิราบทั้งหลายร้องอื้ออึงอยู่เช่นนั้น ก็คิดสงสัยว่าจะมีอันตรายมาจึงแอบมองดูอยู่ที่ริมประตูถ้ำ พระยานกพิราบจึงร้องถามเข้าไปว่า ดูกรหนูหิรัณกะผู้สหายรักของเรา เมื่อเรามาถึงที่อยู่ของท่านแล้ว เหตุไฉนท่านจึงไม่ทักทายปราสัยบ้างเลย พระยาหนูจึงตอบว่า แน่สหาย เราเห็นท่านมาคราวนี้แปลกประหลาดไม่เหมือนยังครั้งก่อนๆ เราคิดกลัวจะมีภัยอันตรายจึงไม่ได้ทักทายปราสัยท่านก่อน แล้วจึงถามว่า เหตุไฉนร่างข่ายนี้จึงได้พัวพันติดอยู่ในคอท่าน ได้ความลำบากถึงเพียงนี้เล่า พระยานกพิราบจึงตอบว่า ดูกรสหายในการข้อนั้นตัวเราไม่รู้ที่จะพูดได้แล้ว อันวิสัยสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เมื่อมีเหตุ ๕ ประการ คือความป่วยไข้ ๑ ความคับแค้น ๑ เกิดภัยอันตราย ๑ ต้องผูกมัดจำจอง ๑ ความพินาศ ๑ เมื่อเหตุ ๕ ประการนี้มาทับยีตนนั้น ก็เพราะอกุศลที่ตนได้ทำไว้ในปางก่อนติดตามมาให้ผล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถึงโทษทุกข์อันใหญ่ แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายนี้ก็เพราะอกุศลกรรมติดตามมาทัน จึงต้องติดร่างข่ายมีความทุกข์ความลำบากเติบใหญ่ถึงเพียงนี้ ครั้นพระยาหนูได้ยินนกพิราบร่ำไรเช่นนั้นจึงย้อนตอบว่า เหตุซึ่งท่านว่านั้นจริงอยู่ ธรรมดาว่าสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้ทำกรรมที่เปนกุศลอกุศลไว้แล้ว ผลวิบากแห่งกรรมนั้นๆ ก็ติดตามตนไป ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว พระยาหนูก็เข้าไปปรารภจะกัดเชือกที่คอพระยานกพิราบ พระยานกพิราบจึงกล่าวว่า ดูกรสหายถ้าท่านจะอนุเคราะห์ช่วยเราแล้ว จงกัดเชือกที่ติดคอนกพิราบทั้งหลายที่เปนบริวารของเรานั้นๆ ก่อนเถิด พระยาหนูจึงกล่าวว่า แน่สหาย ตัวเรานี้ชราไปแล้ว มีเรี่ยวแรงก็น้อย ฟันก็ร่วงไปเสียมากแล้ว ด้วยเหตุนั้น เราจะกัดแต่ท่านผู้เดียว แน่พระยานกพิราบ ท่านฟังคำเราก่อน สัตว์ทั้งหลายนี้เมื่อภัยเกิดขึ้น ไม่รักตัวไม่ระมัดระวังตัว ไปมัวระวังผู้อื่นที่เปนบริวารเช่นนั้นนั่น ไม่เปนที่ชอบใจของบัณฑิตผู้รู้พระคัมภีท์ทั้งปวง อนึ่งเยี่ยงอย่างคนทั้งหลายจะใคร่ทำให้เปนประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ดี เพื่อจะได้ใช้สอยให้สมบูรณ์เปนสุขแก่ตนก็ดี ต้องอุตสาหะขวนขวายหาทรัพย์สิน เมื่อมีทรัพย์แล้วต้องเก็บถนอมใช้สอย จะได้เลี้ยงชีวิตให้อายุยั่งยืน จะได้ทำกุศลซึ่งเปนประโยชน์อันยืดยาว เมื่อกุศลการชอบมีในตนอยู่แล้ว เปนเหตุจะได้จะถึงซึ่งมนุษย์สมบัติแลทิพยสมบัติต่อไปในเบื้องหน้า ผู้ใดไม่ระวังรักษาชีวิตของตนแล้ว ใครเลยจะมารักษาให้ตนเล่า คนที่ไม่รู้รักชีวิตตนแล้ว ไหนเลยจะรู้รักชีวิตผู้อื่นเล่า ผู้นั้นก็คงจะทำบาปผลาญชีวิตผู้อื่นเปนแท้ คำนี้ผู้มีปัญญาได้ว่าไว้ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย พระยานกพิราบจึงกล่าวว่า ดูกรพระยาหนูผู้เปนสหายรัก คำซึ่งท่านกล่าวนี้เปนความจริงชอบอยู่แล้ว แต่ว่าเรานี้เมื่อได้เห็นทุกข์ภัยอันตรายเกิดมีแก่นกพิราบทั้งหลายผู้มาอาศรัยเราเปนบริวารของเราอยู่เช่นนี้แล้ว เรามีใจเอ็นดูเหลือที่จะอดกลั้นได้ อนึ่งเรานี้จะมีใจเอ็นดูแต่ในหมู่นกพิราบมีเชื้อชาติเสมอกันเพียงนี้หามิได้ แม้ในหมู่สัตว์เหล่าอื่นเราก็ได้มีใจรักใคร่เอ็นดูทั่วสัตว์ทั่วบุคคลทุกประเทศตำบลทั่วไปในการทั้งปวง ใครที่เปนนายแล้วแลมีใจโอบอ้อม เอ็นดูบริวารของตนเหมือนเช่นเรานี้ไม่มีเลย ผู้ใดใจบริสุทธิ์ไม่มัวหมองได้ก่อสร้างกองการกุศล ผู้นั้นย่อมได้ลาภยศความสุขที่หมดจดดี แลได้เกียรติยศเกียรติคุณเล่าลือไปทั่วทิศทั้งปวง ดูกรสหาย เราทั้งสองนี้ในปางก่อนเพราะได้ทำการกุศลด้วยใจหมดจดดี บัดนี้เราทั้งปลายจึงได้มาเปนนายฝูงนกพิราบแลฝูงหนู มีลาภยศอันบริบูรณ์หมดจดดีมิใช่หรือ ผู้ที่ปราถนาจะให้เปนประโยชน์แก่ตัวของตนแล้ว ต้องรักษาคุณความดีไว้ให้มั่นคงให้ยิ่งกว่ารักษารูปกาย เพราะว่ากายนี้เมื่อถึงความตายแล้ว ย่อมพินาศสูญหายไม่ตั้งอยู่นาน เกียรติคุณที่ดีที่ได้ทำไว้นั้นเขาย่อมเล่าลือต่อๆ ไปจนสิ้นกัลป์ ด้วยเหตุนั้น ถ้าท่านได้แก้ไขกัดเชือกปล่อยนกพิราบเสียได้แล้ว เกียรติคุณของเราผู้เริ่มการคิดก่อนก็ดี เกียรติคุณของท่านผู้ได้กัดปล่อยไปก็ดี จะขึ้นเปนนิทาน เขาก็จะเล่ากันต่อๆ ไปจนสิ้นกัลป์นี้ พระยาหนูก็รับคำว่าดีแล้ว ก็ตรงเข้าไปกัดสายเชือกปล่อยนกพิราบเสียสิ้น แล้วจึงกล่าวสอนนกพิราบทั้งหลายว่า ดูกรฝูงนกพิราบทั้งหลายผู้เปนสหาย แม้ช้างสารอยู่ในป่าใหญ่ มนุษย์ทั้งหลายอาจเอาเชือกคล้องเท้าเอาช้างบ้านเข้าชะโลงจับมาใช้สอยได้ แม้ปลาอยู่ในน้ำก็ดี นกอยู่ในอากาศก็ดี มนุษย์ทั้งหลายอาจจับมาฆ่ากินเปนอาหารได้ มนุษย์ทั้งหลายนี้มีกลอุบายมากนัก เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในประเทศสถานที่ใดๆ หรือจะเที่ยวหาอาหารในที่ใดๆ ก็ดี ต้องระมัดระวังตัวให้จงหนัก พระยานกพิราบจึงกล่าวว่า คำซึ่งท่านว่านี้ชอบแล้ว วิสัยสัตว์ทั้งหลายนี้ เมื่อทุกข์ภัยอันตรายจะมาถึงตัวแล้ว แม้เส้นผมก็บังภูเขาใหญ่ได้ เหมือนพระยาแร้งมีตาเสียดแหลม แม้ชิ้นมังสะอยู่ในที่ไกลร้อยโยชน์ก็ดี พระยาแร้งก็อาจเห็นได้ ครั้นอันตรายจะมาถึงตนแล้ว บ่วงแม้ตั้งอยู่ในที่ใกล้เท้าของตน พระยาแร้งก็ไม่อาจจะเห็นได้ฉันใด เราผู้นกพิราบทั้งหลาย เมื่อความพิบัติอันตรายจะมาถึงตนแล้ว จึงไม่อาจจะเห็นกลของนายพรานได้ฉันนั้น จิตรคิวาพระยานกพิราบกับฝูงนกพิราบทั้งหลายก็พากันนบนอบกราบไหว้พระยาหนูตามวิสัยเดียรฉาน แล้วก็พากันไปยังที่ที่ตนประสงค์ หิรัณกะพระยาหนูก็กลับเข้าไปในถ้ำที่อยู่ของตน

จะกล่าวถึงกาลักขุปตนะซึ่งจับอยู่ที่ต้นงิ้วใหญ่นั้นต่อไป ครั้นเห็นนกพิราบทั้งหลาย เมื่อลงไปติดข่ายของนายพรานแล้วพาข่ายบินขึ้นไปในอากาศเวลานั้นก็บินตามไป ด้วยคิดว่านกพิราบเหล่านั้นสิ้นแรงลงแล้ว จะตกลงมาณสถานที่ใด เราจะได้กินเนื้อนกพิราบณที่นั้น ครั้นนกพิราบทั้งหลายพาข่ายลงไปประชุมอยู่ที่ปากถ้ำจิตรคุตนั้นแล้ว กาก็จับอยู่บนต้นไม้ใกล้ปากถ้ำคอยแอบมองดู ครั้นได้เห็นพระยาหนูออกมากัดสายเชือกข่าย ปล่อยนกพิราบเสียสิ้นแล้ว กาจึงคิดว่า ความที่ได้เปนไมตรีกันนั้นเปนการดีนัก สัตว์ที่มีเชื้อชาติเสมอกัน จะได้เปนไมตรีกันกับเราก็ไม่มี ทำไฉนหนอ เราจะได้มีมิตรสหายบ้าง ก็เหมือนอย่างในมนุษย์ทั้งหลาย เครื่องที่จะใช้สอยทำกิจให้สำเร็จประโยชน์ได้ก็มีเปนอันมาก เมื่อใครเอาเข็มเครื่องเย็บผ้ามาเจาะมาใช้ต่างเหล็กหมาดก็ไม่ควร จะเอาผึ่งมาใช้ต่างขวานก็ไม่แยบคาย จะเอาพร้ามาใช้สอยต่างดาบก็ไม่แยบคาย หรือจะเอาเหล็กหมาดมาเย็บผ้าใช้ต่างเข็มก็ไม่บังควร แลจะเอาขวานมาใช้ต่างผึ่งต่างพร้าก็ไม่ได้เปนต้นเช่นนี้ คุณเครื่องมือนั้นๆ ต่างกันอยู่ฉันใด แม้ในฝูงสัตว์ทั้งหลายนี้ก็มีอำนาจต่างกัน เหล่าพวกหนูมีฟันอันคมเปนเครื่องมือสำหรับจะได้กัดเชือกแยบคายกว่าสัตว์เหล่าอื่น เราผู้เปนนกเที่ยวอยู่บนอากาศนี้จะได้มีฟันเปนเครื่องมือกัดเชือกเหมือนอย่างหนูก็ไม่มีเลย จำเราจะต้องผูกไมตรีกับพระยาหนูตัวนั้นจึงจะชอบ ครั้นคิดดังนั้นแล้ว กาก็บินลงมาหาพระยาหนูที่ปากถ้ำจึงร้องเรียกพระยาหนูว่า ดูกรท่านหิรัณกะผู้เปนพระยาแห่งหนูทั้งหลาย ท่านจงรู้ไว้เถิดตั้งแต่วันนี้ไป เราจะขอผูกไมตรีเปนมิตรสหายกับท่านด้วย พระยาหนูจึงร้องถามว่า ท่านนี้เปนใคร ชาติเชื้อตระกูลของท่านเปนอย่างไร กาจึงตอบว่า ข้าพเจ้านี้เปนกาเที่ยวอยู่ในอากาศชื่อลักขุปตนะ พระยาหนูจึงว่า แน่ท่านกา มนุษย์เหล่าที่มีปัญญาได้พิจารณาดู ผู้ใดมีเชื้อวงศ์ชาติตระกูลแลคุณปัญญา วิชาการศิลปศาสตร์เสมอกัน จึงได้ผูกไมตรีกันกับผู้นั้น ผู้ใดได้เลี้ยงดูกันให้กินอาหารที่มีโอชารสเปนที่ชอบใจ หรือผู้ใดได้ช่วยแก้ไขทุกข์กังวลน้อยใหญ่แห่งกันให้สำเร็จได้ ทำเหมือนหนึ่งกิจของตน ผู้นั้น ๆ จึงชื่อว่ามีคุณต่อกัน คนที่มีคุณต่อกันเช่นนี้จึงจะผูกไมตรีเปนมิตรสหายกันได้ มีมาในคัมภีร์เช่นนี้ ก็เราทั้งสองนี้มีเชื้อวงศชาติสกุลก็ต่างกัน ทั้งอาหารการกินอยู่นั่งนอนไปมาก็ไม่เหมือนกัน ไฉนจึงจะได้มาคบหาสมาคมเปนมิตรสหายกันเล่า กาลักขุปตนะจึงตอบอิกว่า ดูกรท่านพระยาหนู เหตุไฉนท่านจึงว่าฉนั้นเล่า สัตว์ทั้งหลายนี้ฉะเพาะมีชื่อเสียงเชื้อวงศ์เสมอกัน จึงจะเปนมิตรสหายกันได้ คำซึ่งท่านว่านั้นไม่ชอบ ด้วยว่าในมนุษย์ทั้งหลายแม้พระมหากษัตริย์ก็ทรงผูกไมตรีด้วยหมู่อำมาตย์ราชมนตรีแลโยธาทวยหาญเศรษฐีคฤหบดีเปนที่ปรึกษาแลทรงใช้สอยในราชกิจนั้นๆ ให้เปนราชกำลังมิใช่หรือ อนึ่งแม้ช้างสารถึงพร้อมด้วยเรี่ยวแรงกำลังมีกายโตใหญ่ ยังต้องเปนมิตรสหายด้วยหนูตัวน้อยมีกำลังอ่อนมิใช่หรือ ด้วยเหตุนั้นท่านจงฟังคำเราก่อน เราจะเล่านิยายให้ท่านฟัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ