คำนำ

“หิโตปเทศ” เปนหนังสือซึ่งรู้จักกันทั่วๆ ไปในโลก กำเนิดแลตำนานมีมาในอินเดียอย่างไร ปรากฎในภาษาไทยหลายแห่งแล้ว ไม่พึงนำมากล่าวซ้ำในที่นี้

หิโตปเทศในภาษาไทยมีหลายรุ่น น่าจะเห็นว่ามีมานานแล้ว แต่หอพระสมุด ฯ ยังไม่พบฉบับที่เก่ากว่าเล่มนี้

ถ้าจะพูดถึงลักษณที่นำหิโตปเทศมาเปนภาษาไทย ก็อาจแบ่งได้เปน ๒ ประเภท คือแปลตรงความกับภาษาสํสกฤตประเภทหนึ่ง แต่งเปนร้อยแก้วบ้าง เปนลิลิตบ้าง อีกประเภทหนึ่งจำเอาความมาเล่าตามโวหารของผู้เรียบเรียง ไม่เดิรตามรอยหนังสือในภาษาเดิมมากนัก เปนแต่เพียงว่าเมื่ออ่านเทียบกันก็พอจับเค้าได้เท่านั้น หิโตปเทศที่พิมพ์ในเล่มนี้สงเคราะห์เข้าในประเภทหลัง แลมีตอนที่เรียก “มิตรลาภ” ตอนเดียวเท่านั้น

ได้ให้เจ้าพนักงารในหอพระสมุด ฯ สอบหนังสือนี้เทียบกับฉบับที่แปลจากสํสกฤต รายงารว่านิทานเริ่มต้นแลลงท้ายนั้น เนื้อเรื่องเหมือนกัน แต่นิทานแซกในฉบับนี้มีมากกว่าฉบับภาษาสํสกฤต แลนิทานที่คล้ายกันแต่ไม่ตรงกันทีเดียวก็มีบ้าง ส่วนชื่อคนแลสัตว์ที่ตรงกันมีน้อย แต่ข้อสุภาษิตมีเค้าพอเทียบว่าอย่างเดียวกันได้ อนึ่งเรื่องนำในฉบับนี้ไม่มีแต่มีนิคมรวบความย่อลงไว้ข้างท้าย วิธีเดียวกับที่อ้างนิคมในพระสูตรต่าง ๆ ฉนั้น.

พิทยาลงกรณ์ อุปนายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๘ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ